Generation Clash: ก้าวข้ามความขัดแย้งแห่งยุคสมัย กับ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

หากมองห้วงเวลาการเมืองไทยช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ‘คนรุ่นใหม่’ ได้กลายเป็นพลังทางการเมืองไปแล้วอย่างสมบูรณ์แบบ

‘ยุติรัฐบาลจากการสืบทอดอำนาจ’ ‘แก้รัฐธรรมนูญ’ ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ ‘ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม’ ‘หยุดทุนผูกขาด’ ‘เปิดกว้างให้กับความหลากหลายทางอัตลักษณ์’ ‘หยุดวัฒนธรรมอำนาจนิยมในโรงเรียน’ – ภาวะ perfect storm จากวิกฤตสังคมที่สะสมมาหลายปีสะท้อนออกมาผ่านข้อเสนอจากความคิดคนรุ่นใหม่

นี่ทำให้พวกเขาคือ ‘รุ่นทางการเมือง’ ที่คิดต่าง มองอนาคตของประเทศต่างออกไปจากคนรุ่นก่อนๆ ในสังคม และคิดต่างกันมากจนความต่างปะทุขึ้นเป็น ‘ความขัดแย้งระหว่างรุ่น’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยากยิ่งที่สังคมจะหาทางออกจากความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการเติบโตขึ้นของขบวนการคนรุ่นใหม่ทั่วโลก ปรากฏการณ์ความขัดแย้งระหว่างรุ่นไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยเท่าไหร่นักตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา  

สังคมแบบที่ไหนที่ความขัดแย้งระหว่างรุ่นจะเกิดขึ้น? ความขัดแย้งระหว่างรุ่นในสังคมไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมามีทิศทางเปลี่ยนไปอย่างไร? เราเรียนรู้อะไรจากความขัดแย้งระหว่างรุ่นที่เคยเกิดขึ้นในสังคมอื่นได้หรือไม่? 101 สนทนากับกนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยความขัดแย้งทางการเมืองแห่งยุคสมัยและหนทางในการก้าวข้าม

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่างรุ่นได้กลายเป็นประเด็นสำคัญในสังคมไทย สิ่งที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ถือเป็นปรากฏการณ์ร่วมทั่วโลกหรือเปล่า

ต้องบอกว่า ‘ช่องว่างระหว่างวัย’ (generation gap) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกันทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างเรื่องไลฟ์สไตล์ วัฒนธรรมการบริโภค อัตลักษณ์ เพลงที่ฟัง แต่ไม่ใช่ทุกที่ทั่วโลกที่ช่องว่างระหว่างวัยและความต่างระหว่างรุ่นจะนำไปสู่ ‘ความขัดแย้งระหว่างรุ่น’ (generation conflict) หรือ ‘การปะทะกันระหว่างรุ่น’ (generation clash) ระหว่างคนสองรุ่นหรือคนหลายรุ่น ซึ่งจะเป็นระหว่างรุ่นไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นความขัดแย้งระหว่างคนเจเนอเรชัน Baby Boomer กับ เจเนอเรชัน Z อย่างที่เกิดขึ้นในไทย นี่เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นในโลกตะวันตกเท่าไหร่

การปะทะกันระหว่างรุ่นส่วนใหญ่เกิดจากการก่อตัวของ ‘รุ่นทางการเมือง’ (political generation) ไม่ใช่ทุกขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่จะมาจากการเกิดรุ่นทางการเมืองขึ้นมาใหม่ หรือทุกขบวนการเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่ที่กลายเป็นพลังทางการเมืองก็ไม่ได้นำไปสู่การเกิดรุ่นทางการเมือง เราอาจเห็นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ก็จริง แต่หลายครั้งก็ไม่ได้เกิดจากความต่างระหว่างรุ่น ไม่ได้สะท้อนความคิดของคนทั้งเจเนอเรชัน หรือไม่ได้นำไปสู่ลักษณะเฉพาะทางการเมืองอุดมการณ์ ความคิด ความเชื่อ หรือภาพอนาคตที่อยากเห็นที่ต่างไปจากคนรุ่นอื่น

หากไปย้อนดูความขัดแย้งทางการเมืองจากการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา จะเห็นเลยว่าไม่มีครั้งไหนที่อธิบายสาเหตุว่าเกิดจากการปะทะกันระหว่างรุ่น หรือถ้าจะมีและเป็นที่สนใจอย่างมากในโลกตะวันตกคือความขัดแย้งระหว่างรุ่นในที่ทำงาน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยที่ Baby Boomer เจนฯ X เจนฯ Y เจนฯ Z คน 4 เจเนเรชันจะทำงานอยู่ในที่เดียวกัน แต่ความขัดแย้งระหว่างรุ่นในที่ทำงานเป็นเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรในภาคธุรกิจมากกว่าที่จะนำมาอธิบายปรากฏการณ์ความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นทางการเมือง

ในเมื่อขบวนการคนรุ่นใหม่ไม่ได้เกิดจากความต่างระหว่างรุ่นเสมอไป แล้วสาเหตุคืออะไรได้บ้าง

ส่วนมากงานศึกษาอธิบายว่าเป็นการประท้วงเรียกร้องปัญหาจากระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่หรือปัญหาที่ตามมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างการประท้วงต่อต้านนโยบายการศึกษาของนักเรียนมัธยมในชิลีก็เกิดจากปัญหาการแปรรูประบบการศึกษาให้ภาคเอกชนเป็นผู้จัดการศึกษา (privatization) จนนำไปสู่ความไม่เท่าเทียม ที่สำคัญคือครูและผู้ปกครองยังเป็นแนวร่วมสนับสนุนด้วย การชุมนุมของวัยรุ่นในฝรั่งเศสในช่วงปี 2006 ก็มาจากปัญหาสภาวะเศรษฐกิจ ปัญหากฎหมายแรงงานที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดงานและกีดกันโอกาสทางเศรษฐกิจของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้อพยพ ในเอเธนส์ก็ประท้วงวิกฤตการเงินปี 2008 หรือ The Great Riot ในสหราชอาณาจักรช่วงปี 2011 งานศึกษาก็อธิบายว่าเกิดจากการกีดกันทางสังคม

นอกจากนี้ก็ยังมีสาเหตุมาจากการกีดกันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เช่น การประท้วงคนรุ่นใหม่ในตุรกีเมื่อปี 2013 ก็เริ่มจากการประท้วงที่รัฐบาลอำนาจนิยมจะยึดพื้นที่สาธารณะไปสร้างห้างสรรพสินค้าจนลามไปสู่การประท้วงรัฐบาล ที่ยูเครนในปี 2014 การประท้วงที่จัตุรัสไมดานที่นำโดยคนรุ่นใหม่ก็มีสาเหตุมาจากการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนและอิทธิพลทางการเมืองของรัสเซีย ในสหรัฐฯ การประท้วง Black Lives Matter ที่ผู้ชุมนุมส่วนมากคือคนรุ่นใหม่ก็ประท้วงเรียกร้องปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ หรือการประท้วงในแอฟริกาก็เป็นการประท้วงจากการระบาดของโควิด ไม่อย่างนั้นก็เป็นขบวนการสิ่งแวดล้อม

จะเห็นว่าการประท้วงเหล่านี้เป็นการประท้วงของคนรุ่นใหม่ก็จริง แต่ไม่มีการอธิบายว่าสาเหตุมาจากความไม่ลงรอยระหว่างรุ่น

