‘จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย’ ถึงเวลาออกจากโลกเก่าสู่การสร้างอนาคตที่คนรุ่นใหม่ปรารถนา

การตื่นตัวของเด็กและเยาวชนไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อภูมิทัศน์สังคมการเมืองไทยอย่างไม่มีวันหวนกลับ เมื่อเพดานทางความคิดได้ถูกยกระดับอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ประเด็นสาธารณะที่หลากหลายและแหลมคมถูกหยิบยกมาถกเถียง ทั้งในโรงเรียน มหาวิทยาลัย โลกออนไลน์ และบนท้องถนน

‘จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย’ คืองานวิจัยชิ้นที่พยายามทำความเข้าใจ ‘จินตนาการพลเมือง’ (Civic Imagination) ของเยาวชนไทยหลากหลายกลุ่ม ด้วยมุมมองใหม่ แนวคิดใหม่ และเครื่องมือใหม่ โดยมองว่า ‘จินตนาการ’ ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งเพ้อฝัน หรือหนทางในการหลบหนีจากโลกความจริง แต่คือปริมณฑลสาธารณะที่ผู้คนสามารถมาถกเถียงถึงประเด็นทางสังคมต่างๆ และอนาคตที่พึงปรารถนา และเป็นฐานรากของการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งความจริง

จากอดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคต เยาวชนไทยคิดและฝันถึงสังคมไทยอย่างไร และจัดวางตัวเองอยู่ตรงไหนบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลง ร่วมกันหาคำตอบได้ในงานวิจัย คิด for คิดส์ – ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ‘Research Roundup 2022’ หัวข้อ “จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย” โดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ bookscape ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูสังคมศาสตร์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์และ สรัช สินธุประมา นักวิจัยโครงการ ‘การมีส่วนร่วมของพลเมืองในยุคดิจิทัล: การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนไทยใน พ.ศ. 2563’

ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นโดย ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์    

หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจากงาน  ‘Research Roundup 2022’ หัวข้อ “จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย” โดย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

‘จินตนาการพลเมือง’ รากฐานสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ bookscape เริ่มต้นอธิบายว่างานวิจัยจินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย (Thai Youth Civic Imagination Project) ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดและระเบียบวิธีวิจัยเรื่อง ‘จินตนาการพลเมือง’ (Civic Imagination) ที่พัฒนาโดย เฮนรี เจนกินส์ (Henry Jenkins) แห่งมหาวิทยาลัย Southern California ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงขับเคลื่อนที่มุ่งฟื้นฟูจินตนาการพลเมืองในห้วงยามที่ประชาชนสิ้นหวังและมีการแบ่งขั้วทางความคิด โดยมีแนวคิดเบื้องหลังได้แก่

– สำนึกพลเมือง (civics) คือกระบวนการที่สังคมจะสร้างคุณค่าและเป้าหมายร่วมกันได้ผ่านความคิดที่หลากหลาย

– จินตนาการ (imagination) ทำหน้าที่เป็นเหมือนประตูเชื่อมระหว่างอดีตกับอนาคตอันจะนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ

– การสร้างโลกใหม่ (worldbuilding) เกิดจากการกระตุ้นให้คนและสังคมสร้างสรรค์โลกอนาคตที่ตัวเองปรารถนา และนำไปสู่การสร้างสายสัมพันธ์พลเมืองและนวัตกรรมใหม่ๆ

– ด้วยสื่ออะไรก็ได้ (any media necessary) คือการเน้นวิธีการเล่าเรื่องอย่างสร้างสรรค์ด้วยสื่ออะไรก็ได้ตามที่แต่บุคคลสะดวกและเข้าถึงได้

