คิด(ส์) เพื่อ ‘เด็กในวันข้างหน้า’ : ว่าด้วยเรื่องนโยบายสาธารณะด้านเด็กและครอบครัวแห่งอนาคต (2)

การพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญ เชื่อว่าไม่มีใครปฏิเสธความจริงข้อนี้ ทว่าเมื่อมองไปยังภาคปฏิบัติ กลับพบว่ามีเด็กและเยาวชนไทยจำนวนมากถูกกระทำเสมือนพวกเขาไม่มีความคิดความสามารถ และไร้สิทธิเสรีภาพเป็นของตัวเอง ดังที่เราอาจเคยได้เห็นตามหน้าข่าวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการถูกลิดรอนสิทธิบนเรือนร่างอย่างการถูกตัดผมจนแหว่งเพียงเพราะทรงผมของเขาหรือเธอไม่ตรงกับกฎระเบียบ (อันล้าสมัย) การออกมาตัดสินพวกเขาว่าเป็น ‘พวกชังชาติ’ เพียงเพราะนิยามความเป็นชาติของเขาหรือเธอไม่ได้ตรงกับนิยามเดิมที่ ‘เหล่าผู้ใหญ่’ เคยวางไว้ ตลอดไปจนการถูกดำเนินคดี เพียงเพราะความคิดเห็นของเขาหรือเธอขัดต่อความสงบเรียบร้อยต่อประเทศชาติ?

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับ ‘อนาคตของชาติ’ เหล่านี้ ทำให้อดที่จะตั้งคำถามตามมาไม่ได้ว่า แท้จริงแล้วประเทศกำลังจะสร้างเด็กและเยาวชนของเราให้พัฒนาไปเป็นสิ่งใด และในโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงแทบจะทุกวินาที พร้อมทั้งมีความผันผวนสูงยิ่งกว่าช่วงเวลาใดประวัติศาสตร์ เส้นทางที่เรากำลังเดินอยู่นี้เป็นเส้นทางการพัฒนาเด็กที่จะนำไปสู่อนาคตอันรุ่งโรจน์แล้วจริงๆ หรือ

101 สนทนากับนักปฏิบัติการและผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก ได้แก่ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. พรรคก้าวไกล รองประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร อดีตหัวหน้างานกฎหมาย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และ พฤหัส พหลกุลบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) และกลุ่มก่อการครู เพื่อทบทวนสถานการณ์ของการพัฒนาสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในศตวรรษที่ 21 พร้อมทั้งร่วมกันออกแบบนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัวแห่งอนาคต ให้ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความผันผวนและความซับซ้อนในทุกมิติ

ไม่ใช่แค่พา ‘เด็กตกหล่น’ กลับเข้าสู่ระบบ แต่ต้องคืนสิทธิเสรีภาพให้แก่เยาวชน

ณัฐวุฒิ บัวประทุม

ในช่วงเริ่มต้นของการสนทนา ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส. พรรคก้าวไกล รองประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร อดีตหัวหน้างานกฎหมาย มูลนิธิศูนย์พิทักษสิทธิเด็ก กล่าวว่าการจะวางแผนอนาคตได้อย่างแม่นยำนั้น จำเป็นต้องย้อนกลับไปมองความผิดพลาดในอดีต ซึ่งในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยเผชิญอยู่กับ 2 ปัญหาใหญ่ด้วยกัน คือ ปัญหาการหลุดออกจากระบบของเด็กไร้สถานะและปัญหาเด็กถูกละเมิดสิทธิ

สำหรับ ‘ปัญหาการหลุดออกจากระบบของเด็กไร้สถานะ’ ณัฐวุฒิยกตัวอย่างกรณีของเด็กชายไร้สถานะวัย 14 ปี เนื่องจากพ่อแม่เป็นแรงงานต่างชาติทำให้เขาไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ แม้ตอนนี้เด็กจะอยู่กับผู้ดูแลแต่กลับไร้หนทางในการพิสูจน์ตัวตน ส่วนหนทางที่จะได้รับการรองรับสถานะก็ดูไกลห่างไปทุกที เนื่องจากเด็กไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร กรณีนี้จึงเป็นอีกหนึ่งกรณีที่สะท้อนว่ายังมีเด็กอีกเป็นจำนวนมากที่หลุดจากระบบการพัฒนาเด็กที่วางไว้

