ประเด็นสำคัญ
- การเลี้ยงดูแบบครอบครัวอุปถัมภ์เป็นทางเลือกที่ทั่วโลกกำลังส่งเสริมแทนการปล่อยให้เด็กต้องเติบโตในสถานรองรับ แต่ในไทย ครอบครัวอุปถัมภ์ยังมีน้อย
- การจะเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ในไทยต้องเข้าไปหาเด็กที่สถานรองรับ ไม่มีพื้นที่ให้เด็กและผู้ที่พร้อมอุปถัมภ์เด็กได้เจอกันนอกสถานรองรับเลย
- การสนับสนุนเงินจากรัฐ และค่านิยมคนไทยเรื่องการมีลูกไว้เลี้ยงดูตนเองในวัยชรา ซ้ำเติมในการรับเด็กคนหนึ่งไปอุปถัมภ์ในไทยยิ่งยากขึ้นไปอีก
- การพัฒนานโยบายที่เหมาะสมกับเด็กเนื่องจากยังขาดข้อมูลที่จำเป็นและการติดตามที่มีประสิทธิภาพ
“ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวทดแทน แม่ให้ทุกอย่าง ทดแทนสิ่งที่ขาดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความอบอุ่น ให้การศึกษา และหลักการใช้ชีวิตค่ะ”
น้องเนย เด็กหญิงที่ถูกทอดทิ้งและได้อยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์[1]THE PEOPLE, “ ‘น้องเนย’ จากเด็กที่ถูกทิ้งกลางทุ่งนา … Continue reading
พ่อแม่ลูกอยู่อาศัยด้วยกันอย่างมีความสุขในบ้านหนึ่งหลัง รายล้อมด้วยต้นไม้และภูเขา สิ่งเหล่านี้ประกอบกันเป็นภาพวาดครอบครัวในฝันของเด็กหลายๆ คน แต่เมื่อครอบครัวต้องเผชิญปัญหาความรุนแรงภายในบ้านหรือความไม่พร้อมในหลายด้านจนทำให้เด็กต้องถูกทอดทิ้ง ภาพครอบครัวในฝันของเด็กก็ต้องสูญสลายไป เด็กจำนวนไม่น้อยต้องออกจากบ้านไปใช้ชีวิตในสถานรองรับที่ไม่ได้เอื้อต่อการเติบโตและไม่สามารถให้ความรักและการเอาใจใส่ได้ทัดเทียมกับการดูแลแบบครอบครัว แต่เมื่อครอบครัวจริงๆ ของเด็กเองก็ไม่สามารถให้สิ่งเหล่านี้ได้ ครอบครัวทดแทนที่เรียกว่า ‘ครอบครัวอุปถัมภ์’ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งช่วยประกอบภาพในฝันของเด็กๆ ให้กลับมาใกล้เคียงกับคำว่าครอบครัว
อย่างไรก็ดี ครอบครัวอุปถัมภ์ในไทยก็ยังถูกท้าทายจากสังคม ทั้งในเรื่องของค่านิยมของคนไทยเอง ไปจนถึงการสนับสนุนของรัฐ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบครอบครัวอุปถัมภ์และส่งเด็กกลับสู่การดูแลแบบครอบครัว
ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ‘คิด for คิดส์’ โดยความร่วมมือของ 101 Public Policy Think Tank (101 PUB) และสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ชวนสำรวจปัญหาของการเปลี่ยนผ่านเด็กจากการเลี้ยงดูในสถานรองรับไปสู่การเลี้ยงดูในรูปแบบของครอบครัวทดแทนที่ยังไม่ก้าวหน้า และทำให้ภาพวาดครอบครัวในฝันของเด็กๆ ยังไม่กลายเป็นจริง
เด็กจำนวนมากไม่ได้เติบโตกับครอบครัวของตัวเอง
เด็กไทยมีแนวโน้มต้องเติบโตนอกครอบครัวของตัวเองมากขึ้น UNICEF สำรวจจำนวนเด็กที่ต้องแยกจากครอบครัวพบว่าในปี 2014 มีเด็กไทยที่ออกไปเติบโตนอกบ้านของตัวเองราว 50,000 คน[2]UNICEF พฤษภาคม 2015, การศึกษาทบทวนด้านการเลี้ยงดูทดแทนในประเทศไทย … Continue reading ในขณะที่ปี 2022 มีเด็กไทยที่เติบโตนอกบ้านของตัวเองอย่างน้อย 120,000 คน โดยเด็กอยู่ในสถานรองรับและบ้านพักเด็กของรัฐ 20,800 คน (หรือคิดเป็น 12.8%) อยู่ในสถานรองรับเอกชนอย่างน้อย 39,382 คน (หรือคิดเป็น 27.7%) อยู่ในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ 43,030 คน (หรือคิดเป็น 26.4%) บวชเป็นสามเณร 33,150 คน (หรือคิดเป็น 20.4%)[3]Ladaphongphatthana, K., Lillicrap, A., & Thanapanyaworakun, W. (2022). Counting every child, identifying over 120,000 children in residential care in Thailand. และสุดท้ายอยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งที่เป็นญาติของเด็กและไม่ใช่ญาติในข้อมูลอย่างเป็นทางการของรัฐ 5,632 คน (หรือคิดเป็น 3.5%)[4]รายงานประจำปี 2564, กรมกิจการเด็กและเยาวชน, 27 เมษายน 2565.
