“ลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจของพ่อแม่”
“แต่งงานแล้วรีบมีหลานให้อุ้มสักที”
“มีลูกไวๆ สิจะได้ทันใช้”
…
ไม่ว่าคุณจะเป็นคนโสด แต่งงานแล้ว หรืออยู่ในความสัมพันธ์แบบซับซ้อน เชื่อว่าคุณต้องเคยได้ยินคนพูดประโยคด้านบนมาไม่ต่ำกว่าสิบรอบ เพราะเมื่อพูดถึง ‘ครอบครัว’ ภาพของพ่อแม่ลูกจูงมือกัน ยืนยิ้มแฉ่งบนสนามหญ้าหน้าบ้าน จะปรากฏขึ้นในหัวของใครหลายคนโดยอัตโนมัติ จึงไม่แปลกที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมไทยส่วนมากจะมองว่า ถึงวัยแล้วต้องแต่งงาน เมื่อแต่งงานก็ควรจะมีลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจ จึงจะเข้าสมการเป็นครอบครัวแสนสุข
แต่จะเป็นเช่นนั้นเสมอไปหรือ?
เมื่อโลกหมุนมาถึงยุคที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่ม Gen Y (เกิดระหว่างปี 2523-2540) ก้าวขึ้นมาเป็นกำลังแรงงานหลักขับเคลื่อนสังคม และอยู่ในวัยที่กำลังสร้างครอบครัว สถานการณ์หลายอย่างดูจะเปลี่ยนไป เพราะกลุ่ม Gen Y ดูจะไม่อยากมีลูกสักเท่าไหร่ ในกรณีของคนที่เลือกมีลูก อายุที่เริ่มมีบุตรก็ช้าลงเรื่อยๆ จนบางครอบครัวไม่สามารถมีบุตรได้ด้วยวิธีธรรมชาติ และต้องหันไปพึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์แทน
การที่หนุ่มสาวรุ่นใหม่ตัดสินใจไม่มีลูก (หรือมีลูกช้า) เช่นนี้ ทำให้ไทยก้าวเข้าสู่ภาวะ ‘เกิดน้อย อายุยืน’ คือประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลงต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบกับกำลังแรงงานของประเทศ และทำให้ไทยกลายเป็นประเทศสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ
เพราะอะไร Gen Y ถึงไม่อยากมีลูก เรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร และเราจะแก้ปัญหาอะไรได้บ้างไหม ชวนหาคำตอบจากบทความด้านล่างนี้
เมื่อการมีลูกต้องแลกกับราคามหาศาล
“เราเคยสัมภาษณ์กลุ่มคนที่ไม่อยากมีลูกเลยว่าเขามองยังไง ปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ ในที่นี้คือกลุ่ม Gen Y เขารู้สึกว่าช่วงเวลานี้เป็นเวลาของการตักตวงประสบการณ์ ทั้งเรื่องการงาน เรื่องชีวิต ดังนั้นเรื่องมีลูกก็พอสไว้ก่อน แต่ถึงขั้นไม่มีลูกเลยหรือเปล่า ก็อาจไม่เสมอไปทุกคน ทีนี้ปัญหาหนึ่งที่ตามมาคือ บางคนเมื่อตัดสินใจว่าพร้อมแล้ว จะมีลูกแล้ว ก็เริ่มอายุมาก มีลูกยาก บางคู่มีไม่ได้ก็ต้องไปทำกิฟต์”
ข้างต้นคือคำบอกเล่าของ ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เป็นทั้งคุณแม่ลูกสอง และนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องบทบาทความเป็นแม่ในโลกยุคใหม่
ถ้ากล่าวให้ชัดเจนขึ้น ในงานวิจัยเรื่อง ‘การส่งเสริมการมีบุตรผ่านการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ (2559)’ ที่จัดทำโดยมนสิการและคณะ ได้แบ่งปัจจัยที่ทำให้คน Gen Y ไม่พร้อมมีลูกออกเป็น 4 ปัจจัย
(1) งานยุ่ง ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก (2) ถ้าเลี้ยงลูกได้ไม่ดี ก็อย่ามีดีกว่า (3) คน Gen Y อยากทุ่มเทชีวิตให้กับการทำงานก่อน และ (4) อยากใช้ชีวิตให้คุ้ม เพราะการมีลูกอาจทำให้เสียโอกาสในการทำงานและการใช้ชีวิตตามที่ต้องการ
นอกจากเหตุผลเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิต ผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัยด้านประชากรศาสตร์ ได้เปิดเผยอีกสาเหตุที่น่าสนใจว่า เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายด้วย เพราะค่าเฉลี่ยที่ต้องใช้ต่อการมีลูกคนหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่สูงพอสมควร อีกทั้งคน Gen Y ก็ไม่ได้มองว่าการมีลูกเป็น ‘โซ่ทองคล้องใจ’ แต่เป็นสิ่งเติมเต็มให้ชีวิตสมบูรณ์เท่านั้น หลายคนจึงคิดหนัก หากต้องปันเงินส่วนที่จะใช้ซื้อบ้าน รถ หรือใช้ท่องเที่ยว มาใช้กับการมีลูกแทน
แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่มีลูกแล้ว มนสิการเล่าต่อว่า เท่าที่เธอสัมภาษณ์มา การมีลูกกระทบกับหน้าที่การงานจริง โดยเฉพาะกับผู้หญิง หลายคนเคยมีหน้าที่การงานดี มั่นคง ก็ตัดสินใจจะออกมาเป็นแม่บ้านฟูลไทม์ เพราะสนใจเรื่องคุณภาพของลูกมากกว่า
“ถ้าผู้หญิงมีลูก แล้วต้องลาออกจากงานมาเพื่อเลี้ยงลูก ถือเป็นภาระอันใหญ่หลวง เพราะมันไม่ได้ส่งผลเฉพาะ 1-2 ปีหลังมีลูก แต่อาจส่งผลต่อเส้นทางของการงานไปทั้งชีวิต”
“ถามว่ามีลูกแล้วยังก้าวหน้าได้ไหม ได้อยู่แล้ว เพราะคนที่ประสบความสำเร็จ หลายคนก็มีลูกกันทั้งนั้น แต่โจทย์หลักๆ คือทำยังไงให้สังคมไทยสามารถสร้างประชากรที่มีคุณภาพได้ โดยที่ภาระหรือความรับผิดชอบไม่ต้องไปตกอยู่กับรายบุคคลขนาดนี้”
‘ภาระ’ ที่ถูกพูดถึงในที่นี้คือ ผลกระทบในเรื่องงานที่ผู้หญิงต้องแบกรับเพราะพวกเธอตัดสินใจมีลูก โดยมนสิการยกตัวอย่างถึง ‘motherhood wage penalty’ คือการที่เงินเดือนของผู้หญิงซึ่งลาออกไปเลี้ยงลูกแล้วตัดสินใจกลับไปทำงานลดลงราว 7-20%
นั่นนำมาซึ่งคำกล่าวของมนสิการว่า “การเป็นผู้หญิงไม่ได้ทำให้คนเสียเปรียบเท่ากับการเป็นแม่” และเมื่อมองจากมุมนี้แล้ว การมีลูกต้องแลกกับราคามหาศาล ทั้งเรื่องเงินและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่อาจเสียไป โดยเฉพาะในกรณีของผู้หญิง ซึ่งเป็นราคาที่ใครหลายคนอาจไม่พร้อมจ่าย จึงไม่แปลกหากเราพบว่า คน Gen Y ไม่อยากมีลูก
‘ผู้ชาย’ กุญแจสำคัญที่ส่งเสริมการมีบุตร
หนึ่งในประเด็นที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในช่วงหลังมานี้คือ การที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aged Society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ภายในปี 2574
เมื่อย้อนไปดูสถิติ เราจะพบว่า ในปี 2507 ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ (15-49 ปี) เคยมีบุตรเฉลี่ย 6 คน แต่ในปัจจุบันมีเฉลี่ยไม่ถึง 2 คนแล้ว อีกทั้งในช่วงปี 2545-2557 มีเด็กเกิดใหม่เฉลี่ยปีละ 800,000 ราย และในอีก 25 ปีข้างหน้า อาจจะลดลงเหลือแค่ปีละ 500,000 ราย สวนทางกับตัวเลขผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น
“ปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งอยู่ที่สุภาพสตรี” คือคำตอบของภูเบศร์สำหรับคำถามที่ว่า ทำไมคนยุคหลังถึงมีอัตราการเกิดน้อยลง
