‘การเรียนรู้ถดถอย’
‘แผลเป็นการเรียนรู้’
สองคำข้างต้นอาจเป็นคำที่ได้ยินบ่อยที่สุดในแวดวงการศึกษาภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชนิดที่ว่าหลายคนคงเบื่อและคิดว่าไม่ได้มีอะไรใหม่ เพราะใครๆ ก็รู้ว่า การปิดโรงเรียนย่อมส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก
แต่เอาเข้าจริง เรายังขาดองค์ความรู้ในเรื่องนี้อยู่มากกระทั่งในระดับโลก ดังนั้นการจัดทำนโยบายเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาการศึกษาจึงทำได้ยากและไม่มีประสิทธิผลมากนัก ส่วนนโยบายการศึกษาไทยนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะในสาระสำคัญเรายังทำเหมือนกับโลกไม่เคยเจอโควิด-19 มาก่อนเลย
การสร้างองค์ความรู้เชิงลึกเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของโควิดกับ ‘แผลเป็น’ ด้านพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนจึงสำคัญและจำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้การเยียวยาและฟื้นฟูการเรียนรู้ทำได้อย่างมีประสิทธิผล และยังเป็นการถอดบทเรียนสำหรับวิกฤตคล้ายกันนี้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
101 พาไปสำรวจงานวิจัยใหม่ล่าสุดของ ‘คิด for คิดส์’ – ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ในหัวข้อ ‘โควิดกับ ‘แผลเป็น’ ด้านพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน : ความเหลื่อมล้ำ เทคโนโลยีการศึกษา และบทเรียนเชิงนโยบายสำหรับอนาคต” เพื่อทำความเข้าใจ ‘แผลเป็น’ ทางการศึกษาไทย ซึ่งจะส่งผลลึกและยาวไปถึงอนาคตของประเทศ
หมายเหตุ: บทความนี้เก็บความบางส่วนจากงาน ‘Research Roundup 2022’ หัวข้อ ‘โควิดกับ ‘แผลเป็น’ ด้านพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน : ความเหลื่อมล้ำ เทคโนโลยีการศึกษา และบทเรียนเชิงนโยบายสำหรับอนาคต’ โดย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)
โควิด-19 สร้างแผลเป็นการเรียนรู้ลึกแค่ไหน อย่างไร?
ผศ.ดร.วศิน ศิวสฤษดิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าทีมวิจัยเริ่มต้นอธิบายว่าหนึ่งในนโยบายที่หลายประเทศนำมาใช้อย่างมากในช่วงโควิด-19 คือการประกาศปิดโรงเรียน ซึ่งแม้ว่าจะได้ประโยชน์ในบริบททางด้านสาธารณสุข แต่ก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพของการเรียนรู้ต่อเด็กและเยาวชนอย่างมาก ทั้งในด้านสุขภาพจิตใจและสุขภาวะ รวมถึงยังมีมิติความแตกต่างทางสถานะทางเศรษฐกิจครัวเรือน เนื่องจากหลายครอบครัวไม่สามารถสนับสนุนการเรียนผ่านสื่อออนไลน์ได้ จึงนำมาสู่ประเด็นที่ถกเถียงทางการศึกษาอย่างกว้างขวาง และมีการเรียกภาวะที่นักเรียนต้องประสบว่า ‘ภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss)’
“แม้การเรียนออนไลน์จะเป็นการทดแทนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในช่วงการปิดโรงเรียน แต่ก็ไม่สามารถทดแทนรูปแบบการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ 100% เพราะการเรียนออนไลน์ส่งผลต่อระดับความกลัว ความโดดเดี่ยว ความกระวนกระวาย และความเครียดต่อการเรียนการสอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
วศินกล่าวถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่ากลุ่มเด็กเล็กเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากจากภาวะการเรียนรู้ถดถอย โดยการเรียนรู้ของเด็กเล็กลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1-2 จากการเรียนรู้ทั้งหมดหากมีการเปิดเรียนปกติ นอกจากนี้ ในรายงานการศึกษาผลกระทบของสหประชาชาติ ในเดือนกรกฎาคม 2020 มีการวิเคราะห์ว่าสถานการณ์การปิดโรงเรียนในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาทำให้ภาวะการเรียนรู้ถดถอยทวีความรุนแรงในกลุ่มผู้เรียนที่มีความเปราะบาง
ผลกระทบจากการปิดโรงเรียนจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีปัจจัยของสภาวะทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว ผลทางตรงคือครอบครัวของผู้มีรายได้น้อยจะมีข้อจำกัดหรือไม่มีโอกาสในการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนแบบออนไลน์ โดยเฉพาะหากมีบุตรหลานมากกว่า 1 คน นอกจากนั้น สภาวะทางเศรษฐกิจยังก่อให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสขึ้น เนื่องจากผู้เรียนบางคนอาจมีความจำเป็นต้องออกจากระบบการเรียนเพื่อช่วยครอบครัวหารายได้แทนในช่วงดังกล่าว โดยรายงานของสถาบันสถิติยูเนสโกเผยว่าการตัดสินใจหยุดเรียนและออกมาทำงานในช่วงโควิด-19 เพิ่มขึ้นตามช่วงระดับการศึกษา ทั้งนี้ วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก็อาจะทำให้รัฐบาลมีทุนจำกัดในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชน ส่งผลให้พวกเขาไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเพียงพอ
อีกประเด็นสำคัญคือผลกระทบระยะยาวที่สถานการณ์โควิด-19 มีต่อระบบการศึกษา โดยการชะลอตัวการเรียนรู้ของเด็กส่งผลให้ช่องว่างทางรายได้และความไม่เท่าเทียมทางรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน การเรียนออนไลน์ก็ส่งผลกระทบระยะยาวต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ ทำให้การสะสมทุนของมนุษย์ตามช่วงของการเรียนรู้แบบที่ควรจะเป็นจะลดต่ำลง ซึ่งการจะกลับไปสู่ระดับเดิมได้นั้น ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นๆ มีการให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนหลังพ้นช่วงการปิดโรงเรียนอย่างไร
ในบริบทของการศึกษาประเทศไทยในปัจจุบัน ยังมีการศึกษาอย่างจำกัดเกี่ยวกับภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของนักเรียน โดยไม่ปรากฏการศึกษาภาวะนี้ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ตลอดจนการศึกษาที่เจาะลึกถึงมิติของผลกระทบที่แตกต่างกันเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ขนาดโรงเรียน หรือผลกระทบเชิงพื้นที่ ระยะเวลาการใช้นโยบายการปิดโรงเรียนที่แตกต่างกัน จึงเป็นที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้ซึ่งประกอบไปด้วยประเด็นศึกษาทั้งหมด 3 ประเด็นด้วยกัน
ดร.สัณห์สิรี โฆษินทร์เดชา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายอย่างละเอียดถึงประเด็นศึกษาที่หนึ่ง คือการประเมินภาวะการเรียนรู้ถดถอยในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายของประเทศไทย โดยใช้ชุดข้อมูลรายบุคคลจากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET: Ordinary National Educational Test) เพื่อให้สามารถติดตามพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนได้อย่างต่อเนื่อง และใช้วิธีการศึกษาแบบสองวิธี สองมุมมอง
โดยวิธีแรกคือ ‘วิธีผลต่างสองขั้น (Difference in Differences)’ เป็นวิธีที่ให้มุมมองว่านักเรียนรุ่นที่มีการปิดโรงเรียนในช่วงโควิด-19 มีพัฒนาการทางการเรียนรู้ต่างจากนักเรียนรุ่นก่อนหน้าหรือนักเรียนกลุ่มควบคุมอย่างไร ผลที่ได้จากวิธีนี้พบว่านักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยในวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย พบภาวะการเรียนรู้ถดถอยในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
