‘ตั้งหลักใหม่ เติมความฝันเด็ก-เยาวชนไทย’ ทางออกก่อนความฝันเด็กไทยจะถูกบดขยี้

พื้นที่ ทิศทางของเยาวชนไทยจะเป็นอย่างไรต่อไปในสังคมแห่งความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ในเวลาต่อไป จะยังมีอนาคตหรือความฝันของเด็กๆ คนไหนหรือไม่ที่จางหาย ตกหล่นไป

และในห้วงยามเช่นนี้ เราจะมีส่วนช่วยในการออกแบบนโยบายเพื่อช่วยกอปรสร้างหนทางอนาคตของเหล่าเยาวชนอย่างไรบ้าง เพราะถึงที่สุด ปฏิเสธไม่ได้ว่าเยาวชนคือคนที่จะเติบใหญ่ไปเป็นกำลังสำคัญของสังคม และหนึ่งในสิ่งที่สะท้อนว่าสังคมเราให้ความสำคัญกับเยาวชนเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน คือนโยบายที่ว่าด้วยชีวิต อนาคตของพวกเขา

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ 101 Public Policy Think Tank (101 PUB) จัดเสวนาสาธารณะ ‘ตั้งหลักใหม่ เติมความฝันเด็ก-เยาวชนไทย’ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีฯ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ และคณาธิป สุนทรรักษ์ หรือครูลูกกอล์ฟ เจ้าของสถาบันสอนภาษา ANGKRIZ ซึ่งเป็นหนึ่งในงานเสวนาสาธารณะ ‘เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022’

เพราะการประท้วงคือการส่งเสียงขั้นสุดท้ายของเยาวชน

หลายครั้งที่เมื่อเราพูดกันเรื่องความเหลื่อมล้ำ ภาพที่ปรากฏตรงหน้านั้นมักเป็นตัวเลขเชิงสถิติที่บอกปริมาณบางอย่าง โดยถึงที่สุด เราอาจไม่ได้นึกภาพว่ามีชีวิตคนที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม 

รศ.ดร.ประจักษ์ -ในฐานะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย- ชี้ให้เห็นบาดแผลของชีวิตเด็กที่เป็นเหยื่อของความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา มีเด็กจำนวนมากที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยเหตุผลเรื่องทุนทรัพย์ โดยเขาชี้ประเด็นว่า สังคมไทยไม่ใช่สังคมยากจน แต่เราต้องตั้งคำถามว่าที่ผ่านมาเราใช้ทรัพยากรได้ถูกที่ถูกทางหรือไม่ สังคมไทยเอาเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติเป็นตัวตั้งหรือเปล่า ทั้งยังมีเด็กหลายคนต้องเผชิญหน้ากับภาวะ learning loss หรือความรู้ถดถอยในเด็กหลังต้องหยุดเรียนช่วงโควิด

“ในระดับมหาวิทยาลัยเองก็มีภาวะ learning loss เช่นกัน การเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่ความรู้จากห้องเรียน แต่มันคือประสบการณ์การเรียนรู้ในรั้วการศึกษาด้วย ที่ผ่านมาก็ตระหนักดีว่ามีนักศึกษาหลายคนที่พลาดโอกาสทางการศึกษาไปเยอะ ยิ่งนักศึกษาสองรุ่นที่ต้องหยุดเรียนเพราะโควิดที่ผ่านมา ก็เป็นเหมือน generation loss ซึ่งเสียโอกาสไปเยอะทั้งในเชิงระยะสั้นและระยะยาว” ประจักษ์กล่าว 

“คำถามคือเราจะชดเชยพวกเขาอย่างไร รัฐบาลมีแผนการดูแลพวกเขาจากนี้ไหม ต้องพิจารณาว่าสองปีที่ขาดหายไปนั้น ทักษะบางอย่างของเด็กๆ ก็หายไปเช่นกัน ไม่ว่าจะทักษะการปฏิบัติของบางสายงาน หรือทักษะการทำงานกลุ่มและการนำเสนองานต่างๆ รวมถึงทักษะการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในห้องเรียน เราจะชดเชยพวกเขาอย่างไร หรือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว เราจะรองรับพวกเขาอย่างไรได้บ้าง”