อาจารย์บอกว่าปรากฏการณ์การปะทะกันระหว่าง ‘รุ่นทางการเมือง’ ไม่ค่อยเกิดขึ้นเท่าไหร่ในโลก แต่มันเคยเกิดขึ้นมาก่อนบ้างไหม เหมือนหรือต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยอย่างไรบ้าง

จริงๆ ในโลกตะวันตกเคยเกิดการปะทะกันระหว่างรุ่นทางการเมืองอยู่ 3 ยุค 3 รุ่น ยุคแรกคือในช่วงทศวรรษ 1930 ที่คนรุ่นใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และนำไปสู่การปะทะของรุ่น The Great Depression Generation รุ่นนี้ถือว่าเป็นขบวนการมวลชนที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป อาจจะใหญ่กว่าในช่วงทศวรรษที่ 1970 ด้วยซ้ำ เพราะคนตกงานหมด

ในขณะที่ The Great Depression Generation เรียกร้องสิทธิทางเศรษฐกิจ ยุคที่สองคือรุ่นทศวรรษที่ 1970 หรือรุ่นฮิปปี้ เป็นรุ่นทางการเมืองที่เรียกร้องสิทธิพลเมือง ต่อต้านรัฐบาลที่เคยร่วมสงครามโลกครั้งที่สองและสนับสนุนสงครามเย็น ต่อต้านรัฐบาลฝ่ายขวา และต่อต้านนาซี

ส่วนยุคที่สามคือความขัดแย้งระหว่างเจนฯ X กับเจนฯ Y หรือที่เรียกกันว่าเจนฯ มิลเลเนียลในทศวรรษที่ 2000 ซึ่งจะไม่เหมือนกับในไทยที่ความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่าง Baby Boomer กับเจนฯ Z

ที่น่าสนใจคือ คุณลักษณะของคนเจนฯ Y ในโลกตะวันตกไม่เหมือนกับในไทย อย่างแรกคือ เป็น digital native รุ่นแรก ในขณะที่ในไทย digital native คือเจนฯ Z เพราะโลกอินเทอร์เน็ตมาช้ากว่า สอง เป็นรุ่นที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์โลกตะวันตก หมายความว่าคนรุ่นนี้ต้องตกอยู่ในช่วงเวลาที่เรียกว่า waithood คือเรียนจบแล้วแต่ยังหางานไม่ได้ ภาระหนี้จากค่าเล่าเรียนก็ต้องแบก เรียนจบออกมาก็ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 2008 และที่สำคัญคือ สาม เติบโตและผ่านการกล่อมเกลาทางการเมืองแบบ political intersectionality ที่ยอมรับ เคารพความหลากหลายและความเท่าเทียมทางอัตลักษณ์หมดแล้ว การกีดกันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ในขณะที่โครงสร้างทางการเมืองยังไม่เปิดกว้างตามสังคม

‘รุ่นทางการเมือง’ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร อะไรทำให้คนรุ่นหนึ่งมีความคิดทางการเมืองไม่เหมือนคนรุ่นอื่นๆ ในสังคม

ตามทฤษฎีมีอยู่ 4 ปัจจัยที่ทำให้เกิดรุ่นทางการเมืองใหม่ขึ้นมาในสังคม อย่างแรกคือ การกล่อมเกลาทางการเมืองและสังคม (pretext socialization) ถ้าสะท้อนผ่านปรากฏการณ์การเกิดรุ่นทางการเมืองในยุโรปที่เล่าไปก่อนหน้านี้ จะเห็นว่าทั้งคนรุ่น The Great Depression Generation รุ่น 1970s และรุ่นมิลเลเนียลเติบโตในช่วงที่องค์ความรู้ขยายตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปี 1910-1920 เป็นช่วงที่โลกเปลี่ยนอย่างมหาศาลและแทบจะเรียกได้ว่าเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ ทุกอย่างมันก้าวพ้นจากองค์ความรู้ในยุควิกตอเรียนหมด ส่วนช่วงทศวรรษที่ 1970 การพัฒนาเทคโนโลยีก็เป็นไปอย่างก้าวกระโดด องค์ความรู้ที่เคยถูกกดทับไว้โดยชนชั้นนำอนุรักษนิยมก็ระเบิดออกมาหลังจากที่สนับสนุนสงครามจนเริ่มหมดความชอบธรรม ส่วนในยุคทศวรรษที่ 2000 ก็คือโลกอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และ digitalization  

อย่างที่สองคือ life course effect หมายความว่าแต่ละจังหวะช่วงเวลาของแต่ละวัยมีความเฉพาะที่ต่างกัน ช่วงเวลาของชีวิตคนรุ่นใหม่เป็นจังหวะหรือช่วงวัยที่อยากรู้อยากเห็น ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ในขณะที่เมื่อคนอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีตำแหน่งแห่งที่ในโครงสร้างสังคม เข้าใจระบบ ก็จะเริ่มเข้าใจความเป็นจริงมากขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งหมดเป็นเรื่องยาก หรือการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะกระทบต่อความมั่นคงของชีวิต  

อย่างที่สามคือ cohort effect หรือความเป็นรุ่น หมายความว่าคนในรุ่นที่อายุใกล้ๆ กันจะมีประสบการณ์บางอย่างร่วมกันอย่างที่คนรุ่นอื่นไม่มีวันมี และประสบการณ์ชุดนั้นต้อง empower ให้คนรุ่นนั้นๆ เชื่อว่าตัวเองคือพลังทางการเมืองหลักด้วย อย่างถ้ามองในช่วงทศวรรษที่ 1930 ก็คือการที่ทุกพรรคการเมืองเตรียมขยายฐานมวลชนไปสู่คนรุ่นใหม่ เข้ามา empower คนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาก็ตาม จนปีกเยาวชนเติบโตขึ้นทั่วโลก ทำให้คนรุ่นใหม่มีประสบการณ์ทางการเมืองร่วมกันแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในรุ่นทศวรรษที่ 1970 ประสบการณ์ร่วมคือวัฒนธรรมป็อป หรือวัฒนธรรม New Age ส่วนในทศวรรษที่ 2000 กับช่วงที่เริ่มมีการก่อตัวของคน ‘รุ่นโบว์ขาว’ ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาในไทย จะเห็นว่าโลกอินเทอร์เน็ตเอื้อให้คนรุ่นใหม่มีเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงความเห็น และทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าตัวเองมีพลังทางการเมืองอย่างที่รุ่นอื่นไม่เคยมีมาก่อน

อย่างสุดท้ายคือ period effect คือผลกระทบจากบางห้วงเวลาที่คนทุกเจเนอเรชันต้องเจอเหมือนกันหมด ไม่ใช่เฉพาะแค่คนรุ่นใหม่ อย่างเช่นทศวรรษที่ 1930 เกิด The Great Depression ทศวรรษที่ 1970 ก็เกิดวิกฤตน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจชะงักงันหลังเศรษฐกิจเฟื่องฟูหลังสงคราม คนรุ่นมิลเลเนียลก็เจอวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ คนรุ่นใหม่ยุคนี้ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด แน่นอนว่าคนทุกรุ่นได้รับผลกระทบจากวิกฤตหมด แต่ประเด็นคือคนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือคนรุ่นใหม่ อย่างในไทย พอเกิดวิกฤตโควิด คนทำงานตกงานแล้วก็อาจจะพอมีเงินออมอยู่บ้าง แม้ว่าปัญหาเงินเฟ้อจะทำให้เงินออมมีค่าน้อยลงก็ตาม แต่คนรุ่นใหม่แทบจะมองไม่เห็นอนาคตแล้ว รายได้ครอบครัวก็กระทบ เรียนก็ต้องเรียนออนไลน์ จบไปโอกาสการเข้าสู่ตลาดแรงงานก็ไม่ได้มีมาก องค์กรจำนวนหนึ่งบอกเลยด้วยซ้ำว่าจะไม่รับสมัครงานเด็กที่ผ่านการเรียนออนไลน์ คนเจนฯ Z ถ้าไม่เก่งจริงๆ แทบจะไม่มีทางได้งานเลย แทบจะกลายเป็น Lost Generation แล้ว

