เติมทุน-หนุนการมีส่วนร่วม: เปลี่ยนฝันของเยาวชนไปสู่พลังการเปลี่ยนแปลง

เติมทุน-หนุนการมีส่วนร่วม: เปลี่ยนฝันของเยาวชนไปสู่พลังการเปลี่ยนแปลง

ตลอดช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนว่าเยาวชนคือหนึ่งในพลังทางสังคมที่ออกมา ‘ส่งเสียง’ อย่างหนักแน่นว่าต้องการความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม และนโยบายในหลายมิติ

ไม่เพียงเท่านั้น ในฐานะประชาชนที่จะเติบโตไปเป็นความหวังของประเทศในอนาคต พวกเขาต้องการ ‘มีส่วนร่วม’ ในการลงมือเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระดับชุมชน โรงเรียน หรือระดับประเทศ

อย่างไรก็ตาม ความฝันไม่อาจถูกเปลี่ยนเป็นพลังในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงได้ หากปราศจากทรัพยากร – ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเงิน ทักษะหรือข้อมูล – และการสนับสนุนที่เหมาะสม

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับ 101 Public Policy Think Tank (101 PUB) จึงชวนเยาวชนคนรุ่นใหม่สะท้อนมุมมองและปัญหาจากการทำกิจกรรมเปลี่ยนแปลงสังคม ไปจนถึงแนวทางพัฒนากลไกสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเยาวชน ในงานพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด-ความฝัน Youth’s Policy Dialogue II: เติมทุน-หนุนการมีส่วนร่วมของเยาวชน เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2025 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อเปิดวงคุยโดย โชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง มูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม, ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, และ ณัฐภัทร เนียวกุล HAND Social Enterprise ดำเนินรายการโดย วรดร เลิศรัตน์ 101 PUB

เสียงของเยาวชน: เข็มทิศกำหนดทิศทางการหนุนเงินทุน

โชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง
โชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง

ในฐานะ ‘ตัวกลาง’ เชื่อมโยงการทำงานระหว่างเยาวชนกับหน่วยงานท้องถิ่นของรัฐ และช่วยเปลี่ยนเสียงของเยาวชนให้กลายเป็นงบประมาณและโครงการ โชติเวชญ์ อึ้งเกลี้ยง จากมูลนิธินวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม ตั้งข้อสังเกตว่าปัจจัยที่ส่งผลว่าสถานการณ์การมีส่วนร่วมของเยาวชนจะเปิดกว้างมากแค่ไหน-อย่างไร คือมุมมองของแต่ละรัฐบาลในการทำงานร่วมกับเยาวชน ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายและงบประมาณ

“การเปิดให้เยาวชนมีส่วนร่วมกับโครงการของรัฐสัมพันธ์กับการให้ความหมายและความสำคัญของผู้มีอำนาจต่อผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า”

“หากรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีมาจากฝ่ายทหาร เยาวชนจะถูกมองว่าเป็นพลทหาร วิธีการกำหนดนโยบายและงบประมาณเพื่อเปิดให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมก็จะเป็นไปตามความคุ้นเคยที่ทหารมองเยาวชน เวลาจะขับเคลื่อนก็ต้องสู้หนักหน่อย แต่หากรัฐบาลมาจากฝ่ายธุรกิจอย่างในขณะนี้ เยาวชนก็จะถูกมองว่าเป็นผู้ประกอบการรุ่นเยาว์หรือลูกค้า วิธีคิดในการกำหนดนโยบายและจัดสรรงบประมาณก็เปลี่ยน”

