“ครอบครัวไม่ใช่สถาบัน แต่คือชุดความสัมพันธ์” : ตัดแว่นใหม่มองครอบครัวไทยในยุคไร้นิยาม กับณัฐยา บุญภักดี

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย, สมคิด พุทธศรี, ธิติ มีแต้ม เรื่อง

สสส. ภาพ

ถ้าจะมีสักปัญหาหนึ่งที่ประเทศไทยเจอมาอย่างยาวนาน และคล้ายยิ่งแก้เหมือนยิ่งแน่น ประเด็นเรื่องครอบครัวก็น่าจะเป็นเงื่อนนั้น

ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการหล่อหลอมมนุษย์คนหนึ่งให้เติบโตไปอย่างเป็นสุข คนมักจะพูดกันว่า ถ้าอยู่ในครอบครัวที่ดี ปัญหาอื่นๆ ก็แทบจะไม่ตามมา การทำให้ครอบครัวอยู่ดีมีสุขจึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการแก้ปัญหาในระดับประเทศ ซึ่งโจทย์ยากคือการทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงของครอบครัวที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

ก็เหมือนเรื่องอื่นๆ ครอบครัวไม่อาจแยกตัวขาดจากสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เมื่อประเทศเปลี่ยน นโยบายเปลี่ยน วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยน ลักษณะของครอบครัวก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย เปลี่ยนทั้งขนาด ลักษณะความสำคัญ หรือแม้แต่คำนิยามที่เราใช้กันมาอย่างยาวนาน

101 คุยกับ ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้ทำงานเรื่องผู้หญิงและครอบครัว ว่าด้วย ‘สุขภาวะครอบครัว’ หนึ่งในประเด็นที่ สสส. ขับเคลื่อนยาวนานเข้าสู่ปีที่ 19

คำว่าสุขภาวะครอบครัว ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องสุขภาพของคนในครอบครัว แต่หมายรวมกว้างไปถึงคำถามว่า ครอบครัวจะเป็นสภาพแวดล้อมของการบ่มเพาะให้คนเติบโตไปอย่างมีสุขภาวะหรือมีความอยู่ดีมีสุขได้อย่างไร และถ้ามองในระดับโครงสร้าง นโยบายของประเทศจะช่วยสร้างเงื่อนไขให้ครอบครัวต่างๆ มีศักยภาพที่จะสร้างสุขภาวะได้อย่างไร

ในวันที่ครอบครัวอาจไม่ได้หมายถึงแค่พ่อแม่ลูก เราจะมองครอบครัวด้วยสายตาใหม่อย่างไร และอะไรคือความอยู่ดีมีสุขที่ว่า

ณัฐยา บุญภักดี

ภาพรวมของครอบครัวไทยตอนนี้เป็นอย่างไร ทำไมจึงยกให้เป็นวาระสำคัญและต้องเข้าไปพัฒนา

เรามองว่าครอบครัวเป็นแพลตฟอร์ม เป็นพื้นที่ที่มีส่วนในการฟูมฟักกลุ่มคนขึ้นมา โดยเฉพาะกลุ่มวัยเด็ก บวกกับเป็นงานนโยบายในหน่วยงานหลักของประเทศด้วยที่ให้ความสำคัญเรื่องสถาบันครอบครัว เขากำหนดเป็นเป้าหมายระดับประเทศว่าครอบครัวเข้มแข็งแปลว่าอะไร จะวัดอย่างไร จะส่งเสริมด้วยกลไกหรือวิธีการอะไร มีงบประมาณต่อปีจำนวนไม่น้อยเลยที่จัดสรรลงไปในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ทำเรื่องความเข้มแข็งของครอบครัว คือโดยภารกิจของ สสส. จะต้องหนุนช่วยกลไกหลักของประเทศอยู่แล้วด้วยในส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นการที่ สสส. มากำหนดว่าเรื่องครอบครัวเป็น 1 ใน 10 เป้าหมายสำคัญ ก็มีที่มาจากตรงนี้ด้วย

อีกส่วนหนึ่งก็คือ ในมิติของงานสร้างเสริมสุขภาพ การที่จะทำให้คนแต่ละช่วงวัยอยู่ดีมีสุข ไม่ต้องป่วยเจ็บตายด้วยโรคหรือเหตุที่ป้องกันได้ กลุ่มวัยเด็กเป็นโอกาสทองของการสร้างต้นทุนทั้งเรื่องสุขภาพ ทักษะชีวิต อะไรที่จะทำให้เขาเติบโตแล้วมีศักยภาพที่ต่อยอดได้อีก จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เราให้ความสำคัญ