ในขณะที่วิธีที่สองคือ ‘แบบจำลองภาคตัดขวาง (Cross-sectional model)’ เป็นวิธีที่สังเกตว่าความเข้มข้นของการปิดโรงเรียนระดับจังหวัดส่งผลต่อการเรียนรู้ถดถอยของนักเรียนในจังหวัดนั้นๆ อย่างไร เช่น ถ้าจังหวัดประกาศปิดโรงเรียนเพิ่มขึ้น 1 วัน คะแนน O-NET ของนักเรียนในปีการศึกษา 2564 จะลดลงหรือไม่ ผลที่ได้จากวิธีนี้พบว่านักเรียนที่อยู่ในเมืองเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยมากกว่านักเรียนที่อยู่ในชนบท โดยภาวะการเรียนรู้ถดถอยในวิชาคณิตศาสตร์ของกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นมีค่าสูงที่สุด และพบว่านักเรียนที่อยู่ในเมืองประสบภาวะการเรียนรู้ถดถอยในวิชาภาษาอังกฤษด้วย สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย พบภาวะการเรียนรู้ถดถอยในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยสูงที่สุดในวิชาวิทยาศาสตร์ในกลุ่มนักเรียนที่อยู่ในเมือง
ผลการศึกษาจากวิธีที่สอง พบว่าผลจากการปิดโรงเรียนเพิ่มขึ้น 1 วันก่อให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยมากขึ้น โดยในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจะมีการเรียนรู้ถดถอยในรายวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ตามลำดับ ส่วนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะเกิดการเรียนรู้ถดถอยในรายวิชาสังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาไทย ตามลำดับ
“เมื่อเปรียบเทียบการเรียนรู้ถดถอยจากการปิดโรงเรียนในภาคต่างๆ พบว่าภาวะการเรียนรู้ถดถอยในวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในกรุงเทพมหานคร มีค่าถดถอยสูงที่สุด เมื่อเทียบกับวิชาอื่นๆ และเมื่อเทียบกับทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย”
ทั้งนี้ ประเด็นการศึกษานี้ก็ยังมีข้อจำกัดในการศึกษา พบว่าระดับการสูญเสียการเรียนรู้ที่ประมาณได้นี้ ถือเป็นการประมาณที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเป็นการประเมินเฉพาะนักเรียนชั้น ม.6 ม.3 และ ป.6 ที่เลือกมาสอบ O-NET เท่านั้น ทำให้ไม่ครอบคลุมถึงเด็กที่มีลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่ได้เลือกมาสอบ รวมถึงยังไม่สามารถวิเคราะห์การเรียนรู้ถดถอยในเด็กปฐมวัยได้จากการใช้คะแนน O-NET ซึ่งมีการจัดสอบเฉพาะนักเรียนชั้น ม.6 ม.3 และ ป.6 และยังไม่สามารถวิเคราะห์การวิเคราะห์ถดถอยแบบเจาะลึกนักเรียนกลุ่มเปราะบางในด้านต่างๆ อีกด้วย
วศินได้อธิบายต่อไปในประเด็นศึกษาที่สอง คือการประเมินว่าภาวะการเรียนรู้ถดถอยของเด็กและเยาวชนในช่วงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายจะส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยโดยภาพรวมอย่างไร ซึ่งเมื่อได้คำตอบแล้วก็อาจจะสะท้อนกลับไปยังภาครัฐ เพื่อให้ตระหนักว่าควรให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเด็กและเยาวชนหลังจากผ่านยุคโควิด-19 อย่างไร การศึกษานี้ได้ใช้ชุดข้อมูลจาก โครงการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (Labor Force Survey) ซึ่งสามารถประเมินรายได้ตลอดช่วงอายุการทำงานจนเกษียณตอนอายุ 60 ปี พบว่ายิ่งมีการเรียนรู้ในระดับสูง ผลตอบแทนก็จะมีอัตราที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะหากศึกษาในระดับปริญญาโทขึ้นไป แต่หากมีการสูญเสียการเรียนรู้ ผลตอบแทนดังกล่าวจะมีสัดส่วนที่ลดลง