บริบททางการเมืองน่าจะมีส่วนในการก่อรุ่นทางการเมืองใหม่ขึ้นมาด้วยหรือเปล่า

จริงๆ เราคิดว่าปัจจัยที่ทำให้การเกิดรุ่นทางการเมืองเพิ่มขึ้นมา ซึ่งจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองไทย อย่างแรกคือการครองอำนาจที่ยาวนานของระบอบอนุรักษนิยมและระบอบชราธิปไตย (gerontocratic regime) คือปกครองโดยคนแก่อนุรักษนิยมเป็นระยะเวลานาน นี่เป็นลักษณะร่วมคล้ายๆ กันในหลายๆ ที่ที่เกิดการปะทะกันทางการเมืองระหว่างรุ่น ทศวรรษที่ 2000 ในโลกตะวันตกอาจจะไม่ใช่ แต่ในทศวรรษที่ 1930 กับ 1970 ชัด อย่างในช่วงทศวรรษที่ 1970 ในเยอรมนี แม้แต่พรรคฝ่ายซ้ายอย่าง SPD ก็ยังมีแต่คนแก่ทั้งนั้น ไม่มีที่พื้นที่สำหรับคนหนุ่มสาว ในภาพรวม อุดมการณ์อนุรักษนิยมก็ฝังรากลึกในความคิดของคนเจเนอเรชันก่อนหน้าอย่างมาก ในไทย ยุค 14 ตุลา กับ 6 ตุลา ระบอบการเมืองก็มีแต่คนแก่

ปัจจัยที่สอง การที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีอุดมการณ์ทางความคิดทางการเมืองทางสังคมที่ต่างกับอุดมการณ์เดิมที่ครอบสังคมเอาไว้ก่อนหน้าไหลเวียนอยู่ในสังคม ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ อย่างในช่วงทศวรรษที่ 1920-1930 ในยุโรป อุดมการณ์เสรีนิยมและสังคมนิยมประชาธิปไตยเติบโตอย่างรวดเร็วหลังจากที่ฝ่ายอนุรักษนิยมสุดโต่งและสมบูรณาญาสิทธิราชย์ล่มสลายลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งในทางกลับกันก็ทำให้คนเจเนอเรชันเก่าในสังคมโหยหาความเป็นอนุรักษนิยมในอดีต

ส่วนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายที่ครองอำนาจในรัฐบาลคือฝ่ายอนุรักษนิยมเกือบทั้งหมด ซึ่งเคยร่วมกับฝ่ายฟาสซิสต์หรือนาซี อีกทั้งตลอดช่วงระยะเวลาสงครามโลกครั้งที่สองก็ทำให้เกิดรุ่นที่เป็นชนชั้นนำอำนาจนิยม-อนุรักษนิยม สังคมก็มีแนวโน้มเป็นอนุรักษนิยมเหมือนกัน เพราะผ่านช่วงเวลาที่สังคมถูกกล่อมเกลาด้วยอุดมการณ์อนุรักษนิยม-ชาตินิยม แต่พอหลังจากในทศวรรษที่ 1970 ก็เกิดวัฒนธรรมบุปผาชน ส่วนประเทศไทยหลังช่วงรัฐประหาร 2557 ก็เหมือนกันที่สังคมภาพรวมมีความอนุรักษนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หลังรัฐประหาร โลกออนไลน์ทำให้แนวคิดแบบเสรีนิยมแพร่หลายมาก และกลายเป็นขั้วตรงข้ามกับรุ่นที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองอีกแบบ คือขวากับซ้าย หรือขวากับเสรีนิยม ไม่ใช่ขวาสุดขั้วกับขวากลาง เพราะฉะนั้น สภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดรุ่นทางการเมืองใหม่ในระดับที่มีคนจำนวนมากขึ้นมา

ปัจจัยที่สามคือ ภาวะที่ระหว่างสองรุ่นทางการเมืองมีอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน กล่าวคือมีรุ่นทางการเมืองรุ่นใดรุ่นหนึ่งกุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ประเด็นคือ ถ้าทั้งสองฝ่ายหรือแต่ละฝ่ายมีอำนาจเท่าๆ กันปัญหาก็จะไม่ตามมา ก็ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาแข่งกันไปในสนามการเมืองเหมือนในเยอรมนีที่มีคนรุ่นใหม่ตั้งพรรคกรีนขึ้นมาแล้วก็ไปสู้กันในสนามเลือกตั้งกับรัฐบาลใช่ไหม แต่ถ้าไม่มีช่องทางในการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองในระบบ อำนาจทางการเมืองในสังคมไม่สมดุล ก็จะนำไปสู่การเผชิญหน้าและปะทะกันอย่างรุนแรง (contentious) ฝ่ายที่กุมอำนาจก็ไม่ยอมปล่อยมือจากอำนาจ ส่วนฝ่ายที่ไม่มีอำนาจเลยแต่เป็นประชากรจำนวนมากก็ยอมไม่ได้ แล้วก็ยังรับอุดมการณ์ใหม่ๆ ที่ท้าทายกลุ่มอำนาจเก่ามาแล้วอีกด้วย

นอกจากนี้ อย่างที่สี่คือต้องมีการระดมคน กระทั่งขบวนการเคลื่อนไหวมีความเป็นสถาบัน (institutionalized) รวมกันอย่างเป็นระบบและทำให้คนในรุ่นทางการเมืองเดียวกันกลายเป็น collective power ไม่ได้อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย แค่ไม่พอใจ บ่นๆ แล้วก็จบกันไป อย่างในช่วงทศวรรษที่ 1930 ทุกพรรคการเมืองมีปีกเยาวชน ในทศวรรษที่ 1970 เราเห็นขบวนการสิ่งแวดล้อมหรือขบวนการต่อต้านสงคราม ในไทยก็คือการตั้งพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งการมีสถาบันเช่นนี้ทำให้คนรุ่นใหม่ที่โกรธและไม่พอใจต่อการเมืองรู้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของมวลชนที่มีพลังในการเรียกร้อง ไม่ได้เป็นแค่ปัจเจก

เงื่อนไขแบบไหนที่จะทำให้เกิดการปะทะกันทางการเมืองระหว่างคนสองรุ่น

ถ้าเฉพาะหน้าหน่อยคือ ต้องมีสัญญาณว่ามีโอกาสจะชนะ จะเป็นสัญญาณจากการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองก็ได้ ในหลายประเทศ ส่วนใหญ่ที่ขบวนการคนรุ่นใหม่ได้รับชัยชนะส่วนหนึ่งเพราะเกิดการแบ่งขั้วกันในชนชั้นนำ ถ้ามีชนชั้นนำทางการเมืองเป็นพันธมิตร อย่างถ้ากองทัพอยู่ฝ่ายขบวนการนักศึกษาหรือขบวนการคนรุ่นใหม่ปุ๊บก็มีโอกาสชนะ เช่น อาหรับสปริง หรือ 14 ตุลา ไม่ได้หมายความว่าให้ไปจับมือกับชนชั้นนำนะ แต่ก็ต้องประเมินสถานการณ์ด้วย

