ยิ่งมีเพื่อนหลากหลาย ยิ่งมีทัศนคติกว้างไกลและเห็นใจคนมากขึ้น: ข้อมูลจากการสำรวจเยาวชน 2022

ประเด็นสำคัญ

  • การมีเครือข่ายเพื่อนฝูงที่หลากหลายนั้นให้ประโยชน์แก่เด็กและเยาวชน เช่น 'ช่วยให้เด็กและเยาวชนมีการเรียนรู้ในโรงเรียนที่ดีขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น และยังช่วยให้มีระดับรายได้ที่สูงขึ้นในอนาคต'
  • นอกจากนี้ ผลสำรวจเยาวชน 2022 ยังพบว่าเยาวชนที่คบเพื่อนหลากหลาย มีแนวโน้มที่จะสนใจสังคมและตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น
  • อย่างไรก็ดี การมีเพื่อนที่หลากหลาย โดยเฉพาะเพื่อนต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กและเยาวชนทุกคน เพราะอาจมีการแบ่งแยกหรือการกีดกันทางชนชั้นจากสังคมและโรงเรียน ทำให้เด็กและเยาวชนไม่สามารถพบเจอเพื่อที่หลากหลายได้
  • นโยบายที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทุกกลุ่มมีเพื่อนที่หลากหลาย จะช่วยให้อนาคตของประเทศไทยเป็นสังคมที่หลากหลาย เปิดกว้าง และมีความรับผิดชอบต่อกันและกันมากขึ้น

เมื่อถึงวัยเข้าสู่โรงเรียน เด็กและเยาวชนก็เริ่มรู้จักและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างที่ไม่ใช่คนในครอบครัวมากขึ้น ผู้คนเหล่านั้นบ้างก็กลายมาเป็นเพื่อนไปจนถึงเพื่อนสนิท ซึ่งดูเหมือนว่าเพื่อนจะเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเด็กและเยาวชน เพราะจากผลสำรวจเยาวชน 2022 พบว่าเมื่อเยาวชนมีปัญหาชีวิตจะเลือกปรึกษาเพื่อนเป็นคนแรกมากเป็นอันดับที่สอง รองลงมาจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง[1]จากผลสำรวจ 3 อันดับที่ปรึกษาคนแรกเมื่อเยาวชนมีปัญหาชีวิต ได้แก่ … Continue reading

จำนวนเพื่อนและเพื่อนสนิทของเด็กและเยาวชนนั้นมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้าสังคมของตัวเด็กและเยาวชน แต่ก็ยังขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมรอบตัวพวกเขา ว่าจะช่วยเปิดโอกาสให้เข้าสังคมได้มากเพียงใด นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อความหลากหลายของคนรอบข้าง อาทิ เด็กและเยาวชนอาจมีเพื่อนที่มีภูมิหลังของครอบครัวที่คล้ายคลึงหรือแตกต่างกัน เป็นต้น ซึ่งช่วยให้เด็กและเยาวชนได้ปฏิสัมพันธ์ และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าอกเข้าใจ

การมีเครือข่ายเพื่อนฝูงที่หลากหลายสามารถให้ประโยชน์ให้แก่เด็กและเยาวชนได้ อาทิ การที่เด็กและเยาวชนมีเพื่อนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางสังคมเศรษฐกิจ (Socio-economic status: SES) ที่สูงกว่าสามารถช่วยให้เด็กและเยาวชนมีการเรียนรู้ในโรงเรียนที่ดีขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น[2]Lessard, Leah M., and Juvonen, Jaana. “Cross-Class Friendship and Academic Achievement in Middle School,” Developmental Psychology (2019). http://dx.doi.org/10.1037/dev0000755 และยังช่วยให้มีระดับรายได้ที่สูงขึ้นในอนาคต (upward income mobility)[3]Chetty, Raj, et al. “Social capital I: measurement and associations with economic mobility,” Nature 608 (2022): 108-121. https://doi.org/10.1038/s41586-022-04996-4

อย่างไรก็ดี การมีเพื่อนที่หลากหลายโดยเฉพาะเพื่อนต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจ (cross-class friendship) อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กและเยาวชนทุกคน เพราะอาจมีการแบ่งแยกหรือการกีดกันทางชนชั้นจากสังคมและโรงเรียน ทำให้เด็กและเยาวชนไม่สามารถที่จะพบเจอเพื่อนที่หลากหลายได้

