อุปสรรคของเยาวชนชายแดนใต้ ในกำแพงของความมั่นคง : ข้อมูลจากการสำรวจเยาวชน 2022

ประเด็นสำคัญ

  • จำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบในปัจจุบันเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้วลดลงอย่างมาก แต่เด็กและเยาวชนยังคงถูกคุกคามจากรัฐ ในนามของกฎหมายพิเศษ เช่น การจับกุม/ควบคุมตัว การตรวจ DNA เด็กโดยไม่ได้รับความยินยอมจากแม่เด็ก
  • เด็กและเยาวชนชายแดนใต้ ยังเจออุปสรรคในชีวิตทั้งด้านรายได้ การศึกษา และสุขภาพ มากกว่าเยาวชนกลุ่มอื่นๆ อุปสรรคเหล่านี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น
  • แม้เยาวชนชายแดนใต้จะเผชิญอุปสรรคใกล้ตัวมากมาย แต่ยังมีความหวังในการสร้างสังคมที่ดีกว่า จากสัดส่วนการมีส่วนร่วมทางการเมืองหรืออาสาสมัครของเยาวชนชายแดนใต้ที่สูงกว่ากลุ่มอื่น

พื้นที่ ‘ชายแดนใต้’ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ปมความขัดแย้งในพื้นที่มีจุดกำเนิดย้อนกลับไปไกล ตั้งแต่ที่ดินแดนปาตานีได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม การรวมศูนย์อำนาจและกลืนอัตลักษณ์มาเลย์มุสลิมด้วยอัตลักษณ์แบบไทยก่อร่างเป็นกระแสความไม่พอใจของคนในพื้นที่ที่มีมาอย่างยาวนาน [1]ปริญญา นวลเปียน และนิพนธ์ โซะเฮง. (2005). ความเป็นมาของปัญหาภาคใต้และทางออก … Continue reading

แม้ตลอดประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง จะมีการใช้ความรุนแรงอยู่เนืองๆ แต่ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ในปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นสำคัญอาจเริ่มต้นนับตั้งแต่เหตุการณ์ ‘ปล้นปืน’ ค่ายปิเหล็งในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 ตามมาด้วยเหตุการณ์ล้อมปราบผู้ก่อความไม่สงบในมัสยิดกรือเซะ และเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบในเดือนเมษายนและตุลาคมปีเดียวกัน หลังจากนั้น ความไว้วางใจระหว่างชาวพุทธและมุสลิมเสื่อมถอยลง แทนที่ด้วยความหวาดกลัวและอาวุธปืน [2]จันจิรา สมบัติพูนศิริ. (2009). เพราะปืนคือความมั่นคง … Continue reading เมื่อผนวกรวมกับปัญหาด้านเศรษฐกิจภายในพื้นที่ อันเป็นผลมากจากการเปลี่ยนผ่านสู่วิถีชีวิตที่ขึ้นอยู่กับระบบตลาดสินค้าเกษตรที่มีความเปราะบาง [3]ดูประเด็นนี้เพิ่มเติมได้ที่ ชลิตา บัณฑุวงศ์. (ม.ป.ป). … Continue reading ส่งผลให้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีปัญหาซับซ้อนเป็นอย่างมาก ซึ่งย่อมย้อนกลับมากระทบกับครอบครัว โดยเฉพาะการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ที่จะต้องเป็นกำลังหลักต่อไป

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็ก (คิด for คิดส์) โดย 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ชวนทำความเข้าใจอุปสรรคในชีวิตของเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ทั้งสภาพความเป็นอยู่ สุขภาพ และการศึกษา จากผลสำรวจเยาวชน 2022 (Youth Survey 2022) รวมถึงการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาของเยาวชน ในกำแพงกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงที่รัฐตั้งขึ้น

