ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 เหลือ 15 ปี?: ขยายสิทธิให้เสียงเยาวชนมีความหมาย

ประเด็นสำคัญ

  • การชุมนุมประท้วงของเยาวชนที่ทรงพลังต่อเนื่องตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าเยาวชนขาดช่องทางการมีส่วนร่วมที่เป็นทางการและมีความหมาย
  • การลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 ปี เหลือ 15 ปี จะทำให้เยาวชนช่วงอายุดังกล่าวเป็นฐานเสียงเลือกตั้ง ฝ่ายการเมืองผู้กำหนดนโยบายจะรับฟังและตอบสนองปัญหาและความต้องการของพวกเขายิ่งขึ้น ถือเป็นวิธีขยายช่องทางการมีส่วนร่วมที่พื้นฐานและตรงไปตรงมาที่สุด
  • เยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไปควรมีสิทธิเลือกตั้ง เพราะถูกศาลสั่งลงโทษอาญาและรับจ้างงานได้แล้ว จึงควรมีสิทธิร่วมกำหนดกฎหมาย การเก็บภาษี และการใช้งบประมาณ
  • การลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งถือเป็น ‘เทรนด์’ แห่งศตวรรษที่ 21 หลายประเทศดำเนินการแล้วในการเลือกตั้งทุกระดับ เช่น ออสเตรีย อีกหลายประเทศดำเนินการเฉพาะในระดับท้องถิ่น เช่น เอสโตเนีย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เยาวชนไทยจำนวนมหาศาลได้แสดงออกและเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างกระตือรือร้นและทรงพลัง ส่งเสียงดังกึกก้องที่สุดเท่าที่เคยปรากฏในรอบหลายทศวรรษ แม้สังคมไทยจะ ‘ได้ยิน’ เสียงของเยาวชนแจ่มชัด แต่เสียงนั้นกลับไม่เคยถูก ‘รับฟังและตอบสนอง’ จากผู้กำหนดนโยบายรัฐเท่าที่ควร – เรียกได้ว่าเป็นเสียงที่ ‘ได้ยินแต่ไม่ถูกรับฟัง ดังแต่ไร้ความหมาย’

หากเป็นแบบนี้ต่อไป ปัญหาที่เยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติเผชิญจะไม่มีวันถูกแก้ไขได้อย่างเหมาะสม ความไม่พอใจ ความขัดแย้งแบ่งขั้ว และความไม่ลงรอยระหว่างคนต่างรุ่นในสังคมจะทวีความรุนแรงขึ้น ขณะที่ระบอบการเมืองก็จะขาดเสถียรภาพและความชอบธรรม ยากนักที่ประเทศไทยจะมีอนาคตอันสดใสงดงาม

ถ้าสังคมไทยยังอยากก้าวไปข้างหน้า คงถึงเวลาที่เราต้องร่วมกันสร้างระบอบการเมืองซึ่งรับฟังเสียงของเยาวชนอย่างจริงจังตามสิทธิที่พวกเขาพึงมี หนึ่งในเครื่องมือในการสร้างระบอบเช่นนั้นคือการ ‘ลดอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง’ ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีมีโอกาสส่งเสียงผ่านการเลือกตั้งอย่าง ‘เสมอภาค’ กับคนกลุ่มอื่นในสังคม

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดย 101 PUB และ สสส. ชวนผู้อ่านสำรวจปัญหาของระบอบการเมืองไทยที่ทำให้เสียงเยาวชนไร้ความหมาย พร้อมทั้งทำความเข้าใจและขบคิดถึงความจำเป็นความเหมาะสมในการลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศไทยจาก 18 ปีในปัจจุบันเหลือ 15 ปี

การชุมนุมประท้วงสะท้อนว่า
เยาวชนขาดช่องทางการส่งเสียงที่มีความหมาย

เยาวชนขาดช่องทางการมีส่วนร่วมที่มีความหมาย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เยาวชนไทยมักต้องส่งเสียงหรือมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการชุมนุมประท้วงและการเรียกร้องบนโลกออนไลน์ โดยในปี 2020 เกิดการชุมนุมประท้วงที่จัดขึ้นโดยเยาวชนอย่างน้อย 193 เหตุการณ์[1]ข้อมูลจาก ELECT (2021) แม้จะยังไม่พบตัวเลขดังกล่าวของปี 2021 แต่การชุมนุมประท้วงจำนวนมากจากที่เกิดขึ้นทั้งหมดกว่า 1,516 ครั้ง[2]ข้อมูลจาก Mob Data Thailand (2022) ก็มีเยาวชนเป็นผู้จัดหรือมีส่วนร่วม

