Notice: Function _load_textdomain_just_in_time was called incorrectly. Translation loading for the elasticpress domain was triggered too early. This is usually an indicator for some code in the plugin or theme running too early. Translations should be loaded at the init action or later. Please see Debugging in WordPress for more information. (This message was added in version 6.7.0.) in /sites/kidforkids.org/wordpress/wp-includes/functions.php on line 6121
ยังไม่ทันตั้งไข่ เด็กไทยก็ถูกทอดทิ้งจากรัฐ: เมื่อ 'เงินอุดหนุนเด็กเล็ก' ไปไม่ถึงทุกคน - คิด for คิดส์

ยังไม่ทันตั้งไข่ เด็กไทยก็ถูกทอดทิ้งจากรัฐ: เมื่อ ‘เงินอุดหนุนเด็กเล็ก’ ไปไม่ถึงทุกคน

เด็กไม่รู้จักกลัวเจ็บ

โดยเฉพาะเด็กเล็ก ถ้ามีโอกาสวิ่ง เขาจะวิ่งไม่กลัวล้ม ถ้ามีโอกาสปีน เขาก็จะปีนไม่กลัวหล่น

“อย่าปีน” เสียงของแม่ว่า เมื่อเห็นเด็กหญิงใบหม่อนวัย 4 ขวบพยายามยันตัวเล็กๆ ขึ้นไปเดินบนแท่นก๊อกน้ำปูนเปลือย “เดี๋ยวตกลงมาก็มีน้ำตา”

เธอขานรับ แต่ก็นั่นละ เด็กวัยนี้ไม่กลัวกระทั่งแม่ ใบหม่อนปีนขึ้นไปยืนได้สำเร็จ และยิ้มอย่างภูมิใจ

มองผ่านๆ ผู้ใหญ่อย่างเราไม่เข้าใจหรอกว่าการปีนแท่นปูนหลังอาคารสถานเลี้ยงเด็กมันสนุกตรงไหน (อันที่จริงสนามเล็กๆ ที่นั่นก็มีเครื่องเล่นให้ปีนมากมาย แต่คงไม่เร้าใจใบหม่อน) สำหรับเด็กเล็ก โลกที่พวกเขาเห็นคงเป็นโลกอีกใบ โลกที่สนุกสนาน โลกที่ปราศจากความกังวล

โลกที่ไม่ต้องกลัวหล่น


1


แม่เจี๊ยบ กัญญารัตน์ แก้วแล้ว วัย 33 ปีนั่งมองลูกสาวตัวน้อยอยู่ไม่ไกล

“ดื้อ” เธอบ่นให้เราฟังอย่างไม่จริงจังนัก  “ดื้อสุดๆ เลย ไม่ค่อยฟังแม่ อยู่บ้านก็ไม่ฟัง”   

แดดยามสายส่องเจิดจ้า ใต้อาคารสถานเลี้ยงเด็ก บ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่ไม่ค่อยมีลมโกรก แต่ก็ไม่ร้อนเกินกว่าจะให้คนสองคนนั่งสนทนากัน

วันนี้แม่เจี๊ยบพาลูกสาวมารับข้าวสารอาหารแห้ง นมผง ขนมเล็กๆ น้อยๆ ที่ศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน หลังพิษโควิด-19 ทำให้รายได้ของครอบครัวหดหาย จากเดิมเธอและสามีประกอบอาชีพรับซื้อของเก่า ได้เงินหลักร้อยต่อวัน (“ถ้าของเยอะก็พอได้วันละพันกว่าบาท”) มาตอนนี้อย่าว่าแต่จะทำมาหากินลำบาก กระทั่งจะออกไปไหนมาไหนก็ยังคิดหนัก

เพราะงั้นแม่เจี๊ยบจึงเข้าใจได้ ว่าทำไมใบหม่อนถึงตื่นเต้นและซุกซนนักเมื่อมีโอกาสออกมาข้างนอก

“ช่วงนี้เราไม่ค่อยปล่อยให้เขาออกไปไหน ให้อยู่แต่ในห้อง เพราะโรคมันเยอะ แม่กลัว” เธอพยักเพยิดหน้าไปทางทิศหนึ่ง ถ้ามองทะลุกำแพงศูนย์เลี้ยงเด็กออกไป ไม่ไกลคือสนามกอล์ฟในซอยเสือใหญ่อุทิศ “บ้านแม่อยู่ตรงนั้น ข้างหลังสนามกอล์ฟ เป็นบ้านเช่าชั้นเดียว ห้องเดียวอยู่กัน 4 คน มีพ่อ แม่ ลูกอีกสองคน”

