คิด(ส์) เพื่อ ‘เด็กในวันข้างหน้า’ : ว่าด้วยเรื่องนโยบายสาธารณะด้านเด็กและครอบครัวแห่งอนาคต (1)

ภาพของเหล่าเด็กน้อยสวมใส่หน้ากากอนามัยแม้กระทั่งช่วงเวลาที่ออกไปเล่นกีฬา หรือภาพของเหล่านักเรียนที่ต้องนั่งจ้องอยู่หน้าคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อเรียนออนไลน์ ตลอดจนภาพของพ่อแม่ที่ต้องทำงานไปเลี้ยงลูกไป กลายเป็นสิ่งที่เราเห็นจนชินตา ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งสะท้อนว่าการระบาดของโควิดส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว ซึ่งถือเป็นกลุ่มกำลังหลักของประเทศชาติในอนาคต

ไม่ใช่เพียงแค่วิกฤตโรคระบาด หากมองย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยเผชิญหน้ากับความท้าทายอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับประเทศและระดับโลกอยู่หลายประการ ตั้งแต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม การเรียกร้องความเท่าเทียมของผู้คนทุกกลุ่ม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุ และการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ซึ่งปัจจัยทั้งหมดล้วนส่งผลให้ ‘ระบบนิเวศของการพัฒนาเด็ก’ เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน

เมื่อบทบาทการเลี้ยงดูลูกไม่ได้จำกัดว่าเป็นหน้าที่ของแม่ ไหนจะการเพิ่มขึ้นของจำนวนครอบครัวข้ามรุ่น (skipped generation) ซึ่งทำให้เกิดปัญหาช่องว่างระหว่างวัยระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงนิยามคำว่า ‘ครอบครัว’ ซึ่งลื่นไหลและเปิดกว้างมากกว่ายุคไหนๆ 

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดชึ้น สังคมไทยจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัวแห่งอนาคต เพื่อตอบโจทย์โลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความผันผวนและความซับซ้อนในทุกมิติ 

101 สนทนากับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก ได้แก่ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต และอดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย และผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ ภาควิชากุมารศาสตร์ โรคระบบทางเดินหายใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าหน่วยดูแลเด็กถูกทำร้าย โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ รศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทบทวนสถานการณ์ ทิศทาง และแนวโน้มของการพัฒนาสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในศตวรรษที่ 21

ถอดรหัส 4 ปัจจัย และ 5 แนวทางแก้ไข
ว่าด้วยเรื่องนโยบายเด็ก เยาวชน และครอบครัวแห่งอนาคต

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต และอดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิเคราะห์ให้เห็นถึง 4 ปัจจัยที่มีผลต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัวในอนาคต 

ปัจจัยที่หนึ่ง ความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชัน – แม้ปัจจัยนี้จะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ก็ยังปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้ เพราะความแตกต่างครั้งนี้เป็นความแตกต่างในระดับหลักการและกรอบของศีลธรรม ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าเจเนอเรชันไหนเป็นฝ่ายถูกหรือผิด แต่อยู่ที่การไม่สามารถเรียนรู้ให้ลงลึกไปถึงแก่นของหลักการและกรอบศีลธรรม จนส่งผลให้เกิดการปะทะระหว่างรุ่นในระดับที่เชื่อว่าอีกฝ่ายมีศีลธรรมน้อยกว่าตนเอง ความเชื่อในลักษณะนี้เป็นตัวขัดขวางชั้นดีของการสื่อสารระหว่างคนต่างรุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กยากจนที่ไม่ได้มีขีดความสามารถในการอธิบายสูงมากนัก การจะอธิบายหลักการหรือกรอบความคิดให้ครอบครัวได้เข้าใจจึงถือเป็นเรื่องยาก แม้ว่าเขาจะรู้สึกหรือมีคุณธรรมเหมือนกันกับเด็กในกลุ่มฐานะอื่นก็ตาม ซึ่งความอึดอัดที่ว่าก็จะยิ่งเพิ่มความกดดันให้เด็กมากขึ้น 

