ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 เหลือ 15 ปี?: ขยายสิทธิให้เสียงเยาวชนมีความหมาย

ประเด็นสำคัญ

  • การชุมนุมประท้วงของเยาวชนที่ทรงพลังต่อเนื่องตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าเยาวชนขาดช่องทางการมีส่วนร่วมที่เป็นทางการและมีความหมาย
  • การลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 ปี เหลือ 15 ปี จะทำให้เยาวชนช่วงอายุดังกล่าวเป็นฐานเสียงเลือกตั้ง ฝ่ายการเมืองผู้กำหนดนโยบายจะรับฟังและตอบสนองปัญหาและความต้องการของพวกเขายิ่งขึ้น ถือเป็นวิธีขยายช่องทางการมีส่วนร่วมที่พื้นฐานและตรงไปตรงมาที่สุด
  • เยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไปควรมีสิทธิเลือกตั้ง เพราะถูกศาลสั่งลงโทษอาญาและรับจ้างงานได้แล้ว จึงควรมีสิทธิร่วมกำหนดกฎหมาย การเก็บภาษี และการใช้งบประมาณ
  • การลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งถือเป็น ‘เทรนด์’ แห่งศตวรรษที่ 21 หลายประเทศดำเนินการแล้วในการเลือกตั้งทุกระดับ เช่น ออสเตรีย อีกหลายประเทศดำเนินการเฉพาะในระดับท้องถิ่น เช่น เอสโตเนีย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เยาวชนไทยจำนวนมหาศาลได้แสดงออกและเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างกระตือรือร้นและทรงพลัง ส่งเสียงดังกึกก้องที่สุดเท่าที่เคยปรากฏในรอบหลายทศวรรษ แม้สังคมไทยจะ ‘ได้ยิน’ เสียงของเยาวชนแจ่มชัด แต่เสียงนั้นกลับไม่เคยถูก ‘รับฟังและตอบสนอง’ จากผู้กำหนดนโยบายรัฐเท่าที่ควร – เรียกได้ว่าเป็นเสียงที่ ‘ได้ยินแต่ไม่ถูกรับฟัง ดังแต่ไร้ความหมาย’

หากเป็นแบบนี้ต่อไป ปัญหาที่เยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติเผชิญจะไม่มีวันถูกแก้ไขได้อย่างเหมาะสม ความไม่พอใจ ความขัดแย้งแบ่งขั้ว และความไม่ลงรอยระหว่างคนต่างรุ่นในสังคมจะทวีความรุนแรงขึ้น ขณะที่ระบอบการเมืองก็จะขาดเสถียรภาพและความชอบธรรม ยากนักที่ประเทศไทยจะมีอนาคตอันสดใสงดงาม

ถ้าสังคมไทยยังอยากก้าวไปข้างหน้า คงถึงเวลาที่เราต้องร่วมกันสร้างระบอบการเมืองซึ่งรับฟังเสียงของเยาวชนอย่างจริงจังตามสิทธิที่พวกเขาพึงมี หนึ่งในเครื่องมือในการสร้างระบอบเช่นนั้นคือการ ‘ลดอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง’ ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีมีโอกาสส่งเสียงผ่านการเลือกตั้งอย่าง ‘เสมอภาค’ กับคนกลุ่มอื่นในสังคม

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดย 101 PUB และ สสส. ชวนผู้อ่านสำรวจปัญหาของระบอบการเมืองไทยที่ทำให้เสียงเยาวชนไร้ความหมาย พร้อมทั้งทำความเข้าใจและขบคิดถึงความจำเป็นความเหมาะสมในการลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศไทยจาก 18 ปีในปัจจุบันเหลือ 15 ปี

การชุมนุมประท้วงสะท้อนว่า
เยาวชนขาดช่องทางการส่งเสียงที่มีความหมาย

เยาวชนขาดช่องทางการมีส่วนร่วมที่มีความหมาย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เยาวชนไทยมักต้องส่งเสียงหรือมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการชุมนุมประท้วงและการเรียกร้องบนโลกออนไลน์ โดยในปี 2020 เกิดการชุมนุมประท้วงที่จัดขึ้นโดยเยาวชนอย่างน้อย 193 เหตุการณ์[1]ข้อมูลจาก ELECT (2021) แม้จะยังไม่พบตัวเลขดังกล่าวของปี 2021 แต่การชุมนุมประท้วงจำนวนมากจากที่เกิดขึ้นทั้งหมดกว่า 1,516 ครั้ง[2]ข้อมูลจาก Mob Data Thailand (2022) ก็มีเยาวชนเป็นผู้จัดหรือมีส่วนร่วม