ส่วนสถานการณ์การมีส่วนร่วมของเยาวชนในปัจจุบัน โชติเวชญ์มองว่า “ค่อนข้างมีความหวัง” เนื่องจาก อยู่ภายใต้สภาวะที่โชติเวชญ์เรียกว่า ‘สถานการณ์อุ่นๆ’ กล่าวคือ เยาวชนและรัฐพร้อมต่อรองเจรจาบนจุดยืนของตนเอง ขณะเดียวกัน ‘สถานการณ์เย็น’ ที่เยาวชนและรัฐเป็นหุ้นส่วนกันในการทำงานร่วมกันก็ค่อยๆ เริ่มเกิดขึ้น ไม่ได้มีเพียง ‘สถานการณ์ร้อน’ ที่เยาวชนกับรัฐมีจุดยืนขัดแย้งกันและไม่สามารถเจรจาได้

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคใหญ่ที่เยาวชนต้องเผชิญในการมีส่วนร่วมคือ การเข้าถึงเงินทุนและทรัพยากร ในกรณีแหล่งเงินทุนมาจากหน่วยงานรัฐ โชติเวชญ์มองว่าต้นตอของปัญหามีอยู่ 2 ประการ ได้แก่

ประการแรก งบประมาณที่ลงไปถึงมือเยาวชนจริงๆ มีสัดส่วนที่ไม่เพียงพอ แม้รัฐจะจัดสรรงบประมาณมหาศาลผ่านกระทรวงศึกษาธิการ แต่เงินส่วนมากถูกใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ประการที่สอง เยาวชนที่ได้รับเงินทุนงบประมาณบางกลุ่มไม่สามารถ ‘ปิดโครงการ’ หรือดำเนินโครงการจนเสร็จสมบูรณ์ได้ บางครั้งเงินทุนก็ไม่ถูกนำไปใช้ทำโครงการเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกตามจุดประสงค์ นำไปสู่ความเสี่ยงที่หน่วยงายรัฐอาจถูกเพ่งเล็งจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่าให้เงินทุนตามที่กฎหมายและระเบียบกำหนดไว้หรือไม่

“เราต้องเข้าใจจุดยืนของทั้งฝ่ายรัฐที่ให้ทุนและเยาวชนที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง หากต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ทรัพยากรคือสิ่งจำเป็น ส่วนเยาวชนหากพร้อมที่จะลงมือ ก็ต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบโครงการจนจบ

“ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องทำให้เยาวชนมีความพร้อมในการทำโครงการ”

โชติเวชญ์เสนอว่า วิธีแก้ไขปัญหาเยาวชนจบโครงการไม่ได้คือ การออกแบบกระบวนการการให้ทุนทำโครงการ โดยให้เยาวชน ‘ขาย’ (pitch) โครงการแข่งกันเพื่อรับเงินสนับสนุน

“เยาวชนที่เสนอโครงการเองต้องการแก้ไขปัญหาที่ตนเองประสบอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ต้องผ่านกระบวนการค้นหา insight เกี่ยวกับความเจ็บปวดที่ตนเองเผชิญ เช่น กลุ่มเยาวชนถนัดซ้ายรวมตัวกันเพื่อออกแบบนโยบายส่งเสริมสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่เหมาะกับคนถนัดซ้าย

“พอเป็นเช่นนี้ เยาวชนเข้าใจประโยชน์ที่จะเกิดกับตนเอง ความยั่งยืนในการทำโครงการก็จะเกิดขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงในการเกิดคอร์รัปชันนั้นมีน้อยมาก เพราะเยาวชนรู้ว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้ในโครงการจะย้อนกลับมาเป็นประโยชน์กับตนเองในอนาคต”

“จากประสบการณ์ส่วนตัว โครงการประเภท ‘ขอให้ทำ’ หรือเยาวชนที่ ‘เดินตามนาย’ มีความเสี่ยงที่จะ
คอร์รัปชันสูง เนื่องจากไม่เห็นประโยชน์ใดๆ ในการทำโครงการนอกจากเงินทอง”

หากจะสนับสนุนให้เยาวชนเข้าถึงเงินทุนสำหรับการมีส่วนร่วมได้ดียิ่งขึ้น โชติเวชญ์ให้ความเห็นว่า โจทย์ของหน่วยงานรัฐคือ ต้องทำให้การอุดหนุนทุนหรืองบประมาณเปิดกว้าง ไม่ถูกจำกัดโดยแผนและทิศทางที่ถูกออกแบบหรือกำหนดไว้ก่อนมอบเงินทุน