“ผลการศึกษาพบว่าเมื่อเปรียบเทียบรายได้ของผู้ที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมต้นที่ประสบกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย กับผู้ที่ไม่เคยประสบภาวะดังกล่าว จะมีส่วนต่างของรายได้ที่พึงจะได้ตลอดช่วงเวลาการทำงานอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาท และเมื่อเปรียบเทียบรายได้ของผู้ที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลายในลักษณะเดียวกัน จะมีส่วนต่างของรายได้ประมาณ 530,000 บาท”
สัณห์สิรี กล่าวว่าการศึกษาในประเด็นที่สามเป็นการสำรวจบทบาทและประสิทธิภาพของการนำเอาเทคโนโลยีการศึกษามาใช้ และทบทวนเงื่อนไขของความสำเร็จในการใช้สื่อเหล่านี้ โดยผลที่ได้จากการศึกษาในส่วนนี้จะมีส่วนสำคัญในการสร้างชุดองค์ความรู้เพื่อจัดทำนโยบายต่อไปในอนาคต
จากข้อมูลของยูเนสโกในปี 2020 พบว่าแต่ละประเทศมีการใช้สื่อที่แตกต่างกัน เช่น ซอฟต์แวร์แบบปรับเหมาะ การเรียนออนไลน์แบบประสานเวลาร่วมกัน การใช้โทรทัศน์ร่วมกับโทรศัพท์ หรือการส่งชุดการเรียนรู้ไปที่บ้านของเด็กนักเรียน อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนในลักษณะดังกล่าวอาจจะไม่เหมาะสมกับผู้เรียน เช่น นักเรียนไม่มีอุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์ ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต หรือสภาพแวดล้อมที่บ้านไม่เหมาะสมแก่การเรียนออนไลน์ รวมถึงการขาดความรู้ทางด้านดิจิทัลของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง
การเรียนออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จ จึงต้องเป็นการเรียนที่สร้างเสริม 3 อย่าง หนึ่งคือการมีส่วนร่วมและการสื่อสารสองทาง สองคือการเรียนที่ให้ความรู้ตรงตามระดับของผู้เรียน และสามคือเป็นการเรียนที่เพิ่มความเข้าใจของผู้เรียน
“การเรียนออนไลน์อย่างประสบความสำเร็จ ต้องมีการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาที่สามารถลดความยากจนในการเรียนรู้ได้ มีการลดช่องว่างในการเข้าถึงสารสนเทศ หรือ Digital Divide และมีกรอบแนวคิดของการเรียนระยะไกล ซึ่งประกอบไปด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม ครูที่มีประสิทธิภาพ และนักเรียนที่สนใจเรียน”
วศินได้กล่าวสรุปการวิจัยว่าผู้กำหนดนโยบายของไทยควรมีการการออกแบบหลักสูตรการเรียนเพื่อเยียวยาความสูญเสียในการเรียนรู้ รวมถึงมีการประเมินหลักสูตรการเรียนเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเพื่อดูพัฒนาการของนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนต่อไป
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา: แผลใหญ่ที่มาทับกับแผลเป็นใหม่
ปวรินทร์ พันธุ์ติเวช นักวิชาการฝ่ายโครงการวิจัยระบบ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้อธิบายถึงงานวิจัยล่าสุดที่ กสศ. เพิ่งแถลงต่อสื่อมวลชน ซึ่งเป็นงานวิจัยเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตและค่าใช้จ่ายอินเตอร์เน็ตของนักเรียนยากจนพิเศษและนักเรียนในกลุ่มครัวเรือนทั่วไป ผลวิจัยที่ค้นพบคือมีความเหลื่อมล้ำสูงในการเข้าถึงเทคโนโลยีการศึกษา โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ต