เท่าที่เรานึกภาพได้จากคำบอกเล่า ห้องนั้นไม่ได้กว้างสักเท่าไหร่ ลำพังวางฟูกนอนก็กินพื้นที่ไปเกือบครึ่ง เหลือพื้นว่างๆ บนเสื่อน้ำมันให้พอใช้สอยได้บ้างนิดหน่อย มีห้องน้ำเล็กๆ ห้องหนึ่ง และครัวแยกออกไปอยู่นอกบ้าน ทั้งหมดสนนราคาเดือนละ 3,000 กว่าบาท ไม่รวมค่าน้ำ ค่าไฟ

“เลี้ยงลูกไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่หรอกค่ะ ที่มันแคบ น้องไม่ค่อยมีที่อยู่” ถ้าย้อนกลับไปสมัยที่ลูกๆ เธอยังเด็ก หน้าบ้านแม่เจี๊ยบเป็นทางผ่านยอดฮิตสู่สนามกอลฟ์เสียด้วยซ้ำ สารพัดรถราวิ่งผ่านกันแทบทั้งวัน ไม่ต้องเล่า เราก็พอเดาได้ว่าคนเป็นแม่คงไม่กล้าปล่อยลูกออกมาวิ่งเล่นหน้าบ้านแน่นอน

“ยังดีที่เดี๋ยวนี้เขาปิด เปลี่ยนมาวิ่งถนนข้างหน้าสนามกอล์ฟแทน รถเลยน้อยลง”

จังหวะนั้น มายมิ้นท์ ลูกสาวคนโตวัย 9 ขวบของแม่เจี๊ยบเดินถือขวดน้ำเข้ามายื่นให้แม่และพี่สาวแปลกหน้า ยอมคุยด้วยสองสามคำจนได้ความว่ากำลังเรียนชั้นประถม 4 ช่วงนี้เรียนออนไลน์อยู่บ้าน พูดจบเด็กหญิงก็รีบวิ่งปรู๊ดออกไปเล่นกับน้องสาวที่เริ่มตะกายลงจากแท่นปูนเพื่อหาของเล่นใหม่


เงินอุดหนุนเด็กเล็ก


แม่เจี๊ยบมองจนแน่ใจว่าไม่มีใครหล่นลงมาให้ได้น้ำตา ก่อนกล่าวต่อด้วยเสียงเบาลง

“เอาเข้าจริง ตอนนี้ค่าห้องก็ยังไม่ได้จ่ายเขาเลย” ดูเหมือนว่าการที่ลูกๆ ต้องอยู่บ้านในช่วงโควิดจะยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงสวนทางกับรายได้ ทั้งค่าอาหาร ค่าอินเทอร์เน็ตเรียนออนไลน์ ของที่ใช้ป้องกันโรคอย่างหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ และอื่นๆ อีกมาก

“ค่ากับข้าววันหนึ่ง 300 ก็เอาไม่อยู่ ปกติไปโรงเรียนน้องยังมีข้าวฟรีให้เช้าเที่ยง กลับมากินข้าวเย็นที่บ้านมื้อเดียว ตอนนี้จ่ายกันเองหมด ไหนจะมีค่านม ค่าขนม เราทำได้แค่เอาเงินเก่ามากิน เงินเก็บน่ะ เอามากินหมดแล้ว” เธอเสริมว่าช่วงนี้ต้องอาศัยเงินค่ากินอยู่จากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นหลัก ใช้โครงการคนละครึ่งช่วยลดค่าใช้จ่าย รวมถึงรับของแจกจากศูนย์เด็กเล็กเพื่อให้ผ่านไปได้ในแต่ละวัน

ว่ากันตามตรง แม่เจี๊ยบควรได้รับมากกว่านั้น เพราะใบหม่อนคือกลุ่มเด็กเล็กที่เข้าเกณฑ์ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐจำนวน 600 บาททุกเดือนตามโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 0-6 ปี และแม่เจี๊ยบเองก็เคยลงทะเบียนรับเงินดังกล่าวที่สำนักงานเขตแล้ว