“เสียงของเยาวชนจึงถูกจำกัดภายใต้กรอบดังกล่าว ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้การหนุนเงินทุนสัมพันธ์กับความต้องการของเยาวชน การฟังเสียงเยาวชนอาจทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดทิศทางการให้เงินสนับสนุน”

ส่วนงบประมาณที่จะลงไปสู่มือของเยาวชน โชติเวชญ์มองว่าต้องผลักดันให้เกิดการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้เยาวชนนำไปริเริ่มขับเคลื่อนประเด็นของตนเองในสัดส่วนเพียงพอมากขึ้น ในขณะที่กฎหมายหรือระเบียบที่กำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐควรถูกปรับให้ยืดหยุ่นเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมได้มากขึ้น

อีกโจทย์ที่โชติเวชญ์เสนอว่ารัฐต้องปรับคือ ภาครัฐอย่างกระทรวงศึกษาธิการต้องเล็งเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของเยาวชน และปรับให้ระบบการศึกษาสามารถสร้างเยาวชนที่มีทักษะการมีส่วนร่วมและการจัดการโครงการได้

อย่างไรก็ตาม โชติเวชญ์เล่าถึงตัวอย่างโครงการที่เยาวชนสามารถขับเคลื่อนได้สำเร็จในระดับท้องถิ่น นั่นคือ “โครงการท้องถิ่นแห่งการโอบอุ้มหัวใจ” ของเยาวชนในเทศบาลนครอุบลราชธานีที่ต้องการสื่อสารและเปิดประเด็นสนทนาเรื่องสุขภาพใจผ่านการใช้โปรเจคเตอร์ฉายภาพ street art ลงบนผนังของอาคารในพื้นที่สาธารณะต่างๆ

“เยาวชนเป็นผู้ริเริ่มคิดโครงการเองจนนำไปสู่ผลสำเร็จ ส่วนเทศบาลเป็นฝ่ายซัพพอร์ต ในจังหวะนั้นเราเห็นความหวัง เพราะเยาวชนสามารถเปิดบทสนทนาเรื่องสุขภาพใจในสังคมของเขาได้

“ผมคิดว่าบรรยากาศแบบนี้เจ๋ง และนำไปสู่การสร้างความรู้สึกของการมีส่วนร่วมหรือเป็นเจ้าของร่วมของเทศบาลนครอุบล”

ท้ายที่สุด โชติเวชญ์มองว่า “นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สังคมไทยต้องสร้างบรรยากาศของการรับฟังซึ่งกันและกัน” โดยรัฐควรพยายามไม่สร้างบรรยากาศที่ผลักให้เยาวชนอยู่ฝ่ายตรงข้ามและปิดกั้นไม่ให้เยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะเจ้าของประเทศ

เมื่อวัฒนธรรมอำนาจนิยมปิดกั้น ‘พื้นที่ปลอดภัย-การพัฒนาทักษะเพื่อการมีส่วนร่วม’

อดิศร จันทรสุข
อดิศร จันทรสุข

นอกจากเงินทุน ‘ทักษะ’ คืออีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนให้เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉายภาพให้เห็นว่าทักษะที่จำเป็นสำหรับการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองประกอบไปด้วยทักษะ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

1. ทักษะพื้นฐานทั่วไป เช่น ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะดิจิทัล หรือที่เรียกรวมๆ ว่า ‘ทักษะในศตวรรษที่ 21’ กล่าวคือ เป็นทักษะที่ช่วยให้สามารถตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ทางสังคม ดำรงชีวิตได้โดยที่ไม่ยอมจำนนต่อความผันผวนของโลก และดำรงชีวิตได้อย่างเท่าทัน 

2. ทักษะเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เช่น ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการรับฟัง ทักษะผู้นำ-ผู้ตาม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนหรือการมีส่วนร่วมกับประเด็นปัญหาสังคม รวมถึงสามารถระดมผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับสังคมได้

3. ทักษะการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย ทักษะจัดการความขัดแย้ง ทักษะการแก้ไขปัญหา ทักษะเจรจาต่อรองและสร้างฉันทมติ ซึ่งทวีความสำคัญอย่างมากในวันที่เรากำลังเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม เยาวชนจำนวนไม่น้อยมองว่าตนเองขาดแคลนทักษะเหล่านี้ ซึ่งเป็นผลจากระบบการศึกษาและการเรียนรู้ อดิศรมองว่าสาเหตุที่ระบบการศึกษาไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาทักษะการมีส่วนร่วมของเยาวชนมี 3 ประการ

ประการแรก รูปแบบและเครื่องมือการจัดการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญเพียงเนื้อหาและการท่องจำ แต่ไม่เน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการมีส่วนร่วม

ประการที่สอง ทัศนคติของผู้สอนหรือผู้พัฒนาทักษะการมีส่วนร่วมให้เยาวชน ซึ่งเป็นปัจจัยส่งผลต่อแนวทางการสอน

“ผู้สอนเชื่อมั่นหรือไม่ว่าเยาวชนควรเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองของสังคม หรือเชื่อว่าเยาวชนควรมีหน้าที่เพียงแค่รับฟัง ว่านอนสอนง่าย หากมีทัศนคติแบบหลัง ก็พอจะจินตนาการได้ว่าการพัฒนาทักษะการมีส่วนร่วมให้เยาวชนจะเป็นอย่างไร”

ประการที่สาม วัฒนธรรมอำนาจในสังคม “เรามีวิธีคิดแบบ ‘ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน’ ‘เด็กดีต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่’ หรือ ‘เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด’ ฝังอย่างแน่นหนาในสังคม คำถามคือเราจะสอนให้เยาวชนมีทักษะในการคิดเชิงวิพากษ์ได้อย่างไรในสังคมที่ยังเชื่อในวัฒนธรรมอำนาจ”

นอกจากนี้ วัฒนธรรมอำนาจที่แฝงฝังอยู่ในสังคมยังเป็นอีกอุปสรรคที่ทำให้เยาวชนขาด ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ในการมีส่วนรวม ซึ่งเป็นผลจากวัฒนธรรมอำนาจเชิงซ้อน กล่าวคือ มีระบบอำนาจซ้อนทับหลายระดับที่ปิดกั้นไม่ให้เยาวชนแสดงออก ตั้งแต่ระดับสถาบัน โครงสร้างสังคม ไปจนถึงระดับปัจเจก

ในระดับสถาบัน อดิศรอธิบายว่าอำนาจเชิงสถาบันถูกออกแบบมาเพื่อควบคุมประชากร โดยเฉพาะต่อเยาวชนที่ผู้มีอำนาจสามารถใช้นำพาหรือชี้นำเยาวชนไปในทิศทางที่ต้องการ

ในระดับโครงสร้างสังคม ไม่ว่าจะเป็นศาสนา องค์กรต่างๆ สถานที่ทำงานต่างถูกจัดโครงสร้างและแฝงฝังคุณค่า-ความเชื่อแบบมีลำดับชั้นสูง-ต่ำ

“หลักของโครงสร้างเช่นนี้คือ ถ้าทุกคนทำตามหน้าที่ การดำเนินงานขับเคลื่อนเกิดขึ้นได้โดยง่ายและมีเสถียรภาพ คนส่วนใหญ่จึงถูกทำให้คุ้นชินกับการรับฟังคำบัญชาจากผู้อาวุโสที่กำกับควบคุมโครงสร้าง การส่งเสียงของเยาวชนที่อยู่ในลำดับขั้นที่ต่ำที่สุดไปสู่ผู้มีอำนาจจึงเป็นไปได้ยาก เพราะนั่นเท่ากับการทำลายระบบโครงสร้าง”