เราดูในมิติของการสร้างเสริมสุขภาวะ ‘ภาวะที่เป็นสุข’ ดูแลให้เด็กเติบโตโดยมีปัจจัยพื้นฐานครบ มีการดูแลส่งเสริมพัฒนาการที่ถูกต้อง ดูเรื่องความปลอดภัยในชีวิต ในร่างกาย ในสุขภาพ เรื่องของการไม่ถูกละเมิดเนื้อตัวร่างกาย หรือสิทธิต่างๆ ในการได้รับการเลี้ยงดู เข้าถึงการศึกษาหรือมีโอกาสทางการเรียนรู้ ซึ่งกว้างกว่ามิติการป้องกันโรค

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญโจทย์เรื่องสุขภาวะครอบครัวมาอย่างไรบ้าง เจอด่านแบบไหน และฝ่าฟันมาอย่างไร

ในภาพรวม คำว่า ‘ครอบครัว’ หรือ ‘สถาบันครอบครัว’ ที่ปรากฏในเอกสารนโยบายของรัฐไทยจะขึ้นต้นด้วยการบอกว่า ประกอบไปด้วยคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปที่มีบทบาทต่อกันในการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว มีองค์ประกอบต่างๆ นานา ในเอกสารนโยบายต่างๆ ก็จะพูดถึงสถาบันครอบครัวว่าเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ มีพ่อแม่ลูก มีคำนิยามแบบเป็นทางการกำหนดเอาไว้เลย ครอบครัวเดี่ยวหมายถึงอะไร ครอบครัวขยายหมายถึงอะไร ครอบครัวแบ่งออกเป็นกี่ประเภท เหล่านี้หาดูได้ไม่ยากในแผนยุทธศาสตร์และนโยบายเรื่องครอบครัวแห่งชาติที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ทำ แต่สิ่งที่เรากำลังเผชิญก็คือ สถานการณ์ในความเป็นจริง ณ ปัจจุบัน ครอบครัวในอุดมคติแบบนั้นแทบจะไม่มีและไม่เป็นความจริง

รายงานการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่งคือการศึกษาโดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ออกมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เขาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวทั้งหมดย้อนหลังไป 50 ปี ถามว่าทำไมต้อง 50 ปี คือช่วงก่อนปี 2513 เรามีครอบครัวขยายเป็นส่วนมาก คือมีคนรุ่นปู่ย่าตายายอยู่รวมกับคนรุ่นพ่อแม่และรุ่นลูก การมีลูกของคนในยุคก่อนปี 2513 ก็จะมีกัน 5 คน 10 คน บางบ้านมีลูกมากกว่า 10 คน มีการประกวดแม่ลูกดก คนได้รับรางวัลมีลูกสิบกว่าคน ตอนนั้นประเทศต้องการแรงงาน ก็มีสารพัดมาตรการออกมากระตุ้นให้มีลูกกันมากๆ

พอปี 2512-2513 เริ่มมีนโยบายระดับชาติเรื่องการวางแผนครอบครัว ส่งเสริมให้มีการคุมกำเนิด เลยกลายเป็นค่านิยมใหม่ที่จะมีลูกกันน้อยลง เฉลี่ยครอบครัวละ 2 คน ถ้าเราจำได้จะมีเพลงที่ให้มีลูก 2 คน ชายหนึ่งหญิงหนึ่งกำลังดี ตอนนั้นเริ่มเปลี่ยนโฉมหน้าครอบครัวไทย เป็นยุคที่เราต้องการกู้เงินสถาบันการเงิน เขาก็อยากให้เรามีนโยบายแบบนี้ เป็นช่วงที่นโยบายวางแผนครอบครัวแพร่ไปทั่วโลก เราก็รับอันนี้มา

ตอนนี้ถึงจุดที่อัตราการเกิดของเราลดต่ำลงไปเรื่อยๆ ผ่านยุคที่ ‘อัตราการเกิดสูง อายุขัยเฉลี่ยสั้น’ มาแล้ว ยุคปัจจุบันคือ ‘อัตราการเกิดต่ำ อายุขัยเฉลี่ยสูง’ พูดง่ายๆ คือ ‘เกิดน้อย อายุยืน’ เป็นสังคมสูงวัยเต็มตัว สาเหตุจากระบบเศรษฐกิจ ทิศทางการพัฒนาประเทศ การย้ายถิ่นภายในประเทศจากชนบทเข้าสู่เมือง สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลกับรูปแบบครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป

ในปัจจุบัน รูปแบบครอบครัวไทยเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ข้อมูลจากการสำรวจครัวเรือนชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีครอบครัวขยายที่อยู่ด้วยกัน 3 รุ่นลดน้อยลง และมีครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น รูปแบบของคนที่อยู่ในครอบครัวก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก เช่น คนอยู่คนเดียวมากขึ้นซึ่งมีทั้งวัยแรงงานหนุ่มสาวและผู้สูงอายุ ครอบครัวเดี่ยวแบบอยู่กันสองคนไม่มีลูกก็เพิ่มมากขึ้น ครอบครัวข้ามรุ่นหรือครอบครัวแหว่งกลางที่มีรุ่นปู่ย่าอยู่กับรุ่นหลานก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีอยู่ในพื้นที่ชนบทมากกว่าเมือง ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวโดยเฉพาะแม่เลี้ยงเดี่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ครอบครัวที่เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ครอบครัวเพศเดียวกันก็มีมากขึ้น อาจจะยังไม่มีการศึกษาที่เป็นทางการมากนัก แต่จากงานสำรวจในระดับย่อยลงมาก็พบว่ามีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราก็จะเห็น social movement เกี่ยวกับครอบครัวเพศเดียวกันที่ปรากฏตัวมากขึ้น ครอบครัวที่เด็กอยู่กับผู้สูงอายุโดยเด็กเป็นหัวหน้าครอบครัวก็เริ่มปรากฏขึ้น หรือเด็กอยู่กันเองก็มี เพราะฉะนั้นเรียกได้ว่าประเภทของครอบครัวหลากหลายมากขึ้นเยอะเลย นี่คือการเปลี่ยนแปลงเรื่องที่หนึ่ง

การเปลี่ยนแปลงเรื่องที่สอง ยังไม่เคยมีใครศึกษาแบบตรงๆ แต่ปรากฏร่องรอยในหลายงาน พบว่าองค์ประกอบของครอบครัวไม่ตายตัว บางช่วงอยู่กันแค่ 2 คน บางช่วงอยู่กัน 5-6 คน บางช่วงเหลืออยู่แค่คนเดียว มีการอพยพโยกย้ายไปทำมาหากิน ไปเรียนหนังสือตามฤดูกาล แล้วเดี๋ยวก็กลับมาอยู่รวมกัน ช่วงปิดเทอมก็กลายเป็นครอบครัวขยายขึ้นมา หรืออย่างช่วงโควิด-19 พอเริ่มล็อคดาวน์ พื้นที่ชนบทก็จะมีครอบครัวขยายเพิ่มจำนวนขึ้น เพราะผู้สูงอายุที่เคยอยู่กับเด็กก็จะถูกเติมด้วยคนวัยแรงงานที่กลับจากเมืองใหญ่ เพราะฉะนั้นครอบครัวก็มีพลวัตด้วย การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นไปตามปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องการศึกษาและเศรษฐกิจ

ทีนี้ประเด็นอยู่ที่ว่า ศักยภาพของครอบครัวเหล่านี้ในการเป็นสภาพแวดล้อมที่บ่มเพาะวิถีชีวิตสุขภาวะของคนเป็นอย่างไร แล้วยังมีปัจจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำเชิงกลุ่มคนหรือเชิงพื้นที่เข้ามาอีก เช่น ถ้าเราไปดูในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือพื้นที่ตะเข็บชายแดน สภาพก็จะต่างไปอีก พอมีหลายปัจจัยเข้ามาก็ส่งผลให้ความเข้มแข็ง ความเปราะบาง หรือศักยภาพของครอบครัวมีไม่เท่ากัน

ในภารกิจของ สสส. ที่อยากจะเห็นทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยซึ่งไม่ใช่แค่คนไทยนะ มีขีดความสามารถที่จะมีชีวิต มีวิถีสุขภาวะด้วยตัวเอง จะเป็นไปได้อย่างไรในสถานการณ์ครอบครัวแบบที่ว่ามา นี่คือโจทย์ที่เราต้องขบคิด

เราเห็นแล้วว่ามิติความเป็นครอบครัวเริ่มพร่าเลือนและหลากหลายขึ้น แล้วปัจจุบันคุณเห็นนิยามของรัฐต่อครอบครัวเปลี่ยนไปบ้างไหม คิดว่ายังมีวิธีคิดที่ไม่สอดรับกับสังคมหรือมีปัญหาต่อการตั้งโจทย์ของ สสส. ไหมที่อยากเห็นทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยมีสุขภาวะที่ดี

