พลวัตครอบครัวในสังคมไทยในสถานการณ์โควิด–19

บทคัดย่อ

โครงการวิจัย พลวัตครอบครัวในสังคมไทยในสถานการณ์โควิด–19: การปรับตัวของครัวเรือนเปราะบาง และข้อเสนอเชิงนโยบายด้านเด็กและครอบครัว มุ่งศึกษาความซับซ้อนของครอบครัวที่มีความเปราะบางในสังคมไทยผ่านการศึกษาครอบครัวในสังคมไทยรูปแบบต่างๆ รวมถึงครอบครัวของแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยโดยเน้นที่ครอบครัวที่ไม่เป็นไปตามนิยามของครอบครัวสมบูรณ์ เช่น เป็นครอบครัวแหว่งกลาง ครอบครัวพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว หรือแม้กระทั่งเป็นครอบครัวไร้นิยามที่อาจเป็นการอยู่ร่วมกันของคนที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเลย รวมถึงยังมีความเปราะบางไม่ว่าจะทางร่างกาย จิตใจ ฐานะทางเศรษฐกิจ และเปราะบางเพราะอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ (เช่น กลุ่มแรงงานข้ามชาติ) รวมถึงถูกตีตราจากสังคม (เช่นผู้มีอดีตเป็นผู้ต้องขัง) ซึ่งความเปราะบางเหล่านี้สามารถทับซ้อนกันในระดับปัจเจกบุคคลหรือในระดับครอบครัวได้ ทั้งนี้ ผู้วิจัยเลือกกรณีศึกษาผ่านพื้นที่ภาคสนามใน 5 พื้นที่ พื้นที่ละ 7-14 ครอบครัว ได้แก่ 1) ครอบครัวม้งสัญชาติไทยในอำเภอชาติตระการ และครอบครัวในพื้นที่ชายขอบของอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 2) ครอบครัวในหมู่บ้านในอำเภอหนองวัวซอ และอำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี 3) ครอบครัวในหมู่บ้านในอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง 4) ครอบครัวแรงงานข้ามชาติในเทศบาลเมือง จังหวัดเชียงราย 5) ครอบครัวแรงงานข้ามชาติในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ข้อค้นพบจากงานภาคสนามของงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนและความไม่สมบูรณ์ (dysfunction) ของคนที่อยู่ร่วมในชายคาเดียวกันและสะท้อนลักษณะของครอบครัวที่ ไม่สามารถให้คำจำกัดความได้ว่าเป็นแบบใดแบบหนึ่งและสภาพนั้นๆ ไม่ได้คงอยู่ตลอดเวลา หากแต่มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เช่น ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการย้ายถิ่นกลับภูมิลาเนาของสมาชิกในครอบครัว แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายก็มีการย้ายไปทำงานถิ่นอื่นต่อ หรือบางครัวเรือนไม่ได้มีการย้ายถิ่น แต่เมื่อเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สมาชิกในครัวเรือนตัดสินใจย้ายไปทำงานต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลภาคสนามสะท้อนให้เห็นพลวัตครอบครัวที่บางช่วงเวลาอาจมีหลายลักษณะทับซ้อนกันด้วย เช่น เป็นครอบครัวแหว่งกลางที่มีการหย่าร้างโดยผู้หาเลี้ยงครอบครัวเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ส่งเงินให้กับปู่ย่าตายาย หรือเป็นครอบครัวพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยวชั่วขณะแล้วไปสร้างครอบครัวใหม่ เป็นต้น ลักษณะของครอบครัวจึงขึ้นอยู่กับการให้คำนิยามและช่วงเวลาในการเก็บข้อมูลว่าครอบครัวนั้นอยู่ในสถานการณ์ใด นอกจากนี้ คำนิยามของครอบครัวแหว่งกลางโดยมากจะหมายความถึงครอบครัวที่พ่อแม่ย้ายไปทำงานถิ่นอื่น แต่เด็กอาศัยกับปู่ย่าตาตาย แต่งานวิจัยนี้พบว่ายังมีความแหว่งกลางเกิดขึ้นอีกหลายลักษณะ เช่น พ่อหรือแม่ต้องคดีอาชญากรรมทำให้ต้องถูกจำคุก ติดยาเสพติดเรื้อรัง และติดพนัน เป็นต้น ที่ทำให้พ่อแม่ของเด็กไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้

