จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย

บทสรุปผู้บริหาร

โครงการวิจัย “จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทย” คือโครงการวิจัยเชิงขับเคลื่อนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการ Civic Imagination Project (civicimaginationproject.org) แห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีเป้าหมายไม่เพียงทำความเข้าใจความสำคัญของ “จินตนาการพลเมือง” ในการสร้างสำนึกพลเมือง จินตนาการถึงอนาคตที่เปี่ยมความหวังโดยไม่ติดกับเงื่อนไขในปัจจุบัน สร้างพื้นที่สนทนาระหว่างกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายเพื่อสร้างสายสัมพันธ์พลเมืองและก้าวข้ามความแตกต่าง และนำจินตนาการดังกล่าวมาใช้ขับเคลื่อนกระบวนการเปลี่ยนแปลงในบริบทจริง ทว่ายังรวมถึงการพัฒนาเครื่องมือจินตนาการพลเมืองเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายดังกล่าวในทางปฏิบัติ

ทางโครงการฯ ได้นำกรอบแนวคิดและเครื่องมือจินตนาการพลเมืองดังกล่าวมาประยุกต์ใช้เพื่อออกแบบและจัดกิจกรรมเวิรค์ชอปกับเยาวชนกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุระหว่าง 15-18 ปี ใน 2 กลุ่มหลัก คือ หนึ่ง กลุ่มนักเรียนนักศึกษาทั่วไป ซึ่งคัดเลือกโดยคำนึงถึงภูมิหลังและสถานะทางเศรษฐกิจ-สังคมที่แตกต่างหลากหลาย และ สอง กลุ่มเยาวชนที่มีความสนใจร่วม โดยเลือกกลุ่มความสนใจที่มีความตื่นตัวทางการเมืองและสังคมในช่วง พ.ศ. 2563-2565 นั่นคือ กลุ่มแฟนคลับ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) และกลุ่มกราฟิกดีไซน์ โดยมุ่งตอบคำถามหลัก 2 ข้อ คือ 1. มีประเด็นสาธารณะอะไรที่เยาวชนผู้เข้าร่วมให้ความสำคัญผ่านจินตนาการพลเมือง และ 2. เยาวชนผู้เข้าร่วมจินตนาการถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างสังคมที่ตนต้องการเห็นอย่างไร

จากการวิเคราะห์ผลผลิตจากจินตนาการของเยาวชน ปฏิสัมพันธ์ของเยาวชนระหว่างกระบวนการเข้าร่วมกิจกรรม และคำตอบจากการสอบถามพูดคุยกับเยาวชนโดยตรง ทางโครงการสรุปผลและข้อสังเกตหลักต่อประเด็นสาธารณะที่ปรากฏผ่านจินตนาการของเยาวชนที่เข้าร่วม ดังนี้