จริงอยู่ว่าการส่งเสียงผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาที่ขาดไปไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตย แต่วิธีเช่นนี้มักกดดันให้รัฐบาลรับฟังและเปลี่ยนแปลงนโยบายได้จำกัด[3]ดูเพิ่ม: Zeynep Tufekci, “Do Protests Even Work?: It sometimes takes decades to find out,” The Atlantic, June 24, 2020, … Continue reading หากเสียงของเยาวชนไม่ถูกรับฟังเป็นเวลานาน ปัญหาและความต้องการของพวกเขาก็จะไม่ได้รับการตอบสนอง ส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถพัฒนาตัวเองและเติมเต็มความฝันของตนได้อย่างเต็มที่

ยิ่งไปกว่านั้น ยังจะส่งผลกระตุ้นความไม่พอใจ ขัดแย้งแบ่งขั้ว และไม่ลงรอยระหว่างคนต่างรุ่นในสังคมให้ฝังรากลึก โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลพยายามดำเนินคดีและใช้ความรุนแรงเพื่อกดปราบการส่งเสียงของเยาวชน อย่าลืมว่าตั้งแต่ปี 2020 ถึงปัจจุบัน รัฐบาลดำเนินคดีการเมืองกับเยาวชนไปแล้วไม่น้อยกว่า 280 คน[4]ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (2022) ในปี 2021 เพียงปีเดียว รัฐบาลยังใช้กำลังสลายการชุมนุมมากถึง 60 ครั้ง เป็นเหตุให้มีเยาวชนเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอย่างน้อย 88 คน[5]ข้อมูลจาก Mob Data Thailand (2022)

นี่เป็นปัญหาที่สังคมไทยต้องแก้ไข… การแก้ไขนี้ไม่ใช่แค่กดดันให้รัฐบาลหยุดกดปราบเยาวชนเท่านั้น แต่อาจเริ่มจากการตั้งหลักเข้าใจว่า การชุมนุมของเยาวชนมีสาเหตุพื้นฐานมาจากระบอบการเมืองขาดช่องทางให้พวกเขาส่งเสียงหรือมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายอย่างเป็นทางการและมีความหมาย เพราะเมื่อรัฐบาลไม่ได้ฟังเสียง จึงกำหนดนโยบายไม่ตอบสนองปัญหาของเยาวชน และเมื่อระบอบไม่มีช่องทางให้สะท้อนปัญหาเหล่านั้น ก็เท่ากับผลักให้เยาวชนต้องลงถนนหรือก่นด่าอยู่บนโลกโซเชียล

เมื่อตั้งหลักได้ดังนี้แล้ว คงต้องมาขบคิดร่วมกันต่อไปว่าเราจะสร้างระบอบการเมืองให้รับฟังเสียงของเยาวชนมากขึ้นได้อย่างไร?

ระบอบการเมือง ‘ของคนแก่ โดยคนแก่ เพื่อคนแก่’
ยากจะเหลียวแลเยาวชน

ระบอบการเมือง 'ของคนแก่ โดยคนแก่ เพื่อคนแก่' ยากจะเหลียวแลเยาวชน

ระบอบการเมืองไทยขาดช่องทางให้เยาวชนส่งเสียงอย่างมีความหมาย เพราะโดยพื้นฐานแล้วเป็นระบอบการเมือง ‘ของคนแก่ โดยคนแก่ เพื่อคนแก่’