จริงอยู่ว่าการส่งเสียงผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาที่ขาดไปไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตย แต่วิธีเช่นนี้มักกดดันให้รัฐบาลรับฟังและเปลี่ยนแปลงนโยบายได้จำกัด[3]ดูเพิ่ม: Zeynep Tufekci, “Do Protests Even Work?: It sometimes takes decades to find out,” The Atlantic, June 24, 2020, … Continue reading หากเสียงของเยาวชนไม่ถูกรับฟังเป็นเวลานาน ปัญหาและความต้องการของพวกเขาก็จะไม่ได้รับการตอบสนอง ส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถพัฒนาตัวเองและเติมเต็มความฝันของตนได้อย่างเต็มที่

ยิ่งไปกว่านั้น ยังจะส่งผลกระตุ้นความไม่พอใจ ขัดแย้งแบ่งขั้ว และไม่ลงรอยระหว่างคนต่างรุ่นในสังคมให้ฝังรากลึก โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลพยายามดำเนินคดีและใช้ความรุนแรงเพื่อกดปราบการส่งเสียงของเยาวชน อย่าลืมว่าตั้งแต่ปี 2020 ถึงปัจจุบัน รัฐบาลดำเนินคดีการเมืองกับเยาวชนไปแล้วไม่น้อยกว่า 280 คน[4]ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (2022) ในปี 2021 เพียงปีเดียว รัฐบาลยังใช้กำลังสลายการชุมนุมมากถึง 60 ครั้ง เป็นเหตุให้มีเยาวชนเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอย่างน้อย 88 คน[5]ข้อมูลจาก Mob Data Thailand (2022)

นี่เป็นปัญหาที่สังคมไทยต้องแก้ไข… การแก้ไขนี้ไม่ใช่แค่กดดันให้รัฐบาลหยุดกดปราบเยาวชนเท่านั้น แต่อาจเริ่มจากการตั้งหลักเข้าใจว่า การชุมนุมของเยาวชนมีสาเหตุพื้นฐานมาจากระบอบการเมืองขาดช่องทางให้พวกเขาส่งเสียงหรือมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายอย่างเป็นทางการและมีความหมาย เพราะเมื่อรัฐบาลไม่ได้ฟังเสียง จึงกำหนดนโยบายไม่ตอบสนองปัญหาของเยาวชน และเมื่อระบอบไม่มีช่องทางให้สะท้อนปัญหาเหล่านั้น ก็เท่ากับผลักให้เยาวชนต้องลงถนนหรือก่นด่าอยู่บนโลกโซเชียล

เมื่อตั้งหลักได้ดังนี้แล้ว คงต้องมาขบคิดร่วมกันต่อไปว่าเราจะสร้างระบอบการเมืองให้รับฟังเสียงของเยาวชนมากขึ้นได้อย่างไร?

ระบอบการเมือง ‘ของคนแก่ โดยคนแก่ เพื่อคนแก่’
ยากจะเหลียวแลเยาวชน

ระบอบการเมือง 'ของคนแก่ โดยคนแก่ เพื่อคนแก่' ยากจะเหลียวแลเยาวชน

ระบอบการเมืองไทยขาดช่องทางให้เยาวชนส่งเสียงอย่างมีความหมาย เพราะโดยพื้นฐานแล้วเป็นระบอบการเมือง ‘ของคนแก่ โดยคนแก่ เพื่อคนแก่’

