ร่างงบประมาณแผ่นดินปี 2565 เพิ่งจะผ่านพ้นการลงมติไปหมาดๆ ถ้าลองชำแหละดูทีละส่วน จะเห็นงบก้อนหนึ่งที่มีมูลค่าราวๆ 16,000 ล้านบาท ได้รับการจัดสรรให้เป็น ‘สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก’
เงินอุดหนุนเด็กเล็กของไทยทุกวันนี้ จ่ายให้กับเด็กอายุ 0-6 ปี เป็นเงิน 600 บาทต่อคนต่อเดือน แต่เมื่อลองไปบวกลบคูณหารกับงบประมาณส่วนนี้ทั้งก้อนแล้ว จะมีเด็กไทยประมาณ 2 ล้านคนเท่านั้นที่ได้รับเงิน ทั้งที่ทั้งประเทศมีเด็กในช่วงอายุนี้อยู่ถึงราว 4.2 ล้านคน
สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กของไทยยังตั้งกฎเกณฑ์ไว้ว่าเด็กเล็กที่จะได้เงินก้อนนี้ ต้องมาจากครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีไม่เกิน 100,000 บาทเท่านั้น จึงแน่นอนว่ากว่าเด็กๆ จะได้เงิน ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ความจนยุ่งยากซับซ้อน และด้วยฐานข้อมูลของไทยที่ยังไม่แม่นยำนัก ทำให้มีเด็กๆ เข้าเกณฑ์ ตกหล่นกันไปมากถึง 30% นั่นแปลว่ามีเด็กเล็กในประเทศไทยไม่ถึงครึ่งที่จะได้รับเงินก้อนนี้ ทั้งที่รัฐบาลก็เคยให้คำสัญญาไว้ก่อนหน้าว่าเด็กเล็กทุกคนจะได้เงินถ้วนหน้าในงบประมาณปี 2565 นี้
วัยเด็กเล็กคือช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายและสมองมีพัฒนาการดีที่สุด การลงทุนกับประชากรในช่วงวัยนี้ด้วยการให้เงินอุดหนุนถ้วนทั่วทุกคน ไม่ว่าจะมาจากครอบครัวแบบไหนก็ตาม ถือเป็นการลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่า ทำให้การให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าเป็นเทรนด์ที่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าไปให้ถึง ขณะนี้มีประเทศราว 30 ประเทศที่ให้เงินเด็กถ้วนหน้าแล้ว
101 พาไปท่องโลก สำรวจสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กในต่างประเทศ ให้เห็นว่าเกิดเป็นเด็กประเทศไหน ได้เงินจากรัฐแน่ๆ แบบไม่ต้องแบมือขอ และได้เงินเท่าไหร่กันบ้าง พร้อมพาไปดูด้วยว่า กว่าเด็กแต่ละประเทศจะได้เงินกันแบบถ้วนหน้า ต้องผ่านอะไรกันมาบ้าง โดยพาไปดูตัวอย่าง 4 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี สหราชอาณาจักร มองโกเลีย และเนปาล ก่อนกลับมาย้อนมองว่า ประเทศไทยจะตามรอยประเทศไหนได้บ้าง อนาคตของชาติของพวกเราถึงจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐถ้วนหน้าอย่างแท้จริง
:: เยอรมนี – ได้เงินถ้วนหน้า แม้ไม่ใช้เด็กเยอรมัน ::
เกิดเป็นเด็กเยอรมัน รัฐบาลมีเงินให้ไม่อั้นจนถึงอายุ 18 ปีเลยทีเดียว หรือถึงจะเกิน 18 ปีแล้ว แต่ยังเรียนหนังสืออยู่ ก็ยังได้รับเงินอีกจนถึงอายุ 25 ปี
