เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ให้เยาวชนไทยเข้าถึงจริง

แม้เด็กและเยาวชนจะต้องใช้เวลาคุดคู้อยู่ในห้องเรียนมากที่สุด แต่การเรียนรู้ของพวกเขาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียน การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องเกิดจากกิจกรรมทางวิชาการ แต่อาจเกิดจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน การสัมผัสสิ่งรอบตัว ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง การวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่นหรือสนามกีฬา หรือการไปแหล่งเรียนรู้ต่างๆ นอกบ้าน[1]Lannon, C. (2018). Informal Learning: How Care Providers Can Engage in Learning Outside of the Classroom. Honors Senior Capstone Projects, … Continue reading

การเรียนรู้นอกห้องเรียนไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าการเรียนในห้องเรียน โดยเฉพาะการเรียนการสอนที่เน้นท่องจำเนื้อหา วัดประเมินผลอย่างคับแคบ และไม่ได้เปิดทางเลือกหลากหลายให้นักเรียนได้ทดลอง การเรียนรู้นอกห้องเรียนช่วยเติมเต็มให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจหรือสงสัย[2]

การเรียนรู้นอกห้องเรียนไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าการเรียนในห้องเรียน โดยเฉพาะการเรียนการสอนที่เน้นท่องจำเนื้อหา วัดประเมินผลอย่างคับแคบ และไม่ได้เปิดทางเลือกหลากหลายให้นักเรียนได้ทดลอง การเรียนรู้นอกห้องเรียนช่วยเติมเต็มให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจหรือสงสัย[2]Chand, R., & Narain, S. (2022, March 03). Informal learning for Children-the way ahead. ETHealthworld.

ยิ่งในศตวรรษที่ 21 การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลาทำให้ความรู้แบบท่องจำมีอายุสั้นลง ซึ่งท้าทายระบบการศึกษาอย่างมาก โจทย์สำคัญที่ท้าทายการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ก็คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีทักษะที่ใช้ได้จริงในอนาคต

หลายประเทศเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายการศึกษาให้เหมาะสมกับบริบทในปัจจุบันมากขึ้น โดยเน้นสร้างสภาวะแวดล้อมทางการเรียนรู้องค์รวมที่ครอบคลุมทั้งในและนอกห้องเรียน โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน[3]Care, E., Kim, H., Vista, A., & Anderson, K. (2018). Education system alignment for 21stcentury skills. Brookings. เป็นเทรนด์ใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการตอบรับมากนักในประเทศไทย

คิด for คิดส์ จึงชวนสำรวจพฤติกรรมการไปแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนไทย ผ่านผลสำรวจเยาวชน 2022 (Youth Survey 2022) ดูว่าทิศทางการลงทุนในแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนของภาครัฐเป็นอย่างไร และนโยบายสำหรับแหล่งเรียนรู้ควรปรับทิศทางอย่างไรให้การเรียนรู้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้

เยาวชนไทยไม่ค่อยได้ไปแหล่งเรียนรู้

องค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ภายนอกห้องเรียนได้ คือพื้นที่ให้เด็กทำกิจกรรมต่างๆ หรือแลกเปลี่ยนพูดคุยกับคนอื่นๆ ได้ พื้นที่สาธารณะเป็นหนึ่งในพื้นที่เหล่านั้น แต่ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะมีพื้นที่สาธารณะไม่มาก ทำให้เด็กไทยใช้เวลาว่างนอกห้องเรียนเพื่อไปห้างสรรพสินค้า, ตลาดนัด, บ้านเพื่อนและบ้านญาติ มากที่สุดเป็น 3 อันดับแรก ตามด้วยสนามกีฬา/สนามเด็กเล่น และแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ[4]ภูเบศร์ และคณะ. (2563). โลกที่ 3 ของซี- แอลฟา. สถาบันวิจัยประชากร … Continue reading

จากผลสำรวจเยาวชนไทยอายุ 15 ถึง 25 ปี จำนวน 19,694 คน ที่จัดทำโดย คิด for คิดส์ พบว่าเยาวชนไทยจำนวนมากไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้หลายประเภท โดยเฉพาะแหล่งเรียนรู้ประเภทศูนย์ฝึกอาชีพและพื้นที่ทำงานร่วมกัน (coworking space) ที่เยาวชนกว่าครึ่งตอบว่าไม่เคยไป (ภาพที่ 1) และถึงแม้จะมีแหล่งเรียนรู้บางประเภทที่เยาวชนเคยไป อาทิ ห้องสมุด สนามกีฬา โรงหนัง/คอนเสิร์ต สวนสัตว์ และสวนพฤกษศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้ไปบ่อยเท่าไหร่นัก

