หากพูดถึงการเรียนรู้ สิ่งที่เราคุ้นชินก็มักเป็นการนั่งเรียนในห้องและวัดผลด้วยการสอบ เมื่อเรียนครบตามที่หลักสูตรกำหนด (หรือเก็บหน่วยกิตได้ครบตามที่กำหนด) ก็จะได้รับวุฒิการศึกษาเพื่อเรียนต่อในระดับที่สูงกว่าหรือใช้สมัครงานที่ต่างๆ เพื่อหารายได้
แต่ปัญหาคือรูปแบบการศึกษาในระบบแบบนี้ไม่ได้เหมาะสมกับเด็กทุกคน เนื่องจากเงื่อนไขชีวิตของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอยู่ในครัวเรือนรายได้น้อยที่จำเป็นต้องหยุดเรียนในบางช่วงเวลาเพื่อทำงาน เด็กเหล่านี้เรียนได้ไม่เต็มที่และจบลงที่การหลุดจากระบบการศึกษา อีกทั้งการศึกษารูปแบบนี้ยังเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้ด้วยวิธีอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนแต่มีความสำคัญต่อการทำงานและสร้างคุณค่าของตัวเองในอนาคต เช่น การอ่านหนังสือ และการทำงาน
ภาครัฐตระหนักถึงข้อจำกัดนี้โดยพยายามผลักดัน ‘ระบบธนาคารหน่วยกิต’ อันเป็นทางเลือกในการเข้าถึงการศึกษาที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับบริบทของผู้เรียน สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบที่นับวันจะยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดยความร่วมมือระหว่าง 101 PUB และ สสส. ชวนผู้อ่านทำความเข้าใจว่าระบบธนาคารหน่วยกิตคืออะไร? ภาครัฐทำไปถึงไหนแล้ว? และมีอะไรที่ต้องระวังหรือคิดต่อไปในอนาคต?
ไทยมุ่งปรับการศึกษาให้ยืดหยุ่นเพื่อรองรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
ความยาก–ง่ายในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กแต่ละกลุ่มมีไม่เท่ากัน เด็กธรรมดาทั่วไปที่บ้านไม่ได้ยากจนมักมีเวลามากพอที่จะเรียนในระบบได้อย่างเต็มที่ ตรงกันข้ามกับเด็กยากจนที่บางครั้งก็ต้องหยุดเรียนเพื่อช่วยที่บ้านทำมาหากิน ไม่สามารถเรียนได้อย่างเต็มที่ หลายครั้งเด็กเหล่านี้ก็ต้องติดศูนย์หรือหมดสิทธิ์สอบ (มส.) เพราะขาดเรียนหลายครั้ง ทำให้เรียนจบได้ช้ากว่าเพื่อน หรืออาจจะหลุดจากระบบการศึกษาไปเลย รายงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. พบว่าในปัจจุบัน มีเด็กอายุ 3–18 ปีกว่า 1 ล้านคน หรือ 8.4% ของเด็กอายุ 3–18 ปีทั้งหมด เป็นเด็กนอกระบบที่ไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบการศึกษา เมื่อ กสศ. ลงสำรวจถึงสาเหตุที่เด็กเหล่านี้ออกจากระบบการศึกษาจะพบว่าเด็กนอกระบบเกือบครึ่งลาออกเพราะความยากจน[1]กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. (2023). … Continue reading
