‘family we choose’ : ครอบครัวในสายตา ‘เรา’ และสายตา ‘รัฐ’ กับ ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

ตอนเด็ก เราอาจเคยวาดภาพ ‘พ่อแม่ลูก’ ส่งคุณครู ภาพตัวการ์ตูนหัวกลม ลำตัวเป็นไม้ขีดยืนเรียงกันสามคน ดูบิดเบี้ยวอย่างไรไม่สำคัญ เพราะเมื่อได้รับโจทย์ให้วาด ‘ครอบครัว’ ในหัวจะปรากฏนิยามที่ทำให้ภาพนั้นชัดเจน

แต่ภาพดังกล่าว ไม่ใช่ภาพแทนครอบครัวสำหรับใครหลายคน

อาจเป็นหญิงสอง ชายสอง สมาชิกเป็นสิบ หรือคนคนเดียว ที่แน่ๆ ครอบครัวไม่ได้ประกอบด้วยผู้หญิง ผู้ชาย และลูกน้อยที่มีความสัมพันธ์แบบพ่อแม่ลูกเท่านั้น

นิยามครอบครัวยังมีความหมายมากไปกว่าตอนวาดรูปส่งคุณครู เกี่ยวข้องกับทุกมิติการดำเนินชีวิต มีผลต่อการใช้ประโยชน์จากบริการสาธารณะและนโยบายของรัฐ นั่นแปลว่า หากเราจำกัดนิยามของครอบครัวไว้เพียงแบบเดียว คนจำนวนมากก็อาจตกหล่นจากสิทธิประโยชน์ ตกหล่นจากความหมาย และความสุขของการเป็นครอบครัวไป

101 ชวน รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนทนาถึงนิยามครอบครัวในสังคมไทย ทั้งต้นตอของนิยามที่จำกัดรูปแบบชีวิต การออกแบบนโยบายของรัฐที่สะท้อนการตีความครอบครัว ผลกระทบของนิยามครอบครัวที่มีต่อผู้คน ไปจนถึงมิติเรื่องเพศที่แฝงอยู่ในทุกแง่มุมครอบครัว

ในยุคที่โลกเปลี่ยนไป นิยามครอบครัวในสังคมไทยเปลี่ยนไปหรือไม่ แล้ว ‘เรา’ จะนิยามครอบครัวอย่างไรให้ครอบคลุมความแตกต่างของผู้คน

 

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

ตั้งแต่อดีต สังคมไทยตีความคำว่าครอบครัวอย่างไร ใครเป็นคนนิยาม

ถ้ามองจากมุมมองของรัฐและคนบางกลุ่ม ครอบครัวหมายถึงครอบครัวขนาดเล็ก มีความหมายเป๊ะมากๆ คือ ประกอบไปด้วยสามี ภรรยา และลูกที่เกิดจากสามีภรรยา นิยามแบบนี้เป็นฐานสำคัญของนโยบายรัฐไทยมานาน ซึ่งนำไปสู่ปัญหานานาประการ เพราะความหมายไม่ได้สอดคล้องกับวิธีที่คนอยู่ร่วมกันในสังคม

นิยามครอบครัวแบบนี้ในประเทศไทยรับมาจากหลายทิศทาง ยกตัวอย่างเช่น เวลารับความช่วยเหลือหรือรับแนวทางใหญ่ๆ จากองค์การระหว่างประเทศ เขาจะมีภาพครอบครัวแบบหนึ่ง แล้วเราก็รับมาทั้งก้อน ทำเหมือนกับว่าคนในสังคมไทยอยู่กันแบบนั้น เลยเป็นปัญหาใหญ่ เพราะนิยามแบบนี้เป็นของอิมพอร์ต ไม่เคยมีใครย้อนกลับมาดูว่าจริงๆ แล้วคนไทยอยู่กันยังไง และที่จริงครอบครัวในสังคมตะวันตกก็ไม่ได้มีหน้าตาตามแบบที่รับมาอย่างที่เราเข้าใจ

 

ถ้าอย่างนั้นภาพครอบครัวแบบพ่อแม่ลูกเกิดมาช่วงไหน ในบริบทแบบไหน ทำไมตะวันตกจึงมีคอนเซปต์เช่นนี้ ทั้งที่อาจารย์บอกว่ามันอาจจะไม่สอดรับกับความเป็นจริงในตะวันตกเองด้วยซ้ำ

จริงๆ แล้วคนไม่เคยดำรงอยู่เดี่ยวๆ คนดำรงอยู่ในครอบครัวขนาดใหญ่ หรือที่เรียกกันว่าครอบครัวขยายหรือครัวเรือน หมายถึงหน่วยขนาดใหญ่ที่คนเชื่อมกันด้วยสายโลหิตและการแต่งงาน แต่การที่นิยามครอบครัวกลายเป็นหน่วยเล็กๆ อย่างพ่อแม่ลูก เนื่องมาจากวิถีการผลิตที่เปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนที่คนเคยทำการเกษตร เคยเป็นไพร่ ผูกติดกับที่ดินของขุนนาง พอเปลี่ยนวิถีการผลิต การเกษตรย้ายเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมและต้องการแรงงานที่เคลื่อนที่รวดเร็ว จึงจินตนาการนิยามครอบครัวขึ้นใหม่ กลายเป็นครอบครัวหน่วยขนาดเล็ก เพราะถ้าไม่เล็กจะเคลื่อนที่ไม่ได้ จริงๆ ครอบครัวพ่อแม่ลูกก็ไม่ได้เคลื่อนที่เร็ว แต่หน่วยขนาดยักษ์ที่มีลำดับเครือญาติยิ่งเคลื่อนที่ได้ยากกว่า

 

ในอีกด้าน สังคมไทยก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ คนเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น แต่ทำไมคอนเซ็ปต์นี้ถึงยังใช้ไม่ได้ หรือมันเคยใช้ได้อยู่บ้าง แต่สังคมเคลื่อนไปแล้ว

ไม่ค่ะ มันไม่เคยใช้ได้ เป็นจินตนาการบ้าบอ ลองนึกถึงตอนเด็กๆ ดูว่า ใครเป็นคนเลี้ยงดูคุณ กว่าพวกเราจะโตขึ้นมาได้ผ่านมือคนเยอะมากที่ไม่ใช่แค่หน่วยพ่อแม่ลูก ถ้าไม่ได้ปู่ย่าตายาย โคตรเหง้าของคุณ หรือพี่น้องของพ่อแม่ คุณไม่โตขึ้นมาหรอก ที่จริงมันมีการถกเถียงด้วยซ้ำว่า เราเคยมีหรือเปล่า ครอบครัวเล็กๆ แบบพ่อแม่ลูก หรือเพิ่งจะปรากฏเมื่อไม่กี่ปีมานี้

ณ เวลานี้ จนถึงต้นศตวรรษที่ 21 คุณก็เห็นว่านิยามแบบนี้มันไม่ใช่ ยิ่งพอกรุงเทพมหานครประกาศปิดสถานที่ งดกิจกรรมหลายประการ คนก็แห่กันกลับต่างจังหวัด ไม่ใช่เพียงเพราะจะได้มีข้าวกินหรือมีบ้านให้อยู่เท่านั้นนะคะ ต้องเลิกใช้จินตนาการและรสนิยมแบบคนชนชั้นกลางบางกลุ่มมาคิด