ประจักษ์กล่าวว่า ประเทศไทยนั้นนิยมคิดแทนเด็ก เห็นได้จากการออกแบบนโยบายที่เกี่ยวกับเยาวชนต่างๆ ก็ผ่านการคิดจากผู้ใหญ่โดยไม่ฟังเสียงเด็ก ทั้งยังไปคาดหวังว่าเด็กจะต้องมีทักษะต่างๆ มากมาย เช่น เด็กสมัยใหม่ต้องรู้ภาษาที่สามเป็นอย่างต่ำ ต้องเก่งคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และเก่งปรัชญาด้วย เด็กจึงรู้สึกว่าถูกคาดหวังให้กลายเป็นคนรุ่นที่สมบูรณ์แบบ

“แน่นอนว่าทักษะต่างๆ เหล่านั้นจำเป็นในโลกสมัยใหม่ แต่ถามว่าสังคมมีทรัพยากรอะไรให้เขาบ้าง เด็กรุ่นปัจจุบันเป็นรุ่นที่โชคร้าย เต็มไปด้วยความวิตกกังวลเพราะถูกคาดหวังสูง มิหนำซ้ำ ตัวเด็กเองก็ถูกหล่อหลอมให้คาดหวังต่อตัวเองว่าจะต้องประสบความสำเร็จโดยเร็ว ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตใจที่สุด ดังนั้น เราจึงต้องพูดเรื่องทัพยากรที่จะใส่ใจเด็กๆ และเยาวชนเหล่านี้ได้พัฒนาตัวเองไปถึงจุดที่พวกเขาจะประสบความสำเร็จให้มากขึ้น” ประจักษ์กล่าวและว่า หลายคนมองว่ารัฐไทยมีเงินและงบประมาณจะนำมาพัฒนาเรื่องเหล่านี้ไม่มากพอ แต่จริงๆ นี่เป็นประเด็นที่ต้องตั้งคำถามเยอะๆ เพราะที่ผ่านมา รัฐไทยก็ใช้เงินไปกับการอบรมค่อนข้างเยอะ สังคมมีหลักสูตรอบรมผู้บริหารระดับสูงอย่างน้อยสิบโครงการ โดยคนที่มาเข้ารับการอบรมมักเป็น ส.ส., ส.ว., ผู้บริหาร, ทหารระดับสูงหรือนักธุรกิจ

“เวลาผมไปบรรยายในงานอบรมเหล่านี้ จะพบว่าสุดท้ายผู้ใหญ่พวกนี้ไม่ตั้งใจเรียน เพราะพวกเขาไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อหาความรู้ แต่อยากมาหาคอนเน็กชันและเครือข่ายต่างๆ ทั้งนี้ การอบรมเหล่านี้เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณเยอะ มีทั้งการไปดูงานต่างประเทศหรือเลี้ยงอาหารหรูหรา 

“นั่นหมายความว่า เราเอางบประมาณจำนวนมากมาให้คนที่มีโอกาสในสังคมสูงมากอยู่แล้วเพื่อให้เขาได้สร้างเครือข่ายไปขยายอำนาจมากขึ้น ดังนั้นต้องกลับมาถามว่าเราไม่มีทรัพยากรจริงหรือ ถ้าเราเอาเงินก้อนนี้มาใช้กับเยาวชนเพื่อพัฒนาทักษะพวกเขา หรือให้พวกเขามาสร้างเครือข่าย เรียนรู้ซึ่งกันและกัน อบรมเรื่องศิลปะ ดนตรีหรือกีฬาอะไรก็ได้ สังคมก็เปลี่ยนแล้ว ดังนั้นจึงต้องถามว่าเราอยากพัฒนาใคร ไม่ใช่ว่างบประมาณนั้นไม่พอ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราเอาไปใช้ทำอะไร” ประจักษ์กล่าว