ภาพที่ 1: การไปแหล่งเรียนรู้แต่ละประเภทของเยาวชนไทย
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

พฤติกรรมการไปแหล่งเรียนรู้ยังแตกต่างกันไปตามกลุ่มรายได้และจังหวัดที่อยู่อาศัย ในภาพรวมเยาวชนไทยที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีฐานะร่ำรวยกว่าและกลุ่มที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครมีอัตราการไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้เฉลี่ยน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอย่างมาก ในขณะที่กลุ่มที่มีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้มักจะเป็นกลุ่มที่ครัวเรือนมีฐานะยากจนกว่า หรืออยู่ในจังหวัดขนาดเล็ก (ภาพที่ 2)

ในรายละเอียด แหล่งเรียนรู้กลุ่มเยาวชนที่มีรายได้น้อยมีแนวโน้มที่ไม่เคยไปมากกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ โรงหนัง/คอนเสิร์ต สวนสัตว์ สวนพฤกษศาสตร์ และพื้นที่ทำงานร่วมกัน (coworking space) เมื่อแบ่งตามกลุ่มจังหวัดที่อยู่อาศัย จะพบว่ากลุ่มเยาวชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดที่มีประชากรมาก (กรุงเทพฯ และ 7 จังหวัดหัวเมือง[5]7 จังหวัดหัวเมือง คือ 7 จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดรองลงมาจากกรุงเทพฯ … Continue reading) มีแนวโน้มไม่เคยไปพิพิธภัณฑ์ โรงหนัง คอนเสิร์ต และ coworking space น้อยกว่ากลุ่ม ‘จังหวัดอื่นๆ’ อย่างไรก็ตาม เยาวชนอาศัยอยู่ใน ‘จังหวัดอื่นๆ’ มีแนวโน้มที่จะเคยไปสวนสัตว์ สวนพฤกษศาสตร์ สนามกีฬา ศูนย์ฝึกอาชีพ และศาสนสถานมากกว่า มีเพียงแหล่งเรียนรู้ประเภทห้องสมุดเท่านั้นที่เยาวชนมีพฤติกรรมการเข้าใช้งานที่ไม่แตกต่างกันในทุกกลุ่มจังหวัด นั่นคือเยาวชนส่วนใหญ่เคยไปและมีสัดส่วนผู้ที่ไม่เคยไปห้องสมุดน้อยเท่าๆ กัน (ราว 15% ของผู้ตอบในแต่ละกลุ่มจังหวัด)

ภาพที่ 2: ค่าเฉลี่ยของเยาวชนที่ไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้จำแนกตามลักษณะ
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

เมื่อถามความคิดเห็นจากเยาวชนว่าอะไรเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่ทำให้พวกเขาเหล่านี้ไม่ไปแหล่งเรียนรู้บ่อยกว่านี้ พบว่า เกือบครึ่งของผู้ตอบทั้งหมด (47.2%) เห็นว่า ระยะทางและการเดินทางเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถไปสถานที่เหล่านี้ได้มากนัก ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มเยาวชนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในกลุ่ม ‘จังหวัดอื่น’ จะเผชิญปัญหาด้านระยะทางและการเดินทางมากกว่าเยาวชนในพื้นที่ กทม. และ 7 จังหวัดใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ โดยสัดส่วนของผู้ที่ประสบปัญหาด้านนี้จากกลุ่มจังหวัดอื่นๆ มีมากกว่ากรุงเทพฯ ถึง 8% ซึ่งชี้ให้เห็นว่า แหล่งการเรียนรู้ในไทยมีจำนวนน้อย อีกทั้งยังกระจุกตัวตามหัวเมืองเท่านั้น

ภาพที่ 3: อุปสรรคที่ทำให้เยาวชนไม่ได้ไปแหล่งเรียนรู้
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

แหล่งเรียนรู้ที่เยาวชนไทยอยากให้มีใกล้บ้าน

เยาวชนไทยทุกกลุ่มต้องการให้มีแหล่งเรียนรู้ประเภทพิพิธภัณฑ์อยู่ใกล้บ้าน ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ผู้ตอบส่วนใหญ่ไม่เคยไป อีกทั้งยังมีไม่มากและกระจุกตัวอยู่แค่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ตามที่จะแสดงให้เห็นต่อไป ตามด้วยห้องสมุดและสนามกีฬา ซึ่งมีอัตราการเคยไปดีกว่าแต่ยังมีความถี่ในการใช้บริการน้อย