ภายใต้ระบอบนี้ เยาวชนแทบไม่มีผู้แทนจากรุ่นตนเองเป็นผู้กำหนดนโยบาย จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2021 แม้ประเทศไทยมีประชากรอายุไม่เกิน 30 ปีสูงถึง 24.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 38% ของจำนวนประชากรทั้งหมด[6]ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021) แต่สภาผู้แทนราษฎรไทยชุดปัจจุบันกลับมีสมาชิก (ส.ส.) ที่อายุไม่เกิน 30 ปีเพียง 12 คนจากทั้งหมด 500 คน หรือคิดเป็นแค่ 2% เท่านั้น[7]ข้อมูลหลังประกาศรับรองผลเลือกตั้งในปี 2019 จาก Inter-Parliamentary Union [IPU] Parline: Global Data on National … Continue reading ขณะที่คณะรัฐมนตรีก็ไม่มีรัฐมนตรีแม้แต่คนเดียวที่มีอายุในช่วงข้างต้น[8]ข้อมูลรวบรวมโดย คิด for คิดส์

ซ้ำร้าย เยาวชนยังมีอิทธิพลต่อผู้กำหนดนโยบายต่างวัยเหล่านั้นได้น้อย โดยเฉพาะเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง อย่าลืมว่า ‘คะแนนเสียง’ แทบจะเป็นทรัพยากรทางการเมืองเพียงอย่างเดียวที่เยาวชนสามารถมีเท่าเทียมกับคนแก่ได้ (ทรัพยากรอื่น เช่น เงิน อำนาจหน้าที่การงาน และเครือข่ายอุปถัมภ์) เมื่อปราศจากสิทธินี้ เยาวชนก็ไร้ซึ่งทรัพยากรที่ฝ่ายการเมืองผู้กำหนดนโยบายต้องการ จึงมีโอกาสสูงที่เสียงของเยาวชนจะไร้ค่าสำหรับพวกเขา

ลองสังเกตว่าประเด็นนโยบายที่เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเป็นผู้เรียกร้องเป็นหลัก เช่น ชีวิตในโรงเรียน การสอบเข้ามหาวิทยาลัย การขาดแหล่งเล่น-แหล่งเรียนรู้ และความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน แทบไม่เคยถูกรัฐบาลใดหยิบยกขึ้นมาพูดคุยและพัฒนานโยบายตอบสนองอย่างจริงจัง เพราะพวกเขาไม่ใช่ฐานเสียงในการเลือกตั้ง

หากไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย เยาวชนกลุ่มนี้ก็จะยิ่งไม่ถูกเหลียวแลมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยจะส่งผลให้ฐานเสียงผู้สูงวัยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เสียงของเยาวชนที่ไม่ใช่ฐานเสียงอยู่แล้วก็จะยิ่งถูกรับฟังจากระบอบการเมืองน้อยลงเรื่อยๆ

หนึ่งในวิธีพื้นฐานและตรงไปตรงมาที่สุดในการเปิดช่องทางให้เยาวชนส่งเสียงได้อย่างมีความหมายจึงควรเริ่มจากจุดนี้ คือให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีมีสิทธิเลือกตั้งได้ โดย คิด for คิดส์ เสนอให้ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหลือ ‘15 ปี’ ครอบคลุมสิทธิการเลือกตั้ง ส.ส. สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น ตลอดจนสิทธิการออกเสียงประชามติ การเข้าชื่อต่อรัฐสภาและสภาท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางตรงอื่นๆ

เปลี่ยนระบอบการเมืองของคนแก่ให้กลายเป็นระบอบการเมืองของทุกคน เปลี่ยนเสียงเยาวชนให้ ‘ได้ยินแล้วถูกรับฟัง ดังแล้วมีความหมาย’ ต่อนโยบายสาธารณะ

ทำไมควรลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหลือ 15 ปี?

ทำไมควรลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหลือ 15 ปี?

เยาวชนอายุ 15-17 ปีควรมีสิทธิเลือกตั้งเพื่อให้เสียงของพวกเขาในฐานะพลเมืองถูกรับฟังอย่าง ‘เสมอภาค’ กับพลเมืองกลุ่มอื่นมากขึ้น การลดอายุเพื่อขยายสิทธินี้นับว่าได้สัดส่วนกับหน้าที่และความรับผิดชอบตามช่วงวัยด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ข้อ

1. เยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไปถูกศาลสั่งลงโทษอาญา (ริบทรัพย์ ปรับ กักขัง จำคุก) ได้แล้ว[9]ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73-76 จึงควรต้องมีสิทธิร่วมกำหนดกฎหมาย ซึ่งอาจถูกนำมาใช้ตัดสินความผิดและลงโทษตนเอง ผ่านการเลือกตั้งผู้แทนเข้าไปพิจารณาร่างกฎหมายและการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย

2. เยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไปรับจ้างงานได้แล้ว[10]พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (1998) มาตรา 44 และมีโอกาสเสียภาษีมากขึ้น จึงควรต้องมีสิทธิร่วมกำหนดการจัดเก็บภาษีและการใช้งบประมาณ ซึ่งตนอาจต้องร่วมจ่ายด้วยรายได้จากน้ำพักน้ำแรง ผ่านการเลือกตั้งผู้แทนเข้าไปพิจารณาร่างกฎหมายภาษีและงบประมาณ รวมถึงเลือกและควบคุมฝ่ายบริหารที่กำหนดนโยบายใช้จ่ายต่างๆ

3. เยาวชนยิ่งอายุน้อย ยิ่งต้องรับผิดชอบผลกระทบจากการตัดสินใจประเด็นนโยบายระยะยาว เช่น นโยบายสิ่งแวดล้อม ผังเมือง และการศึกษา นานกว่าและมากกว่า จึงควรต้องมีสิทธิร่วมตัดสินใจ เพื่อให้พวกเขาได้กำหนดอนาคตของตนเอง ลดการตัดสินใจแทนกันข้ามรุ่น

นอกจากนี้ การลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหลือ 15 ปียังจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งเยาวชนเองและสังคมวงกว้างใน 2 มิติสำคัญ

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การลดอายุจะส่งผลให้ฝ่ายการเมืองรับฟังเยาวชนอายุ 15-17 ปีเพิ่มขึ้น เพราะถือครองคะแนนเสียงที่ฝ่ายการเมืองมุ่งหวัง ทำให้เกิดนโยบายที่ตอบสนองปัญหาและความต้องการของเยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติมากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลสืบเนื่องช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคตตามไปด้วย

ในอีกมิติหนึ่ง การลดอายุจะเสริมสร้างการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะยิ่งเยาวชนได้เลือกตั้งเร็ว ก็จะยิ่งได้ปลูกฝังทักษะและจิตสำนึกพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้น โดยผลการศึกษาในประเทศที่ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้วพบว่า ประชากรกลุ่มที่ได้สิทธิเลือกตั้งมาตั้งแต่ก่อนอายุ 18 ปีมีแนวโน้มจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นประจำ รวมถึงเชื่อมั่นและสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยในระยะยาวมากกว่ากลุ่มได้มีสิทธิหลังอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว[11]Jan Eichhorn and Johannes Bergh, “Lowering the Voting Age to 16 in Practice: Processes and Outcomes Compared,” Parliamentary Affairs 74, July 2021, 513-515.

ตอบสารพัดเหตุผล… อายุ 15-17 ปี ไม่พร้อมเลือกตั้ง?

ตอบสารพัดเหตุผล... อายุ 15-17 ปี ไม่พร้อมเลือกตั้ง?

แม้เยาวชนอายุ 15-17 ปี จะควรมีสิทธิเลือกตั้งด้วยเหตุผลข้างต้น แต่ความพยายามลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหลายประเทศมักถูกโต้แย้งว่าเยาวชนช่วงอายุนั้นยังไม่มี ‘คุณสมบัติ’ เพียงพอจะใช้สิทธิ หรือเป็นผู้เลือกตั้งที่มีคุณภาพต่ำกว่าประชากรกลุ่มอื่นที่อายุสูงกว่า เพราะไม่สนใจติดตามการเมือง ขาดความสามารถและความรู้ที่จำเป็น และมักถูกครอบงำได้ง่าย

คำถามคือเยาวชนอายุ 15-17 ปีขาดคุณสมบัติจริงหรือไม่?