ปัจจัยที่สอง ความแตกต่างด้านวัฒนธรรมย่อย (subculture) – ความแตกต่างทางฐานะทางเศรษฐกิจของเด็กไม่ได้ส่งผลเฉพาะในแง่ของโอกาสหรือการเข้าถึงเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังสร้างความแตกต่างในแง่วัฒนธรรมอีกด้วย แน่นอนว่าในอดีต โอกาสในการรับรู้ที่ต่างกันก็ส่งผลต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่มาวันนี้ความแตกต่างนั้นถูกทำให้ถ่างออกมากกว่าที่เคยเป็น สาเหตุมาจากการที่โลกปัจจุบันเต็มไปด้วย VUCA (volatility – ความผันผวน, uncertainty – ความไม่แน่นอน, complexity – ความซับซ้อน, ambiguity – ความคลุมเครือ) โจทย์สำคัญคือเมื่อโลกเกิด VUCA ขึ้นมาแล้ว เด็กสามกลุ่มที่ว่ามานี้มีการตีความและรับมือกับสิ่งนี้อย่างไร ซึ่งต้องยอมรับว่าเรามีการศึกษาในเรื่องนี้น้อยมาก ขณะที่วัฒนธรรมย่อยจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต 

ปัจจัยที่สาม ระบบนิเวศการเรียนรู้ – ระบบการศึกษาไทยพยายามยื้อระบบการศึกษาให้อยู่ในระบบเดิม แทนที่จะสนับสนุนให้เป็นลักษณะการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล ซึ่งเป็นเทรนด์การศึกษาสำหรับทศวรรษต่อไป ทิศทางของระบบการศึกษาที่ไม่ชัดเจนนี้เองก็ส่งผลให้ระบบการศึกษาของไทยไม่พัฒนา เนื่องจากไม่มีใครกล้าลงทุนในระบบการศึกษา 

ปัจจัยที่สี่ ข้อจำกัดเรื่องสิ่งแวดล้อม –  เรื่องนี้อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ ในการพัฒนาเด็ก แต่แท้จริงแล้วประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมส่งผลอย่างมากต่อการออกแบบกิจกรรมให้เด็กๆ ไม่ลืมว่าผู้ใหญ่ทุกคนไม่ได้โตมาแบบเด็กในวันนี้ที่ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เราไม่อาจรู้เลยว่าวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ณ วันนี้จะส่งผลต่อเด็กอย่างไรในอนาคต ปัญหาเรื่องมลพิษจึงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนสุขภาพของเด็กมากกว่าที่เราคิด 

และเมื่อถามต่อไปถึงภาพอนาคตของนโยบายเด็ก เยาวชน และครอบครัว ว่าควรจะมีหน้าตาอย่างไรจึงจะช่วยบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเด็กเยาวชนได้อย่างแท้จริง ดร.เดชรัต ก็เสนอไว้อย่างน่าสนใจดังนี้ 

นโยบายที่หนึ่ง ระบบสวัสดิการเด็กและครอบครัว – ปัจจุบันเด็กยังได้รับสวัสดิการเฉพาะกลุ่ม มีเพียงกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยและเด็กในช่วงอายุ 0-6 ปี เท่านั้นที่จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งการให้ในลักษณะนี้ทำให้เกิดปัญหาเรื่องเด็กตกหล่นหรือปัญหากระบวนพิสูจน์ความจนตามมา พร้อมกันนั้นเด็กอาจจะถูกตีตราจากสังคมซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตัวตนของเด็กในอนาคต จึงขอเสนอให้รูปแบบของสวัสดิการเด็กเปลี่ยนเป็นแบบสวัสดิการถ้วนหน้า พร้อมทั้งขยายช่วงอายุเป็น 0-15 ปี 

นโยบายที่สอง ระบบการศึกษา – ต้องทำให้ระบบการศึกษาทั้งในและนอกระบบสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างไร้ข้อติดขัด ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะทำให้เด็กสามารถสลับไปมาระหว่างระบบการศึกษาได้ เพราะสิ่งที่ระบบการศึกษาไทยต้องการตอนนี้คือระบบการศึกษากระแสหลักที่มีทางเลือก แต่ในปัจจุบันพบว่าการศึกษากระแสหลักยังมีทางเลือกที่น้อยมาก 

นโยบายที่สาม ระบบการติดตามพัฒนาการเด็ก – ระบบการติดตามพัฒนาการเด็กยังแยกส่วนกันอยู่มาก จำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนในระบบฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงทุกระบบที่เกี่ยวข้องกับเด็ก การทำเช่นนี้จะทำให้ภาคส่วนต่างๆ เห็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเด็กชัดเจนมากยิ่งขึ้น  