การที่ต้องกักตัวอยู่บ้านตอนนี้ก็เป็นประเด็นแปลกประหลาด เมื่อก่อนในครอบครัวชนชั้นกลาง เวลา 7 วันต่อสัปดาห์ คนไปทำงานอย่างน้อย 5 วัน พอไม่ต้องไปทำงาน ต้องอยู่เผชิญหน้ากันผัวเมีย หลายคนเกิดความตึงเครียดพุ่งสูง เพราะชีวิตจริงไม่ได้เป็นอย่างที่ราชการมองว่า ‘ดีเลย คนจะได้อยู่ร่วมกัน ใช้เวลาคุณภาพ’

 

 

อาจารย์พูดตั้งแต่แรกเลยว่าการนิยามครอบครัวแบบหน่วยขนาดเล็กที่มีแค่พ่อแม่ลูกเป็นปัญหามาตลอด ปัญหาที่ว่าหมายถึงอะไรบ้าง ทั้งในอดีตและยุคปัจจุบันที่สังคมไทยเปลี่ยนไปทุกวัน

เริ่มที่ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาก่อน ที่จินตนาการกันว่าสามีภรรยาเป็นหน่วยขนาดเล็ก คนแต่งงานเพราะรักกัน เข้าใจกัน พอแต่งงานแล้วก็จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มันเป็นปัญหาใหญ่ บางสังคมที่รับนิยามครอบครัวแบบนี้มา อาจยอมปล่อยให้คู่ที่อยู่กันแล้วไม่แฮปปี้หลุดไปได้ แต่บางสัมคมก็ไม่ยอม เช่น สังคมไทย คุณไม่สามารถเดินออกมาจากความสัมพันธ์ได้ง่ายๆ

เรื่องการเลี้ยงเด็ก พอทุกคนอยู่บ้านในสถานการณ์โควิด จะเห็นปัญหาการเลี้ยงเด็กที่มหัศจรรย์พันลึก ตั้งแต่คำถามว่า ใครจะเป็นคนเลี้ยงเด็ก คือถ้าคุณพูดถึงครอบครัวขนาดเล็กที่ประกอบด้วยพ่อแม่ลูก พ่อและแม่ต้องทำงาน สังคมคาดหวังว่าผู้หญิงทุกคนที่กลายเป็นแม่และกลายเป็นหน่วยที่เจริญพันธุ์แล้วยังต้องทำงาน คำถามคือ แล้วใครจะเลี้ยงเด็ก สังคมและรัฐไทยก็โมเมมาก คิดว่าผู้หญิงต้องทำงานแล้วมีพี่เลี้ยงเด็ก โดยไม่มีกลไกใดอื่นมาตอบโจทย์ ทั้งนี้เป็นเพราะภาพของครอบครัวขนาดเล็กที่มองว่าผู้หญิงเป็นแม่และมีบทบาทอื่นๆ อีกที่ต้องทำ

ถ้าคุณไปดูผู้หญิงชนชั้นกลางในอเมริกาที่ต้องอยู่บ้าน บางรัฐบอกให้แม่สอนหนังสือลูกที่บ้านแบบโฮมสคูล คนก็ออกมาโวยวายว่า แม่จะต้องโฮมสคูลให้ลูกได้เหรอ จะบ้าเหรอ ทั้งหมดมาจากภาพที่คิดว่าครอบครัวประกอบขึ้นด้วยคนที่เล่นบทบาทและสัมพันธ์กันแบบหนึ่ง ซึ่งความเป็นจริง มีกลุ่มที่ไม่ได้เป็นแบบนิยามนั้น

 

หลายคนมักจะนึกถึงชีวิตของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ที่พอคนแต่งงานกันไม่ได้ รัฐก็ไม่ถือว่าคุณเป็นครอบครัว ซึ่งก็ถือเป็นปัญหาหนึ่ง แต่จริงๆ มีปัญหาอื่น หรือแง่มุมของชีวิตแบบอื่นไหมที่ไม่ถูกรวมเข้าไปในคำว่าครอบครัว

จริงๆ คนที่เชื่อมโยงกัน ช่วยเหลือเกื้อกูล ดูแลทั้งร่างกาย จิตใจ และอารมณ์กันและกันอย่างที่เราคิดว่าครอบครัวควรจะทำ ถามว่ามีหน่วยที่เป็นแบบนี้มั้ย ก็มี แต่หน้าตาอาจจะไม่ได้เป็นแบบที่คุณจำกัดไว้ คนที่มีรสนิยมและวิถีชีวิตทางเพศที่ไม่ใช่ heterosexual แล้วต้องการจะสร้างครอบครัว ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีวิธีที่คนเชื่อมโยงกันในรูปแบบอื่นๆ อีกเยอะไปหมด แต่วิธีที่กฎหมายและนโยบายสาธารณะของรัฐมองเห็นและรับรองการเป็นครอบครัว ทำให้ครอบครัวถูกลิมิตอยู่ที่ความผูกพันทางสายโลหิต ต้องมีสายเลือดเดียวกัน หรือไม่ก็แต่งงานกันเท่านั้น วิธีแบบนี้นำไปสู่ปัญหานานาชนิด

คุณลองจินตนาการถึงคนที่ช่วยเหลือเลี้ยงดูกันมา แต่ไม่ได้ผูกพันกันทางสายโลหิต และรัฐไม่ได้รับรองรับความสัมพันธ์แบบนี้สิ จะพบว่าจริงๆ แล้วครอบครัวคือหน่วยที่คุณเลือก ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับที่รัฐมองเห็น

 

ในยุคนี้วิถีชีวิตของคนก็เปลี่ยน มีตัวอย่างอะไรที่เราพอมองเห็นภาพว่า นี่คือวิถีชีวิตยุคใหม่ และก่อเกิดครอบครัวหรือความสัมพันธ์แบบใหม่ๆ ขึ้นมา

ถ้าถามดิฉัน ดิฉันจะตอบว่าไม่มีอะไรใหม่ สิ่งที่พวกคุณไม่เคยเห็น ไม่ได้แปลว่ามันใหม่ แต่วิธีที่คนอยู่ร่วมกันผูกพันกันแบบที่คุณไม่เคยเห็นมันแพลมออกมาเยอะ เพราะแต่ก่อนเขาไม่เคยก้าวออกมาสู่พื้นที่สาธารณะ มาทำกิจกรรมอะไรให้คุณได้เห็น แต่ตอนนี้มันเยอะแยะไปหมด เช่น กลุ่มความหลากหลายทางเพศ ดิฉันว่าตอนนี้เวลาพูดถึงครอบครัว จะมีคนชวนคุยเรื่อง same-sex marriage แม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อเลี้ยงเดี่ยว คุณก็จะเห็นภาพพวกนี้ที่ปรากฏขึ้น และพูดด้วยเสียงของตัวเองมากขึ้น แต่ถามว่าใหม่มั้ย ไม่ใหม่

