“ความช่วยเหลือไม่ใช่แค่การแจกเงิน แต่ต้องมองลึกถึงรายละเอียดปัญหา” สำรวจครอบครัวไทยในภาวะเปราะบาง กับ บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล

LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP – ภาพประกอบ

คำว่า ‘ครอบครัว’ ในอุดมคติของคนทั่วไปมักหมายถึงครอบครัวที่ประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูก เป็นอย่างน้อยที่อยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา แต่หากมองความเป็นจริงในสังคมไทยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่าครอบครัวไทยมีโครงสร้างสมาชิกอย่างหลากหลาย ขณะที่โครงสร้างครอบครัวในแบบที่เป็นตามอุดมคตินั้นกลับดูเหมือนว่ามีจำนวนลดลงต่อเนื่อง

โครงสร้างครอบครัวแบบหนึ่งที่กำลังเป็นที่เด่นชัดในยุคสมัยปัจจุบันคือ ครอบครัวที่มีสมาชิกประกอบด้วยคนรุ่นปู่ย่าตายาย และรุ่นหลาน โดยขาดคนรุ่นพ่อแม่ ซึ่งส่วนมากเป็นเหตุจากการต้องอพยพย้ายถิ่นไปทำงานนอกภูมิลำเนา จนจำเป็นต้องฝากลูกซึ่งอยู่ในวัยเด็กให้ปู่ย่าตายายเป็นผู้เลี้ยงดูที่บ้านเกิด ครอบครัวลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่า ‘ครอบครัวข้ามรุ่น’ หรือ ‘ครอบครัวแหว่งกลาง’ ซึ่งจำนวนมากมักมีชีวิตความเป็นอยู่ที่จัดได้ว่า ‘เปราะบาง’ และอาจเสี่ยงต่อการถูกสั่นคลอนยิ่งไปกว่าครอบครัวที่มีสมาชิกพร้อมหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ไม่ว่าจะด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวอย่างความเจ็บไข้ได้ป่วยของสมาชิก หรือการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก ดังเช่นวิกฤตการระบาดของโควิด-19

ความเปราะบางยังหนักข้อยิ่งขึ้นกว่านั้น หากครอบครัวนั้นเป็นครอบครัวแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ด้วยว่าความแหว่งกลางของครอบครัวเกิดขึ้นด้วยเส้นกั้นระหว่างพรมแดน และจำนวนมากที่อยู่ฝั่งไทยก็มีปัญหาเรื่องสถานะการอยู่อาศัยที่นี่จนไม่อาจเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการหลายอย่างได้อย่างเทียบเท่าครอบครัวสัญชาติไทย ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาความผันผวนของการเมืองที่ประเทศต้นทางก็ส่งผลถึงความเปลี่ยนแปลงในชีวิตไม่น้อย ดังที่เห็นได้ชัดในกรณีการรัฐประหารที่ประเทศพม่าเมื่อปี 2021 อันยังมีผลต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

แม้ที่ผ่านมา รัฐไทยจะมีแนวทางให้ความช่วยเหลือดูแลครอบครัวเปราะบางเหล่านี้ ไม่ว่าจะในช่วงที่ประเทศอยู่ภายใต้สถานการณ์ปกติและท่ามกลางวิกฤต แต่ดูเหมือนว่าความช่วยเหลือเหล่านั้นอาจยังไม่สามารถตอบความต้องการของผู้ได้รับความช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดและเพียงพอ รวมทั้งยังไม่อาจขุดรากถอนโคนที่ต้นเหตุของวงจรปัญหาได้ ด้วยว่าเหตุผลสำคัญหนึ่งคือเราอาจยังไม่เข้าใจสถานการณ์ความเปราะบางของครอบครัวเหล่านี้ได้อย่างลึกซึ้งในรายละเอียดมากพอ อีกทั้งอาจเป็นเพราะยังให้นิยามคำว่าครอบครัวอย่างแคบเกินไป จนมองข้ามปัญหาของครอบครัวในหลากรูปแบบ

สถานการณ์ความเปราะบางของครอบครัวในสังคมไทย ทั้งครอบครัวแหว่งกลางสัญชาติไทย และครอบครัวแรงงานข้ามชาติ ในวันนี้เป็นอย่างไร ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงใหญ่ทั้งจากวิกฤตโควิด-19 และความผันผวนทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน และภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้จะมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายรูปแบบใด 101 ชวนฟังจากประสบการณ์ตรงของ ดร.บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ลงพื้นที่สำรวจกลุ่มครอบครัวเปราะบางทั้งในจังหวัดพิษณุโลก เชียงราย และตาก ภายใต้ผลงานวิจัยเรื่อง ‘พลวัตครอบครัวในสังคมไทยในสถานการณ์โควิด–19 : การปรับตัวของครัวเรือนเปราะบาง และข้อเสนอเชิงนโยบายด้านเด็กและครอบครัว’ ซึ่งจัดทำร่วมกับ ผศ.ดร.สร้อยมาศ รุ่งมณี วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.วาสนา ละอองปลิว วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดร.บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล

จากที่อาจารย์ศึกษาวิจัยเรื่องครอบครัวเปราะบางในประเทศไทยมา สถานการณ์ของครอบครัวกลุ่มนี้ในภาพรวมเป็นอย่างไร

