“กลับบ้านใช่มีความสุข” ความเปราะบางทับซ้อนของครอบครัวไทยในช่วงโควิด-19

ครอบครัวเปราะบาง

พ่อแม่ลูกอยู่กันอย่างอบอุ่น ครอบครัวขยายอยู่กันอย่างพร้อมหน้าและผาสุก นี่คือภาพฝันของครอบครัวไทยในอุดมคติ ถ้าบ้านไหนพ่อแม่ต้องออกไปทำงานไกลบ้านเพื่อปากท้อง และทิ้งลูกให้อยู่กับปู่ย่าตายายกลายเป็น ‘ครอบครัวแหว่งกลาง’ บ้านนั้นย่อมถูกมองว่ามีปัญหา

ใช่! – บ้านที่พ่อแม่ไม่มีโอกาสได้อยู่กลับลูกย่อมมีปัญหาและความยากลำบาก ข้อเท็จจริงข้างต้นได้รับการพิสูจน์ทั้งในรูปแบบของงานวิชาการและเรื่องราวดราม่าผ่านสื่อจำนวนมาก กระนั้นการแก้ปัญหาย่อมไม่ใช่แค่การเอาพ่อแม่กลับมาบ้านโดยที่ปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นที่ผลักให้พวกเขาออกไปไม่เคยถูกแก้ไข เพราะภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เหลื่อมล้ำอัปลักษณ์ยิ่งของสังคมไทย ‘การกลับมาพร้อมหน้าพร้อมตา’ อาจหมายถึงการซ้ำเติมปัญหายิ่งกว่าเดิม

การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นบททดสอบใหญ่ของครอบครัวไทยจำนวนมาก เมื่อพ่อกับแม่ที่เคยออกจากบ้านจำเป็นต้องกลับไปอยู่บ้านเนื่องจากตกงาน หลายคนมองโลกในแง่ดีว่านี่คือ ‘ของขวัญจากโควิด-19’ ที่เปิดโอกาสให้ครอบครัวได้กลับมาอยู่กันพร้อมหน้าอีกครั้ง แต่อีกด้านหนึ่ง คำพูดเหล่านี้ก็สะท้อนว่าสังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับครัวเรือนเปราะบางอยู่มากและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความรู้ใหม่ในเรื่องนี้  

101 ชวนสำรวจและทำความเข้าใจความเปราะบางของครอบครัวไทยในปัจจุบันที่หลากหลาย ทับซ้อน และลื่นไหล ผ่านงานวิจัยใหม่ล่าสุดเรื่อง “พลวัตครอบครัวในสังคมไทยในสถานการณ์โควิด–19 : การปรับตัวของครัวเรือนเปราะบาง และข้อเสนอเชิงนโยบายด้านเด็กและครอบครัว” โดย ผศ.ดร.สร้อยมาศ รุ่งมณี วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.วาสนา ละอองปลิว วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดร.บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งจุดเด่นของงานวิจัยนี้คือ การฉายภาพให้เห็นพลวัตของครัวเรือนเปราะบางในชนบทประเทศไทยผ่านแว่นตานักสังคมวิทยาชนบทและมานุษยวิทยาการย้ายถิ่น โดยศึกษาแบบเจาะจงลงพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือและภาคอีสาน

นอกจากนี้ 101 ยังได้รวบรวมความเห็นของ ผศ.ดร.ธร ปีติดล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนนโยบายสำหรับเด็กและครอบครัวไทยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในหลากมุมมองด้วย


(จากซ้ายไปขวา) บุศรินทร์ เลิศชวลิตกุล, สร้อยมาศ รุ่งมณี, วาสนา ละอองปลิว, ธร ปีติดล, จะเด็จ เชาวน์วิไล


