เพิ่มทรัพยากร-สร้างทางเลือก-สนับสนุนสิทธิ: สามเสาหลักนโยบายสาธารณะเพื่อเด็กและเยาวชนไทยในโลกใหม่

“การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดคือ การลงทุนในเด็กและเยาวชน”

ความข้างต้นไม่เพียงแต่สอดคล้องกับสามัญสำนึก หากแต่มีงานวิจัยและงานวิชาการสนับสนุนอย่างแข็งแรง ประเทศพัฒนาแล้วจึงมักยกให้เด็กเป็นหัวใจสำคัญและเป็นศูนย์กลางของการออกแบบนโยบาย มุ่งให้เกิดการออกแบบนโยบายสาธารณะที่ตรงจุด และครอบคลุมทุกช่วงจังหวะชีวิตของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเติบโต

เมื่อย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เราเห็นความพยายามหลายอย่างทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งภาคประชาสังคม ที่ร่วมกันออกแบบนโยบายหรือกลไกเพื่อเด็กและเยาวชน อาทิ เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด การให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงการอุดหนุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทว่าคำถามสำคัญอยู่ตรงที่ว่า นโยบายหรือมาตรการต่างๆ ของประเทศไทยเพียงพอแล้วหรือไม่ เพราะถ้าเราลองพิจารณานโยบายและมาตรการทั้งหมดอย่างถี่ถ้วน มองลึกลงไปในรายละเอียด เราจะเห็นช่องโหว่บางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ ก่อให้เกิดช่องว่างที่อาจทำให้เด็กบางคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือเด็กจากครัวเรือนยากจน ต้องร่วงหล่นจากช่องว่างของการพัฒนาและไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ

ยังไม่นับว่าการพัฒนาเด็กและเยาวชนไม่ได้เกี่ยวข้องแค่กับเด็ก แต่ยังมีองค์ประกอบแวดล้อมมากมาย ไล่เรียงตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงสังคมและประเทศชาติ นโยบายสาธารณะเพื่อเด็กและเยาวชนจึงไม่ใช่แค่นโยบายที่คิดถึงตัวเด็ก แต่ต้องคำนึงถึงระบบนิเวศเหล่านี้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในโลกที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน ผันผวน และไม่แน่นอน ซึ่งย่อมส่งผลกระทบในทุกจังหวะชีวิตของเด็กและเยาวชน

พูดอีกแบบคือ การออกแบบนโยบายเด็กและเยาวชนจำเป็นต้องมีหลักคิดที่ชัดเจน เพื่อให้ฐานในการทำนโยบายที่ตอบโจทย์ความท้าทายในอนาคตของเด็กและเยาวชนได้อย่างแท้จริง

ขยายพื้นที่ปฏิรูปนโยบายสาธารณะเพื่ออนาคตของเด็กไทย – ฉัตร คำแสง

“ครอบครัว รัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น ล้วนแล้วแต่เป็นระบบนิเวศที่สามารถส่งผลกระทบกับเด็กและพัฒนาการครอบครัว ในทางกลับกัน ครอบครัวก็สามารถส่งผลต่อระบบนิเวศเหล่านี้ได้ การส่งเสริมเด็กและครอบครัวจึงแยกขาดจากสังคมไม่ได้”

ข้างต้นคือคำกล่าวนำจาก ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank (101 PUB) พร้อมกันนี้ ฉัตรยังชี้ให้เห็นภาพที่ใหญ่กว่าระบบนิเวศการเรียนรู้ในสังคม คือเรื่องโลกที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และกำกวม หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม ‘VUCA’ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย ตั้งแต่เรื่องโรคระบาดอย่างโควิด-19 ไปจนถึงเรื่องสืบเนื่องอย่างวิกฤตการณ์ค่าครองชีพ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ไปจนถึงเรื่องที่มาพร้อมกับศตวรรษที่ 21 อย่างนวัตกรรมและเทคโนโลยี และเทรนด์การเป็นพลเมืองโลก ซึ่งก่อให้เกิดความไม่ลงรอยระหว่างเจเนอเรชันและอาจส่งผลกระทบต่อการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นกัน

นอกจากนี้ ฉัตรยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาสำคัญอย่าง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยมาโดยตลอด กล่าวคือเด็กและเยาวชนของไทย 70% อยู่ในครัวเรือนที่มีสิทธิได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (หรือที่หลายคนเรียกกันจนติดปากว่า ‘บัตรคนจน’) ขณะที่ 73% ของเด็กอายุ 0-6 ขวบ เข้าเกณฑ์ได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด นำมาซึ่งปัญหาภาวะทุพโภชนาการและการเข้าไม่ถึงการศึกษา