ส่วนเพิ่มขึ้นหรือไม่ จริงๆ ไม่รู้นะคะ เพราะคนจำนวนมากเขาไม่ได้พูดถึงตัวเขา เขาไม่ได้พูดถึงสถานภาพการสมรสของเขา ยิ่งในเวลาที่สังคมคาดหมายว่าคุณแต่งงานกัน เลิกกันไม่ได้ คนที่เลิกกัน หย่ากัน คือคนที่ล้มเหลวในชีวิต คุณจึงไม่มีตัวเลขจริงเปรียบเทียบ เอาเป็นว่า ปรากฏการณ์หลายๆ อย่างนั้น ในขณะนี้มันออกมาให้คุณเห็นได้ด้วยตาคุณเอง แล้วเปลี่ยนเป็นเสียงพูดของตัวเองให้คุณได้ยินต่างหาก เพิ่มขึ้นไหมไม่รู้ แต่มัน visible

 

ที่อาจารย์เล่ามา ชวนให้กลับไปคิดว่า สุดท้ายการพยายามเข้าใจนิยามของคำว่าครอบครัว หรือพยายามนิยามมันใหม่ มีโอกาสสูงมากที่เราจะไม่ตรงกับนิยามใดเลย

สิ่งที่คุณควรทำเป็นอย่างแรกๆ คือการคิดว่าครอบครัวคืออะไร คุณควรจะให้คนพูดถึงได้ นิยามหรือจินตนาการถึงมันใหม่ได้ว่า ครอบครัวของฉันคืออะไร ใครคือสมาชิกในครอบครัวของฉัน ไม่เช่นนั้น คุณก็จะไปยึดอยู่กับภาพบางภาพว่าครอบครัวคือแบบนี้ ส่วนคุณไม่มี แต่เอาเข้าจริงไม่มีใครไม่มีครอบครัว ทุกคนมีครอบครัวหมด แต่เป็นครอบครัวที่มีหน้าตาในแบบของคุณ สิ่งที่มี สิ่งที่เป็น สิ่งที่แคร์ อาจไม่ตรงกับภาพครอบครัวแบบที่คนอื่นว่า แต่ไม่ได้แปลว่าคุณไม่มี เราต้องเปิด ต้องชวนให้คนย้อนกลับมาคิดว่าตัวเองมีอะไร ไม่ใช่ตัวเองขาดอะไร

 

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

 

ถ้าครอบครัวเป็นเพียงแค่นิยาม แน่นอน อาจหลากหลายอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามองเรื่องการจัดการหรือนโยบายของรัฐ จะพบว่ามีคนตกหล่นไปเยอะจากการที่ไม่ตรงตามนิยามนั้นๆ

ครอบครัวไม่ใช่สิ่งที่ต้องนิยามเพื่อให้เกิดภาพร่วมกัน คุณกล้าพอไหม ที่จะให้เพื่อนร่วมสังคมเป็นคนนิยาม เป็นคนบอกเองว่าเขาอยากจะอยู่อย่างไร ถามคำถามแรกกับตัวเองก่อน

ตอนเพื่อนคุณเลิกกับแฟน แล้วคุณบอกว่าอย่าเลิก คุณยุ่งอะไรกับเขา คือคุณเอาภาพสังคมที่อยากเห็นไปทับคนอื่น ถ้าพวกเรามีความกล้าหาญ ใจกว้าง และมีเมตตาสูงพอ จะปล่อยให้คนอื่นๆ ในสังคมเขานิยามตัวเอง และเลือกเองได้มั้ย

ในส่วนของรัฐ ก็บ้าบอคอแตกมายาวนาน ไม่ใช่แค่เฉพาะรัฐไทย วิธีที่คุณมองเห็นพลเมือง คือการมองว่าไม่เป็นผู้หญิง ก็เป็นผู้ชาย และดำรงอยู่ในครอบครัวแบบพ่อแม่ลูก พลเมืองของคุณต้องเป็นสามีของใครบางคน ต้องเป็นภรรยาของใครบางคน ต้องเป็นลูกของใครบางคน ต้องมีสถานะอยู่ในครอบครัวแบบที่ว่านี้ แล้วคุณก็ออกแบบนโยบายสาธารณะและการให้บริการทั้งหมดตามนี้ จึงทำให้มีคนตกหล่นไปเยอะมาก หรือไม่ก็เป็นการไปบังคับพลเมืองให้มีวิถีชีวิตบางอย่าง

 

นโยบายหรือภาพใดที่สะท้อนว่ารัฐมองคนแบบจำกัดนิยามครอบครัว

ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดคือเรื่องระบบการจัดเก็บภาษี ถ้าคุณไม่ใช่สามีของใครบางคน ไม่ใช่ภรรยาของใครบางคน คุณจะซวยอย่างมหาศาล เพราะรัฐจะไม่ลดหย่อนอะไรให้คุณเลย คุณจะเป็นหน่วยที่รัฐขูดและรีดอย่างเต็มที่ แต่ถ้าคุณไปดำรงอยู่ในครอบครัวตามจินตนาการของรัฐ รัฐจะเข้ามาลดหย่อนช่วยเหลือคุณหลายอย่าง เช่น รัฐช่วยพลเมืองเลี้ยงเด็ก ถ้าคุณไม่ได้อยู่ตรงนั้นเลย คุณจะกลายเป็นคนที่รับภาระ เพื่อที่จะยกทรัพยากรไปให้รัฐ

ดิฉันเคยพยายามจะพูดในที่อื่นว่า จริงๆ คนที่รัฐควรจะลดหย่อนภาษีให้คือคนที่ไม่มีลูก เพราะอนาคตใครจะเลี้ยงดูพวกเขา ซึ่งตอนนี้คนที่มีลูกก็ไม่ใช่ว่าลูกจะเลี้ยงนะ แต่คุณคิดว่าคนที่อยู่เดี่ยวๆ แล้วไม่มีสวัสดิการอะไรรองรับเนี่ย จะเป็นยังไงล่ะ

หรือการที่คนอยู่กันเป็นครอบครัว แล้วไม่ได้รู้สึกเอื้ออาทร ไม่ได้อยากช่วยเหลือเกื้อกูลกัน กระทั่งมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นระหว่างสามีภรรยา ถ้าคุณไปดูกฎหมายของรัฐให้ดี คุณจะพบว่ารัฐไม่ค่อยปล่อยให้คนที่กระทำความรุนแรงต่อกันหลุดออกไปจากหน่วยนั้นได้ง่ายๆ เพราะรัฐรู้สึกว่าหน่วยครอบครัวพ่อแม่ลูกคือหน่วยพื้นฐาน ที่จะทำให้สังคมเข้มแข็ง ยิ่งครอบครัวมั่นคง สังคมก็จะยิ่งมั่นคง เพราะฉะนั้นก็เลยพยายามไม่ให้ใครออกไปไหนได้เลย

เรื่องเล็กเรื่องน้อยที่คนจำนวนมากมองข้าม รัฐเองก็มองข้าม ไม่ใช่แค่ปัญหาสวัสดิการหรือนโยบายสาธารณะเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงเรื่องการถูกกระทำความรุนแรง หรือการไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐด้วย