ศูนย์ความรู้และนโยบายเด็ก (คิด for คิดส์) โดย 101 PUB และ สสส. ชวนสำรวจการมีเพื่อนสนิทของเยาวชนไทย ผ่านผลสำรวจเยาวชน 2022 (Youth Survey 2022) ว่าเยาวชนมีจำนวนและความหลากหลายของเพื่อนสนิทแตกต่างกันไปอย่างไร อีกทั้งการมีเพื่อนสนิทที่หลากหลายนั้นช่วยส่งเสริมเยาวชนไทยอย่างไรบ้าง

ความเหลื่อมล้ำทำให้มีเพื่อนยากขึ้น

จากผลสำรวจพบว่าเยาวชนไทยกว่า 17,000 คน มีเพื่อนสนิทโดยเฉลี่ย 5.6 คน อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกเยาวชนออกเป็นกลุ่มตามระดับรายได้ครัวเรือนและตามพื้นที่อยู่อาศัยของผู้ตอบแบบสำรวจ พบว่าเยาวชนแต่ละกลุ่มมีจำนวนเพื่อนสนิทโดยเฉลี่ยแตกต่างกันไป

กลุ่มเยาวชนที่มีรายได้ครัวเรือนน้อยที่สุดมีเพื่อนสนิทโดยเฉลี่ย 5.2 คน ขณะที่กลุ่มรายได้ครัวเรือนร่ำรวยที่สุดมีเพื่อนสนิทโดยเฉลี่ย 6.3 คน นอกจากนี้ เมื่อแยกกลุ่มตามรหัสไปรษณีย์ พบว่าเยาวชนที่มีรายได้ครัวเรือนน้อยที่สุดและอาศัยอยู่ในเมืองยิ่งมีเพื่อนน้อย โดยกลุ่มรายได้น้อยที่สุดที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครมีค่าเฉลี่ยจำนวนเพื่อนสนิทน้อยที่สุด (4.6 คน) รองลงมาเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอเมือง (4.9 คน) ขณะที่กลุ่มรายได้ครัวเรือนน้อยที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเมืองมีเพื่อนสนิทโดยเฉลี่ย 5.3 คน

นอกจากจะมีเพื่อนสนิทที่ไม่เท่ากันแล้ว ยังพบว่าเยาวชนต่างกลุ่มรายได้ครัวเรือนก็มีเพื่อนที่หลากหลายไม่เท่ากัน โดยกลุ่มเยาวชนที่มีรายได้ครัวเรือนร่ำรวยมากที่สุดมีแนวโน้มที่จะมีเพื่อนสนิทที่หลากหลายมากกว่ากลุ่มรายได้ครัวเรือนน้อยที่สุด อาทิ

  • ร้อยละ 50 ของกลุ่มเยาวชนที่มีรายได้ครัวเรือนร่ำรวยที่สุดมีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจ ในขณะที่กลุ่มรายได้ครัวเรือนน้อยที่สุดมีเพียงร้อยละ 35
  • ร้อยละ 43.3 ของกลุ่มเยาวชนที่มีรายได้ครัวเรือนร่ำรวยที่สุดมีเพื่อนสนิทต่างศาสนา ขณะที่สัดส่วนของกลุ่มเยาวชนรายได้ครัวเรือนน้อยที่สุดมีเพียงร้อยละ 30.8
  • ร้อยละ 18.5 ของกลุ่มเยาวชนที่มีรายได้ครัวเรือนร่ำรวยที่สุดมีเพื่อนสนิทต่างชาติ เป็นสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มรายได้น้อยที่สุด (ร้อยละ 10.2) ราว 8.3% หรือเกือบหนึ่งเท่าตัว
ภาพที่ 1: จำนวนเพื่อนสนิทและสัดส่วนการมีเพื่อนต่างสถานะของเยาวชนไทย
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

เยาวชนที่คบเพื่อนหลากหลายมีแนวโน้มที่จะสนใจสังคมมากขึ้น

ผลสำรวจเยาวชน 2022 ยังชี้ให้เห็นว่ากลุ่มเยาวชนที่มีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะสนใจประเด็นสังคมอย่างน้อย 3 ด้าน มากกว่ากลุ่มเยาวชนที่ไม่มีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจ

