การหา ‘งานที่ดี’ อาจเป็นเพียงความฝันของเยาวชนไทยส่วนใหญ่

ประเด็นสำคัญ

  • เด็กและเยาวชนอยากทำงานที่ใช้ทักษะสูง เช่น ครู หมอ นักธุรกิจ แต่งานค่าจ้างสูงกลับหายาก นอกจากนี้ยังพบว่า 88% ของแรงงานที่เป็นเยาวชน ได้ค่าจ้างที่น้อยกว่าค่าจ้างเพื่อชีวิต
  • งานทักษะสูงที่เป็นความต้องการของเด็กและเยาวชนมีน้อย และกระจุกตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือในหัวเมืองใหญ่ ส่วนงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่งานในภาคเกษตรส่วนมากเป็นงานทักษะกลางและทักษะต่ำ
  • งานทักษะสูงยังมีแนวโน้มที่จะทำงานล่วงเวลาน้อยมากกว่ากลุ่มอื่น ทั้งนี้ทั้งนั้น ชั่วโมงการทำงานน้อยอาจหมายถึงการที่แทบไม่มีงานให้เยาวชนทำก็ได้เช่นกัน

ก่อนจะก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงาน ใครหลายๆ คนคงมีภาพอาชีพการงานในฝันเป็นของตนเอง เราต่างถูกถามถูกชวนคิดกันมาตั้งแต่เด็กว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” คำตอบที่ได้ในวัยเด็กก็มักจะเป็นอาชีพยอดนิยมในช่วงสมัยนั้นๆ และเมื่อเติบโตขึ้น เริ่มเห็นความหลากหลายเปิดจินตนาการให้ชวนคิด คำตอบเหล่านี้ก็อาจเปลี่ยนแปลงไป

บางคนมีโอกาสได้เรียนรู้ตามที่สนใจและสามารถหางานในฝันเจอ ทว่าท้ายที่สุด ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำตามความฝันเหล่านี้ได้ ตั้งแต่โอกาสที่ถูกปิดกั้น ฐานะ ถิ่นที่อาศัย ตลอดจนอาชีพการงานที่ตอบโจทย์ความต้องการก็หาได้ยาก

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ‘คิด for คิดส์’ โดยความร่วมมือของ 101 Public Policy Think Tank (101 PUB) และสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ชวนสำรวจความฝันด้านอาชีพการงานของเยาวชนไทยผ่านผลสำรวจเยาวชน 2022 พร้อมทั้งชวนมองดูสถานการณ์ตลาดแรงงานในโลกความเป็นจริงที่ทำให้ ‘งานที่ดี’ อาจเป็นเพียงความฝันของเด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่

‘งานที่ดี’ ในความหมายของเด็กและเยาวชนไทย

เยาวชนไทยสมัยนี้ก็มีนิยามความหมายของคำว่า ‘งานที่ดี’ เป็นของตนเอง โดยผลสำรวจเยาวชนอายุ 15-25 ปี ในปี 2022 ของ คิด for คิดส์ พบว่า ความหมายของ ‘งานที่ดี’ หากนิยามตามปัจจัยสำคัญที่เยาวชนใช้เลือกงาน 3 อันดับแรกคือ งานที่ได้ค่าจ้างสูง (ร้อยละ 36.5) งานที่สอดคล้องกับความฝัน (ร้อยละ 22.9) และงานที่เลือกเวลาทำงานได้อิสระ (ร้อยละ 11.5)

นอกจากนี้ ถ้าดูคำตอบอาชีพที่เด็กและเยาวชนอยากทำจากผลสำรวจของกระทรวงวัฒนธรรมและมหาวิทยาลัยสวนดุสิตในปี 2023 ก็จะพบว่า เด็กและเยาวชนไทยต่างอยากทำงานที่ใช้ทักษะสูง โดยอาชีพในฝัน 5 อันดับแรก ได้แก่ ครูและอาจารย์ หมอและพยาบาล นักธุรกิจ ทหารและตำรวจ และยูทูบเบอร์ นอกจากนี้จะสังเกตได้ว่าอาชีพเหล่านี้ล้วนเป็นงานนอกภาคเกษตร ซึ่งมักหาได้ง่ายกว่าหรือทำได้ง่ายกว่าถ้าอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองใหญ่ (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1: ‘งานที่ดี’ ในความหมายของเด็กและเยาวชนไทย
ที่มา: คิด for คิดส์ รวบรวมและคำนวณจากข้อมูลผลสำรวจเยาวชน (2022) และผลสำรวจของกระทรวงวัฒนธรรมและมหาวิทยาลัยดุสิต (2023)