ทั้งนี้ หลายคนมองว่าการอุดหนุนแบบถ้วนหน้าอาจก่อให้เกิดภาระทางงบประมาณจำนวนมหาศาล ทว่าฉัตรชี้ให้เห็นประเด็นน่าสนใจว่า การทำให้เด็กที่เข้าเกณฑ์ทุกคนได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถ้วนหน้าไม่ใช่ภาระทางงบประมาณอย่างที่หลายคนคิด โดยทุกวันนี้ เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดทั้งหมดคิดเป็นจำนวนไม่เกิน 20,000 ล้านบาท และเมื่อมองไปในอนาคตที่มีเด็กเกิดน้อยลงทุกวัน งบประมาณตรงนี้ย่อมจะลดน้อยลงเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี ฉัตรชี้ให้เห็นว่าการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยจะทำให้งบประมาณที่ต้องใช้ในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ฉัตร คำแสง

ในระดับโลก ฉัตรยกให้สหภาพยุโรป (EU) เป็นตัวอย่างของแนวปฏิบัติที่ดีในเรื่องนโยบายเด็กและครอบครัว กล่าวคือสหภาพยุโรปยกให้เด็กเป็นหัวใจของการลงทุน มีการลงทุนอย่างเต็มที่ ทั่วถึง เพิ่มทางเลือกให้มีคุณภาพ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดสิทธิการมีส่วนร่วมของเด็กให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถเติบโตเป็นพลเมืองในโลกใหม่ได้อย่างมีคุณภาพ

เมื่อมาถึงตรงนี้ ฉัตรชี้ให้เห็นโจทย์ใหญ่สำคัญ 3 ข้อที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน โจทย์ข้อแรก คือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็ก ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากที่บอกว่า ยิ่งลงทุนกับเด็กเร็วจะยิ่งได้ผลตอบแทนสูง โดยอาจสูงถึง 7-13% ต่อปีและทบต้นไปถึงอนาคต เพราะเด็กจะเติบโตได้ดีถ้ามีรากฐานที่ดีมากขึ้น

โจทย์ข้อที่สอง คือการวางระบบให้เกิดสังคมแบบเสมอหน้า กล่าวคือการทำให้เด็กทุกคน ไม่ว่าจะเติบโตในครอบครัวแบบไหน ไม่มีอุปสรรคในการเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ถ้าแปลงโจทย์ข้อนี้ออกมาเป็นรูปธรรมคือเรื่องการขยายสิทธิให้ครอบคลุมมากขึ้น

“คำว่าสิทธิไม่ได้หมายถึงการสงเคราะห์ การทำบุญ หรือการบริจาค แต่เป็นสิทธิที่ทุกคนจะได้รับการประกันว่า ไม่ว่าจะเกิดมายังไง ทุกคนจะได้รับโอกาสที่เท่ากันและเข้าถึงได้จริง” ฉัตรอธิบาย พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า เราจะทำอย่างไรให้เข้าใจพฤติกรรมกลุ่มคนยากจนได้จริงๆ ทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่า สิ่งที่มีอยู่สามารถช่วยเหลือเขาได้ ไม่ใช่ว่ามีแล้วจบไป

“การมีสวัสดิการเด็กเล็กที่ดีจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจระยะยาวเติบโตได้ดีขึ้น และทำให้ความขัดแย้งในสังคมลดลงได้เช่นกัน”

และ โจทย์ข้อที่สาม คือการออกแบบแรงจูงใจเชิงสถาบันของทั้งรัฐ เอกชน และชุมชนเข้าด้วยกัน เพราะแต่กลไกมีจุดแข็งจุดอ่อนแตกต่างกันออกไป ถ้าพูดให้ชัดขึ้น ฉัตรอธิบายว่ารัฐมีหน้าที่ดูการทำงานในภาพรวมของทั้งประเทศ มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรมและแก้ปัญหาความล้มเหลวของตลาด ขณะที่เอกชน (ตลาด) เก่งเรื่องการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ ขณะที่ชุมชนมีหน้าที่โอบอุ้มไม่ให้ใครร่วงหล่น ซึ่งจะช่วยเติมเต็มช่องว่างของทั้งรัฐและตลาดได้อย่างชัดเจน

เมื่อกลับมาที่การขยายพื้นที่ปฏิรูปนโยบายสำหรับประเทศไทย ฉัตรชี้ให้เห็นว่านโยบายเด็กและครอบครัวถือเป็นหัวใจของการพัฒนาสังคม เพราะนโยบายดังกล่าวคือการพัฒนาอนาคตของเด็กทั้งชีวิต และนั่นเท่ากับอนาคตของสังคมเช่นกัน