โครงการนี้ให้เงินเด็กทุกคนแบบทั่วถึง โดยไม่เกี่ยงว่าจะอยู่ในครอบครัวคนรวยหรือคนจน ต่อให้ไม่มีสัญชาติเยอรมัน หรือเป็นผู้ลี้ภัย ก็มีสิทธิได้รับเงินกันถ้วนทั่ว แถมเด็กสัญชาติเยอรมันที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ก็ยังมีโอกาสได้รับเงินอีกด้วย ทำให้โครงการนี้ครอบคลุมเด็กแบบเกินขีดจำกัด คิดเป็นร้อยละ 110.2 ของเด็กทั้งประเทศ
โครงการที่ว่านี้มีชื่อว่า ‘Kindergeld’ ซึ่งให้เงินสนับสนุนสำหรับเด็กในอัตราที่ต่างกันไป ขึ้นกับว่าเป็นลูกคนที่เท่าไหร่ของครอบครัว ถ้าเป็นลูกคนโตหรือคนที่ 2 จะได้รับเดือนละ 219 ยูโร (8,500 บาท) ลูกคนที่ 3 ได้เดือนละ 225 ยูโร (8,800 บาท) ส่วนลูกคนที่ 4 เป็นต้นไปได้คนละ 250 ยูโร (9,700 บาท) ต่อเดือน
แต่กว่าที่เยอรมนีจะให้เงินเด็กๆ ได้ถ้วนหน้า ก็ผ่านการเปลี่ยนแปลงมามากมาย เริ่มตั้งแต่ปี 1954 ที่เยอรมนีริเริ่มโครงการเงินอุดหนุนเด็ก ตอนนั้นยังคงให้แค่เด็กที่เป็นลูกคนที่ 3 เป็นต้นไป และยังจำกัดเฉพาะพ่อ-แม่ที่เป็นแรงงานอยู่ในระบบเท่านั้น จนกระทั่งค่อยๆ ขยายไปทีละขั้น
ในปี 1955 เริ่มขยายไปครอบคลุมครอบครัวอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นแรงงานในระบบ ปี 1961 ขยายไปให้เด็กที่เป็นลูกคนที่ 2 ของครอบครัวเป็นต้นไป แต่ยังยกเว้นเด็กในครอบครัวรายได้สูงและครอบครัวที่รับราชการ ถัดมาในปี 1975 โครงการก็เข้าสู่ก้าวสำคัญ นั่นคือการขยายไปสู่เด็กทุกคนในครอบครัว แต่ก็ยังไม่ถือว่าให้เด็กทั้งประเทศถ้วนหน้าเสียทีเดียว เพราะยังคงจำกัดเพดานรายได้ครอบครัวที่มีสิทธิได้รับเงิน แต่รัฐบาลก็ค่อยๆ ขยับเพดานรายได้สูงขึ้น และปรับปรุงแก้ไขคุณสมบัติผู้มีสิทธิเป็นระยะๆ ให้ครอบคลุมเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ
จนกระทั่งปี 2012 เงินอุดหนุนเด็กจึงถ้วนหน้าอย่างสมบูรณ์ เมื่อรัฐบาลตัดสินใจยกเลิกการกำหนดเพดานรายได้ครอบครัวที่มีสิทธิรับเงิน
อย่างไรก็ตาม ทางการเปิดช่องให้ครอบครัวที่ไม่ประสงค์รับเงินแสดงความจำนงไม่รับได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ได้อะไรเลย เพราะคนที่เลือกไม่รับเงินก้อนนี้ จะเข้าสู่โครงการ Kinderfreibetrag ซึ่งเป็นการให้ค่าลดหย่อนภาษีสำหรับการมีบุตรแทน โดยส่วนมาก ครอบครัวที่รายได้สูงมักเลือกที่จะไม่รับเงินจาก Kindergeld แล้วไปรับสิทธิ Kinderfreibetrag แทน เพราะมูลค่าที่ได้จากการลดหย่อนภาษีของกลุ่มคนรวย มักจะสูงกว่าจำนวนเงินที่ได้จาก Kindergeld
นอกจาก Kindergeld และ Kinderfreibetrag แล้ว เยอรมนียังมีโครงการอื่นๆ ที่ให้เงินอุดหนุนเด็กอีก อาทิ Elterngeld ซึ่งให้เงินสำหรับเด็กแรกเกิด
:: สหราชอาณาจักร – ได้เงินถ้วนหน้า แต่คัดกรองคนรวย ::
ถ้าอยากได้รับเงินจากรัฐบาลในช่วงวัยเด็ก สหราชอาณาจักรก็เป็นอีกประเทศที่น่าสนใจ