ภายใต้ระบอบนี้ เยาวชนแทบไม่มีผู้แทนจากรุ่นตนเองเป็นผู้กำหนดนโยบาย จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2021 แม้ประเทศไทยมีประชากรอายุไม่เกิน 30 ปีสูงถึง 24.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 38% ของจำนวนประชากรทั้งหมด[6]ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021) แต่สภาผู้แทนราษฎรไทยชุดปัจจุบันกลับมีสมาชิก (ส.ส.) ที่อายุไม่เกิน 30 ปีเพียง 12 คนจากทั้งหมด 500 คน หรือคิดเป็นแค่ 2% เท่านั้น[7]ข้อมูลหลังประกาศรับรองผลเลือกตั้งในปี 2019 จาก Inter-Parliamentary Union [IPU] Parline: Global Data on National … Continue reading ขณะที่คณะรัฐมนตรีก็ไม่มีรัฐมนตรีแม้แต่คนเดียวที่มีอายุในช่วงข้างต้น[8]ข้อมูลรวบรวมโดย คิด for คิดส์

ซ้ำร้าย เยาวชนยังมีอิทธิพลต่อผู้กำหนดนโยบายต่างวัยเหล่านั้นได้น้อย โดยเฉพาะเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง อย่าลืมว่า ‘คะแนนเสียง’ แทบจะเป็นทรัพยากรทางการเมืองเพียงอย่างเดียวที่เยาวชนสามารถมีเท่าเทียมกับคนแก่ได้ (ทรัพยากรอื่น เช่น เงิน อำนาจหน้าที่การงาน และเครือข่ายอุปถัมภ์) เมื่อปราศจากสิทธินี้ เยาวชนก็ไร้ซึ่งทรัพยากรที่ฝ่ายการเมืองผู้กำหนดนโยบายต้องการ จึงมีโอกาสสูงที่เสียงของเยาวชนจะไร้ค่าสำหรับพวกเขา

ลองสังเกตว่าประเด็นนโยบายที่เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเป็นผู้เรียกร้องเป็นหลัก เช่น ชีวิตในโรงเรียน การสอบเข้ามหาวิทยาลัย การขาดแหล่งเล่น-แหล่งเรียนรู้ และความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน แทบไม่เคยถูกรัฐบาลใดหยิบยกขึ้นมาพูดคุยและพัฒนานโยบายตอบสนองอย่างจริงจัง เพราะพวกเขาไม่ใช่ฐานเสียงในการเลือกตั้ง

หากไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย เยาวชนกลุ่มนี้ก็จะยิ่งไม่ถูกเหลียวแลมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยจะส่งผลให้ฐานเสียงผู้สูงวัยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เสียงของเยาวชนที่ไม่ใช่ฐานเสียงอยู่แล้วก็จะยิ่งถูกรับฟังจากระบอบการเมืองน้อยลงเรื่อยๆ

หนึ่งในวิธีพื้นฐานและตรงไปตรงมาที่สุดในการเปิดช่องทางให้เยาวชนส่งเสียงได้อย่างมีความหมายจึงควรเริ่มจากจุดนี้ คือให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีมีสิทธิเลือกตั้งได้ โดย คิด for คิดส์ เสนอให้ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหลือ ‘15 ปี’ ครอบคลุมสิทธิการเลือกตั้ง ส.ส. สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น ตลอดจนสิทธิการออกเสียงประชามติ การเข้าชื่อต่อรัฐสภาและสภาท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางตรงอื่นๆ

เปลี่ยนระบอบการเมืองของคนแก่ให้กลายเป็นระบอบการเมืองของทุกคน เปลี่ยนเสียงเยาวชนให้ ‘ได้ยินแล้วถูกรับฟัง ดังแล้วมีความหมาย’ ต่อนโยบายสาธารณะ

ทำไมควรลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหลือ 15 ปี?

ทำไมควรลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหลือ 15 ปี?

เยาวชนอายุ 15-17 ปีควรมีสิทธิเลือกตั้งเพื่อให้เสียงของพวกเขาในฐานะพลเมืองถูกรับฟังอย่าง ‘เสมอภาค’ กับพลเมืองกลุ่มอื่นมากขึ้น การลดอายุเพื่อขยายสิทธินี้นับว่าได้สัดส่วนกับหน้าที่และความรับผิดชอบตามช่วงวัยด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ข้อ

1. เยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไปถูกศาลสั่งลงโทษอาญา (ริบทรัพย์ ปรับ กักขัง จำคุก) ได้แล้ว[9]ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73-76 จึงควรต้องมีสิทธิร่วมกำหนดกฎหมาย ซึ่งอาจถูกนำมาใช้ตัดสินความผิดและลงโทษตนเอง ผ่านการเลือกตั้งผู้แทนเข้าไปพิจารณาร่างกฎหมายและการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย

2. เยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไปรับจ้างงานได้แล้ว[10]พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (1998) มาตรา 44 และมีโอกาสเสียภาษีมากขึ้น จึงควรต้องมีสิทธิร่วมกำหนดการจัดเก็บภาษีและการใช้งบประมาณ ซึ่งตนอาจต้องร่วมจ่ายด้วยรายได้จากน้ำพักน้ำแรง ผ่านการเลือกตั้งผู้แทนเข้าไปพิจารณาร่างกฎหมายภาษีและงบประมาณ รวมถึงเลือกและควบคุมฝ่ายบริหารที่กำหนดนโยบายใช้จ่ายต่างๆ

3. เยาวชนยิ่งอายุน้อย ยิ่งต้องรับผิดชอบผลกระทบจากการตัดสินใจประเด็นนโยบายระยะยาว เช่น นโยบายสิ่งแวดล้อม ผังเมือง และการศึกษา นานกว่าและมากกว่า จึงควรต้องมีสิทธิร่วมตัดสินใจ เพื่อให้พวกเขาได้กำหนดอนาคตของตนเอง ลดการตัดสินใจแทนกันข้ามรุ่น

นอกจากนี้ การลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหลือ 15 ปียังจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งเยาวชนเองและสังคมวงกว้างใน 2 มิติสำคัญ

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การลดอายุจะส่งผลให้ฝ่ายการเมืองรับฟังเยาวชนอายุ 15-17 ปีเพิ่มขึ้น เพราะถือครองคะแนนเสียงที่ฝ่ายการเมืองมุ่งหวัง ทำให้เกิดนโยบายที่ตอบสนองปัญหาและความต้องการของเยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติมากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลสืบเนื่องช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคตตามไปด้วย

ในอีกมิติหนึ่ง การลดอายุจะเสริมสร้างการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะยิ่งเยาวชนได้เลือกตั้งเร็ว ก็จะยิ่งได้ปลูกฝังทักษะและจิตสำนึกพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้น โดยผลการศึกษาในประเทศที่ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้วพบว่า ประชากรกลุ่มที่ได้สิทธิเลือกตั้งมาตั้งแต่ก่อนอายุ 18 ปีมีแนวโน้มจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นประจำ รวมถึงเชื่อมั่นและสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยในระยะยาวมากกว่ากลุ่มได้มีสิทธิหลังอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว[11]Jan Eichhorn and Johannes Bergh, “Lowering the Voting Age to 16 in Practice: Processes and Outcomes Compared,” Parliamentary Affairs 74, July 2021, 513-515.

ตอบสารพัดเหตุผล… อายุ 15-17 ปี ไม่พร้อมเลือกตั้ง?

ตอบสารพัดเหตุผล... อายุ 15-17 ปี ไม่พร้อมเลือกตั้ง?

แม้เยาวชนอายุ 15-17 ปี จะควรมีสิทธิเลือกตั้งด้วยเหตุผลข้างต้น แต่ความพยายามลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหลายประเทศมักถูกโต้แย้งว่าเยาวชนช่วงอายุนั้นยังไม่มี ‘คุณสมบัติ’ เพียงพอจะใช้สิทธิ หรือเป็นผู้เลือกตั้งที่มีคุณภาพต่ำกว่าประชากรกลุ่มอื่นที่อายุสูงกว่า เพราะไม่สนใจติดตามการเมือง ขาดความสามารถและความรู้ที่จำเป็น และมักถูกครอบงำได้ง่าย

คำถามคือเยาวชนอายุ 15-17 ปีขาดคุณสมบัติจริงหรือไม่?