ถ้ากลับมาดูการให้ความหมายจากนโยบายของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นเจ้าภาพหลัก ก็ยังไม่ถึงขั้นมีการเปลี่ยนแปลงคำนิยาม เขาเข้าใจว่าครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปหลากหลายแล้ว แต่ก็มีความพยายามจะทราบว่ามีกี่ประเภท แตกตัวออกเป็นกี่กล่อง เพื่อที่จะจัดวางคนให้อยู่กล่องไหน แต่ละประเภทมีปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกันอย่างไร ต้องการการสนับสนุนแตกต่างกันอย่างไร แล้วออกแบบนโยบายให้เหมาะกับแต่ละกล่อง กระแสของฝั่งนโยบายยังเป็นแบบนี้

ในฝั่งของ สสส. เราถกเถียงกันอีกแบบหนึ่ง คือดูจากสถานการณ์ ข้อมูล การศึกษาและงานวิจัยต่างๆ แล้ว เราไม่น่าจะสามารถจับคนลงกล่องได้ แล้วถ้าอย่างนั้นสิ่งที่เราควรจะสนใจมากกว่าคืออะไร ก็พบว่าเราน่าจะโฟกัสที่ชุดความสัมพันธ์มากกว่า ใครจะอยู่กับใครในครอบครัวนั้นอาจจะไม่สำคัญเท่ากับว่าชุดความสัมพันธ์ที่เขามีเป็นอย่างไร เขาเรียกใครว่าเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเรื่องของดีเบตที่ยังดำเนินไปอยู่

อธิบายเพิ่มเติมได้ไหมว่าชุดความสัมพันธ์นี้หมายถึงอะไร

ถ้าเราเข้าไปในบ้านหนึ่ง เราสอบถามคนในบ้านว่าเขาเป็นครอบครัวเดียวกันหรือเปล่า และเพราะอะไรจึงนับเป็นครอบครัว ถ้าเขาบอกว่าเพราะอยู่บ้านเดียวกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือพึ่งพากัน มีเงินมีทองก็แบ่งปันกันใช้ เจ็บไข้ได้ป่วยก็ดูแลกัน ซื้อทรัพย์สินด้วยกัน แต่อาจจะไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบนิตินัย คือไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดโดยตรง หรืออาจจะไม่ใช่คู่ที่จดทะเบียนสมรส แต่เขามีชุดความสัมพันธ์แบบครอบครัวเลย เจ็บไข้ได้ป่วยเขาก็อยากดูแลกัน คือถ้าเราไม่นับชุดความสัมพันธ์นี้ว่านี่คือครอบครัว คนก็จะตกหล่นออกจากความอยู่ดีมีสุข ซึ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบัน กฎหมายหรือนโยบายไม่ได้คำนึงถึงชุดความสัมพันธ์เหล่านี้เลย

ยกตัวอย่างเรื่องจริง ผู้ชายคู่หนึ่งอยู่ร่วมกันมานาน เป็นที่ยอมรับของครอบครัวทั้งสองฝ่าย ทำมาหากิน มีสิ่งปลูกสร้าง มีสมบัติพัสถานร่วมกัน วันหนึ่งคนหนึ่งป่วย หมดสติ ต้องเข้าโรงพยาบาล ญาติพี่น้องอยู่คนละภาค ไม่สามารถมาเซ็นเอกสารยินยอมให้แพทย์ทำการรักษาได้อย่างทันการณ์ คำถามก็คือ ถ้าเราใช้ชุดกฎหมายอย่างที่เรามีทุกวันนี้ ซึ่งไม่มองคำว่าครอบครัวเป็นชุดความสัมพันธ์ แต่มองว่าต้องเป็นอะไรกันตามที่กฎหมายรับรอง สุดท้ายกฎหมายที่มีหรือระบบบริการสุขภาพที่มีก็ไม่สามารถรองรับความอยู่ดีมีสุขและคุณภาพชีวิตแบบนี้ได้

แล้วถ้ามองไปในอนาคตที่เราเริ่มเห็นครอบครัวเด็กๆ อยู่ด้วยกันเอง หรือคนที่ไม่ใช่ญาติทางสายโลหิตมาอยู่ด้วยกันแล้วพึ่งพาอาศัยกันเป็นครัวเรือน สวัสดิการของที่ทำงานก็ไม่ครอบคลุม แม้ว่าเราจะมีพฤติกรรมเหมือนคนเป็นแม่ลูกกันเลย คือส่งเรียนหนังสือ จ่ายค่ารักษาพยาบาล เจ็บไข้ได้ป่วยเราก็ต้องหยุดงานไปดูแลเด็กคนนี้ นโยบายที่มีจะไม่รองรับ ซึ่งส่งผลโดยตรงกับความอยู่ดีมีสุขของคน