1. มีแนวโน้มที่จะกังวลประเด็นปัญหาสังคมในประเทศไทยมากกว่า

เมื่อถามผู้ตอบแบบสอบถามว่า ‘การพัฒนาการศึกษา’ และ ‘การพัฒนาประชาธิปไตยและส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ’ ในประเทศไทยน่ากังวลมากแค่ไหน โดย 0 หมายถึงน่ากังวลน้อยที่สุด ในทางกลับกัน 5 หมายถึงน่ากังวลมากที่สุด กลุ่มเยาวชนที่มีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจให้คะแนนโดยเฉลี่ย 4.2 และ 4.0 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่ากลุ่มที่ไม่มีเพื่อนสนิทประเภทนี้ที่ให้คะแนนโดยเฉลี่ยเพียง 3.8 และ 3.6 ตามลำดับ

2. มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพมากกว่า

กลุ่มเยาวชนที่มีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจเห็นว่า ‘เสรีภาพทางความคิดและความเชื่อ’ ‘เสรีภาพในการรวมตัวและการชุมนุม’ และ ‘สิทธิที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง’ เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งมีค่าคะแนนโดยเฉลี่ย 4.1 3.9 และ 3.8 ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มที่ไม่มีเพื่อนสนิทประเภทนี้ให้คะแนนโดยเฉลี่ยเพียง 3.7 3.5 และ 3.3 ตามลำดับ โดย 0 หมายถึงสำคัญน้อยที่สุด ส่วน 5 หมายถึงสำคัญมากที่สุด

3. มีแนวโน้มที่จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยไม่เป็นธรรมและไม่ยอมรับความเหลื่อมล้ำมากกว่า

กลุ่มเยาวชนที่มีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจเห็นว่า ‘เศรษฐกิจไทยเอื้อประโยชน์ให้คนรวย’ เพราะให้คะแนนโดยเฉลี่ย 4.4 ขณะที่กลุ่มเยาวชนที่ไม่มีเพื่อนสนิทประเภทนี้ให้คะแนนโดยเฉลี่ยเพียง 4.0 โดย 0 หมายถึงไม่เห็นด้วยมากที่สุด ขณะที่ 5 หมายถึงเห็นด้วยมากที่สุด

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามเยาวชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่า ‘ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องธรรมดา’ กลุ่มเยาวชนที่มีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่จะตอบว่าไม่เห็นด้วยมากกว่า เพราะมีค่าคะแนนเฉลี่ยเพียง 2.1 ขณะที่กลุ่มที่ไม่มีเพื่อนสนิทประเภทนี้ให้คะแนนโดยเฉลี่ย 2.5 โดย 0 หมายถึงไม่เห็นด้วยมากที่สุด ขณะที่ 5 หมายถึงเห็นด้วยมากที่สุด

ภาพที่ 2: มุมมองต่อประเด็นปัญหาสังคมของเยาวชนไทย
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

นอกจากนี้ เยาวชนที่คบเพื่อนหลากหลายยังมีแนวโน้มที่จะตื่นตัวทางการเมืองมากกว่า

  • เยาวชนที่มีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจ 64.7% เคยฟังสัมมนาเกี่ยวกับการเมืองและสังคมในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เป็นสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มที่ไม่มีเพื่อนสนิทประเภทนี้ (48.1%) 16.6%
  • เยาวชนที่มีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจ 57.5% เคยลงชื่อในข้อเรียกร้องออนไลน์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เป็นสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มที่ไม่มีเพื่อนสนิทประเภทนี้ (36.2%) 21.3%
  • เยาวชนที่มีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจ 44.9% เคยร่วมการทำประชาพิจารณ์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เป็นสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มที่ไม่มีเพื่อนสนิทประเภทนี้ (27.7%) 17.2%
  • เยาวชนที่มีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจ 40.7% เคยเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายหรือร่างรัฐธรรมนูญในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เป็นสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มที่ไม่มีเพื่อนสนิทประเภทนี้ (22.5%) 18.2% หรือเกือบหนึ่งเท่าตัว
  • เยาวชนที่มีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจ 29.7% เคยเข้าร่วมการประชุมเพื่อจัดการปัญหาในท้องถิ่นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เป็นสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มที่ไม่มีเพื่อนสนิทประเภทนี้ (18.8%) 10.9%
  • เยาวชนที่มีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจ 29.6% เคยเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เป็นสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มที่ไม่มีเพื่อนสนิทประเภทนี้ (15.0%) 14.6% หรือราวหนึ่งเท่าตัว