พลวัตครอบครัวไทยในสถานการณ์โควิด–19


งานวิจัยเชิงคุณภาพชิ้นนี้ได้ทำความเข้าใจพลวัตการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ความท้าทายในเรื่องการดูแลและการอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กในครอบครัวเปราะบาง และออกแบบข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวไทย ผ่านการลงพื้นที่ในจังหวัดอุดรธานี ลำปาง พิษณุโลก ตาก และเชียงราย ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีครอบครัวย้ายถิ่นและครอบครัวแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ โดยผลงานวิจัยพบว่า…

(1) คำว่า ‘ครอบครัว’ มีความซับซ้อน ไม่สามารถจำกัดความได้และมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ไม่ได้แหว่งกลางตลอดไป ไม่ได้เลี้ยงเดี่ยวตลอดไป เนื่องจากพ่อหรือแม่อาจมีการแต่งงานใหม่ เป็นต้น หรือแม้กระทั่งคำว่า ‘แหว่งกลาง’ ยังสะท้อนหลายความหมาย ทั้งการที่รุ่นพ่อแม่ย้ายถิ่นไปหารายได้เพื่อครอบครัว รุ่นพ่อแม่ติดยาเสพติดเรื้อรัง รุ่นพ่อแม่ถูกจำคุกในคดีอาชญากรรม หรือรุ่นพ่อแม่ย้ายถิ่นเพื่อหนีหนี้สิน ฯลฯ

(2) ความแหว่งกลางอาจไม่ได้ถูกเติมเต็มเมื่อสมาชิกครอบครัวกลับมาอยู่พร้อมหน้า เนื่องจากลูกอาจจะไม่มีความผูกพันกับผู้ให้กำเนิด หรือคนรุ่นพ่อแม่อาจมีปัญหาสุขภาพหรือปัญหาอื่นๆ ที่ไม่พร้อมทำหน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตร

(3) ครอบครัวแรงงานข้ามชาติอยู่อย่างเปราะบาง แต่ ‘กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง’ เพราะสถานการณ์การเมืองในประเทศบ้านเกิดและการมีชีวิตทางเศรษฐกิจอยู่ในประเทศไทยของคนในครอบครัว


บุศรินทร์ เลิศชวลิตกุล


สำหรับการศึกษาประเด็นผลกระทบจากโควิด-19 ต่อครอบครัวเปราะบาง พบว่าโควิด-19 ไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาการดูแลเด็กอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากครอบครัวไทยเผชิญความเปราะบางทับซ้อนตั้งแต่ก่อนโควิด-19 บางครอบครัวเผชิญความเปราะบางทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหารายได้น้อย/ไม่มีรายได้ ปัญหาหนี้สิน เป็นต้น ขณะที่บางครอบครัวเป็นครอบครัวแหว่งกลางที่รุ่นพ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้ ผู้ดูแลเด็กจึงเป็นผู้สูงอายุ คนรุ่นปู่ย่าตายายที่มีปัญหาสุขภาพและปัญหาด้านรายได้ ทำให้ไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้อย่างเต็มที่ เฉกเช่นกรณีศึกษาของครอบครัวบ้านหัวทุ่ง ต.บ้านใหม่พัฒนา อ.เกาะคา ลำปาง ซึ่งเป็นครอบครัวแหว่งกลางที่คุณยายอาศัยกับหลานอายุ 15 ปี มีความเปราะบางทับซ้อนด้านรายได้ กล่าวคือมีรายได้น้อยและมีหนี้สินรุงรัง โดยคุณยายเคยมีประวัติย้ายถิ่นไปต่างประเทศ แต่ปัจจุบันกลับมาและเลี้ยงหลานเป็นหลัก ความทับซ้อนคือคุณยายมีปัญหาสุขภาพ เนื่องจากสภาพร่างกายผ่านการทำงานหนัก และหลานมีปัญหาด้านสมาธิ รวมถึงปัญหาเรื่องการเรียนจนโรงเรียนเชิญให้ออกถึง 2 ครั้ง