ด้าน ‘ปัญหาเด็กถูกละเมิดสิทธิ’ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็กฯ ทำให้ณัฐวุฒิมีโอกาสได้อ่านรายงานของกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ที่เล่าถึงเรื่องราวของเหล่านักเรียนที่ถูกละเมิดสิทธิในโรงเรียน แม้ข้อมูลนี้จะยังไม่สามารถสรุปผลได้ในทันทีและแน่นอนว่าต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกขั้น แต่อย่างน้อยข้อมูลนี้กำลังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการไม่ได้รับการรับฟัง การถูกละเมิดสิทธิจากผู้ใหญ่ และการถูกตัดสินอย่างไม่ถูกต้องของเด็ก ภายใต้สถานที่ซึ่งขึ้นชื่อว่าจะช่วยหล่อหลอมตัวตนของพวกเขาขึ้นมา

จากเหตุผลดังกล่าว ณัฐวุฒิจึงเสนอความคิดเห็นว่า การจะเชื่อมโยงหรือพัฒนาตัวเด็กได้จำเป็นที่จะต้องทำงานกับคนที่อยู่รอบตัวเด็กโดยเฉพาะครอบครัวและโรงเรียน ซึ่งเขาได้แบ่งฉากทัศน์ในอนาคตที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเด็กออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน

ส่วนที่หนึ่ง เทคโนโลยี – ทุกวันนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมากแต่เด็กของเรายังสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างจำกัด ควรเร่งหาวิธีการในการทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียม การเรียนออนไลน์ในยุคโควิดพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ยังมีผู้ปกครองอีกมากที่ไม่มีศักยภาพในการจัดหาอุปกรณ์ที่จะรองรับการเรียนรู้ออนไลน์ให้แก่เด็ก เรื่องนี้เป็นประเด็นที่มองข้ามไม่ได้ เพราะในโลกอนาคตจำเป็นอย่างมากที่เด็กต้องเรียนรู้และเท่าทันเทคโนโลยี

ส่วนที่สอง ระบบนิเวศรอบตัวเด็ก – บุคคลที่อยู่รอบตัวเด็กจำเป็นที่จะต้องรับฟังเด็กมากขึ้น ยกตัวอย่างกรณีการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ แม้เหล่านักเรียนจะไม่ยอมรับในเชิงของเงื่อนไขการเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ แต่พวกเขากลับชื่นชมรัฐมนตรีคนใหม่ในแง่ที่มีการเปิดรับฟังเสียงของเด็กนักเรียน ผลลัพธ์ของการสื่อสารจึงต่างออกไป แม้จะมีความต่างทางเจเนอเรชันหรือความคิด แต่หากคนที่อยู่รอบตัวเด็กมีการรับฟังอย่างจริงใจก็อาจจะช่วยให้ทั้งคู่เข้าใจกันมากขึ้นได้

ส่วนที่สาม เด็กตกหล่นต้องกลับมาอยู่ในระบบการพัฒนาเด็ก – แม้จะกำหนดเป้าหมายว่าในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ เราต้องการเปลี่ยนให้เด็กไทยกลายเป็นพลเมืองโลก หรือต่อให้ร่างแผนพัฒนาเด็กออกมาชัดเจนเพียงใด แต่จะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเด็กจำนวนหนึ่งยังคงหลุดออกจากระบบอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ฉะนั้น ระบบการดูแลเด็กทั้งหมดในประเทศไทยจำเป็นต้องพาเด็กกลับเข้ามาสู่ในระบบเพื่อสามารถพัฒนาศักยภาพของเขาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

เมื่อถามต่อไปถึงภาพอนาคตของนโยบายเด็ก เยาวชน และครอบครัวว่าควรจะมีหน้าตาอย่างไรจึงจะช่วยบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเด็กเยาวชนได้อย่างแท้จริง ณัฐวุฒินำเสนอไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง – ระบบสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นสิ่งจำเป็น แต่อาจจะไม่ได้หมายความว่าทุกคนได้เท่ากันหมด แน่นอนว่ายังมีเด็กที่สมควรจะได้รับมากกว่าแค่เงินถ้วนหน้า เรื่องนี้ก็เป็นความท้าทายว่าจะกำหนดลักษณะหรือเงื่อนไขของเด็กในการรับเงินเพิ่มเติมอย่างไรโดยไม่ให้มีเด็กที่ขาดแคลนตกหล่น และหากจำกันได้ นโยบายนี้เป็นนโยบายที่หลายพรรคการเมืองเสนอแต่ยังไปไม่ถึงฝัน เช่น ‘มารดาประชารัฐ’ จากพรรคพลังประชารัฐ ‘เกิดปั๊บรับแสน’จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งประชาชนก็ควรตั้งคำถามถึงความคืบหน้าของนโยบายนี้

