Notice: Function _load_textdomain_just_in_time was called incorrectly. Translation loading for the ultimate-addons-for-gutenberg domain was triggered too early. This is usually an indicator for some code in the plugin or theme running too early. Translations should be loaded at the init action or later. Please see Debugging in WordPress for more information. (This message was added in version 6.7.0.) in /sites/kidforkids.org/wordpress/wp-includes/functions.php on line 6114

Notice: Function _load_textdomain_just_in_time was called incorrectly. Translation loading for the wordpress-seo domain was triggered too early. This is usually an indicator for some code in the plugin or theme running too early. Translations should be loaded at the init action or later. Please see Debugging in WordPress for more information. (This message was added in version 6.7.0.) in /sites/kidforkids.org/wordpress/wp-includes/functions.php on line 6114
เปิดสถิติเรียนพิเศษนักเรียนไทย: เมื่อโรงเรียนไม่อาจพาเด็กไปถึงฝั่ง - คิด for คิดส์

เปิดสถิติเรียนพิเศษนักเรียนไทย: เมื่อโรงเรียนไม่อาจพาเด็กไปถึงฝั่ง

เมื่อพูดถึงการเรียน ภาพจำของเราส่วนใหญ่คงนึกถึงการไปเรียนในโรงเรียน อย่างไรก็ดี เมื่อถึงเวลาเลิกเรียนแล้ว ก็ใช่ว่าเด็กนักเรียนทุกคนจะได้กลับบ้านหรือทำกิจกรรมของตนเอง เพราะยังมีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ต้องไปเรียนพิเศษเพิ่มนอกห้องเรียน และยังอาจต้องไปเรียนเพิ่มเติมในวันเสาร์-อาทิตย์อีกด้วย

พฤติกรรมการเรียนพิเศษควบคู่ไปกับการศึกษาในระบบไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเพียงที่เดียวเท่านั้น เด็กนักเรียนในหลายประเทศทั่วโลกก็มีการเรียนพิเศษเช่นกัน หากแต่สัดส่วนการเรียนพิเศษในประเทศแทบเอเชียนั้นสูงกว่าภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฮ่องกง[1]Baker, David P., Akiba, Motoko, LeTendre, Gerald K., and Wiseman, Alexander W. “Worldwide Shadow Education: Outside-School Learning, Institutional Quality of Schooling, and Cross-National … Continue reading

แม้ว่าการเรียนพิเศษเพิ่มตามโรงเรียนกวดวิชานั้นมีมาอย่างยาวนาน อีกทั้งดูเหมือนจะเป็นเรื่องชินตาสำหรับสังคมไทย แต่สาเหตุที่เด็กไทยเรียนพิเศษกลับมีคำตอบที่หลากหลายตั้งแต่ เรียนในห้องเรียนไม่ค่อยเข้าใจ เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้มากขึ้น เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย[2]“ชีวิตเด็ก ม.ปลาย สู่รั้วมหาวิทยาลัย,” ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ … Continue reading ไปจนถึงเพราะระบบการศึกษาไทยไม่ตอบโจทย์เด็กนักเรียน[3]“‘โรงเรียนกวดวิชา’ … Continue reading

เพื่อให้เข้าใจโลกของการเรียนพิเศษได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ศูนย์ความรู้และนโยบายเด็ก (คิด for คิดส์) โดย 101 PUB และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงชวนสำรวจสถิติการเรียนพิเศษของนักเรียนไทย จำนวน 12,999 คน จากข้อมูลการสำรวจเยาวชนไทย 2022 (Youth Survey 2022) ที่มุ่งสำรวจความรับรู้ คุณค่า และทัศนคติของเยาวชนไทย ซึ่งรวมไปถึงประเด็นด้านการศึกษาและการเรียนพิเศษ