เนื่องจากกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษจะมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อเดือนประมาณ 1,400 บาท ส่วนนักเรียนในกลุ่มครัวเรือนทั่วไปมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อเดือนประมาณ 11,000 บาท และเมื่อมองถึงค่าอินเตอร์เน็ตของกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษจะอยู่ที่ประมาณ 200 บาทต่อเดือน ขณะที่นักเรียนในกลุ่มครัวเรือนทั่วไปจะมีค่าอินเตอร์เน็ตประมาณ 500 บาทต่อเดือน จะเห็นได้ว่าสัดส่วนค่าอินเตอร์เน็ตต่อรายได้ของทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างกันมาก นอกจากนี้ นักเรียนในกลุ่มครัวเรือนทั่วไปยังมีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้หลากหลายช่องทางกว่า ไม่ว่าจะเป็นทาง Wi-Fi หรืออินเตอร์เน็ตมือถือ แต่เด็กกลุ่มยากจนพิเศษจะมีการเข้าถึงจำกัดอยู่ที่อินเตอร์เน็ต 3G หรือ 4G และใช้อุปกรณ์การเรียนผ่านเพียงจอมือถือรุ่นเก่าเท่านั้น
ความท้าทายอีกประการสำหรับเด็กกลุ่มยากจนพิเศษ คือการจ่ายค่าบริการอินเตอร์เน็ต เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่สามารถติดต่อกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือโดยตรงได้ จึงต้องชำระค่าบริการผ่านตู้เติมเงิน ซึ่งทำให้มีค่าธรรมเนียมเติมเงินเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ หากเติมค่าอินเตอร์เน็ตได้ครั้งทีละน้อย สัดส่วนค่าธรรมเนียมก็จะสูงกว่าการเติมเงินครั้งละมากๆ ด้วย
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ดูแลด้านการศึกษา สังคม และงานพาณิชย์ ได้เล่าถึงมุมมองในการทำงานว่าจากการค้นคว้าในสำนักการศึกษา พบการประเมินจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไว้ประมาณ 400 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำมาก แต่ในความเป็นจริงกลับมีนักเรียนเหล่านี้มากกว่าแสนคน ความแตกต่างของข้อมูลจึงสะท้อนให้เห็นว่าทาง กทม. ควรปรับปรุงด้านการเก็บข้อมูล เพื่อให้แม่นยำมากขึ้น และนำไปสู่การแก้ไขอย่างตรงจุด
นอกจากนี้ การปิดโรงเรียนช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังทำให้พบเห็นในปัจจุบันว่ามีเด็กนักเรียนชั้น ป.3 ที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ เป็นจำนวนมาก เนื่องจากในช่วงชั้น ป.1 – ป.2 ไม่ได้รับการเรียนการสอนอ่าน-เขียนในชั้นเรียน จึงก่อให้เกิดความยากลำบากในการเรียนการสอนในช่วงหลังจากการเปิดโรงเรียนแล้ว อีกทั้งโรงเรียนในกรุงเทพมหานครหลายแห่งยังมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่ขาดตกบกพร่อง เช่น บางโรงเรียนมีนักเรียน 3,000 คน แต่มี Wi-Fi เพียง 5 จุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทาง กทม. จะต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีให้ทั่วถึงด้วย ปัจจุบัน กทม. จึงมีนโยบายนำกรุงเทพฯ เข้าสู่ พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา ต้องมีการกระจายอำนาจที่เพียงพอในการออกแบบหลักสูตร เพื่อให้ประสิทธิภาพการเรียนการสอนดีขึ้น
สัณห์สิรี มองว่ากรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ คือโรงเรียนจังหวัดมหาสารคาม เนื่องจากครูที่ปรึกษารู้จักนักเรียนครบทุกครอบครัว ทำให้สามารถติดตามนักเรียนให้กลับมาเรียนที่โรงเรียนหลังจากเปิดเรียนได้ แสดงให้เห็นว่าปัจจัยเชิงสังคมก็มีส่วนในการที่จะดึงเด็กนักเรียนกลับเข้ามาสู่ระบบได้ นอกจากนี้ยังพบว่าโรงเรียนขนาดใหญ่เป็นโรงเรียนที่มีภาวะการเรียนรู้ถดถอยต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับโรงเรียนขนาดอื่นๆ สะท้อนให้เห็นว่าการจัดการทรัพยากรและการมีจำนวนนักเรียนและครูในสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญ
ศานนท์ ได้แสดงความเห็นต่อการที่นักเรียนที่อยู่ในเมืองมีภาวะการเรียนรู้ถดถอยมากกว่านักเรียนที่อยู่ในชนบทว่า ถึงแม้โรงเรียน กทม. จะเป็นโรงเรียนฟรี มีชุดนักเรียนและอาหารกลางวันให้ แต่ก็ยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่ พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบว่าในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 นักเรียนจะไม่ไปโรงเรียนในวันจันทร์ เนื่องจากต้องตรวจ ATK ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำในเมืองเกิดจากการมีต้นทุนที่ต้องจ่ายสูงกว่า เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน ดังนั้นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาจึงกลายเป็นปัจจัยรองในการดำเนินชีวิต
ปวรินทร์เสริมว่าเงินอุดหนุนรายหัวต่อหน่วยนักเรียนที่จัดสรรให้กับแต่ละโรงเรียนนั้นมีมูลค่าเท่ากัน ไม่ว่าจะเรียนโรงเรียนในเมืองหรือในชนบทก็ตาม ทั้งนี้ กสศ. กำลังพยายามที่จะเสนอโมเดลการจัดสรรงบประมาณตามสูตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อให้เกิดการจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับต้นทุนในพื้นที่นั้นจริงๆ เช่น โรงเรียนบนเกาะจะมีต้นทุนค่าขนส่ง โรงเรียนเด็กพิการหรือโรงเรียนที่มีเด็กยากจนพิเศษก็จะมีความต้องการอีกแบบ ซึ่งควรได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาดไป
ดังนั้น วิธีลบรอย ‘แผลเป็น’ หรือชดเชยภาวะการเรียนรู้ถดถอยภายใต้บริบทความเหลื่อมล้ำของไทย จึงต้องมีการประเมินผลว่าเด็กแต่ละคนมีทักษะจริงๆ อยู่เท่าไหร่ ไม่ได้วัดจากคะแนนสอบเท่านั้น หลังจากนั้นเมื่อทราบสถานะของเด็กแต่ละคนแล้ว ก็ควรมีการจัดสอนพิเศษเพิ่มเติม เช่น ในประเทศอินเดีย จะมีการสอบ Annual Status of Education Report (ASER) โดยวัดทักษะการอ่าน หรือการคำนวณ โดยไม่อ้างอิงกับช่วงอายุของเด็ก และมี NGO ทางการศึกษาชื่อ ‘Pratham’ นำเสนอโมเดล ‘Teaching at the right level (TaRL)’ ที่สนับสนุนให้มีการสอนตามระดับทักษะที่เด็กแต่ละคนมีอยู่จริง เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด เติมเต็มในส่วนที่เด็กถดถอยลงไปในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ตามความต้องการของนักเรียนแต่ละคน
วศินให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนเสริมว่า จำนวนคาบเรียนปกติของนักเรียนไทยปกติก็เยอะอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการออกแบบหลักสูตรใหม่ว่าในแต่ละคาบควรทำอย่างไรให้สามารถเติมเต็มศักยภาพของเด็กนักเรียนได้จริง โดยต้องมีการปรับมุมมองว่าทุกพื้นที่คือที่เรียนรู้ของเด็ก ไม่จำเป็นที่เด็กและเยาวชนต้องอยู่ที่โรงเรียนถึงจะได้ความรู้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรสร้างพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนเพิ่มขึ้น เช่น การจัดนิทรรศการต่างๆ เปิดพื้นที่การเรียนรู้ในสวนสาธารณะ ทำให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้ง่ายขึ้นนอกห้องเรียน สามารถแสวงหาได้ด้วยตนเองไม่ซ้ำเติมขีดจำกัดในเรื่องชั่วโมงเรียน และควรสะดวกต่อการเดินทางสำหรับนักเรียนด้วย