สถานรองรับไม่ใช่พื้นที่สำหรับการเติบโต
จะเห็นได้ว่า เด็กไทยกว่าครึ่งที่ไม่ได้เติบโตในบ้านของตัวเอง ต้องเติบโตในสถานรองรับ[5]สถานรองรับในความหมายนี้ได้แก่สถานสงเคราะห์ … Continue reading ซึ่งมักจะต้องดูแลเด็กจำนวนมากที่อยู่ร่วมกัน จนสุ่มเสี่ยงที่เด็กแต่ละคนจะไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ในต่างประเทศมีการศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบทั้งระยะสั้นและยาวของการเติบโตในสถานรองรับอย่างเป็นระบบ และพบว่าทำให้เกิดผลกระทบต่อเด็กทั้งทางด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต รวมถึงพัฒนาการของเด็ก
การอยู่ในสถานรองรับเป็นเวลานานส่งผลกระทบกับเด็ก
งานศึกษาในสหราชอาณาจักรแสดงให้เห็นถึงผลการเรียนของเด็กในสถานรองรับที่แย่กว่าเด็กที่อยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์[6]Judy Sebba, David Berridge, Nikki Luke, John Fletcher, Karen Bell, Steve Strand, Sally Thomas, Ian Sinclair, Aoife O’Higgins, (2015), The Educational Progress of Looked After Children in England: … Continue readingและยังส่งผลระยะยาวไปจนถึงเวลาที่เด็กต้องออกจากสถานรองรับด้วย โดยพบว่าเด็กอายุ 19-21 ปี ที่ออกจากสถานรองรับไปแล้วกว่า 38% เป็น NEET (Not in Education, Employment or Training) กล่าวคือเด็กที่ออกจากสถานรองรับเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกฝนทักษะใดๆ เลย[7]Department for Education, United Kingdom. (16 November 2023). Department for Education, … Continue reading
เด็กเล็กที่อยู่ในสถานรองรับอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเกิดพัฒนาการทางสมองล่าช้าและสมองฝ่อ เนื่องจากเด็กเล็กในสถานรองรับมีโอกาสได้รับการตอบสนองจากผู้ดูแลได้น้อยกว่าด้วยข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากร ทำให้ไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างที่ควรจะได้รับเมื่อเด็กอยู่ในการเลี้ยงดูแบบครอบครัว[8]Isranews, (28 พฤษภาคม 2566), ‘เด็กโตนอกบ้าน’ กระทบศักยภาพความเป็นมนุษย์ แก้ได้ด้วย … Continue reading
เมื่อเด็กก้าวเข้าสู่วัยที่เริ่มพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เด็กที่อยู่ในสถานรองรับยังพบความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิต อาทิ ความผิดปกติด้านความสัมพันธ์ (attachment disorder) ซึ่งพัฒนาจากการที่เด็กในสถานรองรับมีจำนวนไม่สัมพันธ์กับผู้ดูแล รวมถึงการเข้า-ออกของผู้ดูแลเด็ก ส่งผลให้เด็กไม่สามารถพัฒนาความมั่นคงทางด้านความสัมพันธ์กับผู้ดูแลได้เต็มที่[9]Marian J. Bakermans-Kranenburg, Howard Steele, Charles H. Zeanah, Rifkat J. Muhamedrahimov, Panayiota Vorria, Natasha A. Dobrova-Krol, Miriam Steele, Marinus H. van IJzendoorn, Femmie Juffer, and … Continue reading
นอกจากนี้ ในประเทศไทยความผิดปกติด้านความสัมพันธ์ส่วนหนึ่งเกิดจากกิจกรรมเชิงท่องเที่ยวในสถานรองรับ เช่น การบริจาคสิ่งของหรือขนม หรือการเลี้ยงอาหารกลางวันเด็ก ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกว่าได้รับความรักจากคนแปลกหน้าเพียงชั่วครั้งชั่วคราว และเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นซ้ำๆ เด็กจึงไม่สามารถสร้างความผูกพันระยะยาวกับผู้อื่นได้[10]Isranews, (28 พฤษภาคม 2566), ‘เด็กโตนอกบ้าน’ กระทบศักยภาพความเป็นมนุษย์ แก้ได้ด้วย … Continue reading
ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กในสถานรองรับยังถูกแสดงออกผ่านทางพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว โดยงานศึกษาจากเนเธอร์แลนด์พบว่าเด็กที่อยู่ในสถานรองรับนั้นมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรงมากกว่าเด็กที่อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์[11]E.L.L. Strijbosch, J.A.M. Huijs, G.J.J.M. Stams, I.B. Wissink, G.H.P. van der Helm, J.J.W. de Swart, Z. van der Veen, (2015), The outcome of institutional youth care compared to non-institutional … Continue reading
“น้องมาอยู่กับเราในช่วงที่เขาเริ่มโตแล้ว ตอนแรก ๆ เขาจะมีนิสัย 3 อย่าง คือ ขี้โกหก ขี้โกง และขี้ขโมย เราก็ต้องค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ สอนว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควรทำ โดยใช้ความเข้าใจ การพูดคุยสื่อสารกัน ทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ ก็ทำให้พฤติกรรมพวกนี้หายไป จากตอนแรกอาจจะยังไม่สนิทกันมาก แต่ตอนนี้เขาเรียกเราว่าแม่ได้เต็มปาก” คุณสมร คุณแม่อุปถัมภ์[12]THE PEOPLE, “‘น้องเซ็น’ ชีวิตใหม่ในครอบครัวอุปถัมภ์ที่เต็มเติมความรัก“, 19 … Continue reading