นักเรียนไทย 1 ใน 3 ทุ่มทรัพยากรเพื่อเรียนพิเศษ

เมื่อดูสัดส่วนการเรียนพิเศษของเด็กนักเรียนในประเทศไทยจากผลสำรวจเยาวชน 2022 พบว่าร้อยละ 35.1 ของเด็กนักเรียนอายุ 15-18 ปี ทั้งหมดในประเทศไทยเรียนพิเศษเพิ่มเติมจากการศึกษาในระบบ เมื่อแยกกลุ่มรายพื้นที่ พบว่ากลุ่มที่มีนักเรียนเรียนพิเศษเยอะที่สุดไม่ใช่กลุ่มนักเรียนที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (19.5%) แต่เป็นกลุ่มนักเรียนที่อยู่นอกเมือง (35.6%) และในอำเภอเมือง (33.9%) ตามลำดับ

นอกจากนี้ เมื่อจำแนกกลุ่มเด็กนักเรียนตามระดับเป้าหมายที่ตนต้องการศึกษา พบว่ากลุ่มเด็กนักเรียนที่อยากเข้ามหาวิทยาลัยมีแนวโน้มที่จะเรียนพิเศษสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้อยากศึกษาต่อราว 7.1%

อย่างไรก็ดี แม้ว่ากลุ่มเด็กนักเรียนที่ไม่ได้ต้องการเข้ามหาวิทยาลัยจะมีสัดส่วนการเรียนพิเศษที่น้อยกว่า แต่ตัวเลขสัดส่วนนี้ก็ยังสูงสำหรับทุกพื้นที่ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเด็กนักเรียนที่เรียนพิเศษไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มที่ต้องการเสริมความรู้เพื่อให้สามารถสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยได้เพียงเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มที่เรียนพิเศษเพื่อช่วยให้ตนเรียนตามทันการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ กล่าวคือ โรงเรียนไม่อาจช่วยสอนให้พวกเขาเข้าใจได้ จึงต้องพึ่งพาการเรียนพิเศษ

1 ใน 3 ของเด็กนักเรียนไทยเหล่านี้ ต่างทุ่มเททรัพยากรที่ตนมีเพื่อการเรียนพิเศษ โดยทรัพยากรที่ใช้เพื่อเรียนพิเศษมีความแตกต่างกันตามระดับรายได้ครัวเรือนของเด็กนักเรียนที่แตกต่างกันไป

เด็กนักเรียนต่างระดับรายได้ครัวเรือนต่างมีทรัพยากรไม่เท่ากัน โดยเด็กนักเรียนครัวเรือนยากจน แม้จะมีทรัพยากรด้านเงินที่ไม่มากนัก เพราะมีค่าใช้จ่ายด้านการเรียนพิเศษโดยเฉลี่ยเพียงประมาณ 6,000 บาทต่อปี แต่เด็กนักเรียนกลุ่มนี้ก็ทุ่มเททรัพยากรด้านเวลาเพื่อเรียนพิเศษมากกว่ากลุ่มอื่น โดยใช้เวลาเรียนพิเศษโดยเฉลี่ย 11-12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ แม้จำนวนเงินค่าเรียนพิเศษและค่าเล่าเรียนรวมของเด็กกลุ่มนี้จะเป็นจำนวนที่น้อย แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ครัวเรือนแล้ว เด็กนักเรียนกลุ่มนี้มีภาระค่าเล่าเรียนที่สูงมาก (ราว 6% ของรายได้ครัวเรือน)

สำหรับเด็กนักเรียนครัวเรือนร่ำรวยที่เรียนพิเศษ แม้พวกเขาจะใช้เวลาเรียนพิเศษน้อยกว่าเล็กน้อย แต่ก็ใช้จ่ายเงินเพื่อเรียนพิเศษมากที่สุด โดยกลุ่มเด็กนักเรียนครัวเรือนร่ำรวยมีค่าเรียนพิเศษโดยเฉลี่ยราว 20,000-22,000 บาทต่อปี อย่างไรก็ดี เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ครัวเรือนแล้ว ค่าเรียนพิเศษและค่าเล่าเรียนที่สูงนี้กลับคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากต่อรายได้ครัวเรือน (ภาพที่ 1)

