สังคมแบบไหนที่คนไทยอยากมีลูก?

ประเด็นสำคัญ

  • สถานการณ์เด็กเกิดน้อยปรากฎชัดยิ่งขึ้นในปี 2564 มีเด็กเกิดใหม่เพียง 5 แสนคน ต่ำกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นครั้งแรก สอดคล้องกับความเห็นคนรุ่นใหม่ที่มองว่าการแต่งงานและมีลูกเป็นเป้าหมายชีวิตลำดับท้าย
  • ความมั่นคงทางการเงินและการงานเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจมีลูก เลี้ยงลูก 1 คน จนถึงอายุ 21 ปี พ่อแม่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1.53 ล้านบาท และหากต้องการให้ลูกมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็อาจต้องจ่ายมากกว่า 3 ล้านบาท
  • ไทยยังขาดระบบสนับสนุนในการเลี้ยงเด็ก ทั้งสิทธิลาคลอดพ่อแม่ ศูนย์เด็กเล็กที่ครอบคลุม และพื้นที่เลี้ยงเด็กในสถานทำงาน ฯลฯ
  • รัฐต้องปรับระบบนิเวศเลี้ยงดูเด็ก ตั้งแต่เพิ่มเงินอุดหนุนเลี้ยงเด็กเล็กถ้วนหน้า ขยายสิทธิลาคลอด พัฒนาคุณภาพศูนย์เด็กเล็ก และลงทุนด้านความรู้ เพื่อลดภาระพ่อแม่ สร้างแรงจูงใจให้คนอยากมีลูก และที่สำคัญคือสร้างสังคมที่เอื้อให้ทุกคนเติบโตได้อย่างเต็มที่

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ‘ตัวเลขเด็กเกิดใหม่’ สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสังคมไทยและจุดประเด็นให้เกิดการถกเถียงขึ้นอีกครั้ง เพราะจำนวนเด็กเกิดใหม่มีแนวโน้มน้อยลงต่อเนื่องทุกปี โดยปี 2564 ที่ผ่านมามีเด็กเกิดใหม่เพียง 544,570 คน เป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี ลดลงจาก 10 ปีที่แล้วมากถึง 3 แสนคน และยังเป็นปีแรกที่จำนวนผู้เสียชีวิตสูงกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่[1]สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2564  (รูปที่ 1) พร้อมกับที่ประเทศไทยได้เคลื่อนตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เป็นประเทศแรกในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา หรือที่นักวิชาการเรียกว่า ‘แก่ก่อนรวย’

รูปที่ 1: อัตราการเกิดและตายของประชากรไทย พ.ศ. 2555-2564 และสัดส่วนผู้สูงอายุ

แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะพยายามสนับสนุนให้คนมีลูกมากขึ้นอยู่ตลอด ผ่านนโยบายกระตุ้นให้คนมีลูกเพื่อชาติ แต่ปรากฏชัดแล้วว่าการพูดเพียงอย่างเดียวนี้ไม่ได้ผล การดำเนินนโยบายส่งเสริมให้คนมีลูกที่เป็นไปอย่างถูกที่ถูกทาง อาจต้องย้อนกลับไปตั้งต้นกันตั้งแต่คำถามพื้นฐานว่า ‘อะไรทำให้คนไทยในปัจจุบันมีลูกน้อยลง ช้าลง จนถึงไม่อยากมีลูกเลย’ เพราะการมีลูกในยุคสมัยนี้มีราคาแพง? เพราะผู้หญิงเลือกที่จะเป็นโสดมากขึ้น? หรือเพราะทัศนคติเรื่องการมีครอบครัวที่เปลี่ยนไป? หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ‘สังคมแบบไหนที่จะทำให้คนเหล่านี้อยากมีลูกมากขึ้น’

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดย 101 PUB และ สสส. ชวนผู้อ่านสำรวจเหตุผลจากงานวิจัยว่าเพราะอะไรคนสมัยนี้จึงไม่อยากหรือไม่พร้อมมีลูก รวมถึงนำเสนอทางออกและความเป็นไปได้ทางนโยบายเพื่อออกแบบสังคมที่มีระบบนิเวศการเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ

การมีลูกอาจไม่ใช่คำตอบของคนรุ่นใหม่อีกต่อไป

งานวิจัยเรื่อง การส่งเสริมการมีบุตรผ่านการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ (2559) จัดทำโดย ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตราและคณะ นำเสนอ ‘ปัจจัยที่คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก’ จากการสำรวจความเห็นและการให้คุณค่าเกี่ยวกับการสร้างครอบครัวของคนเจนเอ็กซ์และเจนวายหรือกลุ่มคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2508-2522 และ 2523-2540 โดยเหตุผลสำคัญมี 3 ข้อคือ ปัจจัยด้านค่านิยมในการสร้างครอบครัว ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ และปัจจัยด้านเวลา/สมดุลในการใช้ชีวิต

1. การให้คุณค่าเรื่องการสร้างครอบครัวเปลี่ยนไป 

คนรุ่นใหม่ไม่ได้ยึดติดกับนิยามครอบครัวแบบเดิมที่ประกอบด้วย ‘พ่อ แม่ ลูก’ แต่เปิดรับรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งคู่รักที่เลือกไม่มีลูก พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ไปจนถึงคนโสดที่อยู่ตัวคนเดียวหรืออยู่กับพ่อแม่ งานวิจัยพบว่ารูปแบบของครอบครัวที่แตกต่างอาจไม่ใช่ปัจจัยชี้วัดคุณภาพของครอบครัว การมีลูกจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นหรือขาดไม่ได้สำหรับการสร้างครอบครัวอีกต่อไป

2. การมีลูกสำหรับคนเจนเอ็กซ์และเจนวายเป็นเป้าหมายชีวิตลำดับท้าย 

คำตอบเรื่องเป้าหมายชีวิตในช่วง 5-10 ปี ของคนเจเนเรอชันนี้สะท้อนว่า สิ่งที่พวกเขาอยากทุ่มเทเวลาให้มากกว่าการแต่งงานและมีลูกคือการสร้างความมั่นคงทางการเงิน ความก้าวหน้าทางการงาน และการดูแลชีวิตส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเนื้อสร้างตัว การมีธุรกิจ การผ่อนคอนโดฯ หรือบ้าน การท่องเที่ยว การดูแลพ่อแม่ และดูแลสุขภาพตัวเอง น่าสนใจว่าแม้กระทั่งในกลุ่มคนที่ตั้งเป้าจะแต่งงานและมีบุตร ก็เลือกที่จะสร้างฐานะทางการเงินให้มั่นคงในระดับหนึ่งก่อน (รูปที่ 2) ทำให้เห็นว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่คนรุ่นปัจจุบันคำนึงถึงเสมอในการตัดสินใจสร้างครอบครัว

รูปที่ 2: ความเห็นของคนเจน X และ Y เรื่องการให้คุณค่าในการสร้างครอบครัว

3. งานยุ่งจนไม่มีเวลา ถ้ามีลูกก็อาจเสียสมดุลในการใช้ชีวิตส่วนตัว

การต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานทำให้คนรุ่นนี้จินตนาการถึงชีวิตที่ต้องรับผิดชอบเด็กอีกคนหนึ่งไว้แทบไม่ออก จากเดิมที่การทำงานก็เบียดบังเวลาส่วนตัวในการทำกิจกรรมอื่นๆ อย่างการใช้เวลากับตัวเองและเพื่อนๆ มากพออยู่แล้ว หากมีลูกก็เท่ากับว่าอิสระในการใช้เวลาส่วนตัวเหล่านี้จะหายไป และอาจทำให้ความสุขและความพอใจของชีวิตลดน้อยลงด้วย พวกเขายังมองไม่เห็นว่าจะสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการสร้างครอบครัวได้อย่างไร

เลี้ยงลูก 1 คน พ่อแม่ต้องใช้เงินเฉลี่ย 1.53 ล้านบาท

การเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนจนกว่าเขาจะสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้นั้น พ่อแม่ผู้ปกครองต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมหาศาลเป็นเวลาหลายปี การจะมีลูกในยุคที่สภาพเศรษฐกิจเติบโตต่ำและเหลื่อมล้ำสูงเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