การที่เด็กต้องเติบโตมาในสถานรองรับ อาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่ดีติดตัวมาเนื่องจากขาดการดูแลและอบรมอย่างใกล้ชิดจากผู้ใหญ่ พฤติกรรมของเด็กที่ออกจากสถานรองรับบางส่วนในประเทศไทยถูกสะท้อนผ่านบทสัมภาษณ์ของคุณสมร คุณแม่อุปถัมภ์ซึ่งรับเด็กคนหนึ่งจากสถานสงเคราะห์มาเลี้ยงดู โดยปรากฏว่าเด็กที่คุณแม่สมรอุปถัมภ์มา ในช่วงแรกมีพฤติกรรม “ขี้โกหก ขี้โกง และขี้ขโมย” อย่างไรก็ดี พฤติกรรมของเด็กเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ หากเด็กได้รับความเอาใจใส่จากผู้ใหญ่มากเพียงพอ ครอบครัวอุปถัมภ์เช่นในกรณีของคุณแม่สมร จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยขัดเกลาพฤติกรรมของเด็กก่อนที่เด็กจะก้าวออกไปใช้ชีวิตในสังคม
ทั่วโลกมุ่งสู่การเลี้ยงดูแบบครอบครัว แต่ในไทยมีครอบครัวอุปถัมภ์แค่ 4%
การเลี้ยงดูแบบครอบครัวอุปถัมภ์หรือเรียกอีกอย่างว่าการเลี้ยงดูแบบครอบครัวทดแทน เป็นการรับเด็กที่อยู่ในสถานรองรับหรือบ้านพักเด็กมาอุปถัมภ์เป็นการชั่วคราว ซึ่งแตกต่างจากการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ทั้งในเรื่องระยะเวลาที่กำหนดไว้แน่นอนว่าการรับอุปถัมภ์จะสิ้นสุดลงเมื่อเด็กอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ แต่การรับเป็นบุตรบุญธรรมไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้เว้นแต่จะยกเลิกการเป็นบุตรบุญธรรมด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังมีเรื่องสิทธิในทางกฎหมายอื่นๆ อาทิ สิทธิในการที่จะได้รับมรดก โดยเด็กที่ถูกรับเป็นบุตรบุญธรรมจะมีสิทธิในการรับมรดกของพ่อแม่บุญธรรม แต่เด็กที่ถูกรับไปอุปถัมภ์จะไม่มีสิทธิได้รับมรดกของพ่อแม่อุปถัมภ์เว้นแต่จะได้มาโดยพินัยกรรม
การเลี้ยงดูแบบครอบครัวเป็นสิ่งที่ทั่วโลกมุ่งหวังให้เกิดขึ้น เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลอย่างใส่ใจและใกล้ชิด งานศึกษาจากเนเธอร์แลนด์[13]E.L.L. Strijbosch, J.A.M. Huijs, G.J.J.M. Stams, I.B. Wissink, G.H.P. van der Helm, J.J.W. de Swart, Z. van der Veen, (2015), The outcome of institutional youth care compared to non-institutional … Continue readingและอังกฤษ[14]Judy Sebba, David Berridge, Nikki Luke, John Fletcher, Karen Bell, Steve Strand, Sally Thomas, Ian Sinclair, Aoife O’Higgins, (2015), The Educational Progress of Looked After Children in England: … Continue readingแสดงให้เห็นแล้วว่าเด็กที่โตมาในครอบครัวอุปถัมภ์ถึงพร้อมมากกว่าในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพจิต ผลการเรียน ไปจนถึงพัฒนาการในการเข้าสังคม
อย่างไรก็ดี 3 ปีที่ผ่านมา ไทยมีจำนวนครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งแบบเครือญาติและไม่ใช่เครือญาติเฉลี่ยอยู่ที่ 5,583 ครอบครัวหรือคิดเป็น 4% จากเด็กที่ต้องเติบโตนอกครอบครัวของตัวเองทั้งหมด และจากการรายงานของ UNICEF พบว่าครอบครัวอุปถัมภ์เพียง 300 ครอบครัวหรือ 5.4% ของครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งหมดเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ที่ไม่ใช่เครือญาติ และอีกกว่า 94.6% ในประเทศไทยเป็นครอบครัวอุปถัมภ์แบบเครือญาติ
เมื่อเทียบกับต่างประเทศ อัตราส่วนของครอบครัวอุปถัมภ์ที่ไม่ใช่เครือญาติของไทยยังมีน้อยมาก แสดงให้เห็นถึงระบบการจัดสรรและช่วยเหลือครอบครัวอุปถัมภ์แบบที่ไม่ใช่เครือญาติของไทยยังมีปัญหาต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
โดยในอังกฤษ ระหว่างเดือนเมษายน 2021 – เดือนมีนาคม 2022 มีเด็กที่อาศัยอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ที่ไม่ใช่เครือญาติ 57,540 คน คิดเป็น 29% ของเด็กที่อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งสองประเภทหรือ 70% ของเด็กที่ต้องเติบโตนอกบ้าน และอยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์แบบเครือญาติราว 121,000 คน คิดเป็น 71% ของเด็กที่อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งสองประเภท[15]The Fostering Network, Fostering statistics, https://www.thefosteringnetwork.org.uk/advice-information/all-about-fostering/fostering-statistics. และ Office of National Statistics, (26 September … Continue reading
ในออสเตรเลียก็พบว่า ในช่วงปี 2020 – 30 มิถุนายน 2021 มีเด็กอยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ที่ไม่ใช่เครือญาติราว 16,600 คน คิดเป็น 40% ของเด็กที่อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งสองประเภทหรือ 35.9% ของเด็กที่ต้องเติบโตนอกบ้าน และอยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์แบบเครือญาติราว 25,000 คน คิดเป็น 60% ของเด็กที่อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งสองประเภทหรือ 54.1% ของเด็กที่ต้องเติบโตนอกบ้าน นอกจากนี้ เด็กที่อยู่ในการดูแลแบบครอบครัวทั้งหมดก็สูงถึง 91% ของเด็กที่ต้องเติบโตนอกบ้าน[16]Australian Government, Australian Institute of Health and Welfare, (15 June 2022), Child protection Australia 2020–21, … Continue reading