“ในโลกใหม่ใบนี้ นอกจากการตั้งโจทย์ว่านโยบายเด็กต้องเป็นหัวใจสำคัญ เรายังต้องคิดด้วยว่าจะทำอย่างไรจึงจะตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุด โดยอาจจะต้องเริ่มจากการกำหนดโจทย์ที่ใช่สำหรับสังคมและกระทบกับชีวิตของผู้คน ใช้หลักฐานข้อมูลเชิงวิชาการเพื่อดูนโยบายที่ผ่านมา พูดถึงการปฏิบัติจริงเพื่อไม่ให้เรื่องเหล่านี้อยู่แต่บนหอคอยงาช้าง และออกแบบนโยบายที่ประเมินผลได้จริงเพื่อให้ครบลูปของนโยบาย” ฉัตรกล่าว

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ฉัตรยกตัวอย่าง 3A ที่แต่ละนโยบายต้องมี โดย A แรกคือการยอมรับ (acceptance) กล่าวคือนโยบายดังกล่าวต้องได้รับการยอมรับ มีความชอบธรรม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อนโยบายดังกล่าวตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุด ช่วยแก้ปัญหาและสร้างผลลัพธ์ได้จริงๆ หรือถ้าพูดให้ถึงที่สุด นโยบายดังกล่าวจะสามารถสร้างคานดีดคานงัดเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอื่นๆ ในประเทศได้

พร้อมกันนี้ นโยบายยังต้องมีศักยภาพ (ability) ทั้งในแง่ทรัพยากรมนุษย์ ทุน และเวลา และสุดท้ายคือเรื่องกฎหมายและอำนาจหน้าที่ (authority) ที่รัฐบาลหรือหน่วยงานต่างๆ จะสามารถเอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาสังคมได้ พร้อมกันนี้ ฉัตรชี้ว่า กฎหมายสามารถเปลี่ยนแปลงได้ถ้าสังคมให้ความชอบธรรม และเราสามารถเปลี่ยนกฎหมายให้เอื้อกับการรับใช้สังคมได้เช่นเดียวกัน

จากนโยบาย ฉัตรพาเรากลับมาที่สามเสาหลักพื้นฐานที่จะช่วยเติมเต็มระบบนิเวศและทำให้เด็กเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ เสาหลักแรก คือการเพิ่มทรัพยากรในการดูแลและพัฒนาเด็ก ทั้งในแง่เงิน เวลา และความรู้ เสาหลักที่สอง คือการเพิ่มทางเลือกของนโยบายสาธารณะด้านการบริการให้เด็กได้เล่นและได้เรียนรู้ และเสาหลักที่สาม คือการประกันสิทธิของเด็กที่จะทำให้เด็กมีความรู้สึกเป็นพลเมือง รู้สึกว่าตนเองได้มีส่วนร่วมและมีเสรีภาพในการกำหนดสังคมที่เขาอยากอยู่

“ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีฐานรองรับ คือมีการทำฐานข้อมูลเชิงลึกที่ทำให้เราเข้าใจว่าเด็กและเยาวชนของสังคมไทยมีความคิดความอ่านอย่างไร อยากเห็นสังคมในอุดมคติเป็นแบบไหนจึงจะมุ่งไปสู่เป้าหมายและความฝันที่เด็กต้องการได้จริงๆ และนี่คือภาพรวมงานวิจัย Policy Insight ของ คิด for คิดส์ ในปีแรกนี้” ฉัตรทิ้งท้าย

– เสาหลักที่ 1: เพิ่มทรัพยากร –
คุม ‘กัญชาเสรี’ อย่างไร ให้ปลอดภัยกับเด็กและเยาวชนมากที่สุด

หนึ่งในประเด็นซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย คือเรื่องของการเปิดเสรีกัญชา โดย เจณิตตา จันทวงษา นักวิจัยจาก 101 PUB เจ้าของงานวิจัย ‘คุม ‘กัญชาเสรี’ อย่างไร ให้ปลอดภัยกับเด็กและเยาวชนที่สุด’ โดยเจณิตตาเริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นถึง ‘ทางแพร่ง’ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเมื่อพูดถึงประเด็นกัญชาเสรี กล่าวคือคนส่วนหนึ่งพยายามผลักดันให้การปลูกและใช้กัญชาเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่อีกด้านหนึ่งมองว่ากัญชาเป็นสิ่งเสพติดและไม่ควรทำให้ถูกกฎหมาย

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เจณิตตาพาเราย้อนกลับไปดูพัฒนาของการเปิดเสรีกัญชา โดยแนวคิดดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอย่างจริงจังช่วงปี 2562 ที่มีการเปิดให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ จนกระทั่งนโยบายกัญชาเสรีถูกหยิบมาเป็นตัวชูโรงในการหาเสียงของพรรคภูมิใจไทย

การเปิดเสรีกัญชาในประเทศไทยมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศให้ทุกส่วนของกัญชาและกัญชงไม่ถือเป็นยาเสพติดอีกต่อไป หากมีสาร THC หรือก่อให้เกิดฤทธิ์เมาไม่เกิน 0.2%

