‘โลกสร้างเด็ก เด็กสร้างโลก’ : ปฏิบัติการ ‘คิด for คิดส์’ ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว

มีงานใหญ่ ยาก แต่สนุก มาชวนลงมือทำกันครับ

ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว 101 PUB หรือ 101 Public Policy Think Tank ปั้นโครงการหนึ่งร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นั่นคือ ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ชื่อเล่นว่า “คิด for คิดส์”

พวกเราตั้งใจให้ “คิด for คิดส์” เป็นศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต เน้นการทำงานร่วมกับสังคม สื่อสารตรงกับสาธารณะ

งานหลักของ “คิด for คิดส์” คือการทำงานวิชาการเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ ตั้งแต่การวิเคราะห์-ติดตาม-วิจัย-ออกแบบนโยบายสาธารณะ รวบรวมและจัดทำข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกระบวนการนโยบาย จนถึงงานสื่อสารความรู้ ร่วมขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ และสร้างภาคีเครือข่าย

เราอยากปั้นศูนย์นี้ให้เป็นฐานสนับสนุนการทำงานของสำนัก 4 สสส. ภาคีเครือข่าย และประชาชน ไกลกว่านั้นคือเป็นแหล่งความรู้ เป็นตลาดวิชาด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัวของสังคมไทย ทำงานต่อเนื่อง เป็นระบบ ทันโลก ตอบโจทย์ตรงจุด เข้าถึงและใช้ประโยชน์ง่าย

“คิด for คิดส์” สนใจศึกษานโยบายเด็กและครอบครัวในโลกใหม่ที่เต็มไปด้วยความท้าทายใหม่ๆ โดยใช้กรอบ “ระบบนิเวศการพัฒนาเด็ก” เป็นแว่นตาหลักในการทำความเข้าใจโลก

กรอบนี้โฟกัสที่เส้นทางการพัฒนาชีวิตและศักยภาพของเด็กคนหนึ่งตั้งแต่แรกเกิดจนโต เป็นการเดินทางและการเติบโตที่ไม่ได้ลอยอยู่นอกโลกเหนือสังคม แต่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับระบบนิเวศรอบๆ ตัวเขา อย่างครอบครัว โรงเรียน ระบบนิเวศการเรียนรู้อื่นๆ รัฐ ชุมชน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และสถาบันอื่นๆ

เด็กแต่ละคนได้รับอิทธิพล ถูก shape จากโลก แต่ก็ส่งอิทธิพลสะท้อนกลับไป shape โลกด้วย

นอกจากนั้น ทั้งเด็กและระบบนิเวศรอบตัวของพวกเขายังได้รับอิทธิพลและสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกระแสความท้าทายของโลกและของไทยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรสู่สังคมสูงวัย (เด็กเกิดน้อยกว่าคนตาย อัตราการพึ่งพิงสูงขึ้น ครอบครัวเปราะบางมากขึ้น) ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำพาสังคมสู่ยุคดิจิทัล ความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างขึ้น ความผันผวน-ซับซ้อน-ไม่แน่นอน-คลุมเครือของโลกใหม่ (VUCA World) การก้าวข้ามสู่ความเป็นพลเมืองโลก ความไม่ลงรอยระหว่างเจเนอเรชัน เป็นต้น

เรียกว่าโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงวัฒนธรรม ค่านิยมความเชื่อ ถูกเขย่าให้ต้องปรับเปลี่ยนตามโลกใหม่ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัวอย่างไม่ต้องสงสัย

โลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความเสี่ยงทำให้การสร้างอนาคตเป็นเรื่องยากขึ้น นโยบายเด็กและครอบครัวเลยยิ่งมีความสำคัญ เพราะเป็น ‘ฐานหลัก’ ในการสร้างสรรค์อนาคตของประเทศที่แท้จริง ก็อนาคตที่มีคุณภาพมาจากคนคุณภาพนี่ครับ

จุดหมายปลายทางที่ “คิด for คิดส์” ให้ความสำคัญ จึงได้แก่การพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพสูงสุดตามเส้นทางที่แต่ละคนได้เลือกเอง ศูนย์เราเชื่อเหมือน อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ว่า ถ้าเด็กมีทางเลือกในการสร้างอนาคตที่ดีที่สุดสำหรับตัวเขา ก็จะเป็นการสร้างอนาคตที่ดีที่สุดของประเทศไปด้วยพร้อมกัน

โจทย์วิจัยที่สำคัญคือ สถาบันต่างๆ ในระบบนิเวศรอบตัวเด็ก ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กและเยาวชนอย่างไร แต่ละสถาบันต้องจัดวางและดำเนินบทบาทที่เหมาะสมอย่างไร ในการพัฒนาเด็กคนหนึ่งให้เติบโตได้เต็มศักยภาพและเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกใหม่ ซึ่งเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ที่เราคุยกันตอนต้น

