‘ครูกระจุก โรงเรียนกระจาย’ ปัญหาการจัดสรรครูไทยที่ต้องแก้ไขก่อนจะสายเกิน

ประเด็นสำคัญ

  • 'ปัญหาขาดแคลนครู' ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของไทยอย่างมีนัยสำคัญ แม้ไทยจะมีครูเพียงพอในภาพรวม แต่โรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนขนาดเล็กมีปัญหาขาดครูมากที่สุด 

  • การเพิ่มครูเข้าไปในระบบไม่ใช่การแก้ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กได้อย่างตรงจุด การ 'รวมโรงเรียน' ที่มีนักเรียนน้อยกว่า 500 คนและอยู่ใกล้กัน จะช่วยให้ครูเพียงพอได้โดยทันที

  • โรงเรียนเกือบ 22,000 แห่ง ขาดครูอย่างน้อย 1 สาขา โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก และสังคมศึกษาถือว่าเป็นสาขาที่ขาดครูมากที่สุด ยังมีครูจำนวนมากที่สอนไม่ตรงกับสาขาที่จบมา ซึ่งสาขาวิทยาศาสตร์และภาษาต่างประเทศมีปัญหานี้มากที่สุด

‘ปัญหาคุณภาพการศึกษาของไทย’ เป็นปัญหาเรื้อรังที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยถูกพูดถึงครั้งแรกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กำลังต้องการปฏิรูปการศึกษาไทยจากที่เรียนเพียงการอ่าน – เขียนภาษาไทย หรือพุทธศาสนามาเป็นการศึกษาเพื่อให้ทันต่อโลกสมัยใหม่มากขึ้น[1]“การจัดการศึกษาสมัยใหม่ยุค ร.5 ชาวบ้าน – … Continue reading จนประเทศไทยตรา พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ส่งผลให้มีการตั้งหน่วยงานด้านการศึกษาต่างๆ เพื่อวัดผลหรือพัฒนาคุณภาพการศึกษา[2]มาตรา 47 – มาตรา 57. หลังจากนั้นกระแสปฏิรูปการศึกษาก็เป็นนโยบายกระแสหลักของประเทศไทยมาตลอด จนในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมาบรรดาพรรคการเมืองหลักต่างมีนโยบายที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะการปรับหลักสูตรให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและการพัฒนาขีดความสามารถและสนับสนุนสื่อการสอนของครู[3]วรดร เลิศรัตน์ และสรัช สินธุประมา. (2023). เด็กและครอบครัวไทยในทางสองแพร่ง: … Continue reading

การมีครูดูแลนักเรียนอย่างทั่วถึง และการทุ่มเทเวลาและทรัพยากรให้กับการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นปัจจัยสำคัญต่อคุณภาพการศึกษาที่ทราบโดยทั่วกัน ทว่าการศึกษาไทยยังมีปัญหาการจัดสรรครู ที่ไม่ทั่วถึงและไม่ตรงจุดตรงสาย ตลอดจนภาระหน้าที่ที่เบียดบังเวลาการเรียนการสอนมาอย่างเรื้อรัง

เมื่อเรานึกถึงโรงเรียนที่ขาดครู ภาพที่เรานึกถึงมักจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกล นักเรียนหลายระดับชั้นนั่งเรียนรวมในห้องเรียนเดียวกัน หากมองไปที่การสอนก็อาจเป็นภาพที่ครูเหล่านี้ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญพอในวิชาที่กำลังสอนอยู่ ปัญหาที่โรงเรียนเหล่านี้เผชิญย่อมส่งต่อคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างนักเรียนที่เรียนโรงเรียนใหญ่ภายในเมืองที่มีครูเพียงพอ กับนักเรียนที่ห่างไกลจากตัวเมือง

ปัญหาดังกล่าวกระทบต่อการเรียนรู้ของนักเรียนโดยตรง สะท้อนจากผลการสอบ PISA ปี 2018 ของกลุ่มนักเรียนที่รายงานว่าโรงเรียนที่ขาดครูรุนแรงจะมีคะแนนสอบ PISA ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นทุกวิชา (ภาพที่ 1) และเมื่อเทียบโรงเรียนที่มีคุณลักษณะต่างๆ เหมือนกัน (ประเภทโรงเรียน ขนาดโรงเรียน สังกัดและพื้นที่) โรงเรียนที่นักเรียนรายงานว่าขาดครูวิชาคณิตศาสตร์จะมีคะแนนสอบ PISA วิชาคณิตศาสตร์น้อยกว่าโรงเรียนที่ไม่ขาดครูเฉลี่ย 3%[4]Piriya Pholphirul, Pungpond Rukumnuaykit & Siwat Teimtad (2023) Teacher shortages and educational outcomes in developing countries: Empirical evidence from PISA-Thailand, Cogent Education, 10:2, … Continue reading หากประเทศไทยต้องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ได้อย่างทั่วถึง ก็จำเป็นต้องแก้ปัญหาขาดแคลนครูควบคู่กันไปด้วย