ประเด็นที่สอง – การเปิดพื้นที่รับฟังเสียงของเด็ก จากการลงไปสังเกตการณ์ม็อบนักเรียนในช่วงระยะที่ผ่านมา พบว่าเด็กที่ไปม็อบมีความหลากหลายอย่างมาก ทั้งในด้านฐานะทางเศรษฐกิจตลอดจนการศึกษา แต่น่าสนใจที่เด็กทุกคนต่างมีประเด็นร่วมบางอย่าง ซึ่งการรับฟังความเจ็บปวดนี้ของเด็กๆ อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การหาทางออกเรื่องความขัดแย้งของเจเนอเรชันที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันก็เป็นได้

ประเด็นที่สาม – การทำงานร่วมกับเหล่าบุคคลที่อยู่รอบตัวเด็ก ทั้งครอบครัว โรงเรียน ชุมชน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ และร่วมออกแบบวิธีการพัฒนาเด็กที่เหมาะสมแก่เด็กในแต่ละพื้นที่หรือเงื่อนไข

ประเด็นที่สี่ – ต้องพาเด็กตกหล่นกลับเข้ามาสู่ระบบให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กตกหล่นมากถึง 3 ล้านคน จากจำนวนเด็กทั้งหมด 20 ล้านคน ความท้าทายของประเด็นนี้อยู่ที่ว่า เด็กที่หลุดจากระบบตั้งแต่ช่วงแรกอาศัยเวลาในการเยียวยาวฟื้นฟูค่อนข้างมาก นอกจากนี้ผู้จัดการรายกรณี (case manager) ที่มีคุณภาพและมีทักษะในการวางแผนทรัพยากรก็มีจำนวนน้อยลงและไม่เพียงพอต่อจำนวนเคสที่เกิดขึ้น

ประเด็นที่ห้า – ต้องมีการกระจายอำนาจ ยังมีผู้คนอีกมากที่อยากจะช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ แต่ติดขัดอยู่ที่ระบบอำนาจของรัฐที่เป็นไปในลักษณะรวมศูนย์อำนาจ การจะทำงานในแต่ละครั้งต้องผ่านขั้นตอนและเอกสารมากมาย หลายหนต้องรออนุมัติจากผู้มีอำนาจด้วยซ้ำไป ณัฐวุฒิสะท้อนว่าวิธีการทำงานส่วนใหญ่ล้วนเป็นวิธีการแบบข้าราชการ ซึ่งทำให้การทำงานเป็นไปได้อย่างเชื่องช้า การกระจายอำนาจสามารถปลดล็อกข้อจำกัดนี้และเปิดให้การทำงานเป็นอิสระและว่องไวมากขึ้น

ถึงเวลากลับมาโฟกัสการพัฒนาเด็กตามช่วงวัย

เชษฐา มั่นคง

จากการทำงานด้านการพัฒนาเด็กมาตลอด 20 ปี เชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก สะท้อนให้ฟังว่า ที่ผ่านมาแผนพัฒนาเด็กในประเทศไทยไม่เคยมีการแบ่งแยกการพัฒนาเด็กตามช่วงวัย แต่เป็นเพียงการกล่าวรวมๆ ถึงการพัฒนาเด็กและเยาวชนเท่านั้น จนกระทั่งเกิด พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 หรือ พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งล้วนเป็นพระราชบัญญัติที่เกิดขึ้นในภายหลังทั้งสิ้น