ขั้นตอนการรับอุปถัมภ์ต้องพึ่งพาโชคชะตา
การที่ครอบครัวอุปถัมภ์ในไทยมีจำนวนน้อย โดยเฉพาะครอบครัวอุปถัมภ์ที่ไม่ใช่เครือญาติ ส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการรับครอบครัวอุปถัมภ์ในประเทศไทยที่ไม่มีจุดเชื่อมต่อกันระหว่างเด็กในสถานรองรับและผู้ที่ต้องการรับอุปถัมภ์เด็ก
การจะเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ต้องรอให้ผู้ต้องการรับอุปถัมภ์เจอเด็กที่ถูกชะตาในสถานรองรับก่อน ซึ่งทำให้การค้นหาและจับคู่เกิดขึ้นได้ยาก จำนวนครอบครัวอุปถัมภ์โดยเฉพาะกรณีที่ไม่ใช่ญาติจึงมีน้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ นอกจากนี้ การที่เด็กต้องรอให้มีคนมาอุปถัมภ์ในสถานรองรับก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบกับตัวเด็ก ทั้งในด้านพฤติกรรมและพัฒนาการ
“ตอนนั้นเราไปจัดของว่างให้สถานสงเคราะห์ค่ะ ทีนี้พอใกล้จะเลิกงาน เราก็เห็นน้องเซ็นเข้ามาช่วยเก็บสายไฟ รู้สึกถูกชะตาเด็กคนนี้จัง อยากรับเขามาเป็นลูก เพราะเราก็ไม่มีลูกด้วย เลยถามทางสถานสงเคราะห์และเขาก็แนะนำให้เราเป็นครอบครัวอุปถัมภ์” คุณสมร คุณแม่อุปถัมภ์[17]THE PEOPLE, “‘น้องเซ็น’ ชีวิตใหม่ในครอบครัวอุปถัมภ์ที่เต็มเติมความรัก“, 19 … Continue reading
จากนั้นผู้ที่ต้องการอุปถัมภ์เด็กต้องแสดงความจำนงขอรับเด็กคนนั้นไปอุปถัมภ์ หนังสือแสดงความจำนงขอรับอุปการะเด็กแบบครอบครัวอุปถัมภ์แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ต้องการรับเด็กไปอุปถัมภ์ต้องรู้ว่าเด็กคนนั้นเป็นใคร ชื่ออะไร มีเพศสภาพแบบใด ดังภาพ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตรวจสอบ เยี่ยมบ้านและขออนุมัติการเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งแบบรับเงินสนับสนุนและไม่รับเงินสนับสนุนต่อไป[18]““ครอบครัวอุปถัมภ์” ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม”, … Continue reading
วิธีการที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการช่วยให้เด็กได้เติบโตในสภาพแวดล้อมแบบครอบครัวคือการมีทะเบียนครอบครัวที่พร้อมรับอุปถัมภ์ไว้กับภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยส่งเด็กไปอยู่กับครอบครัวตามความเหมาะสมและความต้องการได้มากที่สุด
อย่างในอังกฤษ รัฐทำหน้าที่เก็บข้อมูลของครอบครัวที่พร้อมอุปถัมภ์ที่ผ่านทั้งการอบรม การตรวจเยี่ยมบ้าน ไปจนถึงการสอบประวัติอาชญากรโดยรัฐ บรรจุเป็นข้อมูลรายชื่อหรือ waiting list รวมถึงการจับคู่เด็กและครอบครัวที่พร้อมอุปถัมภ์โดยผ่านการคัดกรองของรัฐ[19]GOV.UK, Becoming a foster parent in England, https://www.gov.uk/becoming-foster-parent/after-youve-applied. ซึ่งทำให้ครอบครัวที่พร้อมอุปถัมภ์มีโอกาสได้เจอเด็กที่เหมาะสมกับครอบครัวของตน และเด็กเองก็ไม่ต้องรอให้มีคนมาค้นพบที่สถานรองรับด้วย
นั่นหมายความว่าวิธีการที่ไทยทำจึงกลับหัวกลับหาง ขาดฐานข้อมูลครอบครัวที่พร้อมอุปถัมภ์เด็กจากรัฐ เมื่อเกิดกรณีที่เด็กต้องออกจากครอบครัวแล้วไม่มีญาติที่พร้อมช่วยเหลือเลี้ยงดู จึงมักจะถูกส่งไปยังสถานรองรับ ซึ่งหากโชคดี ก็จะมีผู้ที่พร้อมอุปถัมภ์และถูกชะตากับเด็กมาอุปถัมภ์เด็กต่อไป จนทำให้ไทยมีครอบครัวอุปถัมภ์โดยเฉพาะแบบที่ไม่ใช่เครือญาติจำนวนน้อย
รัฐสนับสนุนเงินน้อย ไม่จูงใจให้อุปถัมภ์เด็ก
การเลี้ยงเด็กหนึ่งคนให้เติบโตมาอย่างดี แน่นอนว่าใช้เงินจำนวนมหาศาล เม็ดเงินเหล่านั้นคือต้นทุนที่ครอบครัวต้องใช้และหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนกลับมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การอุปถัมภ์เด็กแบบชั่วคราวจึงไม่สามารถตอบโจทย์ค่านิยมเหล่านั้นได้ ยิ่งไปกว่านั้น การสนับสนุนจากรัฐก็ยังทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจให้อุปถัมภ์เด็กด้วย
คนไทยมองการเลี้ยงเด็ก=การลงทุนระยะยาว
สิ่งที่ฝังอยู่ในความเชื่อของคนไทยก็เป็นหนึ่งในอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ครอบครัวอุปถัมภ์โดยเฉพาะแบบที่ไม่ใช่เครือญาติยังพัฒนาไปไม่ไกล
“อยากมี เพราะว่าเป็นการ invest เราในอนาคต”
“คิดว่าแก่มา แล้วไม่มีใครเลี้ยง ไม่อยากไปอยู่บ้านคนชรา ถ้าแก่มามีคนเลี้ยงก็ยังดี ดีกว่าไม่มีเลย”
ตัวอย่างทัศนคติเชิงบวกของการมีลูกจากผู้ให้สัมภาษณ์ในงานวิจัยเรื่อง ‘การตัดสินใจด้านการเจริญพันธุ์ของคนเจนวาย (Gen Y and Fertility Decisions)’[20] มนสิการ กาญจนะจิตรา และคณะ, … Continue reading โดย รศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่แสดงให้เห็นถึงการหวังผลตอบแทนในระยะยาวเมื่อลงทุนกับเด็ก