เด็กและเยาวชนชายแดนใต้เติบโตท่ามกลางความรู้สึกไม่ปลอดภัย

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบภายในจังหวัดชายแดนใต้บรรเทาลงอย่างมาก โดยในปี 2012 ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบถึง 1,850 ครั้ง แต่ในปี 2022 เหตุการณ์ความไม่สงบลดลงเหลือ 158 ครั้งเท่านั้น [4]ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) สืบค้นวันที่ 1 ธันวาคม 2022. อย่างไรก็ตาม พัฒนาการดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่จะราบรื่นและปลอดภัย

ความปลอดภัยในชีวิตของผู้คนในสามจังหวัดไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ‘กลุ่มผู้ก่อการ’ เพียงอย่างเดียว หากแต่เกิดขึ้นจากน้ำมือของรัฐไทยเองด้วย ซึ่งในกลุ่มที่ถูกคุกคามนี้รวมถึงเด็กและเยาวชนในพื้นที่ด้วย

กลไกสำคัญที่ทำให้รัฐส่วนกลางสามารถควบคุมประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ คือ กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง ที่บังคับใช้ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน ประกอบด้วยกฎหมาย 3 ฉบับคือ พ.ร.บ. กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457, พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือที่รู้จักกันในชื่อ กอ.รมน.

การบังคับใช้กฎหมายทั้ง 3 ฉบับเพิ่มอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในการจัดการสถานการณ์ความไม่สงบ โดย พ.ร.บ. กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจจับกุม/ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ตรวจค้นอาคารหรือสถานที่ต่างๆ ตรวจสอบสิ่งพิมพ์ หนังสือ หรือเครื่องมือสื่อสาร และการเรียกบุคคลใดก็ได้เพื่อให้ข้อมูล มอบเอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบได้ ส่วนทางด้าน พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร แม้กฎหมายไม่ได้กำหนดอำนาจต่างๆ อย่างชัดเจนแบบกฎหมาย 2 ฉบับแรก แต่ก็ได้ระบุในมาตราที่ 15 ว่าหากมีเหตุการณ์ความไม่สงบแต่ยังไม่จำเป็นต้องประกาศเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ กอ.รมน. มีอำนาจในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง หรือบรรเทาได้

ปัญหาของการใช้กฎหมายพิเศษคือการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ หรือกระทั่งคุกคามประชาชนโดยเจ้าที่รัฐอย่างไม่ชอบธรรม และอาจเกิดการตีความใช้อำนาจเกินเลยกว่ากฎหมายกำหนด นอกจากพ่อแม่และญาติๆ ที่ถูกคุกคามแล้ว ที่ผ่านมาเด็กและเยาวชนก็ถูกคุกคามด้วยเช่นกัน (ภาพที่ 1) ในช่วงปี 2005 – 2018 มีเด็ก 127 คนถูกควบคุมตัวและอีก 16 คนถูกจับกุม [5]กลุ่มด้วยใจ. (2018). สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ ประเทศไทย. ตลอดจนการใช้อำนาจเกินกฎหมายในการข่มขู่แม่ของเด็กอายุ 10 ขวบ เพื่อตรวจ DNA ของเด็กเพื่อหาเบาะแสผู้ก่อความไม่สงบ [6]’ก้าวไกล’ เรียกร้องทหารหยุดละเมิดสิทธิ หลังเก็บ DNA เด็กทารก 10 เดือน,” … Continue reading การตรวจ DNA เด็กนอกจากจะเป็นการกระทำนอกกฎหมายแล้ว ยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามหลักการในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วย ‘สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง’ กับ ‘สิทธิในการไม่ถูกเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ’ อีกด้วย [7]ชนาธิป ตติยการุณวงศ์. (2019). เอกสารชุดความรู้: การบังคับเก็บ DNA … Continue reading

ภาพที่ 1: ปัญหาความไม่ปลอดภัยของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้