อีกอย่างคือ ต้องมีวิกฤตใหญ่พอที่จะลดทอนและทำลายความชอบธรรมระบอบชราธิปไตย ฝ่ายอนุรักษนิยม หรือฝ่ายต่อต้านขบวนการคนรุ่นใหม่ได้ ที่ผ่านมา The Great Depression ในทศวรรษที่ 1930 วิกฤตน้ำมันในทศวรรษที่ 1970 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 จนมาถึงวิกฤตโควิด รัฐบาลจะเหลือความชอบธรรมอะไร ยิ่งรัฐบาลไทยช่วงโควิดก็เป็นรัฐบาลอนุรักษนิยมที่บริหารมาหลายปีแล้ว

นอกจากนั้นก็ยังมีปัจจัยสะสมอย่างการสะสมความสำเร็จก่อนที่จะเกิดการปะทะระหว่างรุ่นทางการเมือง อย่างในไทยก่อนหน้าที่จะมีการประท้วงใหญ่ของคนรุ่นใหม่ก็คือ การที่การประท้วงผ่านโลกออนไลน์ในระดับโรงเรียนประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ปัญหาอาหารกลางวัน ปัญหาผู้บริหารโรงเรียน ในระดับประเทศ การต่อต้านนโยบาย single gateway สุดท้ายก็นำไปสู่การยกเลิกนโยบาย หรือชัยชนะของพรรคอนาคตใหม่ นี่คือสัญญาณที่สะสมมาว่าความสำเร็จใกล้เข้ามาถึงแล้ว

ทำไมคนเจเนอเรชัน Baby Boomer หรือ ‘คนรุ่นสงครามเย็น’ จึงยังคงครองอำนาจนำในทางการเมืองมาอย่างยาวนาน และดูเหมือนว่ายังไม่มีทางจะวางมือจากอำนาจ

จริงๆ ถ้าไปดูจำนวนประชากรไทยตามกลุ่มอายุในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่า Baby Boomer ไม่ใช่ประชากรกลุ่มที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุด ในโลกตะวันตกก็เหมือนกัน ถ้าเป็นในโลกตะวันตก Baby Boomer เจนฯ X เจนฯ Y สัดส่วนจำนวนพอๆ กัน แต่ในไทย สัดส่วนประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดคือ เจนฯ X ส่วนเจนฯ Y ก็พอๆ กัน น้อยกว่านิดหน่อย แต่ก็ยังมากกว่า Baby Boomer จะเริ่มลดลงก็คือเจนฯ Z กับเจนฯ Alpha

ประเด็นคือ ที่ Baby Boomer ยังคงมีอำนาจอยู่ อย่างหนึ่งเป็นเพราะรุ่น Baby Boomer เป็นรุ่นที่รวยทีสุดในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้น แต่เป็นเหมือนกันทั่วโลก อย่างในโลกตะวันตก ยุคหลังสงครามเป็นยุคที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตและขยายตัวอย่างมาก ทั้งเงินอัดฉีด การพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีใหม่ จนกลายเป็นว่ารุ่น Baby Boomer เป็นรุ่นที่มีเงินออมมากที่สุด มีบ้านเป็นของตัวเอง American Dream เป็นสิ่งที่บรรลุได้ไม่ยาก แต่รุ่นหลังจากนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะมีเงินออมหรือซื้อบ้านเอง

ประเทศไทยก็เหมือนกัน จนถึงปัจจุบัน รุ่น ‘สงครามเย็น’ ก็ยังเป็นรุ่นที่รวยที่สุด เพราะเศรษฐกิจขยายเติบโตต่อเนื่องเหมือนกัน ตั้งแต่ช่วงสงครามเย็นเป็นต้นมา การอัดฉีดเงินสนับสนุนของสหรัฐฯ ก็กระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วระลอกหนึ่ง ต่อมาหลังการทำข้อตกลง Plaza Accord ในทศวรรษที่ 1980 ทุนญี่ปุ่นย้ายฐานเข้ามาในไทย อุตสาหกรรมยานยนต์ก็ขยายตัวอีก หลังจากนั้นการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวก็ยิ่งรักษาให้เศรษฐกิจบูมต่อไปอีก ไทยเลยกลายเป็นฐานอุตสากรรมหลายภาคส่วนตลอดช่วงทศวรรษ 2520 ที่รุ่น Baby Boomer เริ่มจบออกมาทำงานและเติบโตในสายงาน

อีกอย่างหนึ่งคือ ช่วงยุคสงครามเย็นระบบราชการขยายตัวอย่างมากจากการที่สหรัฐฯ ลงเงินสนับสนุนเพื่อให้มีกลไกระบบราชการที่พร้อมรับมือต่อภัยคอมมิวนิสต์ คนรุ่น Baby Boomer คือรุ่นที่เข้าสู่ระบบราชการและเติบโตในระบบในยุคขยายตัว แต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ก็ฟรีซหมด นอกจากนั้น Baby Boomer ยังเป็นรุ่นแรกที่กลายเป็นชนชั้นกลางการศึกษาสูง พร้อมที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เริ่มโตในประเทศไทย ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการที่อุตสหากรรมขยายตัว ส่วนระบบราชการก็เอื้อให้คนที่มาก่อนมีอำนาจมากกว่า ยิ่งอยู่ในตำแหน่งระดับสูงยิ่งมีอำนาจ พูดอีกแบบคือเอื้อให้รุ่น Baby Boomer มีอำนาจต่อไป

ในระดับครอบครัว เมื่อรุ่น Baby Boomer รวยที่สุด อย่างไรก็ยังเป็นเสาหลักของครอบครัว และกลายคนที่มีอิทธิพลมากที่สุดในครอบครัวไม่มากก็น้อย แม้ครอบครัวจะขยายไปถึงรุ่นหลานแล้วก็ตาม เพราะว่ารุ่นลูกเจนฯ X ต่อมาก็ไม่สามารถจะประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจได้เหมือนกับรุ่น Baby Boomer

ส่วนที่คนเจนฯ X เจนฯ Y ยังอยู่ใต้ร่มเงาของรุ่น Baby Boomer แน่นอนเพราะว่าหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ทุกอย่างจบ แม้ว่าสุดท้ายเศรษฐกิจไทยจะฟื้นฟูกลับมาได้ แต่นั่นหมายความว่าคนรุ่นเจนฯ X เจนฯ Y ไม่มีโอกาสมีประสบการณ์เจอสภาวะเศรษฐกิจขยายตัวหรือประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิอย่างที่รุ่น Baby Boomer เคยทำได้ ไม่ว่าจะทำงานหนักขนาดไหนก็จะไม่มีทางเติบโต เพราะเค้กก้อนเล็กลง ยังไม่นับว่าจะหาเค้กที่ไหนมาเพิ่มอีก