ผลลัพธ์ดังกล่าวสอดคล้องกับงานศึกษาวิชาการโดย Hu and Chan (2012) ที่พบว่าเมื่อผู้อยู่อาศัยในชุมชนมีทุนทางสังคม (social capital) จะช่วยส่งเสริมให้บุคคลนั้นมีส่วนร่วมทางกิจกรรมพลเมือง (civic engagement) มากขึ้น ซึ่งการมีเพื่อนที่หลากหลายก็นับเป็นหนึ่งในทุนทางสังคมเช่นกัน[4]Hu, Kang, and Chan, Raymond K H. “Social Capital and Civic Engagement in Urban China,” The International Journal of Social Quality 2, no. 2 (2012): 24-42. https://www.jstor.org/stable/23971919

ภาพที่ 3: สัดส่วนของเยาวชนที่เคยร่วมกิจกรรมพลเมืองในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

อาจมีข้อกังวลอยู่ว่าแนวโน้มที่เยาวชนคบเพื่อนหลากหลายจะสนใจประเด็นสังคมและตื่นตัวทางการเมืองมากกว่าอาจไม่ได้เกิดจากการมีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจ แต่อาจมาจากสาเหตุหรือปัจจัยอื่น กล่าวคือ สาเหตุที่กลุ่มเยาวชนที่มีเพื่อนสนิทประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะสนใจสังคมและตื่นตัวมากกว่า อาจเป็นเพราะเยาวชนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยกว่าและมีระดับการศึกษาที่สูงกว่า[5]ดังที่ปรากฎในข้อมูลในภาพแผนภูมิที่ 1 … Continue reading

อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการจำแนกกลุ่มเยาวชนที่มีและไม่มีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจตามระดับรายได้ครัวเรือน ก็ยังพบว่าแนวโน้มที่จะสนใจสังคมและตื่นตัวทางการเมืองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามระดับรายได้ครัวเรือนที่แตกต่างกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กลุ่มเยาวชนทุกระดับรายได้ครัวเรือนที่มีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะสนใจประเด็นสังคมและตื่นตัวทางการเมืองมากกว่ากลุ่มที่ไม่มีเพื่อนสนิทประเภทนี้ (ภาพที่ 4 และ 5)

ภาพที่ 4: สัดส่วนของเยาวชนครัวเรือนยากจนสุดที่เคยร่วมกิจกรรมพลเมืองในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์
ภาพที่ 5: สัดส่วนของเยาวชนครัวเรือนร่ำรวยสุดที่เคยร่วมกิจกรรมพลเมืองในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชน 2022 โดย คิด for คิดส์

นอกจากนี้ เมื่อใช้เครื่องมือทางเศรษฐมิติเพื่อประเมินหาปัจจัยที่ส่งผลต่อการสนใจประเด็นสังคมและตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชน ก็ยังพบว่า การมีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจยังคงเป็นปัจจัยหลักที่สอดคล้องกับความสนใจสังคมและการเมืองมากกว่ากลุ่มที่ไม่มีเพื่อนสนิทประเภทนี้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ[6]เครื่องมือทางเศรษฐมิติที่นำมาใช้ ได้แก่ วิธีการประมาณด้วย Ordinary Least Squares (OLS) … Continue reading

เพิ่มช่องทางให้เด็กและเยาวชนสามารถมีเพื่อนที่หลากหลายมากขึ้น

เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยทุกกลุ่มสามารถมีเพื่อนที่หลากหลายมากขึ้น ภาครัฐควรพิจารณาถึงชุดนโยบายที่สามารถช่วยเพิ่มช่องทางและโอกาสให้เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ครัวเรือนน้อย สามารถพบเจอและทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ที่หลากหลายมากขึ้น

1. จัดงานหรือกิจกรรมในชุมชน

เวลาว่างหลังเลิกเรียนเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เด็กและเยาวชนจะสามารถรู้จักเพื่อนใหม่ๆ ที่หลากหลาย ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายควรพิจารณาถึงการกำหนดนโยบายที่ช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนเพื่อทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ได้