“ถ้าพูดเรื่องการออกแบบนโยบายกัญชาเสรีในภาพรวม เรามองว่าหัวใจสำคัญของการออกแบบนโยบายคือการสร้างสมดุลระหว่างเสรีภาพและความปลอดภัย เสรีภาพในที่นี้คือเสรีภาพของประชาชน ทั้งผู้ใช้กัญชาที่ต้องการใช้เพื่อดูแลสุขภาพก็ควรเข้าถึงและใช้กัญชาที่มีคุณภาพได้อย่างถูกกฎหมาย ส่วนความปลอดภัยคือเรื่องความปลอดภัยของเด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ หรือกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ควรใช้หรือบริโภค ซึ่งควรได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม รวมไปถึงความปลอดภัยและสวัสดิภาพของสังคมในภาพรวม” เจณิตตากล่าว

เจณิตตา จันทวงษา

อย่างไรก็ดี ตอนนี้เป็นสภาวะที่เจณิตตาเรียกว่า ‘สุญญากาศ’ กล่าวคือการผ่านกัญชาเสรีเกิดขึ้นโดยไม่มีกฎหมายหรือมาตรการใดๆ มาคุ้มครองหรือรองรับไม่ให้เกิดการใช้กัญชาในทางที่ผิด เท่ากับว่าเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงกัญชาได้อย่างเสรีและง่ายดาย ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ก็อยู่ในระหว่างการพิจารณาในรัฐสภา ทำให้เด็กและเยาวชนต้องแบกรับความเสี่ยงจากการเปิดกัญชาเสรีมากที่สุด โดยความเสี่ยงที่ว่าไล่เรียงตั้งแต่การที่เด็กและเยาวชนบริโภคกัญชาโดยไม่ตั้งใจ การได้รับควันมือสอง และผลกระทบหากใช้กัญชาจนเสพติดแล้ว

และแม้ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง จะดูเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในเรื่องนี้ ทว่าหากมองลึกลงไปในรายละเอียดแล้ว เจณิตตาชี้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวยังมีช่องโหว่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก (กำหนดให้ปลูกได้ไม่เกิน 15 ต้น ทำให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายจากในบ้าน) การจำหน่าย (ปัจจุบันยังไม่มีข้อห้ามขายในสถานที่ต่างๆ) การโฆษณา (ซึ่งยังไม่มีการควบคุมโฆษณาที่เจาะจงในกลุ่มเด็กและเยาวชน) ไปจนถึงการครอบครอง บริโภค และการใช้กัญชา (ยังไม่มีการกำหนดปริมาณที่เหมาะสม และไม่ได้กำหนดพื้นที่ห้ามสูบอย่างชัดเจน)

เมื่อเป็นเช่นนี้ เจณิตตาได้นำเสนอแนวทางการออกนโยบายและมาตรการเพื่อควบคุมกัญชาเสรีซึ่งจะช่วยรักษาสมดุลทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กัน เริ่มตั้งแต่การจำกัดจำนวนการปลูกกัญชาที่บ้านให้เหลือเพียง 4-6 ต้น ซึ่งถือเป็นจำนวนที่เท่ากับในประเทศที่มีการเปิดเสรีกัญชา อาทิ แคนาดา และเนเธอร์แลนด์ หรืออาจจะจำกัดให้ปลูกเฉพาะกัญชงที่บ้าน เนื่องจากมีสาร THC น้อยกว่ากัญชา และมีสาร CBD ที่สามารถใช้ดูแลสุขภาพได้

ขณะที่ด้านการจำหน่าย เจณิตตาเสนอว่าควรเป็นแบบออฟไลน์และขายในร้านที่จำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับกัญชาโดยเฉพาะ ถ้าให้เจาะจงยิ่งขึ้น กัญชาควรขายเฉพาะในร้านที่ได้รับใบอนุญาตเพื่อผลิตและจำหน่าย ขณะที่อีกประเด็นน่ากังวลคือการผสมกัญชาในการประกอบอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้อย่างง่ายดาย ซึ่งข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาคือร้านอาหารต้องแจงให้ชัดเจนว่าอาหารหรือเครื่องดื่มดังกล่าวมีส่วนผสมของกัญชาหรือไม่

“ขณะที่บรรจุภัณฑ์ก็ควรเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เด็กเปิดได้ยาก ไม่ดึงดูดความสนใจเด็ก ซึ่งควรทำตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต รวมถึงไม่ควรโฆษณาหรือดึงความสนใจจากเด็กและเยาวชน”

ส่วนทางด้านการครอบครอง เจณิตตาเสนอว่าควรกำหนดปริมาณที่ครอบครองได้ให้ชัดเจน เช่น ไม่เกิน 30 กรัมอย่างที่หลายประเทศกำหนด รวมถึงจัดสถานที่สำหรับสูบและบริโภคโดยเฉพาะเพื่อลดการใช้งานในบ้าน ซึ่งจะลดความเสี่ยงที่จะเกิดกับเด็กและเยาวชน และควรเกิดขึ้นพร้อมไปกับการควบคุมเรื่องการขับขี่ยานพาหนะอย่างเข้มงวดเช่นกัน