เชษฐาอธิบายว่า การพัฒนาเด็กโดยการแบ่งตามช่วงวัยถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเด็กในแต่ละช่วงวัยต่างมีโจทย์หรือความต้องการที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นวิธีการดูแลก็ต้องต่างออกไปด้วยเพื่อตอบโจทย์สิ่งที่เขาต้องการ อย่างช่วงปฐมวัยเป็นช่วงเวลาที่เด็กต้องได้รับการกระตุ้นการพัฒนาและการดูแลอย่างเต็มที่ แต่ทุกวันนี้บุคลากรที่ดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็กไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ เนื่องจากบุคลากรส่วนใหญ่ยังขาดคุณภาพ เขาย้ำทิ้งท้ายว่า มีความจำเป็นอย่างมากที่นโยบายพัฒนาเด็กและเยาวชนต่อจากนี้ต้องโฟกัสที่การออกแบบนโยบายพัฒนาเด็กตามช่วงวัยที่ต่างกัน

นอกจากนี้ เชษฐายังกล่าวถึงประเด็นที่เด็กด้อยโอกาสเข้าไม่ถึงบริการของภาครัฐ เขาเล่าย้อนว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ สังคมไทยมีเด็กตกหล่นจำนวนมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่การเกิดขึ้นของโควิดยิ่งซ้ำเติมปัญหานี้ และบีบให้เด็กที่ตกหล่นถูกกดทับเพิ่มไปอีก 2-3 เท่า ซึ่งหากยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ไม่นานเด็กเหล่านี้จะหลุดออกจากระบบ ท้ายที่สุดการเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ ตลอดจนไม่ได้รับคุณภาพทางด้านการศึกษาที่ ก็ทำให้เด็กเหล่านี้หมดสิทธิไปต่อและก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมอื่นๆ ตามมา

สำหรับประเด็นลักษณะของนโยบายเด็ก เยาวชน และครอบครัวแห่งอนาคต เชษฐาเสนอความคิดเห็นว่าการจะบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเด็กเยาวชนได้อย่างแท้จริงควรมีข้อพิจารณาอยู่ 3 ประเด็นด้วยกัน

ประเด็นที่หนึ่ง ระบบสวัสดิการเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า – สังคมไทยต้องเดินหน้าอุดช่องว่างการตกหล่นของเด็กกลุ่มเปราะบางอย่างเร่งด่วน เพราะ ณ ขณะนี้ยังมีเด็กเปราะบางอีกกว่า 30% ที่ตกหล่นจากระบบสวัสดิการช่วยเหลือ จากเด็กเล็กทั้งหมด 4.2 ล้านคน พบว่าภาครัฐสามารถช่วยเหลือได้ประมาณ 1.3 ล้านคนเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยกล่าวไว้ชัดเจนว่าการให้เงินอุดหนุนในลักษณะที่ต้องพิสูจน์ความจนเป็นกระบวนการที่สิ้นเปลืองงบประมาณและระยะเวลา และยังก่อให้เกิดความขัดแย้งในระดับพื้นที่ การให้สวัสดิการเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าก็จะช่วยอุดช่องว่างของการตกหล่นนี้ได้

ประเด็นที่สอง ระบบการบริหารจัดการเรื่องฐานข้อมูลเด็กและเยาวชน – ระบบฐานข้อมูลการติดตามพัฒนาการเด็กถือเป็นปัญหาและอุปสรรคชิ้นใหญ่ในการพัฒนาเด็ก สาเหตุเป็นเพราะการขาดการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐ

เชษฐาถ่ายทอดประสบการณ์ตรงว่า เมื่อมีการขอข้อมูลเด็ก ตัวแทนจากกระทรวงต่างๆ มักจะพูดว่ามีข้อมูลไม่ครอบคลุมหรือขอเวลาในการทำข้อมูล ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องแปลกมาก เพราะเด็กเกิดมาย่อมต้องมีข้อมูลอยู่แล้ว ในเมื่อภาครัฐเก็บข้อมูลเขาตั้งแต่วันที่ลืมตาดูโลก แต่ปัญหาติดอยู่ที่ว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างหาก เช่น การแชร์ข้อมูลของเด็ก เป็นต้น เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้ เพราะหากภาครัฐมีข้อมูลที่ครบครันก็จะช่วยให้เห็นว่าเด็กคนหนึ่งมีทรัพยากรอะไรบ้าง ตลอดจนสามารถวิเคราะห์ว่าเด็กต้องการสิ่งใดเพิ่มเติม หรือแม้แต่กรณีที่เด็กต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพราะต้องติดตามพ่อแม่ที่ถูกเลิกจ้าง ฐานข้อมูลที่ดีและการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เป็นระบบก็จะช่วยทำให้ภาครัฐยังสามารถติดตามเด็กต่อไปได้และส่งผลให้เด็กไม่ต้องหลุดออกจากระบบ