ภาพที่ 1: คะแนนสอบเฉลี่ย PISA 2018 แบ่งกลุ่มตามความรุนแรงของปัญหาการขาดครูที่นักเรียนเผชิญ
หมายเหตุ: เส้นสีแดงคือเกณฑ์มาตรฐานระดับ 2 เทียบเท่าการมีความรู้เบื้องต้นในวิชาที่สอบและสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้
หมายเหตุ 2: ผู้จัดสอบ PISA ให้ผู้สอบประเมินความรุนแรงของปัญหาการขาดครูของตนเอง
ที่มา: OECD (2018)[5]https://www.oecd.org/pisa/data/

ศูนย์วิจัยนโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดย 101 PUB ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชวนผู้อ่านสำรวจการจัดสรรครูปัจจุบันสำหรับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. (โรงเรียนรัฐบาล) จำนวน 29,592 แห่งทั่วประเทศ สถานการณ์ปัญหาขาดแคลนครูทั้งภาพรวมและรายสาขา รวมถึงปัญหาครูสอนวิชาไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมา รวมถึงทางออกของปัญหา

ประเทศไทยจัดสรรครูอย่างไร ?

โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ปัจจุบันมีระบบการจัดสรรครูที่วางหลักเกณฑ์โดย ‘สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรการศึกษา’ หรือ ก.ค.ศ. ซึ่งมีหน้าที่กำหนดเกณฑ์ความต้องการครูของแต่ละโรงเรียน

เกณฑ์การกำหนดความต้องการครูขึ้นอยู่กับสองปัจจัยคือ ประเภทโรงเรียน และขนาดของโรงเรียน กรณีประถมศึกษาขนาดเล็ก เกณฑ์ความต้องการครูอยู่ในช่วง 1–8 คนขึ้นกับขนาดโรงเรียน ส่วนโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลางขึ้นไป เกณฑ์ความต้องการครูจะขึ้นกับจำนวนห้องเรียน ชั่วโมงเรียนต่อสัปดาห์ของนักเรียน (20–25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และชั่วโมงสอนต่อสัปดาห์ของครู (20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ส่วนกรณีมัธยมศึกษานั้นใช้เกณฑ์คล้ายกับโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลางขึ้นไป แต่กำหนดชั่วโมงเรียนต่อสัปดาห์มากกว่านักเรียนประถมศึกษา (30–35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) จึงต้องการครูมากกว่าโรงเรียนประถมศึกษา ขณะที่กรณีโรงเรียนขยายโอกาสใช้เกณฑ์ผสมระหว่างโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1: เกณฑ์กำหนดความต้องการครู แบ่งตามขนาดโรงเรียนและประเภทโรงเรียน
ที่มา: สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (2020)[6]ดูเพิ่มเติม ศธ.0206.6/ว23 … Continue reading สรุปโดย คิด for คิดส์
*หมายเหตุ: สำหรับชั้นเรียนระดับประถมศึกษาให้ใช้เกณฑ์เดียวกับโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก ส่วนชั้นเรียนมัธยมศึกษาให้ใช้เกณฑ์เดียวกับโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก เมื่อได้เกณฑ์ความต้องการครูทั้งจากชั้นเรียนประถมฯ และมัธยมฯ ให้นำตัวเลขทั้งสองมารวมกัน

หลังจากนั้น แต่ละโรงเรียนจะต้องรายงานจำนวนครูและความต้องการครูตามตารางที่ 1 แก่เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อวางแผนจัดสรรครูจากโรงเรียนที่มีครูมากกว่าความต้องการตามเกณฑ์ ก.ค.ศ. (ครูเกิน) ไปยังโรงเรียนที่มีครูน้อยกว่าความต้องการตามเกณฑ์ ก.ค.ศ. แต่การจัดสรรครูของเขตพื้นที่การศึกษาจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อครูผู้สอนขอย้ายออกด้วย หากไม่มีใครขอย้าย เขตพื้นที่ก็ไม่สามารถบังคับได้

ภาพรวมไทยมีครูพอต่อนักเรียน
แต่โรงเรียนขนาดเล็กกลับขาดครูจำนวนมาก

ปีการศึกษา 2022 ประเทศไทยมีข้าราชการครูที่สังกัด สพฐ. ทั้งหมด 343,027 คน มีนักเรียนที่เรียนโรงเรียนรัฐสังกัด สพฐ. ทั้งหมด 6,557,074 คน[7]สำนักงานกระทรวงศึกษาธิการ. (ม.ป.ป.a). ข้อมูลอัตรากำลังของสถานศึกษา … Continue reading หากเทียบจำนวนครูที่ดูแลนักเรียน 100 คนจะพบว่า ประเทศไทยมีครู 5.2 คนต่อนักเรียน 100 คน ซึ่งมากกว่าเกณฑ์ที่ UNESCO เสนอให้มีครูอย่างน้อย 4 คน สำหรับการดูแลนักเรียนทุก 100 คน