ไม่สนใจการเมืองจริงหรือไม่?: การชุมนุมประท้วงและการเรียกร้องบนโลกออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนถึงความสนใจติดตามการเมืองของเยาวชนได้เป็นอย่างดี ผลเบื้องต้นของการสำรวจเยาวชนกว่า 25,000 คนทั่วประเทศเมื่อเดือนที่ผ่านมาโดย คิด for คิดส์ ก็พบว่าเยาวชนอายุ 15-17 ปีมากถึง 64% สนใจติดตามการเมืองค่อนข้างมากถึงมากที่สุด เป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าเยาวชนอายุ 18 ปีเพียงประมาณ 10%[12]ข้อมูลจาก Youth Survey โดย คิด for คิดส์ (2022)

ไม่มีความสามารถและความรู้จริงหรือไม่?: งานวิจัยด้านพัฒนาการทางสมองในวัยรุ่นพบว่ามนุษย์อายุราว 16 ปีมีพัฒนาการในด้านการตัดสินใจที่ไม่ต้องใช้ความเร่งรีบ (cold-cognition) อย่างการเลือกตั้งสมบูรณ์เต็มที่ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ [13]Laurence Steinberg, “Let science decide the voting age,” NewScientist, October 8, 2014, https://www.newscientist.com/article/mg22429900-200-let-science-decide-the-voting-age/ (accessed June 8, … Continue reading

ในกรณีของประเทศไทย เยาวชนอายุ 15 ปียังเป็นวัยที่จบหรือกำลังจะจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ซึ่งหลักสูตรควรให้ความรู้และฝึกทักษะพลเมืองที่จำเป็นแล้ว[14]ข้อมูลจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (2008) จากการสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ เยาวชนอายุ 15-17 ปีถึง 73% ก็ประเมินตนเองว่าเข้าใจประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพและระบอบการเมืองค่อนข้างมากถึงมากที่สุด เป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าเยาวชนอายุ 18 ปีเพียง 5%[15]ข้อมูลจาก Youth Survey โดย คิด for คิดส์ (2022)

ถูกครอบงำได้ง่ายจริงหรือไม่?: แม้งานวิจัยด้านพัฒนาการทางสมองชี้ว่าคนที่อายุน้อยมีแนวโน้มจะถูกกดดันและตกอยู่ใต้อิทธิพลของคนรอบข้างได้ง่ายกว่า[16]Laurence Steinberg, “Cognitive and affective development in adolescence,” Trends in Cognitive Sciences 9 (2), February 2005, 71. แต่ในมิติการถูกครอบงำจากสื่อและข้อมูล มหาวิทยาลัยมหิดล (2021) ศึกษาพบว่าเยาวชนไทยอายุ 11-20 ปีสามารถรู้เท่าทันและประเมินความน่าเชื่อถือของสื่อและข้อมูลได้ดีกว่าประชากรอายุ 31 ปีขึ้นไปทุกกลุ่ม[17]ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยมหิดล (2021)

จะเห็นได้ว่าเยาวชนอายุ 15-17 ปีสนใจและมีความรู้ต่ำกว่า และอาจถูกครอบงำได้ง่ายกว่าเยาวชนอายุ 18 ปีที่มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในปัจจุบันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งมิได้มีนัยสำคัญนัก

อยากชวนมองมุมกลับปรับมุมมองด้วยว่า การที่เยาวชนอายุ 15-17 ปีสนใจและมีความรู้น้อยกว่า ก็เพราะพวกเขายังไม่มีสิทธิเลือกตั้งและมีส่วนร่วมทางการเมืองนั่นเอง หากพวกเขาได้มีสิทธิ ก็จะสนใจติดตามการเมืองมากขึ้น แสวงหาความรู้เพิ่มขึ้น แล้วถูกครอบงำยากขึ้นในที่สุด … ฉะนั้น อย่าคิดว่าต้องรอจนพวกเขามีคุณสมบัติพร้อมแล้วค่อยให้สิทธิ แต่ควรเริ่มให้สิทธิเพื่อพัฒนาให้พวกเขาพร้อมยิ่งขึ้น

และที่จริง โดยหลักพื้นฐานของการเลือกตั้งแล้ว เราก็ไม่สามารถชี้ว่าใครเป็นผู้เลือกตั้งไร้คุณภาพได้ เสียงเลือกตั้งของทุกคนที่ ‘พึงมีสิทธิ’ ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ลองนึกดูว่าคำกล่าวว่า “เสียงของคนที่พึงมีสิทธิที่อายุ 17 ปีมีคุณภาพน้อยกว่าคนที่อายุ 70 ปี” จะต่างอะไรกับคำกล่าวว่าเสียงของคนจบ ม.3 มีคุณภาพน้อยกว่าคนจบปริญญาโท หรือเสียงของคนจนมีคุณภาพน้อยกว่าคนรวย