ต้นทุนชีวิตเยาวชนชายแดนใต้เสียเปรียบตั้งแต่เริ่มต้น

มาตรการที่รัฐใช้ในการควบคุม-คุกคามเด็กและเยาวชนชายแดนใต้ แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของรัฐไทยที่มองว่าเด็กและเยาวชนชายแดนใต้มีโอกาสที่จะก่อความไม่สงบ จึงใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อธำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อย ทัศนคติดังกล่าวทำให้การพัฒนาด้านอื่นๆ จากรัฐส่วนกลางมักมีเหตุผลด้านความมั่นคงแฝงอยู่เสมอ ส่งผลให้การพัฒนาชายแดนใต้ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างระบบนิเวศของการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้

ผู้เขียนใช้ข้อมูลการสำรวจเยาวชน (Youth Survey 2022) ซึ่งมีเยาวชนตอบแบบสอบถามจำนวน 19,237 รายทั่วประเทศ โดยมี 381 รายที่ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อวิเคราะห์ให้เห็นถึงอุปสรรคในการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่

เมื่อแบ่งกลุ่มรายได้ครอบครัวทั่วประเทศออกเป็น 5 กลุ่มตามลำดับรายได้จะพบว่า เยาวชนชายแดนใต้ถึง 2 ใน 3 อยู่ในกลุ่มครอบครัวรายได้น้อยที่สุด (ควินไทล์ 1) ต่างกับเยาวชนภาคใต้และเยาวชนทั้งประเทศที่อยู่ในกลุ่มนี้เพียง 28.9% และ 19.7% ตามลำดับ (ภาพที่ 2) สอดคล้องกับข้อมูลอัตราความยากจนของสำนักงานสถิติปี 2021 ที่รวมเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีด้วย ซึ่งพบว่ามีเด็กและเยาวชนชายแดนใต้ถึง 28.0% ที่มีฐานะยากจน สูงกว่าอัตราความยากจนของเด็กและเยาวชนเฉลี่ยทั้งประเทศที่มีค่า 11.5% กว่าเท่าตัว [8] … Continue reading (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 2: สัดส่วนเยาวชนตามระดับรายได้ครัวเรือน (ควินไทล์) และสัดส่วนเยาวชนที่รายงานว่าที่อยู่อาศัยของตนไม่เหมาะสม
ภาพที่ 3: สัดส่วนเด็กและเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวยากจน

ที่มา: ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน 2021

นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาความเหมาะสมของที่อยู่อาศัยของเยาวชนตามที่พวกเขารับรู้ พบว่าที่อยู่อาศัยของเยาวชนชายแดนใต้ 28.4% ไม่ทนทานต่อสภาพอากาศ (ภาคใต้ 19.3% ประเทศ 22.4%) สิ่งแวดล้อมโดยรอบสกปรก ผิดหลักสุขอนามัย 24.8% (ภาคใต้ 15.3% ประเทศ 13.1%) รวมถึงไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน 18.0% (ภาคใต้ 9.7% ประเทศ 10.5%) นอกจากนี้ ที่อยู่อาศัยของเยาวชนชายแดนใต้ราว 24.8% ยังไม่มีน้ำประปา ซึ่งสูงกว่าครัวเรือนทั่วประเทศที่เข้าไม่ถึงน้ำประปาเพียง 6.0% ทั้งนี้เยาวชนชายแดนใต้กว่า 40.7% ยังรายงานว่า ไม่มีพื้นที่ส่วนตัวในบ้านของตัวเอง ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไปกว่าเท่าตัว

ภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูง สวนทางกับคุณภาพ

ปัญหาด้านรายได้ของเยาวชนชายแดนใต้ส่งผลให้ต้นทุนในชีวิตรวมถึงการพัฒนาเยาวชนสูงโดยเปรียบเทียบด้วย อาทิ แม้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้จะมีค่าเฉลี่ย 2,423 บาท/เดือน ซึ่งไม่แตกต่างนักจากค่าเฉลี่ยโดยรวมของภาคใต้ ที่เท่ากับ 2,106 บาท/เดือนและทั้งประเทศที่เท่ากับ 2,602 บาท/เดือน แต่ภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษากลับกลายเป็นการลงทุนที่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ที่พวกเขามี โดยมีค่าสูงถึง 25.8% ของรายได้ครอบครัวเยาวชนชายแดนใต้ ในขณะที่การลงทุนด้านการศึกษาต่อรายได้ในภาคใต้คิดเป็น 14.1% และค่าเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 13.0%