ถ้าอิงจากงานวิจัยที่เผยแพร่ไป เราแบ่งครอบครัวอย่างกว้างเป็นครอบครัวไทยและครอบครัวแรงงานข้ามชาติ พูดในส่วนครอบครัวไทยก่อน งานศึกษานี้เลือกศึกษาในพื้นที่ที่มีการย้ายถิ่นของประชากรสูง ไม่ว่าจะเป็นการย้ายถิ่นภายในประเทศหรือย้ายถิ่นข้ามประเทศ อย่างจังหวัดลำปางที่อาจารย์วาสนาเป็นผู้ศึกษา จังหวัดอุดรธานีซึ่งอาจารย์สร้อยมาศ ส่วนตัวอาจารย์เองศึกษาในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งจากการศึกษาในพื้นที่เหล่านี้ก็พบว่า มันมีกลุ่ม ‘ครอบครัวแหว่งกลาง’ หรือ ‘ครอบครัวข้ามรุ่น’ ที่เกิดจากการที่สมาชิกในครอบครัวย้ายถิ่น โดยสมาชิกที่ย้ายถิ่นส่วนใหญ่ก็แน่นอนว่าเป็นสมาชิกที่อยู่ในวัยทำงาน เหลือสมาชิกในรุ่นปู่ย่าตายายกับรุ่นลูกที่อยู่ด้วยกัน

แต่ยิ่งไปกว่านั้น เรายังพบว่าความเปราะบางที่เกิดขึ้นกับครอบครัวเหล่านี้ไม่ใช่แค่ความเปราะบางที่เกิดจากการมีสมาชิกย้ายถิ่นเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องความลำบากหรือความท้าทายในการดูแลสมาชิกบางคนที่จำเป็นต้องได้รับความดูแลเป็นพิเศษ เช่น เด็ก หรือผู้สูงอายุ รวมทั้งอีกหลายกรณีที่มีรายละเอียดแยกย่อยเยอะมาก เพราะฉะนั้น แม้ว่าสมาชิกที่ย้ายถิ่นออกไปทำงานจะมีการส่งเงินกลับมาที่บ้าน หรือท้ายที่สุดอาจจะกลับมาอยู่ที่บ้าน แต่ก็ต้องแบกรับหน้าที่ในการดูแลคนที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเหล่านี้อีก มันจึงเรียกว่าเป็น ‘ความเปราะบางทับซ้อน’ เช่น ในบางกรณีเป็นครอบครัวที่มีผู้สูงอายุที่อายุเยอะมากและมีโรคประจำตัว หรือบางครอบครัวอาจอยู่กันถึงสี่รุ่น คือไม่ได้มีแค่รุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่ที่ย้ายถิ่นออกไป และรุ่นลูกเท่านั้น แต่ยังมีรุ่นทวดด้วย อาจเพราะคนแต่ละรุ่นมีการแต่งงานที่ค่อนข้างไว ดังนั้นเมื่อคนหลายรุ่นอยู่ภายใต้โครงสร้างครอบครัวเดียวกัน ความเปราะบางจึงชัดยิ่งกว่าที่เราคิดไว้ ซึ่งครอบครัวกลุ่มนี้ต้องการการดูแลที่พิเศษมากขึ้น มันไม่ใช่แค่ว่าการอยู่กันแค่ปู่ยาตายายและลูกหลานแล้วเขาจะดูแลกันเองได้ในทุกกรณี

นอกจากนี้ พอพูดถึงคำว่าครอบครัวแหว่งกลาง เรามักจะเข้าใจกันว่าเป็นครอบครัวที่เกิดจากการมีสมาชิกในครอบครัวย้ายถิ่น แต่จริงๆ แล้วเราพบว่ามันมีอีกหลายสาเหตุ เช่น พ่อหรือแม่อาจจะไปมีคดีความแล้วติดคุก จนทำให้ครอบครัวเกิดการแหว่งกลางขึ้นมาในช่วงหนึ่ง มันจึงเป็นการสลายวาทกรรมที่ว่าความแหว่งกลางเกิดจากการที่คนในครอบครัวย้ายถิ่นออกไปทำงานจนต้องให้ปู่ย่าตายายดูแลลูกตัวเองแทน ถ้าเราสำรวจครอบครัวไทยในยุคนี้ เราจะเห็นโครงสร้างครอบครัวและพลวัตครอบครัวที่หลากหลายและนิยามยากมาก อย่างอาจารย์สร้อยมาศก็ใช้คำเรียกว่า dysfunctional family ซึ่งแปลว่าครอบครัวพวกนี้ไม่อาจเข้านิยามแบบไหนได้เลย และโครงสร้างครอบครัวที่หลากหลายและมีพลวัตสูงแบบนี้ก็ส่งผลถึงความเปราะบางที่เกิดขึ้นต่อครอบครัว

แล้วในฝั่งครอบครัวแรงงานข้ามชาติ สถานการณ์ความเปราะบางของครอบครัวกลุ่มนี้เป็นอย่างไร

แน่นอนว่าเราพบความเปราะบางในกลุ่มนี้อยู่แล้ว โดยในงานวิจัย เราพบว่ามีถึง 60-70% เป็นครอบครัวแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารแสดงสถานะที่ถูกต้อง หรือเรียกได้ว่าอยู่ในประเทศไทยโดยไม่มีสถานะรับรอง เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิบางอย่างได้ ซึ่งอันที่จริงมันไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดเรื้อรังมานานแล้วตั้งแต่ก่อนโควิด-19 เสียอีก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นแหล่งรองรับการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งในงานวิจัยนี้ทำการศึกษาในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