นอกจากนี้ ทัศนคติในเรื่องการหวังผลตอบแทนระยะยาวยังปรากฏในรายงานการสำรวจและการศึกษาเพื่อการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคมประจำปี 2561 เรื่องที่ 1 ทัศนคติและปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลต่อการมีบุตร ในกลุ่มประชากรเจเนอเรชันวาย ซึ่งหมายถึงผู้ที่เกิดในระหว่าง พ.ศ. 2523-2543 (อายุ 18-38 ปีในขณะนั้น) จำนวน 3,474 คน พบว่า ทั้งกลุ่มตัวอย่างอายุ 18-25 ปี และ 26-38 ปียังเห็นด้วยกับคำถามที่ว่า “การมีลูกช่วยให้มีคนดูแลยามบั้นปลายชีวิต”[21] … Continue reading
แต่การเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ซึ่งเป็นครอบครัวชั่วคราวให้เด็กคนหนึ่งอาจไม่สามารถมองว่าเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อให้ดูแลตนเองเมื่อถึงวัยชราภาพ เมื่อคาดหวังกับการลงทุนระยะยาวเช่นนี้ไม่ได้ ประกอบกับค่านิยมของคนไทยที่ไม่นิยมเอาลูกคนอื่นมาเลี้ยง ส่งผลให้การเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ในไทยยังพัฒนาต่อได้ยาก
- อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ‘เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม’: ความเชื่อแบบไทยๆ อุปสรรคใหญ่ของนโยบายครอบครัวอุปถัมภ์
พ่อแม่อุปถัมภ์ค่าใช้จ่ายสูง ไม่ได้ผลตอบแทน
“ตอนนั้นอยากได้เงินค่าเลี้ยงดูเท่านั้นแหละ เลยรับน้องฝ้ายมาตั้งแต่เขาสองขวบ ตอนนี้ก็อายุสิบแปดปีแล้ว เดือนหนึ่งๆ ใช้มากกว่าที่เขาให้มาเยอะเลย” ทิดชัย – ปราโมทย์ ภูวิลัย[22] THE PEOPLE, … Continue reading
การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ตามมามากมาย แต่จากประกาศกรมกิจการเด็กและเยาวชนที่ 298/2558 เรื่องกำหนดอัตราและหลักเกณฑ์อัตราและหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยค่าเลี้ยงดูเด็กแก่ครอบครัวอุปถัมภ์ และ/หรือช่วยเหลือเครื่องอุปโภคบริโภคแก่เด็กตามความจำเป็น พบว่ารัฐให้เงินสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์เดือนละ 2,000 บาท/คน/เดือน และ/หรือสนับสนุนเครื่องอุปโภคมูลค่าไม่เกิน 500 บาท/คน/เดือน[23]ประกาศกรมกิจการเด็กและเยาวชนที่ 298/2558 … Continue reading แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติงานจริงได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะเลือกให้ความช่วยเหลือเพียงทางใดทางหนึ่งเท่านั้น และเงินจำนวนนี้คงที่มาตั้งแต่ปี 2015 จนถึงปัจจุบัน
การเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ก็เปรียบเสมือนการช่วยรัฐเลี้ยงเด็ก แต่รัฐกลับไม่ให้เงินสนับสนุนอย่างถ้วนหน้าเป็นสวัสดิการ กลับเลือกให้เฉพาะครอบครัวที่ผ่านการพิสูจน์ความจนแทน
นอกจากนี้ เงินที่รัฐสนับสนุนให้ครอบครัวอุปถัมภ์นั้น ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงเด็กคนหนึ่งได้ จากการคำนวณจากค่าจ้างเพื่อชีวิต ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยสำหรับสินค้าและบริการที่จำเป็นในการใช้ชีวิตให้ได้ตามมาตรฐานกลางของสังคม พบว่าการเลี้ยงเด็ก 1 คนต้องใช้เงินราว 3,304.6 บาท/เดือน[24]กษิดิ์เดช คำพุช, “ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย … Continue readingยิ่งไปกว่านั้น เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กจากบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ พ.ศ. 2564 ก็พบว่าใน 1 เดือน ต้องใช้เงินราว 5,538.2 บาท เพื่อเลี้ยงเด็ก 1 คน[25]สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,รายงานบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ … Continue reading
นอกจากนี้ การสนับสนุนของของรัฐยังทำแบบ ‘เสื้อโหล’ กล่าวคือ สนับสนุนเท่ากันทุกช่วงวัย ในขณะที่บัญชีกระแสการโอนประชาชาติรายงานว่ารายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเอกชนนั้นเพิ่มขึ้นตามช่วงวัย[26]สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,รายงานบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ … Continue reading ซึ่งทำให้พ่อแม่อุปถัมภ์ต้องควักเนื้อตัวเองเพื่อลงทุนกับเด็กที่รับมาอุปถัมภ์ และยิ่งตอกย้ำความหวังผลไม่ได้ของการอุปถัมภ์เด็กมากขึ้นไปอีก
ในต่างประเทศ อาทิ รัฐ Western Australia ประเทศออสเตรเลีย การสนับสนุนเงินให้ครอบครัวอุปถัมภ์แบ่งตามช่วงอายุของเด็ก โดยเด็ก 0-6 ปี ได้เงินสนับสนุน 435.17$ ต่อสองสัปดาห์ เด็ก 7-12 ปี ได้เงินสนับสนุน 512.41$ ต่อสองสัปดาห์ และเด็ก 13-18 ปี ได้เงินสนับสนุน 589.64$ ต่อสองสัปดาห์ และเพิ่มขึ้น 10-20% ตามพื้นที่ที่เด็กอยู่อาศัย[27]Government of Western Australia Department of communities, Financial Support Information Family or Foster Carer Subsidy, … Continue reading แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของการสนับสนุนเด็กเพื่อให้ตรงกับความต้องการของเด็กจริงๆ ทั้งในด้านค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามอายุ หรือแม้กระทั่งตามพื้นที่ที่เด็กอาศัยอยู่