ส่วนในระดับปัจเจก อดิศรมองว่าเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมอำนาจอย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ นั่นคือวิธีคิดแบบ ‘ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน’ และ ‘เชื่อฟังผู้ใหญ่หมาไม่กัด’ ของผู้มีอำนาจในสังคม

“เมื่อสมาทานความคิดเช่นนี้ ผู้ใหญ่ก็ไม่เชื่อว่าเยาวชนควรมีสิทธิมีเสียงในการมีส่วนร่วมในสังคมได้ ผู้ใหญ่หลายคนมองด้วยความหวังดีและเป็นห่วงว่าเยาวชนกำลังทำเรื่องเกินตัวและต้องเรียนรู้เพื่อให้มีความพร้อมมากกว่านี้ก็จริง แต่เมื่อไม่เชื่อว่าเยาวชนมีสิทธิส่งเสียง ผู้ใหญ่จึงไม่เปิดพื้นที่ให้เยาวชนแสดงออกและเข้ามามีส่วนร่วม

“ถ้าเยาวชนขยับ ผู้ใหญ่ก็ต้องใช้อำนาจไม่ให้เยาวชนรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ ภาพการปะทะหรือขัดแย้งกันอย่างที่เราเห็นจึงเกิดขึ้น”

สำหรับแนวทางในการส่งเสริมทักษะและสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการมีส่วนร่วม อดิศรเสนอโดยใช้คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์เป็นตัวอย่างว่า ต้องเริ่มจากการ ‘ให้ความสำคัญ’ ต่อการสร้างการมีส่วนร่วมและพื้นที่ปลอดภัยว่าเป็นไปเพื่อพัฒนาเยาวชนให้กลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม และเมื่อให้ความสำคัญ ค่านิยม วัฒนธรรมการทำงาน การอยู่ร่วมกัน และการปฏิบัติต่อกันก็จะเปลี่ยน ขณะเดียวกันโครงสร้างองค์กรก็ต้องปรับให้เป็นแนวราบ ไม่มีความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อสร้างความรู้สึกในการมีส่วนร่วม

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชนแสดงความเห็น อดิศรมองว่าต้องมีกระบวนการดำเนินการต่อยอด ไม่ใช่เปิดให้แสดงความเห็นลอยๆ แล้วไม่เกิดอะไรขึ้น ขณะเดียวกัน เยาวชนที่ใช้สิทธิแสดงความเห็นก็ต้องเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อคำพูดและการกระทำของตนเองเช่นกัน

ควบคู่ไปกับการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในสังคม อดิศรมองว่ากลไกเชิงกฎหมายต้องเอื้อให้เกิดการสร้างพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การเป็นตัวแทนในคณะกรรมาธิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในกลไกสภาในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ

“การสร้างพื้นที่ปลอดภัยต้องเริ่มจากระดับย่อยที่สุดคือครอบครัว และถ้าภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจมองเห็นความสำคัญของการสร้างการมีส่วนร่วมและพื้นที่ปลอดภัย ก็ต้องเริ่มต้นรับฟัง ดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม สร้างกลไกต่างๆ จนเกิดความคุ้นชินและนำไปสู่การเขย่าวัฒนธรรมอำนาจนิยมและสร้างความเป็นไปได้ในการเปิดพื้นที่สำหรับเยาวชน ส่วนปัจเจกสามารถเรียนรู้ที่จะรับฟังและเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความเห็น จึงค่อยขยายออกเป็นวิถีปฏิบัติในการปฏิบัติต่อกัน สังคมก็จะเคลื่อนไปข้างหน้าและสามารถสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพได้” อดิศรทิ้งท้าย