นอกจากนี้ปัญหาความเปราะบางที่พบในครอบครัวแรงงานข้ามชาติในบางกรณียังอาจมีความใกล้เคียงกับปัญหาของครอบครัวไทยที่เป็นครอบครัวแหว่งกลาง แต่สิ่งที่ไม่เหมือนคือความแหว่งกลางของครอบครัวแรงงานข้ามชาติเกิดขึ้นที่ประเทศพม่าซึ่งเป็นต้นทางของการย้ายถิ่น พูดอีกอย่างหนึ่งคือพ่อแม่ที่เป็นวัยทำงานย้ายถิ่นมาอยู่ฝั่งไทย โดยต้องดูแลสมาชิกครอบครัวที่เหลือที่อยู่ฝั่งพม่า ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า หากเกิดเหตุการณ์อะไรที่ไปกระทบต่อแรงงานที่อยู่ฝั่งไทย ก็จะส่งผลต่อการดูแลสมาชิกที่เหลือที่ประเทศต้นทางของเขาเอง ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ใหญ่ที่เข้ามากระทบต่อพวกเขาก็คือโควิด-19 และรัฐประหารที่พม่า เช่น ตอนเกิดโควิด-19 ที่แรงงานข้ามชาติบางคนอาจถูกเลิกจ้าง หรือบางคนก็อาจเจ็บไข้ได้ป่วยหรือประสบอุบัติเหตุต่างๆ นี่จึงเป็นความเปราะบางทับซ้อนที่เกิดขึ้น แต่ผลกระทบที่ครอบครัวกลุ่มนี้ได้รับอาจจะมากกว่ากรณีครอบครัวไทย เพราะอย่างที่บอกไปว่าการเข้าถึงสิทธิและการถึงความช่วยเหลือจากรัฐไทยเป็นไปอย่างลำบากกว่า

สภาพที่อยู่อาศัยของครอบครัวเปราะบางจากการลงพื้นที่ของ ดร.บุศรินทร์
ถ่ายโดย ดร.บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล

ในกรณีครอบครัวแรงงานข้ามชาติ อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าตัวอย่างถึงกรณีที่พบเจอจากการลงพื้นที่

ยกตัวอย่างตอนลงพื้นที่ที่อำเภอแม่สอด ตอนนั้นได้ไปสัมภาษณ์ 8-9 ครอบครัว ซึ่งโครงสร้างครอบครัวก็มีความหลากหลายมาก มีทั้งครอบครัวแรงงานข้ามชาติบางครอบครัวที่แต่งงานมีลูกแล้วส่งลูกข้ามไปให้ปู่ย่าตายายดูแลที่ฝั่งพม่า มีทั้งครอบครัวที่มีลูกอยู่ด้วยกัน หรือบางครอบครัวก็มีสมาชิกหลายรุ่น ด้วยโครงสร้างครอบครัวที่หลากหลายแบบนี้ เราก็พยายามมองว่าความเปราะบางที่เกิดขึ้นจะเกิดภายใต้เงื่อนไขใดได้บ้าง ซึ่งก็ต้องมองจากจุดที่ว่าเขามีการดูแลกันภายในครอบครัวอย่างไร สิ่งที่เราพบคือแรงงานข้ามชาติในแม่สอดยังมีความสัมพันธ์กับครอบครัวที่ฝั่งพม่า ไม่ได้ตัดขาดจากกัน เพราะฉะนั้นรายได้จากน้ำพักน้ำแรงของการทำงานในประเทศไทย นอกจากจะนำมาดูแลกันเองในครอบครัวที่อยู่ฝั่งไทยแล้ว ยังมีการส่งเงินกลับไปให้สมาชิกที่เหลือที่ฝั่งพม่าด้วย

แต่แน่นอนว่ามันมีเงื่อนไขเหตุการณ์เฉพาะเกิดขึ้นมาซึ่งส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายของสมาชิกในครอบครัว อย่างเหตุการณ์รัฐประหารที่พม่า อย่างเช่นครอบครัวหนึ่งที่ได้พบมา คือพ่อกับแม่เป็นแรงงานอยู่ในแม่สอดมาได้ 10-20 ปีแล้ว จนวันหนึ่งก็ตั้งใจส่งลูกสองคนที่ตอนแรกอยู่ด้วยกันกับเขาที่ฝั่งไทย กลับไปยังฝั่งพม่าเพื่อที่จะสอบเข้าสู่ระบบโรงเรียนของพม่า เพราะก่อนหน้านั้นพม่ายังเป็นประชาธิปไตย ทำให้เขามองว่าเศรษฐกิจที่นั่นกำลังจะดีขึ้น แต่พอเกิดรัฐประหารขึ้นมา มันจึงไม่เป็นอย่างที่พวกเขาคาดคิด ลูกของเขาทั้งสองคนเลยต้องกลับมาอยู่ที่ฝั่งไทย แล้วก็ต้องหาโอกาสในการทำงานสร้างรายได้เพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว แล้วในเวลาต่อมาคุณยายที่อยู่ในฝั่งพม่าก็ป่วย ทำให้แรงงานคนที่เป็นแม่ต้องข้ามกลับไปพม่าเพื่อดูแลอีก นี่คือตัวอย่างความเปราะบางหนึ่งที่เกิดขึ้น แต่ครอบครัวนี้อาจจะยังไม่ได้ประสบปัญหาทางการเงินมากขนาดนั้น