ประเด็นที่สาม การปฏิรูประบบกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อเด็กในทุกช่วงวัย – ในโลกยุค VUCA ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตัวเด็กเองก็เช่นกัน ฉะนั้นเมื่อเด็กเปลี่ยนแล้ว ถึงเวลาที่ครูจะต้องเปลี่ยนตาม บทบาทของครูต้องเปลี่ยนเป็นครูยุคใหม่ มีวิธีการสอนแบบใหม่ที่ตอบโจทย์โลกยุคอนาคต และตัวหลักสูตรจะต้องออกแบบอย่างเฉพาะเจาะจงตามเด็กแต่ละช่วงวัยมากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในห้องเรียน เช่น โรงเรียนในจังหวัดศรีสะเกษที่ใช้โมเดล ‘Friday is Flyday วันศุกร์คือวันแห่งการโบยบิน’ เด็กสามารถที่จะไปเรียนรู้ในทุ่งนาหรือตามแปลงผักต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการเรียนรู้จากสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเด็ก

สุดท้ายนี้ เชษฐาฝากทิ้งท้ายไว้ว่า “รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 54 กล่าวไว้ชัดเจนว่า ‘รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา ตามวรรคหนึ่งเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจวินัยอารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย’ แต่เมื่อมองมาที่ภาคปฏิบัติ แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนฯ ของบ้านเรา ไม่ได้มีเนื้อหาลงลึกจนสามารถตอบสนองสิ่งเหล่านี้ได้เลย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก”

ลบมายาคติทางการศึกษา-ปลดปล่อยครูและนักเรียนให้เป็นอิสระ

พฤหัส พหลกุลบุตร

พฤหัส พหลกุลบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) และกลุ่มก่อการครู ชวนมองในภาพใหญ่ว่า คุณภาพของรัฐบาลเป็นตัวแปรที่มีผลอย่างมากต่อการกำหนดอนาคตของเด็กและเยาวชน ถ้าหากประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐบาล ตลอดจนทัศนคติที่มองพลเมืองยังคงเป็นไปในลักษณะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เชื่อว่ายากเหลือเกินที่จะพาการพัฒนาเด็กให้ไปสู่ฝั่งฝัน โดยสาเหตุที่ทำให้คิดเช่นนี้เป็นเพราะหลายเหตุการณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นแล้วว่า ประชาชนไทย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนมีศักยภาพมากและพร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ แม้กระทั่งภายใต้สถานการณ์ที่วิกฤตเช่นนี้ ก็ยังพบว่าผู้คนพยายามใช้ทุกศักยภาพเพื่อเอาตัวรอดให้ได้

ฉะนั้น สำหรับพฤหัสมองว่าปัญหาสำคัญอยู่ที่วิสัยทัศน์ของรัฐบาล เขาให้ความเห็นว่าทุกวันนี้ไม่ใช่แค่รัฐบาลไม่มีวิสัยทัศน์ที่จะส่งเสริมเด็กและเยาวชน แต่ยังกำลังทำลายศักยภาพของพวกเขาอีกด้วย เรื่องนี้เป็นใจกลางของปัญหา ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของรัฐบาล การพัฒนาเด็กเรื่องอื่นๆ ก็คงเกิดขึ้นตามมาได้ยากมาก พฤหัสเสริมต่ออีกว่า ไม่ใช่แค่รัฐบาล แต่สังคมเองก็ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนกรอบความคิดด้วยเช่นกัน ระบบอำนาจนิยมซึ่งเป็นตัวแปรหลักในการกดทับการแสดงศักยภาพของเด็กเยาวชนในประเทศต้องหายไป สังคมต้องรับฟังคนรุ่นใหม่มากขึ้น ต้องยอมรับความจริงว่าทุกวันนี้สังคมดำเนินมาถึงจุดที่สิ้นหวังจนเด็กส่วนหนึ่งคิดอยากจะย้ายประเทศหนี