และในห้วงเวลาที่สังคมไทยเต็มไปด้วยเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เรียกร้องสิทธิเสรีภาพเช่นนี้ ประจักษ์มองว่าโดยธรรมชาติของเยาวชนแล้ว เด็กๆ ไม่ได้อยากมาประท้วงบนถนนเพื่อจะโดนแก๊สน้ำตาหรือโดนจับ เพราะหากว่าสังคมเราเป็นปกติ เยาวชนจะออกมาประท้วงทางการเมืองน้อยเพราะเสียงและความเห็นของพวกเขาจะอยู่ในกลไกทางการเมืองอยู่แล้ว “การประท้วงเป็นสิทธิและคือการส่งเสียงขั้นสุดท้ายของเขาแล้วหลังจากเห็นว่าวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล ซึ่งมันสะท้อนว่าสังคมเรานั้นมีปัญหามากแค่ไหน” ประจักษ์ว่า “หากสังคมไม่ยอมฟังเยาวชน มันก็จะนำไปสู่ความตึงเครียด ที่ผ่านมาสหภาพยุโรปทำสำรวจ Youth Progress Index เพื่อดูว่าแต่ละประเทศดูแลคุณภาพชีวิตเด็กอย่างไร เด็กมีโอกาสได้แสดงความเห็นตัวเองหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองหรือไม่

“ประเทศไทยได้คะแนนเรื่องการแสดงออกด้านสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของเด็กน้อย โดยเป็นสังคมที่ไม่ค่อยเคารพสิทธิการแสดงออกของเด็กๆ เช่น อัตลักษณ์เรื่องเพศ การเมืองและสังคม ขณะที่การให้เด็กเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่ เรามีเด็กอายุ 12-13 ปีที่ออกมาเคลื่อนไหวแล้วโดนคดีทางการเมือง เยาวชนจึงยิ่งรู้สึกว่าสังคมไม่ฟังเสียงและไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาอะไรเลย

“ตอนนี้เมื่อโลกพูดเรื่องการมีส่วนร่วมของเยาวชน ก็หมายความว่าเด็กต้องได้รับการเคารพสิทธิในการจะส่งเสียงแสดงความเห็นได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าผู้ใหญ่ในบ้าน ครูที่โรงเรียน หรือรัฐจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับพวกเขาก็ตาม แต่พวกเขาควรส่งเสียงได้อย่างปลอดภัย ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับทุกสิ่งที่เขาพูด แต่อย่าลืมว่า เยาวชนในฐานะพลเมืองคนหนึ่งก็ควรส่งเสียงได้อย่างปลอดภัย” ประจักษ์กล่าวและว่า แต่เรื่องที่เป็นบรรทัดฐานขั้นต่ำเช่นนี้ สังคมไทยก็ยังทำไปได้ไม่ถึงไหน ดังนั้น หากอยากสนับสนุนเยาวชนให้พวกเขารู้สึกว่าประเทศนี้รับฟัง ก็ต้องให้เด็กๆ มีบทบาททำโครงการต่างๆ พร้อมเสนอว่ารัฐสามารถลองให้งบมานำร่อง ให้เด็กมาระดมสมองว่าอยากทำอะไรก็ยังได้ เพื่อจะให้เด็กๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม จัดการสิ่งต่างๆ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าวันนี้ กทม. น่าจะมีศักยภาพในการทดลองประเด็นนี้ได้อยู่

“วันนี้หลายประเทศพูดเรื่องการลดอายุการเลือกตั้งแล้ว โดยบางประเทศให้คนอายุ 16 มีสิทธิเลือกตั้งได้ ซึ่งก็ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในหลายประเทศอยู่ แต่ปัจจุบันเด็กก็มีความรู้ที่มากกว่าผู้ใหญ่หลายเรื่อง เช่น เรื่องวิกฤตอุณหภูมิ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กอายุ 16 ปีในวันนี้รู้มากกว่าคนอายุ 70 ปีอย่างแน่นอน

“อย่าลืมว่ายุคหนึ่งในโลกเคยกำหนดผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ที่ 21 ปี ในเวลาต่อมาก็ลดเหลือ 18 ปีเพราะคนเข้าถึงการศึกษามากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องพูดถึงและคำนึงต่อไปในอนาคตด้วย” ประจักษ์ปิดท้าย

