‘บ้านโอบอุ้ม’  ทางเลือกใหม่ที่พักอาศัยให้คนไทยสูงวัยในชุมชน

ประเด็นสำคัญ

  • ผู้สูงอายุไทยเกินครึ่งมีฐานะการเงินไม่มั่นคง มีแนวโน้มเป็นโสดและอยู่คนเดียว รวมถึงแต่งงานแต่ไม่มีลูกมากขึ้น ทำให้มีความต้องการที่พักอาศัยซึ่งเอื้อให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น
      
  • แนวคิดการดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบันมุ่งให้ 'สูงวัยในถิ่นเดิม' (Age in Place) แต่ผู้สูงอายุไทยกว่า 93% อาศัยในที่พักซึ่งไม่เหมาะกับชีวิตสูงวัย นโยบายปรับปรุงบ้านที่ผ่านมามุ่งเป้าผู้สูงอายุยากจนและทำได้จำนวนไม่มากพอ ส่วนโครงการที่พักอาศัยที่พัฒนาใหม่มุ่งเป้าผู้มีรายได้ปานกลาง-สูงและข้าราชการเกษียณ ทิ้งให้คนไทยส่วนใหญ่ไร้ทางเลือกในการมีที่พักพิงที่ปลอดภัยในวัยชรา
      
  • 'บ้านโอบอุ้ม' (assisted living housing) เป็นทางเลือกของคนที่ไม่สามารถสูงวัยในบ้านและเข้าไม่ถึงสถานบริบาลขนาดใหญ่ซึ่งมีราคาแพง ขนาดที่เล็กลงเอื้อให้มีรูปแบบที่หลากหลาย กระจายในชุมชน และช่วยลดค่าใช้จ่ายของระบบดูแลระยะยาว (Long Term Care)
      
  • นโยบายที่พักอาศัยผู้สูงอายุควรหันมาลงทุนกับสถานดูแลขนาดเล็กที่ผสานเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชน แทนการพัฒนา senior complex ขนาดใหญ่ที่แยกผู้สูงอายุออกจากสังคมเดิม รวมถึงต้องมีกลไกตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพ และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นบริหารจัดการงบประมาณเพื่อดูแลผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ

เมื่อคุณตื่นขึ้นมาพบว่ามือคู่เดิมที่ใช้ทำงานมาทั้งชีวิตเริ่มไม่มีเรี่ยวแรงพอจะหยิบจับอะไรในตอนเช้าตรู่ เริ่มสังเกตว่าหูและสายตาได้ยินและมองเห็นไม่ชัดเหมือนก่อนอีกแล้ว หรือสังเกตเห็นอีกหลายอาการถดถอยของร่างกายที่บ่งชี้ว่าความชราภาพกำลังคืบคลานเข้ามา แม้คุณจะยังคงออกไปใช้ชีวิตและรู้สึกว่าภายในยังคงเป็นคนเดิมในทุกๆ วัน คำถามหนึ่งที่ผุดขึ้นมาคงจะเป็นข้อที่ว่า ‘ฉันจะยังใช้ชีวิตแบบนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน?’ และ ‘ถ้าถึงวันที่ฉันอาบน้ำแต่งตัวเองไม่ได้แล้ว ฉันจะไปใช้ชีวิตอยู่ที่ไหน?’

ในช่วงปี 1963-1983 (พ.ศ.2506-2526) ไทยมีเด็กเกิดใหม่มากกว่าปีละ 1 ล้านคน[1]ปราโมทย์ ประสาทกุล และ ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์. 2548. … Continue reading ในปี 2023 นี้เอง “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” เหล่านี้จะเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ และตลอด 20 ปีต่อจากนี้ไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน คลื่นประชากรสูงวัยที่โถมเข้ามานี้เป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่จะต้องรับมือกับ ‘สังคมสูงวัยสมบูรณ์’[2]สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% โดยเฉพาะในด้านปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือ ‘ที่พักอาศัย’ ซึ่งจะต้องเอื้อให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ในภาวะสังคมที่คนเป็นโสดมากขึ้น มีลูกน้อยลงกระทั่งเด็กเกิดใหม่มีจำนวนน้อยกว่าผู้เสียชีวิต[3]สำนักงานสถิติแห่งชาติ


คิด for คิดส์ โดยความร่วมมือระหว่าง 101 PUB กับ สสส. ชวนสำรวจทางเลือกที่พักอาศัยของสังคมสูงวัยในไทยและต่างประเทศ พร้อมเสนอทางเลือกในการสร้าง ‘บ้าน’ ให้ผู้สูงอายุเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง และใช้ชีวิตบั้นปลายได้อย่างเต็มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

คนไทยสูงวัยแต่เงินออมไม่สูงพอ 

จากผลสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2021 ไทยมีผู้สูงอายุ 13.4 ล้านคน คิดเป็น 19.6% ของประชากร คาดกันว่าตัวเลขนี้จะไปถึง 20% ในปี 2023 ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

ข้อมูลบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ แสดงให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของผู้สูงอายุอยู่ที่ 100,788 บาทต่อคนต่อปี ปัจจุบันอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 85 ปี หมายความว่าโดยเฉลี่ยคนไทยต้องมีรายได้และเงินออมไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านบาท สำหรับตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ เมื่อพิจารณาปัจจัยของรายได้ เงินออม การมีลูก และการมีสวัสดิการรัฐหรือประกันเอกชนรวมกัน อาจแบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 3 กลุ่มตามระดับความมั่นคงทางการเงินได้ดังนี้[4]การสํารวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติ … Continue reading

  • 46.1% มั่นคง: มีรายได้และเงินออมเกินพอใช้จ่ายตลอดชีวิต หรือมีในระดับพอใช้แต่ยังมีลูกหรือสวัสดิการรัฐหรือประกันเอกชน
  • 27.6% มีความเสี่ยง: ไม่มีลูกและสวัสดิการ แต่มีเงินพอใช้ หรือในทางกลับกันคือ มีเงินไม่พอใช้ แต่มีลูกและสวัสดิการ 
  • 26.3% ไม่มั่นคง: รายได้และเงินออมไม่พอใช้ รวมถึงไม่มีลูกและสวัสดิการ

ตัวเลขในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุไทยเกินครึ่งขาดหลักประกันที่จะใช้ชีวิตบั้นปลายได้อย่างมั่นคง และยังมีแนวโน้มที่จะต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้นในระยะยาว

รายได้หลักของผู้สูงอายุมาจาก 2 แหล่งคือจากการทำงาน (32.4%) และจากลูก (32.2%) แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ความสามารถในการทำงานย่อมถดถอยลง จึงต้องพึ่งพาเงินออมและลูกหลานมากขึ้นตามลำดับ ผลสำรวจในปี 2021 พบว่าผู้สูงอายุ 78.3% มีรายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อปี และรายได้มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น  ผู้สูงอายุที่รายได้ไม่พอใช้เพิ่มขึ้นเป็น 84% ในวัย 70-79 ปี และ 91% ในวัย 80 ปีขึ้นไป

