ก้าวต่ออย่างไร เมื่อเด็กไทยเรียนรู้ถดถอยจากการปิดโรงเรียนช่วงโควิด?

‘การเรียนรู้ถดถอย’ 

‘แผลเป็นการเรียนรู้’ 

สองคำข้างต้นอาจเป็นคำที่ได้ยินบ่อยที่สุดในแวดวงการศึกษาภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชนิดที่ว่าหลายคนคงเบื่อและคิดว่าไม่ได้มีอะไรใหม่ เพราะใครๆ ก็รู้ว่า การปิดโรงเรียนย่อมส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก

แต่เอาเข้าจริง เรายังขาดองค์ความรู้ในเรื่องนี้อยู่มากกระทั่งในระดับโลก ดังนั้นการจัดทำนโยบายเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาการศึกษาจึงทำได้ยากและไม่มีประสิทธิผลมากนัก ส่วนนโยบายการศึกษาไทยนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะในสาระสำคัญเรายังทำเหมือนกับโลกไม่เคยเจอโควิด-19 มาก่อนเลย

การสร้างองค์ความรู้เชิงลึกเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของโควิดกับ ‘แผลเป็น’ ด้านพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนจึงสำคัญและจำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้การเยียวยาและฟื้นฟูการเรียนรู้ทำได้อย่างมีประสิทธิผล และยังเป็นการถอดบทเรียนสำหรับวิกฤตคล้ายกันนี้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย 

101 พาไปสำรวจงานวิจัยใหม่ล่าสุดของ ‘คิด for คิดส์’ – ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ในหัวข้อ ‘โควิดกับ ‘แผลเป็น’ ด้านพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน : ความเหลื่อมล้ำ เทคโนโลยีการศึกษา และบทเรียนเชิงนโยบายสำหรับอนาคต” เพื่อทำความเข้าใจ ‘แผลเป็น’ ทางการศึกษาไทย ซึ่งจะส่งผลลึกและยาวไปถึงอนาคตของประเทศ

หมายเหตุ: บทความนี้เก็บความบางส่วนจากงาน ‘Research Roundup 2022’ หัวข้อ ‘โควิดกับ ‘แผลเป็น’ ด้านพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน : ความเหลื่อมล้ำ เทคโนโลยีการศึกษา และบทเรียนเชิงนโยบายสำหรับอนาคต’ โดย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

โควิด-19 สร้างแผลเป็นการเรียนรู้ลึกแค่ไหน อย่างไร?

ผศ.ดร.วศิน ศิวสฤษดิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าทีมวิจัยเริ่มต้นอธิบายว่าหนึ่งในนโยบายที่หลายประเทศนำมาใช้อย่างมากในช่วงโควิด-19 คือการประกาศปิดโรงเรียน ซึ่งแม้ว่าจะได้ประโยชน์ในบริบททางด้านสาธารณสุข แต่ก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพของการเรียนรู้ต่อเด็กและเยาวชนอย่างมาก ทั้งในด้านสุขภาพจิตใจและสุขภาวะ รวมถึงยังมีมิติความแตกต่างทางสถานะทางเศรษฐกิจครัวเรือน เนื่องจากหลายครอบครัวไม่สามารถสนับสนุนการเรียนผ่านสื่อออนไลน์ได้ จึงนำมาสู่ประเด็นที่ถกเถียงทางการศึกษาอย่างกว้างขวาง และมีการเรียกภาวะที่นักเรียนต้องประสบว่า ‘ภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss)’

“แม้การเรียนออนไลน์จะเป็นการทดแทนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในช่วงการปิดโรงเรียน แต่ก็ไม่สามารถทดแทนรูปแบบการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ 100% เพราะการเรียนออนไลน์ส่งผลต่อระดับความกลัว ความโดดเดี่ยว ความกระวนกระวาย และความเครียดต่อการเรียนการสอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

วศินกล่าวถึงงานวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่ากลุ่มเด็กเล็กเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากจากภาวะการเรียนรู้ถดถอย โดยการเรียนรู้ของเด็กเล็กลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1-2 จากการเรียนรู้ทั้งหมดหากมีการเปิดเรียนปกติ นอกจากนี้ ในรายงานการศึกษาผลกระทบของสหประชาชาติ ในเดือนกรกฎาคม 2020 มีการวิเคราะห์ว่าสถานการณ์การปิดโรงเรียนในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาทำให้ภาวะการเรียนรู้ถดถอยทวีความรุนแรงในกลุ่มผู้เรียนที่มีความเปราะบาง