แต่หลังจากยื่นเอกสารเมื่อแรกเกิด รอจนลูกสาวอายุ 9 เดือนถึงได้เงินก้อนแรกย้อนหลังราว 8,000-9,000 บาท ยังไม่ทันดีใจที่มีเงินมาช่วยค่านม ค่าแพมเพิร์ส เมื่อใบหม่อนอายุ 1 ขวบสองเดือน แม่เจี๊ยบก็ไม่ได้รับเงินอุดหนุนอีกเลย

“เขาไม่ได้บอกอะไรเลยว่าทำไมหยุดส่ง แม่ไปติดต่อเขตใหม่อีกรอบ เจ้าหน้าที่บอกให้กรอกข้อมูลใหม่ แม่ก็ส่งข้อมูลใหม่ไปให้เขา เป็นเอกสารชุดเดิมเลย แต่ก็เงียบเหมือนเดิม” เธอเล่านิ่งๆ

“เราตามนะ ตามสองรอบก็แล้ว โทรก็แล้ว ถามเจ้าหน้าที่ เขาบอกให้รอ ก็รอจนถึงตอนนี้แหละ จนลูกจะห้าหกขวบแล้ว”

จริงอยู่ที่การเลี้ยงลูกคนหนึ่งย่อมใช้เงินมากกว่า 600 บาท แต่สำหรับครอบครัวที่มีรายได้ไม่มาก เงินจำนวนนี้ทำให้เด็กๆ ได้กินอิ่ม อยู่อิ่ม มีโอกาสเข้าเรียนมากขึ้น กระทั่งได้รับการรักษาที่ดีขึ้น – อย่างครั้งหนึ่งใบหม่อนป่วยเป็นลำไส้อักเสบตอนอายุ 9 เดือน ต้องนอนโรงพยาบาลอยู่หลายคืน แม่เจี๊ยบก็ใช้เงินอุดหนุนย้อนหลังก้อนนั้นมาช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่าย

ใบหม่อนจึงแข็งแรง มีโอกาสได้ปีนป่าย รวมถึงย้ายมานั่งเล่นขายของกับพี่สาวอยู่ตรงหน้าเราตอนนี้


สารคดีเด็ก


เสียงเจื้อยแจ้วบอกราคาขณะทั้งคู่หยิบยื่นของเล่นในศูนย์ส่งให้กัน เราแซวว่าทั้งคู่คงกำลังเลียนแบบพ่อหรือแม่เวลาทำงาน

แม่เจี๊ยบยิ้มรับ “อยู่บ้านก็เล่นกันแบบนี้แหละ ของเล่นที่บ้านก็หาได้จากของเก่า”

มายมิ้นท์ได้ยินเข้าพอดีจึงส่งเสียงถาม “บางอันแม่ก็ซื้อให้หนูไม่ใช่เหรอ” 

ตอนนั้นคนเป็นแม่ไม่ได้ตอบอะไรกลับไป


2


เด็กวัยขวบกว่าเป็นช่วงเวลาที่ขาเดินได้เริ่มคล่อง แต่อาจเป็นเพราะซนเกินไป แม่บีม เจนจิรา ภัทรโชคชัย จึงต้องอุ้มน้องเบลล์ไว้แนบอกเกือบตลอดเวลา

“ไหว้พี่เขาสิ” คุณแม่วัย 23 ปีบอก หนูน้อยจึงยกมือขึ้นไหว้ปลกๆ แม้ยังไม่รู้ความดี แต่มีมนุษยสัมพันธ์เลิศ ไม่ว่าจะเห็นใครน้องเบลล์ก็ยิ้มกว้างตาใส อวดฟันหน้าสองซี่บนล่างที่เพิ่งขึ้น น่ารักจนคนมองต้องออกปากชม

“คนนี้คนเล็ก” แม่บีมยิ้มรับ “หนูยังมีลูกอีกสองคน คนโต 6 ขวบ คนกลาง 3 ขวบครึ่ง” เธอเสริมว่าลูกคนกลางของเธอก็มาฝากเลี้ยงที่บ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่แห่งนี้แหละ เผอิญสถานเลี้ยงเด็กต้องปิดเนื่องด้วยมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เธอเลยทำได้แค่แวะเวียนมารับของแจกเท่านั้น