ครอบครัวเปราะบาง ที่พบในการศึกษาภาคสนามของงานวิจัยนี้มักจะมีสมาชิกที่มี ความเปราะบางทางร่างกายและจิตใจ เช่น มีอาการป่วยเป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องอย่างโรคมะเร็งหรือมีอาการป่วยทางจิต และยังมีความเปราะบางจากอัตลักษณ์และสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคม เช่น ความยากจน และการเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายทาให้ถูกเลือกปฏิบัติและเข้าไม่ถึงสวัสดิการรวมถึงการดำรงชีพในมาตรฐานเดียวกับคนอื่นๆ ในสังคม ความเปราะบางดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่โควิด-19 จะแพร่ระบาดและดำรงอยู่มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ดังนั้นเมื่อเกิดการแพร่ระบาด ครัวเรือนเปราะบางเหล่านี้จึงยิ่งทวีความเปราะบางในเรื่องการหารายได้เลี้ยงชีพและการดารงชีวิตที่จะป้องกันตนเองและครอบครัวให้รอดพ้นจากการติดต่อของโรค เด็กในครอบครัวเปราะบางนอกจากจะเผชิญกับภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (learning loss) มีอุปกรณ์การเรียนไม่เพียงพอในช่วงของการเรียนออนไลน์ โรงเรียนปิด เด็กในพื้นที่ต่างจังหวัดขาดการเข้าถึงการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ มีมาตรฐาน และขาดการติดตามตรวจสอบ การที่มีผู้ดูแลที่เป็นคนรุ่นปู่ ย่า ตายาย ที่อายุมาก มีโรคประจำตัว และมีรายได้ไม่เพียงพอทำให้ขาดการเตรียมพร้อมและการดูแลในชีวิตประจาวัน เช่น ไม่มีคนไปส่งเด็กไปโรงเรียนเพราะปู่ย่าตายายมีร่างกายไม่พร้อม พ่อแม่ทำงานรับจ้างทาให้ต้องเข้า-ออกงานตามเวลา สภาพที่อยู่อาศัยทำให้เด็กไปโรงเรียนไม่ได้เพราะน้ำท่วมบ้านในช่วงฝนตก ข้อค้นพบเหล่านี้สะท้อนว่าโควิด-19 ไม่ใช่ตัวแปรที่ทำให้เกิดปัญหาการดูแลเด็กอย่างมีนัยสำคัญ แต่ปัญหาการขาดการดูแลเกิดขึ้นก่อนอย่างต่อเนื่องจากความเปราะบางทับซ้อนของสมาชิกในครอบครัว หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เด็กในครอบครัวเหล่านี้บางคนต้องมาโรงเรียนทั้งที่มีสมาชิกในครอบครัวติดโควิดเพราะไม่มีคนดูแล ส่วนโรงเรียนต้องรับภาระหนักในการคัดกรองเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงแล้วมาโรงเรียนรายวัน ส่งผลกระทบต่อการจัดการการเรียนการสอนและคุณภาพของการเรียนที่มีต่อการเรียนรู้

ในส่วนของครอบครัวแรงงานข้ามชาติเมียนมา งานวิจัยนี้พบว่าปัญหาความเปราะบางและการเข้าถึงสวัสดิการผูกพันกับสถานะความเป็นพลเมือง หากแรงงานมีความพิการทางกายจนทำงานไม่ได้ จะถูกกันออกจากการคุ้มครองโดยกฎหมายสวัสดิการแรงงาน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ยากลาบากเนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ทำงานมีครอบครัวอยู่ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน รวมถึงสถานการณ์ในเมียนมาทำให้การอพยพกลับประเทศต้นทางเป็นไปได้ยาก และแม้รัฐไทยจะปฏิบัติตามนโยบายการให้การศึกษากับเด็กทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ แต่ก็ยังพบปัญหาการเข้าไม่ถึงการศึกษาของเด็กกลุ่มนี้หากพ่อหรือแม่ของเด็กไม่มีสถานะทางกฎหมายหรือเข้าเมืองผิดกฎหมาย

ในส่วนสุดท้าย โครงการนี้ทดลองนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการและการดูแลโดยสังเคราะห์จากข้อมูลภาคสนามดังกล่าว โดยเน้นการประสานความร่วมมือของผู้มีบทบาทสำคัญๆ เช่น รัฐ ชุมชน และภาคเอกชน เริ่มจากการสร้างฐานข้อมูลที่จะนาไปใช้ในการทำงานเชิงรุกโดยสำรวจในเชิงพื้นที่เพื่อทราบปัญหาในระดับล่างและสภาพของแต่ละครอบครัวอย่างแท้จริง การลดความซับซ้อนของภาคราชการในเรื่องภาระหน้าที่และระเบียบกฎเกณฑ์ รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาและสาธารณสุขเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชน ผลการวิจัยและข้อเสนอแนะของโครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องจะนำไปสร้างนโยบายเพื่อการพัฒนาสวัสดิการและการดูแลในสังคม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การสังเคราะห์ชุดนโยบายสุขภาพจิตของประชากรชาวไทยภายใต้บริบทหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

คิด ฟอร์ คิดส์ ชวนสำรวจชุดนโยบายสุขภาพจิตฉบับ ‘คิดใหม่ ทำใหม่’ ที่มุ่งถอดรหัสอุปสรรคในการดูแลสุขภาพใจของประชากรไทย และมอบวิธีแก้ไขที่ตรงจุด

คิดใหม่การเมืองเรื่อง ‘รุ่น’ กรณีศึกษาความขัดแย้งในครอบครัวไทย

คิด ฟอร์ คิดส์ ชวนสำรวจปมปัญหาความขัดแย้งระหว่าง ‘รุ่น’ ในสังคมไทย พร้อมชวนตั้งคำถามว่า สังคมไทยจะก้าวพ้น ‘ความขัดแย้งระหว่างคนต่างรุ่น’ ได้อย่างไรบ้าง?

ระบบสวัสดิการเด็กเล็กเพื่ออนาคต

คิด ฟอร์ คิดส์ ชวนมองหาช่องโหว่ใน ‘นโยบายสวัสดิการเด็กเล็ก’ เพื่อสกัดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ผ่านงานวิจัย ‘ระบบสวัสดิการเด็กเล็กเพื่ออนาคต’ ที่มุ่งตอบคำถามว่าเหตุใดไทยยังไม่สามารถพัฒนานโยบายนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2024 kidforkids.org | All rights reserved.