คำถามก็คือ ตอนนี้เราแคร์อะไร เราแคร์องค์ประกอบของครอบครัวตามความหมายเดิมที่เคร่งครัดเพื่อจัดนโยบายและจัดสรรงบประมาณลงให้ถูกจุด หรือเราทำสิ่งนี้เพราะอยากให้แต่ละคนมีความอยู่ดีมีสุข มีคุณภาพชีวิต ซึ่งถ้าเราบอกว่าคืออย่างหลัง เราอยากได้ครอบครัวอบอุ่น เราอยากได้ครอบครัวเข้มแข็ง ก็เพราะว่าเราอยากให้สมาชิกครอบครัวนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดูแลกันได้ อยู่ดีมีสุข เพราะฉะนั้นเรื่องสำคัญควรจะเป็นคนมากกว่าครอบครัว พอเราพูดแบบนี้ ครอบครัวก็มีความหมายเป็นสภาพแวดล้อม เป็นชุดความสัมพันธ์ ไม่ได้เป็นสถาบัน ไม่ได้เป็นหน่วยแบบที่เคยให้นิยามความหมายกันมา

ณัฐยา บุญภักดี

พอเราบอกว่าครอบครัวมีหลากหลายมาก ถ้าพูดในเชิงนโยบาย เราสามารถสร้างชุดกฎหมายหรือชุดนโยบายแบบหนึ่งแบบใดเข้าไปครอบคลุมครอบครัวที่แตกต่างอย่างมหาศาลได้อย่างไร ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ไหม เราต้องมองนโยบายในมุมใหม่รึเปล่า

อย่างที่บอกว่าเรื่องสำคัญที่สุดคือความอยู่ดีมีสุขของปัจเจก เขาจะรักษาสถาบันครอบครัวได้หรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับว่าตัวเขาอยู่รอดปลอดภัย แล้วธำรงความเป็นคนอยู่ เพราะฉะนั้นนโยบายหรือสวัสดิการที่จะถูกกำหนดขึ้นมา ควรจะอยู่ในหน่วยของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่หน่วยของครอบครัว

สมมติง่ายๆ ถ้าเราสร้างกล่องมารองรับครอบครัว 15 ประเภท แล้วเราบอกว่าใน 15 ประเภทนี้ มี 2 ประเภทถือว่าเป็นครอบครัวที่ไม่มีปัญหา แต่อีก 13 ประเภทที่เหลือเป็นครอบครัวเปราะบาง ถ้าเราพูดแบบนี้ แล้วสร้างนโยบายแบบนี้ จัดระบบสวัสดิการรองรับครอบครัวเปราะบาง ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวผู้สูงอายุดูแลเด็กจะถูกจัดว่าเป็นครอบครัวเปราะบางโดยอัตโนมัติ โดยเราไม่เอาปัจจัยอื่นเข้ามาดูเลย เช่น แต่เขารวยนะ มีการศึกษาดีด้วย แล้วเขาก็ดูแลกันได้ดีแม้ว่าจะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เพราะฉะนั้นเขาไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากรัฐ เอาไปให้ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวอีกครอบครัวที่ฐานะยากจนดีกว่าไหม เป็นต้น ตัวอย่างเหล่านี้ทำให้เห็นว่าถ้าเราจัดนโยบายและจัดสรรทรัพยากรของภาครัฐโดยแบ่งออกเป็นประเภทครอบครัว สิ่งที่เราจะพลาดไปคือเรื่องแบบนี้

หรือถ้าเราจะมีนโยบายพิเศษเพื่อที่จะตอบสนองสถานการณ์ที่เฉพาะ ก็ค่อยทำเป็นเรื่องๆ ไป เช่น ในสังคมที่คนเกิดน้อย มีผู้สูงอายุเยอะ หลายประเทศเขาจะถือว่าครอบครัวที่มีลูกเล็กเป็นครอบครัวที่อยู่ในระยะต้องการความช่วยเหลือมาก เพราะหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น หมายถึงใครสักคนที่อาจจะต้องออกจากงาน ขาดรายได้ ช่วงเวลาที่ครอบครัวมีลูกเล็กถือว่าเป็นสภาวะของความเปราะบาง

เมื่อรัฐเห็นความเปราะบาง เห็นความสำคัญของทั้งคนวัยแรงงานที่ต้องออกจากงานมาเลี้ยงดูเด็ก เห็นความสำคัญของเด็กเล็กที่จะต้องได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากคนในครอบครัว ก็เลยจะมีสวัสดิการพิเศษอุดหนุนเฉพาะครอบครัวที่มีลูกเล็ก เป็นต้น อันนี้เป็นการมองสภาวะเปราะบางโดยไม่ได้ออกแบบนโยบายที่มีพื้นฐานอยู่บนการจำแนกครอบครัวตามองค์ประกอบ แต่เป็นการออกแบบนโยบายบนพื้นฐานสภาวะเปราะบางในแต่ละช่วงของครอบครัว เพราะฉะนั้นวิธีการออกแบบก็ดิ้นได้

เพราะฉะนั้นโจทย์สำคัญก็คือ คุณนิยามครอบครัวแบบไหนก็ได้ แต่ต้องหาให้เจอว่าใครเปราะบาง?

