Notice: Function _load_textdomain_just_in_time was called incorrectly. Translation loading for the ultimate-addons-for-gutenberg domain was triggered too early. This is usually an indicator for some code in the plugin or theme running too early. Translations should be loaded at the init action or later. Please see Debugging in WordPress for more information. (This message was added in version 6.7.0.) in /sites/kidforkids.org/wordpress/wp-includes/functions.php on line 6114

Notice: Function _load_textdomain_just_in_time was called incorrectly. Translation loading for the wordpress-seo domain was triggered too early. This is usually an indicator for some code in the plugin or theme running too early. Translations should be loaded at the init action or later. Please see Debugging in WordPress for more information. (This message was added in version 6.7.0.) in /sites/kidforkids.org/wordpress/wp-includes/functions.php on line 6114
ถึงเวลาลงทุนกับอนาคตประเทศไทย เงินอุดหนุนเด็กปฐมวัยต้องถ้วนหน้า - คิด for คิดส์

ถึงเวลาลงทุนกับอนาคตประเทศไทย เงินอุดหนุนเด็กปฐมวัยต้องถ้วนหน้า

คลื่นผลกระทบของโควิด-19 ได้โหมกระหน่ำต่อชีวิตผู้คนในประเทศไทย ผู้ปกครองบางส่วนต้องตกงาน ขาดรายได้ เหล่านักเรียนต้องไหวเอนกับการศึกษาออนไลน์ในวันที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตอ่อนแรง ขณะเดียวกันผลกระทบดังกล่าวก็ถาโถมชีวิตเด็กและเยาวชน จากรายงาน ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2564 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พบว่ามีเด็กอย่างน้อย 187 คน จาก 49 จังหวัดทั่วประเทศไทยสูญเสียเสาหลักของบ้านและจำต้องใช้ชีวิตในฐานะเด็กกำพร้า ยังไม่นับรวมตัวเลขเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอยู่นับแสนรายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้กำลังสะท้อนว่ามีเด็กนับไม่ถ้วนถูกละทิ้งท่ามกลางช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำที่กว้างขึ้นทุกที การผลักดันนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าจึงเป็นหนึ่งทางออกของการเยียวยาช่วยเหลือ และเป็นออกซิเจนต่อชีวิตให้กับครอบครัวในภาวะวิกฤต

สถานการณ์ของเด็กไทย ณ วันนี้เป็นอย่างไร 101 เปิดวงสนทนาชวน อรพินท์ ศักดิ์เอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สุนี ไชยรส คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า เชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเลขาธิการพรรคประชาชาติ มาพูดคุยถึง ‘นโยบายสวัสดิการเด็กแห่งอนาคต’ ควรมีหน้าตาอย่างไร โดยเฉพาะสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า สิ่งนี้คือคำตอบหรือไม่

สถานการณ์โควิดกับชีวิตเด็กที่เปราะบาง

ช่วงแรกของการสนทนา อรพินท์ ศักดิ์เอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเด็ก กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ฉายภาพของสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเด็กและเยาวชน แม้ในสถานการณ์การระบาดระลอกแรกจะยังไม่พบการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กมากนัก แต่ก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจในครอบครัว ทั้งการเลิกจ้างและความยากจนที่คืบคลานเข้ามา ทำให้เมื่อมาถึงสถานการณ์การระบาดระลอกสองและสามผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยปัจจุบันมียอดเด็กติดเชื้อโควิด-19 กว่าวันละ 2,000 ราย และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ

กรมกิจการเด็กและเยาวชนได้แบ่งกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบออกเป็น 5 กลุ่มหลัก เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด  ได้แก่

หนึ่ง กลุ่มที่เด็กและผู้ปกครองไม่ได้ติดเชื้อ แต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ เช่น ผู้ปกครองถูกเลิกจ้าง

สอง กลุ่มที่เด็กติดเชื้อแต่ผู้ปกครองไม่ติดเชื้อ เด็กต้องเข้ารับการรักษาโดยศูนย์พักคอย (Community Isolation) บางแห่งมีเงื่อนไขรับเฉพาะเด็กอายุ 7 ปีขึ้นไปที่สามารถดูแลตัวเองได้ ขณะที่หากเป็นเด็กเล็ก ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักต้องการดูแลเด็กด้วยตนเองผ่านการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)