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ bookscape

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย วรพจน์ระบุว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเยาวชนไทยมีความตื่นตัวทางการเมืองและมีสำนึกพลเมืองเพิ่มมากขึ้นอย่างเด่นชัด พวกเขาให้ความสำคัญกับประเด็นสาธารณะที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นทางการเมืองการปกครอง การศึกษา และสิทธิมนุษยชน ทั้งยังประเมินว่ารัฐบาลในปัจจุบันไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตนเองและคนในสังคมได้ จนนำไปสู่แนวโน้มต้องการย้ายประเทศในที่สุด ซึ่งล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกสิ้นหวังของเยาวชนไทย

ทั้งนี้ งานวิจัย “จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย” แบ่งเยาวชนกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มนักเรียนนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในหลากหลายภูมิภาค รวมถึงหลากหลากสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม และกลุ่มความสนใจร่วม ได้แก่ กลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลี กลุ่มความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มกราฟิกดีไซน์หรือ content creator มาสร้างสรรค์จินตนาการผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยกระบวนการผสมผสานจินตนาการที่แตกต่างกัน (remixing) จนก่อรูปเป็น ‘จินตนาการใหม่’ ที่ผู้เข้าร่วมยอมรับร่วมกัน ซึ่งจะช่วยลดความแตกต่างและกระชับความสัมพันธ์ในกลุ่มคนที่มีประสบการณ์แตกต่างกัน

อนาคตที่มาถึงไม่พร้อมกันของเด็กในเมืองกับเด็กต่างจังหวัด

ในฐานะผู้วิจัยและดูแลกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูสังคมศาสตร์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ กล่าวว่ากลุ่มเป้าหมายในส่วนของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาแบ่งแยกย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม และมีการจัดกิจกรรมด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ได้แก่ กลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ กลุ่มเยาวชนที่ทำงานร่วมกับสภาเด็กตำบล และกลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยาและโรงเรียนระยองวิทยาคม โดยในการจัดกิจกรรม workshop กับกลุ่มเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่ม ภาคินแบ่งออกเป็นกิจกรรมออนไลน์และออนไซต์ 

สำหรับกิจกรรมออนไลน์ เขาเลือกจัดกิจกรรม เรื่องเล่าแห่งอนาคต ซึ่งเน้นการสำรวจจินตนาการถึงอนาคตที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมป๊อปและประสบการณ์ส่วนตัว รวมถึงให้เยาวชนได้แลกเปลี่ยนและร่วมสร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับโลกอนาคตที่พวกเขาอยากเห็น ในขณะที่กิจกรรมออนไซต์ เมืองแห่งอนาคต จะมุ่งเน้นให้เยาวชนได้ลองประดิษฐ์และสร้างเมืองในอนาคตที่ตนเองปรารถนาในเชิงรูปธรรม รวมถึงร่วมกันเสนอและถกเถียงเชิงนโยบายเพื่อปรับปรุงพัฒนาเมืองให้ดีขึ้น

ภาคินระบุว่าผลลัพธ์ที่น่าสนใจที่ได้จากการจัดกิจกรรมดังกล่าวกับนักเรียนทั้ง 3 กลุ่ม คือการค้นพบความสนใจร่วมกันของเยาวชนไทย เมื่อเขาให้กลุ่มนักเรียนนักศึกษาจินตนาการถึงโลกอนาคต สิ่งแรกที่พวกเขาส่วนใหญ่นึกถึงคือ ‘เทคโนโลยี’ และ ‘ผลกระทบที่เกิดจากเทคโนโลยี’หรือแม้กระทั่งนิทาน การ์ตูน วรรณกรรม เพลง และภาพยนตร์ที่เยาวชนกลุ่มเป้าหมายสนใจก็ล้วนมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี 

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูสังคมศาสตร์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์

ในขั้นต่อไป เมื่อลองปรับเปลี่ยนโจทย์ให้ผู้เข้าร่วมจินตนาการถึงโลกอนาคตที่เชื่อมโยงกับบริบทส่วนตัวของตนเอง ก็นำมาสู่การเกิดความเปลี่ยนแปลงของคำตอบอย่างมีนัยยะสำคัญ คือเปลี่ยนจากจินตนาการในเทรนด์ของเทคโนโลยีล้ำสมัยไปสู่ความหวังและความปรารถนาต่ออนาคตที่พวกเขาอยากเห็น