อย่างไรก็ตาม แหล่งเรียนรู้ใกล้บ้านที่เยาวชนในแต่ละกลุ่มต้องการเป็นอันดับที่หนึ่งก็มีความแตกต่างกันไป โดยขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการไปสถานที่การเรียนรู้ของกลุ่มนั้นๆ อาทิ เยาวชนวัยมัธยมศึกษาตอนปลาย อายุ 15-18 ปีอยากให้มีสนามกีฬามากที่สุด ในขณะที่กลุ่ม 19-22 ปี ซึ่งเป็นวัยมหาวิทยาลัยอยากได้ห้องสมุดมากที่สุด กลุ่มเยาวชน 23-25 ปี ที่เพิ่งเริ่มทำงานหรือศึกษาในระดับสูงขึ้นต้องการพื้นที่ประเภทพิพิธภัณฑ์มากที่สุด ในขณะที่กลุ่มเยาวชนจากครอบครัวรายได้น้อยอยากให้มีห้องสมุด ศูนย์ฝึกทักษะอาชีพ และพิพิธภัณฑ์อยู่ใกล้บ้านมากที่สุด (ภาพที่ 4) ส่วนศาสนสถานและโรงเรียนสอนศาสนาเป็นสิ่งสุดท้ายที่เยาวชนไทยต้องการ ซึ่งมีไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ที่ตอบว่าต้องการให้มีแหล่งเรียนรู้ประเภทนี้เพิ่มใกล้บ้าน

ภาพที่ 4: แหล่งเรียนรู้ 3 อันดับแรกที่เยาวชนไทยอยากให้มีใกล้บ้าน
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยมีน้อย-เข้าถึงยาก

‘พิพิธภัณฑ์’ เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เยาวชนไทยอยากให้มีใกล้บ้านมากที่สุดเป็นอันดับ 1 จากการสำรวจเยาวชน 2022 ซึ่งยังติดอันดับ 1 ใน 3 ในทุกกลุ่มย่อย พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นดี เพราะสามารถจัดแสดงเรื่องราวหลากหลายให้เป็นระบบ ซึ่งช่วยเปิดประสบการณ์และเป็นแหล่งค้นคว้าเรียนรู้เฉพาะเรื่องที่สำคัญในระบบนิเวศการเรียนรู้ในนานาประเทศ

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐของไทยให้การสนับสนุนจัดสร้างพิพิธภัณฑ์น้อยมาก[6]แม้ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2022 … Continue reading ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการเดินทางและการเข้าถึงโดยเยาวชนไปโดยปริยาย เมื่อผู้วิจัยค้นหาตำแหน่งที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยจาก Google Map โดยไม่นับรวมพิพิธภัณฑ์ที่เป็นของส่วนบุคคลหรือของวัดแล้ว ทำให้เห็นภาพว่าประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์น้อยมาก และที่สำคัญคือมีปัญหาเรื่องการกระจุกตัวในจังหวัดขนาดใหญ่ จึงไม่น่าแปลกใจกับผลสำรวจเยาวชนที่พบว่าเยาวชนจำนวนมากไม่เคยไปพิพิธภัณฑ์มาก่อนในชีวิต และอีกจำนวนหนึ่งไม่ได้ไปบ่อยนัก

ภาพที่ 5: การกระจุกตัวของพิพิธภัณฑ์ในไทย
ที่มา: คิด for คิดส์ รวบรวม

เมื่อมองไปยังอนาคตก็จะพบว่า การก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ของรัฐยังไม่ตอบโจทย์ต่อพฤติกรรมและความต้องการของเยาวชน ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 มีโครงการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1 พันล้านบาท จากงบประมาณทั้งประเทศมากกว่า 3 ล้านล้านบาท 

เมื่อแยกรายโครงการแล้ว พบว่างบประมาณทั้งหมดนั้นใช้กับการก่อสร้างเพียง 7 โครงการ ที่สำคัญ จำนวนเงินงบประมาณก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ใหม่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่แค่ในจังหวัดที่มีแหล่งเรียนรู้ประเภทพิพิธภัณฑ์อยู่แล้ว อาทิ โครงการสร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่า เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ เป็นจำนวนเงิน 655 ล้านบาท (65 % ของงบสร้างพิพิธภัณฑ์ในปีงบประมาณ 2566) ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพิพิธภัณฑ์มากที่สุดในประเทศไทยอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นโครงการนี้ตั้งระยะเวลาการดำเนินงานมากถึง 12 ปี[7]เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เล่มที่ 6