สังคมไทยไม่เคยโอบอุ้มความฝันของใครเลย

ในฐานะที่เป็นกุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่นและเป็นเจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ ผศ.พญ.จิราภรณ์ ย่อมเคยรับรู้ปัญหาของเยาวชนไทยมาแล้วนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะปัญหาความเครียดเรื่องการเรียน ครอบครัว ไปจนถึงชีวิตที่บ่อยครั้งอาจถูกผู้ใหญ่มองข้ามว่า ‘ไม่ใช่เรื่องใหญ่’ หรือ ‘เป็นเด็กจะเครียดอะไร’ ซึ่งสำหรับเธอ ความเครียดของวัยรุ่นนั้นหนักหน่วงไม่แพ้ความเครียดของคนวัยอื่น

กล่าวให้ชัดกว่านั้น การเป็นวัยรุ่นในประเทศนี้ ย่อมหมายถึงการแบกรับความเครียดของชีวิตที่พร้อมจะถูกสังคมบดขยี้ลงได้ทุกเมื่อ

“เราเศร้าที่เยาวชนกำลังโตขึ้นมาในสังคมที่ไม่โอบอุ้มความฝันและเรื่องพื้นฐาน คุณภาพชีวิต การศึกษาของพวกเขาเลย หลายคนมีอุปสรรคเพราะเรื่องฐานะ จะเลือกอาชีพที่อยากทำก็ไม่ได้เพราะถูกสังคมกดทับไว้ด้วยคำว่าต้องอยู่รอด เช่น มีน้องคนหนึ่งที่อยากเป็นครูแต่ไม่มีทุนทรัพย์ เธอจึงต้องลาออกจากการเรียนแล้วไปประกอบอาชีพอื่นเพื่อให้อยู่รอดต่อไป ดังนั้น จึงจะเห็นว่าเราสูญเสียบุคลากรไปเยอะมากให้กับความอยู่รอดเหล่านี้เพราะสังคมไม่เคยโอบอุ้มพวกเขาเลย” จิราภรณ์กล่าว

ชั่วระยะสองปีที่ผ่านมาหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาสุขภาพจิต ความซึมเศร้าและวิตกกังวล ความเครียด ตลอดจนภาวะไม่มีความสุขในวัยรุ่นสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จิราภรณ์พบว่า เมื่อพ่อแม่พาบุตรหลานมาเข้ารับการปรึกษาจากเธอ ข้อเท็จจริงหนึ่งที่มักปรากฏตรงหน้าคือ ตัวพ่อแม่ก็มักจะซึมเศร้าด้วยเช่นกัน สะท้อนปัญหาสุขภาพจิตที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรต้องจัดการ 

“อย่างไรก็ตาม ผู้ดูแลครอบครัวในเวลานี้คือคนแบกทุกอย่างไว้ พวกเขาต้องแบกดูแลลูก และต้องแบกดูแลพ่อแม่ของตัวเองที่ไม่มีสวัสดิการหรือหลักประกันผู้สูงอายุใดๆ ที่ผ่านมามีครอบครัวที่ต้องให้เด็กในบ้านออกจากระบบการศึกษาเพราะปู่ย่าในบ้านติดโควิด เกิดภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง แม่ซึ่งเป็นผู้หารายได้เพียงคนเดียวของครอบครัวต้องออกจากงานมาดูแล เด็กๆ ในบ้านจึงถูกบีบให้ออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อหารายได้เข้าบ้านแทน ดังนั้น ไม่เพียงแต่ตัวเด็กจะเครียด แต่แม่ก็ต้องอยู่ด้วยความรู้สึกผิดที่ไปทำลายอนาคตลูก นี่จึงเป็นความกดดันที่คนเหล่านี้ต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน” จิราภรณ์กล่าว 

สองปีที่ผ่านมา เธอยังพบว่าหลายครอบครัวต้องเผชิญสภาพการถูกสังคมกดทับในหลายมิติ เช่นมีกรณีหนึ่งที่เธอดูแลเด็กจากคลินิกเพศหลากหลาย กระทั่งเมื่อครอบครัวเผชิญภาวะเดือดร้อนทางการเงินจากโควิด ตัวเด็กจึงถูกบีบให้ออกจากการศึกษาเพื่อไปช่วยทำงานในร้านสะดวกซื้อหาเงินเข้าบ้าน 