หากวิเคราะห์ทรัพยากรที่ต้องใช้ในการเลี้ยงดูบุตรที่จำเป็นต่อการเลี้ยงดูเด็ก 1 คน จากข้อมูลบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ พ.ศ. 2562 คำนวณมูลค่ารายจ่ายเพื่อการบริโภคของเด็กทั่วประเทศตลอดช่วงอายุดังกล่าวโดยไม่คิดอัตราเงินเฟ้อ พบว่า การเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 21 ปี (เทียบเท่ากับจบการศึกษาระดับปริญญาตรี) มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3 ล้านบาท หรือปีละประมาณ 150,000 บาท โดยภาครัฐและพ่อแม่รับภาระกันคนละครึ่ง เงินที่ภาครัฐสนับสนุน เช่น เงินอุดหนุนการศึกษาและบริการสุขภาพต่างๆ คิดเป็นจำนวน 1.46 ล้านบาท (ร้อยละ 49) ในขณะที่พ่อแม่ต้องจ่ายเองอีก 1.53 ล้านบาท (ร้อยละ 51) คิดเป็นปีละประมาณ 76,500 บาทหรือเดือนละ 6,375 บาท

ตัวเลข 3 ล้านบาทนั้นเป็นค่าเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งประเทศ แต่ในความเป็นจริงครัวเรือนในระดับรายได้ต่างกันย่อมมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงดูเด็กที่ต่างกัน ในสังคมที่การแข่งขันสูงเช่นนี้ ครัวเรือนที่ยิ่งร่ำรวยก็ยิ่งลงทุนกับลูกได้มาก หากคำนวณเฉพาะค่าใช้จ่ายของพ่อแม่เอง พบว่า ช่องว่างระหว่างต้นทุนของครัวเรือนที่รวยที่สุดและครัวเรือนที่จนที่สุดนั้นห่างกันมากถึง 5.7 เท่า โดยครัวเรือนควินไทล์ที่ 5 (รวยที่สุด) มีต้นทุนกว่า 3.7 ล้านบาท ในขณะที่ครัวเรือนควินไทล์ที่ 1 (จนที่สุด) มีเพียง 645,739 บาท (รูปที่ 3)

รูปที่ 3: ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงดูลูก แยกตามเศรษฐฐานะของครัวเรือน

การลงทุนที่สูงกว่าย่อมหมายถึงการสนับสนุนให้ลูกเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ของเล่นและเครื่องมือเสริมพัฒนาการ เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ และโอกาสทำกิจกรรมสร้างประสบการณ์ได้มากกว่า ในขณะที่ครอบครัวที่มีทุนจำกัด มีแนวโน้มเกิดภาวะทุพโภชนาการมากกว่า เข้าถึงการศึกษาได้น้อย พัฒนาการด้อยกว่า มีโอกาสและความฝันจำกัดกว่า ตลอดจนรายได้ที่อาจน้อยกว่าในระยะยาว ดังนั้น เพื่อเติมแต้มต่อให้ลูกมีคุณภาพชีวิตที่ดี พ่อแม่หลายคนจึงอาจต้องกัดฟันทุ่มลงทุนกับลูกมากกว่า 3 ล้านบาท

ทว่า ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะมีกำลังมากพอในการสนับสนุนให้เด็กได้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ จากจำนวนเด็กอายุไม่เกิน 21 ปีทั่วประเทศกว่า 13.6 ล้านคน มีเด็กจำนวน 4.8 ล้านคนที่กระจุกตัวอยู่ในครัวเรือนยากจน ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนอยู่ที่ 2,973 บาท และได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในขณะที่เด็กในครัวเรือนร่ำรวยที่สุดจำนวน 1.1 ล้านคน อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ย 26,954 บาท หรือมากกว่าเด็กยากจนที่สุด 9 เท่า (รูปที่ 4) 

รูปที่ 4: จำนวนเด็กและเยาวชน แบ่งตามระดับรายได้ของครัวเรือน

สิทธิลาคลอดของไทยยังไม่เพียงพอ – ขาดระบบสนับสนุนในการเลี้ยงเด็ก

นอกจากปัจจัยด้านเงินทุนแล้ว อีกประเด็นสำคัญคือปัจจัยด้าน ‘เวลา’ ภาระการงานที่หนักโดยขาดสวัสดิการที่เพียงพอทำให้พ่อแม่หลายคนยังไม่สามารถจัดสรรเวลาเพื่อครอบครัวได้อย่างเต็มที่ ส่วนหนึ่งเพราะสิทธิลาคลอดของแรงงานไทยยังไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุม

ปัจจุบันข้าราชการหญิงได้สิทธิลาคลอดมากที่สุดอยู่ที่ 188 วัน แรงงานหญิงในระบบมีสิทธิลา 98 วัน ในขณะที่แรงงานนอกระบบซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศยังไม่มีสิทธิลาคลอดแม้แต่วันเดียว ประกอบกับเกณฑ์อายุในการเข้าศูนย์เด็กเล็กของรัฐกำหนดไว้ที่ 2-3 ปี จึงทำให้เกิดช่องว่างระหว่างที่พ่อแม่ต้องกลับไปทำงาน แต่ก็ยังไม่สามารถฝากลูกไว้ที่ศูนย์เด็กเล็กได้ (รูปที่ 5)

รูปที่ 5: ช่องว่างระหว่างสิทธิลาคลอดและเกณฑ์อายุที่เด็กสามารถเข้าศูนย์เด็กเล็กของรัฐได้

สุดท้ายพ่อแม่จึงอาจต้องดิ้นรนหาวิธีอื่นๆ เช่น เลี้ยงลูกเอง โดยที่พ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งอาจต้องลาออกจากงานเพื่อให้สามารถเลี้ยงลูกได้อย่างเต็มที่ บางครอบครัวอาจเลือกฝากเด็กไว้กับญาติ ซึ่งอาจส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกในระยะยาวได้ หรืออีกตัวเลือกคือการจ้างพี่เลี้ยงเด็กหรือส่งลูกเข้าเนอสเซอรี ซึ่งแน่นอนว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูงและไม่ใช่ทุกครอบครัวที่สามารถเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ได้

โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมลงโทษผู้หญิงที่เป็นแม่ 

อีกหนึ่งเหตุผลที่มักถูกนำเสนอว่าเป็นปัจจัยของอัตราการเกิดที่น้อยลง คือ แนวโน้มการอยู่เป็นโสดของผู้หญิงในปัจจุบัน งานวิจัย ‘Gold Miss’ or ‘Earthy Mom’? Evidence from Thailand โดย ผศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ และ Lusi Liao พบว่า ร้อยละ 50-60 ของผู้หญิงไทยรุ่นใหม่โดยเฉพาะที่เกิดในช่วงทศวรรษ 2520 และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มชะลอการแต่งงานให้ช้าลง จนถึงเลือกอยู่เป็นโสดและไม่มีลูกเลย ด้วยเหตุผลว่ายิ่งเรียนสูงและมีรายได้มาก ต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการแต่งงานและการลาคลอดลูกก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนหนึ่งยังเป็นผลจากทัศนคติทางเพศในสังคมที่คาดหวังให้ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วต้องทำหน้าที่ในบ้านและนอกบ้านได้ดีพอๆ กัน จนสร้างความกดดันและทำให้ผู้หญิงจำนวนหนึ่ง ‘ต้องเลือก’ ระหว่างการมีลูกและความก้าวหน้าในการงาน

อีกปัญหาสำคัญคือ ‘ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างคนที่มีลูกและไม่มีลูก’ (parenthood wage gap) โดยผู้หญิงที่มีลูกจะได้รับค่าจ้างน้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่มีลูกร้อยละ 30 [2]Lusi Liao and Sasiwimon Warunsiri Paweenawat, “Parenthood Penalty and Gender Wage Gap,” PIER Discussion Paper, no. 102 (January 2019 หรือหากลาออกจากงานเพื่อเลี้ยงลูกเป็นเวลา 2-3 ปี ก็มีความเสี่ยงที่ตำแหน่งงานนั้นจะหายไป กลับเข้าไปทำงานใหม่ยากขึ้น หรือหากได้กลับไปทำงาน สภาพแวดล้อมในที่ทำงานส่วนใหญ่ก็ยังไม่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกและทำงานไปด้วยในเวลาเดียวกัน เช่น ยังมีไม่มีพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับให้นมลูกที่ออฟฟิศ และอาจเผชิญกับอคติในที่ทำงาน ราคาที่ผู้หญิงต้องจ่ายให้กับการตัดสินใจเป็นแม่คนจึงเป็นเสมือนบทลงโทษที่อาจทำลายเส้นทางอาชีพทั้งชีวิต (รูปที่ 6)

รูปที่ 6: ร้อยละของผู้หญิงที่เป็นโสดแบ่งตามระดับการศึกษา และราคาในการตัดสินใจมีลูกของผู้หญิง