“จาก 100 ปีที่แล้วที่ผู้หญิงได้เริ่มออกจากบ้านมาทำงาน และมีอาชีพ วันนี้ผู้หญิงไม่เคยกลับบ้านเลย”
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าการตัดสินใจมีลูกจะขึ้นอยู่เฉพาะกับผู้หญิง เพราะการที่ผู้หญิงเลือกออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้นก็มาจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่สามีเพียงคนเดียวไม่สามารถรับภาระดูแลบ้านได้ทั้งหมด ภรรยาจึงต้องออกไปทำงานเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในบ้านด้วย
อีกหนึ่งประเด็นที่ใครหลายคนอาจมองข้ามคือ บทบาทของสามี โดยภูเบศร์เผยว่า ระหว่างเก็บข้อมูล สิ่งที่เขามักได้ยินจากผู้หญิงอยู่เสมอคือ อยากให้สามีเข้ามาสนับสนุนให้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของมนสิการที่บอกว่า สังคมไทยยังไม่เห็นความสำคัญกับการให้ผู้ชายออกมาช่วยเลี้ยงลูก
“จากที่เราไปสัมภาษณ์ผู้หญิง บางทีผู้หญิงยังรู้สึกว่า จะให้ลามาทำไม เพราะเขารู้สึกว่าไม่น่าจะช่วยอะไรได้มากเท่าไหร่ ยังงงๆ อยู่ว่าจะให้ผู้ชายลาทำไม ส่วนใหญ่จะบอกทำนองว่า ถ้าให้ลาได้ก็ดี แต่ยังไม่ได้เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นขนาดนั้น พูดง่ายๆ คือยังไม่ใช่คอนเซ็ปต์ที่แพร่หลายในประเทศไทยสักเท่าไหร่”
มนสิการเชื่อว่า การส่งเสริมให้พ่อได้วันลามาเลี้ยงบุตร จะเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยส่งเสริมเรื่องการมีบุตรได้ เพราะจะเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงมีภาระน้อยลง เครียดน้อยลง และจะนำไปสู่การที่ผู้หญิงจะต่อต้านการมีลูกน้อยลงด้วย
ขณะที่ ธีระพจน์ คำรณฤทธิศร สามีของมนสิการ ถ่ายทอดมุมมองของผู้ชายว่า เมื่อสามีลาไปเลี้ยงบุตรหรือไม่สามารถทำงานบางอย่างได้ เช่น การไปต่างจังหวัด ก็ทำให้เขารู้สึกว่าอาจจะไม่เป็นธรรมกับเพื่อนร่วมงานบางส่วนเช่นกัน ขณะที่เพื่อนร่วมงาน แม้จะเข้าอกเข้าใจดี แต่ลึกๆ แล้วธีระพจน์มองว่า “มันก็ต้องมีอารมณ์แวบๆ ขึ้นมาอยู่แล้วว่าไม่แฟร์”
นอกจากนี้ ธีระพจน์ยังชี้ให้เห็นว่า การลาของผู้ชายที่ทำงานราชการจะใช้คำว่า ลาไป ‘ช่วย’ ภรรยาเลี้ยงบุตร ซึ่งเขามองว่าให้ความรู้สึกที่ไม่หนักแน่น สะท้อนว่าการเลี้ยงบุตรไม่ใช่หน้าที่หลักของผู้ชาย และสุดท้ายก็ส่งผลต่อทัศนคติของคนด้วย
“ในกรณีผู้ชาย ถ้าเทียบระหว่างลาบวชกับลาไปเลี้ยงลูก ลาบวชนี่ได้หนึ่งพรรษานะครับ 3 เดือนเต็ม แต่ลามาช่วยเลี้ยงลูกได้ 15 วัน มันสะท้อนว่า รัฐมองคุณค่าต่างกัน ในเมื่อคุณเป็นผู้ชาย คุณก็ต้องไปบวชสิ ไปได้เลย 3 เดือน ไม่มีใครว่า แต่กับการเลี้ยงลูก คุณให้ 15 วัน แถมบางทียังกดดันจากองค์กรอีกว่า จะไปจริงเหรอ จะช่วยได้เหรอ สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า คนยังมองว่าการบวชเป็นหน้าที่ที่ผู้ชายควรทำ มากกว่าการลาไปช่วยภรรยาเลี้ยงบุตร”
ธีระพจน์ทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญคือการปรับทัศนคติ ซึ่งแม้จะเปลี่ยนยาก แต่ถ้าเราทำได้ หลายๆ อย่างจะดีขึ้น