งานค่าจ้างสูงหายาก หลายงานไม่สามารถให้คุณภาพชีวิตที่ดีได้

แม้เยาวชนไทยต้องการทำงานที่ได้ค่าจ้างสูงมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวเลขที่ไร้เหตุผลสำหรับระดับการศึกษาและหน้าที่การงานที่ดีตามที่คาดหวัง โดยเฉลี่ยเยาวชนไทยคาดหวังงานที่ได้ค่าจ้าง 23,268 บาทต่อเดือน

ความคาดหวังต่อค่าจ้างสูงขึ้นตามระดับการศึกษาสูงสุดที่เยาวชนคาดหวังว่าจะเรียนจบ โดยเยาวชนที่คาดหวังการศึกษาเพียงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นคาดหวังค่าจ้างน้อยที่สุด (อย่างน้อย 16,657 บาทต่อเดือน) ถัดมากลุ่มเยาวชนที่คาดหวังการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช./ปวส. คาดหวังงานที่ได้ค่าจ้างอย่างน้อย 20,601 บาทต่อเดือน ขณะที่เยาวชนที่คาดหวังการศึกษาระดับอุดมศึกษาคาดหวังค่าจ้างมากที่สุด (อย่างน้อย 24,645 บาทต่อเดือน) ซึ่งมีเยาวชนเพียง 1.0% ที่คาดหวังการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ขณะที่มีเยาวชนสูงถึง 43.3% และ 55.7% ที่คาดวังการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช./ปวส. และระดับอุดมศึกษาตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงงานค่าจ้างสูงกลับหายากมากสำหรับเยาวชนไทย โดยมีตำแหน่งงานเพียง 2.7% ของตำแหน่งงานทั้งหมดที่เยาวชนทำในปัจจุบันที่มีค่าจ้างสูงกว่าความคาดหวังของเยาวชนไทยโดยเฉลี่ย (มากกว่า 23,268 บาทต่อเดือน)

ยิ่งไปกว่านี้ เมื่อแยกตามกลุ่มตามระดับการศึกษาพบว่ากลุ่มเยาวชนที่มีระดับการศึกษาน้อยจะสามารถหางานที่มีค่าจ้างสูงกว่าที่ตนคาดหวังได้ยากมากขึ้น โดยมีเพียง 3.0% ของงานสำหรับเยาวชนที่มีวุฒิมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีค่าจ้างสูงกว่าที่เยาวชนกลุ่มนี้คาดหวังไว้ และมีเพียง 2.6% ของงานสำหรับเยาวชนที่มีวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช./ปวส. ที่ให้ค่าจ้างสูงกว่าความคาดหวังของเยาวชนกลุ่มนี้ ขณะที่งานสำหรับเยาวชนที่มีวุฒิอุดมศึกษาที่ให้ค่าจ้างสูงกว่าความคาดหวังของเยาวชนกลุ่มนี้จะมีสูงกว่ากลุ่มอื่นและค่าเฉลี่ย แต่ก็สูงกว่าเพียงเล็กน้อย (6.8%)[1]คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลแบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากร … Continue reading

นอกจากนี้ งานส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังไม่สามารถให้คุณภาพชีวิตที่ดีแก่เยาวชนได้ โดย 87.8% ของแรงงานเยาวชนในประเทศไทยได้รับค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างเพื่อชีวิต หรือราว 15,201 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นระดับค่าจ้างที่สามารถให้คุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับแรงงานเยาวชนได้ตามมาตรฐานการครองชีพเฉลี่ยของสังคม

ภาพที่ 2: ค่าจ้างที่เยาวชนคาดหวังเทียบกับค่าจ้างในความเป็นจริง
ที่มา: คิด for คิดส์ รวบรวมและคำนวณจากข้อมูลผลสำรวจเยาวชน (2022), สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2023), และกษิดิ์เดช คำพุช (2022)