นโยบายที่สี่ ระบบชุมชนหรือเมืองสนับสนุนการเรียนรู้ – ต้องมีการออกแบบระบบและโครงสร้างพื้นฐานของเมืองหรือชุมชนในลักษณะสนับสนุนการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมให้วัฒนธรรมย่อย (subculture) ของเด็กทุกคนได้แสดงพลังอย่างเต็มศักยภาพ ทุกวันนี้ศักยภาพของเด็กไม่สามารถแสดงออกมาได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากขาดพื้นที่ที่เพียงพอสำหรับการแสดงออก 

นโยบายที่ห้า ระบบเศรษฐกิจเพื่อการเรียนรู้ – learning sector ในปัจจุบันยังมีขนาดเล็กและมีความไม่แน่นอนทางธุรกิจอยู่สูง ควรทำให้ learning sector กลายมาเป็นสาขาหนึ่งทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เนื่องจากเป็นสาขาอาชีพที่ทดแทนได้ยาก ไม่ว่าจะเป็น AI หรือ ชาวต่างชาติก็เข้ามาทำแทนไม่ได้ โดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทย 

ดร.เดชรัต เสนอทิ้งท้ายว่า จาก 5 นโยบายที่ได้กล่าวไปข้างต้นนี้ ระบบสวัสดิการเด็กแบบถ้วนหน้า 0-15 ปี เป็นนโยบายที่ภาครัฐสามารถทำได้ ณ วันนี้และเห็นผลตอบแทนไวที่สุด ซึ่งความท้าทายมีเพียงข้อเดียวคืออาจจะต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก แต่หากถามว่านโยบายไหนคือนโยบายที่สำคัญที่สุด ดร.เดชรัตกล่าวชัดเจนว่า นโยบายเรื่องระบบการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถึงเวลาที่ระบบการศึกษาไทยไม่ว่าจะนอกหรือในระบบต้องสามารถเชื่อมต่อกันได้ เขาย้ำว่าจำเป็นที่จะต้องมีการทดลองระบบการศึกษาในลักษณะนี้โดยเร็วที่สุด เช่น เด็กสามารถนำความรู้ที่ได้จากการไปอบรมจากองค์กรการศึกษานอกโรงเรียนมาใช้ตอบคำถามในการศึกษาภายในโรงเรียนได้ ถ้านโยบายนี้ประสบความสำเร็จก็จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการเติบโตของระบบชุมชนที่สนับสนับสนุนการเรียนรู้ และ learning sector ที่โตไปตามระบบการศึกษาที่หลากหลายมากขึ้น

จาก local สู่ global
ถึงเวลาเปลี่ยน ‘เด็กไทย’ ให้กลายเป็น ‘พลเมืองโลก’

รศ.ดร. วีระชาติ กิเลนทอง

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย และผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า ‘ทุนมนุษย์’ (human capitol) เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ฉะนั้นเด็กควรจะต้องมีสุขภาพที่ดี มีผลิตภาพในการผลิต มีวิจารณญาณและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ในขณะเดียวกันก็ต้องพร้อมต่อการเป็นพลเมืองโลก สิ่งที่ว่ามานี้คือเป้าหมายที่นโยบายเด็ก เยาวชน และครอบครัวแห่งอนาคตควรจะต้องทำให้ได้ 

รศ.ดร.วีระชาติตั้งข้อสังเกตว่า สังคมไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามอย่างมากในการผลักดันการจัดการเรียนรู้ของเด็กให้ไปในทิศทางของ ‘ภูมิปัญญาท้องถิ่น’ ซึ่งทิศทางดังกล่าวอาจจะไม่ใช่ทิศทางนโยบายเด็กที่เหมาะสมต่ออนาคต เนื่องจากโลกทุกวันนี้อยู่ในรูปแบบของ VUCA ผนวกกับความซับซ้อนของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมากมาย หากเด็กของเราตามไม่ทันและถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กยากจนและเด็กขาดโอกาส ประเด็นนี้จะกลายมาเป็นเรื่องที่น่ากังวลและแก้ไขได้ยาก เขาย้ำว่าเป้าหมายของนโยบายเด็ก เยาวชน และครอบครัวแห่งอนาคตควรจะต้องขยับไปข้างหน้า โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแนวคิดการจัดการเรียนรู้ให้ไปในทิศทางของการเป็นพลเมืองโลก