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกกล่าวถึงในบทความ ‘ครอบครัวไทยในยุค ‘เกิดน้อย – อายุยืน’ : ทางเลือกและข้อท้าทาย’ คือโฉมหน้าและแนวโน้มของครอบครัวที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ จากที่สังคมไทยเคยมีครอบครัวขนาดใหญ่ ตอนนี้เรามีครอบครัวเดี่ยว แต่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ครอบครัวพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว คนที่อาศัยอยู่คนเดียว ครอบครัวที่ไม่มีบุตร ฯลฯ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มาจากวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป กอปรกับแรงกดดันทางสังคมและการเลี้ยงดูบุตรที่เป็นภาระผูกพันระยะยาว
เมื่อครอบครัวคนรุ่นใหม่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่นิยามแบบ ‘พ่อ แม่ ลูก’ และผู้หญิงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่บทบาทแม่และเมีย ความคิดเรื่องการมีบุตรจึงเปลี่ยนตามไปด้วย
การมีลูกอาจไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคน
จริงอยู่ที่การมีลูกเป็นเรื่องที่สามีภรรยาต้องตัดสินใจเป็นหลัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า นโยบายที่เอื้ออำนวย รวมถึงสาธารณูปโภคที่เพียงพอ เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก สามารถส่งเสริมให้ประชากรไทยตัดสินใจมีลูกมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวอย่าง Gen Y ที่มองเรื่องความมั่นคงและหน้าที่การงานเป็นหลัก
ถ้าพูดให้ถึงที่สุด เราเชื่อว่าคนตัดสินใจจะมีลูกมากขึ้น ถ้ารัฐไทยส่งเสริมให้ครอบครัวไทยเข้มแข็ง
ในงานวิจัย ‘การส่งเสริมการมีบุตรผ่านการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ’ โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอว่า หนุ่มสาว Gen Y ส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อใจสถานรับเลี้ยงเด็ก เพราะยังไม่มีมาตรฐานเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย และขาดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ส่วนที่ที่ไว้วางใจได้ก็มีราคาสูงชนิดที่พ่อแม่รายได้ปานกลางเอื้อมไม่ถึง
ดังนั้น การตัดสินใจมีลูกจึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐสามารถเข้ามาสนับสนุนได้ด้วย โดยงานวิจัยดังกล่าวสรุปไว้ว่า รัฐจะต้องขยายวันลาคลอดของแม่แบบรับค่าจ้าง (maternity leave with pay) คืออย่างน้อย 14 สัปดาห์ และยังต้องสนับสนุนความพร้อมให้แม่ในการให้นมลูก 6 เดือน รวมถึงขยายวันลาคลอดได้ถึง 6 เดือน และยังควรสนับสนุนให้พ่อลามา ‘มีส่วนร่วม’ ในการเลี้ยงดูลูก รวมถึงจัดให้การลาเพื่อดูแลบุตรเป็นสิทธิการลารูปแบบหนึ่งนอกเหนือไปจากการลากิจตามปกติ
เมื่อขยับมาดูเรื่องการลาคลอดและเลี้ยงดูบุตรของไทย พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 ระบุว่า กฎหมายไทยให้สิทธิในการลาเพื่อคลอดบุตรไม่เกิน 98 วัน ซึ่งรวมถึงวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดด้วย (นับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างวันลา) และกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้พนักงานหญิงในวันลาเพื่อคลอดบุตรไม่เกิน 45 วัน