ด้านสุดท้ายคือเรื่องที่หลายคนละเลยอย่างเรื่องภาษี ซึ่งเจณิตตาชี้ให้เห็นสภาวะทางสองแพร่งว่า ควรมีการพิจารณาเก็บภาษีกัญชาเพื่อไม่ให้กัญชามีราคาถูกจนเด็กและเยาวชนสามารถซื้อได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องควบคุมราคากัญชาไม่ให้สูงเกินไปจนมีการเข้าซื้อในตลาดมืด

“ตอนนี้ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ถูกถอนไปที่คณะกรรมาธิการวิสามัญให้แก้ไขใหม่ ทำให้ช่วงเวลาสุญญากาศนี้ยาวนานขึ้น เท่ากับว่าเด็กและเยาวชนยิ่งเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากขึ้นตามไปด้วย กฎหมายควบคุมกัญชาเสรีจึงควรเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดเพื่อลดผลกระทบเหล่านี้” เจณิตตาทิ้งท้าย

– เสาหลักที่ 2: เพิ่มทางเลือก –
เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ให้เยาวชนเข้าถึงได้จริง

“ถ้าพูดถึงแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน คนมักจะคิดถึงแต่โรงเรียน แต่จริงๆ แล้วการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นนอกห้องเรียนผ่านทางการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและการทำกิจกรรมต่างๆ”

ข้างต้นคือการเกริ่นนำจาก สรวิศ มา นักวิจัยจาก 101 PUB เจ้าของงานวิจัย เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ให้เยาวชนเข้าถึงได้จริง โดยสรวิศชี้ให้เห็นว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนได้คือ ‘พื้นที่แหล่งเรียนรู้’ ที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถเติมเต็มสิ่งที่ตนเองสงสัยหรือต้องการได้

อย่างไรก็ดี ผลจากการสำรวจ Youth Survey 2022 พบว่า เยาวชนจำนวนมากไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น co-working space สถานที่ฝึกอาชีพ แม้แต่สวนพฤกษศาสตร์หรือโรงหนัง ขณะที่กลุ่มเด็กที่เคยไปก็ไม่ได้ไปสถานที่เหล่านี้บ่อยนัก

เมื่อเจาะลึกลงไปถึงรายละเอียด สรวิศอธิบายว่า พฤติกรรมการไปแหล่งเรียนรู้มีความแตกต่างกันไปในเยาวชนแต่ละกลุ่ม และอย่างที่เราคงพอคาดการณ์กันได้ กลุ่มคนร่ำรวยหรือคนในกรุงเทพฯ มีอัตราการไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้น้อยกว่าค่าเฉลี่ย ตรงข้ามกับกลุ่มเยาวชนรายได้น้อยหรือที่อาศัยอยู่ในจังหวัดขนาดเล็กที่ไม่เคยไปหรือไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้

“นี่ยังไม่นับรวมถึงปัญหาอุปสรรคอื่นๆ เช่น ระยะทางที่ไกล เดินทางลำบาก” สรวิศกล่าว พร้อมทั้งเผยให้เห็นชุดข้อมูลที่น่าสนใจว่า เยาวชนในกรุงเทพฯ กว่า 41% ประสบปัญหาเรื่องระยะทาง และนี่จะยิ่งเป็นปัญหามากขึ้นไปอีกในกลุ่มเยาวชนที่อยู่ในต่างจังหวัด ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นทั้งปัญหาในแง่ของระยะทางและการที่แหล่งเรียนรู้ของประเทศไทยกระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองหลวง

เมื่อมองต่อไปในอนาคต การลงทุนของภาครัฐในเรื่องแหล่งเรียนรู้ก็ดูจะไม่ได้ตอบโจทย์พฤติกรรมและความต้องการของเด็กสักเท่าไหร่ โดยสรวิศคลี่ให้เห็นข้อมูลว่า จากร่างงบประมาณประจำปี 2566 พบว่า โครงการสร้างพิพิธภัณฑ์คิดเป็นจำนวนเงิน 1,000 ล้านบาท และเมื่อแยกรายโครงการพบว่ามีเพียง 7 โครงการ ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนเงินงบประมาณทั้งหมดล้วนกระจุกอยู่แต่ในพื้นที่ที่มีพิพิธภัณฑ์มากอยู่แล้ว เช่น ในกรุงเทพฯ ที่ได้งบมากถึง 65% ขณะที่จังหวัดซึ่งไม่มีพิพิธภัณฑ์เลยกลับได้งบประมาณเพียง 2%