พฤหัสย้ำว่า การหมดหวังของเยาวชนเป็นวิกฤตที่ไม่ควรมองข้าม นอกจากนี้ เด็กในเจเนอเรชันใหม่ไม่ได้ผูกขาดอยู่กับอุดมการณ์รักชาติอีกต่อไป พวกเขาต่างมองว่าตัวเองเป็นพลเมืองโลก ในขณะที่รัฐบาลหรือคนยุคเก่าจำนวนมากของสังคมยังถูกหล่อหลอมมาด้วยอุดมการณ์รักชาติ เขามองว่า ถ้าสังคมและรัฐบาลยังไม่ปรับกรอบความคิดในการมองโลก เรื่องนี้จะกลายมาเป็นรอยร้าวขนาดใหญ่ของสังคมและเป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้ประเทศก้าวต่อไปข้างหน้าได้

และหากขยับมามองภาพใกล้ตัวอย่างสถาบันการศึกษา พฤหัสกล่าวอย่างมั่นใจว่าโรงเรียนจะถูกลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ และจะเกิดการ deschooling อย่างแน่นอน เพราะเด็กไม่เห็นความจำเป็นของการศึกษาในระบบอีกต่อไป การเรียนในห้องเรียนไม่อาจตอบโจทย์ความต้องการของเด็กในยุคอนาคตได้อีกแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ แพลตฟอร์มการเรียนรู้จะเปลี่ยนไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ และเกิดระบบการศึกษาแบบไฮบริด หรือการผสมกันระหว่างการศึกษาในระบบและนอกระบบ พฤหัสให้ความเห็นว่าทั้งสองระบบการศึกษาจะมีการทำงานร่วมกันมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การสอนร่วมกันระหว่างโรงเรียนและพิพิธภัณฑ์

ฉะนั้นในอนาคต learning station, learning community, learning space จะขึ้นมามีความสำคัญเทียบเท่ากับสถาบันทางการศึกษา และหากมองไปไกลกว่านั้น ท้ายที่สุดสังคมจะดำเนินไปสู่การ unschooling และเปิดให้เด็กสามารถออกแบบหลักสูตรได้ด้วยตัวเองว่าอยากจะเรียนอะไรหรือเดินไปในเส้นทางไหน โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในเส้นทางการศึกษาเดิม อย่างการเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยอีกต่อไป หากเป็นไปในทิศทางนี้ทักษะการเรียนรู้อย่างเดียวที่เด็กจำเป็นต้องมีคือ learning how to learn หรือการที่เด็กจะต้องรู้ว่าเขาจะหาความรู้ได้อย่างไรและจากที่ไหน เพื่อไปสู่เป้าหมายอันแตกต่างมหาศาลได้ด้วยตัวเขาเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ พฤหัสจึงย้อนกลับไปตั้งคำถามต่อรัฐบาลว่า ณ วันนี้ภาครัฐได้มีการเตรียมพร้อมสำหรับเรื่องนี้แล้วหรือไม่ เพราะขณะเดียวกันกลับพบเห็นแค่แนวโน้มของการพยายามยื้อระบบการศึกษาแบบเดิมไว้ สำหรับพฤหัสมองว่าประเด็นนี้น่าเป็นห่วงอย่างมาก เขาย้ำว่าการเดินย้อนกลับไปในอดีตไม่ได้สร้างผลดีต่อเด็กและเยาวชนแม้แต่น้อย และมีแต่จะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาในอนาคต

สำหรับประเด็นเรื่องแนวทางนโยบายเด็ก เยาวชน และครอบครัวแห่งอนาคต ที่จะตอบโจทย์โลกยุค VUCA นั้น ในฐานะที่ทำงานด้านการเรียนการสอนกับเยาวชนอย่างใกล้ชิด พฤหัสขอนำเสนอแนวทางนโยบายทางการศึกษา 3 ประเด็นด้วยกัน

ประเด็นที่หนึ่ง การลบมายาคติทางการศึกษา – พฤหัสถ่ายทอดประสบการณ์ตรงว่า ครูในระบบการศึกษาไทยไม่ได้ไร้ความสามารถ แต่ปัญหาติดอยู่ที่โครงสร้างทางการศึกษาของไทยไม่อนุญาตให้ครูมีอำนาจในการครีเอทีฟระบบการสอนต่างๆ ได้ ยกตัวอย่างเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับเขามองว่าสิ่งนี้ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นจริงได้ เนื่องจากครูต่างถูกแนวคิดและวิธีปฏิบัติที่กระทรวงศึกษามอบให้พันธนาการไว้เสียทั้งหมด