ขณะที่ฝั่งสามี ถ้าเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการ จะมีสิทธิลาไปเลี้ยงบุตรซึ่งเกิดกับภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายไม่เกิน 15 วัน โดยได้รับเงินเดือนตามปกติ แต่ต้องเป็นการลาภายใน 30 วัน นับแต่ภรรยาคลอดบุตร และต้องแนบหลักฐานเป็นทะเบียนสมรสและสูติบัตรของบุตรด้วย
ทั้งนี้ ถ้าสามีเลือกที่จะลา ‘ก่อน’ หรือ ‘หลัง’ คลอดบุตรไปแล้ว 30 วัน การลาจะขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาในระดับอธิบดีหรือเทียบเท่าขึ้นไปเป็นผู้พิจารณาว่า จะได้รับเงินเดือนในช่วงระหว่างลาคลอดหรือไม่ แต่หากเป็นฝั่งเอกชน ยังไม่มีการระบุเป็นมาตรฐานว่า สามีจะมีสิทธิลาไปเลี้ยงบุตรเช่นเดียวกับภรรยาหรือไม่ ทำให้การลาสำหรับภาคเอกชนเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับสถานประกอบการแต่ละแห่งเอง
นอกจากสิทธิการลาคลอดและเลี้ยงบุตรตามกฎหมายแล้ว อีกหนึ่งนโยบายภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนให้คนมีบุตรคือ การลดหย่อนภาษี โดยค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรจะนำไปลดหย่อนได้ไม่เกินปีละ 60,000 บาท ครอบครัวที่มีบุตรหนึ่งคนจะลดหย่อนได้ 30,000 บาท และในกรณีที่มีบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 จะได้ค่าลดหย่อนเพิ่มอีก 60,000 บาท ตามนโยบายส่งเสริมการเพิ่มประชากร
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ การจัดบริการให้ศูนย์เด็กเล็กมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงจัดให้มีศูนย์เด็กเล็กอยู่ใกล้บ้านหรือที่ทำงาน หรือหากพ่อแม่ต้องใช้บริการศูนย์เด็กเล็กของเอกชน รัฐควรมีมาตรการทางการเงินเพื่อชดเชยด้วย
ถ้าพูดให้ชัดเจนกว่านั้น งานวิจัยของ ดร.จงจิตต์ ฤทธิรงค์ สุภรต์ จรัสสิทธิ์ และ ดร.ธีรนงค์ สกุลศรี เรื่อง การให้บริการของศูนย์การศึกษาก่อนวัยเรียนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (2559) ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย พูดถึงโจทย์สำคัญเชิงนโยบายในการยกระดับสถานเลี้ยงเด็กว่า จะต้องพัฒนาคุณภาพของสถานเลี้ยงเด็ก ทั้งในแง่บุคลากร ความสะอาดและความปลอดภัย และสามารถเข้าถึงได้ทั้งในแง่การเดินทางและอัตราค่าบริการ
งานวิจัยดังกล่าวยังได้เสนอแนวนโยบายพัฒนาสถานเลี้ยงเด็กไว้หลายข้อ เช่น (1) ส่งเสริมศักยภาพของสถานเลี้ยงเด็กให้มีกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการที่สมวัย (2) สนับสนุนสถานเลี้ยงเด็กภายใต้หน่วยงานรัฐให้มีงบประมาณมากขึ้น หรือ (3) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ จัดอบรมครูพี่เลี้ยงเพื่อให้ความรู้และพัฒนาทักษะที่เหมาะสมในการดูแลเด็ก เป็นต้น
ฝั่งภาคเอกชนเองก็ต้องมีส่วนร่วมเช่นเดียวกัน โดยอาจจะจัดให้มีบรรยากาศการทำงานที่ยืดหยุ่นและเป็นมิตรกับครอบครัวพนักงานมากขึ้น หรือสร้างห้องสำหรับคุณแม่ที่ต้องให้นมเด็กแรกเกิด ขณะที่ภาครัฐอาจจะเข้ามาช่วยสร้างแรงจูงใจตรงนี้ได้ เช่น ลดภาษีให้บริษัทเอกชนที่ออกกฎบริษัทตอบสนองต่อการเป็นพ่อแม่