ผศ.ดร.วศิน ศิวสฤษดิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผลกระทบจากการปิดโรงเรียนจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีปัจจัยของสภาวะทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว ผลทางตรงคือครอบครัวของผู้มีรายได้น้อยจะมีข้อจำกัดหรือไม่มีโอกาสในการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนแบบออนไลน์ โดยเฉพาะหากมีบุตรหลานมากกว่า 1 คน นอกจากนั้น สภาวะทางเศรษฐกิจยังก่อให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสขึ้น เนื่องจากผู้เรียนบางคนอาจมีความจำเป็นต้องออกจากระบบการเรียนเพื่อช่วยครอบครัวหารายได้แทนในช่วงดังกล่าว โดยรายงานของสถาบันสถิติยูเนสโกเผยว่าการตัดสินใจหยุดเรียนและออกมาทำงานในช่วงโควิด-19 เพิ่มขึ้นตามช่วงระดับการศึกษา ทั้งนี้ วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก็อาจะทำให้รัฐบาลมีทุนจำกัดในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชน ส่งผลให้พวกเขาไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเพียงพอ

อีกประเด็นสำคัญคือผลกระทบระยะยาวที่สถานการณ์โควิด-19 มีต่อระบบการศึกษา โดยการชะลอตัวการเรียนรู้ของเด็กส่งผลให้ช่องว่างทางรายได้และความไม่เท่าเทียมทางรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน การเรียนออนไลน์ก็ส่งผลกระทบระยะยาวต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ ทำให้การสะสมทุนของมนุษย์ตามช่วงของการเรียนรู้แบบที่ควรจะเป็นจะลดต่ำลง ซึ่งการจะกลับไปสู่ระดับเดิมได้นั้น ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นๆ มีการให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนหลังพ้นช่วงการปิดโรงเรียนอย่างไร

ในบริบทของการศึกษาประเทศไทยในปัจจุบัน ยังมีการศึกษาอย่างจำกัดเกี่ยวกับภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของนักเรียน โดยไม่ปรากฏการศึกษาภาวะนี้ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ตลอดจนการศึกษาที่เจาะลึกถึงมิติของผลกระทบที่แตกต่างกันเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ขนาดโรงเรียน หรือผลกระทบเชิงพื้นที่ ระยะเวลาการใช้นโยบายการปิดโรงเรียนที่แตกต่างกัน จึงเป็นที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้ซึ่งประกอบไปด้วยประเด็นศึกษาทั้งหมด 3 ประเด็นด้วยกัน

ดร.สัณห์สิรี โฆษินทร์เดชา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายอย่างละเอียดถึงประเด็นศึกษาที่หนึ่ง คือการประเมินภาวะการเรียนรู้ถดถอยในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายของประเทศไทย โดยใช้ชุดข้อมูลรายบุคคลจากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET: Ordinary National Educational Test) เพื่อให้สามารถติดตามพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนได้อย่างต่อเนื่อง และใช้วิธีการศึกษาแบบสองวิธี สองมุมมอง

โดยวิธีแรกคือ ‘วิธีผลต่างสองขั้น (Difference in Differences)’ เป็นวิธีที่ให้มุมมองว่านักเรียนรุ่นที่มีการปิดโรงเรียนในช่วงโควิด-19 มีพัฒนาการทางการเรียนรู้ต่างจากนักเรียนรุ่นก่อนหน้าหรือนักเรียนกลุ่มควบคุมอย่างไร ผลที่ได้จากวิธีนี้พบว่านักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยในวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย พบภาวะการเรียนรู้ถดถอยในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

ดร.สัณห์สิรี โฆษินทร์เดชา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในขณะที่วิธีที่สองคือ ‘แบบจำลองภาคตัดขวาง (Cross-sectional model)’ เป็นวิธีที่สังเกตว่าความเข้มข้นของการปิดโรงเรียนระดับจังหวัดส่งผลต่อการเรียนรู้ถดถอยของนักเรียนในจังหวัดนั้นๆ อย่างไร เช่น ถ้าจังหวัดประกาศปิดโรงเรียนเพิ่มขึ้น 1 วัน คะแนน O-NET ของนักเรียนในปีการศึกษา 2564 จะลดลงหรือไม่ ผลที่ได้จากวิธีนี้พบว่านักเรียนที่อยู่ในเมืองเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยมากกว่านักเรียนที่อยู่ในชนบท โดยภาวะการเรียนรู้ถดถอยในวิชาคณิตศาสตร์ของกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นมีค่าสูงที่สุด และพบว่านักเรียนที่อยู่ในเมืองประสบภาวะการเรียนรู้ถดถอยในวิชาภาษาอังกฤษด้วย สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย พบภาวะการเรียนรู้ถดถอยในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยสูงที่สุดในวิชาวิทยาศาสตร์ในกลุ่มนักเรียนที่อยู่ในเมือง