โครงการให้เงินอุดหนุนเด็กของสหราชอาณาจักรคือโครงการ Child Benefit โดยถ้าเป็นลูกคนแรกจะได้รับเงินในอัตรา 21.15 ปอนด์ (980 บาท) ต่อสัปดาห์ และถ้าเป็นลูกคนที่ 2 เป็นต้นไป จะได้ 14 ปอนด์ (600 บาท) ต่อสัปดาห์ โดยจะได้รับเงินโอนให้เป็นรายเดือน ตั้งแต่แรกเกิดจนมีอายุครบ 16 ปี แต่ถ้าหลังจากนั้นยังคงเรียนหนังสืออยู่ ก็มีสิทธิได้รับเงินไปจนถึงอายุ 20 ปี
เช่นเดียวกับเยอรมนี กว่าที่เงินอุดหนุนเด็กของสหราชอาณาจักรจะเป็นแบบถ้วนหน้า ก็ผ่านอะไรมามากมาย เริ่มจากปี 1909 ตอนนั้นยังคงอยู่ในรูปของค่าลดหย่อนภาษี แต่ก็เกิดปัญหาว่าคนจนที่ไม่เข้าเกณฑ์เสียภาษีไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธินี้ ทำให้ในปี 1946 มีการริเริ่มโครงการแจกเงินอุดหนุนเด็กขึ้นมา โดยจ่ายเงินให้สำหรับลูกคนที่ 2 ของทุกครอบครัวเป็นต้นไป และมีการขยับอัตราเงินเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 1975 ถึงได้พัฒนามาสู่การแจกเงินอุดหนุนถ้วนหน้าแก่เด็กทุกคนทุกครอบครัว ในชื่อโครงการ Child Benefit แต่ด้วยปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ การให้เงินถ้วนหน้าในทางปฏิบัติจริงๆ จึงไม่ได้เกิดในปี 1975 ทันที แต่ขยับช้าไปเล็กน้อยถึงปลายทศวรรษ 1970s
อย่างไรก็ตาม ในปี 2013 โครงการ Child Benefit ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ อย่างการกำหนดเพดานรายได้ของครอบครัว เพื่อลดงบประมาณและหนี้สาธารณะของประเทศ โดยกำหนดให้ครอบครัวที่พ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งมีรายได้ต่อปีเกิน 50,000 ปอนด์ (2.3 ล้านบาท) จะต้องเสียภาษีจากเงินอุดหนุนที่ได้รับ ยิ่งรายได้มาก ก็ยิ่งเสียมาก และถ้าหากมีรายได้เกิน 60,000 ปอนด์ (2.8 ล้านบาท) ต่อปี จะต้องเสียภาษี 100% โครงการจึงเปิดช่องให้คนกลุ่มนี้สามารถเลือกไม่รับเงินเลยตั้งแต่แรกได้ เพื่อไม่ต้องเสียเวลาไปจ่ายเงินคืนทีหลัง หรือคนที่มีรายได้ไม่ถึง แต่ไม่ประสงค์รับเงินก้อนนี้ ก็เลือกที่จะไม่รับเงินเลยได้เหมือนกัน
ถึงแม้จะมีการคัดกรองคนรวยออกบางส่วน แต่ทุกวันนี้ โครงการ Child Benefit ก็สามารถครอบคลุมเด็กได้เกินกว่า 90% ของทั้งประเทศ
:: มองโกเลีย – ได้เงินถ้วนหน้า แต่คัดกรองคนรวย ::
การแจกเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้าไม่ได้มีแค่ในกลุ่มประเทศรายได้สูงเท่านั้น แต่ประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลางก็มีโครงการแบบนี้เช่นกัน หนึ่งในนั้นคือประเทศมองโกเลีย
มองโกเลียมีโครงการจ่ายเงินอุดหนุนเด็กในชื่อภาษาอังกฤษว่า Child Money Program (CMP) โดยในปัจจุบันให้เงินอยู่ที่ 20,000 ทูกริก (235 บาทต่อเดือน) ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี
นโยบายเงินอุดหนุนเด็กของมองโกเลียก็มีพัฒนาการมาหลายขั้น เริ่มจากยุคเริ่มแรกในปี 1962 เป็นการจ่ายเงินให้สำหรับครอบครัวที่มีลูก 4 คนขึ้นไปเท่านั้น จึงมีปัญหาว่าคนจนที่ไม่ได้มีลูกมาก ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิตรงนี้ได้ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปี 2005 เมื่อมองโกเลียริเริ่มโครงการเงินอุดหนุน แต่มีการกำหนดเงื่อนไขรับเงินไว้หลายข้อ เช่น ต้องมีรายได้ต่ำ ต้องอยู่ในระบบการศึกษา และต้องได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ด้วยฐานข้อมูลที่ไม่แม่นยำ ทำให้เกิดปัญหาเด็กตกหล่นจากการคัดกรองจำนวนมาก
ถัดจากนั้นเพียง 1 ปี รัฐบาลจึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนรูปแบบการแจกเงินอุดหนุนสู่ระบบถ้วนหน้า ด้วยแนวคิดที่ต้องการเพิ่มจำนวนประชากร จนกระทั่งริเริ่มแจกเงินเด็กแบบถ้วนหน้าได้จริง เมื่อเข้าสู่ปี 2007
แต่ก็คล้ายกับสหราชอาณาจักร ในปี 2016 มองโกเลียมีแนวคิดปรับเปลี่ยนรายละเอียดโครงการ เพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดิน ด้วยการตั้งเกณฑ์เพดานรายได้ขึ้นมา ในรูปแบบ Poverty Mean Test (PMT) คัดกรองเด็กจากครอบครัวรายได้สูงบางส่วนออกจากโครงการ โดยมีบางครั้งที่มีการขยับเพดานรายได้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนเด็กให้ครอบคลุมมากขึ้นบ้าง นอกจากนี้ ยังเปิดช่องให้ครอบครัวที่เข้าเกณฑ์สามารถแสดงความสมัครใจไม่รับเงินอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนมาสู่การคัดกรองคนรวยออกในภายหลังนี้ ก็มีรายงานว่าทำให้กลับมาเกิดปัญหาเด็กบางส่วนตกหล่นจากกระบวนการคัดกรองอีก ด้วยฐานข้อมูลที่ยังคงบกพร่อง เช่นในปี 2019 มีเด็กที่เข้าเกณฑ์โครงการทั้งหมด 990,000 คน จากเด็กทั้งหมด 1,150,000 คนในประเทศ แต่พบว่ายังมีเด็กอีกราว 30,000 คนที่ตกหล่นจากคัดกรอง
:: เนปาล – กำลังได้เงินถ้วนหน้าทีละพื้นที่ ::
อีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจก็คือเนปาล ถึงตอนนี้เด็กทุกคนจะยังไม่ได้รับเงินจากรัฐบาลอย่างถ้วนทั่ว แต่รัฐบาลก็ตั้งใจว่าจะทำให้เงินอุดหนุนเป็นแบบถ้วนหน้าภายในปี 2025
เนปาลริเริ่มโครงการเงินอุดหนุนเด็กในปี 2009 โดยมีความตั้งใจจะให้เงินถ้วนหน้าตั้งแต่ตอนนั้น แต่ยังทำไม่ได้เพราะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ รัฐบาลจึงใช้วิธีทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเลือกทำโครงการทีละพื้นที่ เริ่มนำร่องจากเขต Karnali ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดของประเทศก่อน ส่วนในพื้นที่อื่นๆ นั้น ก็มีการให้เงินเหมือนกัน แต่ยังจำกัดเฉพาะเด็กที่อยู่ในวรรณะดาลิต (Dalit) ซึ่งเป็นวรรณะล่างสุดของสังคมเนปาล นอกจากนี้ ในช่วงเริ่มต้นยังจำกัดการให้เงินอยู่แค่เด็กจำนวน 2 คนต่อครอบครัว จนกระทั่งมีการขยายให้ครอบคลุมเด็กทุกคนในครอบครัวในเวลาต่อมา ทั้งนี้โครงการให้เงินกับเด็กตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 5 ปี