สาม กลุ่มที่เด็กไม่ติดเชื้อแต่ผู้ปกครองติดเชื้อ เนื่องจากผู้ปกครองต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลส่งผลให้เด็กขาดคนดูแล สำหรับเด็กที่ไม่มีคนดูแลในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ ทางพม. ได้มีการประสานกับสำนักอนามัย กทม. ให้มีการรับเด็กกลุ่มนี้เข้าไปยังสถานที่กักกันของรัฐ (State Quarantine) เพื่อดูแลในช่วงการกักตัว 14 วัน ระหว่างที่ผู้ปกครองได้รับการรักษา แต่เมื่อครบ 14 วัน หากผู้ปกครองไม่หายป่วย ทางกรมกิจการเด็กและเยาวชนก็ได้เตรียมสถานรองรับของหน่วยงานเอาไว้ เช่น สถานสงเคราะห์ หรือ บ้านพักเด็กและครอบครัว ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ

สี่ กลุ่มที่เด็กและผู้ปกครองติดเชื้อ กลุ่มนี้ไม่เป็นปัญหา หากสามารถเข้ารับการรักษาได้พร้อมกัน แต่บางครั้งสถานพยาบาลอาจไม่สามารถรองรับทั้งพ่อแม่และลูกเข้าไปได้ ปัจจุบันทางพม. ก็พยายามหาสถานที่ที่จะรองรับได้ทั้งครอบครัว

ห้า กลุ่มเด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตส่งผลให้ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า เป็นเด็กกลุ่มที่น่าเป็นห่วงและต้องมีการทำงานในระยะยาว สำหรับมาตรการรองรับปัญหาเด็กกำพร้าแบ่งออกเป็น 3 ทางเลือกด้วยกัน ทางเลือกแรกคือการพิจารณาครอบครัวที่จะเข้ามาดูแลแทน ซึ่งแรกสุดจะพิจารณาจากกลุ่มเครือญาติ โดยที่รัฐอาจจะมีงบประมาณบางส่วนเข้ามาช่วยสนับสนุนค่าเลี้ยงดูรายเดือนเช่น การมอบเงิน 2,000 บาทให้แต่ละครอบครัว และอาจจะมีสวัสดิการอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม แต่หากเครือญาติของเด็กไม่มีความพร้อม ทางพม. ก็ได้มีการเตรียมครอบครัวอาสาสมัครไว้รองรับ และทางเลือกสุดท้ายคือสถานสงเคราะห์ ซึ่งมีระบบที่รองรับในเรื่องของครอบครัวบุญธรรม

ด้าน สุนี ไชยรส คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ได้เสริมภาพของสถานการณ์ที่ปรากฏต่อเด็กเพิ่มเติมว่า สถานการณ์โควิดไม่เพียงส่งผลกระทบต่อตัวเด็กทั้งประเทศเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบต่อ ‘แม่’ โดยเฉพาะแม่ตั้งครรภ์และแม่ลูกอ่อน มีแม่จำนวนมากที่ติดเชื้อโควิด-19 และบางส่วนเสียชีวิตขณะตั้งครรภ์ นอกจากนี้ กระบวนการฉีดวัคซีนสำหรับกลุ่มเสี่ยงพิเศษอย่างผู้หญิงท้องก็ยังคงไม่มีนโยบายที่ชัดเจน

“ดิฉันคิดว่าอันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมและรัฐบาล ความจริงรัฐบาลต้องยกกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยง นี่เป็นมาตรการเร่งด่วนของคนป่วย เพราะว่ามันเป็นชีวิต และเสียชีวิตได้จริง มันไม่ใช่แค่อดอยาก ยากแค้นธรรมดา”

นอกจากนั้น สุนียังชี้ให้เห็นว่าการล็อกดาวน์เมืองและการปิดศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศส่งผลกระทบต่อเรื่องโภชนาการของเด็ก มีเด็กเล็กจำนวนมากต้องขาดการรับประทานนมและอาหารกลางวัน ขณะที่การทำงานของหลายๆ หน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือเด็กเล็กทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และอาสาสมัครต่างทำงานได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 เช่น กรณีของมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานของเธอ ปัจจุบันมีครูพี่เลี้ยงติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้วถึง 9 คน และเสียชีวิต 1 คน