“กิจกรรมสำคัญอันหนึ่งของเวิร์กช็อป นี้คือให้เด็กแบ่งกลุ่มกันและพูดคุยถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับอนาคตของแต่ละคนแล้วก็ช่วยกันแต่งเรื่องราวใหม่และสร้างตัวละครในเรื่องขึ้นมา โดยผมให้โจทย์ไปว่าให้นึกถึงอนาคตของประเทศไทยในอีก 50 ปีข้างหน้า เรื่องหนึ่งที่ได้มาคือ ‘ประเทศไทยในเมตาเวิร์ส’ เพราะพวกเขาอยากเห็นประเทศไทยในอนาคตเป็นสังคมสงบสุข แก้ไขความขัดแย้งได้โดยไม่นำไปสู่ความรุนแรงชีวิตจริง”

“อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘แดดาลัสกับอิคาลัส’ ตำนานกรีกโบราณในแบบคนไทย นักเรียนคนหนึ่งแต่งเรื่องนี้เพราะมองว่าสังคมเราให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมาก แต่ไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบของเทคโนโลยี เขาจึงอยากเห็นโลกอนาคตที่สังคมเราให้ความสำคัญกับมิติอื่นๆ ในชีวิตมากขึ้น” ภาคินกล่าว

มากไปกว่านั้น ภาคินชี้ให้เห็นถึงมุมมองต่ออนาคตที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดระหว่างเยาวชนในเขตเมืองกับเยาวชนนอกเขตเมือง เมื่อเขาตั้งโจทย์ว่า “อีก 50 ปีข้างหน้าอยากเห็นอะไร” พบว่าเยาวชนเขตเมืองมีแนวโน้มจะใฝ่ฝันถึงเมืองที่ดีและสะดวกสบายกว่าเดิม เช่น อยากให้ประเทศไทยในอีก 50 ข้างหน้าเป็นเหมือนเมืองของต่างประเทศในปัจจุบัน ในขณะที่เยาวชนที่อาศัยนอกเขตเมืองมักจินตนาการถึงอนาคตในรูปแบบของสิ่งที่มีอยู่แล้วในเมืองใหญ่ คำตอบเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าอนาคตของเยาวชนแต่ละคนมีหน้าตาและมีช่วงเวลาที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งล้วนขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมและปูมหลังของเด็กแต่ละคน

“คำตอบของเด็กที่มาจากต่างจังหวัดหลายคนพูดว่าอยากเห็นระบบการขนส่งสาธารณะปรากฏที่บ้านของตัวเอง เช่น อยากมีรถเมล์ อยากมีสนามบิน พูดถึงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานที่คนกรุงเทพฯ มีอยู่แล้ว เช่น สวนสนุกและห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน หรือแม้แต่อยากให้มีน้ำสะอาดและทะเลน้ำจืดอยู่หน้าบ้าน”

“อนาคตของเด็กต่างจังหวัดจำนวนมากมาถึงแล้วสำหรับเด็กกรุงเทพฯ ในขณะที่เด็กกรุงเทพฯ มองไปถึงต่างประเทศแล้ว แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วอนาคตไม่ใช่เรื่องของความเพ้อฝัน แต่เป็นเรื่องของความต้องการ ทรัพยากร การเมือง และเป็นเรื่องของพื้นที่ด้วย”