เงินอุดหนุน 600 บาท


เช่นเดียวกับครอบครัวก่อนหน้านี้ โควิด-19 ทำร้ายชีวิตแม่ลูกอ่อนอย่างสาหัส เดิมแม่บีมเคยทำงานเป็นแม่บ้านที่โรงยิมออกกำลังกายแห่งหนึ่ง ได้ค่าแรงวันละ 250 บาท มาวันนี้เศรษฐกิจตกต่ำ โรงยิมปิดกิจการ เธอไม่อาจหางานใหม่ได้ เพราะเงื่อนไขสำคัญคือลูกเล็กยังติดนมแม่ ต้องอยู่กับแม่ตลอด และสถานที่ส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้เธอพาน้องเบลล์ไปทำงานด้วยได้เหมือนกับโรงยิมแห่งเก่า

“ตอนนี้เราเลยอยู่บ้านกับลูกสามคน รับหน้าที่ดูแลลูกทั้งหมด” ทำได้เพียงรอเงินจากสามีซึ่งทำงานเป็นช่างตอกเสาเข็มและน้องสาวที่เป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อ เลี้ยงดูครอบครัวทั้งหมด 6 ชีวิตในบ้านเช่าเล็กๆ บริเวณปากซอยรัชดาภิเษก 36

“รายได้ของแฟนก็ไม่ตายตัวหรอก ถ้าได้เยอะก็ 500-600 บาทต่อวัน แต่บางช่วงไม่มีงานเลย อย่างช่วงโควิดก็มีบ้างไม่มีบ้าง วางแผนไม่ได้เลย เดือนหนึ่งเราแทบไม่มีเก็บ เมื่อก่อนเราทำงาน 4 วัน ได้อาทิตย์ละ 1000 บาท ก็ยังพอจุนเจือครอบครัวได้บ้าง พอเราไม่ได้ทำงานก็ขาดรายได้ไปเยอะเหมือนกัน”

เสียงงอแงของน้องเบลล์บนตักแม่บีมพลันดังขึ้น

หนูน้อยร้องไม่เป็นภาษา แต่แม่รู้ว่าลูกจะเอาอะไร เธอถกเสื้อขึ้นให้นม

“เหนื่อย” แม่บีมเปรยขณะมองลูกดูดนมสบายใจ “กว่าจะผ่านไปแต่ละวัน”

เธอคงไม่ได้หมายถึงความเหนื่อยจากการใช้แรงกายและใจอย่างเดียว แต่รวมถึงความกังวลต่ออนาคตที่ไม่แน่นอน ว่าเธอจะเลี้ยงลูกได้ดีแค่ไหนถ้าทุกสิ่งอย่างล้วนต้องใช้เงิน

“เลี้ยงลูกเดือนหนึ่งต้องเสียเงินเกินพัน เพราะนมผงกล่องเดียวก็ 200 กว่าบาท ที่เคยซื้อมาให้ลูกคนกลางกินก็อยู่ได้ไม่ถึงอาทิตย์เพราะต้องกินนมทุกวัน แพมเพิร์สห่อหนึ่ง 300 กว่าบาท อยู่ได้ประมาณ 10 วัน ไหนจะของใช้ของเด็ก ครีมอาบน้ำ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ทุกอย่างต้องซื้อแยกไว้ทำความสะอาดของใช้เด็กโดยเฉพาะ” แม่บีมกล่าว และจากประสบการณ์เลี้ยงลูกสามคนที่ผ่านมา เธอสรุปได้ทันทีว่า “เด็กยิ่งโตยิ่งใช้เงินเยอะ” เพราะแม้ว่าจะเลิกกินนมผง ใช้แพมเพิร์ส แต่ค่าชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน และอื่นๆ ก็จำเป็นต่อเด็กไม่แพ้กัน

ยังดีที่อย่างน้อยครอบครัวของแม่บีมไม่ได้ตกหล่นจากนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ทำให้ลูกคนกลางและคนเล็กได้รับเงินคนละ 600 บาทผ่านการโอนเข้าบัญชีพ่อและแม่ทุกเดือน

“เงิน 600 มันช่วยได้มากนะ โดยเฉพาะยามที่เราไม่มี” แม่บีมยืนยัน กระนั้นเธอก็จำได้ดีว่ากระบวนการต่างๆ ยุ่งยากเพียงใดกว่าจะได้เงินมา เธอไล่เรียงให้เราฟังว่าต้องมีสูติบัตรของเด็ก สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กสีชมพู สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชนผู้ปกครอง ..