หนึ่งในช่องทางนั้นก็คือ การจัดงานกิจกรรมหรืองานเทศกาลในชุม อาทิ เทศกาลดนตรี นิทรรศการต่างๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในชุมชนสามารถมาเข้าร่วมและมีโอกาสได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น อย่างไรก็ดี องค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้งานหรือกิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้ คือ พื้นที่สาธารณะในชุมชน

2. เพิ่มพื้นที่สาธารณะ

เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถพบเจอเพื่อนใหม่ที่หลากหลายจากพื้นที่นอกห้องเรียนได้ ประเทศไทยนั้นจำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่สาธารณะที่ตั้งอยู่ใกล้บ้านเด็กและเยาวชน แต่ดูเหมือนว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยจะยังมีพื้นที่สาธารณะไม่มากนัก เพราะเด็กไทยส่วนใหญ่ใช้เวลาว่างนอกห้องเรียนเพื่อไปห้างสรรพสินค้า, ตลาดนัด, บ้านเพื่อนและบ้านญาติ มากที่สุดเป็น 3 อันดับแรก[7]ภูเบศร์ และคณะ. (2563). โลกที่ 3 ของซี-แอลฟา. สถาบันวิจัยประชากร … Continue reading

ดังนั้นภาครัฐควรพิจารณาถึงการเพิ่มพื้นที่สาธารณะใกล้บ้านเด็กและเยาวชนไทย อย่างไรก็ดี พื้นที่สาธารณะเหล่านี้จะต้องมีหน้าตาและรูปแบบที่เป็นมิตรต่อเด็กและเยาวชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนยากจนสุดที่อาจรู้สึกว่าตนเองถูกกีดกันไปจากพื้นที่เหล่านี้ได้

3. เพิ่มความหลากหลายภายในชั้นเรียน

ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น งานศึกษาของ Lessard และ Juvonen (2019) ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเด็กนักเรียนมีเพื่อนต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมจะช่วยให้มีการเรียนรู้และผลการศึกษาที่ดีขึ้น เพราะเกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการช่วยเหลือจากเด็กนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงกว่า ซึ่งสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาได้ อย่างไรก็ตาม การมีเพื่อนต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะโรงเรียนอาจมีการแบ่งแยกสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวเด็กนักเรียน อาทิ โรงเรียนเอกชนมักคัดเลือกเด็กนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมที่สูงกว่า

เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสให้เด็กและเยาวชนสามารถมีเพื่อนที่หลากหลายและลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา โรงเรียนควรพิจารณาถึงการเพิ่มความหลากหลายด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของเด็กนักเรียนในชั้นเรียน โดยสามารถทำได้ผ่านการกำหนดให้ในแต่ละชั้นเรียนต้องมีเด็กนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงคละกับเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะต่ำกว่า นอกจากนี้ โรงเรียนที่มีสัดส่วนเด็กนักเรียนที่มาจากครอบครัวร่ำรวยสูงอย่างโรงเรียนเอกชน ยังสามารถกำหนดโควตารับเด็กนักเรียนจากครอบครัวที่ด้อยกว่าพร้อมทั้งสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนเหล่านั้น

4. ออกแบบผังเมืองที่ไม่ทิ้งกลุ่มรายได้น้อยไว้ข้างหลัง

ในปัจจุบัน ที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มที่จะแบ่งกลุ่มผู้อยู่อาศัยไปตามชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคม กล่าวคือ กลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะร่ำรวยมีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่ในชุมชนละแวกเดียวกันเพราะสามารถซื้อบ้านที่มีราคาสูงได้ ซึ่งเป็นการกีดกันให้กลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยต้องไปอาศัยอยู่กับกลุ่มครัวเรือนที่มีฐานะเดียวกัน ทำให้เด็กและเยาวชนไม่สามารถที่จะพบเจอเพื่อนที่หลากหลายจากชุมชนละแวกบ้านของตนได้

เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถมีเพื่อนที่หลากหลายจากชุมละแวกบ้านของตนได้ ภาครัฐควรพิจารณาถึงนโยบายที่ช่วยลดการแบ่งกลุ่มของครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในแต่ละชุมชน อย่างเช่นในกรณีกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ที่มีการกำหนดนโยบายให้ในการสร้างโครงการที่อยู่อาศัย ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะต้องมีการสร้างบ้านหรือห้องชุดที่มีราคาที่ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงได้รวมไว้อยู่ในโครงการเหล่านั้นด้วย[8]Greater London Authority. (2021). The London Plan: The Spatial Development Strategy for Greater London. https://www.london.gov.uk/sites/default/files/the_london_plan_2021.pdf