“คำถามคือใครช่วยคนเหล่านี้ได้บ้าง เราควรจะมีระบบหรือสวัสดิการบางอย่างที่ให้คนเหล่านี้ได้เข้าสู่ระบบของสาธารณสุขเพื่อไม่ให้ต้องเกิดการล้มเป็นโดมิโน เพราะสุดท้ายเด็กที่เราดูแลก็เกิดภาวะซึมเศร้า เขาไม่ได้รับฮอร์โมนเนื่องจากแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว ทั้งที่ฮอร์โมนที่ว่านี้ก็ควรเป็นสิ่งที่รัฐมอบให้เป็นสวัสดิการด้วยซ้ำ และเมื่อเด็กหยุดใช้ฮอร์โมน ก็กลับไปมีหนวดเคราซึ่งก็ยิ่งกดทับความรู้สึกที่ไม่ได้เป็นตัวของตัวเองอีก ดังนั้น นี่จึงเป็นการกดทับหลายชั้นอย่างมาก”

จิราภรณ์เล่าว่า เวลานี้คลินิกของเธอมีคิวยาวเป็นปี สะท้อนว่าคนเข้าถึงบริการสุขภาพแทบไม่ได้ ระบบไม่พอจะรองรับความต้องการของผู้คนที่หนักหนามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังช่วงโควิดที่มีผู้เข้ามาขอรับคำปรึกษาจำนวนมหาศาลด้วยภาวะซึมเศร้า ทะเลาะกับที่บ้าน เป็นต้น 

ในความเครียดและกดดันเหล่านี้ เด็กหลายคนเลือกจะสู้ด้วยการลงถนนประท้วง เพื่อตะโกนให้เสียงของเขาส่งไปถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ซึ่งสำหรับจิราภรณ์นั้น เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ถึงที่สุดแล้วกลับไม่มีใครฟังเสียงของเยาวชนแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำ พวกเขายังถูกตัดสินว่าเป็นเด็กไม่ดี

ยิ่งกับภาพลักษณ์ที่มองว่า เด็กสมัยนี้ก้าวร้าว เธอชวนมองต่อว่าก้าวร้าวจริงหรือไม่ แล้วความก้าวร้าวนั้นมาจากไหน ที่ผ่านมา เด็กๆ เหล่านี้ก็พยายามเปล่งเสียงบอกสิ่งที่เขารู้สึกแบบธรรมดาแล้วแต่ปราศจากคนรับฟัง ทำให้ต้องตะโกนแต่ก็กลับไม่มีคนฟังอีก ถึงที่สุดหลายคนจึงเริ่มสู้ การตะโกนด่าโดยไม่กริ่งเกรงสิ่งใดนั้นเป็นเพราะเยาวชนเหล่านี้อยู่กับความสิ้นหวัง ไม่มีสิ่งใดให้เสีย

“สังคมจึงไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของเด็ก คุณต้องทำให้เขารู้สึกว่าเขามีความหมาย เสียงของพวกเขาได้รับการรับฟัง ปกติแล้วเราก็มักจะรักคนที่เห็นคุณค่า รักคนที่รับฟังเรา รักคนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยของเรา” จิราภรณ์กล่าวและว่า พื้นที่ปลอดภัยนั้นสร้างได้ด้วยการรับฟัง เป็นปกติของมนุษย์ที่ทุกคนล้วนต้องการพื้นที่ซึ่งพวกเราสามารถทำถูกผิดได้ สามารถไม่รู้ได้ และมีคนที่พร้อมจะรับฟังพวกเขาเพื่อจะเข้าใจ ว่าพวกเขาต้องการไม่ใช่เพื่อสั่งสอน 

“นี่จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่มีผลสำรวจว่า 65 เปอร์เซ็นต์ของเยาวชนในปัจจุบันนี้มีเป้าหมายสูงสุดคือการย้ายประเทศ นี่เป็นเรื่องน่าเศร้ามาก และเป็นเสียงสะท้อนว่าพวกเขาเจ็บปวดอย่างยิ่ง มนุษย์เป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติ และเป็นสิ่งที่เราต้องลงทุนด้วยมากที่สุด แต่เรากลับเอาเงินไปลงทุนกับอะไรก็ไม่รู้ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องถามตัวเองว่า เราไม่มีงบประมาณหรือเงินให้เยาวชนเหล่านี้จริงๆ หรือ” จิราภรณ์ตั้งคำถาม 