แม้จะไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนได้อย่างเต็มที่ แต่เด็กเหล่านี้จำนวนมากกลับมีทักษะจากการเรียนรู้นอกห้องเรียนอยู่แล้วจากประสบการณ์การทำงานหรือการใช้ชีวิต บางคนก็อาจได้รับการศึกษาระยะสั้นผ่านการอบรมและหลักสูตรระยะสั้น การที่เด็กกลุ่มนี้ต้องมานั่งเรียนในสิ่งที่ตนเองรู้อยู่แล้วก็ถือเป็นการสิ้นเปลืองเวลา–ทรัพยากร และสร้างต้นทุนค่าเสียโอกาสเพราะเด็กเหล่านี้จะไม่ได้เอาเวลาอันมีค่าเพื่อศึกษา/เรียนรู้สิ่งที่ตนเองสนใจ ดังนั้นในภาพรวมระบบการศึกษารูปแบบนี้จึงมีลักษณะตายตัว ไม่เหมาะกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษดังเช่นนักเรียนทั้งสองกลุ่มที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้ว
รัฐไทยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวดีและมีความพยายามออกแบบการศึกษาให้ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นมาตั้งแต่อดีต สะท้อนจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (1999) ซึ่งได้วางหลักไว้ว่ารัฐจะต้องจัดการศึกษาให้สอดคล้องและยืดหยุ่นกับเงื่อนไขชีวิตผู้เรียนหรือบริบทในพื้นที่
ส่วนสำคัญของกฎหมายนี้คือการเปิดให้สถานศึกษาสามารถสอนได้สามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ, การศึกษานอกระบบ ซึ่งเป็นการสอนที่ยืดหยุ่นกว่าการศึกษาในระบบทั้งในเชิงของรูปแบบการสอน ระยะเวลา หรือการวัดผล และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวผู้เรียนเองทั้งจากการอบรม การเรียนหลักสูตรต่างๆ หรือจากการทำงาน ผลการศึกษาทั้งสามรูปแบบนี้สามารถเทียบโอนไปยังสถานศึกษาปลายทางในกรณีย้ายสถานศึกษาหรือเพื่อขอยกเว้นบางวิชา (Exemption) ในสถานศึกษาที่กำลังเรียนได้ด้วย[2]พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (1999) มาตรา 15.
ปัจจุบัน รัฐพยายามเพิ่มความยืดหยุ่นของการศึกษาขึ้นไปอีกระดับ ผ่านการนำระบบสะสมหน่วยกิตในฐานข้อมูลของรัฐ หรือที่เรามักเรียกว่า ‘ธนาคารหน่วยกิต’ มาปรับใช้ โดยเมื่อผู้เรียนทำการศึกษาไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม ผลการประเมินผลการเรียนรู้จะถูกบันทึกไว้ในระบบธนาคารหน่วยกิต เพื่อเก็บประวัติการเรียนรู้ของผู้เรียนแบบไม่จำกัดอายุ หากผู้เรียนต้องการเทียบโอนหน่วยกิตไปยังสถานศึกษาที่ตนกำลังศึกษาหรือสถานศึกษาที่ตนกำลังจะย้ายเข้านั้นเพื่อขอยกเว้นบางวิชา ระบบก็จะโอนข้อมูลหน่วยกิตจากธนาคารหน่วยกิตมายังสถานศึกษาปลายทาง หรือในกรณีที่ผู้เรียนสะสมหน่วยกิตจนถึงเกณฑ์จบการศึกษาใดการศึกษาหนึ่ง ระบบก็จะดำเนินการในการรับรองหรือออกวุฒิการศึกษาให้ผู้เรียนที่อยู่ในระบบธนาคารหน่วยกิตดังนั้นเมื่อเด็กเหล่านี้เรียนจบออกมาก็จะมีโอกาสเข้าถึงการทำงานได้ไม่ต่างกับเด็กผ่านการเรียนในระบบ[3]ประมวลผลจาก ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง … Continue reading
หน่วยงานการศึกษายังต่างทำระบบธนาคารหน่วยกิตของตัวเอง?