สรวิศ มา

เมื่อทิศทางต่างๆ ดูจะไม่ตอบโจทย์การสร้างพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียนให้เยาวชนไทย แนวทางต่อไปจึงอาจจะเป็นการพิจารณาเพื่อปรับทิศทางนโยบายและระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ใกล้บ้านเยาวชน รวมถึงสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็กและเยาวชนในโลกยุคใหม่มากขึ้น และหนึ่งในนั้นคือ การเพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลจัดการเรื่องนี้

“ท้องถิ่นคือหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด จึงสามารถออกแบบบริการสาธารณะได้ตอบโจทย์ผู้คนในสังคมมากกว่าส่วนกลาง” สรวิศอธิบาย “แต่ท้องถิ่นอาจไม่จำเป็นต้องจัดการหรือสร้างอะไรเองทั้งหมด แต่การเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมก็เป็นอีกช่องทางที่สามารถทำได้เช่นกัน”

อย่างไรก็ดี การเพิ่มและกระจายแหล่งเรียนรู้อาจยังไม่เพียงพอ สรวิศชี้ว่า เราจำเป็นต้องออกแบบเนื้อหาและรูปแบบแหล่งเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ลดความเป็นทางการ เพิ่มพื้นที่ที่ไม่ใช่แค่การอ่านหนังสือ แต่เป็นพื้นที่พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ พร้อมทั้งให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เนื้อหาของแหล่งเรียนรู้สอดคล้องกับความต้องการของพวกเขาอย่างแท้จริง

“สิ่งเหล่านี้คือประตูบานแรกที่จะนำเราไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ เพราะจริงๆ แล้ว ระบบนิเวศการเรียนรู้ไม่ใช่แค่การให้พื้นที่การเรียนรู้ แต่ต้องมีความต้องการการเรียนรู้ของคนในสังคมด้วย”

“การส่งเสริมการเรียนรู้และการสร้างระบบนิเวศแหล่งเรียนรู้ที่รอบด้านจะพาเราไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา และจะนำพาทุกคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไทย ให้สามารถก้าวทันความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ได้” สรวิศทิ้งท้าย

– เสาหลักที่ 3: เพิ่มสิทธิและการมีส่วนร่วม –
ให้เสียงเยาวชนมี ‘ความหมาย’: เปิดกระบวนการนโยบายให้เยาวชนมีส่วนร่วม

หากจะขุดลงไปถึงรากลึกของปัญหาที่ทำให้นโยบายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนไทยยังไม่สามารถถูกออกแบบเพื่อพัฒนาเด็กไทยได้อย่างตรงจุด หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นเรื่องของการ ‘ขาดรับฟัง’ หรือการขาด ‘ความเข้าใจ’ เด็กและเยาวชนไทยที่เพียงพอ

“เมื่อเป็นเช่นนี้ นโยบายที่ออกมาจึงไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของเยาวชนไทยได้อย่างมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ เท่ากับว่าเยาวชนถูกปล่อยให้เผชิญกับปัญหาหลายอย่างแบบเรื้อรัง จนไม่สามารถเติบโตและเติมเต็มความฝันของตนเองได้อย่างเต็มที่”

วรดร เลิศรัตน์ อีกหนึ่งนักวิจัยจาก 101 PUB เจ้าของงานวิจัย ให้เสียงเยาวชนมี ‘ความหมาย’: เปิดกระบวนการนโยบายให้เยาวชนมีส่วนร่วม กล่าวนำ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นผลกระทบที่ตามมาว่า เมื่อเยาวชนไม่มีช่องทางการมีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการ ซ้ำร้ายยังถูกทิ้งให้เผชิญกับปัญหาหลายอย่าง ทำให้พวกเขาเลือกแสดงออกผ่านทางช่องทางที่ไม่เป็นทางการ เช่น ช่องทางออนไลน์หรือการชุมนุมประท้วง

อย่างไรก็ดี “นี่เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย” แต่ด้วยความที่ประเทศไทยในปัจจุบัน รัฐบาลเลือกกดปราบการแสดงออกอย่างละเมิดสิทธิมนุษยชนและรุนแรง ทำให้การแสดงออกเหล่านี้กลับกลายเป็น “ตัวเร่งความขัดแย้งในสังคมและทำลายเสถียรภาพของระบอบการเมืองในระยะยาว”

นี่จึงนำมาสู่ข้อเสนอสองข้อ โดยข้อแรกซึ่งชัดเจนและตรงไปตรงมาที่สุด คือการหยุดกดปราบเยาวชน และข้อที่สองคือการขยายช่องทางการมีส่วนร่วมที่มีความหมายสำหรับเยาวชน โดยวรดรอธิบายว่า คิดฟอร์คิดส์เสนอให้ขับเคลื่อนผ่าน ‘สามเสาหลัก สองฐานนโยบาย’

