อ่านปัญหาในชีวิตและแรงสนับสนุนสิทธิ LGBTQ+ จากผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์

ประเด็นสำคัญ

  • จากผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ เยาวชนไทยอายุ 15-25 ปี 12.7% นิยามเพศสภาพตนเองเป็น LGBTQ+
     
  • เยาวชน LGBTQ+ มีแนวโน้มเครียดมากกว่า เหงาและโดดเดี่ยวมากกว่า และรู้สึกเชื่อมั่นในตัวเองน้อยกว่าเยาวชนชายหญิง อีกทั้งยังมีประสบการณ์ถูกคุกคามทางร่างกายและจิตใจมากกว่า
     
  • เยาวชน LGBTQ+ มักมีความคิดขัดแย้งกับผู้ใหญ่ในครอบครัวมากกว่า และสนิทกับครอบครัวน้อยกว่าเยาวชนชายหญิง
     
  • ปัญหาเหล่านี้สะท้อนว่าเยาวชน LGBTQ+ ยังไม่ได้รับการยอมรับและปฏิบัติในฐานะที่เป็นคนเท่ากัน แต่ก็มีแนวโน้มที่จะรุนแรงลดลงในอนาคต เพราะคนรุ่นใหม่ทุกเพศสภาพให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางเพศ และส่วนใหญ่สนับสนุนข้อเสนอนโยบายที่มุ่งเสริมสร้างความเสมอภาคดังกล่าว เช่น สิทธิสมรสเท่าเทียม

ในเดือนไพรด์ (Pride Month) หรือเดือนแห่งความภูมิใจของคนกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) นี้ คิด for คิดส์ – ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว โดย 101 PUB และ สสส. ชวนผู้อ่านทำความเข้าใจความเจ็บปวดที่เยาวชนชาว LGBTQ+ ของไทยต้องเผชิญ พร้อมทั้งสำรวจแรงสนับสนุนของเยาวชนต่อข้อเสนอนโยบายที่มุ่งเสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างคนทุกเพศสภาพในสังคม ผ่านผลสำรวจเยาวชนไทย – คิด for คิดส์ Youth Survey 2022

การสำรวจเยาวชนไทยของ คิด for คิดส์ เป็นการสำรวจความรับรู้ คุณค่า และทัศนคติของเยาวชนอายุ 15-25 ปี ใน 5 มิติ ได้แก่ ความเป็นอยู่พื้นฐาน ความสัมพันธ์กับคนรอบตัว การศึกษาและการทำงาน ความสัมพันธ์กับสังคมวงกว้าง และคุณค่าและทัศนคติ เพื่อมุ่ง ‘เข้าใจ’ เยาวชน รวมถึงเป็นข้อมูลสำหรับการศึกษาวิจัยและพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้อง[1]คิด for คิดส์ จะเผยแพร่รายงานสถิติ … Continue reading ในการสำรวจรอบแรกในปีนี้ (2022) มีเยาวชนทั่วประเทศตอบแบบสำรวจกว่า 25,300 คน โดยจากผลเบื้องต้นของกลุ่มตัวอย่าง 17,442 คน 12.7% นิยามเพศสภาพตนเองเป็น LGBTQ+

เพราะเป็นเยาวชน LGBTQ+ จึงเจ็บปวด

ผลสำรวจเบื้องต้นฉายภาพให้เห็น ‘ความเจ็บปวด’ หรือปัญหาอย่างน้อย 3 ด้านที่เยาวชน LGBTQ+ พบเจอมากกว่าชายหญิง

1. อารมณ์และสุขภาพจิต: เยาวชน LGBTQ+ มีแนวโน้มที่จะเครียดกว่า โดดเดี่ยวกว่า รวมถึงรู้สึกมีคุณค่าและเชื่อมั่นในตัวเองน้อยกว่า

  • LGBTQ+ 44.2% รายงานว่าตนเครียดบ่อยมากถึงมากที่สุด เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าชายหญิง (27.9%) ถึง 16.3% หรือกว่าครึ่งเท่าตัว
  • LGBTQ+ 30.0% รายงานว่ารู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากถึงมากที่สุด เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าชายหญิง (19.9%) 10.1%
  • LGBTQ+ 10.7% รายงานว่ารู้สึกมีคุณค่าและเชื่อมั่นในตัวเองน้อยถึงน้อยที่สุด เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าชายหญิง (7.3%) 3.4%

2. การถูกคุกคาม: หนึ่งในสาเหตุของความเจ็บปวดดังกล่าวอาจเป็นเพราะเยาวชน LGBTQ+ มีประสบการณ์ในการถูกคุกคามทางร่างกายและจิตใจมากกว่า

  • LGBTQ+ 42.5% รายงานว่าเคยถูกด่าทอและระราน (bully) เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าชายหญิง (24.8%) ถึง 17.7%
  • LGBTQ+ 20.8% รายงานว่าเคยถูกทำร้ายหรือลงโทษให้ร่างกายเจ็บปวด เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าชายหญิง (11.9%) 8.9% หรือเกือบหนึ่งเท่าตัว
  • LGBTQ+ 6.3% รายงานว่าเคยถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าชายหญิง (3.0%) ราว 3.3% หรือมากกว่าหนึ่งเท่าตัว

3. ความขัดแย้งกับครอบครัว: นอกจากถูกคุกคามแล้ว เยาวชน LGBTQ+ ยังมักขัดแย้งกับครอบครัวของตนมากกว่า