ความคืบหน้าของการทำธนาคารหน่วยกิตในปัจจุบันยังคงอยู่ในขั้นตอนการวางกรอบจากกฎหมาย ทั้งเรื่องเป้าหมายของธนาคารหน่วยกิต หน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงกฎเกณฑ์ในการสะสมหน่วยกิต เมื่อแบ่งธนาคารหน่วยกิตตามขอบเขตความรับผิดชอบแล้ว จะแบ่งออกได้เป็นสามส่วนหลัก คือ
- ธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา รับผิดชอบโดยสำนักเลขาธิการสภาการศึกษา
- ธนาคารหน่วยกิตระดับอุดมศึกษา รับผิดชอบโดยสำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
- ธนาคารหน่วยกิตสำหรับมาตรฐานวิชาชีพ (คุณวุฒิวิชาชีพชั้น 1–8) รับผิดชอบโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)
การนำระบบธนาคารหน่วยกิตมาปฏิบัติกับการศึกษาขั้นพื้นฐานยังคงอยู่ในขั้นของการนำร่อง (Sandbox) ทั้งหมดห้าจังหวัด คือ ลำพูน เชียงใหม่ อุดรธานี ปทุมธานี และนครศรีธรรมราช[4]ดูเพิ่มเติม สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (10 กรกฎาคม … Continue reading
ขณะที่ระดับอุดมศึกษามีความคืบหน้าในการนำระบบธนาคารหน่วยกิตมาใช้มากกว่าโดยเฉพาะระดับปริญญาโท เพราะมีระบบกลางในการลงทะเบียนเรียนข้ามมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกของ ‘ที่ประชุมคณะผู้บริหารบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ’ หรือ ทคบร. ซึ่งครอบคลุมมหาวิทยาลัย 25 แห่งไว้แล้ว แต่ในระดับปริญญาตรีระบบธนาคารหน่วยกิตยังคงอยู่เฉพาะมหาวิทยาลัยของตนเอง เช่น Pre – Degree ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือธนาคารหน่วยกิตในเครือของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)
ทางด้านธนาคารหน่วยกิตสำหรับคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มของระบบธนาคารหน่วยกิตเอาไว้แล้ว คือ EWE Platform แต่ก็ยังห่างไกลจากภาพอุดมคติของธนาคารหน่วยกิตในระดับชาติ เนื่องจากระบบเชื่อมต่อกับสถานศึกษาได้เพียงแค่ 6 แห่งเท่านั้น (วิทยาลัยเทคนิค 3 แห่ง, มหาวิทยาลัย 3 แห่ง)[5]ข้อมูล ณ วันที่ 17 มกราคม 2025. สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะธนาคารหน่วยกิตในระดับการศึกษาอื่นยังไม่มีแพลตฟอร์มกลางที่ชัดเจน ทำให้ธนาคารหน่วยกิตในระดับคุณวุฒิวิชาชีพยังไม่มีแพลตฟอร์มอื่นให้เชื่อมต่อ[6]จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญภายในสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ โดย คิด for คิดส์
สถานการณ์ดำเนินธนาคารหน่วยกิตของแต่ละระดับการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการผลักดันธนาคารหน่วยกิตในไทยยังคงเป็นการแยกกันทำของตัวเอง การพัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิตจึงยังไม่ได้จบลงแค่การทำระบบของตัวเองให้เสร็จ แต่ยังต้องมองถึงยุทธศาสตร์ในการบูรณาการธนาคารหน่วยกิตแต่ละแห่งเข้ากันด้วย
การเทียบโอนความรู้จากนอกห้องเรียนเป็นแนวคิดที่ดี แต่การเรียนรู้บางรูปแบบก็วัดผลยาก
กฎหมายหรือประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธนาคารหน่วยกิต เปิดช่องให้สถานศึกษาที่จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล-ปริญญาเอก สายสามัญ–สายอาชีพ สามารถจัดการศึกษาด้วยระบบธนาคารหน่วยกิตได้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการปลดล็อกการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นขึ้นในทุกระดับ
แม้การปลดล็อกข้อจำกัดด้านการศึกษาจะเป็นเรื่องดี แต่ความเป็นจริงยังคงเป็นไปได้ยากเนื่องจากการประเมินผลการเรียนรู้เพื่อเทียบเป็นหน่วยกิตแต่ละวิชามีความยาก–ง่ายไม่เท่ากัน บางวิชาสามารถกำหนดมาตรฐานได้ง่าย ชัดเจน และมีมาตรฐานสากลกำกับ เช่น นาย A ต้องการวัดผลการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษจากการใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งการประเมินทักษะภาษาอังกฤษนั้นแม้จะมีหลายวิธี แต่ก็มีวิธีที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับมากกว่าวิธีอื่นๆ นั่นคือการให้ผู้ที่จะขอเทียบโอนวิชาภาษาอังกฤษยื่นคะแนนสอบวัดมาตรฐานสนามต่างๆ เช่น TOEIC, TOEFL หรือ IELTS หากถึงเกณฑ์คะแนนที่กำหนดก็สามารถเทียบโอนกับวิชาภาษาอังกฤษภายในสถานศึกษาเพื่อขอยกเว้นรายวิชานั้นได้ดังเช่นมหาวิทยาลัยหลายแห่งในปัจจุบัน
ตรงข้าม การประเมินผลการเรียนรู้บางวิชาเพื่อเทียบเป็นหน่วยกิตก็เป็นเรื่องยาก เช่น B ต้องการนำประสบการณ์จากการช่วยที่บ้านทำการเกษตรมายื่นขอประเมินเป็นหน่วยกิตในวิชาที่เกี่ยวข้องกับความรู้การเกษตรเบื้องต้น หรือกรณี C ต้องการนำประสบการณ์การเป็นโค้ชฝึกสอนนักกีฬาทีมชาติไทย มาเทียบกับวิชาการฝึกสอนกีฬา การประเมินผลการเรียนรู้เหล่านี้มีหลากหลายวิธี เช่น การสัมภาษณ์ และการยื่นแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ซึ่งอาจไม่ได้มีแนวปฏิบัติชัดเจนเท่ากรณีภาษาอังกฤษ ดังนั้นคำถามสำคัญคือสถานศึกษาจะใช้วิธีอะไรในการประเมินผลการเรียนรู้ของ B และ C?