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยนั้นมีเด็กจำนวนไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ที่ได้เติบโตมาในครอบครัวที่มีพ่อแม่เลี้ยง เพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายให้พ่อแม่เด็กได้ลางานมาดูแลลูกเป็นระยะเวลาเกินกว่าสามเดือน ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว เด็กๆ อีก 90 เปอร์เซ็นต์จะถูกส่งไปให้คนอื่นเลี้ยงเพราะพ่อแม่ต้องหาเช้ากินค่ำ ไม่มีใครมาดูแลอย่างใกล้ชิด 

จิราภรณ์อธิบาย ‘ภาพ’ ที่เยาวชนไทยต้องเผชิญไว้อย่างเห็นภาพว่า “หลังจากสามเดือน เด็กมักจะถูกส่งไปให้ปู่ย่าตายายหรือศูนย์รับเลี้ยงเด็ก และเด็กจำนวนหนึ่งจะเติบโตไปโดยรู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ไม่เป็นที่รักและไม่มีความหมาย อีกทั้งต่อมา เขาจะถูกครอบครัวกวดขันเพื่อซื้อความปลอดภัยในชีวิต นั่นคือการพยายามให้เด็กสอบเข้าโรงเรียนที่ดีให้ได้ เด็กจำนวนหนึ่งจึงต้องพยายามอย่างหนักเพื่อจะให้สอบให้ผ่าน พ่อแม่ถมเงินทั้งชีวิตเพื่อคุณภาพการศึกษาของลูก”

นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะโยงไปยังความเหลื่อมล้ำเรื่องคุณภาพการศึกษาที่ยุ่งเหยิงและไม่อาจแยกจากคุณภาพชีวิตของประชากรได้ “เราเจอความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาสูงมาก พ่อแกัดฟันซื้ออนาคตให้ลูก ส่งลูกเข้าสู่ระบบการศึกษาที่พวกเขาเห็นว่าสร้างอนาคตที่ดีให้ลูกได้ เพื่อให้เด็กเติบโตไปเป็นสิ่งที่พ่อแม่รู้สึกว่าจะไปเป็นเจ้าคนนายคน 

“เด็กจึงเต็มไปด้วยความคาดหวัง และแม้จะเจอตัวตนของตัวเองแต่ก็ไม่อาจเป็นได้เพราะมีภาระต้องรับผิดชอบ เนื่องจากรู้สึกว่าพ่อแม่ลงทุนมาเพื่อเขาแล้ว เมื่อรัฐไม่มีสวัสดิการรัฐรองรับ พ่อแม่จึงคาดหวังเด็กตั้งแต่เล็ก ให้ลูกแบกความคาดหวังเพราะทุ่มให้ลูกไปหมดหน้าตักแล้ว ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งต้องแบกปัญหาสุขภาพจิตในที่สุด”

จิราภรณ์ขมวดความเศร้าของเยาวชนที่เธอเจอไว้ว่า “เด็กจำนวนหนึ่งตัดสินใจจะไม่ฝันเลยดีกว่า เพราะฝันไปก็เท่านั้น ไม่มีใครโอบกอดความฝันเขา นี่จึงเป็นปัญหาเชิงสังคมที่ไม่ได้โอบอุ้มให้เรามีความสุขได้เลย”

เมื่อโรงเรียนไม่เคยเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เด็ก

คณาธิป หรือ ‘ครูลูกกอล์ฟ’ ย่อมเป็นหนึ่งในคนที่คลุกคลีกับเยาวชนอย่างใกล้ชิดมานานหลายปี จากการทำโรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษชื่อดังที่คนให้ความสนใจจำนวนมาก รวมทั้งท่าทีรับฟังและเปิดใจให้กลุ่มคนหนุ่มสาวเรื่อยมา คณาธิปจึงเป็นหนึ่งใน ‘ที่พักใจ’ ของเยาวชนปัจจุบัน ตลอดจนคนที่เคยเป็น ‘เยาวชน’ และกลายเป็นผู้ใหญ่แล้วในทุกวันนี้