 

ตัวอย่างของรัฐที่ขยายนิยามออกไป จนทำให้นโยบายแตกต่าง เข้าถึงคนมากขึ้นเป็นยังไง

ยกตัวอย่างรัฐที่ขยายคำว่าครอบครัวออกไปให้กว้างมากขึ้น คือยอมรับการแต่งงานของคนที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะชายหญิง ทำไมการรับรองการสมรสจึงเป็นเรื่องใหญ่ เพราะการรับรองการสมรสโดยรัฐ นำไปสู่รูปแบบการคุ้มครองและสวัสดิการที่ตามมาเยอะมาก ผลประโยชน์มันสูง คนก็เลยต้องการให้รัฐรับรองให้ได้

คุณจะเห็นว่าในหลายๆ รัฐเปิดกว้างมากพอ ให้พลเมืองของตัวเองเลือกระบุเพศสภาพได้ แม้แต่การรับรองบุตรที่ขยายคำว่าครอบครัวขึ้น เพราะอย่างน้อยๆ ก็จะเอื้อให้พลเมืองเลือกได้ว่าจะอยู่กับใคร แต่งงานกับใคร โดยรัฐรับรองและคุ้มครองให้ด้วย ก็จะทำให้ชีวิตของพลเมืองในหลายๆ เรื่อง ลำบากน้อยลง

 

ถ้าวันหนึ่งเราสามารถนิยามคำว่าครอบครัวได้เอง เลือกได้ว่าใครคือครอบครัวของเรา นโยบายรัฐควรจะดีไซน์ออกมาอย่างไรเพื่อให้ครอบคลุมและตอบโจทย์ทุกคนได้จริง

อันดับแรก ต้องรับรองความสัมพันธ์ของคนว่านี่คือคนในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งจะหมายรวมไปถึงการสืบทอดทรัพย์สินและการเข้าถึงสวัสดิการหลายประการ รัฐจะยินดีรับรองและขยายมันมั้ย ซึ่งเท่าที่ดิฉันเคยเห็น ในบางประเทศใช้กระบวนการศาลรับรองให้ แล้วเราเอามั้ยล่ะกับการให้ศาลรับรอง การให้คนเลือกหน่วยที่เขารู้สึกมีความสุข พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สำหรับรัฐไทยดิฉันคิดว่าคงอีกยาวไกล

ในประเด็นการออกแบบนโยบายสาธารณะต่างๆ ต้องมีภาพที่กว้างขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่ที่พลเมืองของตัวเองเป็นแค่หญิงหรือชาย แล้วมีตำแหน่งอยู่ในครอบครัวขนาดเล็ก มันเป็นเรื่องใหญ่เพราะไม่ได้แก้แค่นโยบายสาธารณะ แต่ต้องแก้วิธีคิดของคนกำหนดนโยบาย ว่าพลเมืองมีความหลากหลายสูงมาก คุณจะโอบรับได้อย่างไร

คุณเชื่อมั้ย เรื่องที่เราพูดอยู่ตอนนี้อาจจะมีคนจำนวนมาก คนที่มีวิถีชีวิตแบบที่รัฐเข้าใจอยู่ คิดว่า “นี่พูดเรื่องอะไร ไร้สาระ” นี่คือการยึดภาพครอบครัวแบบชนชั้นกลางกลุ่มเล็กๆ การที่ทุกคนยึดถือภาพแบบนี้ไว้ทำให้เกิดฐานนโยบายต่างๆ มากมาย และกลายเป็นการสร้างมาตรฐาน บังคับให้คนซึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้นต้องเป็นเหมือนกัน คุณยึดมันไว้นานแล้ว และคุณไม่ยอมขยายมันออก

ในยุคหนึ่ง สื่อก็เป็นผู้นำเสนอภาพครอบครัวแบบอุดมคติ พ่อแม่ลูกสุขสันต์ แต่ภาพครอบครัวที่ถูกนำเสนอในปัจจุบันเปลี่ยนไป มันสะท้อนว่าคนไม่ได้นิยามครอบครัวด้วยความสุขสันต์เหมือนที่รัฐคิดแล้วหรือเปล่า

ไม่ใช่ว่าคนไม่ได้คิดแบบรัฐนะคะ คือความเชื่อที่ว่าทุกคนในโลกนี้มีตำแหน่งแห่งที่อยู่ในครอบครัวขนาดเล็กพ่อแม่ลูก ไม่ได้เป็นของรัฐ แต่เป็นของทุกคน คือคุณถูกปลูกฝังด้วยวิธีการต่างๆ ให้เข้าใจว่าภาพเป็นเช่นนั้น สื่อที่นำเสนอภาพครอบครัวสุขสันต์ ก็เป็นเครื่องมือแบบหนึ่ง เพราะคุณจะเข้าใจว่าทุกคนอยู่ในครอบครัวสุขสันต์ แต่ฉันไม่ใช่ แทนที่คนจะมองว่าภาพของครอบครัวที่เห็นและที่คนอื่นๆ เข้าใจว่าเป็นนั้นบกพร่อง ก็กลายเป็นมองว่าตัวเองบกพร่อง

ตอนนี้คนชนชั้นกลางหลายพวกจะคิดว่าเราเปิดแล้ว มีคนถกเถียงเรื่องนี้ แต่ที่จริงแล้วเราเปิดกันในกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น คนมากมายมหาศาลไม่ได้มาตั้งคำถามกับเรื่องแบบนี้ เพราะฉะนั้นก็จะยังมีคนที่นำเสนอ ผลิตซ้ำ ตอกย้ำภาพครอบครัวขนาดเล็กแบบสุขสันต์อยู่ แต่ในบางสถานการณ์ เช่น วิกฤตโควิด-19 ก็ทำให้คุณเห็นว่าจินตนาการเรื่องครอบครัวของคนจำนวนมากและของรัฐยังเป็นแบบครอบครัวสุขสันต์เหมือนเดิม

 

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

 

นอกจากคนที่ไม่ตรงตามนิยามจะไม่ได้รับสวัสดิการจากนโยบายรัฐแล้ว ยังมีผลกระทบด้านอื่นๆ ในชีวิตอีกมั้ยที่เราอาจจะมองข้ามไป ที่เกิดจากคำว่า ‘ครอบครัว’

ดิฉันนึกถึงคู่เลสเบี้ยนที่อยู่ด้วยกันมานาน แล้วคนหนึ่งไม่สบาย เข้าโรงพยาบาลไป อีกคนหนึ่งก็ไปนั่งรอ คู่ของตัวเองตายไปเมื่อหลายชั่วโมงก่อนแล้วแต่ไม่มีใครบอกคุณ อันนี้ถือว่าเป็นผลกระทบมั้ย

มันไม่ใช่เพียงแค่ว่ารัฐทำกับเราอย่างไร แต่วิธีที่คนจินตนาการก็เกี่ยว คนถูกมองว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรกันในทางกฎหมาย ทั้งหมดนี้ไม่ได้แยกเป็นเรื่องๆ ว่านี่เป็นบริการสาธารณะ นี่เป็นการคุ้มครองจากรัฐ แต่มันคือภาพใหญ่ที่สุดท้ายแล้วกระทบกระแทกชีวิตคน