ผลการศึกษาจากวิธีที่สอง พบว่าผลจากการปิดโรงเรียนเพิ่มขึ้น 1 วันก่อให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยมากขึ้น โดยในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจะมีการเรียนรู้ถดถอยในรายวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ตามลำดับ ส่วนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะเกิดการเรียนรู้ถดถอยในรายวิชาสังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาไทย ตามลำดับ

“เมื่อเปรียบเทียบการเรียนรู้ถดถอยจากการปิดโรงเรียนในภาคต่างๆ พบว่าภาวะการเรียนรู้ถดถอยในวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นในกรุงเทพมหานคร มีค่าถดถอยสูงที่สุด เมื่อเทียบกับวิชาอื่นๆ และเมื่อเทียบกับทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย”

ทั้งนี้ ประเด็นการศึกษานี้ก็ยังมีข้อจำกัดในการศึกษา พบว่าระดับการสูญเสียการเรียนรู้ที่ประมาณได้นี้ ถือเป็นการประมาณที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเป็นการประเมินเฉพาะนักเรียนชั้น ม.6 ม.3 และ ป.6 ที่เลือกมาสอบ O-NET เท่านั้น ทำให้ไม่ครอบคลุมถึงเด็กที่มีลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่ได้เลือกมาสอบ รวมถึงยังไม่สามารถวิเคราะห์การเรียนรู้ถดถอยในเด็กปฐมวัยได้จากการใช้คะแนน O-NET ซึ่งมีการจัดสอบเฉพาะนักเรียนชั้น ม.6 ม.3 และ ป.6 และยังไม่สามารถวิเคราะห์การวิเคราะห์ถดถอยแบบเจาะลึกนักเรียนกลุ่มเปราะบางในด้านต่างๆ อีกด้วย

วศินได้อธิบายต่อไปในประเด็นศึกษาที่สอง คือการประเมินว่าภาวะการเรียนรู้ถดถอยของเด็กและเยาวชนในช่วงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายจะส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยโดยภาพรวมอย่างไร ซึ่งเมื่อได้คำตอบแล้วก็อาจจะสะท้อนกลับไปยังภาครัฐ เพื่อให้ตระหนักว่าควรให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเด็กและเยาวชนหลังจากผ่านยุคโควิด-19 อย่างไร การศึกษานี้ได้ใช้ชุดข้อมูลจาก โครงการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (Labor Force Survey) ซึ่งสามารถประเมินรายได้ตลอดช่วงอายุการทำงานจนเกษียณตอนอายุ 60 ปี พบว่ายิ่งมีการเรียนรู้ในระดับสูง ผลตอบแทนก็จะมีอัตราที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะหากศึกษาในระดับปริญญาโทขึ้นไป แต่หากมีการสูญเสียการเรียนรู้ ผลตอบแทนดังกล่าวจะมีสัดส่วนที่ลดลง

“ผลการศึกษาพบว่าเมื่อเปรียบเทียบรายได้ของผู้ที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมต้นที่ประสบกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย กับผู้ที่ไม่เคยประสบภาวะดังกล่าว จะมีส่วนต่างของรายได้ที่พึงจะได้ตลอดช่วงเวลาการทำงานอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาท และเมื่อเปรียบเทียบรายได้ของผู้ที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลายในลักษณะเดียวกัน จะมีส่วนต่างของรายได้ประมาณ 530,000 บาท”

สัณห์สิรี กล่าวว่าการศึกษาในประเด็นที่สามเป็นการสำรวจบทบาทและประสิทธิภาพของการนำเอาเทคโนโลยีการศึกษามาใช้ และทบทวนเงื่อนไขของความสำเร็จในการใช้สื่อเหล่านี้ โดยผลที่ได้จากการศึกษาในส่วนนี้จะมีส่วนสำคัญในการสร้างชุดองค์ความรู้เพื่อจัดทำนโยบายต่อไปในอนาคต