ถึงเวลาปรับระบบนิเวศการเลี้ยงเด็ก

เมื่อกลับไปที่คำถามหลักว่า ‘สังคมแบบไหนที่คนไทยอยากมีลูก?’ คำตอบอาจมีหน้าตาหลากหลาย ตั้งแต่ สังคมที่ช่วยสนับสนุนให้การเลี้ยงดูเด็กไม่ยากลำบากสำหรับพ่อแม่จนเกินไป สังคมที่ให้สวัสดิการและไม่ลงโทษการมีลูก จนถึงสังคมที่เอื้อให้เด็กทุกคนเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพไม่ว่าจะยากดีมีจนเพียงใด

การพูดกระตุ้นให้ประชาชนมีลูกมากขึ้นเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ รัฐจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศการเลี้ยงเด็กที่ช่วยให้พ่อแม่สามารถเลี้ยงดูได้อย่างมีคุณภาพและไม่สร้างความยากลำบากให้กับพวกเขาจนเกินไป ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัวเสนอทางออกและความเป็นไปได้ทางนโยบาย ดังนี้

  1. เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าเป็นไปได้ ไม่เป็นภาระทางการคลัง

ปัจจุบันการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ราว 16,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งน้อยมาก โดยคิดเป็น 1 ใน 7 ของงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเท่านั้น แต่นโยบายดังกล่าวนี้ยังเป็นแบบคัดกรองที่ทำให้ครัวเรือนยากจนตกหล่นไปถึงร้อยละ 30 และเงินที่ให้นั้นยังไม่ครอบคลุมต้นทุนมากพอที่จะช่วยเด็กในครัวเรือนยากจนได้อย่างเพียงพอ [3]TDRI และ … Continue reading

ในอนาคตภาระงบประมาณของเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจะมีแนวโน้มลดลงตามจำนวนเด็กเกิดใหม่ การปรับนโยบายให้เงินอุดหนุนกับเด็กเล็กทุกคนอย่างถ้วนหน้าจึงเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ ไม่สร้างภาระทางการคลัง และคุ้มค่าที่จะลงทุนเพื่อแก้โจทย์ใหญ่ของประเทศ

อาทิ หากจัดสรรเงินอุดหนุน 600 บาทต่อเดือน ให้เด็กแรกเกิดอายุ 0-6 ปี อย่างถ้วนหน้า จะใช้งบประมาณต่อปีอยู่ที่ 36,961 ล้านบาท เพิ่มจากเดิม 21,121 ล้านบาทต่อปี ซึ่งยังน้อยกว่างบประมาณหลายด้านของประเทศในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น งบประมาณประกันราคาปาล์มน้ำมัน 22,185 ล้านบาท งบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ 22,250 ล้านบาท งบประมาณก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ 22,987 ล้านบาท และงบประมาณสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการจำนวน 74,000 ล้านบาท ถ้าหากรัฐเล็งเห็นว่าปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อยลงเป็นประเด็นสำคัญจริง ก็ควรต้องเร่งลงทุนให้มากขึ้น (รูปที่ 7)

รูปที่ 7: ข้อเสนอนโยบายปรับระบบนิเวศการเลี้ยงเด็ก

2ขยายสิทธิลาคลอด ปิดช่องว่างการเลี้ยงดูเด็ก 

ปัจจุบันสิทธิลาคลอด 98 วัน ของไทยที่ให้เฉพาะแรงงานในระบบประกันสังคมนั้นยังไม่เอื้อให้พ่อแม่เลี้ยงดูเด็กได้อย่างเต็มที่ในช่วงแรกเกิด แม้ล่าสุดรัฐบาลจะขยายวันลาคลอดของข้าราชการหญิงเป็น 188 วัน [4]มติคณะรัฐมนตรี 11 มกราคม 2565 แต่สิทธินั้นก็ยังไม่ครอบคลุมถึงพ่อแม่ส่วนใหญ่ในประเทศนี้ที่เป็นแรงงานนอกระบบ รัฐควรพิจารณาขยายวันลาคลอดเป็นอย่างน้อย 180 วันเพื่อให้สอดรับกับช่วงเวลา 6 เดือนแรกที่เด็กควรได้รับนมแม่ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ

นอกจากนี้ การออกแบบสิทธิลาคลอดยังควรคำนึงถึงเกณฑ์อายุขั้นต่ำของสถานรับเลี้ยงเด็กหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไปด้วย (ส่วนใหญ่ของไทยอยู่ที่ 3 ปี) เพื่อช่วยปิดช่องว่างที่พ่อแม่ที่ต้องกลับไปทำงานไม่ต้องดิ้นรนหาทางเลือกอื่นๆ ในการเลี้ยงลูกที่มีราคาแพง