เพราะฉะนั้น ในทุกวงการไม่ว่าจะเป็นราชการหรือธุรกิจหรือก็ตาม เมื่อรุ่น Baby Boomer คือกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จที่สุด รุ่น Baby Boomer จึงเป็นคนริ่เริ่มและสร้างบรรทัดฐานและกฎเกณฑ์ในหลายวงการ ในขณะที่เจนฯ X ซึ่งเป็นเจนต่อมาไม่สามารถประสบความสำเร็จอย่างรุ่น Baby Boomer ได้และเข้าสู่ระบบหลังจากที่บรรทัดฐานและกฎเกณฑ์ที่รุ่น Baby Boomer วางไว้ลงหลักปักฐานแล้ว คนรุ่นเจนฯ X เจนฯ Y จึงท้าทายสิ่งที่รุ่น Baby Boomer วางไว้ได้ยาก จริงๆ ก็กึ่งๆ ไม่อยากท้าทาย แต่ถึงอยากจะท้าทาย ก็ไม่มีอำนาจต่อรองทั้งเชิงอำนาจและเศรษฐกิจเท่ารุ่น Baby Boomer

นอกจากนั้น รุ่น Baby Boomer เองพยายามที่จะขยายอำนาจของตัวเองต่อไป ในแง่หนึ่งก็เป็นเงื่อนไขที่หลายประเทศต้องขยายเวลาเกษียณ เพราะกำลังเข้าสู่ยุค aging society ทั่วโลก แต่อีกแง่หนึ่ง ในบริบทไทย การขยายเวลาการเกษียณคือการขยายอำนาจของบูมเมอร์ ทำให้จากเดิมที่อยู่ในอำนาจจนถึงแค่อายุ 60 ปี ก็ขยายไปเป็น 65 ปีและกำลังจะขยายเวลาเกษียณไปจนอายุ 68 ปี หมายความว่าเจเนอเรชันอื่นมีโอกาสที่จะได้เป็นผู้นำในองค์กรน้อยมาก ยังต้องอยู่ใต้ร่มเงาอำนาจของรุ่น Baby Boomer ต่อไป มันไม่ใช่แค่เรื่องอายุเท่านั้น แต่อย่างที่บอกไปคือ รุ่น Baby Boomer เป็นรุ่นที่ประสบความสำเร็จ กุมไว้ทั้งความมั่งคั่งและอำนาจ

ยังไม่นับว่าในทางการเมือง รุ่น Baby Boomer เป็นรุ่นแรกที่อยู่ในช่วงเวลาที่การเมืองเริ่มเป็นประชาธิปไตย เริ่มมีการเลือกตั้งในช่วงหลังหลังปี 2520 เพราะฉะนั้น รุ่น Baby Boomer จึงมีอิทธิพลในพรรคการเมืองแทบทั้งหมด และไม่มีเกษียณอายุด้วย

หมายถึงว่าคนรุ่น Baby Boomer อยู่กับระบอบการเมืองนี้มาตั้งแต่แรก กาบัตรเลือกตั้งเป็นรุ่นแรกๆ ไม่เกี่ยวกับว่าจะเป็นระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบหรือเต็มใบก็ตาม?

เพราะฉะนั้นรุ่น Baby Boomer จึงไม่ได้สนใจประชาธิปไตย กาบัตรเป็นรุ่นแรกๆ ก็จริง แต่รุ่น Baby Boomer ไม่เคยเชื่อว่าการเลือกตั้งจะทำให้เขามีอำนาจ คุณจะเชื่อในประชาธิปไตยต่อเมื่อคุณเป็นรุ่นแรกที่แบบกาบัตรเลือกตั้งแล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่สำหรับรุ่น Baby Boomer มองว่าระบบ hierarchy คือระบบปกติ มาก่อน แก่ก่อนจึงจะได้อำนาจ เพราะฉะนั้น จริงๆ การเลือกตั้งมันคุกคามโครงสร้างบรรทัดฐานของรุ่น Baby Boomer โดยเฉพาะเมื่ออยู่บนยอดของพีระมิดในปัจจุบัน

ประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่คุกคามต่ออำนาจของรุ่น Baby Boomer อย่างมาก เพราะถ้าดูสัดส่วนจำนวนประชากรไทยที่แบ่งตามรุ่น สมมติว่ามีการเลือกตั้ง เปอร์เซ็นต์ประชากรเจนฯ Y เจนฯ Z ที่มีสิทธิเลือกตั้ง รวมแล้วแทบจะมากถึง 42% ถ้าเกิดว่ามองว่าสองรุ่นนี้เชื่อในอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยแทบหมดทั้งรุ่น เลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยทั้งหมด นี่จะสั่นคลอนอำนาจของรุ่น Baby Boomer มากๆ แล้วสมมติว่าถ้า เจนฯ X ที่เป็น swing generation อีกครึ่งเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตย รุ่น Baby Boomer ไม่มีที่ยืนเลยนะ

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่านับตั้งแต่ปี 2020 สังคมไทยต้องเผชิญปรากฏการณ์การปะทะระหว่างรุ่นทางการเมือง สำหรับอาจารย์ที่ติดตามประเด็นนี้มาตลอด มองเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงของความขัดแย้งระหว่างรุ่นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาอย่างไรบ้างไหม

มีทั้งที่เปลี่ยนและไม่เปลี่ยน ขอแบ่งออกเป็นสองระดับคือ ความเปลี่ยนแปลงในระดับความตระหนักรู้เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างรุ่นกับในระดับการพยายามเข้าใจและพยายามหาทางออก

ในระดับการตระหนักรู้ สังคมไทยตระหนักทั้งสังคม และตระหนักมากในระดับที่อธิบายทุกปัญหาในสังคมด้วยความขัดแย้งระหว่างวัยหมด ถ้ามีเด็กคนหนึ่งมีปัญหา ทุกคนจะมองว่าเกิดจากช่องว่างระหว่างวัย ซึ่งมันตรงกันข้ามกับการประท้วงที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ไม่มีงานศึกษาไหนระบุว่า เกรตา ธุนแบร์ก ลุกขึ้นมาประท้วงเพราะความขัดแย้งระหว่างเจเนอเรชัน แต่เป็นเพราะว่าสนใจและตระหนักเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วคนในรุ่นอื่นๆ ก็ร่วมสนับสนุนด้วยมากกว่า และความขัดแย้งระหว่างคนต่างรุ่นในไทยก็ยิ่งรุนแรงในระดับครอบครัว ขัดแย้งมากขึ้น เห็นไม่ลงรอยกัน คิดต่างกันอย่างมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนระดับที่มีการไล่ลูกออกจากบ้าน

ในระดับที่ทำงาน แม้จะเป็นในแง่ความต่างเรื่องวัฒนธรรมองค์กร วัฒนธรรมการทำงานร่วมกันมากกว่า แต่ในภาคเอกชนก็เห็นปัญหา ตระหนักถึงปัญหาชัด

ในระดับพรรคการเมืองก็ตระหนักมากขึ้น แต่ก็แล้วแต่พรรคการเมือง มีทั้งพรรคที่ตระหนักและมองคนรุ่นใหม่เป็นฐานมวลชนเลย พรรคที่แต่ก่อนไม่เคยให้ความสำคัญก็มีปรับตัว หรือพรรคที่ไม่ตระหนัก ไม่ได้สนใจเลยก็มี 