จากข้อมูลของยูเนสโกในปี 2020 พบว่าแต่ละประเทศมีการใช้สื่อที่แตกต่างกัน เช่น ซอฟต์แวร์แบบปรับเหมาะ การเรียนออนไลน์แบบประสานเวลาร่วมกัน การใช้โทรทัศน์ร่วมกับโทรศัพท์ หรือการส่งชุดการเรียนรู้ไปที่บ้านของเด็กนักเรียน อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนในลักษณะดังกล่าวอาจจะไม่เหมาะสมกับผู้เรียน เช่น นักเรียนไม่มีอุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์ ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต หรือสภาพแวดล้อมที่บ้านไม่เหมาะสมแก่การเรียนออนไลน์ รวมถึงการขาดความรู้ทางด้านดิจิทัลของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง

การเรียนออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จ จึงต้องเป็นการเรียนที่สร้างเสริม 3 อย่าง หนึ่งคือการมีส่วนร่วมและการสื่อสารสองทาง สองคือการเรียนที่ให้ความรู้ตรงตามระดับของผู้เรียน และสามคือเป็นการเรียนที่เพิ่มความเข้าใจของผู้เรียน

“การเรียนออนไลน์อย่างประสบความสำเร็จ ต้องมีการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาที่สามารถลดความยากจนในการเรียนรู้ได้ มีการลดช่องว่างในการเข้าถึงสารสนเทศ หรือ Digital Divide และมีกรอบแนวคิดของการเรียนระยะไกล ซึ่งประกอบไปด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม ครูที่มีประสิทธิภาพ และนักเรียนที่สนใจเรียน”

วศินได้กล่าวสรุปการวิจัยว่าผู้กำหนดนโยบายของไทยควรมีการการออกแบบหลักสูตรการเรียนเพื่อเยียวยาความสูญเสียในการเรียนรู้ รวมถึงมีการประเมินหลักสูตรการเรียนเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเพื่อดูพัฒนาการของนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนต่อไป

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา: แผลใหญ่ที่มาทับกับแผลเป็นใหม่

ปวรินทร์ พันธุ์ติเวช นักวิชาการฝ่ายโครงการวิจัยระบบ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้อธิบายถึงงานวิจัยล่าสุดที่ กสศ. เพิ่งแถลงต่อสื่อมวลชน ซึ่งเป็นงานวิจัยเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตและค่าใช้จ่ายอินเตอร์เน็ตของนักเรียนยากจนพิเศษและนักเรียนในกลุ่มครัวเรือนทั่วไป ผลวิจัยที่ค้นพบคือมีความเหลื่อมล้ำสูงในการเข้าถึงเทคโนโลยีการศึกษา โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ต

เนื่องจากกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษจะมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อเดือนประมาณ 1,400 บาท ส่วนนักเรียนในกลุ่มครัวเรือนทั่วไปมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อเดือนประมาณ 11,000 บาท และเมื่อมองถึงค่าอินเตอร์เน็ตของกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษจะอยู่ที่ประมาณ 200 บาทต่อเดือน ขณะที่นักเรียนในกลุ่มครัวเรือนทั่วไปจะมีค่าอินเตอร์เน็ตประมาณ 500 บาทต่อเดือน จะเห็นได้ว่าสัดส่วนค่าอินเตอร์เน็ตต่อรายได้ของทั้งสองกลุ่มมีความแตกต่างกันมาก นอกจากนี้ นักเรียนในกลุ่มครัวเรือนทั่วไปยังมีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้หลากหลายช่องทางกว่า ไม่ว่าจะเป็นทาง Wi-Fi หรืออินเตอร์เน็ตมือถือ แต่เด็กกลุ่มยากจนพิเศษจะมีการเข้าถึงจำกัดอยู่ที่อินเตอร์เน็ต 3G หรือ 4G และใช้อุปกรณ์การเรียนผ่านเพียงจอมือถือรุ่นเก่าเท่านั้น

ปวรินทร์ พันธุ์ติเวช นักวิชาการฝ่ายโครงการวิจัยระบบ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ความท้าทายอีกประการสำหรับเด็กกลุ่มยากจนพิเศษ คือการจ่ายค่าบริการอินเตอร์เน็ต เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่สามารถติดต่อกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือโดยตรงได้ จึงต้องชำระค่าบริการผ่านตู้เติมเงิน ซึ่งทำให้มีค่าธรรมเนียมเติมเงินเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ หากเติมค่าอินเตอร์เน็ตได้ครั้งทีละน้อย สัดส่วนค่าธรรมเนียมก็จะสูงกว่าการเติมเงินครั้งละมากๆ ด้วย