ถัดมาในปี 2016 รัฐบาลประกาศแผนที่จะทำให้โครงการมุ่งสู่ระบบถ้วนหน้าแบบเป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยวางแผน ขยับขยายโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้นไปทีละเฟส ให้สอดคล้องกับข้อจำกัดทางงบประมาณ และตั้งเป้าที่จะทำให้เด็กเนปาลทุกคนได้เงินถ้วนหน้าในปี 2025 ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไปว่ารัฐบาลจะบรรลุแผนนี้ได้สำเร็จหรือไม่
ปัจจุบันนี้ เด็กเนปาลในพื้นที่ที่อยู่ในขอบเขตของโครงการ ได้รับเงินคนละ 400 รูปีเนปาล (110 บาท) ต่อเดือน โดยได้รับเงินทุกๆ 4 เดือน จากข้อมูลล่าสุด โครงการดังกล่าวเข้าถึงเด็กเนปาลประมาณ 550,000 คน คิดเป็น 19.2% ของเด็กทั้งประเทศ
:: ไทย – ได้เงินแค่คนจน งบไม่พอให้ถ้วนหน้า ::
แล้วถ้าเกิดเป็นเด็กไทยวันนี้จะได้เงินเท่าไหร่?
ปัจจุบันนี้ เด็กไทยได้รับเงินในอัตรา 600 บาทต่อคนต่อเดือน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี ภายใต้โครงการ ‘เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด’ แต่ใช่ว่าจะได้ทุกคน เพราะตามเกณฑ์ ยังจำกัดให้เพียงครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีเท่านั้น
โครงการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นมาเมื่อปี 2015 โดยเริ่มจากให้เด็กอายุ 0-1 ปี สำหรับครอบครัวรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 36,000 บาทต่อปีเท่านั้น และให้ด้วยอัตรา 400 บาทต่อคนต่อเดือน ก่อนจะค่อยๆ ขยับขยายทั้งในรูปแบบการเพิ่มอัตราเงิน การขยายเพดานอายุเด็ก และการขยายเพดานรายได้ครอบครัว จนกระทั่งอยู่ที่อัตราและเกณฑ์ในปัจจุบันซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2019 โดยล่าสุดโครงการนี้ครอบคลุมเด็กประมาณ 1.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 43 ของทั้งประเทศ
หลายฝ่ายพยายามผลักดันให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบถ้วนหน้า โดยในภาคการเมือง พรรคการเมืองบางพรรคชูประเด็นนี้ขึ้นมาในการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2019 เช่น พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ จนกระทั่งได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลในเวลาต่อมา ถัดมาในปี 2020 คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) มีมติส่งเรื่องให้ ครม.พิจารณา เพื่อปรับโครงการสู่ระบบถ้วนหน้าในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งทางฝั่งรัฐบาลก็ให้คำมั่นสัญญาที่จะผลักดันเรื่องนี้
แต่แล้ว แนวคิดเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าก็ไม่ได้ปรากฏในร่างงบประมาณปี 2565 โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าเป็นเพราะมีงบประมาณไม่เพียงพอ เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19!