แน่นอนว่า การเลือกใช้นโยบายใดนโยบายหนึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้หมด แต่ภาครัฐและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรจะใช้เป็นชุดนโยบาย ที่มีความครอบคลุมมิติต่างๆ รอบด้าน เพื่อเอื้อให้ครอบครัวที่ต้องการมีลูกสามารถตัดสินใจมีลูกได้แบบไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง และไม่จำเป็น ‘ต้องแลก’ ระหว่างการมีลูกกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
เพราะหากเรามองว่า เด็กที่เกิดมาจะเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ รัฐก็ไม่ควรจะมอบภาระทุกอย่างให้กับพ่อแม่ แต่ควรจะเข้ามาช่วยแบ่งเบาและสนับสนุนเด็กเหล่านี้ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคตเช่นกัน
ชีวิตเลือกได้ในโลกไร้นิยาม
การตัดสินใจมีลูกเป็นเรื่องของคนสองคน หรือบางครั้งอาจจะรวมเอาครอบครัวของทั้งสองคนเข้าไปบ้าง แต่ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น สภาพเศรษฐกิจและโครงสร้างสังคม ประกอบกับการบริหารจัดการของภาครัฐ และความเข้าอกเข้าใจจากสถานประกอบการ ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญหลักที่ทำให้ครอบครัวๆ หนึ่งตัดสินใจว่า จะมีลูกหรือไม่
ก่อนที่เราจะตั้งคำถามว่า “ทำไม Gen Y ไม่อยากมีลูก?” เราอาจจะลองมองย้อนไปก่อนว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของเราเอื้อให้หนุ่มสาวกลุ่มนี้อยากมีลูกไหม ในเมื่อพวกเขาเป็นกลุ่มที่ทะเยอทะยานและรักความสำเร็จในหน้าที่การงาน แล้วจะเป็นไปได้หรือไม่ หากภาครัฐและสถานประกอบการจะเข้ามาช่วยดูแล ไม่ให้ใครต้องตัดสินใจไม่มีลูกเพราะนโยบายและสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย
ขณะเดียวกัน เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อีกสาเหตุที่คน Gen Y ไม่อยากมีลูก เพราะคำว่า ‘ครอบครัว’ ของพวกเขาได้เปลี่ยนไปแล้ว – เมื่อการมีลูกต้องแลกมาด้วยราคามหาศาลทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม และคนจำนวนมากไม่ได้ยึดติดกับชุดความสัมพันธ์แบบเดิมอีกต่อไป ครอบครัวแบบ ‘พ่อ แม่ ลูก’ จึงค่อยๆ ลดน้อยลง และแทนที่ด้วยครอบครัวหลากหลายแบบแทน เพราะในโลกที่เศรษฐกิจถดถอยและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมเช่นนี้ การมีลูกอาจจะไม่ได้มีความหมายและคุณค่าแบบเดิมอีกต่อไป
แต่ไม่ว่าครอบครัวจะมีพ่อ แม่ ลูก จะมีแค่เรากับสุนัขคู่ใจ หรือจะมีคุณพ่อ/คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวกับลูก ทั้งหมดล้วนเป็น ‘ครอบครัว’ เพราะหากเราจำเป็นต้องหาความหมายสักอย่างให้กับคำว่าครอบครัว ความหมายนั้นอาจจะเป็นการที่เราได้เลือกใช้ชีวิตอยู่กับคนที่รัก เข้าใจ และพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างกันไปตลอด โดยไม่จำกัดว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน
และนั่นอาจจะพอนับเป็นความหมายของครอบครัวในโลกไร้นิยามใบนี้ได้