นอกจากการกำหนดนโยบายที่ช่วยเพิ่มความหลากลายของผู้อยู่อาศัยในชุมชนจะช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถพบเจอเพื่อนที่หลากหลายมากขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านที่อยู่อาศัยที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ด้วยเช่นกัน ท้ายที่สุด นโยบายที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทุกกลุ่มสามารถมีเพื่อนที่หลากหลายจะช่วยให้อนาคตของประเทศไทยเป็นสังคมที่หลากหลาย เปิดกว้าง และมีความรับผิดชอบต่อกันและกันมากขึ้น

ภาพที่ 6: ข้อเสนอเชิงนโยบาย
ที่มา: นำเสนอโดย คิด for คิดส์

References

References
1 จากผลสำรวจ 3 อันดับที่ปรึกษาคนแรกเมื่อเยาวชนมีปัญหาชีวิต ได้แก่ พ่อแม่หรือผู้ปกครอง (44.4%) เพื่อน (35.8%) และอินเทอร์เน็ต (6.3%) ตามลำดับ
2 Lessard, Leah M., and Juvonen, Jaana. “Cross-Class Friendship and Academic Achievement in Middle School,” Developmental Psychology (2019). http://dx.doi.org/10.1037/dev0000755
3 Chetty, Raj, et al. “Social capital I: measurement and associations with economic mobility,” Nature 608 (2022): 108-121. https://doi.org/10.1038/s41586-022-04996-4
4 Hu, Kang, and Chan, Raymond K H. “Social Capital and Civic Engagement in Urban China,” The International Journal of Social Quality 2, no. 2 (2012): 24-42. https://www.jstor.org/stable/23971919
5 ดังที่ปรากฎในข้อมูลในภาพแผนภูมิที่ 1 กลุ่มเยาวชนที่มีรายได้ครัวเรือนมากที่สุดมีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจเยอะที่สุด
6 เครื่องมือทางเศรษฐมิติที่นำมาใช้ ได้แก่ วิธีการประมาณด้วย Ordinary Least Squares (OLS) และวิธีการประมาณด้วย Maximum Likelihood โดยผลลัพธ์จากการคำนวณทางเศรษฐมิติชี้ให้เห็นว่า การมีเพื่อนสนิทต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เยาวชนสนใจสังคมและตื่นตัวทางการเมืองมากกว่า ส่วนปัจจัยที่ส่งผลรองลงมา ได้แก่ ระดับรายได้ครัวเรือน และระดับการศึกษาของเยาวชน ตามลำดับ
7 ภูเบศร์ และคณะ. (2563). โลกที่ 3 ของซี-แอลฟา. สถาบันวิจัยประชากร มหาวิทยาลับมหิดล.
8 Greater London Authority. (2021). The London Plan: The Spatial Development Strategy for Greater London. https://www.london.gov.uk/sites/default/files/the_london_plan_2021.pdf

วิจัย/เขียน

สรวิศ มา

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ต้องพิการแค่ไหนรัฐไทยถึงมองเห็น

ในปัจจุบันยังมีผู้พิการจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการในระบบของภาครัฐ ขอเชิญชวนทุกท่านมาทำความเข้าใจสาเหตุที่ผู้พิการจำนวนมากตกหล่นไม่ได้รับสวัสดิการ และหาแนวทางที่จะทำให้ผู้พิการได้รับการช่วยเหลืออย่างที่สมควรได้รับ

ความเสี่ยงซึมเศร้า ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด?

ความเสี่ยงซึมเศร้า ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด?

ความเข้มแข็ง-อ่อนแอในจิตใจคนเราเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ เราฝึกฝนกำหนดใจเราเองได้แค่ไหน? นโยบายของรัฐควรมีบทบาทอย่างไรกับปัจจัยที่เกินการควบคุมของปัจเจกบุคคล?

ชายแดน/เมืองหลวง: สองขั้วปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษาไทย

เด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษา 1 ล้านคน ปัญหารุนแรงที่สุดในพื้นที่ชายแดนติดเทือกเขาสูง และในใจกลางเมืองหลวงของประเทศ

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2024 kidforkids.org | All rights reserved.