งานทักษะสูงมีน้อย – กระจุกตัวมาก

แม้อาชีพในฝันของเด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่จะเป็นงานทักษะสูงนอกภาคเกษตร แต่ในความเป็นจริงงานนอกภาคเกษตรกลับมีงานที่ใช้ทักษะสูงน้อยมาก จากการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตามวิธีแบ่งระดับทักษะขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ชี้ให้เห็นว่าเพียง 10.9% ของงานนอกภาคเกษตรในประเทศเป็นงานทักษะสูง ขณะที่ตำแหน่งงานที่เหลือเป็นงานทักษะกลาง (72.6%)[2]อาทิ เสมียน, พนักงานบริการ, พนักงานโรงงาน เป็นต้น และงานทักษะต่ำ (16.5%)[3]อาทิ พนักงานทำความสะอาด, พนักงานก่อสร้าง, พนักงานทำความสะอาด เป็นต้น          

ยิ่งไปกว่านั้น งานทักษะสูงนอกภาคเกษตรดังกล่าวนี้ยังมีความกระจุกตัวสูงมาก เพราะเมื่อดูการกระจายตัวของงานทักษะสูงนอกภาคเกษตรในประเทศไทยจะพบว่า 40.1% ของงานเหล่านี้กระจุกตัวอยู่แค่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล นอกจากนี้ งานทักษะสูงนอกภาคเกษตรที่เหลือส่วนใหญ่กระจุกตัวตามหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ อาทิ นครราชสีมา (4.4%), ชลบุรี (3.6%), เชียงใหม่ (2.9%), นครศรีธรรมราช (2.2%)

ภาพที่ 3: งานทักษะสูงมีน้อย – กระจุกตัวมาก
ที่มา: คิด for คิดส์ รวบรวมและคำนวณจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2023)

ภาพของการกระจุกตัวของงานทักษะสูงนอกภาคเกษตรนี้ชี้ให้เห็นว่าเยาวชนไทยส่วนใหญ่ต้องอพยพเข้าหัวเมืองต่างๆ หากต้องการทำงานตามความฝันของตน

งานทักษะสูงมีแนวโน้มทำล่วงเวลาน้อยกว่ากลุ่มอื่น

งานทักษะสูงที่หายากเหล่านี้มีแนวโน้มมีชั่วโมงการทำงานหนักน้อยกว่างานกลุ่มอื่น โดยมีเพียง 7.1% ของงานทักษะสูงที่มีเวลาการทำงานเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นมาตรฐานเวลาการทำงานปกติตามที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และกฎหมายแรงงานไทยกำหนดไว้ ขณะที่งานทักษะกลางและทักษะต่ำมีสัดส่วนงานที่มีเวลาการทำงานสูงกว่ามาตรฐานถึง 18.8% และ 12.4% ตามลำดับ          

นอกจากนี้ เมื่อดูรายพื้นที่จะพบได้ว่าตามพื้นที่เขตปริมณฑลและหัวเมืองต่างๆ ซึ่งมีงานทักษะสูงกระจุกตัวอยู่มากนี้ มีแนวโน้มที่จะมีงานที่มีเวลาการทำงานที่หนักน้อยกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้มีสัดส่วนงานที่มีเวลาการทำงานเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์น้อยกว่าค่าเฉลี่ย (16.9% ของงานทั้งหมด) อย่างไรก็ดี จะมีเพียงบางพื้นที่ที่มีสัดส่วนงานที่มีเวลาทำงานเกินมาตรฐานที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (17.4%) นครราชสีมา (18.7%) เชียงใหม่ (21.2%) และชลบุรี (31.7%)

ภาพที่ 4: งานทักษะสูงมีแนวโน้มทำล่วงเวลาน้อยกว่ากลุ่มอื่น
ที่มา: คิด for คิดส์ รวบรวมและคำนวณจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2023)

ขณะที่หลายพื้นที่ที่เหลือที่มีงานทักษะสูงอยู่น้อยมีแนวโน้มที่จะมีสัดส่วนงานที่มีเวลาการทำงานสูงเกินกว่ามาตรฐานมาก อาทิ จังหวัดเลย ซึ่งมีงานทักษะสูงเพียง 0.3% ของงานทักษะสูงในประเทศ แต่มีสัดส่วนงานที่มีเวลาการทำงานเกินมาตรฐานสูงถึง 46% ของตำแหน่งงานในพื้นที่

ภาพของความเชื่อมโยงระหว่างลักษณะทักษะของงานและลักษณะเวลาการทำงานนี้ชี้ให้เห็นว่าเยาวชนไทยส่วนใหญ่อาจจำใจต้องทำงานที่ไม่สอดคล้องตามความฝัน (งานทักษะสูง) อีกทั้งงานเหล่านี้ยังมีเวลาการทำงานที่หนัก