วรดร เลิศรัตน์

เสาหลักแรก คือการลดอายุขั้นต่ำและขยายช่องทางการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้เท่าเทียมกับผู้ใหญ่มากขึ้น โดยวรดรชี้ให้เห็นลักษณะของระบอบการเมืองไทยที่เป็นแบบ ‘ชราธิปไตย’ หรือระบอบการเมือง ‘ของ’ คนชรา ‘เพื่อ’ คนชรา ซึ่งแน่นอนว่าในระบอบการเมืองแบบนี้ เยาวชนไม่มีที่ทางใดๆ ในส่วนของการกำหนดนโยบาย

“เยาวชนยังมีอิทธิพลกับผู้กำหนดนโยบายสูงอายุเหล่านี้ได้น้อยมาก เพราะพวกเขามีทรัพยากรทางการเมืองที่ค่อนข้างจำกัด ยิ่งกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 18 ปีก็ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เท่ากับว่าพวกเขาไม่ใช่ฐานเสียงของฝ่ายการเมือง ทำให้ฝ่ายการเมืองไม่พยายามตอบสนองความต้องการของเยาวชนเท่าไหร่” วรดรกล่าว

นี่จึงนำมาสู่ข้อเสนอให้ ‘ลดอายุขั้นต่ำ’ ของการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านระบอบผู้แทน ถ้าพูดให้ถึงที่สุด วรดรชี้ว่าเราต้องทำระบอบการเมืองให้ ‘เด็กลง’ เพื่อจะเอื้อให้เสียงของเยาวชนมีความหมายมากขึ้น โดยผ่านช่องทางแรกคือการลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 18 ปี เป็น 15 ปี เพื่อให้ฝ่ายการเมืองหันมารับฟังและพยายามออกแบบนโยบายที่จะตอบสนองเยาวชนกลุ่มอายุ 15-17 ปีมากขึ้น และยังสอดรับกับเทรนด์ในศตวรรษที่ 21 อีกด้วย

อีกช่องทางที่สามารถทำควบคู่กันไปคือการลดอายุของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมือง จาก 25 ปี เป็น 18 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนสามารถเข้ามาเป็นผู้กำหนดนโยบายได้มากขึ้น พร้อมไปกับการลดอายุบรรลุนิติภาวะจาก 20 ปีเป็น 18 ปี ซึ่งเป็นเกณฑ์อายุที่ใช้กันในหลายประเทศ

ข้อเสนออีกอย่างหนึ่งที่สอดรับกับเสาหลักแรกคือการปรับหรือขยายช่องทางการมีส่วนร่วมทางตรงโดยไม่ผ่านผู้แทน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่วรดรชี้ว่า สอดคล้องกับพฤติกรรมของเยาวชนในปัจจุบัน

“เยาวชนในทุกวันนี้เน้นมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบเป็นปัจเจก ตอบสนองเฉพาะประเด็นผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ถ้ามีการปฏิรูปเพื่อให้กลไกการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางตรงสอดคล้องกับพฤติกรรมของเยาวชนมากขึ้น ก็จะเป็นการให้เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายมากขึ้นด้วย” วรดรกล่าว

เสาหลักที่สอง คือการปฏิรูปสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยให้เป็นกระบอกเสียงเชิงนโยบายที่เป็นอิสระ แม้ปัจจุบัน สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยจะมีอยู่ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับตำบลไปจนถึงระดับประเทศ ทว่าสภาเด็กและเยาวชนฯ กลับไม่สามารถทำหน้าที่เป็นช่องทางการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนได้ ทั้งด้วยการขาดความเป็นตัวแทนที่ดี และขาดอิสระในการทำงาน โดยเฉพาะในแง่งบประมาณที่ถูกแทรกแซงจากภาครัฐอย่างเข้มงวด

นอกจากนี้ วรดรชี้ว่า สภาเด็กและเยาวชนฯ ยังขาดบทบาทเชิงนโยบายสาธารณะ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจหรือเครื่องมือใดๆ อันจะเอื้อให้สภาเด็กและเยาวชนฯ สามารถร่วมให้ความเห็นหรือร่วมประเมินผลนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงขาดการรับฟังและร่วมมือกับเยาวชนนอกสภาเด็กและเยาวชนฯ และหน่วยงานภาคีในภาคส่วนต่างๆ

คิดฟอร์คิดส์จึงเสนอให้มีการปฏิรูปสภาเด็กและเยาวชนฯ ทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่การเลือกสมาชิก ซึ่งควรมาจากทั้งการเลือกตั้งโดยตรงและการสุ่ม ซึ่งจะช่วยรับประกันว่าสภาเด็กและเยาวชนฯ จะได้ผู้แทนที่หลากหลายและมาจากคนทุกกลุ่ม ที่สำคัญคือการปฏิรูปให้สภาเด็กและเยาวชนฯ เป็นอิสระจากการบังคับบัญชาของภาครัฐ พร้อมไปกับการเพิ่มและผสมผสานงบประมาณของสภาเด็กและเยาวชนฯ จากหลายแหล่ง รวมถึงเพิ่มอำนาจในเชิงนโยบายให้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะออกแบบดีขนาดไหน วรดรชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญว่า “กลไกแบบสภาไม่ได้เหมาะกับทุกคน”