โครงการขนาดรองลงมาคือพิพิธภัณฑสถานงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ พิพิธภัณฑ์พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 ซึ่งจะใช้งบประมาณ 153 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2566 จากมูลค่าโครงการทั้งหมด 294 ล้านบาท โครงการดังกล่าวนี้จะสร้างขึ้นในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นเหมือนแหล่งรวบรวมพิพิธภัณฑ์หลากประเภทของไทยไว้อยู่แล้ว 

ขณะที่จังหวัดซึ่งไม่มีพิพิธภัณฑ์อย่างเพชรบุรีและระนอง กลับมีงบประมาณเพียงแค่จังหวัดละประมาณ 2% ของงบสร้างพิพิธภัณฑ์เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีอีก 19 จังหวัดที่ยังไม่มีพิพิธภัณฑ์และยังไม่ได้มีการลงทุนสร้างเลย

ภาพที่ 6: งบประมาณก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ใหม่ของไทยในปีงบประมาณ 2566
ที่มา: คิด for คิดส์ รวบรวมจากข้อมูลสำนักงบประมาณ

นอกจากงบประมาณก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ใหม่แล้ว คิด for คิดส์ ยังพบว่าองค์กรภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวข้องกับแหล่งการเรียนรู้อย่าง สำนักบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD ผู้ดูแลทั้ง Museum Siam และ TK Park) กรมศิลปากร และองค์กรพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติได้รับงบประมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับความสำคัญและความเร่งด่วนในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนของไทย โดยพบว่างบของทั้งสามองค์กรรวมกันมีสัดส่วนไม่เกิน ร้อยละ 0.15 ของงบประมาณในแต่ละปี โดยงบประมาณของกรมศิลปากรและองค์กรพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่มีความผันผวนค่อนข้างมาก ในขณะที่งบประมาณของ OKMD นั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน

ปรับทิศนโยบาย สร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้

ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าแหล่งเรียนรู้ในประเทศไทยยังมีไม่มากพอให้เยาวชนเข้าถึงได้โดยสะดวกในทุกพื้นที่ อีกทั้งการลงทุนสร้างแหล่งเรียนรู้ใหม่อย่างพิพิธภัณฑ์ของภาครัฐยังคงไม่เพียงพอและกระจุกตัวอยู่แต่ในที่เดิมๆ

แน่นอนว่าการเพิ่มแหล่งเรียนรู้ประเภทต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งกระจายไปยังพื้นที่ที่มีแหล่งเรียนรู้น้อย เป็นเงื่อนไขจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนไทยในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขจำเป็นข้อนี้ยังไม่เพียงพอ เพราะแม้ว่าจะมีแหล่งเรียนรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นใกล้บ้าน แต่หากสถานที่ใหม่ๆ เหล่านี้มิได้เป็นสิ่งที่เยาวชนต้องการ ก็จะเป็นการสร้างแหล่งเรียนรู้ที่ไม่เกิดประโยชน์ ที่ผ่านมาการตั้งพิพิธภัณฑ์ในระดับชุมชนและท้องถิ่นของไทย มักจะกำหนดประเด็นลงไปให้กับเยาวชน โดยที่ไม่คำนึงถึงความสนใจ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเช่น ศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรและภูมิปัญญาพื้นบ้าน มักจะมีลักษณะทับซ้อนกับความรู้ที่เยาวชนสามารถหาได้ในภูมิลำเนาอยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่เห็นเยาวชนเข้าไปใช้งาน