“เราไปเปิดเวทีรับฟังมาสี่ภาค (ทั่วประเทศ) เชื่อไหมว่าวันนี้ยังมีเด็กต้องกินนมข้น ต้องกินน้ำข้าว หรือยังมีเด็กที่ไม่มีแม้แต่อะไรจะกิน มาตรการต่อเด็กเล็กของรัฐอ่อนเปราะ ตั้งแต่กระบวนการฉีดวัคซีน กระบวนการดูแลเรื่องโรงพยาบาล กระบวนการเฉพาะหน้าของการหยุดของศูนย์เด็กเล็ก รวมไปถึงเด็กจำนวนมหาศาลที่ไม่ได้อยู่ในศูนย์เด็กเล็กอีกด้วย”

ความเครียดและปัญหาความรุนแรงในครอบครัวทั้งในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประเด็นที่ เชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กเสริมขึ้นมาในบทสนทนา พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าหน่วยงานที่ดูแลเรื่องเด็กโดยตรง ไม่ว่าจะหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือหน่วยงานที่ดูแลเด็กในชุมชนล้วนตั้งหลักช้าไป

เขาสะท้อนว่า ผลกระทบจากโควิด-19 เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดภาวะเครียดในครอบครัวและส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น แม่บางคนมีความเครียดสูงจนทำให้น้ำนมไม่ไหล ปัญหาการหย่าร้าง ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาสภาพจิตใจของเด็กที่ต้องเผชิญความสูญเสียคนในครอบครัวจนกลายมาเป็นเด็กกำพร้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็กค่อนข้างมากและมีผลในระยะยาว

อีกด้านคือปัญหาด้านการศึกษา มีการคาดการณ์ว่าเด็กจำนวนมากจะหลุดจากระบบการศึกษา เพราะการเรียนออนไลน์เรียกร้องให้ครอบครัวต้องสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านอินเทอร์เน็ต ซึ่งหลายครอบครัวไม่มีความพร้อม จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องวางแผนรองรับเด็กกลุ่มนี้ เชษฐาให้ความเห็นว่าภาครัฐควรมีช่องทางสื่อสารอื่นเพิ่มเติม นอกเหนือจากสายด่วน 1330 เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที โดยเขามองว่าอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำหมู่บ้าน (อพม.) อาจจะเป็นตัวช่วยที่จะเป็นกระบอกเสียงเชื่อมต่อระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐที่มีทรัพยากรพอที่จะดูแล

ตัวแทนภาครัฐอย่างอรพินท์เสริมว่า ปัจจุบันภาครัฐมีช่องทางในการรับแจ้งเหตุ 4 ช่องทาง 1) สายด่วน 1330 2) แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ (mobile application) คุ้มครองเด็ก 3) บ้านพักเด็กและครอบครัวที่มีอยู่ทั้ง 77 จังหวัด และ อพม. ที่มีอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศก็ถือเป็นช่องทางที่รับแจ้งเหตุได้ และ 4) แอปพลิเคชันไลน์ @savekidcovid19 นอกจากนี้สำหรับปัญหาเรื่องสภาพจิตใจของเด็ก ทางพม. ก็ได้มีการประสานกับกรมสุขภาพจิตและอยู่ในขั้นตอนเตรียมระบบในการจะเข้าไปดูแลเด็กที่ได้รับการแจ้งเข้ามา เธอกล่าวว่ายังมีอีกหลายกระบวนการที่ทางพม. ได้มีการตระเตรียมไว้เพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ แต่ยอมรับว่าอาจจะมีบางเรื่องที่การช่วยเหลือยังไม่ค่อยทันการณ์มากนัก แต่ทางพม. เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและพยายามทำเต็มที่

ฟูมฟักสวัสดิการเด็กเล็กเพื่อการลงทุนประเทศในอนาคต

“หากจะดูอดีตสังคมใดให้ไปดูที่พิพิธภัณฑ์ แต่ถ้าจะดูอนาคตต้องไปดูที่เด็ก” พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวพร้อมสะท้อนภาพรวมของประเทศว่าจำนวนประชากรของประเทศไทยในช่วงวัย 0-6 ปี อยู่ที่ประมาณ 4.4 ล้านคน แม้ในเบื้องต้นประเทศไทยจะยังไม่มีนโยบายเรื่องการเจริญพันธุ์ที่ชัดเจน แต่พบการเรียกร้องให้มีอัตราการการเกิดเพิ่มขึ้น ท่ามกลางสภาวะปัจจุบันที่อัตราการเกิดน้อยลง แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์น้อยกว่าที่ควรจะเป็นโดยเฉพาะสวัสดิการเด็กเล็ก เห็นได้ชัดจากการจัดสรรงบประมาณที่ผ่านมา