ถูก ใครต้องการความช่วยเหลือ ใครอยู่ในสภาพที่ลำบากกว่าคนอื่น ซึ่งแปลว่าเราต้องยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำเป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ความยากจนไม่ใช่ความขี้เกียจหรือความโชคร้ายของคน เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณต้องมองหาเพื่อที่จะสร้างนโยบายขึ้นมาโอบอุ้มจึงไม่ใช่ประเภทครอบครัว แต่คือภาวะเปราะบางของคนอันเนื่องมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างเหล่านี้ ซึ่งรัฐมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องสร้างมาตรการเข้าไปอุ้มช้อนขึ้นมา ในขณะเดียวกันก็ต้องไปแก้ไขปลดล็อกกฎกติกาที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านั้น

ประเด็นความเหลื่อมล้ำ เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยอย่างที่เรารู้กัน และเหมือนว่าช่องว่างจะถ่างไปเรื่อยๆ ชนชั้นกลางบนก็เข้าถึงรูปแบบการเรียนรู้แบบใหม่ให้ลูก ขณะที่คนจนยังต้องหอบกระเตงกันไปที่ไซต์งานก่อสร้างอยู่เลย คุณคิดว่าควรจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

ถ้าให้ตอบเฉพาะตัวเองซึ่งดูแลสำนักเด็กของ สสส. เรามองเห็นว่ามีโอกาสที่ดี ถ้าเราทำให้ชนชั้นกลางมาเป็นแนวร่วมในการสร้างสังคมที่ดีได้ เราพยายามใช้คอนเซ็ปต์ว่าคุณไม่สามารถที่จะเลี้ยงดูลูกได้อย่างดีที่สุดพร้อมๆ ไปกับสร้างกำแพงบ้านและสร้างกำแพงรั้วโรงเรียนสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะอย่างไรลูกคุณก็ใช้ชีวิตอยู่ในสังคม เราต้องช่วยกันสร้างสังคมที่ดีให้ลูกเราอยู่ ไม่ใช่แค่สร้างลูกเราให้เป็นคนที่มีคุณภาพที่สุดเท่าที่เราจะลงทุนได้เท่านั้น มันไม่พอ

เราเห็นพลังของชนชั้นกลาง พอเขาเข้าใจนะ ขีดความสามารถและศักยภาพของเขาจะทำอะไรได้อีกเยอะเลย เข้ามาช่วยกันทั้งในระดับการขับเคลื่อนนโยบาย ไปอุดช่องโหว่ ไปช่วยหนุนคนที่ลำบากกว่า เราเห็นศักยภาพตรงนี้ว่าเมื่อวันที่เขาเข้าใจแล้วเข้ามาเป็นแนวร่วม มีพลังมาก

ในขณะที่คนที่กำลังลำบากอยู่ แน่นอนว่าเขาอยู่ในสภาพที่จะต้องเอาตัวให้รอด เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะดึงศักยภาพเขามาช่วยสร้างสังคมก็ทำอยู่ แต่ก็ได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าดึงมาเป็นแนวร่วมกันให้ได้มากที่สุดแล้วมองไปที่เป้าเดียวกัน ไม่ใช่มองมาที่กันและกันแล้วชี้นิ้วใส่กัน แต่มองไปที่ทิศทางเดียวกันว่า นี่คือการสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรมมากกว่านี้ คือการสร้างสังคมที่กระจายโอกาสมากกว่านี้ สร้างสังคมที่น่าอยู่มากกว่านี้ ในความหมายที่ทุกคนต้องมีที่ยืน มันเกิดพลังมากกว่า