ขาดข้อมูลและการติดตามเด็กที่มีประสิทธิภาพ การประเมินนโยบายจึงเป็นเรื่องยาก
การจะพัฒนานโยบายเพื่อเปลี่ยนผ่านเด็กสู่การเลี้ยงดูแบบครอบครัวได้ ไม่ใช่เพียงการศึกษาจากงานวิจัยในต่างประเทศ แต่ยังต้องอาศัยข้อมูลที่จำเป็นจากผู้ที่ทำงานกับเด็กอย่าง นักจัดการรายกรณี เพื่อให้การพัฒนานโยบายเป็นไปอย่างเหมาะสมกับเด็กอีกด้วย
ข้อมูลที่จำเป็นต่อการพัฒนายังขาดหาย
แม้ว่าจะมีการตรวจสอบเยี่ยมบ้านปีละ 2 ครั้ง และทำรายงานเกี่ยวกับครอบครัวอุปถัมภ์ปีละ 1 ครั้ง แต่ข้อมูลที่ได้มาจากการตรวจสอบเยี่ยมบ้านและการทำรายงานกลับไม่มีการรายงาน ข้อมูลในลักษณะที่สามารถนำไปศึกษาต่อได้ การพัฒนานโยบายรวมไปถึงการติดตามและประเมินเด็กที่อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ของไทยจึงยังทำได้ยากในปัจจุบัน
นอกจากนี้ การศึกษาเด็กที่ออกจากครอบครัวอุปถัมภ์ไปแล้วก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตของเด็กในระยะยาว และนำมาศึกษาต่อเพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กทั้งขณะที่อยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์หรือออกจากครอบครัวอุปถัมภ์ไปแล้วด้วย
จากการที่ขาดข้อมูลทั้งคุณภาพชีวิตของเด็กที่ยังอยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ หรือออกจากครอบครัวอุปถัมภ์ไปแล้ว รวมถึงขาดการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างเด็กที่อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์แบบเครือญาติและไม่ใช่เครือญาติ เด็กที่ยังอยู่ในสถานรองรับ หรือเด็กที่อยู่ในครอบครัวปกติ ทำให้การประเมินผลทางนโยบายเป็นไปได้ยาก ซ้ำยังไม่สามารถพัฒนานโยบายที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเด็กได้
การติดตามเด็กอย่างมีประสิทธิภาพทำได้ยากเพราะนักจัดการรายกรณีงานล้นมือ
นอกจากจะขาดข้อมูลที่จำเป็นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยยังขาดอยู่มากคือนักจัดการรายกรณี หรือ case manager ซึ่งนักจัดการรายกรณีจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเก็บข้อมูลที่ขาดหายไป เนื่องจากนักจัดการรายกรณีเป็นผู้ที่อยู่กับเด็กมาตั้งแต่เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองเด็ก
ในปี 2021 ประเทศไทยมีนักจัดการรายกรณีปฏิบัติงานอยู่ 720 คน[28]กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, “พม. … Continue reading ต้องดูแลเด็กที่เติบโตนอกบ้านทุกรูปแบบ เท่ากับว่าเจ้าหน้าที่ 1 คนต้องดูแลเด็กที่ต้องเข้าสู่บ้านพักเด็กและสถานรองรับของรัฐมากกว่า 56 คน และหากนักจัดการรายกรณีต้องดูแลเด็กที่อยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์เพิ่มขึ้นอีก เจ้าหน้าที่ 1 คนก็ต้องดูแลเด็กเพิ่มขึ้นอีก 8.7 คน หรือคิดเป็นเด็กทั้งสิ้น 64.7 คน หากเป็นเช่นนี้ต่อไป เมื่อเด็กที่ต้องการเข้าสู่สถานรองรับหรือการดูแลของครอบครัวอุปถัมภ์เพิ่มขึ้น ภาระงานของนักจัดการรายกรณีก็จะเพิ่มขึ้น ยิ่งเป็นการเพิ่มช่องว่างระหว่างจำนวนเจ้าหน้าที่และเด็ก ทำให้การติดตามเด็กอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเพื่อการพัฒนาและศึกษาต่อยิ่งยากเข้าไปอีก
จะเปลี่ยนผ่านสู่การเลี้ยงดูแบบครอบครัวต้องแก้ไขหลายด้าน
เพื่อส่งเด็กไปสู่การเลี้ยงดูแบบครอบครัว รัฐต้องพัฒนาระบบบริหารจัดการในหลายด้าน ทั้งในเรื่องระบบที่พร้อมส่งเด็กออกจากสถานรองรับ เงินสนับสนุนที่เพียงพอและถ้วนหน้า ไปจนถึงการศึกษา ติดตาม และประเมินเด็กที่เข้าสู่การเลี้ยงดูแบบครอบครัวเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อในอนาคต
พัฒนาระบบจับคู่ เพิ่มโอกาสให้เด็กได้บ้านใหม่
การจะเปลี่ยนผ่านสู่การเลี้ยงดูแบบครอบครัวต้องอาศัยทั้งข้อมูลและการพัฒนาระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ ในประเทศที่มีครอบครัวอุปถัมภ์จำนวนมาก เช่น อังกฤษ การจะเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ได้ต้องผ่านขั้นตอนต่อไปนี้
- มีการสมัครเป็นครอบครัวอุปถัมภ์และแจ้งคุณสมบัติของเด็กที่ต้องการรับอุปถัมภ์ เช่น อายุหรือเพศ
- เข้ารับการอบรม การตรวจเยี่ยมบ้าน การตรวจสอบประวัติรวมถึงสภาพความเป็นอยู่ เพื่ออนุมัติหรือปรับปรุงให้พร้อมต่อการอุปถัมภ์เด็ก
- เมื่อผ่านการอบรมและตรวจสอบจากรัฐ รายชื่อของครอบครัวก็จะถูกบรรจุอยู่ในรายชื่อครอบครัวที่พร้อมอุปถัมภ์เด็ก เมื่อมีเด็กที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเหมาะสมที่จะให้อุปถัมภ์ เจ้าหน้าที่จะส่งข้อมูลของเด็กมายังครอบครัว เพื่อให้เลือกว่าจะรับอุปถัมภ์หรือไม่ หากเลือกที่จะรับ ต้องรอให้เจ้าหน้าที่แจ้งกลับมาก่อนว่าได้รับเลือกหรือไม่ ถ้าถูกเลือกจึงจะสามารถอุปถัมภ์เด็กได้[29]GOV.UK, Becoming a foster parent in England, https://www.gov.uk/becoming-foster-parent/after-youve-applied.