ในขณะเดียวกันคนไทยก็มีแนวโน้มเป็นโสดมากขึ้น และตัดสินใจมีลูกน้อยลงแม้แต่งงานแล้ว โดยกว่า 37% ของครัวเรือนในปัจจุบันเป็น ‘ครัวเรือนไร้บุตรหลาน’[5]สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์. “อนาคตประชากรไทย: … Continue reading นอกจากนี้ยังมีงานวิจัย ที่พบว่าหญิงไทยที่แต่งงานแล้ว 70% ไม่ต้องการมีบุตรในอนาคต[6]กนกวรา พวงประยงค์. “ความต้องการมีบุตรในอนาคต: … Continue reading ปัจจุบันผู้สูงอายุ 1 ใน 3 ใช้ชีวิตอยู่ด้วยตนเอง โดย 21% ของผู้สูงอายุทั้งประเทศอาศัยอยู่กับคู่สมรสโดยลำพัง อีก 12% อาศัยอยู่ด้วยตัวคนเดียว และตัวเลขนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อไป

1% ของผู้สูงอายุไทยเป็น ‘ผู้สูงอายุเปราะบาง’

คิด for คิดส์ ประมวลข้อมูลจากการสํารวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2564 พบว่าไทยมี ‘ผู้สูงอายุเปราะบาง’ หรือผู้สูงอายุที่มีฐานะการเงินไม่มั่นคง มีภาวะพึ่งพิง (ติดบ้าน/ติดเตียง) และไม่มีสวัสดิการใดๆ รวมทั้งสิ้น 131,415 คน หรือราว 1% ของผู้สูงอายุทั้งประเทศ โดยมีมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร (10,862 คน) รองลงมาคือนครราชสีมา (6,422 คน) และสมุทรปราการ (5,343 คน) แต่หากคิดเป็นสัดส่วน จังหวัดที่มีมากที่สุดคือสมุทรสาคร มีผู้สูงอายุเปราะบางสูงถึง 4.5% ของผู้สูงอายุในจังหวัด รองลงมาคือระยอง (3%) และพังงา (2.9%)

นอกจากการจัดสวัสดิการที่เป็นตัวเงินในปัจจุบัน เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กองทุนผู้สูงอายุ และสวัสดิการระบบดูแลระยะยาว (Long Term Care) ที่เป็นนโยบายภาพรวมระดับประเทศ รัฐควรเร่งยื่นความช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุเปราะบางในจังหวัดเหล่านี้อย่างมุ่งเป้ามากขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครซึ่งอยู่ในสถานการณ์วิกฤตที่สุด

คนไทยขาดทางเลือกในการใช้ชีวิตบั้นปลาย

ในระยะ 7-8  ปีที่ผ่านมา โครงการพักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีทั้งที่พัฒนาโดยรัฐและเอกชน มีช่วงราคาและบริการที่แตกต่างหลากหลาย ทว่าเมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่าผู้สูงอายุไม่ได้มีทางเลือกหลากหลายอย่างแท้จริง ราคาขั้นต่ำยังคงแพงเกินเอื้อมสำหรับคนส่วนใหญ่ และแม้แต่ผู้ที่มีฐานะดีพอ ก็ยังขาดทางเลือกในการใช้ชีวิตบั้นปลายตามเงื่อนไขที่ตนเองต้องการ

ที่พักสำหรับผู้สูงอายุอาจจัดประเภทตามภาวะพึ่งพิงของผู้อยู่อาศัยได้ 3 ระดับ คือ ดูแลตนเองได้ กึ่งพึ่งพิง (ต้องการความช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เข้าห้องน้ำ แต่งตัว) และต้องพึ่งพิง (ต้องการการดูแลจากพยาบาลตลอด 24 ชม.) แนวคิดในการดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบันมุ่งเน้นให้ ‘สูงวัยในถิ่นเดิม’ (Age in Place)[7]วิชชุตา อิสรานุวรรธน์. “สูงวัยในถิ่นเดิม”, 2565. https://thaitgri.org/?p=40084. คือให้ผู้สูงอายุยังคงใช้ชีวิตในที่เดิมต่อไปนานที่สุดเพื่อชะลอความถดถอยของร่างกายและจิตใจ การพัฒนาที่พักอาศัยจึงมุ่งเน้นไปที่ผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองได้ แต่ในประเทศไทยยังคงขาดแคลนที่พักสำหรับผู้สูงอายุกึ่งพึ่งพิง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุที่เริ่มดูแลตัวเองได้น้อยลงไม่ต้องถูกพรากจากถิ่นเดิมไปอยู่ใน ‘บ้านพักคนชรา’  (nursing home)

สำหรับผู้ที่ยังดูแลตนเองได้ ทางเลือกแรกคือการปรับปรุงบ้านให้เหมาะกับชีวิตสูงวัย ซึ่งสามารถใช้อาศัยต่อไปได้จนกระทั่งมีภาวะพึ่งพิงสูง แต่จะต้องมีบ้านเป็นของตัวเองและมีผู้ดูแลอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่นิยมคือการซื้อหรือเช่าที่พักอาศัยซึ่งออกแบบมาให้เอื้อกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุโดยเฉพาะ มีบริการทางการแพทย์และกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุอยู่ในบริเวณเดียวกัน โครงการที่พักอาศัยลักษณะนี้ออกแบบมาเพื่อผู้มีรายได้ปานกลางขึ้นไป โครงการที่พัฒนาโดยรัฐ เช่น สวางคนิเวศ ของสภากาชาดไทย หรือ ที่พักอาศัยผู้สูงอายุ รามาฯ – ธนารักษ์ มีราคาถูกกว่าเอกชน แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายตลอดชีพเริ่มต้นที่สูงถึงราว 1.4 – 3.3 ล้านบาท และมีเงื่อนไขสำคัญคือผู้พักอาศัยต้องมีรายได้เพียงพอสำหรับใช้จ่ายตลอดชีวิต[8]สวางคนิเวศแนะนำให้มีเงินออมอย่างน้อย 5 ล้านบาท และมีสุขภาพแข็งแรงสามารถดูแลตนเองได้ หากสุขภาพทรุดลงและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองจะต้องย้ายออกจากโครงการ

นอกจากเงื่อนไขข้างต้น ปัญหาสำคัญของโครงการที่พักอาศัยประเภทนี้คือการกระจุกตัวในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ขณะเดียวกันก็สร้างได้ไม่ทันต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ลำพังกรุงเทพมีผู้ที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุราว 8 หมื่นคนต่อปี[9]กองยุทธศาสตร์บริหารจัดการ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร แต่โครงการเหล่านี้รองรับผู้สูงอายุได้เพียงหลักพันคนเท่านั้น สวางคนิเวศมีห้องพัก 468 ห้องซึ่งเต็มแล้วทั้งหมด ส่วนรามาฯ – ธนารักษ์มี 921 ห้อง และมีผู้จองเกินจำนวนจนกระทั่งต้องใช้วิธีจับสลากผู้มีสิทธิ [10]TNN Thailand. “บ้านผู้สูงอายุ รามาฯ-ธนารักษ์ ยอดจองล้น … Continue reading เคหะสุขเกษม ของการเคหะแห่งชาติ มีจำนวนประมาณ 4 พันยูนิต แต่กันสิทธิไว้ให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ 60%[11]การเคหะแห่งชาติ. “โครงการเคหะสุขเกษม”. การเคหะแห่งชาติ (blog). สืบค้น 29 … Continue reading ส่วนเอกชนที่มีราคาแพงก็ยิ่งมุ่งเป้าประชากรกลุ่มเฉพาะขึ้นไปอีก