“ถ้าลูกคนละคนก็ต้องใช้บัตรประชาชนไม่ซ้ำ อย่างคนเล็กนี่ใช้ของแม่ คนกลางต้องใช้ของพ่อ แล้วก็ต้องไปเปิดบัญชีธนาคาร เมื่อก่อนใช้บัญชีอะไรก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้ต้องใช้แค่ออมสินกับกรุงไทย”

แม่บีมต้องลางานเพื่อนำเอกสารข้างต้นไปติดต่อสำนักงานเขต พร้อมกรอกข้อมูลรายได้ของตนเอง หาคนช่วยรับรองว่าตนมีรายได้ไม่ถึง 100,000 บาทต่อปี โชคดีที่ตอนนั้นเธอมีครูพี่เลี้ยงที่บ้านเด็กอ่อนเสือใหญ่คอยช่วย  

“ถ้าเราอยากได้เงินก็ต้องทำ” แม่บีมว่า

“แต่จะดีกว่าไหมถ้าเด็กคลอดออกมาแล้วได้รับเงินอุดหนุนเลย”

กระบวนการพิสูจน์ความจนที่แม่บีมฝ่าฟันผ่านมาคือปราการที่ทำให้หลายครอบครัวฝ่าด่านไปไม่ถึงสวัสดิการที่ลูกๆ ของพวกเขาสมควรได้รับ บางคนไม่อาจหยุดงานไปยื่นเรื่อง ณ สำนักงานเขต เพราะนั่นเท่ากับการสูญเสียรายได้สำคัญของครอบครัว บางคนเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวซึ่งต้องรอการพักฟื้นหลังคลอดจนแข็งแรง และต้องหาคนรับฝากลูกอ่อนหากต้องเดินทางไปไหนมาไหน

น้องเบลล์อาจจะโชคดีที่แม่บีมสามารถลางานไปลงทะเบียนได้เมื่อเธออายุ 7 เดือน แต่คงไม่ใช่ทุกบ้านที่จะโชคดีแบบเธอ

ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่คุ้นเคยกับการ ‘ตกหล่น’ ก่อนจะตั้งไข่ได้เสียอีก



3


ในปี 2564 ประเทศไทยมีเด็กวัย 0-6 ปีจำนวนราว 4.2 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ มีเพียง 2 ล้านกว่าคนที่ตรงตามเกณฑ์รับเงินอุดหนุนเด็กเล็ก หรือว่ากันง่ายๆ คือเป็นเด็กในครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี จึงจะได้รับเงินช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตร 600 บาทจากรัฐทุกเดือน

แม้นโยบายดังกล่าวจะพัฒนามามากจากจุดตั้งต้นในปี 2558 ที่ให้เงินแค่เด็ก 0-1 ปี 400 บาทสำหรับครัวเรือนรายได้ไม่เกิน 36,000 ต่อคนต่อปี อย่างไรก็ดี จากเรื่องเล่าของครอบครัวใบหม่อน และรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับ Economic and Policy Research Institute (EPRI) พบว่ากว่า 30% ของเด็กยากจนในกลุ่มเป้าหมายยังคงตกหล่นจากสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก  

“การมีกระบวนการคัดเลือก ตั้งเกณฑ์กติกาว่าต้องเป็นคนจน มีรายได้ไม่เกินกำหนด หรือเงื่อนไขแบบระบบราชการ ทำให้มีคนตกหล่นอยู่แล้วโดยอัตโนมัติ มันจึงเป็นกรอบคิดที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น” สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนและหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าสนทนากับเราทางออนไลน์ภายหลังที่ได้ยินเรื่องราวของสองครอบครัว

“เรื่องเกณฑ์รายได้ ไม่ใช่ทุกคนจะได้รับเงินเดือนผ่านระบบทางการ อาชีพในสังคมมีหลากหลายมาก ทั้งวินมอเตอร์ไซค์ คนขับแท็กซี่ คนเก็บขยะ แม้กระทั่งขายของออนไลน์ คนเหล่านี้ไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ชัดเจน และคนจนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานในระบบ เมื่อใช้กรอบคิดนี้ไปจำแนกรายได้จึงเป็นปัญหาใหญ่”

นอกจากนี้ ในกระบวนการลงทะเบียนขอรับเงิน 600 บาท ยังกำหนดให้ต้องมีคนรับรองว่าผู้ลงทะเบียนมีรายได้ไม่เกินเกณฑ์ตามข้อมูลที่แจ้งมา “ช่วงแรกมีการให้กำนันผู้ใหญ่บ้านหรือตัวแทนลงไปดูพื้นที่บ้านเขาเพื่อยืนยันว่าจนจริงด้วยซ้ำ” สุนีว่า