อีกข้อกังวลต่อการเทียบโอนคือคุณภาพในการประเมินคือสถานศึกษาแต่ละแห่งมีคุณภาพในการประเมินผลการเรียนรู้ไม่เท่ากัน ทำให้สถานศึกษาบางแห่งไม่เชื่อถือการประเมินผลการเรียนรู้จากสถานศึกษาแห่งอื่นโดยเฉพาะสถานศึกษาที่มีคุณภาพสูง รวมถึงสถานประกอบการเองก็ไม่เชื่อมั่นว่าผู้ที่จบการศึกษาจากธนาคารหน่วยกิตจะมีความรู้ความสามารถเทียบเท่ากับคนที่เรียนในระบบปกติ ในกรณีเลวร้ายที่สุด แต่ละสถานศึกษาเอกชนที่อยู่ในธนาคารหน่วยกิตก็เลือกหากำไรด้วยการแข่งกันลดคุณภาพการประเมิน เพื่อดึงคนให้มาประเมินกับตนให้มากที่สุด ส่งผลให้ภาพรวมการประเมินผลการเรียนรู้มีคุณภาพต่ำ ความไม่แน่นอนเหล่านี้จะส่งผลให้ระบบธนาคารหน่วยกิตทั้งระบบขาดความน่าเชื่อถือ
นอกจากประเด็นเรื่องการเทียบโอน กฎระเบียบบางส่วนก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการจัดการศึกษาแบบยืดหยุ่นเสียเอง เพราะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานยังคงมีการจำกัดอายุของผู้เรียนอยู่ หรือในการศึกษาในระดับอุดมศึกษาก็ยังคงมีการจำกัดระยะเวลาในการเรียนแต่ละหลักสูตร[7]สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2020). … Continue reading กฎระเบียบที่จำกัดกรอบอายุและระยะเวลาเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคต่อกลุ่มที่ต้องหยุดเรียนเพื่อทำงานหรือกลุ่มคนที่เคยหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้วแต่อยากกลับเข้าระบบการศึกษาเสียเอง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักและใหญ่ที่รัฐต้องการจะแก้ปัญหา
‘ยืดหยุ่นแต่ไม่หย่อนยาน’ เป้าขั้นต่ำของธนาคารหน่วยกิต
ความท้าทายในการออกแบบธนาคารหน่วยกิตคือการ ‘ทำอย่างไรให้ธนาคารหน่วยกิตมีความยืดหยุ่น โดยยังคงรักษามาตรฐานและคุณภาพการประเมินให้ใกล้เคียงกับการศึกษาในระบบได้อยู่’ เพราะถ้าภาพรวมการประเมินผลการเรียนรู้เป็นหน่วยกิตไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนหรือมีคุณภาพใกล้เคียงกับการศึกษาในระบบ สถานศึกษาแต่ละแห่งที่จะรับเทียบโอนก็อาจไม่กล้ารับเทียบโอนเนื่องจากไม่รู้ว่าผู้ที่ขอเทียบโอนมีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะเทียบโอนหรือไม่
ประเทศต้นแบบธนาคารหน่วยกิตของไทยอย่างเกาหลีใต้ได้มีการมอบหมาย สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งชาติ (National Institute for Lifelong Learning: NILE) เป็นหน่วยงานหลักในการวางมาตรฐาน ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของธนาคารหน่วยกิต รวมถึงประสานงานสถานศึกษาที่ต้องการจะจัดการศึกษาในระบบธนาคารหน่วยกิตด้วย[8]ข้อมูลจาก NILE. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2025. ตัวอย่างวางมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา เช่น การกำหนดคุณสมบัติของผู้สอนว่าจะต้องมีวุฒิอย่างน้อยเทียบเท่ากับอาจารย์ที่สอนในระดับปริญญาตรี การกำหนดชั่วโมงสอนให้ไม่เกิน 18 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือการกำหนดมาตรฐานห้องเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้[9]ข้อมูลจาก NILE. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2025.