หลายพื้นที่ชั่วโมงการทำงานน้อย แต่อาจเป็นเพราะแทบไม่มีงานให้ทำ

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีสัดส่วนงานที่มีเวลาการทำงานเกินมาตรฐานที่น้อย หากแต่ไม่ได้เป็นเพราะพื้นที่เหล่านี้มีงานทักษะสูงเยอะ แต่เป็นเพราะพื้นที่เหล่านี้อาจแทบไม่มีตำแหน่งงานให้เยาวชนได้ทำเลย เพราะเมื่อดูการกระจายตัวของตำแหน่งงานสำหรับเยาวชนอายุ 15-25 ปี ทั่วประเทศไทยจะพบว่าหลายพื้นที่ที่มีสัดส่วนงานที่มีเวลาการทำงานเกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย กลับมีตำแหน่งงานในพื้นที่ไม่ถึง 1% ของงานที่มีทั้งหมดในประเทศ อาทิ ปัตตานี (0.8%) กาฬสินธุ์ (0.8%) ยะลา (0.6%) น่าน (0.6%) และอำนาจเจริญ (0.4%)

ภาพที่ 5: หลายพื้นที่ชั่วโมงการทำงานน้อย แต่อาจเป็นเพราะแทบไม่มีงานให้เยาวชนทำ
ที่มา: คิด for คิดส์ รวบรวมและคำนวณจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2023)

งานใกล้บ้านไม่มี งานที่มีอาจไม่ตอบโจทย์เยาวชน

ภาพที่ได้เสนอไปข้างต้นเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ‘งานที่ดี’ ในโลกแห่งความจริงในปัจจุบันอาจเป็นเพียงความฝันของเยาวชนไทยส่วนใหญ่ เนื่องจากหลายพื้นที่อาจไม่มีตำแหน่งงานใกล้บ้านให้เยาวชนสามารถทำได้ ขณะที่อีกหลายตำแหน่งงานที่มีในประเทศไทยอาจไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเยาวชนได้อีกด้วย

เพื่อให้ ‘งานที่ดี’ ไม่เป็นเพียงความฝันสำหรับเยาวชนอีกต่อไป ประเทศไทยควรพิจารณาให้ความสำคัญกับ 3 สิ่งต่อไปนี้

1. มุ่งสร้างงานนอกภาคเกษตร

แม้อาชีพในฝันของเด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่จะเป็นงานที่อยู่นอกภาคเกษตร แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยกลับยังมีขนาดภาคเกษตรที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับสากล โดยปี 2023 ประเทศไทยมีสัดส่วนแรงงานภาคเกษตรสูงถึง 31.4% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศไทย[4]คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลแบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากร … Continue reading ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงจะมีสัดส่วนแรงงานภาคเกษตรที่น้อยกว่านี้มาก (ต่ำกว่า 5%) ซึ่งภาคเกษตรของประเทศไทยที่มีขนาดใหญ่นี้เป็นแหล่งรวมปัญหาหลายด้านอย่างความยากจน, หนี้สิน, ประชากรสูงวัย, ไร้ที่ดินทำกิน,และความเปราะบาง[5]วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร. “ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ต้องขัดใจทุกฝ่าย … Continue reading

ดังนั้น เป้าหมายปลายทางที่ประเทศไทยควรมุ่งให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การโยกย้ายผู้คนและทรัพยากรจากภาคเกษตรไปยังกิจกรรมเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพสูง ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นงานนอกภาคเกษตร โดยต้องเริ่มจากแนวทางสร้างงานทางเลือกให้มากขึ้น รวมถึงการลดการอุดหนุนที่ไม่ส่งเสริมให้คนปรับตัวเพื่อทำงานที่มีผลิตภาพที่ดีขึ้น

2. กระจาย ‘งานที่ดี’ สู่พื้นที่ภูมิภาค

อย่างไรก็ดี การมุ่งเพียงโยกย้ายแรงงานและทรัพยากรสู่กิจกรรมเศรษฐกิจนอกภาคเกษตร ซึ่งสามารถสร้าง ‘งานที่ดี’ ให้แก่เยาวชนไทยได้ อาจยังไม่เพียงพอ หากแต่ต้องคำนึงถึงมิติเชิงพื้นที่อีกด้วย โดยต้องมีการกระจายงานเหล่านี้สู่พื้นที่ภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะงานที่มีทักษะสูงและมีเวลาการทำงานไม่เกินมาตรฐาน เพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวสูงเพียงภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง ดังที่กระจุกตัวอยู่เพียงแค่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างที่ผ่านมา