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาความต้องการครูตามที่โรงเรียนรายงาน จะพบว่าโรงเรียนสังกัด สพฐ. ของไทยต้องการครูรวม 390,954 คน จึงกลายเป็นว่าประเทศไทยมีครูไม่เพียงพอต่อความต้องการจริงของโรงเรียน โดยขาดแคลนอยู่ 47,927 คน แต่หากนับเฉพาะโรงเรียนที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนครูในปัจจุบัน (ไม่นับโรงเรียนที่ปริมาณครูเพียงพอหรือเกินความต้องการ) พบว่าจำนวนครูที่ขาดแคลนจริงเท่ากับ 56,820 คน[8]เมื่อพิจารณาเฉพาะโรงเรียนที่มีปริมาณครูมากกว่าความต้องการ … Continue reading ซึ่งหมายความว่าโรงเรียนไทยต้องการครูเฉลี่ย 6.0 คน เพื่อดูแลนักเรียน 100 คน ซึ่งมากกว่ามาตรฐาน

เมื่อพิจารณาปัญหาการขาดแคลนครูตามประเภทโรงเรียนจะพบว่า โรงเรียนประถมศึกษา 78.3% ขาดครู ซึ่งถือว่ามากที่สุดเมื่อเทียบตามระดับชั้น (ขยายโอกาส 48.6%, มัธยมศึกษา 47.5%) และเมื่อแบ่งตามขนาด โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คนหรือโรงเรียนขนาดเล็ก 83.9% ขาดครู ส่วนโรงเรียนที่มีนักเรียน 120 คนขึ้นไปหรือโรงเรียนขนาดกลางมี 53.5% ที่ขาดครู (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 2

นอกจากนั้น เมื่อแยกโรงเรียนตามพื้นที่จะพบว่าโรงเรียนในชนบท 69.9% ขาดครู ซึ่งมากกว่าโรงเรียนในเมืองเล็กน้อย (62.3% ของโรงเรียนในเมืองขาดครู) และโรงเรียนที่มีชั้นประถมศึกษาจะมีปัญหามากกว่า (ตารางที่ 2) ดังนั้น ภาพจำโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ชนบทก็มีส่วนที่ถูกต้อง แต่ก็เป็นภาพเพียงส่วนเดียวเท่านั้น

ตารางที่ 2: สัดส่วนโรงเรียนที่ขาดครูแบ่งตามพื้นที่ ระดับชั้น และขนาดโรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2022
หมายเหตุ: โรงเรียนในเมืองคือโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ หรือพื้นที่อำเภอเมืองตามจังหวัดต่างๆ
ที่มา: สพฐ. (ม.ป.ป.a) คำนวณโดย คิด for คิดส์

โรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนขนาดเล็กมีสัดส่วนโรงเรียนที่ขาดแคลนครูมากกว่าโรงเรียนกลุ่มอื่น เพราะมีสัดส่วนความต้องการครูต่อนักเรียนมากกว่าโรงเรียนอื่นๆ โดยโรงเรียนประถมศึกษาต้องการครูเฉลี่ย 6.7 คนเพื่อดูแลนักเรียน 100 คน (ขยายโอกาส 6.3 คน, มัธยมศึกษา 4.9 คน) ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กต้องการครูเฉลี่ย 9.7 คนเพื่อดูแลนักเรียน 100 คน (โรงเรียนขนาดกลาง 5.3 คน) ทว่าในส่วนโรงเรียนประถมศึกษานั้น ในปัจจุบันกลับมีจำนวนครูเพียง 5 คนต่อนักเรียน 100 คน และโรงเรียนขนาดเล็กมีครูเพียง 5.9 คนต่อนักเรียน 100 คน เห็นได้ว่าความน่ากังวลอยู่ที่โรงเรียนขนาดเล็กมากเป็นพิเศษ เพราะจำนวนครูต่อนักเรียน 100 ในปัจจุบัน ห่างจากจำนวนที่ต้องการจริงอยู่มาก เมื่อเทียบกับโรงเรียนกลุ่มอื่นๆ ดังนั้น ส่งผลให้เมื่อพิจารณาจำนวนครูที่ยังขาดตามที่โรงเรียนรายงาน พบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก (ตารางที่ 3)

ตารางที่ 3: ความต้องการครูเพื่อดูแลนักเรียน 100 คน จำนวนครูที่ดูแลนักเรียน 100 คนในปัจจุบัน
และจำนวนครูที่ขาดแคลน ประจำปีการศึกษา 2022
ที่มา: สพฐ. (ม.ป.ป.a) คำนวณโดย คิด for คิดส์

หากมองอย่างผิวเผิน ปัญหานี้สามารถแก้ได้ด้วยการบรรจุครูเพิ่มเข้าไปในระบบให้เพียงพอต่อความต้องการครู แต่ปัญหาที่แท้จริงคือการมีนักเรียนน้อยจนเกินไป โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีนักเรียนเฉลี่ย 62.4 คน/แห่ง มีครูเฉลี่ย 3.7 คน/แห่ง เมื่อเทียบสัดส่วนนักเรียนต่อครู จะพบว่าครูที่สอนตามโรงเรียนขนาดเล็ก 1 คนดูแลนักเรียนเฉลี่ย 16.9 คน ซึ่งเห็นได้ว่าน้อยกว่าเกณฑ์ UNESCO ที่กำหนดให้ดูแลนักเรียนไม่เกิน 25 คนอยู่มาก