ไม่สนใจการเมืองจริงหรือไม่?: การชุมนุมประท้วงและการเรียกร้องบนโลกออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนถึงความสนใจติดตามการเมืองของเยาวชนได้เป็นอย่างดี ผลเบื้องต้นของการสำรวจเยาวชนกว่า 25,000 คนทั่วประเทศเมื่อเดือนที่ผ่านมาโดย คิด for คิดส์ ก็พบว่าเยาวชนอายุ 15-17 ปีมากถึง 64% สนใจติดตามการเมืองค่อนข้างมากถึงมากที่สุด เป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าเยาวชนอายุ 18 ปีเพียงประมาณ 10%[12]ข้อมูลจาก Youth Survey โดย คิด for คิดส์ (2022)

ไม่มีความสามารถและความรู้จริงหรือไม่?: งานวิจัยด้านพัฒนาการทางสมองในวัยรุ่นพบว่ามนุษย์อายุราว 16 ปีมีพัฒนาการในด้านการตัดสินใจที่ไม่ต้องใช้ความเร่งรีบ (cold-cognition) อย่างการเลือกตั้งสมบูรณ์เต็มที่ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ [13]Laurence Steinberg, “Let science decide the voting age,” NewScientist, October 8, 2014, https://www.newscientist.com/article/mg22429900-200-let-science-decide-the-voting-age/ (accessed June 8, … Continue reading

ในกรณีของประเทศไทย เยาวชนอายุ 15 ปียังเป็นวัยที่จบหรือกำลังจะจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ซึ่งหลักสูตรควรให้ความรู้และฝึกทักษะพลเมืองที่จำเป็นแล้ว[14]ข้อมูลจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (2008) จากการสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ เยาวชนอายุ 15-17 ปีถึง 73% ก็ประเมินตนเองว่าเข้าใจประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพและระบอบการเมืองค่อนข้างมากถึงมากที่สุด เป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าเยาวชนอายุ 18 ปีเพียง 5%[15]ข้อมูลจาก Youth Survey โดย คิด for คิดส์ (2022)

ถูกครอบงำได้ง่ายจริงหรือไม่?: แม้งานวิจัยด้านพัฒนาการทางสมองชี้ว่าคนที่อายุน้อยมีแนวโน้มจะถูกกดดันและตกอยู่ใต้อิทธิพลของคนรอบข้างได้ง่ายกว่า[16]Laurence Steinberg, “Cognitive and affective development in adolescence,” Trends in Cognitive Sciences 9 (2), February 2005, 71. แต่ในมิติการถูกครอบงำจากสื่อและข้อมูล มหาวิทยาลัยมหิดล (2021) ศึกษาพบว่าเยาวชนไทยอายุ 11-20 ปีสามารถรู้เท่าทันและประเมินความน่าเชื่อถือของสื่อและข้อมูลได้ดีกว่าประชากรอายุ 31 ปีขึ้นไปทุกกลุ่ม[17]ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยมหิดล (2021)

จะเห็นได้ว่าเยาวชนอายุ 15-17 ปีสนใจและมีความรู้ต่ำกว่า และอาจถูกครอบงำได้ง่ายกว่าเยาวชนอายุ 18 ปีที่มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในปัจจุบันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งมิได้มีนัยสำคัญนัก

อยากชวนมองมุมกลับปรับมุมมองด้วยว่า การที่เยาวชนอายุ 15-17 ปีสนใจและมีความรู้น้อยกว่า ก็เพราะพวกเขายังไม่มีสิทธิเลือกตั้งและมีส่วนร่วมทางการเมืองนั่นเอง หากพวกเขาได้มีสิทธิ ก็จะสนใจติดตามการเมืองมากขึ้น แสวงหาความรู้เพิ่มขึ้น แล้วถูกครอบงำยากขึ้นในที่สุด … ฉะนั้น อย่าคิดว่าต้องรอจนพวกเขามีคุณสมบัติพร้อมแล้วค่อยให้สิทธิ แต่ควรเริ่มให้สิทธิเพื่อพัฒนาให้พวกเขาพร้อมยิ่งขึ้น

และที่จริง โดยหลักพื้นฐานของการเลือกตั้งแล้ว เราก็ไม่สามารถชี้ว่าใครเป็นผู้เลือกตั้งไร้คุณภาพได้ เสียงเลือกตั้งของทุกคนที่ ‘พึงมีสิทธิ’ ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ลองนึกดูว่าคำกล่าวว่า “เสียงของคนที่พึงมีสิทธิที่อายุ 17 ปีมีคุณภาพน้อยกว่าคนที่อายุ 70 ปี” จะต่างอะไรกับคำกล่าวว่าเสียงของคนจบ ม.3 มีคุณภาพน้อยกว่าคนจบปริญญาโท หรือเสียงของคนจนมีคุณภาพน้อยกว่าคนรวย