อีกหนึ่งกิจกรรมที่กระตุ้นให้เยาวชนได้ใช้จินตนาการในการกำหนดอนาคตเชิงนโยบายคือกิจกรรมเมืองแห่งอนาคต ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ลองออกแบบเมืองและเสนอนโยบายของเมืองในอนาคตที่ตนเองอยากเห็น ซึ่งสะท้อนให้เห็นจินตนาการและความปรารถนาด้านเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงเข้ากับคุณค่าสาธารณะในหลายมิติ เช่น ความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ การเมืองการปกครอง การกระจายความเจริญ สวัสดิการขั้นพื้นฐาน การศึกษา ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งร่วมกันวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนเมืองที่น่าอยู่ในอนาคตของผู้เข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ

“พอได้คุยกับคนที่เข้าร่วมกิจกรรม เราพบว่าจินตนาการไม่ใช่เรื่องของการหนีจากความเป็นจริง (escapism) แต่ถ้าได้รับการกระตุ้นที่ดีพอ และมีการจัดวางให้ได้ลองคิดทีละขั้น จะทำให้แต่ละคนมองเห็นว่าอะไรคือความต้องการและความปรารถนาที่พวกเขาอยากเล่า ทำให้คิดถึงโลกอนาคตในลักษณะที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในห้องเรียน”

“และที่สำคัญที่สุดคือบางคนพูดว่ากิจรรมที่เคยเข้าร่วมส่วนใหญ่ชวนให้คิดแต่จินตนาการที่เป็นของตัวเอง แต่จินตนาการพลเมืองพาไปไกลกว่านั้น คือไม่ใช่จินตนาการแค่ตัวเอง แต่เราจะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างไรในโลกอนาคตข้างหน้าด้วย” ภาคินสรุป

จินตนาการให้ไกลโดยไม่มีอะไรมากั้น

ในส่วนของเยาวชนกลุ่มความสนใจร่วม ทั้งแฟนคลับศิลปินเกาหลี LGBTQ+ กราฟิกดีไซน์ และ content creator สรัช สินธุประมา นักวิจัยที่ดูแลกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวแบ่งกิจกรรมเวิร์กช็อป ออกเป็น 2 อย่าง ได้แก่ กิจกรรม ‘ความหวังที่ไม่มีอะไรกั้น: จินตนาการสู่ประเทศไทย พ.ศ. 2615’ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนได้ปลดปล่อยจินตนาการถึงอนาคตประเทศไทยหรือโลกที่อยากจะเห็นในอีก 50 ปีข้างหน้าบนแนวคิดที่ว่าทุกอย่างล้วนเป็นไปได้โดยไม่มีอะไรมาขวางกั้น ด้วยการสร้างเรื่องราวที่รวมจินตนาการของทุกคนเข้าด้วยกันโดยใช้องค์ประกอบจากป๊อปคัลเจอร์ และร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน

“ความสนใจของเยาวชนหลากหลายมาก สุดท้ายป๊อปคัลเจอร์จึงเป็นความหลากหลายที่ต้องเรียนรู้ และเป็นสะพานเชื่อมไปสู่การพูดคุยและสร้างการมีส่วนร่วมของพลเมืองที่มีพื้นเพต่างกัน”

“จากกิจกรรมนี้มีกลุ่มหนึ่งจินตนาการเรื่องราวให้มีผู้พิพากษาฮีโร่ใช้ค้อนวิเศษเสกให้ผู้นำเผด็จการหายไป ทำให้ประเทศเจริญขึ้นมาทันทีในทุกๆ ด้าน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ แต่ในช่วงที่เปิดให้มีการพูดคุยถกเถียงกันก็มีคนตั้งคำถามว่าถ้าเพียงแค่ใช้วิธีแบบศาลเตี้ยทำให้ผู้นำที่เลวร้ายหายไป แล้วถ้าในอนาคตมีผู้นำคนใหม่มาแทน วิธีการนี้จะเป็นวิธีที่ดีจริงหรือเปล่า สุดท้ายกิจกรรมนี้จึงชวนให้เราย้อนกลับมามองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นด้วย” สรัชอธิบาย

สรัช สินธุมา นักวิจัยโครงการ ‘การมีส่วนร่วมของพลเมืองในยุคดิจิทัล: การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนไทยใน พ.ศ. 2563’