“พูดกันตามธรรมชาตินะ ถ้าเป็นคนไม่รู้จักกันจะกล้าเซ็นรับรองรายได้ให้คนอื่นไหม ไม่ คนจนจึงเสียเปรียบมากตั้งแต่ตอนที่ต้องหาคนมาให้เครดิตเขา”

ยังไม่นับว่าบางคนไม่แม้แต่จะรู้เรื่องสิทธิของลูก และอีกหลายคนทนความล่าช้าของกระบวนการไม่ไหว ยอมออกไปหาเงินเฉพาะหน้าดีกว่าลางานและเสียเงินเดินทางมาลงทะเบียนที่สำนักงานเขต — เด็กชนเผ่าบนดอยเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับกรณีหลัง และเป็นกลุ่มที่ตกหล่นจำนวนมากเสมอมา


สุนี ไชยรส
สุนี ไชยรส

แม้เราอาจมองว่านโยบายเงินอุดหนุนเด็กในครอบครัวยากไร้เป็นการสร้างนโยบายที่เจาะจงเฉพาะกลุ่ม ประหยัดงบประมาณ และมีเจตนาที่ดี แต่นโยบายแบบ ‘สงเคราะห์’ อันเต็มไปด้วยการพิสูจน์ความจนและความอดทนเช่นนี้ กลับสร้างบาดแผลร้าวลึกภายในใจคนได้รับเช่นกัน

“อย่าไปนึกว่าคนจนไม่มีศักดิ์ศรีความเป็นคน” สุนีย้ำด้วยเสียงหนักแน่น “ครอบครัวบางส่วนสะท้อนให้เราฟังว่า มันเหมือนถ้าเขาอยากได้เงินก็ต้องผ่านด่านผู้คนมากมายมาซักไซ้ไล่เรียงชีวิตเขา มันทำให้เขาไม่สบายใจ ทำไมฉันต้องทำขนาดนี้ ต้องตามง้อคนอื่นเพื่อเงิน”

แม้กระทั่งเด็กเล็กเอง ถ้าใครได้รับเงิน 600 บาท ก็เท่ากับแปะป้ายให้เพื่อนๆ รู้ว่าบ้านจน จะมีเด็กสักกี่คนที่มีความสุขกับการถูกตีตราเช่นนี้ –ไม่มี

ตราบใดที่นโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กยังไม่กลายเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานถ้วนหน้า ปัญหาทั้งหมดที่สุนีกล่าวมา จะยังถูกฉายซ้ำให้เห็นในสังคมไทยไปเรื่อยๆ เหมือนอย่างที่เคยเป็นมานานหลายปี


4


เมื่อพูดถึงการตกหล่น คนอาจจะมองเพียงเด็กยากจน 1 ใน 3 ที่เข้าไม่ถึงเงินอุดหนุน 600 บาท แต่สำหรับสุนีแล้ว คำว่า ‘ตกหล่น’ ของเธอครอบคลุมถึงเด็กอีก 2 ล้านกว่าคนที่ไม่เคยถูกรัฐพิจารณาว่าควรได้เงินก้อนนั้นเลย

“นโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า หมายถึงการให้อย่างถ้วนหน้าจริงๆ ไม่จำกัดเรื่องรายได้ เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ไม่ว่าเด็กจะอยู่ในสถานะไหนก็ควรได้รับ”

ไม่ว่าเด็กจะรวยหรือจน มีผู้ปกครองหรือเป็นกำพร้าอยู่ในสถานเลี้ยงเด็ก มีพ่อแม่อยู่ในระบบราชการหรืออยู่ในเรือนจำ ทุกคนต้องได้รับเงินจำนวนนี้ในบัญชีทุกเดือนตั้งแต่เกิดจนอายุครบ 6 ขวบ

“ไม่ใช่อ้างว่ารวยแล้วไม่ต้องได้ เราต้องยอมรับความสำคัญของเด็ก ยอมรับว่าต้องมีสวัสดิการสังคม และทุกคนล้วนเสียภาษีไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