หลายประเทศลดแล้วและกำลังผลักดันในอีกหลายประเทศ

หลายประเทศลดอายุแล้ว และอีกหลายประเทศกำลังพิจารณา

การลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ต่ำกว่า 18 ปีนี้ถือเป็น ‘เทรนด์’ แห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อสร้างอนาคต – ทั้งอนาคตของเยาวชน อนาคตของประชาธิปไตย และอนาคตของสังคม ประเทศส่วนใหญ่ที่ดำเนินการแล้วเป็นประเทศในแถบลาตินอเมริกาและยุโรป โดยลดอายุลงไปที่ 16 ปี และอาจแบ่งรูปแบบการลดอายุได้เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

1. ให้เยาวชนอายุ 16 ปีขึ้นไปเลือกตั้งได้ทุกระดับ ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับเหนือชาติ (สหภาพยุโรป) เช่น ออสเตรีย บราซิล อาร์เจนตินา คิวบา เอกวาดอร์ มอลตา และนิการากัว

2. ให้เยาวชนอายุ 16 ปีขึ้นไปเลือกตั้งได้เฉพาะในระดับท้องถิ่นเท่านั้น เช่น เยอรมนี (บางรัฐ) สวิสเซอร์แลนด์ (บางรัฐ) เอสโตเนีย สกอตแลนด์ และเวลส์[18]เยาวชนอายุ 16 ปีขึ้นไปสามารถเลือกตั้งสมาชิกสภาสกอตแลนด์และเวลส์ได้ … Continue reading

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ปี 2022 ที่ผ่านมานี้ เบลเยียมก็เพิ่งเห็นชอบให้ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งรัฐสภายุโรป (European Parliament) เหลือ 16 ปี[19]AFP, “Belgium lowers voting age to 16 for European Parliament elections,” Euronews, May 20, 2022, … Continue reading

ขณะเดียวกัน ข้อเสนอนี้ก็กำลังถูกผลักดันจากองค์กรเยาวชน NGO ที่สนับสนุนเยาวชน ตลอดจนพรรคการเมืองสายกลาง กลาง-ซ้าย และกรีน (Green politics) ในอีกหลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศในภูมิภาคยุโรป โดยในปี 2011 สมัชชารัฐสภาแห่งสภายุโรป (Parliamentary Assembly of the Council of Europe) มีมติสนับสนุนให้รัฐสมาชิกทั้ง 47 ประเทศสำรวจความเป็นไปได้ในการลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกระดับเหลือ 16 ปี[20]Parliamentary Assembly of the Council of Europe Resolution 1826, adopted by the Assembly (26th Sitting) on June 23, 2011, Paragraph 7.2

ขยายสิทธิให้เยาวชน 2.4 ล้านคน
ได้ส่งเสียงอย่างมีความหมาย

หากเทียบจากตัวอย่างในต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าข้อเสนอให้ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศไทยจาก 18 เหลือ 15 ปีเป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้ากว่าข้อเสนอในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก แต่ข้อเสนอนี้นับว่าสมเหตุสมผลกับบริบทของสังคมไทย ตามเกณฑ์อายุรับโทษอาญาและอายุรับจ้างงาน ประกอบกับความจำเป็นในการแก้ปัญหาของเยาวชนช่วงวัยดังกล่าวและพัฒนาประชาธิปไตยให้เข็มแข็งอย่างเร่งด่วน

การลดอายุตามข้อเสนอนี้จะเพิ่มจำนวนเยาวชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 2.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 4.6% จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในปัจจุบัน ส่วนในกรณีที่ลดอายุเหลือ 16 ปี จะเพิ่มจำนวน 1.6 ล้านคนหรือ 3.1% และถ้าลดอายุลงปีเดียวเหลือ 17 ปี จะเพิ่มจำนวน 8.1 แสนคนหรือ 1.6%

แม้การเลือกตั้งอาจมิใช่ช่องทางเดียวหรือช่องทางที่ดีที่สุดในการส่งเสียงไปยังรัฐบาล แต่ก็นับว่าเป็นช่องทางพื้นฐานที่สุดภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน การลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อให้เยาวชนอายุ 15-17 ปี ได้ส่งเสียงผ่านคูหาเลือกตั้งจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำให้เสียงของเยาวชนถูกรับฟังและมีความหมายต่อนโยบายสาธารณะยิ่งขึ้น