สถานการณ์ในปัจจุบันทำให้ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ตกอยู่ในภาวะไร้ทางเลือกด้านที่พักอาศัย การลื่นหกล้มเพียงครั้งเดียวอาจหมายถึงการต้องย้ายไปอยู่  ‘บ้านพักคนชรา’  ซึ่งเป็นที่พักของผู้สูงอายุชนิดที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด  ส่วน ‘สถานสงเคราะห์คนชรา’ ของศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) จำนวน 12 แห่ง ทั่วประเทศ (เช่น บ้านบางแค) รวมกันทั้งหมดก็รองรับผู้สูงอายุได้เพียงประมาณ 1,600 คน[12]ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ

ความเหงาและชีวิตที่ออกแบบไม่ได้ใน senior complex

ผู้สูงอายุไทยที่ใช้ชีวิตโดยลำพังเพิ่มจาก 3.6% ในปี 1994 เป็น 12% ในปี 2021 ผู้สูงอายุเหล่านี้เสี่ยงต่อภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม (social isolation) มีผลวิจัยยืนยันว่า ‘ความเหงา’ เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคทั้งทางกายและใจ ตั้งแต่ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอ้วน ความจำเสื่อม ไปจนถึงโรคซึมเศร้าและความคิดฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ความเหงายังไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับคนที่อยู่ลำพัง แต่ยังอาจเกิดกับผู้ที่พักอาศัยในบ้านพักคนชราได้เช่นกัน[13]Drageset, Jorunn, Marit Kirkevold, and Birgitte Espehaug. ‘Loneliness and Social Support among Nursing Home Residents without Cognitive Impairment: A Questionnaire Survey’. International Journal … Continue reading

ความเหงาของผู้สูงอายุไม่ใช่เพียงเรื่องของการอยู่ลำพัง แต่เป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่สอดคล้องกับความคาดหวัง ความเหงาจึงสัมพันธ์กับปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย เช่น สังคมที่ให้คุณค่ากับครอบครัวมาก ผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกมีแนวโน้มจะมีสุขภาพจิตแย่กว่าคนที่มีลูก[14]Quashie, Nekehia T., and Wiraporn Pothisiri. ‘Parental Status and Psychological Distress among Older Thais’. Asian Social Work and Policy Review 12, no. 3 (2018): 130–43. … Continue reading ในขณะเดียวกัน ความเหงาก็จำแนกได้เป็นหลายระดับ ตั้งแต่การขาดปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ไปจนถึงขาดการติดต่อกับเครือข่ายสังคม (active network) เดิมของตัวเอง ผู้สูงอายุในชนบทอาจรักษาเครือข่ายนี้ไว้ได้ แต่สำหรับคนที่ทำงานในเมือง เครือข่ายมักเชื่อมโยงกับเพื่อนร่วมงานซึ่งอาจขาดหายไปหลังเกษียณ แม้ยังคงอาศัยในที่เดิม นอกจากนี้ผู้สูงอายุแต่ละคนก็มีความต้องการปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบที่ต่างกันออกไป 

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่พักอาศัยในชุมชนผู้สูงอายุ (retirement community) หรือศูนย์ที่พักอาศัยครบวงจร (senior complex) คือการที่ไม่สามารถรักษาเครือข่ายสังคมเดิมเอาไว้ได้ในขณะเดียวกันก็ไม่อาจสร้างเครือข่ายใหม่ขึ้นในที่พักแห่งใหม่ ความปลอดภัยของที่พักอาศัยมักแลกมาด้วยการล้อมรั้วตัดขาดจากชุมชนภายนอก และมักมีที่ตั้งอยู่ชานเมือง ไกลจากชุมชนเดิมที่เคยอยู่ นอกจากนี้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของส่วนรวม ที่พักเหล่านี้มักไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ บางแห่งถึงกับมีกฎห้ามนำเด็กเล็กเข้ามาในพื้นที่ด้วย[15]โครงการการศึกษารูปแบบการให้บริการ … Continue reading ผู้ที่อาศัยในที่พักประเภทนี้จึงไม่มีตัวเลือกอื่นนอกจากต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้พักอาศัยด้วยกันเท่านั้น


ในสหรัฐอเมริกามีที่พักอาศัยขนาดใหญ่ที่ให้การดูแลต่อเนื่องตั้งแต่ผู้สูงอายุยังดูแลตัวเองได้ แล้วจึงค่อยๆ ย้ายไปในส่วนที่มีบริการดูแลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวาระสุดท้าย (Continuing care retirement communities หรือ CCRCs) แม้ในทางหลักการจะฟังดูดี แต่ที่พักแบบนี้กลับสร้างปัญหาหลายข้อ อาทิ ผู้สูงอายุที่ยังดูแลตัวเองได้มักหลีกเลี่ยงหรือกระทั่งรังเกียจที่จะใช้บริการต่างๆ ร่วมกับคนที่มีภาวะพึ่งพิง รวมถึงคู่สมรสอาจถูกแยกออกจากกันหากคนหนึ่งเริ่มมีภาวะพึ่งพิงสูงขึ้นจนต้องแยกไปอยู่อีกโซนหนึ่ง[16]Glass, Anne. ‘Innovative Seniors Housing and Care Models: What We Can Learn from the Netherlands’. Seniors Housing and Care Journal, 1 January 2014.

Senior Complex Project ที่พักอาศัยผู้สูงอายุ รามาฯ – ธนารักษ์
ที่มา: https://www.dadasset.com

ปัจจุบันแนวโน้มของการพัฒนาที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุทั่วโลกจึงมุ่งลดการสร้าง senior complex และสถานดูแลคนชราขนาดใหญ่ และหันมาสนับสนุนที่พักอาศัยขนาดเล็กที่ผสานเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนมากขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนผู้ดูแลที่ไม่เป็นทางการ (informal care) มากขึ้นด้วย ผลสำรวจพบว่าผู้สูงอายุในกลุ่มประเทศ OECD ราว 60% มีผู้ดูแลเป็นคนในครอบครัว[17]Rocard, Eileen, and Ana Llena-Nozal. ‘Supporting Informal Carers of Older People: Policies to Leave No Carer Behind’. Paris: OECD, 4 May 2022. https://doi.org/10.1787/0f0c0d52-en. ระบบดูแลผู้สูงอายุในประเทศจีน ถูกเรียกว่า “ระบบ 9073” เพราะเป็นการตั้งเป้าให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลในบ้าน (home care) มากถึง 90% ส่วนอีก 7% ดูแลโดยชุมชน และ 3% อยู่ในบ้านพักคนชรา[18]Krings, Marion F., Jeroen D. H. van Wijngaarden, Shasha Yuan, and Robbert Huijsman. ‘China’s Elder Care Policies 1994–2020: A Narrative Document Analysis’. International Journal of … Continue reading