จะเห็นว่าศูนย์เราจึงไม่ได้มองเรื่องเด็กแบบแยกเด็กโดดๆ ไม่ได้เริ่มและจบอยู่แค่เด็ก ไม่ได้ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคของนักวิชาการด้านเด็ก แต่เรามองเด็กในฐานะพลเมืองที่ชีวิต/ความคิด/พัฒนาการของเขา เชื่อมต่อกับสังคมไทยกับสังคมโลก และมีเจตจำนงของตัวเอง เด็กถูกโลกกระทำ แต่เด็กก็กระทำต่อโลก สร้างโลก เปลี่ยนแปลงโลกด้วย

เราจะเข้าใจเด็กผ่านสายสัมพันธ์กับสถาบันต่างๆ ในสังคมอย่างไร เราจะเข้าใจผลกระทบของความท้าทายต่างๆ ในโลกและสังคมไทยต่อเด็กและครอบครัวอย่างไร นโยบายของรัฐควรจะเข้าไปแทรกแซงเรื่องไหน ตรงปฏิสัมพันธ์ส่วนไหน อย่างไร เพื่อตอบโจทย์พัฒนาการของเด็กได้ดีที่สุด

เส้นทางการแสวงหาคำตอบต่อคำถามเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้วิถีการทำงานของทีม “คิด for คิดส์” นั่นคือ การมุ่งตอบโจทย์ท้าทายแห่งอนาคต นำเสนอระเบียบวิธีและเครื่องมือใหม่ๆ ในการทำวิจัย รับมือความซับซ้อนด้วยแว่นตาสหวิทยาการ ระดมความหลากหลายและปัญญารวมหมู่แก้โจทย์ยาก แสวงหาทางเลือกและทางออกใหม่ที่เป็นไปได้

ทั้งหมดคือแว่นตาของ “คิด for คิดส์” ในการมองโลกและทำงาน

ในโลกใหม่ที่เต็มไปด้วยความท้าทายใหม่ กระบวนการนโยบายสาธารณะ (public policy process) ก็จำเป็นต้อง ‘คิดใหม่-ทำใหม่’ ไปด้วย เราต้องใช้ความรู้ชุดใหม่และเครื่องมือใหม่ๆ ในกระบวนการนโยบายขั้นต่างๆ ทั้ง 4 ขั้น ได้แก่ ขั้นแรก การตั้งโจทย์กำหนดวาระเชิงนโยบาย สร้างบทสนทนาสาธารณะ (policy agenda-setting) ขั้นสอง การออกแบบ วิเคราะห์ และจัดทำนโยบาย ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วม (policy formation) ขั้นสาม การแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ การบังคับใช้นโยบายอย่างมีประสิทธิภาพและมีความเป็นธรรม ลดช่องโหว่และผลพวงที่ไม่ได้ตั้งใจ (policy implementation) และขั้นสี่ การประเมินผลนโยบาย มีฟีดแบคลูป ปรับแก้นโยบายได้อย่างยืดหยุ่นมีพลวัต (policy evaluation) แต่ละขั้นมีหลายประเด็นใหญ่ให้ต้องขบคิดกัน โดยเฉพาะเมื่อเป็นนโยบายด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ซึ่งองค์ประธานในสมการนโยบายสมควรอยู่ที่ตัวเด็ก

ในกระบวนการนโยบายแต่ละขั้นที่ว่ามา จำเป็นต้องใช้ “ความรู้” เป็นพื้นฐานในการทำงาน หน้าที่หนึ่งของ “คิด for คิดส์” คือการเติมเต็มช่องว่างความรู้ในกระบวนการนโยบายขั้นต่างๆ ที่ผ่านมา รัฐไทยมักกำหนดนโยบายด้วย ‘อำนาจ’ ไม่ใช่ด้วย ‘ความรู้’ เราเห็นว่าถึงเวลาเปลี่ยนมาใช้ความรู้เป็นฐานและเป็นธงนำในการทำงานนโยบาย

ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่า นโยบายเด็กและครอบครัวคือนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก ไม่ใช่เฉพาะในวันนี้ แต่ผลกระทบยืนยาวไปทั้งชีวิต ถ้าแก้ปัญหาให้เด็กได้ ก็ไม่ได้ช่วยเขาแค่วันนี้ แต่ช่วยเขาทั้งชีวิต และเมื่อเด็กเป็นผู้สร้างและกำหนดชะตาอนาคตของสังคม นโยบายเด็กและครอบครัวก็คือนโยบายลงทุนสร้างอนาคตของสังคม