แม้ว่าการลงทุนด้านการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ถือเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ของพวกเขา แต่กลับได้รับคุณภาพการศึกษาที่ด้อยกว่าที่อื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ (ภาพที่ 4) ทั้งด้านอุปกรณ์และบุคลากร ดังนี้:

  • 51.5% เคยประสบปัญหาสื่อการสอนล้าสมัย (ภาคใต้ 40.2% ประเทศ 39.7%)
  • 50.2% เคยประสบปัญหาคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน (ภาคใต้ 35.0% ประเทศ 29.1%)
  • 48.9% เคยประสบปัญหาครูไม่มีความรู้เรื่องที่สอน (ภาคใต้ 40.7% ประเทศ 38.6%)
  • 69.6% เคยประสบปัญหาครูไม่มีเวลาสอน (ภาคใต้ 56.5% ประเทศ 55.2%)
ภาพที่ 4: สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อรายได้ครัวเรือน และสัดส่วนเยาวชนที่เคยเผชิญปัญหาด้านการศึกษา

เมื่อพิจารณาระดับการศึกษาที่เยาวชนแต่ละกลุ่มต้องการสำเร็จการศึกษาพบว่า เยาวชนแต่ละกลุ่มมีความต้องการสำเร็จระดับการศึกษาที่ใกล้เคียงกัน คือ ส่วนใหญ่ต้องการสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือเยาวชนชายแดนใต้ต้องการสำเร็จระดับการศึกษาไม่เกินมัธยมปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพียง 5.4% เท่านั้น (ภาคใต้ 8.7% ประเทศ 14.0%) และต้องการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปถึง 29.8% (ภาคใต้ 25.1% ประเทศ 25.5%) (ภาพที่ 5)

ภาพที่ 5: สัดส่วนเยาวชนที่ต้องการสำเร็จการศึกษาแต่ละระดับ

ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

แม้ว่าเยาวชนชายแดนใต้จะมีความใฝ่ฝันด้านการศึกษาที่มากกว่าเยาวชนพื้นที่อื่นเล็กน้อย แต่พวกเขากลับไม่มั่นใจอย่างมากว่าจะสามารถประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายของตน โดยเยาวชนชายแดนใต้ 41.4% ไม่มั่นใจว่าตนจะเรียนจบได้ตามที่ตัวเองต้องการ (ภาคใต้ 30.7% ประเทศ 34.2%) (ภาพที่ 6) เมื่อเจาะลึกในกลุ่มเยาวชนที่ไม่มั่นใจว่าจะเรียนจบตามที่ตัวเองต้องการจะพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่มากจากความกังวลว่าจะมีรายได้ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนชายแดนใต้ (ภาพที่ 7)

ภาพที่ 6: สัดส่วนเยาวชนที่ไม่มั่นใจว่าตนจะเรียนจบได้ตามที่ต้องการที่

ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

ภาพที่ 7: สัดส่วนสาเหตุที่ทำให้เยาวชนไม่มั่นใจว่าจะเรียนจบตามที่ต้องการ

ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

อีกหนึ่งปัญหาเฉพาะตัวที่เกิดขึ้นของระบบการศึกษาชายแดนใต้คือมักเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งระหว่างรัฐกับผู้ก่อความไม่สงบด้วย เช่น การตรวจค้นโรงเรียนสอนศาสนาเพื่อค้นหาเบาะแสของผู้ก่อความไม่สงบ การเก็บข้อมูลรายชื่อครูและถ่ายรูปนักเรียน การจับกุมหรือควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยภายในโรงเรียน การตรวจ DNA เด็กและบุคลากรการศึกษา เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวทำให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัย เด็ก ครู หรือผู้บริหารหวาดระแวง ครูไม่สามารถสอนหนังสือได้อย่างเต็มที่ เด็กและเยาวชนชายแดนใต้ที่ไม่ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมย่อมเสียเปรียบเด็กและเยาวชนกลุ่มอื่นในระยะยาว