เมื่อเป็นเช่นนี้ รศ.ดร.วีระชาติจึงเสนอความคิดเห็นว่า การจะบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเด็กเยาวชนได้อย่างแท้จริงควรเริ่มจากการปรับปรุงที่ระบบนิเวศการเรียนรู้อย่างสถานศึกษา โดยเฉพาะในกลุ่มคุณครู เขาเล่าย้อนให้ฟังว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานี้ได้มีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เขาพบว่าการทำงานกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กง่ายกว่าทำงานกับโรงเรียนสังกัด สพฐ. เป็นอย่างมาก เหตุผลหลักเป็นเพราะศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีแรงจูงใจมากกว่าโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เขาชี้ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญ เพราะปัจจุบันครูไทยไม่ได้ขาดคุณภาพแต่ระบบที่เป็นอยู่ไม่เอื้อให้ครูมีแรงจูงใจที่อยากจะสอน ซึ่งตราบใดที่ยังมีระบบข้าราชการแบบครูเป็นใหญ่ หรือครูทำดีแต่ไม่ได้ดี สถานการณ์การสอนก็จะลำบากอยู่อย่างนี้

สำหรับวิธีสร้างแรงจูงใจนั้น รศ.ดร.วีระชาติเสนอว่า ระบบการศึกษาควร ‘กระจายอำนาจ’ มากกว่านี้ จากการทำงานร่วมกันกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสะท้อนให้เห็นแล้วว่า เหตุที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงมากกว่า เป็นเพราะว่าตัวคุณครูเต็มใจที่จะทำและผู้นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของครู เขาย้ำว่าเมื่อเปรียบเทียบดูแล้ว จำนวนผู้นำชุมชมมีสัดส่วนที่ยอมรับและตอบสนองมากกว่าผู้นำสถานศึกษาทั่วไป ซึ่งความต่างนี้เกิดมาจากแรงจูงใจที่ต่างกันนั้นเอง การกระจายอำนาจคือหนึ่งวิธีการที่จะทำให้ครูมีแรงจูงใจที่ดีขึ้น 

นอกจากนี้ รศ.ดร.วีระชาติยังชวนคิดถึงนโยบายคูปองการศึกษา ซึ่งมีภาครัฐเป็นผู้ให้งบประมาณสนับสนุนโดยพิจารณาจากตัวเด็ก และเปิดให้เด็กนำคูปองการศึกษานี้ไปใช้กับสถานศึกษาที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระบบหรือนอกระบบ ซึ่งนโยบายนี้จะเป็นการดึงอำนาจกลับไปอยู่ที่ผู้ปกครอง ทั้งหมดนี้คือโจทย์ที่นโยบายเด็ก เยาวชน และครอบครัวแห่งอนาคตต้องทำให้ได้ 

เพราะ ‘ปัจจัยสี่’ คือรากฐานของการเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ

รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ / ที่มาภาพ : องค์กรแพทย์ รพ.ธรรมศาสตร์

ขณะที่ รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ ภาควิชากุมารศาสตร์ โรคระบบทางเดินหายใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าหน่วยดูแลเด็กถูกทำร้าย โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มองประเด็นเป้าหมายของนโยบายเด็ก เยาวชน และครอบครัวแห่งอนาคตในมุมกุมารแพทย์ว่า ทุกอย่างเริ่มต้นที่ตัวตนของเด็ก ถ้าเราอยากให้เด็กคนหนึ่งได้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ถามว่ามีสิ่งใดบ้างที่เด็กควรจะต้องได้รับ เช่น ในขวบปีแรก เด็กจำเป็นต้องอยู่ในครอบครัวที่อบอุ่นและสามารถให้ความปลอดภัยแก่เขา ถัดมาในช่วงปฐมวัย เด็กจะต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้เขาได้ทดลองสิ่งต่างๆ และสามารถสร้างความภาคภูมิใจเพื่อต่อยอดไปยังระดับต่อไป 