สูงวัยในบ้าน แต่บ้านไม่เหมาะกับชีวิตสูงวัย

ประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยจำเป็นต้องสร้างระบบดูแลระยะยาว (Long Term Care) ขึ้นเพื่อรองรับประชากรสูงอายุที่มีมากขึ้น  เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกที่จัดให้มี LTC ถ้วนหน้าขึ้นในปี 1968 ครอบคลุมตั้งแต่ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าใช้จ่ายบ้านพักคนชราและสถานบริบาล และขยายไปจนถึงการดูแลในบ้าน (home care) ในปี 1980 โดยปัจจุบันงบประมาณที่ใช้จัดสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของเนเธอร์แลนด์มีค่าใช้จ่ายต่อหัวถูกว่าการดูแลในบ้านพักคนชรากว่า 10 เท่า[19]OECD. Pricing Long-Term Care for Older Persons. Paris: Organisation for Economic Co-operation and Development, 2021. … Continue reading

ประเทศไทยดำเนินนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุตามแนวทางดังกล่าวเช่นกัน[20]กีรติ กิจธีระวุฒิวงษ์ และ นิทรา กิจธีระวุฒิวงษ์. … Continue reading มีการศึกษาว่าค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงสูงที่บ้าน แม้จะใช้นักบริบาล (caregiver) ทั้งหมดก็ยังถูกกว่าไปอยู่สถานบริบาลถึง 5 เท่า[21]อุทุมพร วงษ์ศิลป์, ถาวร สกุลพาณิชย์, สันติ ลาภเบญจกุล, และ ดิชพงศ์ … Continue reading ในปี 2016 จึงมีการนำร่องระบบ LTC ในประเทศไทย โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ดำเนินงานร่วมกับท้องถิ่น จัดให้มี caregiver (CG) และ care manager (CM) ที่ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนกับส่วนกลางให้การดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน ปัจจุบันมี CG มากถึง 99,532 คน ให้การดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง 577,284 คนทั่วประเทศ[22]กรมอนามัย กระทรวงสาธาาณสุข ข้อมูลเดือนมีนาคม 2023

เงื่อนไขสำคัญของการให้การดูแลที่บ้าน คือบ้านจะต้องมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เกณฑ์ขั้นพื้นฐานคือบันไดบ้านต้องมีราวให้ยึดเกาะ ห้องน้ำตั้งอยู่ในบ้าน มีราวให้ยึดเกาะ และเป็นส้วมแบบนั่งห้อยเท้า ห้องนอนอยู่ชั้นล่างหรือเป็นบ้านชั้นเดียว อย่างไรก็ตาม การสํารวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยเมื่อปี 2021 พบว่าผู้สูงอายุถึง 93.8% อาศัยอยู่ในบ้านที่ไม่ผ่านเกณฑ์เหล่านี้ 

กรมกิจการผู้สูงอายุเองให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการดูแลที่บ้าน งบประมาณของกรมในปี 2023 ถึง 25% ถูกใช้ในโครงการปรับสภาพแวดล้อมที่พักอาศัยผู้สูงอายุ จำนวน 10,000 หลัง[23]แผนปฏิบัติราชการกรมกิจการผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566 โดยให้การช่วยเหลือเฉพาะกับผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน หลังละไม่เกิน 40,000 บาท อย่างไรก็ตามหลังจากดำเนินโครงการมา 5 ปี กรมกิจการผู้สูงอายุสามารถปรับปรุงบ้านได้เพียง 23,212 หลัง คิดเป็นเพียง 5% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 4 แสนหลังตามแผนแม่บท 20 ปี[24] … Continue reading

การเคหะแห่งชาติ เป็นอีกหน่วยงานที่ดำเนินโครงการปรับปรุงและสร้างที่พักอาศัยให้ผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน โดยเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2010 แต่เมื่อพิจารณาตัวเลขจนถึงปี 2022 จะพบว่าการเคหะแห่งชาติปรับปรุงและสร้างบ้านให้ผู้สูงอายุได้เพียง 409 หลังเท่านั้น[25]ข่าวสด. “ครบ 1 ทศวรรษ การเคหะฯ ปรับปรุง ซ่อมแซม บ้านสบายเพื่อยายตา”, 2564. … Continue reading[26]ข่าวสด. “‘การเคหะแห่งชาติ’ … Continue reading

การดูแลระยะยาวที่ยังไม่เพียงพอ

“การมี CG ก็เหมือนมาช่วยแบ่งเบาภาระญาติให้ได้พักบ้าง  หรือมีคนมาอยู่เป็นเพื่อนคนแก่ที่ไปไหนไม่ได้ไม่ให้เหงา” พยาบาลประจำรพ.สต.แห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[27]เพ็ญนภา หงษ์ทอง. “Caregiver ในระบบ Long Term Care เขาเป็นใครหนอ เขามาจากไหน”. hrdo.org (blog), 2562. … Continue reading สะท้อนถึงการทำงานของ caregiver (CG) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงยังคงต้องพึ่งพาตัวเองหรือคนในครอบครัวเป็นหลัก โดย ‘ผู้ดูแลหลัก’ ของผู้สูงอายุไทยราว 90% คือลูกหรือคู่สมรส[28]Knodel, John, Bussarawan Teerawichitchainan, and Wiraporn Pothisiri. ‘Caring for Thai Older Persons With Long-Term Care Needs’. Journal of Aging and Health 30, no. 10 (1 December 2018): … Continue reading

ข้อจำกัดด้านงบประมาณทำให้ CG ส่วนใหญ่ในระบบ LTC ของไทยในปัจจุบันทำงานแบบ ‘จิตอาสา’ โดยได้รับค่าตอบแทนเพียง 1,500 บาท/เดือน และคนที่ดูแลผู้สูงอายุน้อยกว่า 5 คนจะได้ค่าตอบแทนเพียง 600 บาท/เดือน ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ คนที่มาทำงาน CG จำนวนมากจึงเป็นอดีตอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งให้การดูแลได้อย่างจำกัดเท่าที่เงื่อนไขค่าตอบแทนจะอำนวย ส่วนใหญ่เข้าไปดูแลได้เพียงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งเท่านั้น  หลายท้องถิ่นพยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยการให้ CG ลงเคสร่วมกันแล้วเฉลี่ยค่าตอบแทนให้เท่ากัน บางแห่งมีการตั้งกองทุนขึ้นบริหารจัดการเองเพื่อให้ค่าตอบแทบ CG แบบมืออาชีพได้ที่ 5,000-9,600 บาทต่อ/เดือน  อย่างไรก็ดีท้องถิ่นยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคในด้านอำนาจบริหารจัดการงบประมาณ และการถ่ายโอนภารกิจจากกรมกิจการผู้สูงอายุที่ยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการ[29]กรมกิจการผู้สูงอายุ. “พม. โดย กรม ผส. … Continue reading

ค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอส่งผลให้ CG บางส่วนเริ่มหันเหไปสู่การทำงานในภาคเอกชนซึ่งมีค่าตอบแทนอยู่ที่ราว 12,000-15,000 บาท/เดือน และหากพิจารณาความต้องการในระดับโลก จะเห็นว่าอาชีพนี้เป็นที่ต้องการมากในประเทศพัฒนาแล้ว ค่าตอบแทนผู้บริบาลผู้สูงอายุโดยเฉลี่ยของฮ่องกงในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ HK$ 20,000/เดือน (ราว 82,000 บาท) และเป็นอาชีพแรกที่ทางการฮ่องกงเปิดให้ชาวต่างชาติกลับเข้าทำงานได้เป็นการพิเศษหลังการคลายล็อคโควิด-19[30]สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง. “ฮ่องกงต้องการแรงงานต่างชาติจำนวนมาก”. … Continue reading อีกโจทย์สำคัญของการพัฒนาระบบ LTC คือการรักษาแรงงานที่มีทักษะดูแลผู้สูงอายุไว้ในระบบซึ่งอาจต้องทำควบคู่ไปกับนโยบายเพิ่มที่พักอาศัยผู้สูงอายุในสัดส่วนที่มากพอจะทำให้เกิดการจ้างงานที่ทำให้ CG เป็นอาชีพที่เลี้ยงชีพได้และมีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพตามสมควร

นอกจากนี้ระบบ LTC ของไทยยังคงไม่ประสบความสำเร็จในบริบทเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพ ในปี 2019 มีผู้สูงอายุในกรุงเทพที่ได้รับการดูแลโดย CG เพียง 3,001 คนและมีจำนวนลดลงทุกปี[31] … Continue reading สาเหตุสำคัญคือผู้พักอาศัยในกรุงเทพต่างคนต่างอยู่ ขาดความเป็นชุมชน ทำให้ญาติผู้สูงอายุไม่ไว้ใจที่จะให้คนแปลกหน้าเข้ามาช่วยดูแลผู้สูงอายุในบ้าน ต่างจากในบริบทต่างจังหวัดซึ่งอสม.สามารถเข้าถึงบ้านเรือนต่างๆ ได้โดยง่าย  การพัฒนาระบบ LTC ในบริบทเมืองจึงต้องการแนวทางที่แตกต่างออกไป

ดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืนด้วย ‘บ้านโอบอุ้ม’

‘บ้านโอบอุ้ม’ (assisted living housing) เป็นรูปแบบที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่สามารถ ‘สูงวัยในถิ่นเดิม’ (Age in Place) ในบ้านของตัวเอง และในขณะเดียวกันก็มีราคาถูกกว่าสถานดูแลขนาดใหญ่  ที่พักลักษณะนี้อาจมีชื่อเรียกและรายละเอียดการให้บริการที่แตกต่างกันออกไปบ้าง เช่น ‘บ้านรวม’ (group home) ในสหราชอาณาจักรเรียกว่า ‘บ้านดูแลแบบพิเศษ’ (extra-care home) แต่จะมีรูปแบบร่วมกันคือเป็นที่พักที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก มีห้องพักส่วนตัว มีนักบริบาล (caregiver) คอยช่วยเหลือการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ แต่งตัว และผู้อยู่อาศัยมีอิสระในการใช้ชีวิตเหมือนอยู่ในบ้านของตัวเอง และสามารถเพิ่มการดูแลที่เข้มข้นมากขึ้นตามลำดับ 

ข้อดีของที่พักขนาดเล็กคือสามารถกระจายตัวอยู่ใกล้แหล่งชุมชนได้มากกว่าการพัฒนาโครงการที่ต้องสร้างบนที่ดินแปลงใหญ่นอกเมือง นักบริบาลสามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึง และมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำลงจากการอาศัยอยู่รวมกันหลายคน รวมถึงมีตัวเลือกที่ตอบรับความต้องการที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น ผู้สูงอายุที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือเป็นผู้ที่ต้องการเลี้ยงสัตว์เหมือนๆ กัน สามารถมาอาศัยรวมในบ้านเดียวกันได้  และหาที่พักได้ในย่านเดิมที่เคยใช้ชีวิต ทำให้ผู้สูงอายุยังคงอาศัยอยู่ในชุมชนและมีชีวิตอยู่ท่ามกลางเครือข่ายสังคมของตนได้ต่อไป

งานวิจัยในญี่ปุ่นพบว่าผู้สูงอายุที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน มีสุขภาพดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด และทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวในระบบ LTC ในห้วงเวลา 11 ปีลดลงถึง 42% เทียบกับคนที่ไม่มีส่วนร่วม[32]Saito, Masashige, Jun Aida, Naoki Kondo, Junko Saito, Hirotaka Kato, Yasuhiro Ota, Airi Amemiya, and Katsunori Kondo. ‘Reduced Long-Term Care Cost by Social Participation among Older Japanese … Continue reading การลงทุนกับการพัฒนาที่พักอาศัยอย่างถูกจุดจึงสามารถลดภาระงบประมาณ และจะช่วยให้ระบบ LTC ยืนระยะได้ในสังคมที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี

‘บ้านโอบอุ้ม’ ในสหรัฐอเมริกา
ที่มา: https://www.eldercarecottages.com

กรมการเคหะและการพัฒนาเมืองของสหรัฐอเมริกา (Department of Housing and Urban Development หรือ HUD) มีโครงการสนับสนุนการดัดแปลงอาคารให้เป็น ‘บ้านโอบอุ้ม’ (Assisted Living Conversion Program) เปิดให้องค์กรไม่แสวงผลกำไรยื่นขอทุนในการปรับปรุงอาคารให้เป็นบ้านโอบอุ้มที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาด[33]https://web.archive.org/web/20220121164505/https://www.hud.gov/program_offices/housing/mfh/progdesc/alcp การให้ทุนในลักษณะนี้ช่วยเพิ่มการเข้าถึงที่พักอาศัยของผู้สูงอายุได้ในระยะยาว เพราะไม่ได้เพียงปรับปรุงบ้านสำหรับครัวเรือนใดหนึ่ง แต่ยังเป็นการเพิ่มที่พักให้บริการผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นได้อย่างต่อเนื่องด้วย

ฝรั่งเศสมีบ้านโอบอุ้มที่มีขนาดเล็กลงไปอีก เรียกว่าบ้าน ‘ครอบครัวอุปถัมภ์’ (Famille d’accueil)[34]https://www.pour-les-personnes-agees.gouv.fr/changer-de-logement/vivre-en-accueil-familial/vivre-en-accueil-familial เปิดให้ผู้สูงอายุเช่าห้องพักอาศัยร่วมกับครอบครัวซึ่งจะเป็นผู้ให้การดูแล กินข้าวร่วมกันเสมือนหนึ่งเป็นครอบครัว โดยมีการกำหนดมาตรฐานของบ้าน และอนุญาตให้รับดูแลผู้สูงอายุได้ไม่เกิน 3 คน การดูแลลักษณะนี้เป็นเหมือนการทดแทนครอบครัวที่ขาดหายไป ช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างอบอุ่นแม้ไม่มีลูกหลานของตัวเอง

ให้การดูแลอย่างมืออาชีพ และเชื่อมโยงกับชุมชน

‘บ้านโอบอุ้ม’ มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าสถานดูแลผู้สูงอายุขนาดใหญ่เพราะมักไม่มีพยาบาลอยู่ประจำ แต่ข้อสำคัญคือจะต้องมีนักบริบาลอยู่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการช่วยดูแลผู้สูงอายุจะต้องมีขอบเขตบทบาทชัดเจน ให้การดูแลสุขภาพและกิจวัตรประจำวันเป็นหน้าที่ของนักบริบาลมืออาชีพที่ได้รับค่าจ้างเต็มเวลา ทำงานร่วมกับเครือข่ายสถานพยาบาลซึ่งอาจมีตารางการเยี่ยมตรวจสุขภาพโดยบุคลากรทางการแพทย์เป็นครั้งคราว 