ปัญหานักเรียนน้อยเกินไปยิ่งเห็นได้ชัดเจนเมื่อคำนวณตามห้องเรียน โรงเรียนขนาดกลางขึ้นไปมีนักเรียนเฉลี่ยต่อห้อง 25.5 คน/ห้อง แต่โรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียนเฉลี่ยต่อห้อง 8.2 คน/ห้อง ปัญหายิ่งร้ายแรงโดยเฉพาะโรงเรียนที่มีนักเรียน 1–40 คน ที่ต้องใช้ห้องเรียนมากถึง 6.7 ห้อง แต่เกณฑ์กำหนดให้โรงเรียนมีครูเพียง 1–4 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อชั้นเรียน (ตารางที่ 4)

ตารางที่ 4: ปริมาณครูต่อนักเรียนและจำนวนโรงเรียนที่ขาดครู ปีการศึกษา 2022
ที่มา: สพฐ. (ม.ป.ป.a) คำนวณโดย คิด for คิดส์

โจทย์สำคัญจึงไม่ใช่การเพิ่มจำนวนครูให้เพียงพอต่อความต้องการตามที่โรงเรียนรายงาน จนซ้ำเติมปัญหาการไม่ได้สัดส่วน (ครู 1 คนดูแลนักเรียนเฉลี่ยลดลงจาก 16.9 คน เหลือ 10.3 คน หากเพิ่มครูให้เพียงพอต่อความต้องการครูที่โรงเรียนขนาดเล็กรายงาน) และไม่ช่วยแก้ปัญหาจำนวนห้องเรียนที่มีมากเกินไป แต่เป็นการจัดสรรทรัพยากรครูที่มีอยู่เดิมใหม่ให้สัดส่วนปริมาณครูต่อนักเรียนใกล้เคียงกับเกณฑ์ UNESCO มากขึ้น แก้ปัญหาห้องเรียนที่มากเกินไป โดยยังคงคุณภาพการศึกษาให้เท่าเดิมหรือดีกว่าเดิม

การรวมชั้นเรียนของโรงเรียนขนาดเล็ก – กลางที่อยู่ใกล้กัน
ช่วยให้ความต้องการครูลดลง ทรัพยากรถูกจัดสรรดียิ่งขึ้น

หนึ่งในแนวทางการปฏิรูปการศึกษาไทยคือ ‘การควบรวมโรงเรียน’ ที่มีทรัพยากรน้อยเข้าด้วยกันเพื่อแก้ปัญหาเบี้ยหัวแตก ทั้งในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานในโรงเรียนที่เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) หรือครูที่จะได้สอนห้องเรียนที่ใหญ่ขึ้น มีจำนวนครูครบชั้นเรียน

งานศึกษาของธนาคารโลก (World Bank)[9]World Bank Group. (2023). Thailand Public Revenue and Spending Assessment. p.112 – 119. ได้จำลองการควบรวมในประเทศไทย โดยจัดโรงเรียนออกเป็น 5 ประเภทประกอบด้วยโรงเรียนศูนย์กลาง (Hub Schools) 6,888 แห่ง โรงเรียนรอบนอก (Affiliated Schools) 17,168 แห่ง โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลชุมชน (Protected Schools) 1,210 แห่ง โรงเรียนขนาดกลางในพื้นที่ห่างไกลชุมชน (Isolated Schools) 2,008 แห่ง และโรงเรียนขนาดใหญ่ (Large Schools) 2,318 แห่ง ดังแสดงในตารางที่ 3 และควบรวมโรงเรียนรอบนอกเข้าสู่โรงเรียนศูนย์กลาง ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลางในพื้นที่ห่างไกลชุมชน ไม่สามารถควบรวมได้เนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้อยู่ห่างไกลจนเกินไป การควบรวมโรงเรียนเหล่านี้เข้ากับโรงเรียนศูนย์กลางจะทำให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาได้ยากขึ้น

ตารางที่ 5: ประเภทโรงเรียนที่ธนาคารโลกนิยาม คุณสมบัติ และจำนวนโรงเรียน เพื่อใช้ในแบบจำลองควบรวมโรงเรียน
ที่มา: World Bank Group (2023) p.112 – 119. คำนวณโดย คิด for คิดส์
*หมายเหตุ: คิด for คิดส์ ปรับเลขเพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลปัจจุบัน (ปี 2022) มากขึ้น
เนื่องจากตัวเลขที่ธนาคารโลกใช้คือข้อมูลปี 2020

การควบรวมโรงเรียนรอบนอก 17,168 โรงเรียนเข้ากับโรงเรียนศูนย์กลางทั้ง 6,888 โรงเรียน จะทำให้จำนวนโรงเรียนสังกัด สพฐ. ในประเทศไทยลดลงจาก 29,592 แห่งเหลือ 12,424 แห่ง ส่วนความต้องการครูของโรงเรียนที่เข้าเกณฑ์ควบรวมจะลดลงจาก 251,704 คน เหลือ 147,451 คน[10]คิด for คิดส์ คำนวณความต้องการครูหลังควบรวม … Continue reading) (ลดลง 41.4%) เมื่อเทียบกับปริมาณครู 206,378 คนที่อยู่ในโรงเรียนเหล่านี้ในปัจจุบันแล้ว การควบรวมจึงทำให้ปริมาณครูเพียงพอ (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 3

กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือการควบรวมโรงเรียนของประเทศจีนช่วงต้นทศวรรษ 2000 ที่ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กตามชุมชนต่างๆ เข้ากับโรงเรียนภายในเมือง แม้จะมีปัจจัยเชิงลบอยู่บ้างจากการที่นักเรียนบางส่วนต้องนอนหอพัก แต่เมื่อหักลบกับปัจจัยเชิงบวกอย่างการเข้าถึงทรัพยากรการศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น เช่น ครู สื่อการสอน (Resource Effect) การย้ายจากโรงเรียนขนาดเล็กตามชุมชนมายังโรงเรียนภายในเมืองยังคงส่งผลดีต่อนักเรียนมากกว่ากลุ่มนักเรียนที่ไม่ย้ายมาเรียนในเมือง[11]Mo, D., Yi, H., Zhang, L., Shi, Y., Rozelle, S., & Medina, A. (2010). Transfer Paths and Academic Performance: The Primary School Merger Program in China. Asian Law eJournal.

เกือบ 22,000 โรงเรียนขาดครูอย่างน้อย 1 สาขา
โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก

นอกจาก ก.ค.ศ. จะกำหนดเกณฑ์ความต้องการครูรวมแต่ละโรงเรียนแล้ว ยังได้เจาะจงความต้องการครูขั้นต่ำแต่ละสาขา โดยขึ้นกับประเภทโรงเรียน ขนาดโรงเรียน และความต้องการครูรวมตามเกณฑ์ ก.ค.ศ.

สำหรับโรงเรียนประถมศึกษาใดๆ ก็ตามที่มีชั้นเรียนอนุบาล ก.ค.ศ. กำหนดให้ต้องมีครูสาขาปฐมวัยอย่างน้อย 1 คน ส่วนสาขาอื่นขึ้นอยู่กับว่าโรงเรียนมีนักเรียนกี่คน หากโรงเรียนประถมศึกษามีนักเรียน 1–40 คน ก็ให้มีครูอย่างน้อย 1 คน ที่มาจากสาขาประถมศึกษา ภาษาไทย คณิตศาสตร์ หรือภาษาต่างประเทศ โรงเรียนประถมศึกษาที่มีนักเรียน 41–80 คน ควรจะมีครูสาขาสังคมศึกษาหรือวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม ส่วนโรงเรียนประถมศึกษาที่มีนักเรียนตั้งแต่ 81 คนขึ้นไปจะต้องมีครูสาขาประถมศึกษา ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ สังคมศึกษา และวิทยาศาสตร์ อย่างน้อยสาขาละ 1 คน

สำหรับโรงเรียนขยายโอกาสขนาดเล็ก (1–119 คน) เอกสารของ ก.ค.ศ. ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าต้องการครูสาขาอะไรบ้าง ส่วนโรงเรียนขยายโอกาสขนาดใหญ่ใช้เกณฑ์เดียวกับโรงเรียนประถมศึกษาที่มีนักเรียน 81 คนขึ้นไป (ตารางที่ 6)

สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา ก.ค.ศ. กำหนดความต้องการครูแต่ละสาขาโดยยึดจากความต้องการครูรวมตามเกณฑ์ ก.ค.ศ. เป็นหลัก (ตารางที่ 7) ซึ่งกำหนดตามจำนวนครูทั้งหมดที่ต้องการ เช่นถ้าโรงเรียนแห่งหนึ่งต้องการครู 49 คน ตามเกณฑ์ ก.ค.ศ. จะต้องมีครูสาขาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ อย่างน้อยสาขาละ 4 คน ส่วนสาขาสังคมศึกษาและวิทยาศาสตร์ต้องมีอย่างน้อย 5 คน แต่ถ้าโรงเรียนต้องการครู 55 คน แม้ในเกณฑ์ ก.ค.ศ. จะไม่ได้ระบุตรงไปตรงมาว่าครูแต่ละสาขาจะต้องมีกี่คน ก.ค.ศ. จึงระบุเพิ่มเติมว่าให้ยึดเกณฑ์ที่ความต้องการครูใกล้เคียงที่สุดแทน จากตารางที่ 7 จะเห็นว่าความต้องการครูที่ใกล้เคียงที่สุดคือ 59 คน ดังนั้นจะต้องมีครูสาขาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ อย่างน้อยสาขาละ 5 คน สาขาสังคมศึกษาต้องการอย่างน้อย 7 คน และสาขาวิทยาศาสตร์ต้องการอย่างน้อย 6 คน[12]ดูเพิ่มเติม ศธ.0206.6/ว29 เรื่อง … Continue reading