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ดูแลด้านการศึกษา สังคม และงานพาณิชย์ ได้เล่าถึงมุมมองในการทำงานว่าจากการค้นคว้าในสำนักการศึกษา พบการประเมินจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไว้ประมาณ 400 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำมาก แต่ในความเป็นจริงกลับมีนักเรียนเหล่านี้มากกว่าแสนคน ความแตกต่างของข้อมูลจึงสะท้อนให้เห็นว่าทาง กทม. ควรปรับปรุงด้านการเก็บข้อมูล เพื่อให้แม่นยำมากขึ้น และนำไปสู่การแก้ไขอย่างตรงจุด

นอกจากนี้ การปิดโรงเรียนช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังทำให้พบเห็นในปัจจุบันว่ามีเด็กนักเรียนชั้น ป.3 ที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ เป็นจำนวนมาก เนื่องจากในช่วงชั้น ป.1 – ป.2 ไม่ได้รับการเรียนการสอนอ่าน-เขียนในชั้นเรียน จึงก่อให้เกิดความยากลำบากในการเรียนการสอนในช่วงหลังจากการเปิดโรงเรียนแล้ว อีกทั้งโรงเรียนในกรุงเทพมหานครหลายแห่งยังมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่ขาดตกบกพร่อง เช่น บางโรงเรียนมีนักเรียน 3,000 คน แต่มี Wi-Fi เพียง 5 จุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทาง กทม. จะต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีให้ทั่วถึงด้วย ปัจจุบัน กทม. จึงมีนโยบายนำกรุงเทพฯ เข้าสู่ พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา ต้องมีการกระจายอำนาจที่เพียงพอในการออกแบบหลักสูตร เพื่อให้ประสิทธิภาพการเรียนการสอนดีขึ้น

สัณห์สิรี มองว่ากรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ คือโรงเรียนจังหวัดมหาสารคาม เนื่องจากครูที่ปรึกษารู้จักนักเรียนครบทุกครอบครัว ทำให้สามารถติดตามนักเรียนให้กลับมาเรียนที่โรงเรียนหลังจากเปิดเรียนได้ แสดงให้เห็นว่าปัจจัยเชิงสังคมก็มีส่วนในการที่จะดึงเด็กนักเรียนกลับเข้ามาสู่ระบบได้ นอกจากนี้ยังพบว่าโรงเรียนขนาดใหญ่เป็นโรงเรียนที่มีภาวะการเรียนรู้ถดถอยต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับโรงเรียนขนาดอื่นๆ สะท้อนให้เห็นว่าการจัดการทรัพยากรและการมีจำนวนนักเรียนและครูในสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญ

ศานนท์ ได้แสดงความเห็นต่อการที่นักเรียนที่อยู่ในเมืองมีภาวะการเรียนรู้ถดถอยมากกว่านักเรียนที่อยู่ในชนบทว่า ถึงแม้โรงเรียน กทม. จะเป็นโรงเรียนฟรี มีชุดนักเรียนและอาหารกลางวันให้ แต่ก็ยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่ พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบว่าในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 นักเรียนจะไม่ไปโรงเรียนในวันจันทร์ เนื่องจากต้องตรวจ ATK ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำในเมืองเกิดจากการมีต้นทุนที่ต้องจ่ายสูงกว่า เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน ดังนั้นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาจึงกลายเป็นปัจจัยรองในการดำเนินชีวิต

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ดูแลด้านการศึกษา สังคม และงานพาณิชย์

ปวรินทร์เสริมว่าเงินอุดหนุนรายหัวต่อหน่วยนักเรียนที่จัดสรรให้กับแต่ละโรงเรียนนั้นมีมูลค่าเท่ากัน ไม่ว่าจะเรียนโรงเรียนในเมืองหรือในชนบทก็ตาม ทั้งนี้ กสศ. กำลังพยายามที่จะเสนอโมเดลการจัดสรรงบประมาณตามสูตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อให้เกิดการจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับต้นทุนในพื้นที่นั้นจริงๆ เช่น โรงเรียนบนเกาะจะมีต้นทุนค่าขนส่ง โรงเรียนเด็กพิการหรือโรงเรียนที่มีเด็กยากจนพิเศษก็จะมีความต้องการอีกแบบ ซึ่งควรได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาดไป

ดังนั้น วิธีลบรอย ‘แผลเป็น’ หรือชดเชยภาวะการเรียนรู้ถดถอยภายใต้บริบทความเหลื่อมล้ำของไทย จึงต้องมีการประเมินผลว่าเด็กแต่ละคนมีทักษะจริงๆ อยู่เท่าไหร่ ไม่ได้วัดจากคะแนนสอบเท่านั้น หลังจากนั้นเมื่อทราบสถานะของเด็กแต่ละคนแล้ว ก็ควรมีการจัดสอนพิเศษเพิ่มเติม เช่น ในประเทศอินเดีย จะมีการสอบ Annual Status of Education Report (ASER) โดยวัดทักษะการอ่าน หรือการคำนวณ โดยไม่อ้างอิงกับช่วงอายุของเด็ก และมี NGO ทางการศึกษาชื่อ ‘Pratham’ นำเสนอโมเดล ‘Teaching at the right level (TaRL)’ ที่สนับสนุนให้มีการสอนตามระดับทักษะที่เด็กแต่ละคนมีอยู่จริง เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด เติมเต็มในส่วนที่เด็กถดถอยลงไปในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ตามความต้องการของนักเรียนแต่ละคน

วศินให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนเสริมว่า จำนวนคาบเรียนปกติของนักเรียนไทยปกติก็เยอะอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการออกแบบหลักสูตรใหม่ว่าในแต่ละคาบควรทำอย่างไรให้สามารถเติมเต็มศักยภาพของเด็กนักเรียนได้จริง โดยต้องมีการปรับมุมมองว่าทุกพื้นที่คือที่เรียนรู้ของเด็ก ไม่จำเป็นที่เด็กและเยาวชนต้องอยู่ที่โรงเรียนถึงจะได้ความรู้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรสร้างพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนเพิ่มขึ้น เช่น การจัดนิทรรศการต่างๆ เปิดพื้นที่การเรียนรู้ในสวนสาธารณะ ทำให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้ง่ายขึ้นนอกห้องเรียน สามารถแสวงหาได้ด้วยตนเองไม่ซ้ำเติมขีดจำกัดในเรื่องชั่วโมงเรียน และควรสะดวกต่อการเดินทางสำหรับนักเรียนด้วย

ศานนท์ยกตัวอย่างโรงเรียนในเขตคลองเตยว่าเด็กหลายคนอยากอยู่โรงเรียนต่อ ไม่อยากกลับบ้าน เพราะที่บ้านมีปัญหา ดังนั้นโรงเรียนจึงควรมีห้องสมุด หรือมูลนิธิ ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นในเรื่องของ ‘รางวัลเรียนดี’ ซึ่งเป็นเหมือนดาบสองคม เนื่องจากมีนักเรียนที่ได้รางวัลเพียงแค่คนเดียว ส่วนนักเรียนที่เหลืออาจต้องเผชิญกับการขาดความมั่นใจในตนเอง โดยเฉพาะนักเรียนที่สอบได้อันดับท้ายๆ อาจมีความรู้สึกว่าโรงเรียนไม่ใช่ที่ของเขา ทำให้เขาไม่อยากเรียนเพราะรู้สึกว่ามันไม่มีพื้นที่ที่เขาจะชนะได้ ซึ่งจะยิ่งผลักพวกเขาออกไปจากระบบมากขึ้น ดังนั้นทาง กทม. จึงมุ่งหวังที่จะสร้างการเรียนรู้ที่ไม่ใช่การตัดสินในลักษณะนี้

ในแง่ของการดึงเด็กที่หลุดออกจากระบบกลับเข้ามา กทม. มองว่าอาจต้องมีการร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น สพฐ. เพื่อทำการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ เนื่องจากในเขตหนึ่งไม่ได้มีแค่โรงเรียนของ กทม. แต่มีโรงเรียนของภาคส่วนอื่นด้วย ควรร่วมมือกันช่วยคิดข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหานี้ เนื่องจากกำลังของ กทม. ตอนนี้ก็มีจำกัดอยู่แค่ทรัพยากรของ กทม. เท่านั้น แต่หากได้ร่วมกับหน่วยงานอื่นก็จะมีกำลังในการทำงานได้มากขึ้น