ปัญหาบางเรื่องถูกนิยามว่าเป็นปัญหาครอบครัว เช่น ปัญหาความรุนแรง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และภายใต้คำว่าครอบครัวก็มีปัญหาหลายอีกอย่างเกิดขึ้น อาจารย์คิดว่ารากของ ‘ปัญหาครอบครัว’ เกิดจากอะไร

เอาเรื่องความรุนแรงก่อน ส่วนตัวดิฉันเป็นคนที่สนใจเรื่องความรุนแรงบนพื้นฐานทางเพศและเพศภาวะ (gender-based violence) และ ความรุนแรงทางเพศ (sexual violence) ดิฉันพบว่าคำที่คุณคิดว่าเรียบง่ายอย่าง domestic violence ที่ภาษาไทยแปลว่าความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งแปลผิดนะ แต่เอาเป็นว่าถ้าแปลตามแบบไทย ‘ความรุนแรงในครอบครัว’ จะมีภาพครอบครัวที่เป็นหน่วยเล็กๆ มาซ้อนทับทันที ถ้าคุณนับความรุนแรงแค่ในหน่วยเล็กๆ คุณก็จะคิดถึงแต่ผัวตีเมีย พ่อทำร้ายลูก แต่คุณไม่ได้คิดว่าทุกคนทำร้ายกันได้หมด และจากการศึกษาที่มีมาหลายปีก็พบว่าทุกคนทำร้ายกันได้หมด เมียก็ทำร้ายผัวได้ พ่อและแม่ทำร้ายลูกได้ หรือลูกที่โตแล้วก็ทำร้ายพ่อแม่ได้ แต่ทำไมต้นศตวรรษที่ 21 ก็แล้ว ยังไม่มีใครมองเห็น เวลาพูดถึงเรื่องลูกทำร้ายพ่อแม่ พูดแล้วเหนื่อย มีแต่คนบอกว่าไม่จริง รู้ได้ยังไง เขามาตบให้คุณดูเหรอ คนก็จะใช้ภาพความเข้าใจของตัวเองมาบล็อกสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้

ถ้าคุณขยายคำว่าความรุนแรงออกจากหน่วยครอบครัว กลายเป็นคำว่าความรุนแรงในอาณาบริเวณส่วนตัว ยกระดับไปรวมความสัมพันธ์ส่วนตัวอื่นๆ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสามีภรรยาที่รัฐรับรอง จะยิ่งเห็นปัญหาที่ซับซ้อนไปกันใหญ่ ทั้งความรุนแรงระหว่างคนที่เป็นคู่รัก ความรุนแรงระหว่างคู่รักเพศเดียวกัน และอีกมากมาย มันสะท้อนว่าสิ่งที่เราเห็นกับสิ่งที่รัฐเห็น ถูกบล็อกด้วยคำว่า ‘ครอบครัว’ หลายๆ ปัญหาที่พูดมานานแล้ว จึงยังไปไม่ถึงทางออกสักที

 

เวลาที่เราพูดถึงพ่อแม่ลูก เราก็รับภาพจำว่า พ่อแม่ต้องเลี้ยงดูลูก อยากรู้ว่าจริงๆ แล้วเราไปจำมา หรือเป็นหน้าที่โดยธรรมชาติ หรือเราถูกกำหนดโดยรัฐ แต่ถ้าไม่เป็นแบบนั้น ใครที่ควรมีบทบาทในการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้โตมา

“ใครควรมีบทบาทและความรับผิดชอบในการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งที่เกิดมา” เป็นคำถามใหญ่มากที่ไม่มีใครกล้าถาม ไม่ค่อยมีใครยอมคิดเรื่องนี้ เพราะทุกคนคิดว่า ก็ในเมื่อคนเพศสภาพหญิงมีมดลูก และสามารถตั้งท้องขึ้นมาได้ ไหนๆ ก็ท้องแล้ว คลอดแล้ว ให้นมแล้ว งั้นก็เลี้ยงไปเลย คุณมอบหมายบทบาทการเลี้ยงดูเด็กให้ผู้หญิงที่เป็นแม่ของเด็ก โดยที่คนพูดแบบชุ่ยๆ

คุณออกแบบสถาบันความเป็นแม่ในฐานะสถาบันทางการเมือง คุณเอาเด็กที่เกิดมาใส่ในมือของแม่เด็ก คุณมั่นใจได้ยังไงว่าแม่พวกนี้จะเลี้ยงลูกได้ดี เพราะคิดไปเองแบบนี้ จึงได้เกิดเหตุการณ์แปลกประหลาดต่างๆ เช่น แม่ที่เพิ่งคลอดลูกออกมาและอยู่ในช่วงที่ฮอร์โมนผันผวนฆ่าลูกตัวเอง

ดิฉันชวนคิดว่าตกลงแล้วภาระการเลี้ยงดูเด็กควรจะเป็นของใครมายาวนานมาก แต่ไม่มีใครร่วมคิดด้วยเลย ทุกคนคิดว่าแม่เด็กเลี้ยงไปน่ะดีแล้ว คือการมีข้อเท็จจริงว่าผู้หญิงจำนวนหนึ่งตั้งท้อง คลอดลูก และเลี้ยงลูก ไม่ได้แปลว่าคนเพศสภาพหญิงทุกคนต้องเลี้ยงเด็กได้ดี

 

ถ้าอย่างนั้นเราควรให้รัฐเป็นคนเลี้ยงเด็กเลยมั้ย

เราต้องมาเถียงกันค่ะ ไม่ใช่ว่าพอเลี้ยงไม่ดีแล้วยกให้รัฐเลย เราพูดกันว่าเด็กและเยาวชนมีความสำคัญ เยาวชนคืออนาคตของชาติ ถ้าเยาวชนมีความสำคัญขนาดนั้น คุณจะปล่อยให้ถูกเลี้ยงเหมือนหมูเหมือนหมาเหรอ ก็จะกลายเป็นว่า บทบาทการดูแลเด็กควรจะเป็นของทุกคน เป็นของสาธารณะ แต่ไม่ได้แปลว่าเป็นของรัฐ คือเราต้องเลิกคิดว่าพอปัจเจกเลี้ยงลูกได้ไม่ดี งั้นก็ยกให้รัฐเลี้ยงซะ แต่เราต้องถกเถียงกันว่าใครควรจะเป็นคนดูแลเด็กบ้าง จัดหน่วยอย่างไร ต้องคิดเป็นกิจกรรมสาธารณะหรือไม่ อย่างไร คำถามแบบนี้เป็นคำถามใหญ่ แต่ไม่ค่อยมีใครยอมคิด เพราะคิดว่ารู้อยู่แล้ว ที่เป็นแบบนี้ดีอยู่แล้ว