การให้บริการด้านอื่นๆ เช่น การจัดหาอาหาร ช่วยซื้อของ รับ-ส่งไปโรงพยาบาล บำรุงรักษาบ้าน ควรให้เป็นบริการที่มีชุมชนเป็นฐาน (community-based service) เพราะไม่เพียงแต่มีต้นทุนต่ำกว่า แต่ยังเป็นการสานสัมพันธ์กับคนในชุมชนด้วย ส่วนการใช้อาสาสมัครควรจำกัดหน้าที่ให้เป็นในเชิงสนับสนุน หรือให้การดูแลในเชิงสังคม (social care) ตัวอย่างเช่น บ้านโอบอุ้มในเนเธอร์แลนด์[35]Woon- en Zorgcentrum Humanitas Deventer. ‘The Living Students of Humanitas’. Accessed 26 March 2023. https://www.humanitasdeventer.nl/english/73-english/194-the-living-students-of-humanitas. และญี่ปุ่น[36]http://share-kanazawa.com/ แบ่งห้องให้นักศึกษาเช่าอยู่ในราคาถูกมากหรือพักฟรี โดยมีเงื่อนไขแลกกับชั่วโมงการทำงานอาสาสมัครในบ้าน เช่น เสิร์ฟอาหาร สอนการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปจนถึงพูดคุยเป็นเพื่อน

การทำงานอาสาสมัครให้การดูแลไม่ได้จำกัดแค่คนหนุ่มสาวดูแลผู้สูงอายุ แต่ยังอาจเป็นในทางกลับกันได้ด้วย การให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตร่วมกับคนต่างวัย เป็นแนวคิดในการให้การดูแลที่หลายประเทศเริ่มนำไปใช้  ตั้งแต่ปี 2009 รัฐบาลเยอรมันร่วมทุนสนับสนุนการสร้างที่พักอาศัยที่เรียกว่า ‘Mehrgenerationenhäuser’ (Multigeneration House) หรือ ‘บ้านหลายวัย’[37]https://www.mehrgenerationenhaeuser.de/ ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ เป็นที่พักผู้สูงอายุที่ตั้งอยู่ติดกับสถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาล โดยผู้สูงอายุจะผลัดกันอาสามาหนังสือให้กับเด็กๆ สัปดาห์ละครั้ง และพ่อแม่ยังอาจใช้บริการฝากเด็กกับผู้สูงอายุได้ด้วย

‘บ้านหลายวัย’ ในเยอรมัน
ที่มา: https://www.zak.de/Nachrichten/Herausforderung-oder-Wohn-Traum-Das-Balinger-Mehrgenerationenhaus-ist-mit-Leben-erfuellt-147967.html

การควบคุมคุณภาพสถานดูแลผู้สูงอายุ

การเพิ่มที่พักอาศัยผู้สูงอายุให้มีจำนวนมากและหลากหลายยิ่งขึ้น จะต้องทำควบคู่ไปกับการควบคุมคุณภาพของสถานดูแลเหล่านี้ด้วย  รัฐบาลไทยเพิ่งจะเริ่มให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุในช่วง 3-4 ปีมานี้ โดยมีการออกประกาศ ‘มาตรฐานหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ’ ในปี 2019[38]https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/previewer.php ประกาศ ‘มาตรการควบคุมกำกับดูแลการประกอบกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของผู้รับบริการ’ ในปี 2022[39]https://laws.anamai.moph.go.th/th/doh-annuance/download/?did=207941 และเป็นที่น่าสังเกตว่าไทยไม่เคยมีกฎหมายควบคุมมาตรฐานสถานดูแลผู้สูงอายุมาก่อนเลย จนกระทั่งในปี 2021 จึงมีการออกกฎกระทรวง ‘กำหนดให้กิจการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ’[40]http://www.thaispa.go.th/spa2013/web/web_new/fileupload_doc/2022-07-05-4-22-3044184.pdf สถานประกอบการต้องขึ้นทะเบียนและปฏิบัติตามมาตรฐานทางกายภาพ ความปลอดภัย และการให้บริการตามที่กฎหมายกำหนด 

อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงขาดกลไกควบคุมคุณภาพสถานดูแลผู้สูงอายุในทางปฏิบัติ  ในประเทศที่มีระบบ LTC แทบทั้งหมดมักมีการจัดตั้งองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพการให้บริการของสถานดูแลผู้สูงอายุขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ตัวอย่างเช่น Care Quality Commission ในสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ดำเนินงานด้วยเงินค่าจดทะเบียนและต่ออายุของสถานประกอบการ ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพและให้คะแนนสถานบริการ แบ่งเป็น 4 ระดับคือ  ยอดเยี่ยม ดี ต้องปรับปรุง และไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงรายงานคุณภาพได้ทางเว็บไซต์เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ

การดูแลผู้สูงวัยต้องกระจายอำนาจ

การกำหนดมาตรฐานโดยรัฐอาจกลายเป็นอุปสรรคสำหรับสถานประกอบการบางแห่ง ในทางกลับกันมาตรฐานจากส่วนกลางก็อาจยังดีไม่พอสำหรับในบางพื้นที่ ข้อนี้เห็นตัวอย่างได้จากในยุโรปซึ่งเหตุการณ์คลื่นความร้อน (heatwave) ในปี 2003 คร่าชีวิตผู้สูงอายุไปนับหมื่นคน เหตุการณ์นี้เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้รัฐบาลหลายประเทศเพิ่มการกระจายอำนาจในการดูแลผู้สูงอายุให้ท้องถิ่นสามารถให้การดูแลที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น

เนเธอร์แลนด์จัดสรรงบประมาณสำหรับบ้านพร้อมดูแลให้ท้องถิ่นบริหารจัดการอย่างอิสระ โดยท้องถิ่นแบกรับความเสี่ยงทางการเงินทั้งหมดด้วยตัวเอง เงินส่วนนี้ถูกใช้เพื่อจัดบริการให้แก่ผู้สูงอายุอย่างเฉพาะเจาะจงเป็นรายคน (tailor-made) โดยกำหนดให้ท้องถิ่นสามารถเก็บค่าบริการจากผู้สูงอายุแบบร่วมจ่าย (co-pay) ได้ไม่เกินรายละ €19 ต่อเดือน (ราว 700 บาท)[41]OECD. Pricing Long-Term Care for Older Persons. Paris: Organisation for Economic Co-operation and Development, 2021. … Continue reading

ฝรั่งเศสมีระบบกำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินคุณภาพแบบไตรภาคี คือรัฐ ท้องถิ่น และสถานประกอบการจะเซ็นสัญญากำหนดเป้าหมายที่จะต้องบรรลุให้ได้เป็นราย 5 ปี[42]Escande, Hélène. ‘Achieving Quality Long-Term Care in Residential Establishments in France’, 2010. https://ec.europa.eu/social/BlobServlet?docId=8121&langId=en. กล่าวคือสถานดูแลผู้สูงอายุแต่ละแห่งสามารถต่อรองเกณฑ์การประเมินได้ และแต่ละแห่งอาจมีเกณฑ์ที่ไม่เหมือนกันเลย ทั้งนี้ก็เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพตอบสนองต่อความต้องการของผู้สูงอายุในแต่ละแห่งได้มากที่สุด