ตารางที่ 6: รายละเอียดเกณฑ์ความต้องการครูรายสาขาขั้นต่ำ แบ่งตามประเภทโรงเรียนและขนาดโรงเรียน
ที่มา: สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (2022) นำเสนอโดย คิด for คิดส์
ตารางที่ 7: ตัวอย่างเกณฑ์ความต้องการครูรายสาขาขั้นต่ำของโรงเรียนมัธยมศึกษา แบ่งตามเกณฑ์ความต้องการครูรวม
ที่มา: สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (2022) นำเสนอโดย คิด for คิดส์

ก่อนวิเคราะห์ปัญหาการขาดครูรายสาขาแต่ละโรงเรียน คิด for คิดส์ ได้คำนวณความต้องการครูเฉลี่ยแต่ละสาขา ซึ่งโรงเรียนทั่วไปสามารถคำนวณตามเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด แต่จะต้องคำนวณเพิ่มเติมสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่สามารถเลือกครูจากสาขาที่กำหนดอย่างไรก็ได้ นั่นคือโรงเรียนประถมศึกษาหรือขยายโอกาส ที่มีความต้องการครูน้อยกว่า 7 คน (นักเรียน 1–40 และ 41– 80คน) นอกจากครูสาขาปฐมวัยที่กำหนดให้มีอย่างน้อย 1 คนแล้ว จะต้องคำนวณความต้องการครูเฉลี่ยในสาขาอื่นเป็นผลหารระหว่างจำนวนความต้องการครูโดยรวม (ที่หักครูปฐมวัย) กับจำนวนสาขาวิชานอกจากปฐมวัยที่ ก.ค.ศ. มีการกำหนดความต้องการครู[13]สำหรับโรงเรียนประถมศึกษาที่มีนักเรียน 1–40  คน … Continue reading

หากพิจารณาปัญหาการขาดครูรายสาขา พบว่าโรงเรียน 21,892 แห่งหรือ 74.5% ของโรงเรียนสังกัด สพฐ. ทั้งหมด มีครูไม่เพียงพอต่อความต้องการอย่างน้อย 1 สาขา แบ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก 13,352 แห่ง โรงเรียนขนาดกลางขึ้นไป 8,540 แห่ง เมื่อพิจารณารายสาขาจะพบว่า สาขาที่ครูขาดแคลนมากที่สุดคือสังคมศึกษา โดยโรงเรียน 12,847 แห่งที่ขาดครูสาขาสังคมศึกษารวม 12,338 คน รองลงมาคือคณิตศาสตร์ โดยโรงเรียน 10,535 แห่งขาดครูสาขาคณิตศาสตร์รวม 9,111 คน (ตารางที่ 8)

ตารางที่ 8 จำนวนโรงเรียนที่ขาดครู/จำนวนครูที่ขาดแคลนรายสาขา แบ่งตามขนาดโรงเรียน
ประจำปีการศึกษา 2021
ที่มา: สพฐ. (ม.ป.ป.b)[14]สำนักงานกระทรวงศึกษาธิการ. (ม.ป.ป.b). ข้อมูลอัตรากำลังของสถานศึกษา … Continue reading

นอกจากปัญหาขาดครูภาพรวม/รายสาขาแล้ว ครูไทยบางส่วนก็ได้สอนในวิชาที่ไม่ตรงกับสาขาที่ตนเรียนจบมา ทั้งนี้ปัญหาครูสอนไม่ตรงสาขาเกิดจากครูที่จบแต่ละสาขาไม่เท่ากับครูที่สอนทั้งกรณีที่มากกว่าและน้อยกว่า เช่น สาขาวิทยาศาสตร์ มีครูที่จบสาขาวิทยาศาสตร์แต่ไม่สอนวิชาวิทยาศาสตร์ทั้งหมด 2,510 คน เนื่องจากครูเหล่านี้สอนในโรงเรียนที่ครูสาขาวิทยาศาสตร์น้อยกว่าครูที่จบสาขาวิทยาศาสตร์ จนต้องเกลี่ยครูที่จบสาขาวิทยาศาสตร์ที่เหลือไปสอนวิชาอื่น ในทางกลับกันก็มีครูที่ไม่ได้จบสาขาวิทยาศาสตร์แต่ต้องสอนวิชาวิทยาศาสตร์ 1,293 คน เนื่องจากต้องสอนในโรงเรียนที่มีครูจบสาขาวิทยาศาสตร์ไม่พอต่อจำนวนครูที่สอนวิชาวิทยาศาสตร์จริง