‘ข้อมูล’ รากฐานสู่นวัตกรรมเพื่อการขับเคลื่อน

ณัฐภัทร เนียวกุล
ณัฐภัทร เนียวกุล

ในฐานะผู้ใช้ข้อมูลสร้างนวัตกรรมเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมความโปร่งใสในสังคม ณัฐภัทร เนียวกุล จาก HAND Social Enterprise มองว่าข้อมูลถือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการมีส่วนร่วมทางสังคม โดยเฉพาะข้อมูลที่ภาครัฐเปิดเผยออกมาตามนโยบาย Open Government

ความสำคัญของข้อมูลแบ่งออกเป็น 2 ประการ ได้แก่

ประการแรก ข้อมูลคือหลักฐานที่แสดงให้ประชาชนเห็นว่าภาครัฐกำลังดำเนินงานอย่างไรและทำให้ภาครัฐตระหนักว่าตนกำลังดำเนินงานอย่างไร

ประการที่สอง ข้อมูลจะนำไปสู่การสร้างความรับผิดรับชอบ (accountability) กล่าวคือ เป็นหลักฐานในการสนับสนุนหรือตั้งข้อสงสัยต่อการดำเนินงานของภาครัฐได้อย่างหนักแน่นและมีประสิทธิภาพ

แต่หากต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ณัฐภัทรชี้ให้เห็นว่าข้อมูลสามารถถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนานวัตกรรมในการขับเคลื่อนโครงการหลายรูปแบบได้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมความโปร่งใส สร้างกลไกการกำกับควบคุม หรือพัฒนาเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น การนำข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐและคำสั่งศาลในคดีคอร์รัปชันมาหา ‘แบบแผน’ (pattern) ในกระบวนการคอร์รัปชันเพื่อนำไปสู่การตรวจจับและป้องกันในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการมีส่วนร่วม – ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนหรือใครก็ตามในสังคม

ความท้าทายประการแรกที่ณัฐภัทรชี้ให้เห็นคือ การหาข้อมูลไม่เจอ แม้ว่าปัจจุบันข้อมูลจะอยู่ในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้นแล้วก็ตาม เนื่องจากภาครัฐอาจนิยามคำต่างกันออกไป เช่น แต่ละหน่วยงานอาจนิยามคำว่า ‘political exposed person’ เป็นภาษาไทยไม่ตรงกัน

ส่วนในกรณีที่หาข้อมูลพบ ณัฐภัทรมองว่าความท้าทายคือ ข้อมูลไม่ทันสมัยเนื่องจากไม่ได้รับการอัพเดท หรือข้อมูลไม่อยู่ในรูปแบบที่พร้อมต่อการใช้งาน กล่าวคือ ข้อมูลอยู่ในรูปของไฟล์ PDF ที่เป็นเอกสารสแกน ซึ่งไม่ใช่รูปแบบไฟล์ที่สะดวกสำหรับการนำข้อมูลไปใช้ต่อทันทีและอาจนำไปสู่ความผิดพลาดจากการกรอกข้อมูลซ้ำจากเอกสารต้นฉบับ

เมื่อพิจารณาอุปสรรคจากข้อมูลเปิดของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนอย่างโรงเรียน ณัฐภัทรเล่าประสบการณ์จากการทำแพลตฟอร์ม ‘โรงเรียนโปร่งใส’ ว่า กระทรวงศึกษาธิการหรือสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีระบบรองรับการรายงานข้อมูลต่างๆ จากโรงเรียน เช่น จำนวนนักเรียน ทรัพย์สินของโรงเรียน การจัดซื้อจัดจ้าง แต่ปัญหาคือภาครัฐไม่เคยเปิดเผยข้อมูล หรือไม่เช่นนั้น ข้อมูลที่รัฐเปิดเผยก็ผ่านการคัดกรองมาก่อน  

“เมื่อลองถามว่าทำไมรัฐจึงไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูล คำตอบที่ได้รับคือถูกถามกลับว่าจะรู้ไปทำไม คุณมีความเกี่ยวข้องอะไรกับข้อมูล