“เพราะฉะนั้น สภาเด็กและเยาวชนฯ ต้องคอยสื่อสารและทำตัวเป็นสะพานเชื่อมรัฐกับเยาวชนด้านนอก โดยอาจจัดให้มีการหารือกันเป็นประจำในรูปแบบที่เหมาะสม” วรดรกล่าว

และ เสาหลักที่สาม คือการให้นักเรียนนักศึกษามีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายของระบบการศึกษา ซึ่งถือเป็นสถาบันที่ใกล้ชิดและมีอิทธิพลต่อชีวิตของเด็กและเยาวชนอย่างมีนัยสำคัญ วรดรชี้ว่า พื้นฐานสำคัญที่สุดของเสาหลักนี้คือ การให้นักเรียนนักศึกษาเลือกตั้งคณะกรรมการผู้แทนของตนเองได้อย่างเป็นอิสระ และคณะกรรมการฯ เหล่านี้ต้องมีงบประมาณที่เพียงพอในการดำเนินกิจกรรมด้วย

“นอกจากนี้ นักเรียนนักศึกษาควรมีส่วนร่วมผ่านการปรึกษาหารือและการประเมินผลนโยบายของบุคลากรในสถานศึกษามากขึ้น” วรดรกล่าว “และนอกจากระดับสถานศึกษาแล้ว เรายังควรมีผู้แทนจากสภานักเรียนหรือสภาเยาวชนในคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพื่อให้นักเรียนนักศึกษามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่”

อย่างไรก็ดี สามเสาหลักดังกล่าวจะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากขาดสองนโยบายสำคัญ โดยนโยบายข้อแรกคือการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านพลเมืองศึกษาและ soft skill ในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่จำเป็นในการมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบาย และอีกฐานคู่กันคือการคุ้มครองและไม่คุกคามเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวหรือมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบาย

วรดรสรุปว่า สามเสาหลักดังกล่าวจะเป็นเหมือนแพ็กเกจนโยบายที่ช่วยให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายผ่านช่องทางที่เป็นทางการและมีความหมายมากขึ้น ซึ่งในระยะยาวจะช่วยให้นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนมีประสิทธิภาพในการนำไปบังคับใช้ สามารถก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการ

“ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เยาวชนสามารถเติบโตและช่วยเติมเต็มความฝันของตนเอง สังคม และประเทศชาติได้อย่างเต็มที่มากขึ้น” วรดรทิ้งท้าย


หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนจากงาน ‘Research Roundup 2022’ หัวข้อ “นโยบายเด็กและครอบครัวแห่งอนาคต: ขยายพื้นที่ปฏิรูปนโยบายสาธารณะเพื่ออนาคตของเด็กไทย” โดย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)


วิจัย/เขียน

คิด for คิดส์

บทความที่เกี่ยวข้อง

“รัฐธรรมนูญไม่ใช่แค่เรื่องของนักกฎหมาย”: ถึงเวลาตีโจทย์รัฐธรรมนูญใหม่จากความฝันของเยาวชน-ประชาชน

“รัฐธรรมนูญไม่ใช่แค่เรื่องของนักกฎหมาย”: ถึงเวลาตีโจทย์รัฐธรรมนูญใหม่จากความฝันของเยาวชน-ประชาชน

คิด for คิดส์ ชวน ประภาส ปิ่นตบแต่ง, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, อิสร์กุล อุณหเกตุ แลกเปลี่ยนถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญและโอกาสจากการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในการเติมเต็มความฝันของเยาวชน-ประชาชนไทย

เติมทุน-หนุนการมีส่วนร่วม: เปลี่ยนฝันของเยาวชนไปสู่พลังการเปลี่ยนแปลง

เติมทุน-หนุนการมีส่วนร่วม: เปลี่ยนฝันของเยาวชนไปสู่พลังการเปลี่ยนแปลง

คิด for คิดส์ ชวน โชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง, อดิศร จันทรสุข, และ ณัฐภัทร เนียวกุล แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับอุปสรรคที่เยาวชนพบเจอในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคม ตลอดจนเสนอแนวทางลดอุปสรรค-พัฒนากลไกสนับสนุนพวกเขา

‘ธนาคารหน่วยกิต’ ทางเลือกการศึกษายืดหยุ่นที่ต้องทำอย่างรอบคอบ

‘ธนาคารหน่วยกิต’ ทางเลือกการศึกษายืดหยุ่นที่ผลักดันโดยรัฐบาลคืออะไร? ปัจจุบันทำถึงไหนแล้ว? และมีอะไรที่ต้องระวัง?

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2025 kidforkids.org | All rights reserved.