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว คิด for คิดส์ จึงเสนอให้จัดสรรครูแต่ละสาขาใหม่ โดยโยกย้ายครูที่จบตรงสาขาแต่ได้สอนวิชาอื่น ไปโรงเรียนใหม่ที่ต้องนำครูสาขาอื่นมาสอนแทน อย่างในกรณีสาขาวิทยาศาสตร์และภาษาต่างประเทศ เมื่อโยกย้ายครูที่จบสาขาวิทยาศาสตร์ 2,510 คนแต่ไม่ได้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ และครูที่จบสาขาภาษาต่างประเทศ 1,550 คนแต่ไม่ได้สอนภาษาต่างประเทศ ไปยังโรงเรียนที่ต้องนำครูที่จบสาขาอื่นมาสอนวิชาวิทยาศาสตร์และภาษาต่างประเทศแทน จะสามารถแก้ปัญหาครูสอนไม่ตรงสาขาได้ทั้งหมดเนื่องจากจำนวนครูสาขาอื่นที่มาสอนวิชาวิทยาศาสตร์และภาษาต่างประเทศมีไม่มากนัก ส่วนสาขาอื่นนั้น เมื่อโยกย้ายครูแต่ละสาขาที่ได้สอนวิชาไม่ตรงกับสาขาที่จบมา จะช่วยบรรเทาปัญหาครูสอนไม่ตรงสาขาได้บางส่วนเท่านั้น โดยเฉพาะวิชาภาษาไทยที่มีครูที่จบสาขาอื่นมาสอนจำนวนมาก แต่ครูที่จบสาขาภาษาไทยแต่ได้สอนวิชาอื่นกลับมีน้อย (ภาพที่ 4)

ภาพที่ 4

นอกจากรวมโรงเรียน/จัดสรรครู รัฐบาลยังต้องปฏิรูปอีกหลายส่วน

นอกจากการควบรวมโรงเรียนและจัดสรรครู คิด for คิดส์ เสนอให้รัฐบาลเร่งปฏิรูปวาระอื่นๆ ตามมาอย่างน้อย 4 ข้อ (ภาพที่ 5)  

  1. เพิ่มสิทธิประโยชน์ เช่น ค่าตอบแทนพิเศษ และที่พักฟรี แก่ครูที่จบการศึกษาในสาขาที่ขาดแคลน เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ หรือครูที่เลือกบรรจุในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนครู ในกรณีที่ควบรวมโรงเรียนอาจเป็นสิทธิประโยชน์ที่ให้แก่ครูที่สอนโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลชุมชน เนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้ทั้งขาดครูและห่างไกลจากโรงเรียนศูนย์กลาง หากควบรวมโรงเรียนจะส่งผลให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาได้ยากขึ้น รัฐจึงต้องเน้นพัฒนาศึกษาแก่โรงเรียนกลุ่มนี้ให้เทียบเท่ากับโรงเรียนอื่นแทน เพื่อปิดจุดอ่อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้นระหว่าง โรงเรียนที่ควบรวม/ถูกควบรวม กับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลชุมชน  
  2. วางหลักเกณฑ์โยกย้ายครูให้ชัดเจน เพราะแม้ว่าเขตพื้นที่จะมีอำนาจกำหนดว่าโรงเรียนไหนต้องถ่ายเทครูส่วนเกินให้แก่โรงเรียนที่ขาดครู แต่กลับไม่สามารถบังคับใช้แผนการจัดสรรครูได้จริง เนื่องจากครูที่สอนในโรงเรียนที่มีครูเกินต้องขอย้ายไปโรงเรียนที่ครูขาดเท่านั้น ดังนั้นเขตพื้นที่ควรจะวางหลักเกณฑ์ครูที่จะถูกย้ายให้ชัด และสร้างกลไกชดเชยแก่ครูที่ถูกย้ายให้เหมาะสม เช่น ค่าตอบแทนพิเศษ สิทธิ์ในการลดหย่อนหนี้ เป็นต้น   
  3. ในอนาคต จะต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้เน้นบูรณาการข้ามสาขาได้จริง ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างวิชาต่างๆ เพื่อเสริมมุมมองใหม่แก่ตัวผู้เรียน การบูรณาการข้ามสาขาและเน้นทักษะสำคัญยังช่วยให้หลักสูตรรวมมีขนาดเล็กลง แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  4. เพื่อรองรับการปรับวิธีการสอน จะต้องปรับหลักสูตรครุศาสตร์/อบรมครูในระบบ สู่การออกแบบกิจกรรมที่ประยุกต์กับความรู้ที่สอน เพื่อช่วยให้นักเรียนสามารถนำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์กับชีวิตประจำวันหรือการทำงานในอนาคตได้
ภาพที่ 5