“คิด for คิดส์” มองนโยบายเด็กและครอบครัว ด้วยนิยามที่อิงมาจากงานของทีมนักวิชาการ Oxford ที่ทำ Family Policy Database ว่าหมายถึง นโยบายสาธารณะ ทั้งจากรัฐบาลส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ที่ส่งผลกระทบต่อ (1) สถานการณ์และบทบาทของ ‘ครอบครัว’ ในฐานะสถาบันทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึง (2) สุขภาวะทางกายและใจ และพัฒนาการของเด็กและเยาวชน และ (3) ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับสมาชิกภายในครอบครัว และระบบนิเวศรอบตัวเขา

เราสนใจทั้งนโยบายด้านเด็กและครอบครัวโดยตรง เช่น สวัสดิการเงินอุดหนุนสำหรับเด็กเล็ก สวัสดิการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีคุณภาพ และนโยบายโดยอ้อมที่ส่งผลต่อชีวิตของเด็กและครอบครัว เช่น นโยบายการศึกษาอย่างการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่หลากหลายและมีคุณภาพ นโยบายแรงงานอย่างสิทธิการลาดูแลลูกของแม่และพ่อ นโยบายสุขภาพ นโยบายภาษี ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ ย้ำอีกทีว่า มี ‘เด็ก’ เป็นศูนย์กลางของการวิเคราะห์ และมีเป้าหมายสุดท้ายเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพสูงสุดตามเส้นทางที่แต่ละคนได้เลือกเอง

ช่วงที่ผ่านมา ทีมงาน “คิด for คิดส์” ซุ่มทำรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ปี 2022 ภายใต้ธีม “เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต” ได้แก่ วิกฤตโควิด-19 วิกฤตความเหลื่อมล้ำและการพัฒนา และวิกฤตสังคมและการเมือง โดยนำเสนอ 7 เทรนด์สำคัญของสถานการณ์เด็กและครอบครัวไทย

นอกจากนั้น เรายังจัดทำแบบสำรวจเยาวชนไทย (Youth Survey 2022) โดยสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ ชีวิตการเรียนและการงาน รวมถึงชีวิตและความคิดทางสังคมของเยาวชนอายุ 15-25 ปีทั่วประเทศ จำนวนประมาณ 20,000 คน ทั้งหมดนี้จะนำเสนอในงานเสวนาสาธารณะเปิดตัว ““คิด for คิดส์” ในวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคมนี้ ตั้งแต่ 13.00 น. เป็นต้นไป ที่ สสส. ถ่ายทอดสดทาง The101.world ทุกแพลตฟอร์ม

ดูรายละเอียดกำหนดการทั้งการนำเสนอรายงานฯ + youth talk + เสวนา “ตั้งหลักใหม่ เติมความฝันเด็กและเยาวชนไทย” โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ, หมอโอ๋-จิราภรณ์ อรุณากูร และครูลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ ได้ทาง https://www.kidforkids.org/events/openning-kid-for-kids/

ฝาก “คิด for คิดส์” ให้มิตรสหายติดตาม ให้คำแนะนำ และที่สำคัญมาร่วมสนุก ลงมือทำงานใหญ่และยากนี้ด้วยกันครับ

วิจัย/เขียน

ปกป้อง จันวิทย์

บทความที่เกี่ยวข้อง

Quick win แล้วสิ้นใจ?: ประคับประคองศูนย์ชีวาภิบาลอย่างไรให้อยู่รอด?

นโยบายชีวาภิบาลกำลังเผชิญปัญหารอบด้านเพราะการเร่งทำให้ถึงเป้าหมาย Quick win 100 วันแรก คิด for คิดส์ ชวนอ่านความท้าทายของนโยบายตายดีที่กำลังจะตายเสียเอง

ปรึกษาหัวใจกับใครก็เหมือนกัน? แนวทางกำกับมาตรฐานนักจิตวิทยาการปรึกษา-จิตบำบัดอย่างสมดุล

ปัญหาการอวดอ้างชื่อและล่วงละเมิดผู้รับบริการ เรียกร้องให้ต้องมีการกำกับนักจิตวิทยาการปรึกษา/จิตบำบัด แต่การสร้างมาตรฐานให้การดูแลหัวใจอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

ต้องพิการแค่ไหนรัฐไทยถึงมองเห็น

ในปัจจุบันยังมีผู้พิการจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการในระบบของภาครัฐ ขอเชิญชวนทุกท่านมาทำความเข้าใจสาเหตุที่ผู้พิการจำนวนมากตกหล่นไม่ได้รับสวัสดิการ และหาแนวทางที่จะทำให้ผู้พิการได้รับการช่วยเหลืออย่างที่สมควรได้รับ

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2024 kidforkids.org | All rights reserved.