References

References
1 ข้อมูลจาก ELECT (2021)
2 ข้อมูลจาก Mob Data Thailand (2022)
3 ดูเพิ่ม: Zeynep Tufekci, “Do Protests Even Work?: It sometimes takes decades to find out,” The Atlantic, June 24, 2020, https://www.theatlantic.com/technology/archive/2020/06/why-protests-work/613420/ (accessed June 8, 2022).
4 ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (2022)
5 ข้อมูลจาก Mob Data Thailand (2022)
6 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021)
7 ข้อมูลหลังประกาศรับรองผลเลือกตั้งในปี 2019 จาก Inter-Parliamentary Union [IPU] Parline: Global Data on National Parliaments
8 ข้อมูลรวบรวมโดย คิด for คิดส์
9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73-76
10 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (1998) มาตรา 44
11 Jan Eichhorn and Johannes Bergh, “Lowering the Voting Age to 16 in Practice: Processes and Outcomes Compared,” Parliamentary Affairs 74, July 2021, 513-515.
12, 15 ข้อมูลจาก Youth Survey โดย คิด for คิดส์ (2022)
13 Laurence Steinberg, “Let science decide the voting age,” NewScientist, October 8, 2014, https://www.newscientist.com/article/mg22429900-200-let-science-decide-the-voting-age/ (accessed June 8, 2022).
14 ข้อมูลจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (2008)
16 Laurence Steinberg, “Cognitive and affective development in adolescence,” Trends in Cognitive Sciences 9 (2), February 2005, 71.
17 ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยมหิดล (2021)
18 เยาวชนอายุ 16 ปีขึ้นไปสามารถเลือกตั้งสมาชิกสภาสกอตแลนด์และเวลส์ได้ แต่ยังเลือกตั้ง ส.ส. ของสหราชอาณาจักรไม่ได้
19 AFP, “Belgium lowers voting age to 16 for European Parliament elections,” Euronews, May 20, 2022, https://www.euronews.com/2022/05/20/belgium-lowers-voting-age-to-16-for-european-parliament-elections (accessed June 11, 2022).
20 Parliamentary Assembly of the Council of Europe Resolution 1826, adopted by the Assembly (26th Sitting) on June 23, 2011, Paragraph 7.2

วิจัย/เขียน

วรดร เลิศรัตน์

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

เติมทุน-หนุนการมีส่วนร่วม: เปลี่ยนฝันของเยาวชนไปสู่พลังการเปลี่ยนแปลง

เติมทุน-หนุนการมีส่วนร่วม: เปลี่ยนฝันของเยาวชนไปสู่พลังการเปลี่ยนแปลง

คิด for คิดส์ ชวน โชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง, อดิศร จันทรสุข, และ ณัฐภัทร เนียวกุล แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับอุปสรรคที่เยาวชนพบเจอในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคม ตลอดจนเสนอแนวทางลดอุปสรรค-พัฒนากลไกสนับสนุนพวกเขา

‘ธนาคารหน่วยกิต’ ทางเลือกการศึกษายืดหยุ่นที่ต้องทำอย่างรอบคอบ

‘ธนาคารหน่วยกิต’ ทางเลือกการศึกษายืดหยุ่นที่ผลักดันโดยรัฐบาลคืออะไร? ปัจจุบันทำถึงไหนแล้ว? และมีอะไรที่ต้องระวัง?

ปรับนโยบายให้ 'เห็นหัว' เด็กและเยาวชนด้วย CYIA (Child and Youth Impact Assessment)

ปรับนโยบายให้ ‘เห็นหัว’ เด็กและเยาวชนด้วย CYIA (Child and Youth Impact Assessment)

คิด for คิดส์ ชวนทำความรู้จักแนวคิด CYIA (Child and Youth Impact Assessment) ซึ่งหลายประเทศใช้เป็นเครื่องมือปรับปรุงนโยบายให้ ‘เห็นหัว’ เด็กและเยาวชนยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสำรวจแนวทางการนำ CYIA มาใช้ประเมินนโยบายในรูปแบบ ‘ร่างกฎหมาย’ ในไทย

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2025 kidforkids.org | All rights reserved.