หลายประเทศลดแล้วและกำลังผลักดันในอีกหลายประเทศ

หลายประเทศลดอายุแล้ว และอีกหลายประเทศกำลังพิจารณา

การลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ต่ำกว่า 18 ปีนี้ถือเป็น ‘เทรนด์’ แห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อสร้างอนาคต – ทั้งอนาคตของเยาวชน อนาคตของประชาธิปไตย และอนาคตของสังคม ประเทศส่วนใหญ่ที่ดำเนินการแล้วเป็นประเทศในแถบลาตินอเมริกาและยุโรป โดยลดอายุลงไปที่ 16 ปี และอาจแบ่งรูปแบบการลดอายุได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

1. ให้เยาวชนอายุ 16 ปีขึ้นไปเลือกตั้งได้ทุกระดับ ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับเหนือชาติ (สหภาพยุโรป) เช่น ออสเตรีย บราซิล อาร์เจนตินา คิวบา เอกวาดอร์ มอลตา และนิการากัว

2. ให้เยาวชนอายุ 16 ปีขึ้นไปเลือกตั้งได้เฉพาะในระดับท้องถิ่นเท่านั้น เช่น เยอรมนี (บางรัฐ) สวิสเซอร์แลนด์ (บางรัฐ) เอสโตเนีย สกอตแลนด์ และเวลส์[18]เยาวชนอายุ 16 ปีขึ้นไปสามารถเลือกตั้งสมาชิกสภาสกอตแลนด์และเวลส์ได้ … Continue reading

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ปี 2022 ที่ผ่านมานี้ เบลเยียมก็เพิ่งเห็นชอบให้ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งรัฐสภายุโรป (European Parliament) เหลือ 16 ปี[19]AFP, “Belgium lowers voting age to 16 for European Parliament elections,” Euronews, May 20, 2022, … Continue reading

ขณะเดียวกัน ข้อเสนอนี้ก็กำลังถูกผลักดันจากองค์กรเยาวชน NGO ที่สนับสนุนเยาวชน ตลอดจนพรรคการเมืองสายกลาง กลาง-ซ้าย และกรีน (Green politics) ในอีกหลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศในภูมิภาคยุโรป โดยในปี 2011 สมัชชารัฐสภาแห่งสภายุโรป (Parliamentary Assembly of the Council of Europe) มีมติสนับสนุนให้รัฐสมาชิกทั้ง 47 ประเทศสำรวจความเป็นไปได้ในการลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกระดับเหลือ 16 ปี[20]Parliamentary Assembly of the Council of Europe Resolution 1826, adopted by the Assembly (26th Sitting) on June 23, 2011, Paragraph 7.2

ขยายสิทธิให้เยาวชน 2.4 ล้านคน
ได้ส่งเสียงอย่างมีความหมาย

หากเทียบจากตัวอย่างในต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าข้อเสนอให้ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศไทยจาก 18 เหลือ 15 ปีเป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้ากว่าข้อเสนอในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก แต่ข้อเสนอนี้นับว่าสมเหตุสมผลกับบริบทของสังคมไทย ตามเกณฑ์อายุรับโทษอาญาและอายุรับจ้างงาน ประกอบกับความจำเป็นในการแก้ปัญหาของเยาวชนช่วงวัยดังกล่าวและพัฒนาประชาธิปไตยให้เข็มแข็งอย่างเร่งด่วน

การลดอายุตามข้อเสนอนี้จะเพิ่มจำนวนเยาวชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 2.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 4.6% จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในปัจจุบัน ส่วนในกรณีที่ลดอายุเหลือ 16 ปี จะเพิ่มจำนวน 1.6 ล้านคนหรือ 3.1% และถ้าลดอายุลงปีเดียวเหลือ 17 ปี จะเพิ่มจำนวน 8.1 แสนคนหรือ 1.6%