คำถามคือแล้วรัฐบาลตระหนักไหม ปัญหาคือทั้งสังคมตระหนัก แต่ผู้มีอำนาจที่มีอุดมการณ์แนวอนุรักษนิยมไม่ตระหนักเลย กลับมองว่าม็อบในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2563-2564 หรือวัฒนธรรมการตั้งคำถามต่อสังคมในหมู่คนรุ่นใหม่เป็นเรื่องชั่วครั้งชั่วคราว ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มการเมืองพรรคการเมือง โซเชียลมีเดีย ต่างชาติมหาอำนาจ พอตีความแบบนี้ก็ไม่ได้มองว่าเป็นความขัดแย้งและการปะทะกันระหว่างรุ่น ไม่ได้แม้แต่สนใจว่าปัญหาความแตกต่างระหว่างรุ่นมีอยู่จริง จึงไม่สนใจกระทั่งว่าในระบบราชการก็มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างรุ่น ในขณะที่ภาคเอกชนตระหนักมาก เพราะภาคเอกชนรู้ว่าความขัดแย้งแบบนี้จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน แต่หน่วยงานราชการไม่ได้ตระหนักอย่างเป็นระบบเลย ในขณะที่ตอนนี้หน่วยงานราชการก็กำลังจะผลัดใบ

เราพอจะเห็นสัญญาณความพยายามในการหาทางออกจากความขัดแย้งบ้างไหม

แต่ละหน่วย แต่ละระดับในสังคมก็ตอบสนองไม่เหมือนกัน แทบทั้งสังคมตระหนักรู้แล้วก็จริง พอจะรู้ว่าคนรุ่นใหม่มองโลกอย่างไร แต่ก็ยังไม่มีความพยายามจะศึกษาความขัดแย้งอย่างจริงจังว่า แล้วมันจะหาทางออกยังไง เราจบอยู่ตรงแค่ว่าเราต่างกัน

ในระดับครอบครัวเป็นระดับที่ง่ายที่สุดแล้ว เราเห็นสัญญาณในการกลับมาสร้างชุดความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างคนในครอบครัว คล้ายกับความขัดแย้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงก่อนหน้านี้คือ ช่วงแรกสองฝ่ายที่เห็นต่างกันเผชิญหน้ากันอย่างมาก หย่าร้าง ตัดพ่อแม่ลูก แต่พอเวลาผ่านไปสัก 10 กว่าปี ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ครอบครัวเป็นความสัมพันธ์ที่มีสายสัมพันธ์พิเศษ ไม่เหมือนกับความสัมพันธ์ในระดับอื่น การกลับมาคืนดีเลยเกิดขึ้นได้ คือยังรักกัน เคารพกัน เพื่อให้ความสัมพันธ์ของสถาบันครอบครัวยังดำเนินไปได้ เพราะอย่างไรก็ตาม คนในครอบครัวผูกพันกันมากเกินกว่าที่ความขัดแย้งทางการเมืองหรือความแตกต่างทั้งหมดจะทำลายความสัมพันธ์ลงไปได้ อย่างไรก็ยังต้องอยู่ร่วมกัน ยังต้องใช้นามสกุลร่วมกัน ยังอยากมีความสัมพันธ์ดีๆ กับคนในครอบครัว

ในระดับที่ทำงาน เราจะเห็นว่ามีพลวัตการเปลี่ยนแปลงที่ชัดมาก ภาคเอกชนตื่นตัวในการหาทางออกจากความแตกต่างระหว่างวัยในที่ทำงานอย่างมาก ทั้งองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก สตาร์ตอัปพยายามหันกลับมาสร้างบรรยากาศการทำงานให้เป็นพื้นที่ในการพูดคุย ทำงานร่วมกันระหว่างคนหลายรุ่น ปรับรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ ให้ work from home ได้ มีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น พยายามสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่มี loyalty ต่อองค์กร ก็สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แต่ก็พยายามปรับ  

ในระดับพรรคการเมือง จะเห็นว่ามีทั้งพรรคที่พยายามหันเข้าหาคนรุ่นใหม่และไม่พยายาม พรรคการเมืองมองตัวเองว่าฐานเสียงเป็นคนรุ่นใหม่ รู้ว่าพรรคสามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ได้สำเร็จ ได้เสียงจาก first time voter ไปไม่น้อยในการเลือกตั้งรอบที่แล้วที่มีอยู่ 6-7 ล้านคน การเลือกตั้งรอบนี้จะมี first time voter เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอีกกว่า 4-6 ล้านคน อย่างไรก็ตาม พรรคก็ต้องพยายามปรับนโยบายเรียกคะแนนเสียงเลือกตั้งจากคนรุ่นใหม่ให้ได้ รวมทั้งขยายฐานไปยังกลุ่มอื่นๆ ซึ่งสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ไม่รู้ เพราะก็ไม่ง่ายที่จะปรับพรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ให้กลายไปเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงข้ามรุ่น ส่วนพรรคที่เคยประสบความสำเร็จกับฐานมวลชนที่แบ่งตามชนชั้นทางเศรษฐกิจก็มีการปรับตัว แต่มันก็ไม่ง่ายทั้งในเชิงนโยบาย เชิงอุดมการณ์ และในเชิงการทำงาน ท้ายที่สุดก็กลายเป็นแค่การรีแบรนด์พรรคจากการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน แต่ก็ยังไม่เห็นการปรับเชิงนโยบายที่จะดึงคนรุ่นใหม่ได้

ในทางตรงกันข้าม พรรคที่ฐานมวลชนเป็นคนรุ่น Baby Boomer กับมวลชนอนุรักษนิยม เมื่อไม่ได้ตระหนักถึงความขัดแย้งระหว่างรุ่นแต่แรกหรือไม่ได้ตระหนักว่ามีกลุ่มมวลชนคนรุ่นใหม่ ก็ไม่ได้ปรับอะไรเพื่อเสนอทางออก ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นยุทธศาสตร์ที่พลาดมาก เพราะจริงๆ คนรุ่นใหม่ที่เป็นอนุรักษนิยมก็มีไม่น้อย รุ่นทางการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นในฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเดียว มันก็ทำให้เกิดกลุ่มอนุรักษนิยมรุ่นใหม่ได้ด้วย มันยังมีคนที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจสังคมอีกแบบหนึ่ง อย่างรุ่นลูกของชนชั้นนำ คนเหล่านี้ก็เจอผลกระทบแบบเดียวกันกับคนในสังคม แต่ก็มีรีแอกชันอีกแบบ คือตระหนักถึงอำนาจของตัวเอง แต่ปัญหาคือพรรคการเมืองที่เป็นอนุรักษนิยมก็ไม่ได้สนใจ ในแง่หนึ่ง พรรคก็อาจจะมองว่าพรรคไม่สามารถเรียกคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ฝ่ายประชาธิปไตยได้อยู่แล้ว แต่ประเด็นคือพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมก็ไม่ได้ปรับตัวเพื่อที่จะรวมฐานมวลชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นฝ่ายขวา ไม่ได้ไปรวบรวมนักวิชาการฝ่ายขวามาเป็นที่ปรึกษาพรรค หรือดึงคนรุ่นใหม่อนุรักษนิยมมาร่วมงานในพรรค