สุนีเสริมต่อจากประเด็นข้างต้นว่า แม้ภาครัฐจะมีการทำงานในเชิงนโยบาย แต่ยังทำงานกันอย่างแยกส่วน ไม่ได้คิดเป็นระบบตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน โดยยกตัวอย่างแนวทางที่รัฐจะเข้ามาสนับสนุนการทำงานเชิงนโยบายเรื่องเด็กเล็กได้ อย่างการสร้างศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ ราคาถูก ทั่วถึง และมีเวลาทำการตรงกับคนทำงาน เพื่อให้พ่อแม่สามารถออกไปทำงานและกลับมารับลูกได้เมื่อถึงเวลา ทำให้ไม่จำเป็นที่ต้องส่งลูกกลับไปให้ญาติผู้ใหญ่เลี้ยงที่ต่างจังหวัด และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก นอกจากนี้เธอยังเสริมอีกว่า ที่ผ่านมาพัฒนาการด้านนโยบายสวัสดิการของประเทศไทยล้วนเดินหน้ามาตามลำดับและนำไปสู่การคิดแบบถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600-1,000 บาทต่อเดือน, นโยบายเรียนฟรีถ้วนหน้า 15 ปี หรือสวัสดิการบัตรทอง แต่มีเพียงสวัสดิการของกลุ่มเด็กเล็ก 0-6 เท่านั้นที่ยังไม่มีนโยบายในลักษณะที่ถ้วนหน้า

ด้านเชษฐาย้ำชัดถึงความสำคัญของสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า โดยหยิบยกหลักการว่าเด็กทุกคนควรจะได้รับการคุ้มครองในสิทธิพื้นฐานอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะรวยจะจน จะเชื้อชาติ ศาสนาไหน ตาม ‘อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก’ ซึ่งรัฐไทยได้ร่วมลงนามเมื่อปี 2535 โดยเฉพาะกับสวัสดิการที่เกี่ยวข้องพัฒนาการเด็กทั้งร่างกายและสมองในช่วงวัย 0-6 ปี เขาเสริมว่า หากเด็กได้รับสวัสดิการที่ดีและพ่อแม่มีศักยภาพในการเลี้ยงดูที่ดีจะส่งผลให้เด็กเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพและเป็นการช่วยเสริมสร้างอนาคตของชาติให้แข็งแรงอีกด้วย

สำหรับทางภาครัฐอย่างอรพินท์เห็นด้วยกับการผลักดันนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กในลักษณะถ้วนหน้า โดยให้ความเห็นว่าสวัสดิการเด็กที่จะตอบโจทย์ในอนาคตควรมีลักษณะสำคัญ 5 ประการดังนี้

(1) ควรจะเป็นสวัสดิการที่เข้าถึงเด็กอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมโดยที่รัฐจัดให้อย่างไม่มีเงื่อนไข

(2) สวัสดิการจะต้องมีความครอบคลุมและถ้วนหน้า

(3) สวัสดิการที่เหมาะสม เข้ากับบริบท อย่างเช่นบริบทสังคมเมืองกับชนบทอาจจะมีความต้องการสวัสดิการแตกต่างกัน

(4) สวัสดิการสังคมแบบบริการเฉพาะ เป็นสวัสดิการเฉพาะของบางกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เช่น แม่วัยรุ่น แม่เลี้ยงเดี่ยว

(5) สวัสดิการเชิงรุกที่จะตอบโจทย์กับสถานการณ์หรือภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นกระทันหัน อย่างในสภาวะปัจจุบันคืออาสาสมัครดูแลเด็กในสถานการณ์โควิดและสวัสดิการในเรื่องการเลี้ยงดูแลทดแทน

เงินอุดหนุนเด็กเล็กถึงเวลาต้อง ‘ถ้วนหน้า’

หนึ่งในนโยบายสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับเด็กที่กำลังเป็นที่พูดถึงในสังคมคือ การผลักดันนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปี ให้เป็นแบบถ้วนหน้า