ช่วยขยายความนิดหนึ่งที่บอกว่าให้คนมาเป็นแนวร่วมกัน ในเชิงรูปธรรมเป็นอย่างไร

เช่น เราสนับสนุนโครงการที่ทำให้เกิดการรวมตัวของครอบครัว เป็นเครือข่ายครอบครัวเพื่อแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือและร่วมมือกัน เรามองศักยภาพของเขาว่ามีมากเลยนะ โดยเฉพาะถ้าเป็นหน่วยงานภาคเอกชน มีความยืดหยุ่น คล่องตัว มีทักษะติดตัว และมีความปรารถนาที่จะทำและอยู่รอดด้วย อย่างนี้คือความยั่งยืนในตัวเองอยู่แล้ว เราสนับสนุนโครงการที่รันโดยภาคเอกชนที่อยากจะทำเรื่องที่เป็นประโยชน์กับครอบครัว เป็นประโยชน์กับสังคม เขามีพลังมากเลยที่จะวิ่งหาทรัพยากรมาทำ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรเงิน ทรัพยากรทักษะความสามารถ เขาจะพยายามหาวิธีการในการดึงสิ่งเหล่านี้มาเพื่อให้เขาได้ส่งมอบผลงานที่ดีขึ้น มีอิมแพ็คมากขึ้น ขยายวงขึ้น ซึ่งอันนี้เราเห็นพลังของเขา แล้วเราก็คิดว่าสามารถที่จะเข้ามาเป็นแนวร่วมสร้างรูปธรรมของการทำงานกันได้

ยกตัวอย่างเช่น เราสนับสนุนโครงการด้านครอบครัวโดยหน่วยงานเอกชน ชื่อ Flock Learning แล้วเขาก็ไปต่อทุนได้อีกเยอะเลยเพื่อที่จะเอามาทำงานที่ใหญ่ขึ้น ในขณะเดียวกันเราเองก็ได้ทำให้เขาเห็นถึงความหลากหลายของครอบครัว ข้อจำกัดของครอบครัวแต่ละแบบ แต่ละที่ และได้เห็นศักยภาพเขาที่สามารถเอาไปช่วยครอบครัวที่ลำบากกว่าได้ เขาก็ครีเอตอะไรขึ้นมาใหม่ๆ ที่จะเข้าไปตอบสนองโดยตรงกับครอบครัวที่อยู่ในภาวะยากลำบาก ก็เป็นการดึงศักยภาพของครอบครัวชนชั้นกลางระดับค่อนข้างสูง ไปช่วยครอบครัวที่มีภาวะเปราะบางมากกว่า เช่น อยู่ในพื้นที่ชนบท ก็มีความร่วมมือแบบนี้เกิดขึ้นได้

ณัฐยา บุญภักดี

เราพูดถึงการออกแบบนโยบายว่ารัฐควรจะส่งเสริมอะไรบ้าง ช่วยเหลือมิติทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง แต่ถ้าชวนมองไปมิติที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เป็นมิติเชิงจิตวิญญาณ เชิงจิตใจ คุณหรือทีมตั้งโจทย์แบบไหนที่จะขับเคลื่อนทั้งสองมิตินี้ไปด้วยกันได้

ถ้าตอบส่วนตัว ตอนนี้การศึกษาออกมาชัดเจนแล้วว่า รูปแบบการสื่อสารภายในครอบครัวส่งผลต่อคนอย่างไรบ้าง เช่น ถ้าครอบครัวอยู่แบบเผด็จการจะส่งผลอย่างไร ครอบครัวแบบประชาธิปไตยส่งผลอย่างไรต่อเด็ก ที่สำคัญคือสามารถชี้เส้นที่เชื่อมโยงได้ด้วยว่า ถ้าเราอยากให้คนรุ่นใหม่เติบโตเป็นคนที่พร้อมอยู่ในโลกยุคใหม่ มีทักษะในศตวรรษที่ 21 หรือมีความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาสิ่งใหม่ เป็นทางเลือกใหม่ให้กับสังคมได้ ยิ่งต้องการครอบครัวสื่อสารแบบเปิด ให้เด็กมีพื้นที่การเรียนรู้และเติบโต ท้าทาย มีภูมิที่เข้มแข็งทางใจ มีสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งเชื่อมโยงกันอย่างมากเลย

ตอนนี้ สสส. ออกรายงานมาฉบับหนึ่งชื่อ Thaihealth Watch ว่าในสถานการณ์ด้านสุขภาวะที่สังคมไทยกำลังเผชิญ หนึ่งในนั้นคือเรื่องความเครียดของเด็ก สุขภาพจิตของวัยรุ่น ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่น เวลาเราเห็นเป็นปรากฏการณ์ออกมาว่าวัยรุ่นซึมเศร้า วัยรุ่นฆ่าตัวตาย แท้ที่จริงถูกบ่มเพาะมาก่อนหน้า ในตอนที่เขายังอายุน้อยกว่านั้น และส่วนใหญ่ก็มาจากครอบครัว มาจากอำนาจที่ใช้กันอยู่ในครอบครัวแล้วกดทับเด็ก มาจากอำนาจบวกกับความคาดหวัง บวกกับบทบาทของพ่อแม่หรือผู้ใหญ่แบบที่ top-down ลงมาที่ตัวเด็ก นี่แหละคือบ่อเกิดสำคัญของความคับข้องใจในตัวเด็ก