อีกหนึ่งกิจกรรมคือ ‘ทาบจินตนาการสู่ความเป็นจริง’ ที่ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมลองวาดโครงการในฝันทาบลงไปบนสถานที่หนึ่งเพื่อเปลี่ยนแปลงความหมายของสถานที่นั้น สรัชระบุว่าในกิจกรรมนี้ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับประเด็นการทวงคืนพื้นที่สาธารณะและการเพิ่มพื้นที่สีเขียวสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงปรารถนาให้สถานศึกษามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน

สรัชเสริมว่าสำหรับเยาวชนกลุ่มความสนใจร่วม เมื่อลองให้จินตนาการถึงโลกอนาคตผ่านกิจกรรมเวิร์กช็อปดังกล่าว ประเด็นที่พวกเขาให้ความสำคัญอย่างเห็นได้ชัดคือเรื่องของความเท่าเทียม ความหวัง การศึกษา ขนส่งสาธารณะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการโค่นล้มทรราช และการเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคม

“สิ่งที่เราเห็นคือเยาวชนหลายคนกลัวว่าสิ่งที่ตัวเองพูดจะผิด หรือกลัวการถูกตัดสินว่าพูดจาเพ้อเจ้อ ซึ่งเป็นผลมาจากกรอบของระบบการศึกษา แต่เมื่อได้ทำกิจกรรมนี้ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตได้จริงๆ และจินตนาการก็สะท้อนกลับมาชวนให้ถกเถียงถึงโลกความเป็นจริงได้อย่างสร้างสรรค์” สรัชกล่าวสรุป

เพราะเยาวชนเป็นทั้งปัจจุบันและอนาคตของชาติ

ในฐานะนักวิชาการที่สนใจเรื่องของคนรุ่นใหม่มาโดยตลอด ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมองว่างานวิจัย “จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย” เป็นงานที่ยกระดับศักยภาพและก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมของงานวิจัยเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ที่เคยมีมาในอดีต เพราะเป็นงานที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนถึงพัฒนาการทางความคิดของคนรุ่นใหม่ที่มาไกลจากจุดเริ่มต้น และเจาะลึกลงไปถึงความหวังและความปรารถนาของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อโลกในอนาคต

“งานวิจัยก่อนหน้านี้มีข้อสรุปมากมายว่าคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปแล้ว ตื่นตัวแล้ว คนรุ่นใหม่เป็นพลังที่เราต้องให้ความสำคัญ แต่เราไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าพวกเขามองโลกอย่างไร ภายใต้เครื่องมือการวิจัยแบบหนึ่งเราจะเห็นแต่เสียงของแกนนำ แต่เราไม่เห็นเสียงของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในการชุมนุม” กนกรัตน์ให้ความเห็น

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ กนกรัตน์แสดงข้อคิดเห็นถึงความสำคัญทั้งในเชิงเครื่องมือวิจัยและข้อค้นพบต่องานวิจัยนี้ 11 ข้อ

ข้อที่ 1 วิธีการที่ใช้ในการวิจัย “จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย” เป็นเครื่องมือแบบใหม่ในการรักษาจินตนาการของคนรุ่นใหม่ที่เคยถูกทำลายท่ามกลางการต่อสู้และความล้มเหลวต่างๆ ที่ผ่านมา ทั้งยังช่วยเยียวยาความหวังของคนรุ่นใหม่ที่เป็นไปไม่ได้ในระบบการศึกษาในโรงเรียน

ข้อที่ 2 ถือเป็นการสร้างพลัง (empower) ให้คนรุ่นใหม่มีความมั่นใจว่าพวกเขาเป็นกลไกในการเปลี่ยนแปลงสังคม และสร้างความเชื่อมั่นว่าปัจเจกบุคคลเป็นพลังในการพัฒนาสังคมและเปลี่ยนโลกได้จริง