สุนีสะท้อนพัฒนาการนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กว่า แม้จะมีการขยายเพดานอายุเด็กจากเดิมที่ให้แค่เด็กอายุ 0-3 ปี จนปัจจุบันขยายอายุมาเป็น 0-6 ปี หรือมีการขยายเพดานรายได้ครอบครัวผู้มีสิทธิรับเงิน จากเดิมที่วางเงื่อนไขรายได้ไว้ที่ 36,000 บาทต่อปี ก่อนจะขยับมาที่รายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี แต่ทั้งสองการเปลี่ยนแปลงก็ยังคงพบเจอปัญหาเดียวกันอย่าง ปัญหาเด็กยากจนจำนวนมากตกหล่นจากระบบสวัสดิการดังกล่าว เนื่องจากปัญหาระบบการคัดกรองและการรับรองรายได้ที่เข้าไม่ถึงกลุ่มคนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ

สำหรับเธอมองว่า ปัญหานี้เป็นกับดักที่ไม่มีทางแก้และยิ่งเฉพาะในสถานการณ์โควิดที่หนักหน่วง คนจนเกิดมากขึ้นจนทำให้การคัดกรองเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือใหม่ไม่อาจเท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีช่วงเวลาไหนแล้วที่จะเหมาะสมต่อการผลักดันสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าเท่าช่วงเวลานี้

“คำว่า ‘ตกหล่น’ เป็นความเจ็บปวด มันไม่ใช่ว่าเรามาเจอทีหลัง แล้วเราไปช่วยเด็กย้อนหลังได้ เรามีโครงการสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กมา 7 ปีแล้ว นั่นหมายความว่านับตั้งแต่ปี 2558 มีเด็กประมาณ 2-3 ล้านคน ตกหล่นและไม่ได้รับเงินมาจนถึงตอนนี้ สำหรับบางคนเงิน 600 บาทอาจมองดูนิดเดียว แต่สำหรับหลายครอบครัวที่ลำบาก เงินก้อนนี้ช่วยแก้สถานการณ์ชีวิตของเขาได้อย่างมาก และเป็นกำลังใจ เป็นศักดิ์ศรีที่เขาจะมีเงินของเขาอยู่โดยไม่ต้องคอยไปขอใคร” สุนีกล่าว พร้อมให้ความเห็นว่าเงิน 600 บาทไม่ใช่เพียงสวัสดิการที่ช่วยเยียวยาค่าใช้จ่ายประจำวัน แต่จะเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในการที่ภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ ต่อไป

อรพินท์เสริมว่า ตัวฐานข้อมูลตรงนี้มีประโยชน์ต่อการทำงานในเรื่องอื่นๆ อย่างที่เห็นได้ชัดคือการเชื่อมโยงกับคลังข้อมูลสุขภาพ Health Data Center (HDC) กับทางกระทรวงสาธารณสุข ช่วยให้เด็กกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบของการดูแลเรื่องวัคซีน และเรื่องพัฒนาการต่างๆ รวมถึงสามารถวิเคราะห์เชื่อมโยงไปถึงกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว แม่วัยใส ซึ่งก็จะนำไปสู่การทำงานกับคนกลุ่มนี้ต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันมีแม่วัยใสอายุต่ำกว่า 20 ปีอยู่ที่ประมาณ 200,000 ราย แม่เลี้ยงเดี่ยวประมาณ 80,000 กว่าราย และแม่วัยใสที่เลี้ยงเดี่ยวด้วยอีกประมาณ 10,000 กว่าราย

นอกจากนี้การให้เงินอุดหนุนสำหรับเด็กเล็กถ้วนหน้ายังมีข้อดีตรงที่ช่วยป้องกันการตกหล่นอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ประหยัดงบประมาณในการทำงานต่างๆ ทั้งในเรื่องการคัดกรองกลุ่มเป้าหมายและขั้นตอนการรับรองรายได้ และเด็กสามารถรับได้ทันที ไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ ส่วนข้อเสียคืองบประมาณจะใช้เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีงบประมาณที่ใช้สำหรับโครงการเงินอุดหนุนเด็กเล็กอยู่ที่ประมาณ 14,000 ล้านบาท สำหรับการดูแลเด็กเล็ก 2.2 ล้านคน หากเปลี่ยนเป็นรูปแบบถ้วนหน้าจะมีการใช้งบประมาณอยู่ที่ 30,000 ล้านบาทและครอบคลุมเด็กเล็กทั้งหมด 4.4 ล้านคน แต่ในระยะยาวงบประมาณมีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากอัตราการเกิดของเด็กแต่ละปีมีน้อยลง