จากปัญหาที่ครอบครัวเปราะบางเผชิญมาอย่างยาวนาน เมื่อต้องเจอกับมรสุมโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้ปัญหาของครอบครัวไทยทวีความรุนแรงและเป็นปัญหาต่อเนื่องทับซ้อนมากขึ้น ผู้ปกครอง โดยเฉพาะผู้หาเช้ากินค่ำไม่สามารถหารายได้ในช่วงโควิด-19 มาจุนเจือครอบครัว ส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่ในครัวเรือน ประกอบกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการที่ประกาศให้มีการปิดโรงเรียนก็กระทบต่อเด็กในพื้นที่ต่างจังหวัด ทำให้เด็กในโรงเรียนที่มีโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอหรืออยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อยขาดการเข้าถึงการเรียนรู้อย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสม รวมไปถึงผู้ปกครองต้องรับผิดชอบดูแลเด็กที่มีความต้องการเป็นพิเศษในระหว่างปิดโรงเรียน

แม้รัฐบาลจะผ่อนปรนมาตรการในการควบคุมผู้ติดเชื้อในภายหลัง แรงงานรายวันก็ยังคงเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 และมีความเสี่ยงในการนำเชื้อมาติดสมาชิกในครอบครัว ผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ทำให้เด็กที่มีสมาชิกในครอบครัวติดโควิดนำความเสี่ยงไปยังโรงเรียน ส่งผลให้โรงเรียนรับภาระหนักในการคัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยง กระทบต่อการจัดการเรียนการสอนและคุณภาพการเรียนรู้

งานวิจัยชิ้นนี้ยังศึกษาการดูแลและสวัสดิการที่ครอบครัวเปราะบางได้รับ โดยพบว่าครอบครัวเปราะบางส่วนใหญ่ได้รับสิทธิและสวัสดิการที่รัฐจัดสรรให้ แต่ภาระค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ยังอยู่บนบ่าของครอบครัวไทย เด็กบางส่วนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากบางสวัสดิการอย่างการเรียนฟรีได้เต็มที่ เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนไปโรงเรียน เช่น ไม่มีผู้ปกครองไปส่งหรือถนนหนทางไม่สะดวกต่อการไปโรงเรียน นอกจากนี้สวัสดิการเด็กบางอย่างยังไม่เพียงพอต่อเด็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ อาทิ เด็กที่มีภาวะออทิสติก หรือเด็กพิการ เป็นต้น

ด้านครอบครัวแรงงานข้ามชาติ งานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการที่เชื่อมโยงกับสถานะพลเมืองและการเข้าเมืองของครอบครัวแรงงานข้ามชาติอันเป็นปัญหาตั้งต้นและเรื้อรังต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงก่อนจนถึงหลังโควิด-19 เด็กและเยาวชนที่เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงโรงเรียนหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้อย่างแท้จริง เนื่องด้วยเด็กไม่มีสถานะทางทะเบียน ยิ่งเมื่อหลังโควิด-19 ส่งผลให้ครอบครัวข้ามชาติบางส่วนขาดรายได้และไม่สามารถรักษาต่อสถานะดังกล่าวก็ยิ่งทำให้ครอบครัวข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการได้ อีกทั้งข้อมูลยังเผยให้เห็นว่าเหตุการณ์รัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2564 ในประเทศพม่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายลูกหลานแรงงานข้ามชาติเพื่อเข้าถึงการศึกษาในพื้นที่ชายแดนประเทศไทย


สร้อยมาศ รุ่งมณี


ข้อเสนอในการดูแลเด็กและเยาวชนจากงานชิ้นนี้จึงอาจสรุปได้ 4 ประการได้แก่

(1) ให้ความสำคัญกับรัฐบาลท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ เพื่อสร้างสวัสดิการที่สามารถตอบโจทย์คนในพื้นที่อย่างแท้จริง พร้อมทั้งอบรม ให้ความรู้รัฐบาลท้องถิ่นในการช่วยเหลือครอบครัวเปราะบาง ไม่ให้เด็กในครอบครัวเปราะบางถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