“ที่จริงแล้ว หน่วยงานรัฐไม่ควรตั้งคำถามเช่นนี้ เราในฐานะประชาชนไม่ควรมีหน้าที่ในการพิสูจน์ความเกี่ยวข้องกับข้อมูล ประชาชนมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่แล้ว เพราะข้อมูลต่างๆ ในการดำเนินงานเกิดจากกระบวนการใช้ภาษีและกำหนดนโยบาย นั่นคือสิทธิพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล”  

ณัฐภัทรระบุว่า ข้อมูลระดับโรงเรียนที่รัฐควรเปิดเผยเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู หรือผู้ปกครอง มีอยู่ 8 ชุด ได้แก่

1. ข้อมูลด้านผู้เรียน เช่น จำนวนผู้เรียน จำนวนการเข้าเรียนอย่างไร

2. หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน

3. ข้อมูลสถานศึกษา เช่นที่อยู่สถานศึกษา ครู ผู้บริหาร ครุภัณฑ์ งบประมาณที่ใช้ จำนวนครูต่อนักเรียน

4. ข้อมูลที่ได้จากผู้เรียน เช่น การประเมินความพึงพอใจต่อการเรียนการสอน

5. งบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาล ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่างบประมาณมหาศาลของกระทรวงศึกษาธิการถูกจัดสรรอย่างไรบ้าง

6. การจัดการภายในโรงเรียน เช่น กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้จ่ายงบประมาณ

7. ประสิทธิภาพการสอนของครู เช่น อัตราการเลื่อนชั้น ซ้ำชั้นของนักเรียน การปฏิบัติงานของครู

8. ความพึงพอใจต่อโรงเรียนของผู้ปกครองและนักเรียน

กระนั้น ข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนสามารถค้นหาได้ผ่าน data.go.th แม้ว่าจะไม่ได้เปิดเผยข้อมูลครบ 8 ชุดก็ตาม

สำหรับแนวทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อการมีส่วนร่วมในระดับโรงเรียน ณัฐภัทรยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากฟิลิปปินส์อย่างแพลตฟอร์ม Check My School ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวมรวมข้อมูล 8 ชุดดังกล่าวที่โรงเรียน 8,680 แห่งรายงานต่อกระทรวงศึกษาธิการอย่างเป็นทางการ จุดประสงค์คือ เพื่อให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้เรียนหรือผู้ปกครองส่งข้อมูลเทียบว่าสภาพจริงตรงกับข้อมูลที่โรงเรียนรายงานหรือไม่ เช่น ประสิทธิภาพการเรียนการสอนตรงกับที่โรงเรียนระบุหรือไม่ หรืออุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในโรงเรียนสามารถใช้งานได้จริงตามการรายงานหรือไม่

นอกจากนี้ แพลตฟอร์ม Check My School ยังนำไปสู่การสร้างกระบวนการทำงานร่วมกันจนพัฒนากลายเป็นชุมชน เช่น ผู้ปกครองเข้าไปร่วมตรวจสอบและตั้งข้อสังเกตกระบวนการก่อสร้างต่อเติมในโรงเรียนจากรูปภาพที่ถูกอัปโหลดลงแพลตฟอร์ม

ณัฐภัทรเล่าว่า ไทยก็มีแพลตฟอร์มลักษณะใกล้เคียงกับ Check My School เช่นกัน ชื่อว่า ‘โรงเรียนโปร่งใส’ โดย HAND Social Enterprise ได้นำข้อมูลโรงเรียนกว่า 28,000 โรงเรียนในเครือ สพฐ. ที่ถูกเปิดเผยมารวบรวมไว้บนแพลตฟอร์ม (ข้อมูลอัปเดตถึงแค่ปี 2022)

สำหรับวิธีสร้างการมีส่วนร่วม ณัฐภัทรเล่าว่า เว็บไซต์จะเปิดให้นักเรียนลงคะแนนโหวตว่า โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในโรงเรียนเพียงพอต่อการใช้งาน ปลอดภัย และสะอาดหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับหลักเกณฑ์พื้นฐานที่ สพฐ. กำหนด