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) เห็นชอบในหลักการที่จะผลักดันให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กเป็นแบบถ้วนหน้า แต่ ณ ปัจจุบันด้วยขั้นตอนการทำงานและการประสานงานยังทำให้ไม่ไปถึงการเปลี่ยนเป็นรูปแบบถ้วนหน้า อรพินท์ในฐานะตัวแทนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวว่า ล่าสุดได้มีการพูดคุยกับกระทรวงการคลังถึงเรื่องงบประมาณดังกล่าว ซึ่งหากรัฐบาลเห็นชอบกับการเป็นถ้วนหน้า รัฐบาลก็สามารถจะจัดสรรงบกลางมาช่วยสนับสนุน

‘งบประมาณ’ เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าที่รอวันเติมเต็ม

พ.ต.อ.ทวี ในฐานะผู้แทนราษฎรให้ความเห็นถึงภาพรวมของการจัดงบประมาณของรัฐบาลว่างบประมาณที่ไปสู่สวัสดิการของประชากรมีน้อยมากหากเทียบกับงบประมาณด้านอื่น และถ้ารัฐบาลมองถึงเรื่องการพัฒนาประเทศจริงๆ สวัสดิการเด็กเล็กเป็นหนึ่งในเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ การใช้งบกลางเพื่อช่วยสนับสนุนสวัสดิการถ้วนหน้าจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ด้านสุนีเสริมเช่นกันว่ารอไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากมีมติจากคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) มาแล้วว่าให้เริ่มดำเนินการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แต่เหตุในเรื่องนี้กลับไม่ถูกนำเข้ามติคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ทางกระทรวงพม. ให้ข้อมูลว่าที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นแบบถ้วนหน้าได้ เนื่องจากไม่มีงบประมาณ แต่หากวิเคราะห์ร่างงบประมาณปี 2565 พบว่ามีวงเงินรวม 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งมีจำนวนมากพอสมควร แต่กระทรวงพม. กลับได้รับการจัดสรรงบประมาณเพียง 20,000 ล้านบาท ขณะที่ต้องดูแลตั้งแต่คนท้อง คนพิการ แม่เลี้ยงเดี่ยว และในจำนวนเงินนั้นเป็นเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 2.2 ล้านคนเพียงราวๆ 16,000 ล้านบาท ในขณะที่งบของกระทรวงกลาโหมกลับได้รับการจัดสรรกว่า 200,000 ล้านบาท ฉะนั้น การจะบอกว่าภาครัฐไม่มีเงินจึงไม่สมเหตุผลและไม่มีความชอบธรรม

“การจะเปลี่ยนเป็นเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าขาดงบประมาณอีกเพียง 14,000 ล้านบาทเท่านั้น ก็จะครอบคลุมเด็กเล็กทั้งหมด 4.4 ล้านคน เด็กเล็กทุกคนจะได้รับเงินทันทีเพื่อช่วยเยียวยาผลกระทบจากปัญหาโควิด”

เชษฐาเสริมท้ายว่า งบประมาณ 30,000 ล้านบาทสำหรับสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้านั้นไม่ใช่งบประมาณที่มากมายเลย หากเทียบกับผลตอบแทนในอนาคตที่เด็กเหล่านี้จะได้รับ เงินจำนวนนี้สามารถสร้างศักยภาพของครอบครัว และสร้างความเข้มแข็งของคนที่เป็นแม่ เชษฐาเสนอแนวทางในการเปลี่ยนสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้เป็นแบบถ้วนหน้าไว้ 2 แนวทางดังนี้ แนวทางแรกคือการใช้งบประมาณกลางเพื่อทำสวัสดิการอุดหนุนเงินเด็กเล็กถ้วนหน้า และแนวทางสองคือ การนำมติของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี และมีมติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดสรรงบประมาณต่อไป

หลากความเห็นว่าด้วยเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

สุนีถ่ายทอดมุมมองว่าเงินอุดหนุนเด็กเล็กในอนาคตควรมีลักษณะถ้วนหน้าให้กับทุกคนไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไร หากผู้มีรายได้มากยินดีไม่รับเงิน ก็ควรจะเป็นหลักสมัครใจในการคืนเงินเข้ากองทุน มากกว่าการคัดกรองคนรวยออกตั้งแต่ต้น เพราะไม่อย่างนั้นสุดท้ายปัญหาเรื่องการตกหล่นอาจจะกลับมาได้