ศานนท์ยกตัวอย่างโรงเรียนในเขตคลองเตยว่าเด็กหลายคนอยากอยู่โรงเรียนต่อ ไม่อยากกลับบ้าน เพราะที่บ้านมีปัญหา ดังนั้นโรงเรียนจึงควรมีห้องสมุด หรือมูลนิธิ ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นในเรื่องของ ‘รางวัลเรียนดี’ ซึ่งเป็นเหมือนดาบสองคม เนื่องจากมีนักเรียนที่ได้รางวัลเพียงแค่คนเดียว ส่วนนักเรียนที่เหลืออาจต้องเผชิญกับการขาดความมั่นใจในตนเอง โดยเฉพาะนักเรียนที่สอบได้อันดับท้ายๆ อาจมีความรู้สึกว่าโรงเรียนไม่ใช่ที่ของเขา ทำให้เขาไม่อยากเรียนเพราะรู้สึกว่ามันไม่มีพื้นที่ที่เขาจะชนะได้ ซึ่งจะยิ่งผลักพวกเขาออกไปจากระบบมากขึ้น ดังนั้นทาง กทม. จึงมุ่งหวังที่จะสร้างการเรียนรู้ที่ไม่ใช่การตัดสินในลักษณะนี้
ในแง่ของการดึงเด็กที่หลุดออกจากระบบกลับเข้ามา กทม. มองว่าอาจต้องมีการร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น สพฐ. เพื่อทำการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ เนื่องจากในเขตหนึ่งไม่ได้มีแค่โรงเรียนของ กทม. แต่มีโรงเรียนของภาคส่วนอื่นด้วย ควรร่วมมือกันช่วยคิดข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหานี้ เนื่องจากกำลังของ กทม. ตอนนี้ก็มีจำกัดอยู่แค่ทรัพยากรของ กทม. เท่านั้น แต่หากได้ร่วมกับหน่วยงานอื่นก็จะมีกำลังในการทำงานได้มากขึ้น
ปวรินทร์กล่าวว่าโควิด-19 เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์แรกที่กระทบคนจำนวนมากได้ขนาดนี้ และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคที่มีเทคโนโลยี เมื่อเปรียบเทียบกับการเกิดสงครามต่างๆ จะพบว่าสงครามไม่ได้เกิดในทุกพื้นที่ของโลก แต่ในยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยี หากสงครามทำให้โรงเรียนเสียหาย เด็กก็จะไม่ได้เรียนหนังสือเลย ประเด็นภาวะการเรียนรู้ถดถอยในยุคโควิด-19 จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน แต่ข่าวดีก็คือเมื่อพิจารณาจากการศึกษาผลกระทบของปัญหาต่อโครงสร้างพื้นฐานหรือทรัพยากรมนุษย์ในอดีต เช่น ปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาความรุนแรง การทิ้งระเบิดปรมณูต่างๆ จะพบว่าในระยะสั้นปัญหาเหล่านี้ก็ก่อให้เกิดแผลเป็นต่อมนุษย์เช่นกัน แต่หากสามารถช่วยเหลือได้ตรงจุด ทันท่วงที และมากพอ ก็สามารถทำให้ความสูญเสียดังกล่าวลดลง และทำให้เศรษฐกิจกลับมาใกล้เคียงกับเส้นปกติได้
สัณห์สิรีแบ่งปันประสบการณ์จากการลงพื้นที่ว่าเด็กที่หลุดออกนอกระบบไม่ได้ต้องการออกนอกระบบ เพียงแต่มีความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ หรือมีความรู้สึกว่าโรงเรียนไม่ใช่ที่ของพวกเขา จึงมีข้อเสนอแนะว่าควรทำระบบการศึกษานอกโรงเรียนให้ดีขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น และชดเชยทักษะที่สูญเสียไปสำหรับคนที่ตัดสินใจออกจากโรงเรียนแล้ว
วศินเสนอแนะว่าควรมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะให้ครูด้วย เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าการเรียนการสอนที่ดีควรมีลักษณะแบบไหน ควรมีความน่าสนใจอย่างไร เพื่อเตรียมความพร้อมครูซึ่งเป็นกำลังสำคัญในเรื่องนี้ นอกจากนี้ ควรดูแลเด็กๆ ทั้งทางด้านการเรียนและจิตใจ เพื่อให้พร้อมรักษาแผลเป็นและเดินกลับเข้าสู่เส้นทางปกติตามที่ควรจะเป็น
ปวรินทร์เสริมถึงกลุ่มที่มีความท้าทายสูงในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โดยกลุ่มแรกคือเด็กปฐมวัย เพราะโดยปกติการเรียนการสอนของเด็กกลุ่มนี้การเรียนรู้เชิงกิจกรรม ซึ่งไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ จึงไม่ควรปิดโรงเรียนปฐมวัย กลุ่มที่สองคือกลุ่มโรงเรียนที่มีเด็กพิเศษ เพราะหากโรงเรียนไม่มีความพร้อม เช่น โรงเรียนสแกนเอกสารเป็นไฟล์ภาพ แต่เด็กกลุ่มพิการทางสายตาก็จะไม่สามารถอ่านได้เลย ซึ่งหากต้องปิดโรงเรียน ควรมีเทคโนโลยีที่เพียงพอเพื่อตอบสนองความต้องการของนักเรียน กลุ่มที่สามคือโรงเรียนอาชีวะ หรือโรงเรียนที่ต้องใช้การเรียนเชิงปฏิบัติ หากไม่มีเทคโนโลยีรองรับในการเรียนรู้ก็ไม่แนะนำให้ปิดโรงเรียนเช่นกัน