ล้อมกรอบ 1: เจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธเข้าไปเก็บข้อมูลครูและถ่ายรูปนักเรียน

วันที่ 10/02/2018 เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปในโรงเรียนตาดีกานูรุลอิหส้าน (เกาะแน) ในจังหวัดปัตตานี พร้อมอาวุธ โดยได้มีการถ่ายบัตรประชาชนครูผู้สอน และเก็บรายชื่อ/ถ่ายรูปเด็กด้วย ทั้งนี้โรงเรียนดังกล่าวจัดการเรียนการสอนศาสนาอิสลามด้วย (ที่มารูปภาพและเนื้อหา: กลุ่มด้วยใจ (2018) น.18)

เด็กและเยาวชนชายแดนใต้ยังมีปัญหาสุขภาพรุมเร้าทั้งกายและใจ

จากผลสำรวจเยาวชน 2022 ที่ให้เยาวชนประเมินระดับความเครียดในแต่ละเรื่องโดยให้คะแนน 0 เมื่อเครียดน้อยที่สุด และ 5 เมื่อเครียดมากที่สุด พบว่า เยาวชนชายแดนใต้ประเมินว่าตนเครียดเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ระดับ 3 เป็นต้นไป (เครียดค่อนข้างมาก-เครียดมากที่สุด) มากกว่าเด็กกลุ่มอื่นเกือบทุกเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องเงินที่มีสัดส่วนผู้ที่รู้สึกเครียด 83.3% (ภาคใต้ 65.5% ประเทศ 63.5%) ในเรื่องการศึกษา/ทำงานมีผู้ที่รู้สึกเครียด 78.3% (ภาคใต้ 67.6% ประเทศ 68.6%) และเรื่องสังคม/การเมืองมีผู้ที่รู้สึกเครียด 48.4% (ภาคใต้ 41.5% ประเทศ 43.3%)

ซ้ำร้ายเด็กชายแดนใต้ที่อายุ 0-5 ขวบมีภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) ในด้านภาวะโภชนาการที่ต่ำ (Undernutrition) กว่ากลุ่มอื่น โดย 23.5% อยู่ในภาวะเตี้ยปานกลางถึงเตี้ยมาก ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของภาคใต้และประเทศเกือบเท่าตัว (ภาคใต้ 12.9% ประเทศ 13.3%) เด็กชายแดนใต้ 19.0% มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ปานกลางถึงมาก (ภาคใต้ 9.8% ประเทศ 7.7%) 11.0% อยู่ในภาวะผอมแห้งปานกลางถึงมาก (ภาคใต้ 6.8% ประเทศ 7.7%)[9]สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2021). การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีใน 17 … Continue reading ภาวะโภชนาการต่ำในเด็กโดยเฉพาะช่วง 0 – 2 ขวบส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ของเด็กและผลิตภาพในอนาคต [10]Black, R. E., Victora, C. G., Walker, S. P., Bhutta, Z. A., Christian, P., de Onis, M., … Uauy, R. (2013). Maternal and child undernutrition and overweight in low-income and middle-income … Continue reading (ภาพที่ 8)