เงินอุดหนุนที่จะให้เด็กเล็กทุกคนอย่างถ้วนทั่วโดยไม่ต้องคัดกรองรายได้ จึงหายเข้าไปในกลีบเมฆ และไม่รู้เมื่อไหร่ที่เด็กเล็กของไทยทุกคนจะได้รับสวัสดิการจากรัฐทั่วถึงอย่างแท้จริง
:: ทำอย่างไร เด็กเล็กถึงจะได้เงินอุดหนุนกันถ้วนหน้า? ::
ทุกวันนี้มีประมาณ 30 ประเทศทั่วโลกที่ให้เงินอุดหนุนเด็กแบบถ้วนหน้าแล้ว รวมถึงประเทศที่เรายกตัวอย่างมา ได้แก่ เยอรมนี สหราชอาณาจักร และมองโกเลีย ขณะที่เนปาลก็กำลังอยู่บนเส้นทางที่จะไปสู่เงินอุดหนุนถ้วนหน้าในอนาคตอันใกล้
แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ของแต่ละประเทศที่ใช้ระบบเงินอุดหนุนถ้วนหน้า คือแทบไม่มีประเทศไหนเลย ที่จะแจกเงินเด็กแบบถ้วนหน้าได้ทันทีตั้งแต่เริ่มแรก ด้วยเหตุผลหลักเหตุผลหนึ่งคือต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เราอาจเห็นประเด็นนี้ได้ชัดที่สุดในกรณีของเนปาล ที่มีความตั้งใจอยากจะให้เงินถ้วนหน้าตั้งแต่แรก แต่ด้วยงบประมาณที่ยังไม่พอ จึงต้องค่อยๆ ขยับขยายอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้ฐานเป็นเขตพื้นที่
ขณะที่หลายประเทศอาจไม่ได้มีความคิดที่จะให้เงินถ้วนหน้ามาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ก็ค่อยๆ ขยายโครงการให้ครอบคลุมเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งที่ไปสู่ระบบถ้วนหน้าได้ในที่สุด โดยแนวทางการขยับขยายโครงการก็มีอยู่หลากหลายวิธี เช่น การค่อยๆ ขยับเพดานรายได้ครอบครัวผู้มีสิทธิให้สูงขึ้น ซึ่งใช้ในเยอรมนีและมองโกเลีย การค่อยๆ ขยายโครงการไปครอบคลุมเด็กทีละคนในแต่ละครอบครัว อย่างการขยับจากการให้เพียงลูกคนท้ายๆ จนค่อยๆ มาครอบคลุมถึงลูกคนโตสุด อย่างที่ทำในเยอรมนีและสหราชอาณาจักร ขณะที่เนปาลที่แต่เดิมจำกัดสิทธิให้ลูกแค่ 2 คน ก็เปลี่ยนมาสู่ลูกทุกคนในที่สุด และอีกวิธีหนึ่งคือการเปลี่ยนรูปแบบการให้เงิน เช่นการเปลี่ยนจากการลดหย่อนภาษีเป็นการแจกเงินในสหราชอาณาจักร
หากย้อนกลับมามองประเทศไทย เราก็เห็นได้เช่นกันว่า ไม่ได้เป็นเงินอุดหนุนถ้วนหน้าทันทีตั้งแต่แรกเริ่ม แต่ก็ได้รับการผลักดันจนเกิดการขยับขยายขึ้นมาต่อเนื่อง โดยแนวทางที่ประเทศไทยใช้ที่ผ่านมา ได้แก่ การขยายเพดานรายได้ครอบครัวผู้มีสิทธิรับเงิน จากแรกสุดอยู่ที่ 36,000 บาทต่อปี จนขยับมาอยู่ที่ 100,000 บาทในปัจจุบัน และอีกแนวทางหนึ่งก็คือการขยายเพดานอายุเด็กจากแรกเริ่มที่ให้แค่เด็กอายุไม่เกิน 1 ปี จนปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกิน 6 ปี โดยแนวทางการขยายอายุนี้ พบว่าเคยมีการใช้ในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ไปถึงเงินอุดหนุนถ้วนหน้า
ตามแผนเดิม ประเทศไทยจะต้องก้าวเข้าสู่ระบบเงินหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าในปีงบประมาณ 2565 ที่จะถึงนี้ แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่สามารถไปถึงได้ โดยรัฐบาลอ้างเหตุผลถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณ ขณะที่หลายภาคส่วนก็แย้งว่าข้ออ้างนี้ไม่สมเหตุสมผล เพราะประเทศไทยยังคงมีงบประมาณเพียงพอที่จะทำได้อยู่ และควรทำทันทีด้วยซ้ำ เพราะมีเด็กเล็กจำนวนมากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการได้เหมือนช่วงวัยอื่นๆ
แต่หากยังไม่สามารถทำเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้เป็นถ้วนหน้าทันที อย่างน้อยที่สุด เราพอจะวางแผนเดินหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไปเหมือนประเทศอื่นๆ ได้หรือไม่ และมีแนวทางไหนที่ทำได้บ้าง?