มีความเป็นไปได้ไหมที่การปะทะกันระหว่างรุ่นทางการเมืองจะจางลงไปในอนาคต

ถ้ามองแบบ life course effect ในหลายๆ ที่ในโลกตะวันตก พอคนเจเนอเรชันหนึ่งที่กลายเป็นรุ่นที่แอกทีฟทางการเมืองเริ่มโตก็จะแอกทีฟน้อยลงไปตามวัย แล้วพอเริ่มเข้าสู่สังคม ตั้งตัว ลงหลักปักฐาน ก็จะมองเรื่องความมั่นคงมากขึ้น เริ่มเข้าใจโครงสร้างอำนาจ โครงสร้างสังคม รู้ว่าถ้าจะสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องเริ่มจากหน่วยเล็กๆ มีความอดทนมากขึ้น ก็มีโอกาสที่ความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นหนึ่งกับสังคมลดน้อยลง

แต่ขณะที่เวลาผ่านไป คนคนหนึ่งจะไม่เปลี่ยนในทันที หลายประเทศได้ประโยชน์จากการดึงคนที่ตื่นตัวทางการเมืองเข้าไปในระบบ ระหว่างที่คนเหล่านี้ค่อยๆ เติบโตในสายงานไปจนถึงระดับผู้บริหาร ก็จะยังคงรักษาอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเองไปสู่องค์กรด้วย

มีงานวิจัยจำนวนมากที่เสนอว่า ชุดประสบการณ์ทางการเมืองในช่วงวัยรุ่นจะมีส่วนในการประกอบสร้างคาร์แรกเตอร์ทางการเมืองของคนคนหนึ่งไปตลอด แน่นอนว่าบางคนเปลี่ยน อาจจะเพื่อผลประโยชน์ แต่รุ่นทางการเมืองนั้นก็จะเป็นเจเนอเรชันที่พิเศษ คือมีคุณค่าบางอย่างที่ยึดถือร่วมกัน อย่างคนเดือนตุลา บางคนก็กลายเป็นเสื้อเหลือง บางคนก็เป็นเสื้อแดง จะขัดแย้งกันอย่างไรก็ตาม แต่ทุกคนยังยืนยันว่าตัวเองปกป้องประชาธิปไตย แม้จะตีความประชาธิปไตยแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม คนในรุ่นทางการเมืองหนึ่งๆ ก็จะมีวิธีคิดหรือ concern อะไรบางอย่างที่ทำให้พวกเขาต่างไปจากชนชั้นนำเจเนอเรชันก่อนหน้า

อย่างในเยอรมนีทศวรรษที่ 1990 ที่พรรคกรีนสามารถเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรค SPD ได้ แม้สุดท้ายหลายคนจะวิพากษ์วิจารณ์พรรคกรีนว่าสุดท้ายก็ไม่มีจิตวิญญาณกบฏต่อเชิงโครงสร้างการเมืองทั้งหมดจริงๆ เหมือนตอนแรก ยอมจับมือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับพรรค SPD ว่า ถ้าพรรค SPD ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลยอมนำนโยบายของพรรคกรีนไปใช้ พรรคกรีนก็จะไม่ขัดพรรค SPD ให้ดำเนินนโยบายบางอย่างที่พรรคกรีนเคยต่อต้าน แต่การที่พรรคกรีนมีพื้นที่ทางการเมืองก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเยอรมนีอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คนรุ่นใหม่เยอรมันที่เติบโตในยุค ’70 ก็กลายเป็นพลังหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการ อย่างการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์นาซี หรือการสร้างเมืองสีเขียว หรือในสหรัฐฯ คนรุ่นใหม่ยุค ’60 ’70 ต่อมาก็กลายเป็นนักสิทธิมนุษยชน นักแคมเปญ ผลักดันประเด็นทางสังคมต่างๆ จนสังคมอเมริกันกลายเป็นสังคมที่ยอมรับความหลากหลายมากขึ้น  

เพราะฉะนั้น มันขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจในสังคมว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งและการประทะกันระหว่างรุ่นทางการเมืองแล้ว จะมองเห็นประโยชน์ของคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร ถ้าพูดถึงสังคมไทย ต้องบอกว่าคนรุ่นโบว์ขาวคือ crème de la crème ของประเทศ มีความรู้ความสามารถรอบด้านมากและมีความตื่นรู้ตื่นตัวทางการเมืองสูง เรากำลังทำโปรเจ็กต์ post-protest คือไปตามสัมภาษณ์คนรุ่นใหม่ที่มาประท้วงในช่วง 2-3 ปีที่แล้วว่าไปทำอะไรต่อ พบว่ามีไม่น้อยที่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยระดับโลก แล้วก็ยังตื่นตัวทางสังคมการเมืองอยู่ทั้งรุ่น คำถามคือผู้ใหญ่ในสังคมจะทำอย่างไรให้คนรุ่นนี้มีโอกาส มีพื้นที่ที่จะทำอะไรต่อไปในสังคมเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ หรือเราจะกดทับไม่ให้พวกเขามีที่ยืนอีกเลย ซึ่งประเทศจะเสียประโยชน์อย่างมาก แน่นอนว่าการสิ้นสุดลงของการชุมนุม หรือการประสบความสำเร็จในการหยุดไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัวก็คงเป็นแค่ขั้นหนึ่งที่ทุกรัฐก็ต้องทำเพื่อรักษาความสงบ แต่คำถามคือ หลังจากนั้นรัฐจะทำอย่างไรต่อกับคนกลุ่มนี้

แน่นอนว่า ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรุ่นไม่ได้เป็นสิ่งพึงประสงค์ต่อสังคมเท่าไหร่ เพราะทำให้สังคมแตกแยกแบ่งขั้วอย่างมาก แต่ในอีกแง่หนึ่ง มองได้ไหมว่าจริงๆ แล้วพลังความขัดแย้งแบบนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องแย่สำหรับสังคมประชาธิปไตยเสียทีเดียว 

จริงๆ การที่มีมวลชนกลุ่มหนึ่งลุกฮือขึ้นมาลงถนนก็ไม่ได้ดีต่อสังคม มันมีต้นทุนที่ต้องจ่ายไปในแง่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง และนำมาซึ่งบาดแผลมากมายในสังคม

แต่นี่คืออาการของสังคมที่มีปัญหาและไม่มีพื้นที่ทางการเมืองให้กับคนบางกลุ่ม ใครบ้างจะอยากลงถนนไปชุมนุม ถ้าเกิดว่ายื่นจดหมายเรียกร้องปัญหาต่อหน่วยงานรัฐแล้วทุกอย่างจบ happily ever after ความขัดแย้งในสังคมก็ไม่เกิด นี่คืออาการที่สะท้อนว่าระบอบประชาธิปไตยในประเทศมีปัญหา ระบอบการเมืองที่เป็นอยู่ยังคงกีดกันคนบางกลุ่มไม่ให้ส่งเสียงเรียกร้องปัญหาได้ บางทีก็เป็นเรื่องชนชั้น บางทีก็เป็นขบวนการแรงงาน บางทีก็เป็นเรื่องเชื้อชาติ บางทีก็เป็นเรื่องรุ่น ยังไม่ต้องพูดถึงประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนะ

แต่ถ้ามองแบบมีความหวังหน่อยจะมองว่าดีก็ได้ เพราะจะได้รู้ว่ามีปัญหา แต่ถามว่าดีไหม มันก็ไม่ใช่สิ่งดี แต่ประเด็นคือว่าเมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรุ่นแล้วจะทำอย่างไรต่อ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะตระหนักว่า จะแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมอย่างไร แน่นอนว่าไม่มีประเทศไหนในโลกตะวันตกหรือประเทศประชาธิปไตยที่ไม่ปราบปรามการชุมนุม ไม่มีจลาจลไหนที่คนไม่ถูกจับ เพราะมันคือการสร้างความเสียหาย ก่อความไม่สงบ แต่หลังจากที่การประท้วงจบลงแล้ว ทุกประเทศที่พัฒนาแล้วและเป็นประชาธิปไตยต้องมี study group เพื่อทำความเข้าใจจริงๆ ว่าอะไรคือสาเหตุที่คนออกมาชุมนุมประท้วง ถ้ามาจากความขัดแย้งระหว่างรุ่น ปัญหาอยู่ตรงไหน จะสร้างพื้นที่ทางการเมืองและสังคมขึ้นมาใหม่อย่างไรให้คนกลุ่มที่ออกมาชุมนุม และไม่ต้องออกมาประท้วงอีกในอนาคต หลังการประท้วงในฝรั่งเศสปี 2005 London Great Riot ในอังกฤษ ปี 2011 หน่วยงานต่างๆ ทำงานศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ปัญหากันอย่างมหาศาล ที่อังกฤษ 10 กว่าปีผ่านไป ทุกวันนี้ก็ยังมีงานเขียนออกมาวิพากษ์ว่ารัฐบาลยังแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด รอวันที่ความไม่พอใจจะปะทุขึ้นมาอีกครั้ง แต่เมื่อมีการประท้วงขึ้นมา มันต้องมีกระบวนการที่นำไปสู่การแก้ปัญหาแบบนี้

แน่นอนว่าในสังคมประชาธิปไตย กลไกในการจัดการปัญหาไม่มีวันที่มันจะสมบูรณ์แบบ เพราะสังคมเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แต่ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบบการเมืองที่ resilient ต่อความเปลี่ยนแปลง ปรับตัวตามพลวัตของสังคม

คือพูดมันง่ายแหละ แต่ว่าถ้าเรายังไม่ตระหนักว่าการประท้วงที่เกิดขึ้นในไทยเป็นอาการที่ตามมาจากปัญหาที่แท้จริง แต่มองแค่ว่าเด็กถูกล้างสมอง หรือเป็นแค่อันธพาล เด็กแว้นออกมาก่อความวุ่นวาย เราก็ได้แต่รอวันที่ปัญหาจะปะทุขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ในการเริ่มกระบวนการปรองดองสมานฉันท์หลังความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม จำเป็นไหมที่รัฐบาลจะต้องเป็นประชาธิปไตย

มันคงไม่ใช่แค่ว่าปิดสวิตซ์ ส.ว. 250 เสียง มีการเลือกตั้ง ฝ่ายที่ตั้งรัฐบาลได้เป็นฝ่ายประชาธิปไตย แล้วจะเกิดกระบวนการสมานฉันท์หรือแก้ไขปัญหา แต่ในแง่หนึ่งการเมืองประชาธิปไตยก็สร้างบรรยากาศที่ทำให้สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเสรี

แต่ในระบอบการเมืองที่มีเงื่อนไขแบบที่เรากำลังเผชิญอยู่ อย่างไรกระบวนการมันก็เกิดขึ้นได้ และมันต้องเกิดขึ้น ถ้ากระบวนการมันไม่เกิดขึ้น ก็จะเกิด Lost Generation คนรุ่นนี้จะกลายเป็นรุ่นที่ไม่ถูกนำมาใช้สร้างประโยชน์ต่อสังคม แต่กลับถูกหมายหัว อย่างไรก็ตามคนรุ่นนี้ก็ถูกจับตาอยู่แล้ว โดยเฉพาะในระดับแกนนำหรือคนที่เคลื่อนไหวบ่อยๆ

การปรองดองมีอยู่สองระดับ คือระดับแกนนำขบวนการกับคนรุ่นใหม่ทั้งสังคม ในระดับแกนนำ แน่นอนว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนั้นก็ต้องสร้างบรรยากาศใหม่ในพื้นที่ทางการเมือง เปิดพื้นที่ให้คนเหล่านี้สามารถเข้าไปมีอิทธิพลต่อกระบวนการนโยบายได้ นี่เป็นสิ่งที่ต้องทำ ในประเทศเผด็จการจำนวนมากก็มีการเปิดพื้นที่ให้คนคิดต่างเข้าไปเสนอปรับปรุงระบอบได้ แต่ในไทยเราก็ยังไม่เห็น

ในขณะที่การปรองดองในระดับมวลชนทั่วไป เราคิดว่าต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่แกนนำเรียกร้องไปแล้วหรือผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายที่ถูกกลั่นกรองมาไม่รู้กี่ครั้งแล้วว่าคือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ concern ไม่ว่ารัฐบาลใดจะผลักดันข้อเสนอของคนรุ่นใหม่ก็ตาม นั่นจะนำมาสู่การปรองดองได้ในระยะสั้น

แน่นอนว่าตอนนี้เราคงไม่สามารถเปลี่ยนให้ระบอบการเมืองในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ถ้าผู้มีอำนาจตระหนักและให้ความสำคัญต่อข้อเสนอของคนรุ่นใหม่ แล้วปฏิรูปกลไกระบบราชการและนำประเด็น วาระต่างๆ เข้าสู่กระบวนการนโยบาย ก็อาจจะทำให้ผู้มีอำนาจที่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยมมีความชอบธรรมก็ได้ นั่นหมายความว่า ในสังคมการเมืองไทยต้องมีฝ่ายอนุรักษนิยมที่อยากจะปฏิรูป มันไม่ใช่ว่าการเป็นอนุรักษนิยมนั้นผิด เป็นอนุรักษนิยมแล้วเป็นคนไม่ดี ไม่ใช่ แต่จริงๆ แล้วฝ่ายอนุรักษนิยมมีความเชื่อว่า บ้านเมืองที่ดีควรจะเปลี่ยนแปลงด้วยกระบวนการปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน สังคมไทยต้องการเห็นบทบาทของอนุรักษนิยมหัวปฏิรูปมากขึ้น


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปรึกษาหัวใจกับใครก็เหมือนกัน? แนวทางกำกับมาตรฐานนักจิตวิทยาการปรึกษา-จิตบำบัดอย่างสมดุล

ปัญหาการอวดอ้างชื่อและล่วงละเมิดผู้รับบริการ เรียกร้องให้ต้องมีการกำกับนักจิตวิทยาการปรึกษา/จิตบำบัด แต่การสร้างมาตรฐานให้การดูแลหัวใจอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

ต้องพิการแค่ไหนรัฐไทยถึงมองเห็น

ในปัจจุบันยังมีผู้พิการจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการในระบบของภาครัฐ ขอเชิญชวนทุกท่านมาทำความเข้าใจสาเหตุที่ผู้พิการจำนวนมากตกหล่นไม่ได้รับสวัสดิการ และหาแนวทางที่จะทำให้ผู้พิการได้รับการช่วยเหลืออย่างที่สมควรได้รับ

ความเสี่ยงซึมเศร้า ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด?

ความเสี่ยงซึมเศร้า ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด?

ความเข้มแข็ง-อ่อนแอในจิตใจคนเราเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ เราฝึกฝนกำหนดใจเราเองได้แค่ไหน? นโยบายของรัฐควรมีบทบาทอย่างไรกับปัจจัยที่เกินการควบคุมของปัจเจกบุคคล?

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2024 kidforkids.org | All rights reserved.