ขณะที่อีกครอบครัวหนึ่งที่เราเจอ คือมีแรงงานที่เป็นสามีภรรยาซึ่งอยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว แต่วันหนึ่ง แรงงานคนที่เป็นสามีประสบอุบัติเหตุจนกลับมาทำงานหารายได้ไม่ได้เหมือนเดิม แถมยังมีปัญหาในการเข้าถึงสิทธิในการเข้ารับการรักษา ครอบครัวเหล่านี้จะมีความลำบากมากในการหารายได้มาจุนเจือครอบครัวตัวเองในแต่ละวัน แล้วยังมีลูกที่ต้องดูแลอีก และยังมีอีกครอบครัวหนึ่งที่ต้องดูแลสมาชิกจำนวนมาก แต่มีผู้ที่เป็นกำลังหลักในการหารายได้อยู่ไม่กี่คน จึงหารายได้มาจุนเจือครอบครัวลำบากไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่มีสถานะรับรองการทำงานที่ถูกต้องอีก ทำให้เขาต้องพยายามดิ้นรนและต้องต่อรองกับเจ้าหน้าที่ทางการเพื่อให้สามารถทำมาหากินได้ต่อไป

จากที่อาจารย์เล่า ดูเหมือนว่าเรื่องสถานะการอยู่อาศัยในประเทศไทยจะเป็นปัญหาใหญ่ลำดับต้นๆ สำหรับกลุ่มครอบครัวแรงงานข้ามชาติ แล้วพอเกิดสถานการณ์โควิด-19 กับรัฐประหารพม่าขึ้นมา มันกระทบต่อปัญหาเรื่องสถานะของพวกเขาไหม

ปัญหานี้ซ้อนทับกันหลายชั้น เพราะคนพม่าในประเทศไทยที่จริงมีสถานะหลายประเภทมาก เช่น ถ้าเป็นแรงงานที่อพยพเข้ามานานแล้ว ก็อาจจะผ่านการพิสูจน์สัญชาติมาแล้ว บางคนก็เข้ามาผ่าน MOU ระหว่างรัฐบาลสองประเทศ หรือก่อนหน้านี้ไม่นาน รัฐบาลไทยก็มีนโยบายนำคนที่ก่อนหน้านี้อาจจะเข้ามาอย่างผิดกฎหมายให้มาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย มันมีหลายประเภทมาก ถ้าถามว่ารัฐประหารมีผลกระทบอะไรหรือเปล่า ด้านหนึ่งคืออาจจะไม่กระทบโดยตรง เพราะหลายคนที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติหรือขึ้นทะเบียนมาแล้ว และมีนายจ้างอยู่ ก็ยังคงเข้าถึงสิทธิได้อยู่ เว้นแต่ว่าจะหลุดจากการจ้างงาน อย่างนั้นถึงจะมีปัญหาเรื่องสถานะ

แต่ส่วนตัวมองว่ารัฐประหารส่งผลกระทบในแง่การเพิ่มจำนวนคนที่เดินทางเข้ามาในไทยมากกว่า จากที่เราได้ข้อมูลมาคือยังคงมีคนเข้ามาอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น การนำแรงงานเข้าสู่ระบบจะเป็นข้อท้าทายมากขึ้นสำหรับรัฐไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นที่รองรับแรกๆ เช่น แม่สอด และแม่สาย นอกจากนี้อีกประเด็นที่น่ากังวลคือประชากรที่เข้ามาเหล่านั้นเป็นประชากรที่อายุน้อยในจำนวนที่มากขึ้น ซึ่งการเข้ามาของเด็กๆ เหล่านี้เป็นการเข้ามาเพื่อเอาตัวรอด หาโอกาสในการทำมาหากินที่ฝั่งไทย แต่สำหรับบางคน พอหางานทำไม่ได้หรืออาจเข้าโรงเรียนไม่ได้ ก็ต้องอยู่บ้าน การมีเด็กๆ เหล่านี้เข้ามามากขึ้นก็ถือเป็นความท้าทายอีกส่วนหนึ่งที่ต้องดูแล

สภาพที่อยู่อาศัยของครอบครัวเปราะบางจากการลงพื้นที่ของ ดร.บุศรินทร์
ถ่ายโดย ดร.บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล

จากที่อาจารย์ลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์ครอบครัวเปราะบางมา มีกรณีไหนที่รู้สึกว่าสะท้อนใจเป็นพิเศษไหม

ถ้าเป็นกรณีครอบครัวแรงงานข้ามชาติ คิดว่าเป็นกรณีหนึ่งที่เชียงราย คือมีคู่สามีภรรยาที่มีลูกด้วยกันสี่คนแล้ววันหนึ่งคนเป็นสามีประสบอุบัติเหตุ ต้องนอนติดเตียง เขาก็พยายามเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข ซึ่งก็มีความทุลักทุเลพอสมควร คือก่อนหน้านี้ที่เขาทำงานมีนายจ้างอยู่ เขาอาจยังใช้บริการสาธารณสุขตามสิทธิได้ แต่พอผ่านไปนานๆ เข้าก็ต้องออกจากงาน กลายเป็นคนไม่มีงานทำ เลยทำให้สิทธิตรงนี้หลุดไป แต่ว่ายังจำเป็นต้องรับการรักษาต่อเนื่องอยู่ ขณะที่คนเป็นภรรยา จากที่เคยเป็นแม่บ้าน ก็ต้องออกมาหางานทำ แต่การมีลูกต้องดูแลถึงสี่คน ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แถมลูกบางคนก็ยังไม่ได้เข้าโรงเรียน คือยังเป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษอยู่ รายได้ที่ได้มาก็ไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด ทำให้เธอต้องไปกู้หนี้ยืมสินคนอื่นมา ลองนึกภาพดูว่าเธอต้องดูแลทั้งสามีที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงและดูแลลูกที่เล็กหลายคนไปพร้อมกัน มันเป็นกรณีที่เปราะบางมาก ทำให้เรารู้สึกสะท้อนใจมาก และไม่รู้ว่าจะช่วยเขาได้อย่างไร 