การกระจาย ‘งานที่ดี’ สู่พื้นที่ภูมิภาคยังช่วยแก้ปัญหาเมืองโตเดี่ยวที่ความเจริญกระจุกอยู่เพียงพื้นที่เดียว ทำให้เยาวชนสามารถมีงานที่ดีอยู่ใกล้บ้านมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถช่วยลดการโยกย้ายของแรงงานสู่เมืองใหญ่ซึ่งทำให้ครอบครัวต้องอยู่ห่างไกลโดยไม่จำเป็น

3. พัฒนาพื้นที่หัวเมืองต่างๆ เพื่อรองรับเยาวชนที่ย้ายเข้ามาทำงาน

ท้ายที่สุด แม้การกระจาย ‘งานที่ดี’ สู่พื้นที่ภูมิภาคต่างๆ จะช่วยให้เยาวชนสามารถมีงานที่ตนต้องการอยู่ใกล้บ้านมากขึ้น แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่แรงงานเยาวชนจะไม่มีการโยกย้ายที่อยู่เพื่อหาตามหางานที่ตนต้องการเลย เนื่องจากบางตำแหน่งงานจะต้องอาศัยการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจสูงระดับหนึ่งจึงจะสามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะงานทักษะสูง อย่างที่จะเห็นได้ว่างานออฟฟิศมักกระจุกอยู่ตามหัวเมืองใหญ่

ดังนั้น สิ่งที่ควรจะต้องมีการทำควบคู่ไปด้วยคือการพัฒนาพื้นที่หัวเมืองต่างๆ ให้มีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อผู้อยู่อาศัยมากขึ้น อาทิ การสร้างบ้านเช่าที่มั่นคง, และการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะตามพื้นที่หัวเมืองต่างๆ เพื่อรองรับเยาวชนที่จะต้องย้ายเข้ามาทำงานตามความฝันของตน

References

References
1, 4 คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลแบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2023)
2 อาทิ เสมียน, พนักงานบริการ, พนักงานโรงงาน เป็นต้น
3 อาทิ พนักงานทำความสะอาด, พนักงานก่อสร้าง, พนักงานทำความสะอาด เป็นต้น
5 วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร. “ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ต้องขัดใจทุกฝ่าย ตอนที่ 1: เกษตรไทยไม่แพ้ขาติใดในโลก.” มิถุนายน 19, 2022. https://www.the101.world/thai-structural-reform-1/.

วิจัย/เขียน

สรวิศ มา

บทความที่เกี่ยวข้อง

ปรับนโยบายให้ 'เห็นหัว' เด็กและเยาวชนด้วย CYIA (Child and Youth Impact Assessment)

ปรับนโยบายให้ ‘เห็นหัว’ เด็กและเยาวชนด้วย CYIA (Child and Youth Impact Assessment)

คิด for คิดส์ ชวนทำความรู้จักแนวคิด CYIA (Child and Youth Impact Assessment) ซึ่งหลายประเทศใช้เป็นเครื่องมือปรับปรุงนโยบายให้ ‘เห็นหัว’ เด็กและเยาวชนยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสำรวจแนวทางการนำ CYIA มาใช้ประเมินนโยบายในรูปแบบ ‘ร่างกฎหมาย’ ในไทย

Quick win แล้วสิ้นใจ?: ประคับประคองศูนย์ชีวาภิบาลอย่างไรให้อยู่รอด?

นโยบายชีวาภิบาลกำลังเผชิญปัญหารอบด้านเพราะการเร่งทำให้ถึงเป้าหมาย Quick win 100 วันแรก คิด for คิดส์ ชวนอ่านความท้าทายของนโยบายตายดีที่กำลังจะตายเสียเอง

ปรึกษาหัวใจกับใครก็เหมือนกัน? แนวทางกำกับมาตรฐานนักจิตวิทยาการปรึกษา-จิตบำบัดอย่างสมดุล

ปัญหาการอวดอ้างชื่อและล่วงละเมิดผู้รับบริการ เรียกร้องให้ต้องมีการกำกับนักจิตวิทยาการปรึกษา/จิตบำบัด แต่การสร้างมาตรฐานให้การดูแลหัวใจอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2025 kidforkids.org | All rights reserved.