นอกจากนี้ เมื่อคำนวณค่าเล่าเรียน[4]ค่าเล่าเรียน ได้แก่ ค่าเรียนในระบบและค่าเรียนพิเศษของกลุ่มเด็กนักเรียนที่เรียนพิเศษเหล่านี้ ก็ยังพบว่าค่าใช้จ่ายระหว่างนักเรียนครัวเรือนยากจนและครัวเรือนร่ำรวยมีแนวโน้มที่เหมือนกับค่าเรียนพิเศษ โดยนักเรียนครัวเรือนยากจนสุดมีค่าเล่าเรียนโดยเฉลี่ยราว 20,000 บาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 19.4% ของรายได้ครัวเรือน ขณะที่เด็กนักเรียนครัวเรือนร่ำรวยสุดมีค่าเล่าเรียนรวมโดยเฉลี่ยราว 45,000 บาทต่อปี แต่คิดเป็นเพียง 5.0% ของรายได้ครัวเรือนเท่านั้น

ภาพที่ 1: สถิติการเรียนพิเศษของเด็กนักเรียนไทย
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

จะพึ่งพาการศึกษาในระบบได้อย่างไร ในเมื่อโรงเรียนยังไม่พร้อม

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่ายังมีเด็กนักเรียนไทยเป็นสัดส่วนไม่น้อยที่อาจเรียนพิเศษเพราะการเรียนการสอนในโรงเรียนไม่อาจช่วยให้พวกเขาเข้าใจได้ หนึ่งในสาเหตุนี้ อาจเป็นเพราะโรงเรียนขาดบุคลากรและทรัพยากรที่มีคุณภาพเพียงพอสำหรับการเรียนการสอนที่ดี

จากผลสำรวจเยาวชน พบว่าเด็กนักเรียนไทยอายุ 15-18 ปี จำนวนไม่น้อยเคยเผชิญปัญหาต่างๆ ในสถานศึกษา ทั้งปัญหาด้านบุคลากร อาทิ ครูไม่เปิดกว้างต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง ครูไม่มีเวลาหรือไม่ใส่ใจที่จะสอน และครูไม่มีความรู้ในเรื่องที่สอน และปัญหาด้านทรัพยากร เช่น สื่อการสอนล้าสมัย คอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอ ห้องสมุดหรือหนังสือไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ เมื่อแยกกลุ่มเด็กนักเรียนตามพื้นที่ พบว่ากลุ่มเด็กนักเรียนที่เรียนอยู่ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาทั้งด้านบุคลากรและทรัพยากรน้อยกว่ากลุ่มอื่น (ภาพที่ 2)          

ทั้งปัญหาด้านบุคลากรและทรัพยากรในโรงเรียนที่เด็กนักเรียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเคยเผชิญน้อยกว่ากลุ่มอื่น จึงอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กนักเรียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พึ่งพาการเรียนพิเศษน้อยกว่านักเรียนในพื้นที่อื่น ในทางตรงข้าม กลุ่มที่เรียนพิเศษมากก็อาจเป็นเพราะโรงเรียนในพื้นที่เหล่านั้นมีแนวโน้มยังไม่พร้อมที่จะให้การเรียนการสอนที่มีคุณภาพแก่เด็กนักเรียนได้

ภาพที่ 2: สัดส่วนเด็กนักเรียนไทยที่เคยพบเจอปัญหาในสถานศึกษา
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

นอกจากนี้ กลุ่มเยาวชนที่เคยเรียนในโรงเรียนที่มีปัญหา ยิ่งเห็นว่าการศึกษาในระบบช่วยพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล (MIDL) และทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ได้ต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่เคยเผชิญปัญหาเหล่านี้