ข้อที่ 3 สามารถออกมาจากกรอบ ‘เผด็จการความเป็นไปได้’ ทั้งยังปลุกความมั่นใจให้คนรุ่นใหม่จินตนาการถึงโลกที่พวกเขาปรารถนาได้อย่างแท้จริง

ข้อที่ 4 เป็นการเชื่อมโยงโลกปัจจุบันกับโลกอนาคต ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถเห็นโลกอนาคตมาอยู่ในโลกปัจจุบัน

ข้อที่ 5 เป็นกลไกในการเชื่อมโยงระหว่างเจนเนอเรชัน (generation bridge) ที่ทำให้ผู้ใหญ่เข้าใจเยาวชนได้มากกว่าเรื่องของการชุมชน ให้ผู้ใหญ่มองคนรุ่นใหม่ในฐานะมนุษย์ธรรมดาที่มีความฝันและมีศักยภาพ

ข้อที่ 6 ถือเป็นกิจกรรม self-therapy สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยบาดแผล เพราะเปิดโอกาสให้เยาวชนได้สะท้อนความเจ็บปวดของตัวเองโดยไม่ต้องทำร้ายบาดแผลตัวเองซ้ำๆ และได้รับการเติมเต็มความหวังอีกครั้ง

ข้อที่ 7 เป็นกิจกรรมที่ช่วยเติมเต็มในสิ่งที่โรงเรียนให้พวกเขาไม่ได้ ทั้งยังเป็นกลไกให้เยาวชนได้รู้จักตัวเองมากขึ้น

ข้อที่ 8 เป็นรากฐานสำคัญให้เยาวชนที่อาจไม่มีความเชื่อมั่นว่าตัวเองจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้เริ่มให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสังคมเชิงนโยบายมากขึ้น

ข้อที่ 9 ทำให้เยาวชนที่ขับเคลื่อนความคิดผ่านโลกออนไลน์เป็นหลักได้มาแลกเปลี่ยนความคิดกันในชีวิตจริง

ข้อที่ 10 การทำงานกับกลุ่มความสนใจร่วมทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าพวกเขาเป็นกลุ่มที่เชื่อมโยงกับประเด็นทางการเมืองและสังคมอยู่เสมอเช่นกัน ซึ่งเป็นการทำลายภาพจำเชิงลบที่สังคมมีต่อพวกเขา

ข้อที่ 11 งานวิจัยนี้ทำให้คนรุ่นใหม่มี self-criticism เพื่อเข้าใจความคิดและความเชื่อของตัวเองอย่างลึกซึ้ง

พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักศึกษาที่มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองกล่าวว่างานวิจัยชิ้นนี้ตอบสนองเจตนารมณ์ของคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี ทั้งความปรารถนาที่จะผลักดันความคิดใหม่ๆ รวมถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงโลกใบใหม่ได้ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าทุกอย่างล้วนเป็นไปได้ และสะท้อนให้เห็นว่าการตื่นรู้ทางความคิดของคนรุ่นใหม่นั้นเกิดขึ้นจริงแล้วในสังคมไทย

พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มากไปกว่านั้น เขามองว่าคำว่า ‘โลกใหม่’ ของเยาวชนไทยไปไกลมากกว่าที่เคยเป็นมา และไม่ใช่การจินตนาการแบบฝันฟุ้งอยู่เพียงในโลกแห่งอุดมคติ แต่คือการมองปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงใน ‘โลกเก่า’ และนำมาใช้ในการจินตนาการถึงความเป็นไปได้และความหวังในแก้ไขปัญหาเหล่านั้นเพื่อให้สังคมเดินหน้าไปสู่โลกใหม่ที่น่าอยู่ได้อย่างแท้จริง