การที่คุณคิดว่าการมีลูกเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นมายาคติทั้งสิ้น การมีลูกคือการสืบพันธุ์ให้สังคมโดยรวม ถ้าทุกคนไม่มีลูก สังคมจะอยู่ได้มั้ย เพราะฉะนั้นมันไม่ได้ให้ประโยชน์แก่คุณ แต่ให้ประโยชน์สังคมด้วย

การมีลูกอาจให้ผลประโยชน์กับสังคมในยุคที่คนต้องการแรงงาน แต่ถ้ายุคนี้มีเทคโนโลยี มี AI เข้ามา คนต้องการแรงงานน้อยลง การมีลูกยังจำเป็นอยู่มั้ย

คุณว่าการเจริญพันธุ์ไม่มีเลยได้มั้ย ต่อจากนี้ไม่มีใครมีลูกเลยได้มั้ย ถ้าไม่มีลูก จะไม่มีมนุษย์นะ สปีชีส์ Homo Sapiens 7,000 ล้านคน ไม่มีลูกเลยสักคนจะเกิดอะไรขึ้นกับมนุษยชาติ ถ้าโลกนี้มนุษย์ไม่มีลูกแล้ว มีแต่ AI ยังนับเป็นโลกมนุษย์มั้ย

คือตอนนี้ ในทุกอารยธรรม ทุกวัฒนธรรม มีการกำกับการเจริญพันธ์ุหมด ไม่เคยปล่อยเสรีให้คนมีลูกอย่างไรก็ได้ เพราะไม่ใช่แค่การคลอดลูกออกมา แต่คือกระบวนการเพื่อให้มั่นใจว่าอารยธรรมนั้น วัฒนธรรมนั้นจะยังคงอยู่ เพราะมีสมาชิกใหม่

เวลานี้คุณรู้สึกว่า ก็ไม่เห็นต้องมีลูกกันมาก คนตั้ง 7,000 ล้านคนนี่เยอะแล้ว สังคมไม่ได้ผลประโยชน์อะไรจากเรา ซึ่งไม่จริง สังคมได้ผลประโยชน์จากการมีลูกของคุณเสมอ เพราะถ้าคุณหรือทุกๆ คนไม่มีลูก สังคมที่ว่านั้นก็อยู่ไม่ได้

 

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

 

นโยบายส่งเสริมพัฒนาสถาบันครอบครัวต่างๆ พยายามจะแก้ปัญหาครอบครัว โดยมักจะย้ำว่า คุณต้องสวมบทบาทต่างๆ ในครอบครัวด้วยจริยธรรม คือพยายามจะเอาคำว่า ‘บทบาท’ และ ‘จริยธรรม’ มาเคลม เช่นบอกว่า ถ้าคุณมีความเป็นลูกกตัญญูมากพอ ก็จะไม่เกิดปัญหานี้ อาจารย์มองวิธีแก้ปัญหาแบบนี้อย่างไรบ้าง และถ้าเราอยากแก้ปัญหาครอบครัวจริงๆ เราควรเริ่มที่มุมมองแบบไหน

เวลาคนบอกว่า ‘family we choose’ (ครอบครัวที่เราเลือกเอง) ดิฉันไม่เชื่อว่าเขาได้เลือกจริงๆ เวลาคุณบอกว่าเราต้องพัฒนาครอบครัว ทุกคนต้องทำหน้าที่ คุณไม่ได้เลือก แต่คนบอกนั่นแหละที่บังคับคุณ พอบังคับด้วยกฎหมายแล้วไม่เวิร์ก ก็มาบังคับด้วยศีลธรรม จริยธรรม และอื่นๆ

ครอบครัวที่จะทำงานตามบทบาทแบบนั้นได้ ต้องเป็นครอบครัวที่แต่ละคนเป็นคนเลือกว่าจะผูกพันกับใครอย่างไร จะรับผิดชอบอะไรกับใคร จะดูแลใคร แต่พอมันกลายเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ไม่ทำแล้วบกพร่อง ก็จะเกิดปรากฏการณ์เรื่องการกระทำความรุนแรง และอื่นๆ อีกมาก

จริงๆ ในปัญหา domestic violence ว่าด้วยเรื่องผัวตีเมีย คนเพศสภาพชายจำนวนมากที่ทำร้ายเมียตัวเอง ทำร้ายลูกตัวเอง ก็เป็นเพราะไม่สามารถสวมบทบาทความเป็นชายที่สังคมบังคับได้ครบร้อย เพราะฉะนั้น การบังคับให้ครอบครัวเล่นบทบาทนั่นนี่ เป็นอันตรายมากกว่าข้อดี เช่นเดียวกับนโยบายที่รัฐเข้ามากำกับ เพราะมันไม่ได้ปล่อยให้คนเลือกเอง คุณมีภาพบางอย่างแล้วก็คาดหวังให้ภาพนั้นปรากฏเป็นจริง คนต้องอยู่กันแบบนี้ให้ได้ แต่รัฐก็เป็นเช่นนั้นแหละค่ะ มีวิธีเห็นโลกแบบหนึ่งเพื่อที่จะกำกับ ถ้ารัฐไม่เห็นโลกแบบนี้รัฐก็จะไม่ใช่รัฐ

เวลาที่บอกว่ามนุษย์ต้องเลือกเอง ไม่ได้แปลว่าคุณเลือกโดยอิสระ ปราศจากความเชื่อหรือการถูกกำกับ แต่ใจคุณ ณ เวลานั้นควรรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ฉันอยากทำ เช่น อยากดูแลแม่ แต่วิธีที่จะดูแลแม่ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เราต้องเลิกคิดว่าความสัมพันธ์แบบนี้ บทบาทแบบนี้ ความรับผิดชอบแบบนี้ต้องออกมาหน้าตาเหมือนกัน

 

ในบางแง่มุมสังคมก็พยายามสลายบทบาทและมายาคติทางเพศ เช่น การส่งเสริมให้พ่อดูแลลูกเท่าๆ กับแม่ ซึ่งผู้หญิงหลายคนก็อาจแย้งว่า ถึงผู้หญิงจะออกไปทำงานได้ แต่สุดท้ายคนที่ต้องไปรับลูกที่โรงเรียน ก็ยังเป็นฉันอยู่ดี  สะท้อนให้เห็นว่ามายาคติทางเพศอาจไม่จางหายไปจากสังคมง่ายๆ แม้ว่าเราจะพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้นก็ตาม ถึงอย่างนั้น อาจารย์พอจะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของมายาคติพวกนี้บ้างไหม

บางครั้งการพูดเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย (gender equality) เป็นการพูดโดยที่ความเป็นหญิงความเป็นชายยังอยู่ พูดบนพื้นฐานแบบมนุษย์ต้องมีสองเพศ แล้วต้องเท่าเทียมกัน แต่คุณไม่ได้ตั้งคำถามกับเพศสภาพ