สังเกตได้ว่านอกจากปัญหาด้านรายได้และการศึกษาจะเป็นปัญหาในตัวมันเองแล้ว ยังส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อมิติอื่นๆ ด้วย กรณีภาวะโภชนาการที่ต่ำในเด็กก็มักมีสาเหตุหลักจากเรื่องความยากจน เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาด้านการศึกษาซ้ำเติม ย่อมส่งผลต่อรายได้ของเด็กในระยะยาวและกลายสภาพเป็นความยากจนข้ามรุ่น หรือกรณีของเยาวชนชายแดนใต้ที่มักจะเครียดเรื่องการศึกษากับเงินมากกว่าประเด็นอื่น ก็ย่อมเป็นผลทางตรงจากปัญหาด้านรายได้และการศึกษาในพื้นที่

อีกประเด็นที่เป็นปัญหาคือ ‘เด็กกำพร้าจากเหตุการณ์ความไม่สงบ’ โดยในช่วงปี 2004–2020 มีเด็กกำพร้าถึง 6,687 คน โดยส่วนใหญ่กำพร้าพ่อ ในกลุ่มเด็กกำพร้ามีถึง 27% ที่มีภาวะซึมเศร้า [11]ดวงหทัย บูรณเจริญกิจ. (2021). สถานการณ์เด็ก เยาวชน … Continue reading

ภาพที่ 8: สัดส่วนปัญหาสุขภาพของเด็กและเยาวชน

เยาวชนชายแดนใต้เผชิญอุปสรรครอบด้าน แต่ยังมีความหวัง
สร้างสังคมที่ดีกว่า

จากผลสำรวจเยาวชน 2022 ที่ให้เยาวชนประเมินความน่าเชื่อถือต่อสถาบันทางการเมืองต่างๆ โดย 0 หมายถึงน่าเชื่อถือน้อยที่สุด 5 คือน่าเชื่อถือมากที่สุดพบว่า เยาวชนชายแดนใต้โดยเฉลี่ยประเมินความน่าเชื่อถือของสถาบันทางการเมืองทุกๆ สถาบันต่ำพอๆ กับเยาวชนกลุ่มอื่น ในกรณีนักการเมือง กองทัพ และตำรวจ เยาวชนชายแดนใต้ประเมินความน่าเชื่อถือของสถาบันเหล่านี้ต่ำกว่าเยาวชนกลุ่มอื่นเล็กน้อย สะท้อนปัญหาความขัดแย้งหรือการไม่พัฒนาในชายแดนใต้ที่มีมานาน (ภาพที่ 9) ซึ่งสะท้อนกลับไปถึงการไม่ให้ความร่วมมือ หรือไม่ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองกับรัฐส่วนกลาง

ภาพที่ 9: ความน่าเชื่อถือของสถาบันทางการเมืองในสายตาเยาวชน (0 เชื่อถือน้อยที่สุด 5 น่าเชื่อถือมากที่สุด)

ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

อย่างไรก็ตาม เยาวชนชายแดนใต้มีจุดแข็งที่สำคัญกว่าในพื้นที่อื่นคือความรู้สึกยึดโยงกับพื้นที่ และยังมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาพื้นที่ของตนเองให้ดีขึ้น ในแง่ของการมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับท้องถิ่น 32.8% ของเยาวชนชายแดนใต้เคยร่วมประชุมเพื่อจัดการปัญหาท้องถิ่นในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (ภาคใต้ 22.3% ประเทศ 22.7%) 16.6% เคยจัดตั้งกลุ่มเพื่อลงมือแก้ปัญหาด้วยตนเองในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (ภาคใต้ 11.5% ประเทศ 11.4%)

ในแง่การเข้าร่วมอาสาสมัครต่างๆ พบว่าเยาวชนชายแดนใต้มีบทบาททำกิจกรรมทางสังคมมากกว่าเยาวชนโดยเฉลี่ยอย่างมาก โดย 81.6% เคยร่วมเป็นผู้นำนักเรียนหรือเยาวชน (ภาคใต้ 67.3% ประเทศ 58.5%) 79.9% เคยเป็นอาสาสมัครด้านสังคม (ภาคใต้ 68.0% ประเทศ 59.2%) และ 72.6% เคยเป็นอาสาสมัครด้านสิ่งแวดล้อม (ภาคใต้ 66.2% ประเทศ 56.0%) นอกจากนั้น จากคำถามที่ให้เยาวชนประเมินความสำคัญของเป้าหมายในชีวิต พบว่ามีเยาวชนชายแดนใต้มีเพียง 37.5% เท่านั้นที่ประเมินว่าเป้าหมายการย้ายประเทศของตนมีความสำคัญ (ภาคใต้ 54.6% ประเทศ 62.5%) (ภาพที่ 10)