(2) จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาเด็กในระดับชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วยครูในพื้นที่ ผู้นำชุมชน ตัวแทนอปท. เพื่อทำหน้าที่ในการประสานงานแก้ไขปัญหาสำหรับเด็กที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง และทำงานเชิงรุก เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เด็กอาจได้รับร่วมกับหน่วยงานภายนอก และนักวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักจิตวิทยา นักโภชนาการ ฯลฯ

(3) รัฐจัดสรรสวัสดิการในรูปแบบเงินที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและจัดเตรียมทรัพยากร บุคลากรหรือโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เพื่อเติมเต็มความทับซ้อนของครอบครัวเปราะบางและสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม

(4) ยกระดับระบบการจ้างงานและสวัสดิการให้เข้าถึงง่าย รวมถึงการเปลี่ยนวิธีคิดของสังคมให้เคารพความเป็นมนุษย์ เพื่อไม่ให้ครอบครัวแรงงานข้ามชาติถูกกันออกจากสวัสดิการและถูกตีกรอบเป็นคนนอก ทั้งที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย

ในช่วงท้ายผู้วิจัยได้ให้ความเห็นถึงความท้าทายและข้อสังเกตเพิ่มเติมจากการทำวิจัยชิ้นนี้ โดยสร้อยมาศเผยว่าบริบทของชุมชนไทยที่มีคติ ‘ความในอย่านำออก ความนอกอย่าเอาเข้า’ ทำให้ชาวบ้านอายและไม่กล้าสื่อสารถึงปัญหาครอบครัวโดยตรง ขณะที่บุศรินทร์ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ครอบอยู่อาจมีส่วนทำให้ครอบครัวฝั่งหญิงต้องรับมรดกความเปราะบางและภาระในการดูแลลูกและครอบครัวมากกว่าครอบครัวฝั่งชาย

“สิ่งที่ค่อนข้างตกใจก็คือว่าสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เองที่สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีบทบาทโดยตรงในการดูแลคนเปราะบาง แต่การจัดสรรสวัสดิการกลับอยู่บนฐานของงบประมาณที่กระทรวงได้รับ การจัดสรรงบประมาณก็ถูกกระจายไปในพมจ.แต่ละพื้นที่ว่ามีโควตาควรจะได้รับเท่าไหร่ ซึ่งมันกลายเป็นว่าการดูแลอยู่บนกรอบของงบประมาณมากกว่าที่จะอยู่บนฐานของสถานการณ์ความเปราะบาง” วาสนาตั้งข้อสังเกตปิดท้าย พร้อมให้ความเห็นว่าวิธีคิดในการจัดสวัสดิการของรัฐควรจะวางอยู่บนฐานของสถานการณ์ความเปราะบาง มากกว่าจัดตามโควตาและควรคำนึงถึงความหลากหลายของปัญหาที่เด็กเผชิญ เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีความยืดหยุ่น


วาสนา ละอองปลิว


เงินอุดหนุนต้องเพียงพอ และระบบคุ้มครองดูแลต้องมีคุณภาพ


ธร ปีติดล กล่าวว่า “งานวิจัยนี้เป็นประโยชน์มากสำหรับคนทำงานนโยบายที่ทำงานภาพใหญ่ โดยเฉพาะการลงไปดูรายละเอียดของแต่ละครอบครัว และทำให้เห็นความเปราะบางลึกลงไปจากตัวเลข ทั้งยังเผยให้เห็นความทับซ้อนและละเอียดอ่อนของครอบครัว เช่น ครัวเรือนแหว่งกลางที่ไม่ได้มีเพียงลักษณะพ่อแม่ไปทำงานต่างพื้นที่ แต่ยังมีลักษณะครัวเรือนแหว่งกลางที่พ่อแม่หย่าร้างและไม่ได้เลี้ยงดูลูก” นอกจากนี้ ธรยังมองว่า การฉายภาพความละเอียดอ่อน ซับซ้อน และมีพลวัตของครอบครัวไทยที่ไม่ตั้งอยู่บนฐานครอบครัวแบบคนชนชั้นกลางในเมือง คือหัวใจสำคัญของการทำนโยบายเด็กและครอบครัว