วศินย้ำถึงงานวิจัยว่าประเทศแถบสแกนดิเนเวียว่าไม่มีการปิดการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัย และในขณะเดียวกันก็มีโปรแกรมช่วยเหลือพ่อ-แม่ ให้พาลูกๆ มาอยู่ที่โรงเรียนกับครูได้ในวันที่พ่อ-แม่ต้องไปทำงาน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ครูที่สอนวิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในระดับมัธยมศึกษา พบว่าครูต้องใช้การสอนแบบเขียนโค้ดบนกระดาษ และในวันสอบต้องจัดสอบแบบตัวต่อตัว ซึ่งหากประเทศไทยต้องการขับเคลื่อนแรงงานไปในสายเทคโนโลยี ก็ควรพิจารณาด้วยว่ารายวิชาเหล่านี้สามารถจัดเรียนในโรงเรียนได้หรือไม่ เพราะเด็กนักเรียนจำเป็นต้องใช้ความรู้ในวิชาเหล่านี้มาต่อยอดในการเรียนมหาวิทยาลัยต่อไป
ในช่วงท้าย สัณห์สิรีมองว่าการปิดโรงเรียนทำให้การเรียนรู้ระหว่างมนุษย์และการสื่อสารสองทางหายไป โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ไม่สามารถเรียนรู้ทางด้านอารมณ์ได้อย่างสมบูรณ์จากการเรียนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ส่วนวศิน อยากให้มีนโยบายรูปธรรมชัดเจนว่าหลังจากนี้จะมีแผนอะไรบ้างในการดูแลเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบ และอยากเห็นพื้นที่ปลอดภัยและเปิดกว้างในการเรียนรู้ เพื่อลบรอยแผลเป็นให้หายโดยเร็วที่สุด
ศานนท์มองว่าเราสามารถมองเห็นความหวังจากการเรียนออนไลน์ได้ เพราะแม่จะมีทักษระบางอย่างถดถอย แต่ในช่วงเวลาเดียวกันเด็กอาจจะได้รับทักษะอื่นๆ จากออนไลน์ก็ได้ เช่น ทักษะจากโซเชียลมีเดียหรืออีสปอร์ต ซึ่งเป็นทักษะที่เด็กไม่ได้รับจากการเรียนการสอนปกติ ยิ่งถ้าเรามองว่าการศึกษาคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนออนไลน์อาจจะมีประโยชน์ในแง่มุมหนึ่งก็ได้ เพียงแต่นโยบายการศึกษาหรือการจัดการของพวกเราอาจจะยังตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ โจทย์สำคัญที่ต้องคิดต่อคือรูปแบบการเรียนแบบนั่งเรียนในห้องกับครูยังคงเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับอนาคตหรือไม่ หรือจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร
ด้านปวรินทร์เน้นย้ำว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาที่สำคัญมาก เด็กนักเรียนบางโรงเรียนมีทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ในขณะที่เด็กนักเรียนในบางโรงเรียนยังเผชิญความท้าทายกับการอ่าน-เขียน หรือคิดคำนวณพื้นฐาน ซึ่งแสดงให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน ทาง กสศ. ก็มีหลายโครงการที่ทำการศึกษาเชิงพื้นที่ เพื่อดึงทุกภาคส่วนเข้ามาถกกันถึงวิธีการช่วยเหลือเด็กและเยาวชน ซึ่งการย่อปัญหาลงมาจากระดับชาติเป็นระดับพื้นที่ จะทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า สำหรับประเด็นการแก้ปัญหาเด็กนอกระบบ กสศ. พยายามผลักดันการพัฒนาทักษะอาชีพหรือทักษะการดำรงชีวิตให้กับเด็กเหล่านี้ เพราะเด็กบางคนก็อาจจะกลับเข้ามาในระบบไม่ได้ จึงใช้วิธีการพัฒนาครูนอกระบบไปช่วยสนุบสนุนเด็กตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กก่อปัญหาอื่นๆ ต่อสังคมในอนาคต