แนวทางหนึ่งที่อาจทำได้คือขยายเพดานรายได้ครอบครัวขึ้นไปอีก ซึ่งแนวทางนี้ก็ปรากฏในข้อเสนอของรัฐบาลเช่นกัน โดยเสนอว่าอาจขยับเพดานรายได้ขึ้นจาก 100,000 บาทต่อปีเป็น 200,000 บาทต่อปีก่อนในเบื้องต้น
อีกแนวทางหนึ่งก็คือการเปลี่ยนรูปแบบการอุดหนุน แต่การต้องออกแบบสวัสดิการในรูปแบบหน้าตาใหม่ซึ่งต้องใช้เวลา ภายใต้ช่วงเวลาที่กำลังเร่งด่วนในตอนนี้ จึงอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก
นอกจากนี้ เนื่องจากสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กของไทยครอบคลุมทุกพื้นที่และเด็กทุกคนในครัวเรือนอยู่แล้ว แนวคิดที่จะขยายสวัสดิการทีละพื้นที่ และขยายความครอบคลุมเด็กทีละคนในครัวเรือน จึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ประเทศไทยต้องพิจารณา ขณะที่เพดานอายุเด็กของไทยก็อยู่ที่ 6 ปี ซึ่งถือว่าเป็นอายุสูงสุดสำหรับเด็กในช่วงวัยเด็กเล็กแล้ว ส่วนเด็กที่อายุ 6 ปีขึ้นไปก็ได้รับสวัสดิการถ้วนหน้าในรูปของนโยบายเรียนฟรีอยู่แล้ว การขยายเพดานอายุจึงไม่อาจเป็นแนวทางสำหรับไทยได้อีกต่อไป
จากทั้งหมดนี้ แนวทางการขยายเพดานรายได้ครอบครัวอาจดูเป็นไปได้ที่สุดในตอนนี้ แต่ก็ยังมีเสียงคัดค้านว่า ในช่วงเวลาวิกฤตอย่างนี้ การให้สวัสดิการเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า โดยไม่คัดกรองใครออกเลย ก็ยังเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพราะการันตีได้ว่าเด็กเล็กทุกคนจะได้รับเงินถ้วนทั่วโดยไม่เกิดปัญหาคนจนตกหล่นจากการคัดกรอง เงินอุดหนุนถ้วนหน้าสำหรับเด็กเล็กจึงต้องเริ่มทันที โดยถึงแม้จะไม่ทันบรรจุในร่างงบประมาณปี 2565 แต่ก็ยังมีอีกทางออกหนึ่งคือการใช้ ‘งบกลาง’ ทดแทนก่อน
ขณะที่บางส่วนก็เสนอว่า สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กควรเป็นถ้วนหน้าให้ได้ก่อน อย่างน้อยที่สุดในช่วงราว 2-3 ปีนี้ ซึ่งยังเป็นช่วงวิกฤตที่มีความจำเป็นสูง หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณา โดยอาจจะยังคงความเป็นถ้วนหน้าต่อไปได้ เพราะในระยะยาว ด้วยจำนวนประชากรเด็กเล็กที่จะลดลงต่อเนื่อง งบประมาณที่ใช้ก็จะลดลงตามไปด้วย
หรือไม่เช่นนั้น ก็มีอีกแนวทางหนึ่งคือการคัดครอบครัวฐานะดีออกจากโครงการในภายหลัง เพื่อลดภาระงบประมาณ ซึ่งการคัดกรองครอบครัวรายได้สูงออกทีหลังแบบนี้จะทำได้ง่ายกว่าการให้ครอบครัวรายได้ต่ำต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความจน ซึ่งมีโอกาสทำคนตกหล่นเยอะกว่า แนวทางนี้พบในประเทศมองโกเลียและสหราชอาณาจักร
อย่างไรก็ตาม การใช้วิธีนี้อาจจะต้องมั่นใจว่าจะมีฐานข้อมูลที่แม่นยำในอนาคต เพราะไม่อย่างนั้นก็จะกลับมาเกิดปัญหาเด็กตกหล่นได้อีกเหมือนอย่างมองโกเลีย ขณะที่ประเทศไทยก็มีปัญหาเรื่องฐานข้อมูลมาตลอด จึงมีแนวโน้มสูงที่จะเกิดปัญหาเดียวกันหากใช้วิธีนี้ และยังคงขัดแย้งกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) ของสหประชาชาติ ที่มีหลักการว่าต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อเด็ก