และเมื่อนักเรียนเข้ามาลงคะแนนโหวต กระบวนการต่อไปที่จะเกิดขึ้นคือ การเปรียบเทียบระหว่างโรงเรียนใกล้เคียง ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้แต่ละโรงเรียนแข่งขันกันแก้ไขปัญหา เท่ากับว่าโรงเรียนรับฟังเสียงเรียกร้องจากเยาวชน

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่แพลตฟอร์มโรงเรียนโปร่งใสประเมินเพียงแต่สิ่งอำนวยความสะดวก แต่ไม่ประเมินกระบวนการใช้งบประมาณของโรงเรียน ณัฐภัทรอธิบายว่า เป็นไปเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการมีส่วนร่วมสำหรับโรงเรียนเช่นกัน

“สิ่งที่แพลตฟอร์มพยายามทำคือ การชักจูงหรือสร้างแรงจูงใจให้โรงเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการที่อยู่นอกเหนือจากการเปิดเผยข้อมูลเช่นกัน หากเริ่มกระบวนการด้วยการจับผิดตั้งแต่ต้น เช่น ผอ.รับสินบน มีแนวโน้มทุจริตหรือไม่ ผมคิดว่านั่นเป็นการตัดกระบวนการการมีส่วนร่วมของโรงเรียนตั้งแต่ต้น

“คำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้โรงเรียนมีพื้นที่ปลอดภัยในการมีส่วนร่วมและนำไปสู่กระบวนการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาหลังจากนี้”

Youth's Policy Dialogue II: เติมทุน-หนุนการมีส่วนร่วมของเยาวชน

ภาพถ่าย

สร้างสรรค์ภาพ

เมธิชัย เตียวนะ

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

เรียบเรียง/นำเสนอ

คิด for คิดส์

ดำเนินรายการ

วรดร เลิศรัตน์

บทความที่เกี่ยวข้อง

งานเสวนาสาธารณะ ‘Youth’s Policy Dialogue’

คิด for คิดส์ ขอเชิญชวนเยาวชนร่วมแชร์ความคิด-ความฝันในงาน ‘Youth’s Policy Dialogue’ วงสนทนาสำหรับทุกคนที่ทุกไอเดียมีความหมาย ‘พูดคุย’ เพื่อ ‘เปลี่ยนแปลง’ นโยบาย สร้างอนาคตเยาวชนไทยให้ดีกว่าเดิม

ให้เสียงเยาวชนมี ‘ความหมาย’: เปิดกระบวนการนโยบายให้เยาวชนมีส่วนร่วม

ให้เสียงเยาวชนมี ‘ความหมาย’: เปิดกระบวนการนโยบายให้เยาวชนมีส่วนร่วม

คิด for คิดส์ ชวนสำรวจปัญหาการขาดช่องทางการมีส่วนร่วมอย่าง ‘มีความหมาย’ ของเยาวชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ และเสนอแนวทางขยายช่องทางดังกล่าว เพื่อให้นโยบายตอบสนองปัญหาและความต้องการของเยาวชนได้ดีขึ้น

ปรับนโยบายให้ 'เห็นหัว' เด็กและเยาวชนด้วย CYIA (Child and Youth Impact Assessment)

ปรับนโยบายให้ ‘เห็นหัว’ เด็กและเยาวชนด้วย CYIA (Child and Youth Impact Assessment)

คิด for คิดส์ ชวนทำความรู้จักแนวคิด CYIA (Child and Youth Impact Assessment) ซึ่งหลายประเทศใช้เป็นเครื่องมือปรับปรุงนโยบายให้ ‘เห็นหัว’ เด็กและเยาวชนยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสำรวจแนวทางการนำ CYIA มาใช้ประเมินนโยบายในรูปแบบ ‘ร่างกฎหมาย’ ในไทย

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2025 kidforkids.org | All rights reserved.