แล้วในภาพรวม เมื่อได้ลงพื้นที่ไปเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มีอะไรที่รู้สึกว่าแย่กว่าที่คิดไว้ตั้งแต่ก่อนลงพื้นที่บ้างหรือเปล่า

แย่กว่าที่คิดมาก โดยเฉพาะสภาพในครอบครัวไทยที่เราได้ไปเจอ อย่างเช่นครอบครัวหนึ่งที่มีคุณยาย มีสามีใหม่ของคุณยาย และมีคนเป็นแม่ที่มีลูกสาวอีกสองคน อายุประมาณ 3 ขวบกับ 6 ขวบ ซึ่งเป็นลูกที่เกิดจากคนละพ่อกัน เพราะเขาแต่งงานหลายครั้ง ซึ่งถ้ามองแบบผิวเผิน เราก็คิดว่าเขาน่าจะดูแลกันได้ แต่ปรากฏว่าคนที่แม่อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถดูแลลูกของตัวเองได้ขนาดนั้น คือคนเป็นแม่ก็มีโรคอยู่ ส่วนคุณยายเองก็มีความลำบากในการเดินมาก และคุณตาก็มีภารกิจทุกเช้าที่ต้องไปขายของเก่า ปัญหาก็มาตกอยู่กับเด็กสองคนที่อยู่ในวัยต้องไปโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็กซึ่งที่จริงอยู่ห่างจากบ้านไปแค่หนึ่งกิโลเมตรกว่าๆ แต่กลับไม่มีใครเดินพาเขาไปโรงเรียนได้เลย และตัวเด็กเองก็ยังเด็กเกินไปที่จะเดินไปโรงเรียนด้วยตัวเองได้ หรือถึงจะเดินไปเองก็ไม่กล้าเดิน เพราะแถวนั้นมีหมาตัวใหญ่อยู่ เพราะฉะนั้นเด็กสองคนนี้เลยขาดเรียนบ่อยมาก

อีกกรณีหนึ่งคือกรณีเด็กที่มีปัญหาเป็นสมาธิสั้น แล้วไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่อยู่กับตายายที่มีอายุประมาณ 50-60 ปี ถ้ามองอย่างนี้อาจจะดูเหมือนว่าตากับยายยังอยู่ในวัยที่พอดูแลเด็กคนนั้นได้ แต่ปรากฏว่าคุณตากับคุณยายเองไม่ได้มีความรู้หรือเข้าถึงความรู้การดูแลเด็กกลุ่มนี้มากนัก เพราะเด็กกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลที่พิเศษ ส่วนในระดับชุมชนเองก็ยังไม่มีสถาบันการศึกษาที่รองรับเด็กกลุ่มนี้ แล้วสมมติว่าเราส่งเด็กกลุ่มนี้ไปเรียนในโรงเรียนทั่วไปร่วมกับเด็กคนอื่นๆ มันก็เกิดปัญหาบางอย่างขึ้นมา ขณะที่ฝั่งครูเอง ก็จำเป็นต้องมีครูบางคนที่ทำหน้าที่ดูเด็กกลุ่มนี้เป็นพิเศษ แต่ว่าครูก็ไม่ได้รับการศึกษาเรื่องการดูแลเด็กกลุ่มนี้มาโดยตรง และครูเองก็อาจจะไม่ได้มีแรงจูงใจที่จะมารับผิดชอบเด็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ครูบางโรงเรียนถึงขั้นขอย้ายเพราะไม่อยากรับผิดชอบหน้าที่ตรงนี้ มันเลยทำให้โรงเรียนไม่ค่อยอยากจะรับเด็กกลุ่มนี้เท่าไหร่ แต่จะปฏิเสธไม่รับเข้าโรงเรียนก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ถือว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่

กรณีเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่า ขนาดเป็นครอบครัวคนไทยเองก็ยังเข้าไม่ถึงสิทธิบางอย่างได้เลย ที่จริงหน่วยงานรัฐต่างๆ ก็อาจจะรู้ปัญหาเบื้องต้น และพยายามช่วย เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้มาเห็นในรายละเอียด เช่นไม่รู้ว่ามีเด็กที่ไปโรงเรียนไม่ได้ด้วยเหตุที่เราอาจคิดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้น แล้วพอความช่วยเหลือเข้าไปถึงแบบไม่ถูกจุด ปัญหาความเปราะบางทับซ้อนเลยเกิดขึ้นกับครอบครัวเหล่านี้

สภาพที่อยู่อาศัยของครอบครัวเปราะบางจากการลงพื้นที่ของ ดร.บุศรินทร์
ถ่ายโดย ดร.บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล

จากที่อาจารย์เล่า ทำให้เราเห็นภาพว่าปัญหาความเปราะบางกับครอบครัวมีความสัมพันธ์กับปัญหาเรื่องการศึกษาของเด็กๆ อยู่ไม่น้อย แล้วพอเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้นมา มันส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาการศึกษาอย่างไรบ้าง เช่นที่หลายคนพูดกันว่ามันเกิดปัญหาการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) อาจารย์ได้พบเจอกรณีที่สะท้อนปัญหาลักษณะนี้บ้างไหม

ที่จริงปัญหาอย่าง learning loss เป็นสิ่งที่พบอยู่แล้วในหลายพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำ แต่โควิด-19 ทำให้ปัญหานี้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก และในครอบครัวที่มีความยากจนซึ่งพ่อแม่ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ซึ่งเด็กๆ มีความลำบากในการเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนและเข้าถึงการศึกษา

แต่ปัญหาของโควิด-19 ที่มีต่อการศึกษาไม่ได้จบแค่เรื่อง learning loss เท่านั้น ประเด็นคือครอบครัวที่พ่อแม่ทำงานหาเช้ากินค่ำต้องออกไปเสี่ยงกับโควิด-19 ทุกวัน เขาไม่เหมือนเราที่ทำงานรับเงินรายเดือนแล้วสามารถทำงานจากที่บ้าน (work from home) ได้ แล้วแต่ละวันพอเขากลับเข้ามาในบ้าน ก็ต้องมาอยู่กับลูกหลานที่ไม่ได้ไปโรงเรียน เลยยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อในครอบครัว นอกจากนี้ยังมีบางกรณีที่พ่อกับแม่รู้ทั้งรู้ว่าลูกกำลังติดโควิด-19 แต่ก็ยังต้องส่งลูกไปโรงเรียนโดยไม่บอกครู เพราะไม่มีใครดูแลที่บ้านแล้วจริงๆ แต่ต่อมาพอครูที่โรงเรียนรู้ก็กระเจิดกระเจิง เพราะฉะนั้นเลยทำให้แต่ละโรงเรียนต้องพยายามคัดกรองเด็กที่พ่อแม่มาส่งในแต่ละวันว่ามีความเสี่ยงหรือติดเชื้อหรือเปล่า โรงเรียนก็ต้องมาจัดการปัญหากันในรายวัน ซึ่งอาจจะดูเหมือนเป็นปัญหาจุกจิก แต่ในมุมโรงเรียน มันไม่จุกจิกเลย ยิ่งถ้าเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่อาจจะจัดการเรื่องนี้ได้ยาก ดังนั้นผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อบ้านและโรงเรียนจึงสัมพันธ์กัน

แล้วเด็กที่เป็นลูกหลานของแรงงานข้ามชาติต้องเจอปัญหาเรื่องการศึกษาที่หนักกว่าเด็กไทยขนาดไหน ด้วยปัญหาพื้นฐานเดิมของหลายคนที่มีปัญหาเรื่องสถานะการอยู่อาศัยในประเทศไทย รวมทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาใหม่อย่างรัฐประหารพม่าและโควิด-19

จากที่เราเก็บข้อมูลมา ถ้าเป็นครอบครัวที่พ่อแม่อยู่ฝั่งไทยและส่งลูกหลานกลับไปเรียนที่ฝั่งพม่า ในช่วงโควิด-19 ครอบครัวเหล่านี้เจอปัญหาคือ ที่ฝั่งพม่ามีการปิดโรงเรียน และยิ่งถ้าเป็นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล การปิดของเขาคือปิดหมด ไม่มีการเรียนทางไกลให้เลย ทำให้เด็กๆ ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้เลยในช่วงนั้น ไม่เหมือนโรงเรียนที่ฝั่งไทยที่ยังพยายามจัดการเรียนทางไกล เพราะฉะนั้นเด็กๆ ที่อยู่ฝั่งพม่าก็จำเป็นต้องเดินทางกับมาไทยเพื่อที่ว่าอย่างน้อยจะได้มีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้

นอกจากเรื่องโควิด-19 รัฐประหารที่พม่าก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระทบต่อการเรียนของเด็กๆ คนพม่าที่ไม่ยอมรับในระบอบทหารก็ไม่ยอมส่งลูกหลานไปโรงเรียน เลยต้องมาพึ่งการศึกษาที่ฝั่งไทยแทน แต่ก็แน่นอนว่าต้องเจอความลำบากในการเข้าถึงการศึกษาที่นี่ เพราะการจะเข้าระบบโรงเรียนไทยจำเป็นต้องมีการพิสูจน์สถานะต่างๆ ซึ่งถ้าพ่อแม่เป็นคนที่อยู่แม่สอดมานาน แล้วคลอดลูกที่นี่และได้รับการรับรองสถานะการเกิดอยู่ที่ประเทศไทย เอกสารรับรองนี้ก็เป็นใบเบิกทางให้เด็กๆ กลุ่มนี้เข้าสู่โรงเรียนไทยได้ แต่การเข้าโรงเรียนไทยก็มีข้อจำกัดเรื่องโควตาอีก และถ้าเป็นกรณีเด็กที่มีเอกสารรับรองสถานะว่าเกิดในประเทศไทย ก็จะมีความลำบากในการเข้าโรงเรียนที่นี่ แต่เราก็พบว่าพื้นที่แม่สอดมีศูนย์การเรียนรู้เป็นทางเลือก ซึ่งไม่ได้ให้การศึกษาในระบบของไทย แต่เหตุการณ์รัฐประหารก็สร้างความท้าทายให้กับศูนย์การเรียนรู้เหล่านี้มากขึ้น เพราะเด็กย้ายข้ามจากพม่ามาเยอะ จนต้องรับเด็กในจำนวนที่มากขึ้น จากที่เราลงพื้นที่โรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้ในเดือนตุลาคม (2022) ก็พบว่ามีเด็กเยอะมากๆ เพราะผู้อำนวยการหรือผู้ดูแลโรงเรียนเองก็เห็นใจ พยายามที่จะรับเด็กให้ได้ทั้งหมด ถึงขั้นที่ว่าบางโรงเรียนที่มีพื้นที่ในอาคารรองรับเด็กไม่พอ ก็ต้องกางเต็นท์ขึ้นมาเพิ่ม