ความรู้ในการเลี้ยงดูเด็กยุคใหม่แบบที่ให้มีทักษะการคิดขั้นสูง สมองส่วนหน้าที่เราเรียกกันว่า EF (Executive Functions) หรือสมองส่วนที่เป็น CEO ของชีวิต เป็นองค์ความรู้ที่คนเลี้ยงเด็กควรจะต้องรู้ เพื่อที่จะได้เตรียมเด็กตั้งแต่แรกเกิด แต่วิธีเลี้ยงดูเด็กของเราไม่ได้วางอยู่บนฐานความรู้นี้ ทั้งในแง่ของความคิดจิตใจและจิตวิญญาณ ความแข็งแกร่งในเชิงจิตใจไม่ได้ถูกเตรียมอย่างดีในสภาพครอบครัวอย่างที่เป็นอยู่ เพราะฉะนั้นเราก็จะเจอเด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต เราจะเจอพฤติกรรมการเสพติดสิ่งต่างๆ ที่มากยิ่งขึ้นเพราะหาทางออกไม่ได้

และแน่นอน เมื่อ สสส. ทำงานเรื่องอยากจะลด NCDs กลุ่มโรคไม่ติดต่อทั้งหลาย เบาหวาน ไขมัน ความดัน หรืออุบัติเหตุซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องพฤติกรรม แต่ฐานตรงนี้ถ้าเราละเลยไปแล้ว เราไปแก้เอาตอนที่เป็นพฤติกรรมเสี่ยงก็ได้ผลน้อยกว่าการสร้างฐานที่ดี เพราะฉะนั้นครอบครัวจึงมีความสำคัญ ครอบครัวที่กำลังดูแลเด็กช่วงวัยต่างๆ อยู่จึงกำลังทำหน้าที่ที่สำคัญมากให้กับสังคม

เข้าใจอย่างนี้ได้ไหมว่า ต่อให้ครอบครัวหนึ่งมีพลังมากที่จะเลี้ยงดูอุ้มชูเด็กในแบบที่พร้อมรับกับศตวรรษใหม่ ไม่ว่าจะมีทักษะ EF หรือมีความเป็นประชาธิปไตยก็ตาม แต่ทั้งหมดนั้นเพียงพอไหมที่จะอยู่ในประเทศแบบนี้

อย่างไรก็ตาม เราต้องทำทุกทางที่เราทำได้ เราไม่สามารถบอกว่าต้องไปแก้อันนั้นก่อนแล้วสิ่งนี้ถึงจะเกิด พูดจากบทเรียนชีวิตที่ทำงานมา 20 กว่าปีนะ เราไม่สามารถสร้างสมการว่าต้องเริ่มที่ 1 ก่อนแล้วถึงจะ 2 3 4 ปัญหาที่เราเผชิญมีความซับซ้อนสูงมาก จนไม่สามารถจะใช้วิธีการแก้ปัญหาเชิงเดี่ยวได้ พูดง่ายๆ คือต้องมาจากทุกทางที่จะทำได้เลย ต้องทำทั้งระดับปัจเจกบุคคล ระดับกลุ่มหรือเชิงพื้นที่ และระดับโครงสร้างสังคมด้วย

ณัฐยา บุญภักดี

วิจัย/เขียน

สมคิด พุทธศรี

วิจัย/เขียน

ธิติ มีแต้ม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ให้เด็กได้เบ่งบานนอกสถานรองรับ: แนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่การเลี้ยงดูแบบครอบครัว

คิด for คิดส์ ชวนอ่านปัญหาการพัฒนาครอบครัวอุปถัมภ์ไทยที่ส่งผลให้เด็กไทยจำนวนมากไม่ได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวอย่างที่ควรจะเป็น

‘เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม’: ความเชื่อแบบไทยๆ อุปสรรคใหญ่ของนโยบายครอบครัวอุปถัมภ์

นโยบายการเพิ่มครอบครัวอุปถัมภ์เผชิญกับความเชื่อแบบไทยๆซึ่งเป็นกำแพงใหญ่ที่รัฐต้องก้าวข้าม หากจะผลักดันให้ดี ไม่ใช่แค่ปรับปรุงนโยบายแต่ต้องลงลึกถึงมายาคติที่มีมาแต่เดิม

การหา ‘งานที่ดี’ อาจเป็นเพียงความฝันของเยาวชนไทยส่วนใหญ่

คิด for คิดส์ ชวนสำรวจความฝันด้านอาชีพการงานของเยาวชนไทย พร้อมทั้งชวนมองดูโลกความจริงที่ทำให้ ‘งานที่ดี’ อาจเป็นเพียงความฝันของเด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2024 kidforkids.org | All rights reserved.