แม้ประเทศไทยจะมีหน่วยงานกำหนดมาตรฐาน กำกับดูแลมาตรฐาน หรือดำเนินงานอื่นเกี่ยวกับธนาคารหน่วยกิต[10]ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง … Continue reading แต่ก็ยังคงมีลักษณะกระจัดกระจายตามระดับการศึกษา หากหน่วยงานเหล่านี้ไม่มีการประสานงานและบูรณาการฐานข้อมูลที่ดีพอ ก็อาจทำให้การกำหนดมาตรฐาน การกำกับดูแล หรือการดำเนินงาน ขาดทิศทางที่ชัดเจน
แม้การออกแบบระบบธนาคารหน่วยกิตให้ยืดหยุ่นโดยที่ยังคงมาตรฐานการประเมินและควบคุมคุณภาพจะสำคัญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสังคมจะให้ความเชื่อถือต่อระบบและยอมรับผู้จบการศึกษาในระบบธนาคารหน่วยกิต ดังเช่นกรณีเกาหลีใต้[11]สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2020). … Continue reading ที่สังคมยังคงให้คุณค่ากับชื่อเสียงของสถาบันศึกษาอยู่ อีกหนึ่งสิ่งที่รัฐต้องทำให้ได้คือการสื่อสารนโยบายให้เป็นที่รู้จักแก่สังคม[12]สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2020). … Continue reading เปลี่ยนทัศนคติของผู้ปกครองและสถานประกอบการให้รับรู้ว่าการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่การเรียนในระบบเท่านั้น
References
↑1 | กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. (2023). ความจริงและความเร่งด่วนของสถานการณ์เด็กนอกระบบในประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 19 มกราคม 2025. |
---|---|
↑2 | พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (1999) มาตรา 15. |
↑3 | ประมวลผลจาก ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา พ.ศ.2567 (2024), ประกาศกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง แนวทางการดำเนินงานคลังหน่วยกิตในระดับอุดมศึกษา พ.ศ.2565 (2022) และสัมภาษณ์โดย คิด for คิดส์. |
↑4 | ดูเพิ่มเติม สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (10 กรกฎาคม 2023).นิตินั่งหัวโต๊ะติดตามความก้าวหน้าธนาคารหน่วยกิต 5 จังหวัดนำร่อง หวังขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2025. |
↑5 | ข้อมูล ณ วันที่ 17 มกราคม 2025. |
↑6 | จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญภายในสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ โดย คิด for คิดส์ |
↑7 | สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2020). การศึกษาและพัฒนาระบบและกลไกขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิต: ข้อเสนอสำหรับประเทศไทย. หน้า 225. |
↑8, ↑9 | ข้อมูลจาก NILE. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2025. |
↑10 | ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา พ.ศ.2567 ข้อ 9(4) และ ข้อ 10; กรณีธนาคารหน่วยกิตระดับอุดมศึกษายังไม่ชัดเจนว่าหน่วยงานกลาง (สำนักงานปลัดกระทรวง อว.) ต้องดำเนินการกำกับดูแลตามคำสั่งของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา; ประกาศกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง แนวทางการดำเนินงานคลังหน่วยกิตในระดับอุดมศึกษา พ.ศ.2565 ข้อ 5(1) และ ข้อ 11.; พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พ.ศ.2554 มาตรา 7 และ 18(3). |
↑11 | สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2020). การศึกษาและพัฒนาระบบและกลไกขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิต: ข้อเสนอสำหรับประเทศไทย. หน้า 63. |
↑12 | สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2020). การศึกษาและพัฒนาระบบและกลไกขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิต: ข้อเสนอสำหรับประเทศไทย. หน้า 227. |