“เราเปิดโรงเรียนกวดวิชาซึ่งก็อยู่ในหมวดการสอนวิชาชีพ ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นปัญหา” เขาบอกอย่างตรงไปตรงมา นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คณาธิปออกมาแสดงความเห็นเรื่อง ‘บาดแผล’ จากระบบการศึกษาที่ยังผลให้เกิดโรงเรียนกวดวิชาอันล้นหลามในไทย และทุกครั้งที่ออกมาพูด เขามักถูกถามอยู่เนืองๆ ว่าจะ ‘หาเรื่อง’ ให้อาชีพการงานของตัวเองทำไม

“ในประเทศที่ระบบการศึกษาดีแล้วนั้นไม่จำเป็นต้องมีโรงเรียนกวดวิชา ดังนั้น คนที่ได้ประโยชน์จากระบบการศึกษาตรงนี้คือเราซึ่งทำเงินได้มหาศาลจากการเปิดโรงเรียนสอนภาษา” เขาบอก “ที่ผ่านมา เราไม่เคยอยู่ในห้องเรียนประเทศไทยห้องไหนที่ไม่โดนตัดสินเรื่องเพศสภาพเลย ขนาดว่าเราเรียนในโรงเรียนชนชั้นกลางดีๆ แต่กลับพบว่าโรงเรียนเป็นเหมือนนรกตั้งแต่เด็กจนโต แล้วยังไม่ต้องไปพูดถึงโรงเรียนที่สังคมมองว่าแย่กว่าที่เราเคยเจอ ในฐานะเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ โรงเรียนคือนรก ดังนั้น เราอยากทำห้องเรียนที่เด็กเข้ามาแล้วรู้สึกปลอดภัย

“แต่ว่าโรงเรียนกวดวิชาคือวิตามินเสริม ทว่า เราก็มีสิทธิเรียกร้องให้อาหารหลักมันดีได้ ถ้าวันนี้โรงเรียนกวดวิชาของเราต้องจบลงเพราะระบบการศึกษาในไทยดีก็ไม่เป็นไรเลย”

สำหรับคณาธิป โรงเรียนจึงไม่เคยเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขา และยิ่งเมื่อเติบโตขึ้นมาทำงานใกล้ชิดกับเยาวชน ก็ยิ่งพบว่าข้อเท็จจริงนี้ของสถาบันการศึกษาในไทยกลับไม่เปลี่ยนแปลงไปแม้แต่น้อย 

“เราพบว่าแม้กระทั่งก่อนโควิด พื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียนแต่ละแห่งก็มีน้อยมาก อาจจะพูดได้ว่าโรงเรียนอินเตอร์ที่ค่าเทอมเป็นล้านนั้น เด็กๆ แทบไม่เคยเจอการทำร้าย ข่มขู่ในชีวิตเลย ซึ่งเด็กที่สามารถเข้าถึงโรงเรียนเหล่านี้ได้อาจมีแค่เปอร์เซ็นต์เดียวในประเทศ แล้วอีก 99 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือคือต้องไปเรียนในโรงเรียนที่แทบไม่มีพื้นที่ปลอดภัยเลย และเมื่อมีโควิดเข้ามา พื้นที่ปลอดภัยก็ยิ่งน้อยลงเข้าไปอีก”

ในฐานะครูกวดวิชา เขาเล่าว่าเด็กๆ ในชั้นเรียนมักมาบอกเล่าและถ่ายทอดปัญหาของพวกเขาให้ฟัง และปัญหาสุดคลาสสิกที่เจอทุกครั้งคือ เด็กไม่กล้าคุยกับครูเพราะกลัวโดนตำหนิ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนว่าโรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย หากแต่ยังหมายถึงการใช้อำนาจอย่างหนักหน่วงด้วย “การที่ครูยังกร้อนผมเด็กได้ มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายเด็กด้วยเกรด เราต้องพูดตรงๆ ว่าที่ผ่านมามีการให้อำนาจครูที่โรงเรียนมาก ยังไม่นับเรื่องอำนาจในบ้าน แน่นอนว่าหน้าที่การดูแลลูกของพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายนั้นเป็นงานที่หนักก็จริง แต่มันก็เป็นงานที่มาพร้อมอำนาจ จึงอยากชวนผู้ใหญ่ทุกคนมาคิดกันว่า เราอยากเป็นผู้ใหญ่ที่รับฟังเด็กๆ หรือเป็นผู้ใหญ่ที่เลือกกดทับเด็กๆ โดยไม่มีเหตุผลใดๆ มารองรับ” คณาธิปกล่าว 