ดังนั้น นโยบายการสร้างแหล่งเรียนรู้ให้ใกล้บ้าน ควรต้องเริ่มด้วยการเพิ่มงบประมาณให้กับท้องถิ่นมากขึ้น แต่จะสร้างอะไรนั้น ให้ขึ้นกับการหารือและระดมความเห็นของเด็กและเยาวชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงของแหล่งเรียนรู้เหล่านั้น จึงจะทำให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีความหมายได้จริง โฉมหน้าของแหล่งเรียนรู้สำหรับโลกยุคใหม่ย่อมต้องปรับตัวไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง เพราะเมื่อพฤติกรรมการค้นคว้าข้อมูลเปลี่ยนไปอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น บทบาทความสำคัญเดิมของแหล่งเรียนรู้ซึ่งก็คือแหล่งรวบรวมข้อมูลก็ย่อมลดลง หากแต่บทบาทความสำคัญของพื้นที่ทางกายภาพก็ใช่ว่าจะไร้ความหมายไป เพราะแหล่งเรียนรู้มีพื้นที่ทางกายภาพที่สามารถนำมาประยุกต์ให้เป็นพื้นที่เพื่อการพบปะ พูดคุย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ ฉะนั้นผู้กำหนดนโยบายไม่ควรมองข้ามการวางบทบาทของแหล่งเรียนรู้ให้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การพัฒนาชีวิตและเศรษฐกิจของเมือง[8]วัฒนชัย วินิจจะกูล. (2021, December 22). ห้องสมุดยุคใหม่ … Continue reading

หลายประเทศมีการสร้างแหล่งเรียนรู้ที่ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อให้คนที่เข้าใช้บริการได้ความรู้กลับไป หากแต่จุดประสงค์ของแหล่งเรียนรู้เหล่านี้มีเพื่อเป็นสื่อกลางในการสร้างการเรียนรู้ อาทิ มีพื้นที่ให้ผู้คนได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ร่วมกัน นอกจากนี้ แหล่งเรียนรู้บางแห่งยังไม่ได้มีแค่ประเภทเดียว หากแต่เป็นศูนย์รวมของแหล่งเรียนรู้และพื้นที่สาธารณะหลากหลายประเภทในสถานที่เดียวกัน

ในเมืองอาร์ฮุส (Aarhus) ประเทศเดนมาร์ก มีโครงการห้องสมุดสาธารณะที่ชื่อว่า Dokk1 ซึ่งเป็นตัวอย่างของแหล่งเรียนรู้ที่ไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงเพื่อให้ผู้ใช้บริการมาค้นคว้าหาข้อมูลเท่านั้น Dokk1 ไม่ได้มีแค่พื้นที่อ่านหนังสือ หากแต่มีพื้นที่ที่เปิดให้ผู้คนสามารถมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน อาทิ พื้นที่ทำงานร่วมกัน (coworking space) พื้นที่สันทนาการที่มีทั้งบอร์ดเกมและวิดีโอเกม พื้นที่ทานอาหารที่ซึ่งสามารถทำอาหารเองได้ด้วย เป็นต้น[9]ดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ห้องสมุด Dokk1 เมืองอาร์ฮุส (Aarhus) ประเทศเดนมาร์ก

ภาพที่ 7: ห้องสมุดสาธารณะ Dokk1 ประเทศเดนมาร์ก
ภาพจากเว็บไซต์ finallylost.com

อีกหนึ่งตัวอย่างของห้องสมุดที่ไม่ได้มีแค่หนังสือ คือ ห้องสมุด Oodi กรุงเฮลซิงกิ (Helsinki) ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งมีจุดประสงค์หลักที่คล้ายคลึงกับ Dokk1 ก็คือต้องการให้ผู้คนที่มาใช้งานมีโอกาสในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นผ่านพื้นที่การพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้[10]ดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ห้องสมุด Oodi เมืองเฮลซิงกิ (Helsinki) ประเทศฟินแลนด์)

ภาพที่ 8: ห้องสมุด Oodi ประเทศฟินแลนด์
ภาพจากเว็บไซต์ themayor.eu

โจทย์ใหญ่กว่าคือการเขย่าสังคม สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้

การมุ่งเน้นสร้างแหล่งเรียนรู้โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มการเข้าถึง เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการสร้างการเรียนรู้ แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นจริง เพราะแหล่งการเรียนรู้ ตลอดจนเนื้อหาและสื่อการเรียนรู้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของระบบนิเวศการเรียนรู้ แต่พฤติกรรมการเรียนรู้นั้นจะต้องเกิดด้วยสังคมที่ให้คุณค่ากับความรู้ ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง ตอบโจทย์ต่อความสนใจของผู้เรียน และมีระบบส่งเสริมทั้งความต้องการเรียนรู้และความต้องการให้ความรู้ที่ชัดเจนและยั่งยืน ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้ อยากแสวงหาและต้องการเรียนรู้[11]วัฒนชัย วินิจจะกูล. (2021, December 24). เปลี่ยนโลกการเรียนรู้ของไทยให้ทันโลก. The Kommon.