กลุ่มเยาวชนที่กำลังเรียนหรือเคยเรียนในโรงเรียนที่มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอเห็นว่าโรงเรียนช่วยพัฒนาทักษะด้าน MIDL ให้พวกเขาได้ต่ำ เพราะให้คะแนนว่าโรงเรียนช่วยพัฒนา ‘ทักษะการใช้งานคอมพิวเตอร์/ดิจิทัล’ และ ‘ทักษะการประเมินความน่าเชื่อถือข้อมูล’ โดยเฉลี่ยที่ 3.0 สำหรับทั้งคู่ ซึ่งต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่เคยเผชิญปัญหานี้ที่ให้คะแนนโดยเฉลี่ย 3.2 และ 3.1 ตามลำดับ โดย 0 หมายถึงน้อยที่สุด ส่วน 5 หมายถึงมากที่สุด (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 3: ผลการประเมินความสามารถของโรงเรียนในการช่วยพัฒนาทักษะด้าน MIDL จากเยาวชนไทย
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

ในทำนองเดียวกัน กลุ่มเยาวชนที่เคยเจอครูไม่เปิดกว้างทางความคิดหรือสื่อการสอนล้าสมัยนั้นเห็นว่าโรงเรียนช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่ได้ต่ำ โดยกลุ่มที่กำลังเรียนหรือเคยเรียนกับครูที่ไม่เปิดกว้างทางความคิด ให้คะแนนว่าโรงเรียนช่วยพัฒนา ‘ทักษะการคิดริเริ่มสร้างสรรค์’ ‘ทักษะการอยู่ร่วมกับคนต่างวัฒนธรรม’ และ ‘ทักษะการตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ และระบอบการเมือง’ โดยเฉลี่ยที่ 2.9, 2.9 และ 2.7 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่เคยเผชิญปัญหานี้ที่ให้คะแนนโดยเฉลี่ย 3.1, 3.0 และ 2.9 ตามลำดับ โดย 0 หมายถึงน้อยที่สุด ส่วน 5 หมายถึงมากที่สุด

ขณะที่กลุ่มเยาวชนที่กำลังเรียนหรือเคยเรียนในโรงเรียนที่ใช้สื่อการสอนล้าสมัย ให้คะแนนว่าโรงเรียนช่วยพัฒนา ‘ทักษะการเงินและการลงทุน’ โดยเฉลี่ยที่ 2.2 ในขณะที่กลุ่มที่ไม่เคยเผชิญปัญหานี้ที่ให้คะแนนโดยเฉลี่ย 2.8 โดย 0 หมายถึงน้อยที่สุด ส่วน 5 หมายถึงมากที่สุด (ภาพที่ 4)

ภาพที่ 4: ผลการประเมินความสามารถของโรงเรียนในการช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่ จากเยาวชนไทย
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

ทั้งความไม่พร้อมของโรงเรียนและความคาดหวังที่จะเรียนต่อเป็นปัจจัยที่ทำให้นักเรียนเลือกเรียนพิเศษเพิ่ม

การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นช่วยให้เห็นว่าการเรียนพิเศษอาจมีปัจจัยส่งหลายด้าน ทั้งความต้องการศึกษาต่อในระดับสูง ความไม่พร้อมของสถานศึกษา การไม่ได้รับการฝึกฝนทักษะที่จำเป็น ยังอาจมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยเชิงพื้นที่และสถานะของครัวเรือน ซึ่งหลายปัจจัยมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ซึ่งเราอาจไม่สามารถเข้าใจได้ว่าปัจจัยใดมีผลมากน้อยต่างกันอย่างไร หรือแท้จริงแล้วมีปัจจัยได้บ้างที่ไม่มีผล ดังนั้น เพื่อให้คำตอบของคำถามนี้ชัดเจนมากขึ้น คิด for คิดส์ จึงใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติเพื่อประเมินหาปัจจัยที่ส่งผลต่อความน่าจะเป็นในการเลือกเรียนพิเศษของเด็กนักเรียนไทย[5]แบบจำลองทางเศรษฐมิติดังกล่าว คือ logistic regression ซึ่งผลกระทบของปัจจัยต่างๆ … Continue reading

ผลลัพธ์จากแบบจำลองทางเศรษฐมิติชี้ให้เห็นว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กนักเรียนไทยต้องเรียนพิเศษไม่ได้มีเพียงมิติเดียว หากแต่มีหลากหลายมิติด้วยกัน ได้แก่ คุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน ความต้องการของเด็กนักเรียน นอกจากนี้ พื้นที่ของเด็กนักเรียนก็ยังส่งผลต่อความน่าจะเป็นในการเรียนพิเศษด้วยเช่นกัน