นอกจากนี้ เขายังชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่ว่า ในเวลาที่สังคมมองว่าเด็กก้าวร้าวนั้น อยากให้มองดูก่อนว่าเมื่อเด็กเรียกร้องประเด็นใดสักอย่าง ไม่ว่าประเด็นนั้นจะรุนแรงมากแค่นั้น ส่วนใหญ่แล้วมักเริ่มจากเสียงเบาๆ เสมอ ก่อนจะค่อยๆ ดังขึ้น ดุดันขึ้นเมื่อพวกเขาพบว่าไม่มีคนรับฟัง

“เราคิดว่า ถ้าเด็กยังเรียกร้องอะไรอยู่ มันหมายความว่าเขายังรักที่นี่ เช่นเดียวกับเวลาเขาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ในสังคมไทย แต่เรากลับไม่มีพื้นที่ปลอดภัยหรือพื้นที่ใดที่จะรับฟังพวกเขาเลย ทั้งที่บางครั้งแล้วในชีวิตเรา เราแค่ต้องการแพลตฟอร์มเดียวหรือคนเพียงคนเดียวที่จะรับฟังเรา 

“แน่นอนว่าเราก็ไม่ได้เข้าใจเด็กร้อยเปอร์เซ็นต์และเด็กก็ไม่ได้ถูกเสมอไป ซึ่งเด็กๆ เขาก็รู้ตัว และสิ่งที่ผู้ใหญ่อย่างเราทำได้แม้จะยังไม่เข้าใจเด็กๆ คือลองรับฟังพวกเขา รับฟังโดยอาจไม่ต้องมีคำสอนกลับไปก็ได้ เพียงเท่านี้ก็อาจจะลดความกดดัน ความโกรธเคืองในครอบครัวหรือโรงเรียนลงได้บ้างแล้ว แต่น่าเศร้าที่การพูดคุยกันด้วยเหตุผลหรือให้มีคนรับฟังพวกเขาบ้าง ก็ยังไม่ค่อยเกิดขึ้นในบ้านของหลายๆ คนเลย”

คณาธิปย้ำว่า ผู้ใหญ่นั้นไม่จำเป็นต้องเข้าใจสิ่งที่เยาวชนพูดตลอดเวลา แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการรับฟังกันและกัน ซึ่งนั่นคือก้าวแรกของการสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ อันเป็นหนึ่งในไม่กี่สิ่งที่มนุษย์เราเรียกร้องเสมอมาก็เป็นได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ให้เด็กได้เบ่งบานนอกสถานรองรับ: แนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่การเลี้ยงดูแบบครอบครัว

คิด for คิดส์ ชวนอ่านปัญหาการพัฒนาครอบครัวอุปถัมภ์ไทยที่ส่งผลให้เด็กไทยจำนวนมากไม่ได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวอย่างที่ควรจะเป็น

‘เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม’: ความเชื่อแบบไทยๆ อุปสรรคใหญ่ของนโยบายครอบครัวอุปถัมภ์

นโยบายการเพิ่มครอบครัวอุปถัมภ์เผชิญกับความเชื่อแบบไทยๆซึ่งเป็นกำแพงใหญ่ที่รัฐต้องก้าวข้าม หากจะผลักดันให้ดี ไม่ใช่แค่ปรับปรุงนโยบายแต่ต้องลงลึกถึงมายาคติที่มีมาแต่เดิม

การหา ‘งานที่ดี’ อาจเป็นเพียงความฝันของเยาวชนไทยส่วนใหญ่

คิด for คิดส์ ชวนสำรวจความฝันด้านอาชีพการงานของเยาวชนไทย พร้อมทั้งชวนมองดูโลกความจริงที่ทำให้ ‘งานที่ดี’ อาจเป็นเพียงความฝันของเด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2024 kidforkids.org | All rights reserved.