แต่ก็มีอีกแนวทางหนึ่งที่อาจช่วยประหยัดงบประมาณได้ ก็คือยังคงให้ถ้วนหน้า แต่เปิดช่องให้ครอบครัวสามารถแสดงความสมัครใจเลือกไม่รับเงินอุดหนุนได้ ซึ่งพบว่ามีการใช้ในหลายประเทศอย่างเยอรมนี สหราชอาณาจักร และมองโกเลีย นี่จึงอาจเป็นอีกหนทางหนึ่งที่น่าพิจารณา โดยอาจจะต้องคิดในรายละเอียดต่อไปว่า สำหรับครอบครัวที่ประสงค์ไม่รับเงิน จะมีช่องทางอื่นให้เป็นทางเลือกหรือไม่ เหมือนอย่างที่เยอรมนีทำ
เมื่อขยับออกไปมองตัวอย่างในต่างประเทศ เราจะเห็นว่าทางออกของประเทศไทยที่จะทำให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กไปสู่ระบบถ้วนหน้าได้ มีอยู่มากมายหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็แล้วแต่ อย่างน้อยที่สุดในวันนี้ ประชาชนอาจต้องการที่จะได้ยินการสื่อสารอย่างชัดเจนของรัฐว่าจะมีแนวทาง ขั้นตอน และลำดับเวลาที่เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ได้ยินเพียงคำสัญญาที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่ เพราะในห้วงเวลาแห่งวิกฤต และโลกอนาคตหลังวิกฤตที่กำลังจะเปลี่ยนหน้าคร่าตาไปมหาศาลนี้ การลงทุนเพื่อ ‘อนาคตของชาติ’ ไม่ควรเป็นเรื่องที่ต้องรออย่างไร้จุดหมาย
อ้างอิง
Antonio Franco Garcia and Thakur Dhakal – Paying it forward: Expanding universal child grants in Nepal
https://blogs.unicef.org/blog/paying-forward-expanding-universal-child-grants-nepal/
Gov.uk – Child Benefit
https://www.gov.uk/child-benefit
Kindergeld
Revenue Benefits (UK) – Child Benefit and Guardian’s Allowance: Where it all started
https://revenuebenefits.org.uk/child-benefit/policy/where_it_all_started/
TDRI – สวัสดิการเด็กเล็ก…ทำไมต้องถ้วนหน้า
https://tdri.or.th/kids-welfare/
UNICEF – An Expansion Strategy for Nepal’s Child Grant
https://www.unicef.org/nepal/reports/expansion-strategy-nepals-child-grant
UNICEF – Thailand Child Support Grant (CSG) Impact Assessment Endline Report
UNICEF – Universal Child Benefits: Policy Issues and Options
https://www.unicef.org/reports/universal-child-benefits-2020
UNICEF – Universal Child Benefit Case Studies: The Experience of Mongolia
https://www.unicef.org/media/70471/file/MNG-case-study-2020.pdf
UNICEF – Why a universal child Grant makes sense for Nepal
https://www.unicef.org/nepal/reports/why-universal-child-grant-makes-sense-nepal