เมื่อเด็กนักเรียนเจอโรงเรียนที่ให้การเรียนการสอนที่ไร้คุณภาพ พวกเขาก็จำต้องพึ่งการเรียนการสอนนอกระบบมากขึ้น โดยแบบจำลองชี้ว่าหากเด็กนักเรียนเรียนในโรงเรียนที่มีห้องสมุดหรือหนังสือไม่เพียงพอ หรือหากเด็กนักเรียนเจอครูที่ไม่มีความรู้ในเรื่องที่สอน ความน่าจะเป็นที่เด็กจะเลือกเรียนพิเศษจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติราว 2.7% และ 4.3% ตามลำดับ

นอกจากคุณภาพการเรียนการสอนของการศึกษาในระบบแล้ว ความต้องการของเด็กนักเรียน ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความน่าจะเป็นในการเลือกเรียนพิเศษ โดยแบบจำลองชี้ให้เห็นว่า หากเด็กนักเรียนมีความต้องการที่จะเรียนต่อระดับปริญญาตรีขึ้นไป ความน่าจะเป็นที่เด็กจะเลือกเรียนพิเศษจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติถึง 5.2%

ปัจจัยสุดท้ายที่ส่งผลต่อความน่าจะเป็นในการเรียนพิเศษ คือปัจจัยเชิงพื้นที่ ซึ่งแบบจำลองชี้ให้เห็นว่า กลุ่มเด็กนักเรียนที่เรียนอยู่นอกเมืองจะมีความน่าจะเป็นที่จะเรียนพิเศษเพิ่มมากกว่ากลุ่มที่เรียนในอำเภอเมืองและกลุ่มที่เรียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติราว 2.5% และ 4.0% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผลลัพธ์จากแบบจำลองทางเศรษฐมิติยังชี้ว่าปัจจัยที่เดิมคาดว่าน่าจะส่งผลต่อความน่าจะเป็นในการตัดสินใจเรียนพิเศษของเด็กนักเรียนกลับไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งได้แก่ รายได้ครัวเรือน ระดับการศึกษาสูงสุดของพ่อแม่ เพศสภาพของเด็กนักเรียน และอายุของเด็กนักเรียน

กล่าวโดยสรุปคือ จากการทำแบบจำลองทางเศรษฐมิติชี้ให้เห็นว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กนักเรียนไทยเลือกเรียนพิเศษหรือไม่นั้น มีทั้งเพื่อชดเชยความรู้จากการเรียนการสอนในโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพ และเพื่อเพิ่มความรู้ให้สามารถสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยได้ โดยการตัดสินใจเรียนพิเศษของนักเรียนไม่มีความเกี่ยวข้องกับรายได้ของครอบครัวเด็กนักเรียนและระดับการศึกษาของพ่อแม่เด็กนักเรียน (ภาพที่ 5)

ภาพที่ 5: ผลวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อความน่าจะเป็นที่จะเรียนพิเศษของเด็กนักเรียนไทย
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 คำนวณโดย คิด for คิดส์

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแบบจำลองในเศรษฐมิติในข้างต้นจะชี้ให้เห็นว่ารายได้ครัวเรือนของเด็กนักเรียนจะไม่ใช่ปัจจัยที่ส่งผลต่อความน่าจะเป็นในการเลือกเรียนพิเศษเพิ่ม แต่รายได้ครัวเรือนกลับส่งผลต่อคุณภาพของการเรียนพิเศษ เมื่อใช้เครื่องมือทางเศรษฐมิติเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการจ่ายค่าเรียนพิเศษของเด็กนักเรียน[6] … Continue reading ผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ก็ยืนยันว่ารายได้ครัวเรือนนั้น ส่งผลต่อค่าเรียนพิเศษของนักเรียน โดยเมื่อรายได้ครัวเรือนมากขึ้น 10% ค่าเรียนพิเศษของเด็กนักเรียนจะเพิ่มขึ้น 5.7% กล่าวคือนักเรียนในทุกสถานะเข้าเรียนพิเศษไม่แตกต่างกันมาก แต่นักเรียนในครัวเรือนร่ำรวยจะสามารถเรียนพิเศษที่มีราคาแพง ซึ่งอาจเป็นการเรียนที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น มีผู้สอนที่คอยให้คำอธิบายได้มากกว่า ซึ่งทำให้คุณภาพที่ได้รับแตกต่างกันตามรายได้