เมื่อถึงช่วงวัยประถมขึ้นไป เด็กควรได้รับการเรียนการสอนภายใต้หลักสูตรแบบ tailor made หรือหลักสูตรที่ออกแบบตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน แต่ปัจจุบันหลักสูตรการเรียนการสอนของไทยยังอยู่ในรูปแบบของระบบหลักสูตรเดียวที่ใช้กับเด็กทุกคน ส่งผลให้เด็กไทยต้องเผชิญกับระบบแพ้คัดออก รศ.พญ.วนิดามองว่า แท้จริงแล้วเด็กทุกคนมีศักยภาพและสามารถแสดงออกตามศักยภาพตามที่เขามี โดยไม่ควรต้องตกอยู่ในระบบเช่นนี้ และสุดท้ายในช่วงวัยรุ่น เด็กควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่พร้อมสนับสนุนความคิด ความเชื่อของเขา หรือหากไม่เห็นด้วยก็ควรมีวิธีการตอบสนองอย่างเข้าใจ ไม่ใช่การรุมซ้ำเติมอย่างที่พบเห็นในปัจจุบัน เพื่อให้เด็กสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง 

รศ.พญ.วนิดา สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กไทยเพิ่มเติมว่า เด็กไทยกำลังเผชิญอยู่กับภาวะ ‘ครอบครัวใครครอบครัวมัน’ มีเพียงเด็กในครอบครัวที่พร้อมเท่านั้นที่จะได้รับการปกป้อง กลับกันหากเด็กอยู่ในครอบครัวที่ไม่พร้อม อาจจะด้วยสาเหตุจากปัญหาพื้นฐานของผู้ปกครองหรือการขาดความเข้าใจในแง่การเติบโตของมนุษย์ เด็กในครอบครัวเหล่านี้ก็จะไร้การปกป้องทันที ฉะนั้น เป้าหมายสำคัญของนโยบายพัฒนาเด็กในอนาคต คือการจัดหาสิ่งที่เด็กแต่ละช่วงวัยต้องการให้ครบถ้วนตามที่เด็กควรจะได้รับ 

นอกจากนี้ รศ.พญ.วนิดา เสริมว่าครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้ เธอยกตัวอย่างกรณีที่เด็กทุกคนต้องมีอาหารกินครบ 3 มื้อ สำหรับกลุ่มเด็กยากจนเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งการจะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ไม่ใช่การช่วยที่ตัวเด็กแต่ต้องช่วยคนที่อยู่รอบตัวเด็ก เพราะเด็กจะมีกินครบ 3 มื้อได้ก็ต่อเมื่อคนที่ดูแลเขาได้กินครบ 3 มื้อ ฉะนั้นนโยบายก็ต้องเป็นไปในลักษณะสร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถยืนหยัดและก้าวต่อไปด้วยตัวของเขาเองได้ 

แต่ในประเด็นนโยบายระบบสวัสดิการเด็กแบบถ้วนหน้า รศ.พญ.วนิดา เห็นแย้งกับ ดร.เดชรัช สุขกำเนิด เนื่องจากมองว่า ประเทศไทยมีงบประมาณไม่เพียงพอและกังวลเรื่องช่องโหว่ของนโยบาย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาการคอร์รัปชันตามมา เธอให้ความเห็นว่า ควรจะมอบเงินให้แก่เด็กหรือครอบครัวที่เดือดร้อนมากกว่าจะให้เด็กทุกคน โดยต้องมอบให้ในวงเงินที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และสร้างระบบกลไกเพื่อทำให้ความช่วยเหลือกระจายไปถึงเด็กที่ขาดแคลนอย่างครอบคลุม 

รศ.พญ.วนิดา กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในเมื่อวันนี้เรายังไม่สามารถเก็บภาษีได้ถ้วนหน้า ก็ทำให้เราไม่สามารถแจกเงินทุกคนอย่างถ้วนหน้าได้เช่นกัน” 

เมื่อ ‘ค่านิยม’ ภายในครอบครัวถึงคราวเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

รศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร / ที่มาภาพ : knowledge farm