ธร ปีติดล


ธรเสนอให้เพิ่มสวัสดิการเงินอุดหนุนบุตร เนื่องด้วยปัจจุบันเงินอุดหนุนบุตรมีจำนวนเพียง 600-1,000 บาท ขณะที่ค่าเฉลี่ยบริโภคต่อหัวของครัวเรือไทยอยู่ที่ 4,000-5,000 บาท ทำให้เงินดังกล่าวไม่ได้มีบทบาทในการพยุงฐานะของครอบครัว และไม่สามารถเปลี่ยนคุณลักษณะการใช้ชีวิตของครัวเรือนย้ายถิ่นได้ พร้อมเสนอให้ปฏิรูปทั้งระบบสวัสดิการ เนื่องจากปัญหาเปราะบางของครอบครัว มีทั้งเด็กและเยาวชน แรงงานและผู้สูงอายุเกี่ยวข้องจึงต้องปรับปรุงให้ครบทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงระบบประกันสังคมให้มีความยืดหยุ่นสอดรับภาวะเข้า-ออกของแรงงานในประเทศและแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับ และสร้างระบบดูแลผู้สูงอายุ

อีกทั้งยังเห็นด้วยเรื่องการจัดทำระบบคุ้มครองดูแลครอบครัวร่วมกันระหว่างชุมชนและท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการและกลุ่มคนเปราะบางผ่านการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เตรียมความพร้อมกลุ่มบุคลากรที่มีความรู้ในการดูแลเด็กและครอบครัว และนักจิตวิทยา นักบำบัดที่จะช่วยดูแลเด็กที่มีปัญหา ฯลฯ โดยธรเชื่อว่าระบบคุ้มครองนี้เองจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างความแตกต่างในระยะยาว ขณะเดียวกันเขาก็ตั้งคำถามท้าทายถึงเส้นแบ่งระหว่างการทำหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือของภาครัฐว่าจะสามารถทำหน้าที่แทนครอบครัวที่แท้จริงได้แค่ไหน


ลดชายเป็นใหญ่ในครอบครัว สนับสนุนการรวมกลุ่มของชุมชน


จะเด็จเกริ่นว่างานวิจัยนี้ช่วยให้สังคมไทยตระหนักถึงภาวะครอบครัวเปราะบางในประเทศไทย โดยเขาได้เพิ่มเติมมุมมองที่น่าสนใจด้วยการเชื่อมโยงวิธีการมองครอบครัวไทยกับนโยบายรัฐ และปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ เช่น ประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่ง 8 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเพิ่มที่ต่ำ ส่งผลต่อรายได้ของครอบครัวไทย ประเด็นเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 600 บาทที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ หรือกระทั่งเบี้ยชราภาพที่ยังมีสัดส่วนไม่มากพอจะช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงปัญหาในครอบครัวกับการใช้อำนาจของคนในครอบครัว เช่น การใช้อำนาจแบบชายเป็นใหญ่ในครอบครัว การมองเด็กเป็นสมบัติของครอบครัว เพื่อควบคุมหรือใช้ความรุนแรงกับเด็ก

“ปัญหาปัจเจกเกิดจากนโยบายแย่ที่ทับถมกันจนเกิดปัญหา เพราะฉะนั้นผมคิดว่าข้อเสนอต้องไปประกอบไปด้วยหลายส่วน ข้อเสนอในเชิงสวัสดิการที่รัฐบาลท้องถิ่นทำไม่ได้ก็จำเป็น เพราะจะมีผลต่อคนในท้องถิ่น เช่น อุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 600 บาท เบี้ยชราภาพ เงินพวกนี้ทำให้กลุ่มเปราะบางมีกำลังในการช่วยตัวเอง ขณะเดียวกันต้องทำงานควบคู่กับการปรับวิธีคิดในการทำความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศภายในครอบครัว” จะเด็จกล่าวถึงข้อเสนอในการลดความเปราะบางครอบครัวไทย