นอกจากนี้ ปัญหาด้านบุคลากรและทรัพยากรของโรงเรียน ความต้องการของเด็กนักเรียน และปัจจัยเชิงพื้นที่ ก็ยังส่งผลต่อค่าเรียนพิเศษของเด็กนักเรียนด้วยเช่นกัน (ตารางที่ 1)

ปัจจัยค่าเรียนพิเศษ
รายได้ครัวเรือนมากขึ้น 10%+5.7%
อยู่ในเมือง+22.8%
อยู่ใน กทม. และปริมณฑล+41.6%
อยากเข้ามหาวิทยาลัย+37.4%
เจอครูไม่มีความรู้+28.7%
เจอครูบังคับให้ทำตามโดยไม่บอกเหตุผล+18.6%
สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนไม่เหมาะสมต่อการเรียน+28.0%
ตารางที่ 1: ผลวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเรียนพิเศษของเด็กนักเรียนไทย
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 คำนวณโดย คิด for คิดส์

การเรียนพิเศษอาจช่วยเพิ่มความมั่นใจว่าจะสามารถเรียนต่อได้

เมื่อสอบถามเด็กนักเรียนไทยอายุ 15-18 ปี ที่มีเป้าหมายอยากเรียนต่อระดับปริญญาตรีขึ้นไปทั้งหมดว่าพวกเขามั่นใจว่าจะสามารถเรียนถึงระดับที่ต้องการได้หรือไม่ พบว่า ราว 60% ตอบว่ามั่นใจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกกลุ่มระหว่างเด็กนักเรียนที่เรียนพิเศษและเด็กนักเรียนที่ไม่ได้เรียนพิเศษ พบว่า กลุ่มเด็กนักเรียนที่เรียนพิเศษมีสัดส่วนคนที่ตอบว่าตนมั่นใจมากกว่ากลุ่มเด็กนักเรียนที่ไม่ได้เรียนพิเศษโดยเฉลี่ย 8.0% จึงอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า การเรียนพิเศษอาจช่วยเพิ่มทักษะบางอย่างทำให้เด็กนักเรียนเหล่านี้มีความมั่นใจว่าจะเรียนต่อได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี กลุ่มนักเรียนครัวเรือนร่ำรวยก็ยังมีสัดส่วนคนที่มั่นใจมากกว่ากลุ่มครัวเรือนยากจน ทั้งในกลุ่มที่เรียนพิเศษและไม่ได้เรียนพิเศษ (ภาพที่ 6)

ภาพที่ 6: สัดส่วนเด็กนักเรียนที่มั่นใจว่าสามารถเรียนต่อถึงระดับที่ต้องการได้
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

พยายามแค่ไหน ก็อาจยังไม่ประสบความสำเร็จดังฝัน

แม้ว่าเด็กนักเรียนที่ตั้งเป้าจะเข้ามหาวิทยาลัยและทุ่มทรัพยากรเพื่อเรียนพิเศษมีสัดส่วนคนที่มั่นใจว่าจะสามารถเรียนถึงเป้าหมายได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่เรียนพิเศษ แต่เด็กนักเรียนกลุ่มนี้ก็ยังกังวลว่ามีอุปสรรคอื่นที่อาจทำให้พวกเขาไม่สามารถประสบความสำเร็จดังที่ฝันได้อยู่ดี