เพิ่มทางเลือกที่พักอาศัยให้คนสูงวัยอย่างทั่วถึง

การดำเนินนโยบายที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ผ่านมา ทั้งในด้านการปรับปรุงบ้านและพัฒนาโครงการที่พักอาศัยขึ้นใหม่ คือการดำเนินงานที่ไม่ได้สัดส่วนกับความต้องการของประชากรที่เข้าสู่วัยสูงอายุถึงปีละ 8-9 แสนคน  การปรับปรุงบ้านมุ่งเน้นไปที่ผู้สูงอายุกลุ่มยากจนซึ่งยังทำได้จำนวนน้อย ส่วนโครงการที่พักอาศัยก็มุ่งเป้าผู้มีรายได้ปานกลาง-สูงและข้าราชการเกษียณ คนไทยส่วนใหญ่จึงยังไม่มีหลักประกันในปัจจัยการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน คือ ‘บ้าน’ ที่จะใช้อยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัยในบั้นปลายชีวิต

เพื่อเพิ่มทางเลือกที่พักอาศัยให้ผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัวเสนอให้ภาครัฐผลักดันนโยบายดังต่อไปนี้

(1) ลดโครงการขนาดใหญ่ เพิ่ม ‘บ้านโอบอุ้ม’ ขนาดย่อม

ผลักดันให้มีที่พักอาศัยราคาถูกขนาดเล็กกระจายในชุมชน แทนการลงทุนกับโครงการ senior complex ขนาดใหญ่ที่แยกผู้สูงอายุออกจากสังคมเดิม รัฐอาจพิจารณาพัฒนาโครงการขึ้นเองในลักษณะบ้านเช่าระยะยาวที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ และร่วมลงทุนหรือจูงใจให้มีการพัฒนา ‘บ้านโอบอุ้ม’ ในราคาที่เข้าถึงได้ในภาคเอกชนด้วยมาตรการทางภาษี โดยอาจเริ่มต้นนำร่องในจังหวัดที่มีผู้สูงอายุเปราะบางจำนวนมาก อาทิ กรุงเทพ สมุทรปราการ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ฯลฯ

(2) เร่งถ่ายโอนภารกิจ ให้อำนาจท้องถิ่นออกใบอนุญาตสถานดูแลผู้สูงอายุ

เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงการดูแลที่ดีได้อย่างทั่วถึงอยู่ที่ท้องถิ่น นโยบายส่วนกลางในปัจจุบันแม้จะมีสวัสดิการหลายด้าน แต่ยังคงกระจัดกระจาย ไม่ประสานเป็นระบบที่จะดูแลผู้สูงวัยได้อย่างเต็มศักยภาพ หลายท้องถิ่นแสดงให้เห็นมาแล้วว่าทำเองได้ดียิ่งกว่ารอตอบรับนโยบายรายกระทรวง เช่น ที่อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี[43]https://www.isranews.org/content-page/item/63842-older-63842.html รัฐจะต้องเร่งรื้อสิ่งกีดขวางทางกฎหมาย คลายปมอำนาจ ปลดล็อคให้ท้องถิ่นใช้งบประมาณจัดสรรการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างอิสระ เร่งรัดการถ่ายโอนภารกิจจากกรมกิจการผู้สูงอายุ รวมถึงให้ท้องถิ่นมีอำนาจออกใบอนุญาตสถานดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ท้องถิ่นเป็นผู้เชื่อมโยงการจัดสวัสดิการที่ยังกระจัดกระจายให้บูรณาการเป็นภาพเดียวกัน โดยใช้ที่พักอาศัยที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัยเป็นแกนของการพัฒนาระบบ LTC ต่อไปในอนาคต เพื่อให้การส่งเสริมการ ‘สูงวัยในถิ่นเดิม’ เป็นไปได้จริงในเงื่อนไขที่ต่างกันออกไปในแต่ละแห่ง

(3) จัดตั้งองค์กรตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพสถานดูแลผู้สูงอายุ

จัดให้มีองค์กรอิสระทำหน้าที่ติดตามและประเมินคุณภาพสถานดูแลผู้สูงอายุในทุกระดับ ตั้งแต่บ้านโอบอุ้มขนาดย่อมไปจนถึงศูนย์ดูแลขนาดใหญ่ เพื่อกำกับและให้คำแนะนำในการพัฒนาคุณภาพ และประกันว่าผู้สูงอายุจะได้รับการดูแลที่ดี ไม่ใช่แค่ในด้านความปลอดภัยทางกายภาพตามที่กฎหมายกำหนด แต่รวมถึงการได้รับความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และหนุนเสริมศักยภาพที่จะออกไปใช้ชีวิตบั้นปลายตามที่ต้องการ มากกว่าเป็นแค่คนชราที่มีชีวิตแค่รอวันจากไป

