สุขภาพใจที่อยู่ไกลเกินเอื้อมของเด็กและวัยรุ่นไทย

ประเด็นสำคัญ

  • ในปี 2022 ไทยมีจิตแพทย์ 845 คน ประจำในสถานพยาบาลครบทุกจังหวัด แต่ในจำนวนนี้เป็นจิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่นเพียง 295 คน
  • ใน 17 จังหวัด ยังไม่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำอยู่เลย ขณะที่กว่า 1 ใน 3 กระจุกในกรุงเทพมหานคร
  • การรักษาโรคทางจิตเวชต้องอาศัยการพบแพทย์และรับยาอย่างสม่ำเสมอ และอาจต้องมีทางเลือกในการหา 'หมอที่ใช่' ของแต่ละคน ทว่าใน 15 จังหวัด มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพียงคนเดียว การดูแลสุขภาพใจของเด็กและวัยรุ่นจึงทั้งอยู่ไกลและเลือกไม่ได้

ลองจินตนาการว่าคุณเป็นวัยรุ่นในอำเภอกุดชุมของจังหวัดยโสธรที่พบว่าตัวเองมีความเครียดรุมเร้าใจมากเกินกว่าจะรับมือไหว แบบประเมินสุขภาพจิตออนไลน์ยืนยันว่าคุณไม่ได้คิดไปเอง และควรไปปรึกษาจิตแพทย์ อีกเพียงไม่กี่คลิกถัดมา อินเทอร์เน็ตก็นำทางคุณไปถึงหน้าเว็บไซต์ที่ระบุว่ามีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ‘กว่า 200 คน’ ให้ค้นหา ชื่อจังหวัดยโสธรในเมนูค้นหาให้ความหวังกับคุณชั่วขณะหนึ่ง ก่อนที่จะปรากฏข้อความขึ้นว่า ‘ไม่พบโรงพยาบาล’ พร้อมตัวเลขจำนวนจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ‘0’ คน ส่วนสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดนั้น อยู่ห่างออกไปมากกว่าร้อยกิโลเมตรในจังหวัดข้างเคียง

ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นเป็นเรื่องน่ากังวลมากขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19[1]คิด for คิดส์. “เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: … Continue reading ในปี 2022 ระบบการประเมินสุขภาพจิตออนไลน์ด้วยตนเองของกรมสุขภาพจิต พบว่ามีเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีมากกว่า 5.8 หมื่นคน เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า[2]Unicef, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม, และ สถาบันเบอร์เน็ต. … Continue reading จนเป็นสาเหตุของการสูญเสียปีสุขภาวะ (DALYs)[3]มาตรวัดทางสาธารณสุขสำหรับประมาณการณ์ภาระโรค (Burden of disease) … Continue reading ลำดับที่ 4 ของเด็กและวัยรุ่นไทยอายุ 5-14 ปี เป็นโรคที่บั่นทอนชีวิตพวกเขามากกว่าการติดเชื้อเอชไอวีหรือติดยาเสพติดถึง 3 เท่าตัว[4]Burden of Disease Research Program Thailand https://www.hiso.or.th/bodproject/ นอกจากนี้ การสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนไทยเมื่อปี 2021 ยังพบว่า วัยรุ่นอายุ 13-17 ปี ราว 17.4% มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย และในปัจจุบันการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทย[5]กรมอนามัย, กระทรวงสาธารณสุข กลุ่มอนามัยเด็กวัยเรียนวัยรุ่น … Continue reading ทว่าสำหรับเด็กและวัยรุ่นในหลายจังหวัด การเข้าถึงบริการทางจิตเวชโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยังคงเป็นเรื่องที่อยู่ไกลเกินเอื้อม

คิด for คิดส์ โดยความร่วมมือระหว่าง 101 PUB กับ สสส. ชวนสำรวจสถานการณ์สุขภาพใจเด็กและเยาวชนไทยผ่านมิติเชิงพื้นที่ของการให้บริการด้านจิตเวชในหนึ่งแผนที่

ดาวน์โหลด: รายชื่อสถานพยาบาลที่ให้บริการทางจิตเวชในประเทศไทย

จำนวนจิตแพทย์เหลื่อมล้ำและยังไม่ครอบคลุมเด็กและวัยรุ่น

การให้บริการทางสาธารณสุขด้านจิตเวชของไทยได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตในภาพรวม  ในปี 2022 ไทยมีจิตแพทย์ 845 คน คิดเป็นสัดส่วน 1.28 คนต่อแสนประชากร บรรลุเป้าหมายระยะแรก (พ.ศ.2561-2565) ของแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติฉบับที่ 1 ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1.0 คนต่อแสนประชากร[6]กรมสุขภาพจิต, กองยุทธศาสตร์และแผนงาน. “แผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ … Continue reading 