เมื่อถามความคิดเห็นเยาวชนว่าอะไรเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถเรียนถึงระดับที่ต้องการได้ พบว่าเด็กนักเรียนที่เรียนพิเศษและมีเป้าหมายอยากเข้ามหาวิทยาลัยก็มีอุปสรรคที่แตกต่างกันไปตามระดับรายได้ครัวเรือน

กลุ่มเด็กนักเรียนครัวเรือนยากจนที่อยากเข้ามหาวิทยาลัยและยอมทุ่มเทเวลาเพื่อเรียนพิเศษเกินครึ่งเห็นว่าอุปสรรคสำคัญ คือ ไม่มีเงินเพียงพอ (57%) โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถเรียนต่อได้ ยิ่งเห็นว่าเรื่องเงินเป็นอุปสรรคสำคัญมากที่สุด (68.7% ของคนที่ไม่มั่นใจ) ส่วนอันดับรองลงมา ได้แก่ ไม่มีความสามารถเพียงพอ (16.8% ของเด็กกลุ่มนี้เห็นว่าเป็นอุปสรรคสำคัญ) และบ้านไกลจากสถานศึกษา (7.8% ของเด็กกลุ่มนี้เห็นว่าเป็นอุปสรรคสำคัญ)

ขณะที่กลุ่มเด็กนักเรียนครัวเรือนร่ำรวยที่อยากเข้ามหาวิทยาลัยกลับมีปัญหาเรื่องเงินน้อยกว่า เพราะสามารถทุ่มทรัพยากรด้านเงินเพื่อเรียนพิเศษได้มากกว่าและส่วนมากไม่ได้เห็นว่าเรื่องเงินเป็นอุปสรรคสำคัญ หากแต่เป็นเรื่องความสามารถ โดยร้อยละ 31 ของเด็กกลุ่มนี้เห็นว่าเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้พวกเขาไม่สามารถเรียนถึงระดับที่ต้องการได้ คือ ไม่มีความสามารถเพียงพอ (ภาพที่ 7)

ภาพที่ 7: อุปสรรคสำคัญที่เด็กนักเรียนไทยที่อยากเข้ามหาวิทยาลัยและเรียนพิเศษเห็นว่าทำให้ไม่สามารถเรียนต่อได้
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

ทางออกไม่ใช่การห้ามเรียนพิเศษ แต่คือการศึกษาที่คุณภาพเสมอหน้า และมีเส้นทางเดินที่ตอบโจทย์โลกการทำงานยุคใหม่แก่ทุกคน

ภาพของการเรียนพิเศษของนักเรียนไทยที่เห็นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงภาพของความเหลื่อมล้ำ ทั้งความเหลื่อมล้ำจากระบบการศึกษาที่มีโรงเรียนที่มีความพร้อมอย่างไม่เท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่ทำให้เด็กนักเรียนไม่สามารถเลือกคุณภาพของทางออก (โรงเรียนสอนพิเศษ) ได้เท่ากัน

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาโดยการจำกัดการเรียนพิเศษนั้นยังไม่ใช่คำตอบ เพราะการเรียนพิเศษอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำ โดยการเรียนพิเศษอาจเป็นเพียงแค่หนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาจากการศึกษาในระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ และหากมีการห้ามไม่ให้เรียนพิเศษ กลุ่มครัวเรือนร่ำรวยก็ยังสามารถทุ่มทรัพยากรไปกับสิ่งอื่นๆ ที่สามารถช่วยให้พวกเขาได้เปรียบได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ อยู่ดี ดังนั้นการแก้ไขปัญหาด้วยการห้ามเรียนพิเศษก็ยังคงทำให้ความเหลื่อมล้ำไม่ได้หายไปไหน[7]วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์, “ถ้าการศึกษาไทยดี ทำไมต้องเรียนพิเศษ: … Continue reading

เป้าหมายในการแก้ปัญหาไม่ใช่การเรียนการสอนนอกระบบ หากแต่เป็นการแก้ไขระบบการศึกษาไทยให้เป็นระบบการศึกษาที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้