จะเด็จ เชาวน์วิไล


นอกจากนี้ จะเด็จได้กล่าวถึงสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว ซึ่งปัจจุบันมีการขับเคลื่อนอยู่ ได้แก่ การเพิ่มวันลาคลอด การปรับทัศนคติของผู้ชายให้ดูแลลูก การจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในภาคอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐาน เพื่อให้พ่อแม่มีโอกาสได้เลี้ยงดูลูก ขณะที่ข้อเสนอของงานชิ้นนี้ที่กล่าวถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในการสร้างคณะทำงานเพื่อดูแลครอบครัวเปราะบาง เขาเห็นว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะต้องมีการโอนย้ายโรงเรียน หรือโรงพยาบาลไปยังหน่วยงานท้องถิ่น และปฏิรูปงบประมาณ เพื่อเพิ่มอำนาจท้องถิ่นในการจัดการความเป็นอยู่ของครอบครัวไทย

ไม่เพียงเท่านั้นจะเด็จยังเน้นย้ำถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของกระบวนการประชาชนและสนับสนุนการรวมกลุ่มของคนในชุมชน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองในการพัฒนาสวัสดิการสำหรับครอบครัวไทย รวมถึงมีบทบาทเข้มแข็งในการจัดการกับวิกฤตในอนาคต



หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจากงาน ‘Research Roundup 2022’ หัวข้อ “นโยบายเด็กและครอบครัวแห่งอนาคต: ขยายพื้นที่ปฏิรูปนโยบายสาธารณะเพื่ออนาคตของเด็กไทย” โดย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)


วิจัย/เขียน

กรกมล ศรีวัฒน์

บทความที่เกี่ยวข้อง

เติมทุน-หนุนการมีส่วนร่วม: เปลี่ยนฝันของเยาวชนไปสู่พลังการเปลี่ยนแปลง

เติมทุน-หนุนการมีส่วนร่วม: เปลี่ยนฝันของเยาวชนไปสู่พลังการเปลี่ยนแปลง

คิด for คิดส์ ชวน โชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง, อดิศร จันทรสุข, และ ณัฐภัทร เนียวกุล แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับอุปสรรคที่เยาวชนพบเจอในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคม ตลอดจนเสนอแนวทางลดอุปสรรค-พัฒนากลไกสนับสนุนพวกเขา

‘ธนาคารหน่วยกิต’ ทางเลือกการศึกษายืดหยุ่นที่ต้องทำอย่างรอบคอบ

‘ธนาคารหน่วยกิต’ ทางเลือกการศึกษายืดหยุ่นที่ผลักดันโดยรัฐบาลคืออะไร? ปัจจุบันทำถึงไหนแล้ว? และมีอะไรที่ต้องระวัง?

ปรับนโยบายให้ 'เห็นหัว' เด็กและเยาวชนด้วย CYIA (Child and Youth Impact Assessment)

ปรับนโยบายให้ ‘เห็นหัว’ เด็กและเยาวชนด้วย CYIA (Child and Youth Impact Assessment)

คิด for คิดส์ ชวนทำความรู้จักแนวคิด CYIA (Child and Youth Impact Assessment) ซึ่งหลายประเทศใช้เป็นเครื่องมือปรับปรุงนโยบายให้ ‘เห็นหัว’ เด็กและเยาวชนยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสำรวจแนวทางการนำ CYIA มาใช้ประเมินนโยบายในรูปแบบ ‘ร่างกฎหมาย’ ในไทย

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2025 kidforkids.org | All rights reserved.