ปวรินทร์กล่าวว่าโควิด-19 เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์แรกที่กระทบคนจำนวนมากได้ขนาดนี้ และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคที่มีเทคโนโลยี เมื่อเปรียบเทียบกับการเกิดสงครามต่างๆ จะพบว่าสงครามไม่ได้เกิดในทุกพื้นที่ของโลก แต่ในยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยี หากสงครามทำให้โรงเรียนเสียหาย เด็กก็จะไม่ได้เรียนหนังสือเลย ประเด็นภาวะการเรียนรู้ถดถอยในยุคโควิด-19 จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน แต่ข่าวดีก็คือเมื่อพิจารณาจากการศึกษาผลกระทบของปัญหาต่อโครงสร้างพื้นฐานหรือทรัพยากรมนุษย์ในอดีต เช่น ปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาความรุนแรง การทิ้งระเบิดปรมณูต่างๆ จะพบว่าในระยะสั้นปัญหาเหล่านี้ก็ก่อให้เกิดแผลเป็นต่อมนุษย์เช่นกัน แต่หากสามารถช่วยเหลือได้ตรงจุด ทันท่วงที และมากพอ ก็สามารถทำให้ความสูญเสียดังกล่าวลดลง และทำให้เศรษฐกิจกลับมาใกล้เคียงกับเส้นปกติได้

สัณห์สิรีแบ่งปันประสบการณ์จากการลงพื้นที่ว่าเด็กที่หลุดออกนอกระบบไม่ได้ต้องการออกนอกระบบ เพียงแต่มีความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ หรือมีความรู้สึกว่าโรงเรียนไม่ใช่ที่ของพวกเขา จึงมีข้อเสนอแนะว่าควรทำระบบการศึกษานอกโรงเรียนให้ดีขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น และชดเชยทักษะที่สูญเสียไปสำหรับคนที่ตัดสินใจออกจากโรงเรียนแล้ว

วศินเสนอแนะว่าควรมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะให้ครูด้วย เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าการเรียนการสอนที่ดีควรมีลักษณะแบบไหน ควรมีความน่าสนใจอย่างไร เพื่อเตรียมความพร้อมครูซึ่งเป็นกำลังสำคัญในเรื่องนี้ นอกจากนี้ ควรดูแลเด็กๆ ทั้งทางด้านการเรียนและจิตใจ เพื่อให้พร้อมรักษาแผลเป็นและเดินกลับเข้าสู่เส้นทางปกติตามที่ควรจะเป็น

ปวรินทร์เสริมถึงกลุ่มที่มีความท้าทายสูงในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โดยกลุ่มแรกคือเด็กปฐมวัย เพราะโดยปกติการเรียนการสอนของเด็กกลุ่มนี้การเรียนรู้เชิงกิจกรรม ซึ่งไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ จึงไม่ควรปิดโรงเรียนปฐมวัย กลุ่มที่สองคือกลุ่มโรงเรียนที่มีเด็กพิเศษ เพราะหากโรงเรียนไม่มีความพร้อม เช่น โรงเรียนสแกนเอกสารเป็นไฟล์ภาพ แต่เด็กกลุ่มพิการทางสายตาก็จะไม่สามารถอ่านได้เลย ซึ่งหากต้องปิดโรงเรียน ควรมีเทคโนโลยีที่เพียงพอเพื่อตอบสนองความต้องการของนักเรียน กลุ่มที่สามคือโรงเรียนอาชีวะ หรือโรงเรียนที่ต้องใช้การเรียนเชิงปฏิบัติ หากไม่มีเทคโนโลยีรองรับในการเรียนรู้ก็ไม่แนะนำให้ปิดโรงเรียนเช่นกัน

วศินย้ำถึงงานวิจัยว่าประเทศแถบสแกนดิเนเวียว่าไม่มีการปิดการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัย และในขณะเดียวกันก็มีโปรแกรมช่วยเหลือพ่อ-แม่ ให้พาลูกๆ มาอยู่ที่โรงเรียนกับครูได้ในวันที่พ่อ-แม่ต้องไปทำงาน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ครูที่สอนวิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในระดับมัธยมศึกษา พบว่าครูต้องใช้การสอนแบบเขียนโค้ดบนกระดาษ และในวันสอบต้องจัดสอบแบบตัวต่อตัว ซึ่งหากประเทศไทยต้องการขับเคลื่อนแรงงานไปในสายเทคโนโลยี ก็ควรพิจารณาด้วยว่ารายวิชาเหล่านี้สามารถจัดเรียนในโรงเรียนได้หรือไม่ เพราะเด็กนักเรียนจำเป็นต้องใช้ความรู้ในวิชาเหล่านี้มาต่อยอดในการเรียนมหาวิทยาลัยต่อไป