  • LGBTQ+ 15.0% รายงานว่ามีความคิดเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันขัดแย้งกับผู้ใหญ่ในครอบครัวมากถึงมากที่สุด เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าชายหญิง (9.8%) 5.2%
  • LGBTQ+ 16.4% รายงานว่ามีความคิดขัดแย้งในประเด็นสังคมและการเมืองมากถึงมากที่สุด เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าชายหญิง (8.3%) ถึง 8.1% หรือเกือบหนึ่งเท่าตัว
  • LGBTQ+ 5.0% รายงานว่ารู้สึกสนิทกับครอบครัวของตนเองน้อยถึงน้อยที่สุด เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าชายหญิง (2.3%) ถึง 2.7% หรือเกือบ 1.2 เท่าตัว

เยาวชนสนับสนุนสิทธิของ LGBTQ+ อย่างท่วมท้น

ความเจ็บปวดข้างต้นสะท้อนว่าเยาวชน LGBTQ+ ยังไม่ได้รับการยอมรับและปฏิบัติในฐานะที่เป็นคนเท่ากัน อย่างไรก็ดี น่ายินดีว่าในปัจจุบัน เยาวชนไทยทุกเพศสภาพจำนวนมากถึง 80.0% เห็นตรงกันว่า ความเสมอภาคระหว่างทุกเพศสภาพ – ไม่ใช่แค่เพียงระหว่างชายหญิง – เป็นเรื่องสำคัญค่อนข้างมากถึงมากที่สุด หากดูคำตอบเฉพาะในกลุ่มเยาวชนชายหญิงสัดส่วนดังกล่าวก็ยังสูงถึง 78.4%

ยิ่งไปกว่านั้น เยาวชนไทยทุกเพศสภาพส่วนมากยังสนับสนุนข้อเสนอนโยบายที่มุ่งเสริมสร้างความเสมอภาคนี้ในระดับค่อนข้างมากถึงมากที่สุด โดย 80.3% สนับสนุนสิทธิของ LGBTQ+ ในการรับบุตรบุญธรรม; 75.0% สนับสนุนสิทธิการจดทะเบียนสมรสแบบเดียวกับคู่ชายหญิง (สมรสเท่าเทียม); 70.3% สนับสนุนสิทธิการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อและเพศในเอกสาร; และ 63.5% สนับสนุนสิทธิการแต่งกายตามเพศสภาพในพิธีการสำคัญ มีเพียงข้อเสนอเรื่องสิทธิการเลือกเข้าห้องน้ำเพศที่อยากเข้าเท่านั้นที่ยังมีผู้สนับสนุนไม่ถึงครึ่งที่ 36.9%

ความเสมอภาคทางเพศสภาพถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไม่ควรมีมนุษย์คนใดไม่ได้รับการยอมรับหรือถูกเลือกปฏิบัติเพียงเพราะเขานิยามตนเองว่ามีเพศสภาพหนึ่ง อย่างไรก็ดี LGBTQ+ ในสังคมไทยยังคงถูกปฏิบัติเสมือนเป็น ‘พลเมืองชั้นสอง’ ส่งผลให้เยาวชน LGBTQ+ ต้องเผชิญความเจ็บปวดในหลายมิติมากกว่าเยาวชนชายหญิง

การเห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา นับเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญของประเทศไทยในการมุ่งไปสู่สังคมที่คนทุกเพศสภาพเท่ากัน แต่หนทางสร้างสังคมเช่นนั้นยังคงอีกยาวไกล รัฐบาลและสังคมไทยควรต้องร่วมกันตระหนักถึงปัญหา และรับฟังเสียงของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนการสร้างสังคมดังกล่าวอย่างท่วมท้น แล้วเร่งผลักดันนโยบายเพื่อให้เยาวชน LQBTQ+ ได้มีคุณภาพชีวิต สิทธิ และศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์และประชาชนที่เท่าเทียมสมบูรณ์

References

References
1 คิด for คิดส์ จะเผยแพร่รายงานสถิติ พร้อมชุดข้อมูลฉบับสมบูรณ์ที่ปิดบังข้อมูลส่วนบุคคลให้ใช้ประโยชน์ในงานศึกษาวิจัยและงานนโยบายสาธารณะเร็วๆ นี้

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

วรดร เลิศรัตน์

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ให้เด็กได้เบ่งบานนอกสถานรองรับ: แนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่การเลี้ยงดูแบบครอบครัว

คิด for คิดส์ ชวนอ่านปัญหาการพัฒนาครอบครัวอุปถัมภ์ไทยที่ส่งผลให้เด็กไทยจำนวนมากไม่ได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวอย่างที่ควรจะเป็น

‘เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม’: ความเชื่อแบบไทยๆ อุปสรรคใหญ่ของนโยบายครอบครัวอุปถัมภ์

นโยบายการเพิ่มครอบครัวอุปถัมภ์เผชิญกับความเชื่อแบบไทยๆซึ่งเป็นกำแพงใหญ่ที่รัฐต้องก้าวข้าม หากจะผลักดันให้ดี ไม่ใช่แค่ปรับปรุงนโยบายแต่ต้องลงลึกถึงมายาคติที่มีมาแต่เดิม

การหา ‘งานที่ดี’ อาจเป็นเพียงความฝันของเยาวชนไทยส่วนใหญ่

คิด for คิดส์ ชวนสำรวจความฝันด้านอาชีพการงานของเยาวชนไทย พร้อมทั้งชวนมองดูโลกความจริงที่ทำให้ ‘งานที่ดี’ อาจเป็นเพียงความฝันของเด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2024 kidforkids.org | All rights reserved.