ภาพที่ 10: สัดส่วนเยาวชนที่เคยมีส่วนร่วมทางการเมือง เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม และสัดส่วนเยาวชนที่อยากย้ายประเทศ

รัฐไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิด ลดกำแพงความมั่นคง โอบรับพัฒนาคนด้วยความเท่าเทียม

ในด้านความมั่นคง รัฐไทยต้องลดระดับความรุนแรงของมาตรการด้านความมั่นคงลงและต้องไม่เลือกปฏิบัติกับประชาชนชาวมุสลิม การใช้กฎหมายพิเศษควรต้องได้รับการทบทวนใหม่ ที่จะต้องไม่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐมากจนเกินไปแต่ต้องมีความชอบธรรมทางกฎหมาย (Due process) โดยเฉพาะการบังคับใช้ พ.ร.บ. กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ที่ให้อำนาจเต็มแก่เจ้าหน้าที่ทหารในการระงับปราบปรามโดยที่ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบความเสียหายใดๆ และในทางปฏิบัติ รัฐไทยต้องระงับการกระทำใดๆ ที่นอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด เช่น การตรวจ DNA ประชาชนที่เจ้าหน้าที่รัฐสงสัย การซ้อมทรมาน และการข่มขู่

นอกจากการลดระดับความมั่นคงในเชิงมาตรการแล้ว เมื่อพิจารณาการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินปี พ.ศ. 2566 ใน ‘แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้’ พบว่ามีโครงการที่เกี่ยวข้องกับอาวุธ 1,200 ล้านบาท สร้าง/ซ่อมถนนเกือบ 920 ล้านบาท และเขื่อนกันตลิ่ง 500 ล้านบาท โครงการเหล่านี้ใช้งบประมาณแผ่นดินรวมกันประมาณ 2,600 ล้านบาท ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมกับโครงการที่มีรายละเอียดไม่ชัดเจนแต่ตั้งงบประมาณสูง เช่น โครงการ ‘เงินอุดหนุนโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการรักษาความสงบเรียบร้อย และป้องกันตนเองของประชาชนในหมู่บ้านจังหวัดชายแดนภาคใต้’  ที่ตั้งงบโครงการเดียวสูงถึง 474 ล้านบาท [12]คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 … Continue reading งบประมาณเหล่านี้ควรได้รับการจัดสรรใหม่โดยเน้นไปที่การสร้างพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กและเยาวชนให้มากยิ่งขึ้น

รัฐไทยควรใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของพื้นที่ชายแดนใต้คือ ภาคประชาสังคมที่แข็งแกร่ง มีประสบการณ์และความพร้อมของเยาวชนในการพัฒนาท้องถิ่น ในการสร้างการมีส่วนร่วมออกแบบนโยบายภายในพื้นที่ และให้อำนาจท้องถิ่นในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับนโยบาย นอกจากกระบวนการดังกล่าวจะช่วยพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้แล้ว ยังเป็นการปลูกฝังความเป็นพลเมืองของเด็กและเยาวชนชายแดนใต้ได้อีกในอนาคต