ในช่วงท้าย สัณห์สิรีมองว่าการปิดโรงเรียนทำให้การเรียนรู้ระหว่างมนุษย์และการสื่อสารสองทางหายไป โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ไม่สามารถเรียนรู้ทางด้านอารมณ์ได้อย่างสมบูรณ์จากการเรียนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ส่วนวศิน อยากให้มีนโยบายรูปธรรมชัดเจนว่าหลังจากนี้จะมีแผนอะไรบ้างในการดูแลเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบ และอยากเห็นพื้นที่ปลอดภัยและเปิดกว้างในการเรียนรู้ เพื่อลบรอยแผลเป็นให้หายโดยเร็วที่สุด

ศานนท์มองว่าเราสามารถมองเห็นความหวังจากการเรียนออนไลน์ได้ เพราะแม่จะมีทักษระบางอย่างถดถอย แต่ในช่วงเวลาเดียวกันเด็กอาจจะได้รับทักษะอื่นๆ จากออนไลน์ก็ได้ เช่น ทักษะจากโซเชียลมีเดียหรืออีสปอร์ต ซึ่งเป็นทักษะที่เด็กไม่ได้รับจากการเรียนการสอนปกติ ยิ่งถ้าเรามองว่าการศึกษาคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนออนไลน์อาจจะมีประโยชน์ในแง่มุมหนึ่งก็ได้ เพียงแต่นโยบายการศึกษาหรือการจัดการของพวกเราอาจจะยังตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ โจทย์สำคัญที่ต้องคิดต่อคือรูปแบบการเรียนแบบนั่งเรียนในห้องกับครูยังคงเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับอนาคตหรือไม่ หรือจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร

ด้านปวรินทร์เน้นย้ำว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาที่สำคัญมาก เด็กนักเรียนบางโรงเรียนมีทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ในขณะที่เด็กนักเรียนในบางโรงเรียนยังเผชิญความท้าทายกับการอ่าน-เขียน หรือคิดคำนวณพื้นฐาน ซึ่งแสดงให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน ทาง กสศ. ก็มีหลายโครงการที่ทำการศึกษาเชิงพื้นที่ เพื่อดึงทุกภาคส่วนเข้ามาถกกันถึงวิธีการช่วยเหลือเด็กและเยาวชน ซึ่งการย่อปัญหาลงมาจากระดับชาติเป็นระดับพื้นที่ จะทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า สำหรับประเด็นการแก้ปัญหาเด็กนอกระบบ กสศ. พยายามผลักดันการพัฒนาทักษะอาชีพหรือทักษะการดำรงชีวิตให้กับเด็กเหล่านี้ เพราะเด็กบางคนก็อาจจะกลับเข้ามาในระบบไม่ได้ จึงใช้วิธีการพัฒนาครูนอกระบบไปช่วยสนุบสนุนเด็กตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กก่อปัญหาอื่นๆ ต่อสังคมในอนาคต


บทความที่เกี่ยวข้อง

เติมทุน-หนุนการมีส่วนร่วม: เปลี่ยนฝันของเยาวชนไปสู่พลังการเปลี่ยนแปลง

เติมทุน-หนุนการมีส่วนร่วม: เปลี่ยนฝันของเยาวชนไปสู่พลังการเปลี่ยนแปลง

คิด for คิดส์ ชวน โชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง, อดิศร จันทรสุข, และ ณัฐภัทร เนียวกุล แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับอุปสรรคที่เยาวชนพบเจอในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคม ตลอดจนเสนอแนวทางลดอุปสรรค-พัฒนากลไกสนับสนุนพวกเขา

‘ธนาคารหน่วยกิต’ ทางเลือกการศึกษายืดหยุ่นที่ต้องทำอย่างรอบคอบ

‘ธนาคารหน่วยกิต’ ทางเลือกการศึกษายืดหยุ่นที่ผลักดันโดยรัฐบาลคืออะไร? ปัจจุบันทำถึงไหนแล้ว? และมีอะไรที่ต้องระวัง?

ปรับนโยบายให้ 'เห็นหัว' เด็กและเยาวชนด้วย CYIA (Child and Youth Impact Assessment)

ปรับนโยบายให้ ‘เห็นหัว’ เด็กและเยาวชนด้วย CYIA (Child and Youth Impact Assessment)

คิด for คิดส์ ชวนทำความรู้จักแนวคิด CYIA (Child and Youth Impact Assessment) ซึ่งหลายประเทศใช้เป็นเครื่องมือปรับปรุงนโยบายให้ ‘เห็นหัว’ เด็กและเยาวชนยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสำรวจแนวทางการนำ CYIA มาใช้ประเมินนโยบายในรูปแบบ ‘ร่างกฎหมาย’ ในไทย

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2025 kidforkids.org | All rights reserved.