ทางด้าน รศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิดสะท้อนให้เห็นแล้วว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงมาถึงจุดที่ทุกสิ่งพร้อมจะกลายเป็นปัญหาได้ทุกเมื่อ และอนาคตกลายเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้อีกต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่เด็กควรจะได้รับการปลูกฝังทักษะการเอาตัวรอด ไม่ใช่แค่การปลูกฝังความรู้ในรูปแบบการศึกษาในระบบ (formal education) เพียงอย่างเดียว เพราะตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยมุ่งเน้นแค่ให้เด็กมีทักษะการฝึกฝน (training skill) ที่อาจจะอยู่ในรูปแบบการเรียนในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัย เพื่อที่วันหนึ่งเด็กจะสามารถพึ่งพาตัวเองได้ แต่มาในยุคนี้ โควิดได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การศึกษาอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอเด็กจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนทักษะการเอาตัวรอดด้วยเช่นกัน

สำหรับประเด็นเรื่องความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชัน ในฐานะที่ รศ.ดร.ภูเบศร์ เป็นผู้คลุกคลีกับการทำงานวิจัยเรื่องเจเนอเรชันมาโดยตลอด ได้ให้แง่มุมที่น่าสนใจว่า หัวใจสำคัญของเจเนอเรชันคือ สภาพแวดล้อมที่ต่างกันส่งผลให้คนแต่ละรุ่นคิดไม่เหมือนกัน ซึ่งมุมมองที่ต่างกันนี้ก็ทำให้เด็กและผู้ปกครองมีความคาดหวังที่ต่างกันไปด้วย ส่งผลให้คนทั้งสองเจเนอเรชันสื่อสารกันอย่างไม่เข้าใจ และแม้ประเด็น generation crash จะไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคม แต่การปะทะกันในครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ เนื่องจากเป็นการปะทะกันในระดับค่านิยม หรืออาจกล่าวได้ว่าเกิดการปรับเปลี่ยนค่านิยมครั้งใหญ่ (value shift) ซึ่งทำให้การสื่อสารและการทำความเข้าใจระหว่างคนต่างเจเนอเรชันเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น

รศ.ดร.ภูเบศร์ ชวนมองต่อไปอีกว่า แม้การสื่อสารระหว่างเจเนอเรชันจะทำความเข้าใจกันได้ยากขึ้น แต่พบว่าเด็กในครอบครัวฐานะปานกลางและฐานะร่ำรวยมีแนวโน้มที่จะได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าเด็กในครอบครัวฐานะยากจน เนื่องจากผู้ปกครองมีเครื่องมือและวิธีการที่ดีกว่าในการสื่อสารกับลูก แม้ความคิดเห็นอาจจะไม่ตรงกันก็ตาม แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมักจะไม่รุนแรง ฉะนั้นความเหลื่อมล้ำทางฐานะก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของเด็ก 

รศ.ดร.ภูเบศร์ กล่าวปิดท้ายว่า เขายังมองไม่เห็นกลไกใดที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงได้ แต่กระนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคิดหาวิธีการว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้เด็กไทยเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่ความเหลื่อมล้ำสูงเช่นนี้ได้  


วิจัย/เขียน

ภาวิณี คงฤทธิ์

สร้างสรรค์ภาพ

ภาพิมล หล่อตระกูล

บทความที่เกี่ยวข้อง

ปรึกษาหัวใจกับใครก็เหมือนกัน? แนวทางกำกับมาตรฐานนักจิตวิทยาการปรึกษา-จิตบำบัดอย่างสมดุล

ปัญหาการอวดอ้างชื่อและล่วงละเมิดผู้รับบริการ เรียกร้องให้ต้องมีการกำกับนักจิตวิทยาการปรึกษา/จิตบำบัด แต่การสร้างมาตรฐานให้การดูแลหัวใจอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

ต้องพิการแค่ไหนรัฐไทยถึงมองเห็น

ในปัจจุบันยังมีผู้พิการจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการในระบบของภาครัฐ ขอเชิญชวนทุกท่านมาทำความเข้าใจสาเหตุที่ผู้พิการจำนวนมากตกหล่นไม่ได้รับสวัสดิการ และหาแนวทางที่จะทำให้ผู้พิการได้รับการช่วยเหลืออย่างที่สมควรได้รับ

ความเสี่ยงซึมเศร้า ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด?

ความเสี่ยงซึมเศร้า ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด?

ความเข้มแข็ง-อ่อนแอในจิตใจคนเราเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ เราฝึกฝนกำหนดใจเราเองได้แค่ไหน? นโยบายของรัฐควรมีบทบาทอย่างไรกับปัจจัยที่เกินการควบคุมของปัจเจกบุคคล?

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2024 kidforkids.org | All rights reserved.