“ถ้าคุณพยายามจะกักขังคนที่โตมากับโลกใหม่ให้อยู่ในโลกเก่า ความตึงเครียดระหว่างรุ่นก็จะสูงขึ้น ซึ่งรวมไปถึงความตึงเครียดในสังคมด้วย ยิ่งสังคมสามารถพัฒนาโลกให้เท่าทันกับเทคโนโลยีมากเท่าไร ผมคิดว่าการเปลี่ยนผ่านของรุ่นก็จะเป็นไปด้วยความเข้าใจมากขึ้นเท่านั้น” พริษฐ์กล่าว

อีกทั้งพริษฐ์ยังเห็นด้วยกับกนกรัตน์ว่าการออกแบบกิจกรรมหรือเครื่องมือที่ใช้ในการกระตุ้นจินตนาการของเยาวชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของงานวิจัยนั้นแตกต่างจากที่เคยมีมา และถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานวิจัยนี้ได้ผลลัพธ์ที่เข้าไปถึงความคิดและความปรารถนาที่เยาวชนต้องการอย่างลึกซึ้ง

“เท่าที่ผ่านมาผมก็ถูกสัมภาษณ์โดยนักวิจัยมาตั้งแต่ผมยังเด็ก จนตอนนี้ก็ไม่เด็กแล้ว ทุกคนก็จะมาเหมือนกันหมดคือเอาความเป็นนักวิชาการมาถามผม แต่งานวิจัยนี้มีการออกแบบเครื่องมือวิจัยให้เข้ากับธรรมชาติของกลุ่มเป้าหมายในการศึกษา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไม่ได้ยึดตัวผู้วิจัยเป็นหลัก แต่ยึดเอาตัวเด็กเป็นหลัก”

“ผู้ใหญ่ก็จะพูดเหมือนกันหมดว่าเด็กคืออนาคตของชาติ และเด็กก็ต้องแบกรับความหวังอะไรบางอย่าง แต่ความจริงเด็กไม่ใช่อนาคตเพียงอย่างเดียว เด็กยังเป็นปัจจุบันด้วย เพราะฉะนั้นการรับฟังเสียงและความต้องการของเด็กจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใหญ่ทุกคนในสังคม” พริษฐ์กล่าวทิ้งท้าย


บทความที่เกี่ยวข้อง

เติมทุน-หนุนการมีส่วนร่วม: เปลี่ยนฝันของเยาวชนไปสู่พลังการเปลี่ยนแปลง

เติมทุน-หนุนการมีส่วนร่วม: เปลี่ยนฝันของเยาวชนไปสู่พลังการเปลี่ยนแปลง

คิด for คิดส์ ชวน โชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง, อดิศร จันทรสุข, และ ณัฐภัทร เนียวกุล แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับอุปสรรคที่เยาวชนพบเจอในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคม ตลอดจนเสนอแนวทางลดอุปสรรค-พัฒนากลไกสนับสนุนพวกเขา

‘ธนาคารหน่วยกิต’ ทางเลือกการศึกษายืดหยุ่นที่ต้องทำอย่างรอบคอบ

‘ธนาคารหน่วยกิต’ ทางเลือกการศึกษายืดหยุ่นที่ผลักดันโดยรัฐบาลคืออะไร? ปัจจุบันทำถึงไหนแล้ว? และมีอะไรที่ต้องระวัง?

ปรับนโยบายให้ 'เห็นหัว' เด็กและเยาวชนด้วย CYIA (Child and Youth Impact Assessment)

ปรับนโยบายให้ ‘เห็นหัว’ เด็กและเยาวชนด้วย CYIA (Child and Youth Impact Assessment)

คิด for คิดส์ ชวนทำความรู้จักแนวคิด CYIA (Child and Youth Impact Assessment) ซึ่งหลายประเทศใช้เป็นเครื่องมือปรับปรุงนโยบายให้ ‘เห็นหัว’ เด็กและเยาวชนยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสำรวจแนวทางการนำ CYIA มาใช้ประเมินนโยบายในรูปแบบ ‘ร่างกฎหมาย’ ในไทย

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2025 kidforkids.org | All rights reserved.