ความเข้าใจแบบนี้นำมาสู่ปัญหาหลายๆ อย่าง และหลายเรื่องตกอยู่กับผู้หญิง หลายเรื่องตกอยู่กับผู้ชาย เช่น ในช่วงเวลาที่ผู้หญิงออกมามีบทบาทนอกบ้านมากขึ้น เรียนหนังสือ ทำงานหารายได้ มีตำแหน่งทางการเมือง สังคมก็บอกว่าผู้หญิงยังต้องมีบทบาทในบ้านด้วย อย่างน้อยๆ ก็เป็นแม่ เพราะฉะนั้นผู้นำหญิงในโลกนี้ ก็จะถูกใส่กรอบในภาพเดียวกันเลยว่า เป็นผู้นำที่เก่งกาจในขณะเดียวกันก็สวมบทบาทแม่ได้อย่างเป็นสุขและไม่บกพร่อง แต่คุณลองคิดดีๆ มนุษย์ที่ทำได้แบบนี้ ถ้าไม่บ้าก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร

คือเราคาดหวังว่าผู้หญิงต้องทำได้ทุกอย่าง เปลก็ไกว ดาบก็แกว่ง มันยิ่งสร้างปัญหา มนุษย์เพศสภาพหญิงที่เล่นบทบาทแม่ ทุกคนจะรู้สึกผิดตลอดเวลา เพราะทำอะไรก็ไม่สมบูรณ์ ต้องแบ่งเวลา และแบ่งแรงในแต่ละบทบาท จนมีความรู้สึกว่าฉันไม่ใช่แม่ที่ดี ดิฉันว่าความเท่าเทียมทางเพศในวิธีคิดแบบนี้อันตราย และยังไม่เห็นว่าใครจะได้ประโยชน์จากมันเลย

พอพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศคุณจะมีเพศสภาพชายอยู่ข้างบน แล้วยกเพศสภาพหญิงขึ้นมาให้เท่า ถ้ามองเรื่องเพศอยู่แบบนี้ คนที่จะตายคือผู้หญิง เพราะต้องเล่นบทบาททั้งหมด คุณต้องมองและนิยามมันใหม่ ที่เราคุยเรื่องครอบครัวมาทั้งหมด ประเด็นนี้สำคัญที่สุด เพราะวิธีมองครอบครัว วิธีมองเรื่องบทบาทความเป็นแม่มันโหดมาก แต่คุณจะยอมรับมั้ยว่ามันบังคับและรังแกคนจำนวนมากในโลกนี้

 

อาจารย์คิดว่าคนที่นิยามความเท่าเทียมทางเพศในมุมมองแบบหญิงชายเท่าเทียม เขาเอากลุ่ม LGBT ไปไว้ตรงไหนในนิยาม

เรื่องนี้ไม่ซับซ้อนเลย มายาคติว่าด้วยครอบครัวถูกมองไว้อย่างจำกัด เพราะฉะนั้น LGBT ที่ต้องการมีลูก ก็มีภาพของครอบครัวแบบเดียวกัน ก็พยายามจะทำตัวให้เหมือนกับครอบครัวขนาดเล็ก เพียงแต่คุณอาจจะมีเพศสภาพที่แตกต่าง เช่น คนที่ชอบเพศเดียวกันก็สามารถมีลูกที่เป็นลูกของเขาได้ ใช้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ (ART: assisted reproductive technology) ได้ แล้วก็เล่นบทบาทไปเหมือนที่ครอบครัวคนรักต่างเพศเป็น กลายเป็นว่า LGBT จำนวนหนึ่งที่สู้เรื่องครอบครัว ก็สู้เพื่อที่จะถูกรวมเข้าสู่ครอบครัวหน่วยเล็กๆ ซึ่งก็เข้าใจได้ที่บางคนต้องการมีภาพครอบครัวแบบนั้น

 

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

 

เมื่อเรื่องเพศและเรื่องครอบครัวควรไปด้วยกันแบบแยกไม่ขาด แปลว่าถ้าเราไม่ควรแบ่งเพศสภาพออกเป็นกล่องๆ อย่างไร ก็ไม่ควรแบ่งกล่องอย่างนั้นกับนิยามครอบครัว

เพศและครอบครัวเป็นเรื่องที่แนบติดกันเลย บทบาทความเป็นหญิงความเป็นชาย ถูกแสดงออกและถูกผลิตซ้ำในครอบครัวแบบที่เราเรียกว่าพ่อแม่ลูก

พอคุณยึดครอบครัวแบบพ่อแม่ลูก ด้วยวิธีที่รัฐ วิธีที่คนมากมายในสังคมยึดว่าต้องเป็นแบบนี้ คุณก็ผลิตซ้ำเพศสภาพหญิงชายแบบนั้นด้วย ขณะเดียวกันถ้าคุณพูดเรื่องความเป็นหญิง ความเป็นชายอย่างจำกัด ในที่สุดความเป็นหญิงชายแบบที่คุณพูดถึง ก็จะสะท้อนออกมาในครอบครัวเช่นกัน ในที่สุดผู้หญิงก็เป็นเมียและแม่ ผู้ชายก็เป็นผัวต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว ทั้งหมดนี้ทั้งสะท้อน และผลิตซ้ำซึ่งกันและกัน

 

คนรุ่นใหม่สมัยนี้ไม่อยากมีลูก ไม่อยากแต่งงาน บางคนอาจจะหลุดจากนิยามที่เราคุยกันมาตลอดก็ได้ เช่น เขาเปลี่ยนสมาชิกครอบครัวของเขาเป็นเพื่อน เป็นสัตว์เลี้ยง ถ้าความคิดแบบนี้กลายเป็นค่านิยมแบบใหม่ขึ้นมาจริงๆ เราจะเห็นอะไรเกิดขึ้นในสังคมบ้าง

คนเราในแต่ละช่วงเวลาไม่เหมือนกัน เวลาที่คุณอายุมากขึ้น ก็ไม่ได้เปลี่ยนแต่ร่างกายนะ แต่เปลี่ยนสิ่งอื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่ที่คุณว่า น่าจะอายุไม่ถึง 40 คำถามคือ พอคุณอายุสัก 50 คุณจะยังพูดอย่างนี้มั้ย คุณไม่ต้องการใคร อยู่คนเดียวได้ มีครอบครัวเป็นหมา ซึ่งดิฉันก็เคยเป็นนะ แต่อาจจะเปลี่ยนไป เพราะมนุษย์ไม่ได้คงที่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น คนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการจะแต่งงาน ก็ไม่ได้แปลว่าจะอยู่โดยไม่มีคู่นะ คือเขาอาจจะเข้าสู่ความสัมพันธ์แบบที่ตัวเองเลือก เพียงแต่ที่บอกว่าไม่ต้องการจะแต่งงาน อาจแปลว่าไม่ต้องการการรับรองของรัฐ หรือคนอื่นในสังคม แต่เขาเลือกเอง ความรักออกแบบได้ ไม่ได้แปลว่าคนรุ่นใหม่เลือกอยู่โดดๆ แต่อยู่ในความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ อาจจะมีหมาสัก 500 ตัวเป็นลูกก็ได้

ถามว่ามันจะเปลี่ยนอะไรโลกนี้มั้ย ดิฉันคิดว่าต้องรอให้คนรุ่นใหม่อายุเท่าดิฉันน่ะ แล้วดูว่าความต้องการยังเป็นเหมือนเดิมมั้ย ถ้าคุณยังแฮปปี้แบบเดิม ดิฉันอนุโมทนา ยินดีด้วยค่ะ แต่ถ้าไม่ใช่ เราต้องมาคิดกันใหม่ คือไม่ได้พูดว่ามันดีไม่ดีนะ แต่การจะเห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงหรือไม่ต้องรอให้อายุมากขึ้น