ดังนั้น หากต้องการจะเพิ่มครอบครัวอุปถัมภ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่าน สิ่งแรกที่รัฐต้องเริ่มแก้ไขคือการเพิ่มพื้นที่ให้เด็กและผู้ที่พร้อมอุปถัมภ์เด็กเจอกันง่ายขึ้นผ่านข้อมูลที่เป็นระบบ เพื่อให้เด็กไม่ต้องรอให้ถูกค้นพบในสถานรองรับ ส่วนผู้ที่พร้อมอุปถัมภ์ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปหาเด็กถึงที่เช่นในปัจจุบัน
- เพิ่มระบบรายชื่อ (waiting list) สำหรับครอบครัวที่พร้อมอุปถัมภ์เด็ก
รัฐควรจัดทำระบบรายชื่อผู้ที่พร้อมอุปถัมภ์เด็กไว้ก่อนล่วงหน้า โดยต้องมีข้อมูลของผู้ที่ต้องการรับอุปถัมภ์อย่างครบถ้วนก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนของการรับอุปถัมภ์เด็ก
การที่มีข้อมูลของครอบครัวที่พร้อมอุปถัมภ์รอไว้ก่อนแล้ว จะเป็นการลดขั้นตอนที่ต้องรอให้เด็กและผู้ที่ต้องการรับอุปถัมภ์เด็กมาเจอกันที่สถานรองรับ เปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยมีประสบการณ์อุปถัมภ์เด็กได้ทำหน้าที่ในการดูแลเด็กได้ โดยเฉพาะกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษเช่นเด็กในสถานรองรับที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ที่พิเศษมากกว่าเด็กทั่วไป และยังทำให้เกิดการจับคู่ระหว่างเด็กและครอบครัวที่พร้อมอุปถัมภ์ได้ง่ายมากขึ้น
- เพิ่มระบบจับคู่เด็กกับความต้องการของครอบครัว โดยที่ไม่ต้องรอให้ไปเจอกันในสถานรองรับ
เมื่อมีข้อมูลพร้อมทั้งครอบครัวที่พร้อมอุปถัมภ์และเด็กที่จะเข้าไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ รัฐควรสร้างพื้นที่ให้ทั้งสองฝ่ายผ่านการประเมินความเหมาะสมของเจ้าหน้าที่ โดยให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้คัดกรองว่าเด็กควรได้ไปอยู่ในครอบครัวอุปถัมภ์ครอบครัวใด และเด็กมีความสมัครใจจะไปหรือไม่ แทนที่จะเป็นการเลือกเด็กตั้งแต่ในสถานรองรับดังเช่นในปัจจุบัน
สนับสนุนเงินให้พอต่อการเลี้ยงดูเด็ก
เงินสนับสนุนเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่จะสามารถเพิ่มจำนวนครอบครัวอุปถัมภ์ได้หากรัฐสนับสนุนให้ครอบครัวอุปถัมภ์มากพอ อย่างไรก็ดี การเพิ่มเงินสนับสนุนก็ต้องมาพร้อมกับการตรวจสอบครอบครัวที่จะอุปถัมภ์เด็กอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้การรับอุปถัมภ์กลายเป็นช่องทางทำกินของผู้ไม่ประสงค์ดี
- เพิ่มเงินสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์ตามพื้นที่และค่าเงินเฟ้อ
เงินสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์ควรเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ที่เด็กอยู่อาศัยและค่าเงินเฟ้อ เพื่อให้เพียงพอต่อการยังชีพของเด็กและไม่เป็นภาระให้กับครอบครัวอุปถัมภ์มากจนเกินไป และควรสนับสนุนเด็กตามช่วงวัยมากกว่าการให้เงินอัตราคงที่และไม่เพียงพออย่างในปัจจุบัน
- ทำให้การสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์เป็น ‘สวัสดิการ’
การสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์อย่างถ้วนหน้าจะเป็นการจูงใจให้รับเด็กไปอุปถัมภ์มากขึ้น เนื่องจากมีรัฐเข้ามาช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเด็ก และลดแนวคิดเรื่องต้นทุนในการเลี้ยงเด็กเพื่อหวังผลตอบแทนในภายหลังลง
พัฒนาระบบติดตามและประเมินนโยบาย
การติดตามและประเมินนโยบายเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การดำเนินนโยบายกับเด็กมีประสิทธิภาพโดยมีประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ แต่การจะติดตามและประเมินผลนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีทั้งข้อมูลและบุคลากรที่เพียงพอ
- เพิ่มการศึกษาผลลัพธ์ของเด็กทั้งในสถานรองรับและครอบครัวอุปถัมภ์แบบระยะยาว
เพื่อให้การประเมินนโยบายสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ การศึกษาผลลัพธ์ของเด็กทั้งในด้านสุขภาพกายและจิต ผลการเรียน และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อาทิ สภาพความเป็นอยู่ จึงเป็นส่วนสำคัญที่รัฐต้องเร่งพัฒนา
การศึกษาเกี่ยวกับตัวเด็กย่อมทำให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อมีการดำเนินตามแผนนโยบายที่ได้วางไว้ และทำให้รัฐสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที และมีข้อมูลที่จะคาดการณ์อนาคตได้อีกด้วย
- เพิ่มนักจัดการรายกรณีสำหรับดูแลครอบครัวอุปถัมภ์โดยเฉพาะ
การติดตามและประเมินนโยบายจะทำไม่ได้เลยหากขาดเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญและอยู่กับเด็กมาตั้งแต่เริ่มกระบวนการ นักจัดการรายกรณีจึงเป็นบุคคลสำคัญที่รัฐควรเร่งเพิ่มจำนวน โดยเฉพาะนักจัดการรายกรณีที่ต้องดูแลครอบครัวอุปถัมภ์ ซึ่งต้องเดินทางไปเยี่ยมเด็กที่อยู่ในครอบครัวเหล่านั้น เพื่อให้การติดตามดูแลเด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
References
↑1 | THE PEOPLE, “ ‘น้องเนย’ จากเด็กที่ถูกทิ้งกลางทุ่งนา สู่การโอบรับจากครอบครัวอุปถัมภ์”, 19 เมษายน 2023. |
---|---|
↑2 | UNICEF พฤษภาคม 2015, การศึกษาทบทวนด้านการเลี้ยงดูทดแทนในประเทศไทย นโยบายสู่การปฏิบัติโดยมุ่งเน้นเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวี/เอดส์(CABA). |
↑3 | Ladaphongphatthana, K., Lillicrap, A., & Thanapanyaworakun, W. (2022). Counting every child, identifying over 120,000 children in residential care in Thailand. |