สภาพที่อยู่อาศัยของครอบครัวเปราะบางจากการลงพื้นที่ของ ดร.บุศรินทร์
ถ่ายโดย ดร.บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล

ท่ามกลางปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้น อาจารย์มองความพยายามของรัฐที่ผ่านมาในการเข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างไร

ในฝั่งนโยบายที่มีต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ปัญหาของคนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งพัวพันกับสถานะของเขาในการอาศัยอยู่ในรัฐไทย ซึ่งจริงๆ รัฐเองก็มีนโยบายที่เอื้อและให้โอกาสคนกลุ่มนี้อยู่ เช่น นโยบาย Education for All ที่เป็นการให้การศึกษาแบบทั่วถึง หรือการให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดปัญหาจริงๆ ไม่ว่าจะในเรื่องการเข้าถึงสวัสดิการหรือบริการด้านสาธารณสุขต่างๆ โดยรัฐมักจะทำหน้าที่ในลักษณะเป็นตัวกลางในการติดต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเป็นเรื่องๆ ไป หรือต้องพึ่งแรงขององค์กรเอกชนหรือองค์กรต่างชาติที่ทำงานด้านนี้ แต่สิ่งที่รัฐยังค่อนข้างขาดคือการใช้กลไกในเชิงกฎหมายที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องสถานะของคนกลุ่มนี้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งอาจจะเป็นด้วยกลไกบางอย่างที่ทำให้รัฐขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ยากด้วย

จากที่เคยคุยกับนิสิตนักศึกษาที่ได้ไปฝึกงานอยู่ที่จังหวัดหนึ่ง เขาเล่าให้ฟังว่ามีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ตกสำรวจจากการได้รับความช่วยเหลือ เพราะเขาไม่มีบัตรประชาชนเหมือนอย่างคนไทย อย่างตอนที่เกิดการระบาดของโควิด-19 แรงงานข้ามชาติก็เป็นกลุ่มท้ายๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือหรือไม่ได้รับเลยก็มี แม้กระทั่งเรื่องอย่างการรับหน้ากากอนามัยหรือเจลแอลกอฮอล์ สิ่งนี้อาจสะท้อนได้ถึงรากความคิดหรืออุดมการณ์ของรัฐที่เลือกช่วยเหลือคนโดยดูว่าคุณเป็นใคร จึงส่งผลให้การออกนโยบายในการให้ความช่วยเหลือเป็นไปในแนวทางนี้

ส่วนทางฝั่งคนไทยที่เป็นคนกลุ่มเปราะบาง รัฐก็มีการให้ความช่วยเหลือตามนโยบายต่างๆ ซึ่งแต่ละนโยบายก็มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ และมีการทำงานบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดย อปท. จะไปทำงานกับหน่วยงานประเภทผู้นำชุมชน เพื่อค้นหาว่ามีใครเป็นกลุ่มเปราะบางในชุมชนนั้นบ้างๆ รวมทั้งมีการแบ่งประเภทกลุ่มคนต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือ เช่น ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ซึ่งจะได้รับเบี้ยเป็นรายเดือน แต่อย่างที่พูดไปแล้วว่า บางครอบครัวอาจไม่ได้อยู่ได้แค่ด้วยการรับเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือน ซึ่งยังไม่ต้องพูดถึงว่าจำนวนเงินที่เขาได้รับอยู่เพียงพอไหม แต่เขายังอาจต้องการความช่วยเหลือในมิติอื่นๆ ด้วย เช่น บางบ้านที่ไม่มีใครสามารถส่งเด็กไปโรงเรียน ก็อาจต้องการความช่วยเหลือในเรื่องนี้ แต่สถานการณ์แบบนี้มักไม่ได้ถูกขับเน้นให้เห็นว่าเป็นปัญหา มันจึงเป็นอะไรที่รัฐต้องเข้ามาดูในรายละเอียดให้ลึกขึ้น

อาจารย์มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอย่างไร และในช่วงเวลานี้ที่กำลังเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ อาจารย์มีความเห็นและข้อเสนออย่างไรต่อนโยบายของบรรดาพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ถ้าเป็นนโยบายในด้านแรงงาน ส่วนตัวมองว่ามันอาจจะยังไม่ได้แต่ถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยมากนัก นโยบายที่เราพบเห็นทุกวันนี้มักจะให้ความสำคัญกับแรงงานไทย อย่างเช่นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ แต่ยังไม่ค่อยเห็นนโยบายที่จะมาแก้ปัญหาเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะในมุมสวัสดิการ หรือข้อเสนอเรื่องการให้ความช่วยเหลือในกรณีที่แรงงานข้ามชาติเจอปัญหาต่างๆ เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นคนไทย