“ไม่ใช่อ้างว่าลูกจ้างราชการมีสวัสดิการแล้ว เด็กในสถานเลี้ยงเด็กได้รับการดูแลจากรัฐแล้ว เพียงเพราะมีข้าวสามมื้อ มีที่ซุกหัวนอน เงินทั้งหมดเป็นสิทธิของเขา เปิดบัญชี ฝากเงินให้เขา เพื่อที่วันหนึ่งเขาจะโตขึ้นและมีโอกาสได้ใช้เงินนี้สร้างอนาคตของตัวเอง” 

การมอบเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้าจะช่วยลดปัญหาเด็กตกหล่นจากสวัสดิการ เพราะใช้ข้อมูลการแจ้งเกิดจากโรงพยาบาลในพื้นที่ ทำให้ตรวจสอบได้ง่าย ดำเนินการรวดเร็ว ประหยัดต้นทุน มีผลพลอยได้เป็นการลดภาระงานเจ้าหน้าที่ด่านหน้าซึ่งคอยรับลงทะเบียน ยิ่งไปกว่านั้น สุนียังมองไกลถึงการสร้างฐานข้อมูลของเด็กที่สามารถติดตามได้ว่าประชากรเด็กเล็กของเรามีความเป็นอยู่อย่างไร ได้เข้าโรงเรียนหรือยัง

“ถ้าเรื่องนี้มีการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยจัดการชุมชนของตัวเองด้วย มันจะพัฒนาไปได้เร็วมาก”


เด็กเล็ก


ฟังมาถึงตรงนี้ เรานึกถึงหนึ่งในคำถามที่มักได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่าถ้าให้เงินเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า จะมั่นใจได้อย่างไรว่าผู้ปกครองจะนำไปใช้เพื่อเด็กจริงๆ -–พอคิดขึ้นได้จึงถามออกไป

สุนีหัวเราะ

“ยุคแรกๆ ที่มีนโยบายให้เงินไป คนวิจารณ์กันหนักมากว่าแม่ใช้เงินไม่เป็น เอาเงินไปซื้อของฟุ่มเฟือย” เธอเล่า “บางคนเห็นแม่เอาเงินไปซื้อขนมเค้กวันเกิดให้ลูก ก็ว่ากันเป็นเรื่องใหญ่มาก หารู้ไม่ว่าการใช้เงินก้อนเล็กๆ ก้อนนี้ซื้ออะไรที่พิเศษสักหน่อยให้ลูก ก็ถือเป็นการทำเพื่อลูกเหมือนกัน ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน”

บางทีเงิน 600 บาทไม่ได้พลิกชีวิตเด็กจากหน้ามือเป็นหลังมือหรอก สุนีนิยามว่ามันเปรียบเสมือน ‘กำลังใจ’ ที่ทำให้ผู้ปกครองรู้สึกว่าได้รับแรงสนับสนุนบางอย่างจากภาครัฐ จากสังคม โดยเฉพาะครอบครัวยากไร้ มันเป็นเงินก้อนหนึ่งที่เพิ่มความอุ่นใจในการเลี้ยงดูบุตรหลานมากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้นเอง

“ไม่ต้องกลัวว่าบ้านเขาจะเอาเงิน 600 ไปใช้อะไรไม่เข้าท่า เด็กแต่ละคนอยู่ในสถานการณ์ต่างกัน มีความต้องการต่างกัน เราต้องเคารพการตัดสินใจ เชื่อใจผู้ปกครอง เพราะเขาเป็นคนรู้ดีที่สุดว่าลูกหลานตัวเองต้องการอะไร”

เราหวนนึกถึงครอบครัวของแม่เจี๊ยบ บางทีถ้าแม่ได้เงินอุดหนุน เธออาจจะเลือกซื้อของเล่นดีๆ สักชิ้นให้มายมิ้นท์กับใบหม่อนเป็นของขวัญก็ได้

และนั่นก็ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหนเลย



5   


น้องเบลล์กินนมอิ่มแล้ว เธอไถลตัวหนีจากอ้อมกอดของแม่บีมเพราะอยากออกไปวิ่งเล่น ปีนป่าย

เท้าเล็กๆ ดูไม่มั่นคงนักเมื่อแรกย่างเหยียบพื้น แต่ไม่นานก็ทรงตัวได้

ไม่ช้า เธอก็เริ่มออกวิ่ง

แม้ในวันนี้ โลกที่เธอมีโอกาสสำรวจจะเป็นแค่พื้นที่ใต้อาคารสถานเลี้ยงเด็ก แต่สักวัน เธอจะได้ก้าวออกมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมกว้างใหญ่ การลงทุนในกลุ่มเด็กเล็กจะทำให้ย่างก้าวของน้องเบลล์และเด็กอีกหลายล้านคนมั่นคงแข็งแรง พร้อมเติบโตไปเป็นรากฐานสำคัญของประเทศที่ต้องเผชิญสภาพสังคมสูงวัย

ปัจจุบันหลักการและแนวทางการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าผ่านมติเห็นชอบของคณะกรรมส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) มาแล้วถึง 2 ครั้ง ขั้นสุดท้ายคือรอการจัดสรรเงินในปีงบประมาณ 2565 จากสภา — หลังจากทำงานขับเคลื่อนมาอย่างแข็งขัน เดิมสุนีและคณะทำงานวางแผนว่าปีหน้าเราคงจะได้เห็นสวัสดิการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

แต่สุดท้าย จากข้อมูลการจัดสรรงบประมาณที่เปิดเผยออกมา ไม่พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงเรื่องงบเงินอุดหนุนเด็กเล็กแต่อย่างใด

องค์กรภาคประชาสังคม สื่อมวลชน รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนพยายามติดตามทวงถามถึงการจัดสรรงบแก่เด็กเล็กถ้วนหน้า เพราะที่ผ่านมาชัดเจนว่าได้ทำตามกระบวนการเสนอนโยบายทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว และเงินที่ใช้อุดหนุนเด็ก 0-6 ปี จำนวน 4.2 ล้านกว่าคนทั่วประเทศ คิดเป็นเงิน 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากงบประมาณเงินอุดหนุนเดิมราว 1.28 หมื่นล้าน หากเทียบกับงบกระทรวงกลาโหม 2.03 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2565 ก็ถือว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่ไม่เหนือบ่ากว่าแรง

ยิ่งสถานการณ์โควิดในตอนนี้ทำให้หลายครอบครัวต้องตกงาน เด็กเล็กหลายคนขาดแคลนนมและอาหาร ออกนอกระบบการศึกษา กระทั่งสูญเสียพ่อแม่ไปเพราะโรคระบาดจนกลายเป็นกำพร้า

สำหรับเด็กๆ แล้ว โลกที่พวกเขาเห็น โลกที่พวกเขาเคยรู้จัก อาจถูกโรคระบาดเปลี่ยนมันไปตลอดกาล

แต่หน้าที่ของผู้ใหญ่ คือการสร้างโลกที่ไม่มีเด็กคนไหนร่วงหล่นจนมิอาจก้าวเดินต่อ มิใช่หรือ?


บทความที่เกี่ยวข้อง

ตรวจความ(ไม่)พร้อมเลี้ยงดูเด็กเล็กของครัวเรือนไทย ผ่านข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม

คิด for คิดส์ ชวนสำรวจความ(ไม่)พร้อมดูแลเด็กเล็กของครัวเรือนไทย ผ่านข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2566

ถ้าได้เงินล้าน เยาวชนอายุ 16-20 ปีอยากใช้ทำอะไร?: ข้อมูลจากผลสำรวจ คิด for คิดส์

ถ้าได้เงินล้าน เยาวชนอายุ 16-20 ปีอยากใช้ทำอะไร?: ข้อมูลจากผลสำรวจ คิด for คิดส์

คิด for คิดส์ ชวนสำรวจว่าเยาวชนอายุ 16-20 ปีฝันอยากทำอะไร ถ้าได้เงินมาหนึ่งล้านบาท ผ่านผลสำรวจเยาวชน 2025 ตอบข้อวิจารณ์ต่อการใช้เงินของเด็กไทย ก่อนรัฐบาลเดินหน้าแจกเงินหมื่นระยะ 3

“รัฐธรรมนูญไม่ใช่แค่เรื่องของนักกฎหมาย”: ถึงเวลาตีโจทย์รัฐธรรมนูญใหม่จากความฝันของเยาวชน-ประชาชน

“รัฐธรรมนูญไม่ใช่แค่เรื่องของนักกฎหมาย”: ถึงเวลาตีโจทย์รัฐธรรมนูญใหม่จากความฝันของเยาวชน-ประชาชน

คิด for คิดส์ ชวน ประภาส ปิ่นตบแต่ง, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, อิสร์กุล อุณหเกตุ แลกเปลี่ยนถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญและโอกาสจากการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในการเติมเต็มความฝันของเยาวชน-ประชาชนไทย

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2025 kidforkids.org | All rights reserved.