ในส่วนของจำนวนเงิน 600 บาท อาจจะมองดูไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูทั้งหมด แต่เงินจำนวนนี้ถือเป็นการต่อสู้ในเชิงกรอบคิดเพื่อยืนยันหลักสวัสดิการพื้นฐาน ไม่ใช่หลักสงเคราะห์คนจน และในอนาคตก็อาจจะมีการปรับวงเงินเพิ่มขึ้นตามความความตื่นตัวของนโยบายพรรคการเมืองและสังคม รวมถึงอาจมีการปลดล็อกเงื่อนไขการให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กไปถึงกลุ่มที่ได้รับการยกเว้น เช่น กลุ่มลูกข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากยังมีลูกจ้างรัฐจำนวนมากที่ไม่ได้มีเงินเดือนสูง และกลุ่มเด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐ เด็กที่อยู่กับพ่อแม่ในเรือนจำที่อยู่ในเงื่อนไขว่ารัฐให้การดูแลแล้ว

สุนีให้ความเห็นว่าโดยส่วนตัวไม่ได้ติดใจในเชิงรายละเอียดว่าจะเป็นรูปแบบถ้วนหน้าในลักษณะใด แต่ถ้าพูดในเชิงอนาคต เธอต้องการให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กเข้าสู่ระบบของการกระจายอำนาจ และโอนภารกิจนี้ไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละท้องที่ให้เป็นผู้รับผิดชอบ และหากเกิดการแก้ไขกฎหมายเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างการเปิดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการเพิ่มสวัสดิการเด็กอื่นๆ ก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก นอกจากนี้สุนียังอยากเห็นการสร้างระบบรัฐสวัสดิการที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบที่ดูแลตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ จนถึงช่วงวัยเกษียณและเสียชีวิต

ด้านอรพินท์ได้ช่วยตอบคำถามและสะท้อนหลักการของภาครัฐว่า สวัสดิการที่รัฐจัดหาให้จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับสวัสดิการที่มีอยู่แล้ว ในกลุ่มของเด็กที่อยู่ในเรือนจำกับผู้ปกครอง เมื่อออกจากเรือนจำและอยู่ในช่วง 0-6 ปี ถ้ายังไม่ได้เป็นรูปแบบสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า เด็กเหล่านี้ก็ยังมีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุน แต่ในปัจจุบันยังต้องเข้าสู่กระบวนการคัดกรองลงทะเบียนและรับรองตามปกติ แต่อาจจะไม่ได้ให้ย้อนหลังกลับไป

วิจัย/เขียน

กรกมล ศรีวัฒน์

สร้างสรรค์ภาพ

ภาพิมล หล่อตระกูล

บทความที่เกี่ยวข้อง

ปรึกษาหัวใจกับใครก็เหมือนกัน? แนวทางกำกับมาตรฐานนักจิตวิทยาการปรึกษา-จิตบำบัดอย่างสมดุล

ปัญหาการอวดอ้างชื่อและล่วงละเมิดผู้รับบริการ เรียกร้องให้ต้องมีการกำกับนักจิตวิทยาการปรึกษา/จิตบำบัด แต่การสร้างมาตรฐานให้การดูแลหัวใจอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

ต้องพิการแค่ไหนรัฐไทยถึงมองเห็น

ในปัจจุบันยังมีผู้พิการจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการในระบบของภาครัฐ ขอเชิญชวนทุกท่านมาทำความเข้าใจสาเหตุที่ผู้พิการจำนวนมากตกหล่นไม่ได้รับสวัสดิการ และหาแนวทางที่จะทำให้ผู้พิการได้รับการช่วยเหลืออย่างที่สมควรได้รับ

ความเสี่ยงซึมเศร้า ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด?

ความเสี่ยงซึมเศร้า ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด?

ความเข้มแข็ง-อ่อนแอในจิตใจคนเราเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ เราฝึกฝนกำหนดใจเราเองได้แค่ไหน? นโยบายของรัฐควรมีบทบาทอย่างไรกับปัจจัยที่เกินการควบคุมของปัจเจกบุคคล?

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2024 kidforkids.org | All rights reserved.