References

References
1 ปราโมทย์ ประสาทกุล และ ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์. 2548. “สถานการณ์ประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2548” ใน กฤตยา อาชวนิจกุล และ ปราโมทย์ ประสาทกุล (บรรณาธิการ). ประชากรและสังคม 2548: ประชากร ของประเทศไทย ณ พ.ศ. 2548. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
2 สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20%
3 สำนักงานสถิติแห่งชาติ
4 การสํารวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติ คำนวนโดย คิด for คิดส์
5 สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์. “อนาคตประชากรไทย: ในวันที่การตายมากกว่าการเกิด”. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2565.
6 กนกวรา พวงประยงค์. “ความต้องการมีบุตรในอนาคต: หลักฐานเชิงประจักษ์จากสตรีที่สมรสในประเทศไทย”. Journal of Srinakharinwirot Research and Development (Journal of Humanities and Social Sciences) 10, ฉบับที่ 19 (2561): 1–19.
7 วิชชุตา อิสรานุวรรธน์. “สูงวัยในถิ่นเดิม”, 2565. https://thaitgri.org/?p=40084.
8 สวางคนิเวศแนะนำให้มีเงินออมอย่างน้อย 5 ล้านบาท
9 กองยุทธศาสตร์บริหารจัดการ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร
10 TNN Thailand. “บ้านผู้สูงอายุ รามาฯ-ธนารักษ์ ยอดจองล้น ต้องจับฉลากผู้ได้รับสิทธิ์”. https://www.tnnthailand.com, 2563. https://www.tnnthailand.com/news/wealth/63416/.
11 การเคหะแห่งชาติ. “โครงการเคหะสุขเกษม”. การเคหะแห่งชาติ (blog). สืบค้น 29 มีนาคม 2023. https://www.nha.co.th/nha-sukkasem/.
12 ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ
13 Drageset, Jorunn, Marit Kirkevold, and Birgitte Espehaug. ‘Loneliness and Social Support among Nursing Home Residents without Cognitive Impairment: A Questionnaire Survey’. International Journal of Nursing Studies 48, no. 5 (May 2011): 611–19. https://doi.org/10.1016/j.ijnurstu.2010.09.008.
14 Quashie, Nekehia T., and Wiraporn Pothisiri. ‘Parental Status and Psychological Distress among Older Thais’. Asian Social Work and Policy Review 12, no. 3 (2018): 130–43. https://doi.org/10.1111/aswp.12145.
15 โครงการการศึกษารูปแบบการให้บริการ การบริหารและการจัดการที่พักสำหรับผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ http://www.dop.go.th/th/know/4/109
16 Glass, Anne. ‘Innovative Seniors Housing and Care Models: What We Can Learn from the Netherlands’. Seniors Housing and Care Journal, 1 January 2014.
17 Rocard, Eileen, and Ana Llena-Nozal. ‘Supporting Informal Carers of Older People: Policies to Leave No Carer Behind’. Paris: OECD, 4 May 2022. https://doi.org/10.1787/0f0c0d52-en.
18 Krings, Marion F., Jeroen D. H. van Wijngaarden, Shasha Yuan, and Robbert Huijsman. ‘China’s Elder Care Policies 1994–2020: A Narrative Document Analysis’. International Journal of Environmental Research and Public Health 19, no. 10 (18 May 2022): 6141. https://doi.org/10.3390/ijerph19106141.
19 OECD. Pricing Long-Term Care for Older Persons. Paris: Organisation for Economic Co-operation and Development, 2021. https://www.oecd-ilibrary.org/social-issues-migration-health/pricing-long-term-care-for-older-persons_a25246a6-en.
20 กีรติ กิจธีระวุฒิวงษ์ และ นิทรา กิจธีระวุฒิวงษ์. “ทิศทางของการพัฒนาผู้ดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชน”. Journal of Nursing and Health Care 36, ฉบับที่ 4 (2561): 15–24.
21 อุทุมพร วงษ์ศิลป์, ถาวร สกุลพาณิชย์, สันติ ลาภเบญจกุล, และ ดิชพงศ์ พงศ์ภัทรชัย. “ต้นทุนต่อวันสำหรับการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง”, ธันวาคม 2557. https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/4236.
22 กรมอนามัย กระทรวงสาธาาณสุข ข้อมูลเดือนมีนาคม 2023
23 แผนปฏิบัติราชการกรมกิจการผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566
24 คู่มือการดำเนินโครงการการปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้สูงอายุให้เหมาะสมและปลอดภัย ประจำปีงบประมาณ 2566, กรมกิจการผู้สูงอายุ
25 ข่าวสด. “ครบ 1 ทศวรรษ การเคหะฯ ปรับปรุง ซ่อมแซม บ้านสบายเพื่อยายตา”, 2564. https://www.khaosod.co.th/pr-news/news_5907903.
26 ข่าวสด. “‘การเคหะแห่งชาติ’ เดินหน้าโครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ”. ข่าวสด, 2565. https://www.khaosod.co.th/pr-news/news_6971744.
27 เพ็ญนภา หงษ์ทอง. “Caregiver ในระบบ Long Term Care เขาเป็นใครหนอ เขามาจากไหน”. hrdo.org (blog), 2562. https://hrdo.org/caregiver-ในระบบ-long-term-care-เขาเป็นใครหนอ/
28 Knodel, John, Bussarawan Teerawichitchainan, and Wiraporn Pothisiri. ‘Caring for Thai Older Persons With Long-Term Care Needs’. Journal of Aging and Health 30, no. 10 (1 December 2018): 1516–35. https://doi.org/10.1177/0898264318798205.
29 กรมกิจการผู้สูงอายุ. “พม. โดย กรม ผส. ประชุมคณะทำงานการถ่ายโอนภารกิจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของกรมกิจการผู้สูงอายุ ครั้งที่ 1/2566”, 2566. http://www.dop.go.th/thai/gallery/1/6568.
30 สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง. “ฮ่องกงต้องการแรงงานต่างชาติจำนวนมาก”. สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง, 2566. https://hongkong.thaiembassy.org/th/content/bic-foreign-labour?cate=5d84800215e39c03c8002782.
31 การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาระบบการส่งเสริมดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะ พึ่งพิงในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร กรมอนามัย
32 Saito, Masashige, Jun Aida, Naoki Kondo, Junko Saito, Hirotaka Kato, Yasuhiro Ota, Airi Amemiya, and Katsunori Kondo. ‘Reduced Long-Term Care Cost by Social Participation among Older Japanese Adults: A Prospective Follow-up Study in JAGES’. BMJ Open 9, no. 3 (30 March 2019): e024439. https://doi.org/10.1136/bmjopen-2018-024439.
33 https://web.archive.org/web/20220121164505/https://www.hud.gov/program_offices/housing/mfh/progdesc/alcp
34 https://www.pour-les-personnes-agees.gouv.fr/changer-de-logement/vivre-en-accueil-familial/vivre-en-accueil-familial
35 Woon- en Zorgcentrum Humanitas Deventer. ‘The Living Students of Humanitas’. Accessed 26 March 2023. https://www.humanitasdeventer.nl/english/73-english/194-the-living-students-of-humanitas.
36 http://share-kanazawa.com/
37 https://www.mehrgenerationenhaeuser.de/
38 https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/previewer.php
39 https://laws.anamai.moph.go.th/th/doh-annuance/download/?did=207941
40 http://www.thaispa.go.th/spa2013/web/web_new/fileupload_doc/2022-07-05-4-22-3044184.pdf
41 OECD. Pricing Long-Term Care for Older Persons. Paris: Organisation for Economic Co-operation and Development, 2021. https://www.oecd-ilibrary.org/social-issues-migration-health/pricing-long-term-care-for-older-persons_a25246a6-en.
42 Escande, Hélène. ‘Achieving Quality Long-Term Care in Residential Establishments in France’, 2010. https://ec.europa.eu/social/BlobServlet?docId=8121&langId=en.
43 https://www.isranews.org/content-page/item/63842-older-63842.html

วิจัย/เขียน

สรัช สินธุประมา

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ปรับนโยบายให้ 'เห็นหัว' เด็กและเยาวชนด้วย CYIA (Child and Youth Impact Assessment)

ปรับนโยบายให้ ‘เห็นหัว’ เด็กและเยาวชนด้วย CYIA (Child and Youth Impact Assessment)

คิด for คิดส์ ชวนทำความรู้จักแนวคิด CYIA (Child and Youth Impact Assessment) ซึ่งหลายประเทศใช้เป็นเครื่องมือปรับปรุงนโยบายให้ ‘เห็นหัว’ เด็กและเยาวชนยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสำรวจแนวทางการนำ CYIA มาใช้ประเมินนโยบายในรูปแบบ ‘ร่างกฎหมาย’ ในไทย

Quick win แล้วสิ้นใจ?: ประคับประคองศูนย์ชีวาภิบาลอย่างไรให้อยู่รอด?

นโยบายชีวาภิบาลกำลังเผชิญปัญหารอบด้านเพราะการเร่งทำให้ถึงเป้าหมาย Quick win 100 วันแรก คิด for คิดส์ ชวนอ่านความท้าทายของนโยบายตายดีที่กำลังจะตายเสียเอง

ปรึกษาหัวใจกับใครก็เหมือนกัน? แนวทางกำกับมาตรฐานนักจิตวิทยาการปรึกษา-จิตบำบัดอย่างสมดุล

ปัญหาการอวดอ้างชื่อและล่วงละเมิดผู้รับบริการ เรียกร้องให้ต้องมีการกำกับนักจิตวิทยาการปรึกษา/จิตบำบัด แต่การสร้างมาตรฐานให้การดูแลหัวใจอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2025 kidforkids.org | All rights reserved.