แม้การเลือกตั้งอาจมิใช่ช่องทางเดียวหรือช่องทางที่ดีที่สุดในการส่งเสียงไปยังรัฐบาล แต่ก็นับว่าเป็นช่องทางพื้นฐานที่สุดภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน การลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อให้เยาวชนอายุ 15-17 ปี ได้ส่งเสียงผ่านคูหาเลือกตั้งจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำให้เสียงของเยาวชนถูกรับฟังและมีความหมายต่อนโยบายสาธารณะยิ่งขึ้น

References

References
1 ข้อมูลจาก ELECT (2021)
2 ข้อมูลจาก Mob Data Thailand (2022)
3 ดูเพิ่ม: Zeynep Tufekci, “Do Protests Even Work?: It sometimes takes decades to find out,” The Atlantic, June 24, 2020, https://www.theatlantic.com/technology/archive/2020/06/why-protests-work/613420/ (accessed June 8, 2022).
4 ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (2022)
5 ข้อมูลจาก Mob Data Thailand (2022)
6 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021)
7 ข้อมูลหลังประกาศรับรองผลเลือกตั้งในปี 2019 จาก Inter-Parliamentary Union [IPU] Parline: Global Data on National Parliaments
8 ข้อมูลรวบรวมโดย คิด for คิดส์
9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73-76
10 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (1998) มาตรา 44
11 Jan Eichhorn and Johannes Bergh, “Lowering the Voting Age to 16 in Practice: Processes and Outcomes Compared,” Parliamentary Affairs 74, July 2021, 513-515.
12, 15 ข้อมูลจาก Youth Survey โดย คิด for คิดส์ (2022)
13 Laurence Steinberg, “Let science decide the voting age,” NewScientist, October 8, 2014, https://www.newscientist.com/article/mg22429900-200-let-science-decide-the-voting-age/ (accessed June 8, 2022).
14 ข้อมูลจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (2008)
16 Laurence Steinberg, “Cognitive and affective development in adolescence,” Trends in Cognitive Sciences 9 (2), February 2005, 71.
17 ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยมหิดล (2021)
18 เยาวชนอายุ 16 ปีขึ้นไปสามารถเลือกตั้งสมาชิกสภาสกอตแลนด์และเวลส์ได้ แต่ยังเลือกตั้ง ส.ส. ของสหราชอาณาจักรไม่ได้
19 AFP, “Belgium lowers voting age to 16 for European Parliament elections,” Euronews, May 20, 2022, https://www.euronews.com/2022/05/20/belgium-lowers-voting-age-to-16-for-european-parliament-elections (accessed June 11, 2022).
20 Parliamentary Assembly of the Council of Europe Resolution 1826, adopted by the Assembly (26th Sitting) on June 23, 2011, Paragraph 7.2

วิจัย/เขียน

วรดร เลิศรัตน์

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ปรึกษาหัวใจกับใครก็เหมือนกัน? แนวทางกำกับมาตรฐานนักจิตวิทยาการปรึกษา-จิตบำบัดอย่างสมดุล

ปัญหาการอวดอ้างชื่อและล่วงละเมิดผู้รับบริการ เรียกร้องให้ต้องมีการกำกับนักจิตวิทยาการปรึกษา/จิตบำบัด แต่การสร้างมาตรฐานให้การดูแลหัวใจอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

ต้องพิการแค่ไหนรัฐไทยถึงมองเห็น

ในปัจจุบันยังมีผู้พิการจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการในระบบของภาครัฐ ขอเชิญชวนทุกท่านมาทำความเข้าใจสาเหตุที่ผู้พิการจำนวนมากตกหล่นไม่ได้รับสวัสดิการ และหาแนวทางที่จะทำให้ผู้พิการได้รับการช่วยเหลืออย่างที่สมควรได้รับ

ความเสี่ยงซึมเศร้า ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด?

ความเสี่ยงซึมเศร้า ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด?

ความเข้มแข็ง-อ่อนแอในจิตใจคนเราเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ เราฝึกฝนกำหนดใจเราเองได้แค่ไหน? นโยบายของรัฐควรมีบทบาทอย่างไรกับปัจจัยที่เกินการควบคุมของปัจเจกบุคคล?

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2024 kidforkids.org | All rights reserved.