การส่งเสริมให้สังคมไทยเกิดการเรียนรู้เพื่อก้าวทันตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วไม่ได้จบเพียงแค่การเพิ่มปริมาณแหล่งการเรียนรู้ หรือการปรับรูปแบบให้ทันต่อการใช้งานและความชอบเท่านั้น แต่ต้องมองถึงระบบการจัดการจนเกิดวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นโจทย์ให้ผู้ศึกษานโยบายด้านการเรียนรู้ต้องดำเนินการต่อไป

References

References
1 Lannon, C. (2018). Informal Learning: How Care Providers Can Engage in Learning Outside of the Classroom. Honors Senior Capstone Projects, 36. https://scholarworks.merrimack.edu/honors_capstones/36 รศ.ดร.ชูเกียรติ ลีสุวรรณ์. (2019, May 24). Informal learning ถูกมองข้าม เรื่องเสียโอกาสในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ของคนไทย.
2 Chand, R., & Narain, S. (2022, March 03). Informal learning for Children-the way ahead. ETHealthworld.
3 Care, E., Kim, H., Vista, A., & Anderson, K. (2018). Education system alignment for 21stcentury skills. Brookings.
4 ภูเบศร์ และคณะ. (2563). โลกที่ 3 ของซี- แอลฟา. สถาบันวิจัยประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล.
5 7 จังหวัดหัวเมือง คือ 7 จังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดรองลงมาจากกรุงเทพฯ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา, อุบลราชธานี, ขอนแก่น, เชียงใหม่, บุรีรัมย์, อุดรธานี, และนครศรีธรรมราช
6 แม้ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2022 แสดงผลว่าประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์มากถึง 1,591 แห่งทั่วประเทศ แต่เมื่อจำแนกประเภทพิพิธภัณฑ์แล้วจะเห็นว่าพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่นั้นอยู่กับวัดและสถานศึกษา ซึ่งมีจำนวน 415 และ 318 แห่งตามลำดับ
7 เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เล่มที่ 6
8 วัฒนชัย วินิจจะกูล. (2021, December 22). ห้องสมุดยุคใหม่ พื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้. The Kommon.
9 ดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ห้องสมุด Dokk1 เมืองอาร์ฮุส (Aarhus) ประเทศเดนมาร์ก
10 ดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ห้องสมุด Oodi เมืองเฮลซิงกิ (Helsinki) ประเทศฟินแลนด์
11 วัฒนชัย วินิจจะกูล. (2021, December 24). เปลี่ยนโลกการเรียนรู้ของไทยให้ทันโลก. The Kommon.

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

สรวิศ มา

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

เติมทุน-หนุนการมีส่วนร่วม: เปลี่ยนฝันของเยาวชนไปสู่พลังการเปลี่ยนแปลง

เติมทุน-หนุนการมีส่วนร่วม: เปลี่ยนฝันของเยาวชนไปสู่พลังการเปลี่ยนแปลง

คิด for คิดส์ ชวน โชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง, อดิศร จันทรสุข, และ ณัฐภัทร เนียวกุล แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับอุปสรรคที่เยาวชนพบเจอในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคม ตลอดจนเสนอแนวทางลดอุปสรรค-พัฒนากลไกสนับสนุนพวกเขา

‘ธนาคารหน่วยกิต’ ทางเลือกการศึกษายืดหยุ่นที่ต้องทำอย่างรอบคอบ

‘ธนาคารหน่วยกิต’ ทางเลือกการศึกษายืดหยุ่นที่ผลักดันโดยรัฐบาลคืออะไร? ปัจจุบันทำถึงไหนแล้ว? และมีอะไรที่ต้องระวัง?

ปรับนโยบายให้ 'เห็นหัว' เด็กและเยาวชนด้วย CYIA (Child and Youth Impact Assessment)

ปรับนโยบายให้ ‘เห็นหัว’ เด็กและเยาวชนด้วย CYIA (Child and Youth Impact Assessment)

คิด for คิดส์ ชวนทำความรู้จักแนวคิด CYIA (Child and Youth Impact Assessment) ซึ่งหลายประเทศใช้เป็นเครื่องมือปรับปรุงนโยบายให้ ‘เห็นหัว’ เด็กและเยาวชนยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสำรวจแนวทางการนำ CYIA มาใช้ประเมินนโยบายในรูปแบบ ‘ร่างกฎหมาย’ ในไทย

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2025 kidforkids.org | All rights reserved.