References

References
1 ปริญญา นวลเปียน และนิพนธ์ โซะเฮง. (2005). ความเป็นมาของปัญหาภาคใต้และทางออก ปัญหาการต่อสู้ของขบวนการปลดปล่อยปาตานี. วารสารฟ้าเดียวกัน. 3(2). น.86-100
2 จันจิรา สมบัติพูนศิริ. (2009). เพราะปืนคือความมั่นคง หรือเพราะไม่มั่นคงจึงต้องติดอาวุธ?. วารสารฟ้าเดียวกัน. 7(1). น.72-87
3 ดูประเด็นนี้เพิ่มเติมได้ที่ ชลิตา บัณฑุวงศ์. (ม.ป.ป). เศรษฐกิจและการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้: การสำรวจเชิงวิพากษ์.
4 ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) สืบค้นวันที่ 1 ธันวาคม 2022.
5 กลุ่มด้วยใจ. (2018). สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ ประเทศไทย.
6 ’ก้าวไกล’ เรียกร้องทหารหยุดละเมิดสิทธิ หลังเก็บ DNA เด็กทารก 10 เดือน,” กรุงเทพธุรกิจ, ตุลาคม 17, 2022.
7 ชนาธิป ตติยการุณวงศ์. (2019). เอกสารชุดความรู้: การบังคับเก็บ DNA ในพื้นที่ชายแดนใต้.
8 ครัวเรือนที่มีความยากจนในแง่นี้หมายถึงครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยแต่ละสมาชิกต่ำกว่าเส้นความยากจน (Poverty Line) ในปี 2021 เส้นความยากจนทั้งประเทศเท่ากับ 2,803 บาท/เดือน ภาคใต้ 2,840 บาท/เดือน ปัตตานี 2,572 บาท/เดือน ยะลา 2,733 บาท/เดือน และนราธิวาส 2,619 บาท/เดือน
9 สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2021). การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีใน 17 จังหวัดของประเทศไทย พ.ศ.2562. คำนวณข้อมูลใหม่โดยคิด for คิดส์
10 Black, R. E., Victora, C. G., Walker, S. P., Bhutta, Z. A., Christian, P., de Onis, M., … Uauy, R. (2013). Maternal and child undernutrition and overweight in low-income and middle-income countries. The Lancet, 382(9890), 427–451.
11 ดวงหทัย บูรณเจริญกิจ. (2021). สถานการณ์เด็ก เยาวชน และผู้หญิงในจังหวัดชายแดนใต้. คำนวณข้อมูลใหม่โดยคิด for คิดส์
12 คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ที่ถูกแปลงเป็นตารางข้อมูลเอ็กเซลโดย WeVis และพรรคก้าวไกล รายการงบลงทุนทั้งหมดในปีงบประมาณ 2566

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

กษิดิ์เดช คำพุช

สร้างสรรค์ภาพ

สรัช สินธุประมา

บทความที่เกี่ยวข้อง

ให้เด็กได้เบ่งบานนอกสถานรองรับ: แนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่การเลี้ยงดูแบบครอบครัว

คิด for คิดส์ ชวนอ่านปัญหาการพัฒนาครอบครัวอุปถัมภ์ไทยที่ส่งผลให้เด็กไทยจำนวนมากไม่ได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวอย่างที่ควรจะเป็น

‘เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม’: ความเชื่อแบบไทยๆ อุปสรรคใหญ่ของนโยบายครอบครัวอุปถัมภ์

นโยบายการเพิ่มครอบครัวอุปถัมภ์เผชิญกับความเชื่อแบบไทยๆซึ่งเป็นกำแพงใหญ่ที่รัฐต้องก้าวข้าม หากจะผลักดันให้ดี ไม่ใช่แค่ปรับปรุงนโยบายแต่ต้องลงลึกถึงมายาคติที่มีมาแต่เดิม

การหา ‘งานที่ดี’ อาจเป็นเพียงความฝันของเยาวชนไทยส่วนใหญ่

คิด for คิดส์ ชวนสำรวจความฝันด้านอาชีพการงานของเยาวชนไทย พร้อมทั้งชวนมองดูโลกความจริงที่ทำให้ ‘งานที่ดี’ อาจเป็นเพียงความฝันของเด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2024 kidforkids.org | All rights reserved.