3. ศูนย์เด็กเล็กฯ มีคุณภาพขึ้นได้ หากรัฐลงทุนมากพอ 

เวลาเปิด-ปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กควรสอดคล้องกับเวลาการทำงานของพ่อแม่ และรัฐบาลควรพิจารณาปรับอายุขั้นต่ำในการรับเด็กเล็กให้ลดลงเป็น 2 ปีในทางปฏิบัติให้ได้ ประเด็นสำคัญอีกด้านคือ ‘คุณภาพ’ ของศูนย์เด็กเล็กของรัฐที่ยังไม่ได้มาตรฐานในหลายพื้นที่ การยกระดับคุณภาพต้องอาศัยแรงสนับสนุนด้านงบประมาณจำนวนมากจากภาครัฐ องค์การยูนิเซฟเสนอว่าการลงทุนเพื่อพัฒนาเด็กเล็กในสัดส่วนร้อยละ 1 ของ GDP จะสามารถสร้างผลลัพธ์เชิงคุณภาพได้อย่างแท้จริง [5]UNICEF, Benchmark for Early Childhood Services in OECD Countries, 2008 ซึ่งปัจจุบันไทยยังลงทุนเพียงร้อยละ 0.25 ของ GDP เท่านั้น ห่างไกลจากหลายประเทศที่กำลังเร่งพัฒนาและลงทุนในเด็กเล็ก รวมทั้งเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างเวียดนามที่กำลังเข้าใกล้เป้าหมายการลงทุนในเด็กเล็กที่ร้อยละ 1 ของ GDP


รูปที่ 8: สัดส่วนการลงทุนด้านการศึกษาในระดับปฐมวัยต่อ GDP
ที่มา: OECD. (2017). Public Spending on Early Childhood and Care; UNESCO. (2018). Strengthening Costing and Financing of SDG 4.2.

4. ให้ความรู้กับพ่อแม่ และสร้างกลไกเชิงสังคมเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงเด็ก 

ท้ายที่สุด รัฐควรสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้และคำแนะนำในการเลี้ยงเด็กแก่พ่อแม่อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ครอบครัวสามารถเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กแต่ละช่วงวัยให้เติบโตอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพ ทั้งความรู้ด้านพัฒนาการต่างๆ การส่งเสริมสุขภาวะ การพัฒนาทักษะสำคัญ และการเสริมสร้างประสบการณ์สำหรับเด็ก โดยอาจดำเนินการในรูปแบบของ “โรงเรียนพ่อแม่” ที่ครอบคลุมในหลายพื้นที่ของประเทศ รวมไปถึงควรริเริ่มสร้างกลไกเชิงสังคมที่ช่วยสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็ก เช่น การให้คนในชุมชนสามารถช่วยดูแลเด็กแทนได้ ในกรณีที่พ่อแม่ต้องทำงาน

อินโฟกราฟฟิก

รายงาน/บทวิเคราะห์ฉบับเต็ม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ต้องพิการแค่ไหนรัฐไทยถึงมองเห็น

ในปัจจุบันยังมีผู้พิการจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการในระบบของภาครัฐ ขอเชิญชวนทุกท่านมาทำความเข้าใจสาเหตุที่ผู้พิการจำนวนมากตกหล่นไม่ได้รับสวัสดิการ และหาแนวทางที่จะทำให้ผู้พิการได้รับการช่วยเหลืออย่างที่สมควรได้รับ

ความเสี่ยงซึมเศร้า ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด?

ความเสี่ยงซึมเศร้า ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด?

ความเข้มแข็ง-อ่อนแอในจิตใจคนเราเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ เราฝึกฝนกำหนดใจเราเองได้แค่ไหน? นโยบายของรัฐควรมีบทบาทอย่างไรกับปัจจัยที่เกินการควบคุมของปัจเจกบุคคล?

ชายแดน/เมืองหลวง: สองขั้วปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษาไทย

เด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษา 1 ล้านคน ปัญหารุนแรงที่สุดในพื้นที่ชายแดนติดเทือกเขาสูง และในใจกลางเมืองหลวงของประเทศ

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2024 kidforkids.org | All rights reserved.