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนระดับประเทศยังคงแฝงไว้ด้วยความเหลื่อมล้ำในระดับภูมิภาค แม้จะมีจิตแพทย์ประจำในโรงพยาบาลครบทุกจังหวัดแล้ว แต่สัดส่วนของจิตแพทย์ในหลายจังหวัดยังคงห่างจากเป้าหมายตามแผนค่อนข้างมาก พื้นที่ซึ่งขาดแคลนจิตแพทย์มากที่สุดคือกลุ่มจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือฝั่งตะวันออก ศรีสะเกษมีสัดส่วนจิตแพทย์เพียง 0.21 คนต่อแสนประชากร

หากพิจารณาลงไปถึงจำนวนของจิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการรักษาเด็กและวัยรุ่น จะพบว่าความเหลื่อมล้ำยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นอีก ฐานข้อมูลจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นโดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์[7]https://camri.go.th/DatabasePsychiatrist/ แสดงให้เห็นว่าไทยมีจิตแพทย์เด็กเพียง 295 คนทั้งประเทศ แต่ในจำนวนนี้กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครถึง 111 คน ซึ่งมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด และยังกระจุกตัวในเมืองใหญ่ตามภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ สงขลา เป็นหลัก ในขณะที่จังหวัดอื่น 17 จังหวัดยังไม่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำอยู่เลย และใน 15 จังหวัด จิตแพทย์เด็กต้องรับภาระดูแลเด็กและวัยรุ่นทั้งจังหวัดด้วยตัวคนเดียว เด็กและวัยรุ่นในจังหวัดเล็กจึงเข้าถึงบริการได้ยาก ซ้ำเติมไปบนเงื่อนไขที่พวกเขาเป็นกลุ่มเปราะบางที่มักถูกละเลย ถูกมองว่าอาการเจ็บป่วยทางใจเป็นเพียงการ ‘ดื้อ’ หรือ ‘เกเร’ ทั้งยังต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ในการเดินทางไปรับบริการ

การดูแลสุขภาพใจต้องอยู่ใกล้และมีทางเลือก

การวิเคราะห์และตั้งเป้าหมายเชิงนโยบายสาธารณสุขมักวางอยู่บนฐานของการพิจารณาสัดส่วนแพทย์ต่อประชากร ซึ่งช่วยให้เห็นการกระจายบุคลากรและภาระงานของแพทย์ในแต่ละพื้นที่ จนเป็นตัวเลขสำคัญที่ผู้บริหารนโยบายสาธารณสุขใช้ประกอบการตัดสินใจกระจายทรัพยากรไปสู่พื้นที่ต่างๆ แต่สำหรับผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการเข้ารับบริการส่วนใหญ่ในตอนนี้ ‘จำนวน’ จิตแพทย์ไม่ได้เป็นข้อที่ต้องกังวลเท่ากับว่าจะไปพบแพทย์ได้ ‘ที่ไหน’ 

สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำว่าการรักษาโรคทางจิตเวชต้องอาศัยการพบแพทย์และรับยาอย่างสม่ำเสมอ การมีทางเลือกในการไปพบแพทย์ในสถานที่สะดวกและใกล้บ้านจึงเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญให้การรักษาประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ การมีทางเลือกในการรับการรักษาโรคทางจิตเวชยังมีความสำคัญอย่างมากด้วย เพราะการดูแลรักษาจิตใจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและบางครั้งต้องอาศัย ‘หมอที่ใช่’ สำหรับแต่ละคน ผลการสำรวจของ Rocket Media Lab ในปี 2022 พบว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 57% เคยเปลี่ยนจิตแพทย์อย่างน้อย 1 ครั้ง จึงมารักษากับจิตแพทย์คนปัจจุบัน และแม้สิทธิ์ในการเบิกจ่ายจะเป็นปัจจัยลำดับต้นๆ ในการตัดสินใจเลือกสถานบริการ แต่ผู้ป่วยถึง 68.2% เลือกชำระค่ารักษาเอง ด้วยเหตุผลด้านความเชื่อมั่นในตัวจิตแพทย์คนปัจจุบัน และการได้รับคำแนะนำจากคนรอบข้าง[8]Rocket Media Lab. “‘ราคา’ ที่ต้องจ่ายและสิ่งที่อยากได้ ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า”. Rocket … Continue reading จำนวนทางเลือกในแต่ละพื้นที่จึงถือว่ามีความสำคัญกับผู้ป่วยกว่าครึ่ง

อย่างไรก็ตาม ไทยมีสถานพยาบาลทั้งที่เป็นโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน และคลินิกที่รักษาโรคจิตเวชโดยตรงโดยจิตแพทย์ หรือมีแผนกจิตเวช อย่างน้อย 452 แห่ง แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 177 แห่งที่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำอยู่ คิดเป็น 39.2% และยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครถึงราว 1 ใน 4 โดยมีเพียง 28 จังหวัดที่มีสถานพยาบาลด้านจิตเวชมากกว่า 1 แห่ง และมี 2 จังหวัดที่ทางเลือกเดียวในการรับการรักษาจากจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเป็นคลินิกเอกชน[9]คิด for คิดส์ … Continue reading ทางเลือกในการเข้ารับการรักษาโรคทางจิตเวชของเด็กและวัยรุ่นจึงมีจำกัด ต้องเดินทางไกลและรอคอยยาวนานกว่ามาก

การพิจารณาสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาพรวมระดับประเทศ โดยเฉพาะเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งมีสัดส่วนจิตแพทย์ต่อแสนประชากรสูงที่สุดในโลก (47.47) ญี่ปุ่น (12.55) สิงคโปร์ (4.60) จึงสะท้อนภาพปัญหาของไทยที่เบาเกินจริงเมื่อคำนึงถึงมิติในเชิงพื้นที่ร่วมด้วย เพราะประเทศไทยมีพื้นที่มากกว่าสวิตเซอร์แลนด์ถึง 12 เท่า มากกว่าญี่ปุ่น 1.4 เท่า และมากกว่าสิงคโปร์กว่า 700 เท่า รวมถึงรูปแบบการกระจายตัวของชุมชน และโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมก็แตกต่างกันออกไป แม้กระทั่งภายในประเทศไทยเอง 

การให้การดูแลสุขภาพใจยังประกอบด้วยมิติอื่นหลายด้าน อาทิ การทำงานร่วมกันของสหวิชาชีพ พยาบาล นักจิตวิทยาและนักจิตบำบัด ไปจนถึงมิติทางวัฒนธรรมที่ทำให้โรคกลุ่มนี้พิเศษแตกต่างไปจากการเจ็บป่วยอื่นๆ โปรดติดตามบทวิเคราะห์และข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นของคิด for คิดส์ และ 101PUB ต่อได้ทางเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊ก

อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่

References

References
1 คิด for คิดส์. “เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022”. คิด for คิดส์ (blog), 22 สิงหาคม 2022. https://kidforkids.org/child-family-situation-report-2022/.
2 Unicef, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม, และ สถาบันเบอร์เน็ต. “การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคม”. กรุงเทพฯ: Unicef, 2565.
3 มาตรวัดทางสาธารณสุขสำหรับประมาณการณ์ภาระโรค (Burden of disease) ซึ่งคำนวณจากเวลาที่คนต้องเสียไปกับการเจ็บป่วย (YLD) และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (YLL)
4 Burden of Disease Research Program Thailand https://www.hiso.or.th/bodproject/
5 กรมอนามัย, กระทรวงสาธารณสุข กลุ่มอนามัยเด็กวัยเรียนวัยรุ่น สำนักส่งเสริมสุขภาพ. “การสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนในประเทศไทย พ.ศ. 2564”. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 2565.
6 กรมสุขภาพจิต, กองยุทธศาสตร์และแผนงาน. “แผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2561 – 2580)”. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมสุขภาพจิต, 2564.
7 https://camri.go.th/DatabasePsychiatrist/
8 Rocket Media Lab. “‘ราคา’ ที่ต้องจ่ายและสิ่งที่อยากได้ ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า”. Rocket Media Lab, 2565.
9 คิด for คิดส์ รวบรวมข้อมูลสถานบริการด้านจิตเวชจากฐานข้อมูลของกรมสุขภาพจิต สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย

วิจัย/เขียน

สรัช สินธุประมา

บทความที่เกี่ยวข้อง

เห็นตัวเลข ไม่เห็นหัวใจ สถิติสุขภาพจิตไทยที่ต้องทบทวน

เด็กไทยป่วยซึมเศร้า คิดฆ่าตัวตายตั้งแต่วัย 11 ขวบ แต่นิยาม ‘ผู้ป่วยซึมเศร้า’ ของไทยกลับเริ่มต้นที่ ‘ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป’ รอจนเป็นโรคจิตเวชผู้ใหญ่อาจสายเกินแก้

ทำไมพยาบาลจิตเวชถึงไม่มีเวลาทำงานจิตเวช?

พยาบาลจิตเวชกว่า 4 พันคนทั่วประเทศ คือกำลังหลักของการดูแลสุขภาพจิตคนไทย แต่ส่วนใหญ่กลับไม่ได้ทำงานจิตเวชเต็มที่ เพราะมีภาระงานอื่นรอบด้าน

ดูแลหัวใจไม่ให้ใครร่วงหล่น: เปลี่ยนระบบบริการสุขภาพจิตให้เข้าถึงง่ายและทันท่วงที

เมื่อพูดถึงโรคซึมเศร้า เรื่องที่มักถูกยกขึ้นมาพูดต่อคือปัญหาขาดแคลนจิตแพทย์ แต่เราต้องมีจิตแพทย์เพิ่มอีกกี่คนจึงจะนับว่าพอ? มีอีกหลายคำถามที่ควรสงสัยและหาคำตอบถ้าหากเราปรารถนาจะดูแลสุขภาพใจของคนไทยไม่ให้ร่วงหล่นไปมากกว่านี้

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2024 kidforkids.org | All rights reserved.