หน้าตาของระบบการศึกษาใหม่จะต้องมีคุณภาพที่ดีอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม สามารถช่วยพัฒนาทักษะความรู้ที่หลากหลายและสอดรับกับโลกสมัยใหม่ นอกจากนี้ ยังต้องสามารถช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสามารถบรรลุเป้าหมายที่พวกเขาใฝ่ฝันได้ โดยความฝันในที่นี้ ไม่ได้จำกัดแค่ด้านการเรียนต่อระดับมหาลัย เพราะเด็กและเยาวชนยังมีความฝันอีกมากมายที่ไม่ใช่แค่การเรียนต่อมหาวิทยาลัยเหมือนที่ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันคิดไว้ให้


References

References
1 Baker, David P., Akiba, Motoko, LeTendre, Gerald K., and Wiseman, Alexander W. “Worldwide Shadow Education: Outside-School Learning, Institutional Quality of Schooling, and Cross-National Mathematics Achievement,” Educational Evaluation and Policy Analysis 23, no. 1 (2001): 1-17.
2 “ชีวิตเด็ก ม.ปลาย สู่รั้วมหาวิทยาลัย,” ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล), กรกฎาคม 1, 2014, https://bangkokpoll.bu.ac.th/poll/result/doc/poll686.pdf.
3 “‘โรงเรียนกวดวิชา’ เงาสะท้อนความเหลื่อมล้ำและความล้มเหลวของการศึกษาไทย,” สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.), กุมภาพันธ์ 12, 2021, https://research.eef.or.th/thailand-tutoring-culture/.
4 ค่าเล่าเรียน ได้แก่ ค่าเรียนในระบบและค่าเรียนพิเศษ
5 แบบจำลองทางเศรษฐมิติดังกล่าว คือ logistic regression ซึ่งผลกระทบของปัจจัยต่างๆ ต่อความน่าจะเป็นในการเลือกเรียนพิเศษถูกประมาณโดยการคำนวณ average marginal effects (AME)
6 เครื่องมือทางเศรษฐมิติที่ใช้วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเรียนพิเศษ คือ การประมาณค่าด้วยวิธี Ordinary Least Square (OLS) กับกลุ่มเยาวชนอายุ 15-18 ปีที่เรียนเต็มเวลาและเรียนพิเศษ
7 วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์, “ถ้าการศึกษาไทยดี ทำไมต้องเรียนพิเศษ: เมื่อความเหลื่อมล้ำจู่โจมการศึกษา,” พฤศจิกายน 12, 2020, https://thestandard.co/why-having-extra-class-if-education-is-qualified/.

อินโฟกราฟฟิก

รายงาน/บทวิเคราะห์ฉบับเต็ม

วิจัย/เขียน

สรวิศ มา

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ปรึกษาหัวใจกับใครก็เหมือนกัน? แนวทางกำกับมาตรฐานนักจิตวิทยาการปรึกษา-จิตบำบัดอย่างสมดุล

ปัญหาการอวดอ้างชื่อและล่วงละเมิดผู้รับบริการ เรียกร้องให้ต้องมีการกำกับนักจิตวิทยาการปรึกษา/จิตบำบัด แต่การสร้างมาตรฐานให้การดูแลหัวใจอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

ต้องพิการแค่ไหนรัฐไทยถึงมองเห็น

ในปัจจุบันยังมีผู้พิการจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการในระบบของภาครัฐ ขอเชิญชวนทุกท่านมาทำความเข้าใจสาเหตุที่ผู้พิการจำนวนมากตกหล่นไม่ได้รับสวัสดิการ และหาแนวทางที่จะทำให้ผู้พิการได้รับการช่วยเหลืออย่างที่สมควรได้รับ

ความเสี่ยงซึมเศร้า ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด?

ความเสี่ยงซึมเศร้า ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด?

ความเข้มแข็ง-อ่อนแอในจิตใจคนเราเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ เราฝึกฝนกำหนดใจเราเองได้แค่ไหน? นโยบายของรัฐควรมีบทบาทอย่างไรกับปัจจัยที่เกินการควบคุมของปัจเจกบุคคล?

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2024 kidforkids.org | All rights reserved.