นอกจากนี้พฤหัสยังชวนพิจารณาไปถึงตัวเด็ก แม้เด็กชาติพันธุ์จะมีความต่างจากเด็กชนชั้นกลางในกรุงเทพ แต่อย่างไรก็ตามเด็กส่วนใหญ่ล้วนมีความต้องการพื้นฐานบางอย่างร่วมกัน เช่น การต้องการได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ การเปิดให้เขาได้แสดงความคิดเห็น หรือสร้างการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ไม่สามารถเกิดได้ภายใต้มายาคติทางการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ประเด็นที่สอง คูปองการศึกษา – เพื่อส่งเสริมระบบการศึกษาแบบไฮบริด ควรจะมี ‘คูปองการเรียนรู้’ ซึ่งเป็นเงินที่ภาครัฐให้แก่เด็ก เพื่อให้ได้เด็กสามารถนำคูปองนี้ไปใช้แลกเป็นคอร์สทักษะความรู้ที่เขาสนใจ นอกจากนี้หลังจากเรียนจบก็สามารถเก็บออกมาเป็นหน่วยกิต และนำไปใช้คิดรวมกับหน่วยกิตที่อยู่ในโรงเรียน นโยบายนี้ก็จะช่วยตอบโจทย์เทรนด์เรื่องการ deschooling ที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ประเด็นที่สาม learning station – เป็นประเด็นที่ต่อยอดมาจากประเด็นแรก พฤหัสกล่าวว่าหลักการง่ายๆ เมื่อเด็กมีคูปองแล้ว ก็จำเป็นที่ต้องมีสถานที่ใช้คูปองด้วย เขายกตัวอย่างจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่สร้างสรรค์รวมตัวอยู่เป็นจำนวนมากเช่น ห้องสมุดประชาชน, OKMD, TK park หรือ แกลเลอรีศิลปะ เป็นไปได้ไหมที่จะเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันและสร้างเป็น mapping learning space ของคนในเมืองโดยเฉพาะเด็กกับเยาวชน พร้อมเปิดให้เด็กสามารถเลือกซื้อความรู้หรือการเรียนรู้เหล่านี้ได้ทั่วทั้งจังหวัด และหลังจากนั้นอาจเชื่อมโยงกับโรงเรียนเพื่อต่อยอดเรื่องหน่วยกิตตามที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานรัฐอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

“ผมเชื่อว่าในไม่ช้าเทรนด์การศึกษาลักษณะนี้จะมาถึงแน่นอน หากเราทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นมาได้จริงๆ นี่จะกลายเป็นแพลตฟอร์มใหม่ของระบบการศึกษาไทย แต่ ณ วันนี้ยังไม่มีใครได้ตระเตรียมสิ่งนี้ไว้” พฤหัสกล่าวปิดท้าย


วิจัย/เขียน

ภาวิณี คงฤทธิ์

บทความที่เกี่ยวข้อง

Quick win แล้วสิ้นใจ?: ประคับประคองศูนย์ชีวาภิบาลอย่างไรให้อยู่รอด?

นโยบายชีวาภิบาลกำลังเผชิญปัญหารอบด้านเพราะการเร่งทำให้ถึงเป้าหมาย Quick win 100 วันแรก คิด for คิดส์ ชวนอ่านความท้าทายของนโยบายตายดีที่กำลังจะตายเสียเอง

ปรึกษาหัวใจกับใครก็เหมือนกัน? แนวทางกำกับมาตรฐานนักจิตวิทยาการปรึกษา-จิตบำบัดอย่างสมดุล

ปัญหาการอวดอ้างชื่อและล่วงละเมิดผู้รับบริการ เรียกร้องให้ต้องมีการกำกับนักจิตวิทยาการปรึกษา/จิตบำบัด แต่การสร้างมาตรฐานให้การดูแลหัวใจอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

ต้องพิการแค่ไหนรัฐไทยถึงมองเห็น

ในปัจจุบันยังมีผู้พิการจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการในระบบของภาครัฐ ขอเชิญชวนทุกท่านมาทำความเข้าใจสาเหตุที่ผู้พิการจำนวนมากตกหล่นไม่ได้รับสวัสดิการ และหาแนวทางที่จะทำให้ผู้พิการได้รับการช่วยเหลืออย่างที่สมควรได้รับ

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2024 kidforkids.org | All rights reserved.