ถ้าถามว่าแล้วนโยบายต่อแรงงานข้ามชาติควรเป็นอย่างไร คำถามนี้ถือว่าท้าทายมาก แต่ถ้าตอบแบบเบื้องต้น คือการให้ความช่วยเหลือต่อคนไม่ควรยึดโยงอยู่กับสถานะมากนัก แรงงานข้ามชาติและครอบครัว รวมถึงเด็กๆ ก็ควรจะเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว เพราะต้องอย่าลืมว่าเขาถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเรา ส่วนในเรื่องการศึกษาของเด็กๆ ข้ามชาติ ถึงแม้จะมีนโยบายที่ดูแลเรื่องนี้ แต่มันก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ค่อนข้างมากที่ทำให้เด็กๆ กลุ่มนี้ยังเข้าไม่ถึงการศึกษาได้เท่าที่ควร ในหลายพื้นที่ เรายังพบว่า เด็กอายุ 6-7 ขวบยังไม่ได้เข้าเรียนเลย ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้อย่างเร่งด่วน เพราะเขาก็ถือเป็นคนที่จะต้องใช้ชีวิตในสังคมไทยต่อไป

ส่วนในฝั่งกลุ่มเปราะบางคนไทย เห็นว่าความสนใจมักไปอยู่ที่นโยบายประเภทเบี้ยยังชีพ และค่าแรงขั้นต่ำ เพราะมันเป็นนโยบายที่ทำให้ประชาชนเห็นได้ถึงสิทธิ สวัสดิการ หรือผลประโยชน์ที่เขากำลังจะได้รับเพิ่มขึ้นแบบชัดเจน ซึ่งจริงๆ เราก็เห็นด้วยว่ามันควรจะเพิ่มขึ้น เพราะทุกวันนี้รายได้ของหลายคนไม่ได้เพียงพอต่อค่าครองชีพ

แต่ถ้าอิงจากงานวิจัย มันชี้ว่าความช่วยเหลือไม่ใช่แค่เรื่องของการเพิ่มจำนวนเงิน แต่ควรมีนโยบายที่ส่งผลในเชิงโครงสร้างและมองเห็นปัญหาในรายละเอียด เช่นปัญหาหนึ่งที่ยกตัวอย่างไป คือเรื่องการจัดการศึกษาแก่กลุ่มเด็กสมาธิสั้น แม้ว่าจะมีโรงเรียนที่รองรับเรื่องนี้อยู่ในแต่ละจังหวัด อย่างที่จังหวัดพิษณุโลกก็มีโรงเรียนแบบนี้อยู่ในอำเภอเมือง แต่สิ่งที่ต้องคิดคือ แล้วในพื้นที่ที่อยู่นอกอำเภอเมือง เราจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าครอบครัวในพื้นที่ห่างไกลเหล่านี้ก็ไม่สามารถพาลูกหลานตัวเองไปเรียนในเมืองได้ ตอนนี้ยังไม่มีกลไกใดๆ รองรับในเรื่องนี้ และจากที่ประสบการณ์ส่วนตัวที่พบเจอคือ เด็กที่มีปัญหาลักษณะนี้ก็กำลังมีมากขึ้นด้วย เวลาที่เราไปสำรวจครอบครัวที่อยู่พื้นที่ห่างไกล เราก็พบเห็นเด็กที่มีปัญหานี้อยู่ที่บ้าน วิ่งเล่นคนเดียว ไม่มีใครดูแล เพราะคนดูแลต้องทำมาหากิน ถ้ายังไม่แก้ปัญหาพวกนี้ มันจะเป็นปัญหาที่ส่งผลในระยะยาวต่อไป  


บทความที่เกี่ยวข้อง

เติมทุน-หนุนการมีส่วนร่วม: เปลี่ยนฝันของเยาวชนไปสู่พลังการเปลี่ยนแปลง

เติมทุน-หนุนการมีส่วนร่วม: เปลี่ยนฝันของเยาวชนไปสู่พลังการเปลี่ยนแปลง

คิด for คิดส์ ชวน โชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง, อดิศร จันทรสุข, และ ณัฐภัทร เนียวกุล แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับอุปสรรคที่เยาวชนพบเจอในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคม ตลอดจนเสนอแนวทางลดอุปสรรค-พัฒนากลไกสนับสนุนพวกเขา

‘ธนาคารหน่วยกิต’ ทางเลือกการศึกษายืดหยุ่นที่ต้องทำอย่างรอบคอบ

‘ธนาคารหน่วยกิต’ ทางเลือกการศึกษายืดหยุ่นที่ผลักดันโดยรัฐบาลคืออะไร? ปัจจุบันทำถึงไหนแล้ว? และมีอะไรที่ต้องระวัง?

ปรับนโยบายให้ 'เห็นหัว' เด็กและเยาวชนด้วย CYIA (Child and Youth Impact Assessment)

ปรับนโยบายให้ ‘เห็นหัว’ เด็กและเยาวชนด้วย CYIA (Child and Youth Impact Assessment)

คิด for คิดส์ ชวนทำความรู้จักแนวคิด CYIA (Child and Youth Impact Assessment) ซึ่งหลายประเทศใช้เป็นเครื่องมือปรับปรุงนโยบายให้ ‘เห็นหัว’ เด็กและเยาวชนยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสำรวจแนวทางการนำ CYIA มาใช้ประเมินนโยบายในรูปแบบ ‘ร่างกฎหมาย’ ในไทย

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2025 kidforkids.org | All rights reserved.