↑4 | รายงานประจำปี 2564, กรมกิจการเด็กและเยาวชน, 27 เมษายน 2565. |
↑5 | สถานรองรับในความหมายนี้ได้แก่สถานสงเคราะห์ ศูนย์สงเคราะห์และฝึกอาชีพ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ สถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็ก และสถาบันเพาะกล้าคุณธรรม |
↑6, ↑14 | Judy Sebba, David Berridge, Nikki Luke, John Fletcher, Karen Bell, Steve Strand, Sally Thomas, Ian Sinclair, Aoife O’Higgins, (2015), The Educational Progress of Looked After Children in England: Linking Care and Educational Data, https://www.education.ox.ac.uk/wp-content/uploads/2019/05/Linking-Care-and-Educational-Data-Overview-Report-Nov-2015.pdf. |
↑7 | Department for Education, United Kingdom. (16 November 2023). Department for Education, https://explore-education-statistics.service.gov.uk/find-statistics/children-looked-after-in-england-including-adoptions. |
↑8, ↑10 | Isranews, (28 พฤษภาคม 2566), ‘เด็กโตนอกบ้าน’ กระทบศักยภาพความเป็นมนุษย์ แก้ได้ด้วย ‘ครอบครัวเข้มแข็ง’, สำนักข่าวอิศรา. |
↑9 | Marian J. Bakermans-Kranenburg, Howard Steele, Charles H. Zeanah, Rifkat J. Muhamedrahimov, Panayiota Vorria, Natasha A. Dobrova-Krol, Miriam Steele, Marinus H. van IJzendoorn, Femmie Juffer, and Megan R. Gunnar, (December 2011), Attachment and Emotional Development in Institutional Care: Characteristics and Catch-Up, https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4166527/. |
↑11, ↑13 | E.L.L. Strijbosch, J.A.M. Huijs, G.J.J.M. Stams, I.B. Wissink, G.H.P. van der Helm, J.J.W. de Swart, Z. van der Veen, (2015), The outcome of institutional youth care compared to non-institutional youth care for children of primary school age and early adolescence: A multi-level meta-analysis, https://doi.org/10.1016/j.childyouth.2015.09.018. |
↑12, ↑17 | THE PEOPLE, “‘น้องเซ็น’ ชีวิตใหม่ในครอบครัวอุปถัมภ์ที่เต็มเติมความรัก“, 19 เมษายน 2023. |
↑15 | The Fostering Network, Fostering statistics, https://www.thefosteringnetwork.org.uk/advice-information/all-about-fostering/fostering-statistics. และ Office of National Statistics, (26 September 2023), Kinship care in England and Wales: Census 2021, https://www.ons.gov.uk/peoplepopulationandcommunity/birthsdeathsandmarriages/families/articles/kinshipcareinenglandandwales/census2021#kinship-care-in-england-and-wales-data. |
↑16 | Australian Government, Australian Institute of Health and Welfare, (15 June 2022), Child protection Australia 2020–21, https://www.aihw.gov.au/reports/child-protection/child-protection-australia-2020-21/contents/out-of-home-care/what-type-of-placements-were-children-in. |
↑18 | ““ครอบครัวอุปถัมภ์” ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม”, กรมกิจการเด็กและเยาวชน. |
↑19, ↑29 | GOV.UK, Becoming a foster parent in England, https://www.gov.uk/becoming-foster-parent/after-youve-applied. |
↑20 | มนสิการ กาญจนะจิตรา และคณะ, การตัดสินใจด้านการเจริญพันธุ์ของคนเจนวาย Gen Y and Fertility Decisions, https://ipsr.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/2022/03/07_Manasigan-Gen-Y.pdf |
↑21 | รายงานการสำรวจและการศึกษาเพื่อการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคมประจำปี 2561 เรื่องที่ 1 ทัศนคติและปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลต่อการมีบุตร |
↑22 | THE PEOPLE, “ครอบครัวอุปถัมภ์เต็มเติมชีวิตด้วยสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันผ่านความรัก”, 19 เมษายน 2023. |
↑23 | ประกาศกรมกิจการเด็กและเยาวชนที่ 298/2558 เรื่องกำหนดอัตราและหลักเกณฑ์อัตราและหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยค่าเลี้ยงดูเด็กแก่ครอบครัวอุปถัมภ์ และ/หรือช่วยเหลือเครื่องอุปโภคบริโภคแก่เด็กตามความจำเป็น. |
↑24 | กษิดิ์เดช คำพุช, “ยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำไทย ให้ไปถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต,” 101 Public Policy Think Tank, 29 กันยายน 2022, 101pub.org/minimum-wage-to-living-wage/. |
↑25 | สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,รายงานบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ ปี 2564. ผู้เขียนคำนวณเฉพาะเงินโอนครัวเรือนและทรัพย์สินเงินออมเท่านั้น |
↑26 | สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,รายงานบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ ปี 2564. |
↑27 | Government of Western Australia Department of communities, Financial Support Information Family or Foster Carer Subsidy, https://www.wa.gov.au/system/files/2023-07/fostering_financial_support_info.pdf. |
↑28 | กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, “พม. รวมพลังพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 บูรณาการกับภาคีเครือข่ายคุ้มครองเด็กอย่างทันท่วงที”, 29 สิงหาคม 2021 |