References

References
1 “การจัดการศึกษาสมัยใหม่ยุค ร.5 ชาวบ้าน – พระยังต้านใช้ศาลาวัดเป็นที่สอนหนังสือ”, ศิลปวัฒนธรรม, มกราคม 21, 2022, https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_10847
2 มาตรา 47 – มาตรา 57.
3 วรดร เลิศรัตน์ และสรัช สินธุประมา. (2023). เด็กและครอบครัวไทยในทางสองแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็ก เยาวชน และครอบครัวปี 2023. หน้า 29 – 30.
4 Piriya Pholphirul, Pungpond Rukumnuaykit & Siwat Teimtad (2023) Teacher shortages and educational outcomes in developing countries: Empirical evidence from PISA-Thailand, Cogent Education, 10:2, DOI: 10.1080/2331186X.2023.2243126.
5 https://www.oecd.org/pisa/data/
6 ดูเพิ่มเติม ศธ.0206.6/ว23 เรื่องเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรการศึกษาในสถานศึกษา สังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
7 สำนักงานกระทรวงศึกษาธิการ. (ม.ป.ป.a). ข้อมูลอัตรากำลังของสถานศึกษา ปีการศึกษา 2022.
8 เมื่อพิจารณาเฉพาะโรงเรียนที่มีปริมาณครูมากกว่าความต้องการ จะพบว่าจำนวนครูรวมมากกว่าความต้องการครูตามที่โรงเรียนรายงาน 8,893 คน ดังนั้นยอดขาดแคลนครูจริงจึงเพิ่มจาก 47,927 คน เป็น 56,820 คน
9 World Bank Group. (2023). Thailand Public Revenue and Spending Assessment. p.112 – 119.
10 คิด for คิดส์ คำนวณความต้องการครูหลังควบรวม ด้วยการหาจำนวนห้องเรียนเฉลี่ยของโรงเรียนหลังถูกควบรวม และนำมาคำนวณความต้องการครูตามเกณฑ์ ก.ค.ศ. กรณีโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลางขึ้นไป (95.8% ของโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 500 คนมีชั้นเรียนประถมศึกษา
11 Mo, D., Yi, H., Zhang, L., Shi, Y., Rozelle, S., & Medina, A. (2010). Transfer Paths and Academic Performance: The Primary School Merger Program in China. Asian Law eJournal.
12 ดูเพิ่มเติม ศธ.0206.6/ว29 เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานวิชาเอกที่กำหนดให้มีในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
13 สำหรับโรงเรียนประถมศึกษาที่มีนักเรียน 1–40  คน ตามเกณฑ์ความต้องการครูรวมจะเท่ากับ 1–4 คน หากมีชั้นเรียนอนุบาล ตามเกณฑ์ ก.ค.ศ. ระบุว่าต้องมีครูสาขาปฐมวัยอย่างน้อย 1 คน ดังนั้นความต้องการครูเฉลี่ยสาขาปฐมวัยของโรงเรียนประถมศึกษาที่มีนักเรียน 1–40 คนจึงเท่ากับ 1 คน แต่หากไม่มีชั้นเรียนอนุบาลก็ให้ความต้องการครูเฉลี่ยสาขาปฐมวัยเท่ากับ 0 คน ความต้องการครูสาขาประถมศึกษา ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ คิด for คิดส์ นำเกณฑ์ความต้องการครูรวมหลังหักความต้องการครูเฉลี่ยสาขาปฐมวัย (-1 กรณีมีชั้นเรียนอนุบาล -0 กรณีไม่มีชั้นเรียนอนุบาล) หารกับ 4 จะได้ความต้องการครูเฉลี่ยสาขาประถมศึกษา ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ สำหรับโรงเรียนประถมศึกษาที่มีนักเรียน 41 – 80 คน ความต้องการครูเฉลี่ยสาขาปฐมวัย ประถมศึกษา ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ จะใช้วิธีเดียวกับกรณีนักเรียน 1 – 40 คน แต่ใช้เลข 6 เป็นตัวหารแทนเลข 4 และความต้องการครูเฉลี่ยสาขาสังคมศึกษาและวิทยาศาสตร์ให้เท่ากับความต้องการครูสาขาอื่นนอกจากปฐมวัย สำหรับโรงเรียนประถมศึกษาที่มีนักเรียน 81 คนขึ้นไป และโรงเรียนขยายโอกาสที่มีนักเรียน 120 คนขึ้นไป เนื่องจากต้องการครูแต่ละสาขาอย่างน้อย 1 คน ดังนั้นความต้องการครูเฉลี่ยแต่ละสาขาจึงเท่ากับ 1 คน
14 สำนักงานกระทรวงศึกษาธิการ. (ม.ป.ป.b). ข้อมูลอัตรากำลังของสถานศึกษา ปีการศึกษา 2021.

บทความที่เกี่ยวข้อง

เปิดสถิติเรียนพิเศษนักเรียนไทย: เมื่อโรงเรียนไม่อาจพาเด็กไปถึงฝั่ง

คิด for คิดส์สำรวจสถิติการเรียนพิเศษของนักเรียนไทย จำนวน 12,999 คน จากข้อมูลการสำรวจเยาวชนไทย 2022 ที่มุ่งสำรวจความรับรู้ คุณค่า และทัศนคติของเยาวชนไทย ซึ่งรวมไปถึงประเด็นด้านการศึกษาและการเรียนพิเศษ

เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง

เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023

คิด for คิดส์ ชวนอ่าน “เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023” พร้อม “สถิติสำคัญด้านเด็กและครอบครัว”

เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: คุณค่าและทัศนคติเยาวชนไทยจากผลสำรวจ คิด for คิดส์

เข้าใจตัวตน-ความคิดของ ‘เด็กสมัยนี้’: คุณค่าและทัศนคติเยาวชนไทยจากผลสำรวจ คิด for คิดส์

คิด for คิดส์ ชวนทำความเข้าใจ ‘คุณค่า-ทัศนคติ’ ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของ ‘เยาวชนไทย’ จากผลสำรวจเยาวชนสองหมื่นคนทั่วประเทศ หาคำตอบว่าพวกเขาคิดฝันอะไร เป็นใคร และมีพฤติกรรมอย่างไร

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2024 kidforkids.org | All rights reserved.