เหมือนคนที่อายุมากกว่าดิฉัน ในช่วงเวลาหนึ่งเขารู้สึกว่าอยากจะประสบความสำเร็จในเรื่องการเรียน อาชีพ การงาน สละเรื่องการแต่งงาน มีลูก แต่พออายุ 40 กว่ากลับอยากมีลูก ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 มีแบบนี้เยอะเลย คือมันไม่สามารถบอกในเวลานี้ได้ว่า นี่คือวิถีชีวิตที่เปลี่ยน โลกไม่ได้ทำงานแบบนั้น

 

หลักการพื้นฐานที่ควรจะยึด เพื่อที่รัฐจะออกแบบนโยบายครอบครัว หรือมองเห็นชีวิตคนให้ทั่วถึงเท่าเทียมในเรื่องครอบครัวคืออะไร

ดิฉันพูดด้วยอารมณ์ในสถานการณ์โควิด-19 นะคะ ว่าความสามารถของรัฐที่จะมองเห็นรูปแบบ มองเห็นความหลากหลายของพลเมืองของตัวเองเนี่ยคงยาก เพราะรัฐมีหน้าที่กำกับ จัดการ และให้บริการ ฉะนั้นรัฐจึงต้องนิยามเราให้ง่ายไว้ รัฐไม่สามารถจะโอบรัดความหลากหลายเหล่านี้ได้ ฉะนั้น รัฐไทยจึงมีนโยบายอย่าง ‘อยู่บ้านช่วยชาติ’ วิธีการพูดแบบนี้ คือการคิดว่าบ้านของพลเมืองทุกคนเหมือนกัน ครอบครัวแบบเดียวกัน ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่

รัฐไม่มีความสามารถแบบนั้น เพราะถ้ารัฐสามารถมองได้กว้างไกล รัฐก็จะไม่สามารถให้บริการใครได้ จะสติแตกไปก่อน ทีนี้ จะทำอย่างไรให้แนวนโยบายของรัฐและการบริการสาธารณะยืดหยุ่นพอ เพราะตอนนี้รัฐแข็งตัวมากจนกระทั่งไม่สามารถรับอะไรที่ไม่เข้าพวกได้ ยิ่งถ้าเป็นรัฐอำนาจนิยมที่ระบบราชการเคยมีอำนาจมากๆ และกลับมามีอำนาจอีกรอบหนึ่งแบบรัฐไทย ก็จะยิ่งกลายเป็นนายของพลเมือง ที่จะบังคับให้คุณเป็นแบบนั้นแบบนี้ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์และสวัสดิการ

ดิฉันเชื่อว่าความสามารถของรัฐที่จะยืดหยุ่น ไม่ได้อยู่ที่รัฐเอง แต่อยู่ที่พลเมือง จะทำอย่างไรให้พลเมืองสามารถสื่อสารกับรัฐ บอกกับรัฐได้ ซึ่งแปลว่าพื้นที่ทางการเมืองต้องเปิดขึ้น ต้องเลิกพูดอย่างนายกประยุทธ์ ทำนองว่า “นี่ไงกำลังแก้ปัญหาให้อยู่” ท่านคิดเช่นนี้ไม่ได้ เพราะท้ายที่สุดมันต้องร่วมกันคิด พลเมืองของรัฐที่มีความหลากหลายต้องสามารถพูดถึงสถานการณ์ของตัวเองได้ และนโยบายของรัฐก็ต้องยืดหยุ่นพอ มากกว่าจะให้กฎหมายของรัฐเปิดรับทุกคน มันเป็นไปไม่ได้ ถ้ากฎหมายเปิดรับเช่นนั้น กฎหมายจะไม่เป็นกฎหมาย ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพลเมืองมากกว่าที่จะกลายเป็นฐานสำคัญ

 

ถ้า ‘ครอบครัว’ ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่ลูก สำหรับอาจารย์แล้วอะไรคือองค์ประกอบหรือนิยามของคำคำนี้

ครอบครัวมันอยู่ที่ว่าใจเราอยู่ตรงไหน เอาใจคน เอาความผูกพันของคนเป็นที่ตั้ง แล้วลองคิดให้ดีๆ ว่าใจคุณอยู่ที่ไหน อาจจะไม่ได้อยู่ในครอบครัวแบบที่รัฐบอกเลยก็ได้ คนที่คุณนับญาติด้วย คนที่คุณรู้ว่าเขาใส่ใจเอื้ออาทรคุณ อาจจะไม่ได้ผูกพันกับคุณทางสายโลหิตเลยก็ได้ แต่ต้องเป็น ‘family we choose’ ทั้งรัฐและคนอื่นๆ ในสังคมต้องเข้าใจเช่นนี้ให้ได้

ตราบใดที่คนในสังคมยังเที่ยวบังคับคนอื่นๆ ว่าควรจะต้องอยู่แบบนี้ ชอบแบบนี้ ปฏิบัติแบบนี้ สัมพันธ์กันแบบนี้ ประเด็นที่เราพูดคุยกันในวันนี้ก็จะยังคงอยู่ จริงๆ กติกาง่ายมาก คุณชอบอย่างไร คุณทำอย่างนั้น คุณไม่ต้องรอให้ใครบังคับ และรัฐต้องเปิดให้พลเมืองสามารถสื่อสาร สามารถพูดถึงสถานการณ์ของตัวเขาได้ แล้ว family we choose ก็จะเป็นไปได้ แน่นอน มันจะต้องฟาดฟัน ขรุขระ แต่อย่างน้อยๆ ก็ดีกว่าการที่พวกเราถูกจับใส่คุกที่เรียกว่าครอบครัว

 

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

ต้องพิการแค่ไหนรัฐไทยถึงมองเห็น

ในปัจจุบันยังมีผู้พิการจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการในระบบของภาครัฐ ขอเชิญชวนทุกท่านมาทำความเข้าใจสาเหตุที่ผู้พิการจำนวนมากตกหล่นไม่ได้รับสวัสดิการ และหาแนวทางที่จะทำให้ผู้พิการได้รับการช่วยเหลืออย่างที่สมควรได้รับ

ความเสี่ยงซึมเศร้า ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด?

ความเสี่ยงซึมเศร้า ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด?

ความเข้มแข็ง-อ่อนแอในจิตใจคนเราเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ เราฝึกฝนกำหนดใจเราเองได้แค่ไหน? นโยบายของรัฐควรมีบทบาทอย่างไรกับปัจจัยที่เกินการควบคุมของปัจเจกบุคคล?

ชายแดน/เมืองหลวง: สองขั้วปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษาไทย

เด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษา 1 ล้านคน ปัญหารุนแรงที่สุดในพื้นที่ชายแดนติดเทือกเขาสูง และในใจกลางเมืองหลวงของประเทศ

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2024 kidforkids.org | All rights reserved.