  • ประเด็นสาธารณะที่เยาวชนให้ความสำคัญนั้นมีหลากหลาย ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม การยอมรับและให้สิทธิอันเท่าเทียมกับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ประชาธิปไตยและสิทธิขั้นพื้นฐานทางการเมือง และการศึกษา ฯลฯ โดยประเด็นที่ได้รับความสำคัญอันดับแรกๆ คือ ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม (ไม่ว่ารวยหรือจน อยู่ในเมืองหรือต่างจังหวัด ก็สามารถเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐได้อย่างเท่าเทียม) การเดินทางและขนส่งสาธารณะ (ครอบคลุม ปลอดภัย รวดเร็ว และราคาถูก) คุณภาพการศึกษา (โรงเรียนมีคุณภาพทัดเทียมกัน และเปิดกว้างสำหรับความต้องการอันหลากหลายของเยาวชน) รวมถึงการมีระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เปิดรับเสียงของประชาชนและไม่ปล่อยให้ใครผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จ ซึ่งมักปรากฏในฐานะเงื่อนไขขั้นพื้นฐานที่นำไปสู่การบรรลุประเด็นสาธารณะด้านอื่นๆ
  • เยาวชนมักเริ่มต้นจากการจินตนาการถึง “วัตถุ” ที่สะท้อนถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่เมื่อผ่านการพูดคุยและทำกิจกรรมต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้เผยให้เห็น “ชุดคุณค่าทางสังคม” ที่ไปไกลกว่ามิติเชิงวัตถุ เช่น ความเสมอภาคและเท่าเทียม ประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วม สิทธิเสรีภาพ สังคมที่ไม่เลือกปฏิบัติ โลกที่รักษาสมดุลระหว่างความเจริญและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งเป็นชุดคุณค่าที่สำคัญต่อการกำหนดเป้าหมายร่วมของสังคม
  • แม้กิจกรรมจะพยายามโน้มน้าวให้ผู้เข้าร่วมจินตนาการถึงอนาคตแบบไร้ข้อจำกัด ทว่าภูมิหลังและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคม ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทัศนียภาพของอนาคตที่ผู้เข้าร่วมจินตนาการถึง โดยกลุ่มเยาวชนจากเขตชนบทหลายคนจินตนาการถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่เยาวชนในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่เข้าถึงอยู่แล้วในปัจจุบัน เช่น รถไฟฟ้า สนามบิน ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ในขณะที่เยาวชนจากกรุงเทพฯ ส่วนมากจะจินตนาการถึงเทคโนโลยีอันก้าวหน้าที่ช่วยให้สิ่งที่มีอยู่แล้วดียิ่งขึ้น เช่น รถขับเคลื่อนอัตโนมัติและใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ การใช้ AI เข้ามาเพิ่มความอำนวยสะดวกและทดแทนแรงงานมนุษย์ ฯลฯ
  • วัฒนธรรมสมัยนิยม (pop culture) มีพลังเชิงสัญลักษณ์ในการกระตุ้นจินตนาการของเยาวชน โดยผู้เข้าร่วมสามารถผูกโยงเรื่องราวหรือตัวละครในวัฒนธรรมสมัยนิยมเข้ากับจินตนาการแห่งอนาคตในหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เผยตัวในรูปของอนาคตที่มีความหวัง (ยูโทเปีย) และแบบสิ้นหวัง (ดิสโทเปีย) ตัวอย่างเช่น นวนิยาย 1984 ช่วยให้ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งจินตนาการถึงโลกดิสโทเปียที่การใช้เทคโนโลยีแบบไม่ระมัดระวังอาจนำไปสู่โลกอนาคตที่สิ้นหวัง นอกจากนั้น ในกระบวนการจินตนาการถึงอนาคตร่วมกัน วัฒนธรรมสมัยนิยม ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ ภาพยนตร์ การ์ตูน ยังใช้เป็นจุดอ้างอิงเพื่อเชื่อมร้อยจินตนาการของผู้เข้าร่วมที่แตกต่างกัน
  • ในกิจกรรมที่ถูกออกแบบมาให้เยาวชนมีโอกาสแลกเปลี่ยน “จินตนาการ” ผ่านการแบ่งปันและผสมผสานเรื่องราวขึ้นมาใหม่ (remixing) พบว่า ผู้เข้าร่วมได้นำเสนอความคิดของตน พูดคุย แลกเปลี่ยน ประนีประนอม หาจุดเชื่อมโยง และผสมผสานจินตนาการที่แตกต่างกันของสมาชิกในกลุ่ม จนเกิดการก่อรูป “จินตนาการใหม่” ที่ผู้เข้าร่วมยอมรับร่วมกัน กระบวนการดังกล่าวคือมิติเชิงพลเมืองอันสำคัญ ซึ่งช่วยลดความแตกต่างและกระชับความสัมพันธ์ในกลุ่มคนที่มีประสบการณ์แตกต่างกัน อันเป็นรากฐานสำคัญของความเป็นพลเมืองในการก้าวข้ามการแบ่งขั้วทางความคิด

ในส่วนของคำถามที่สอง จินตนาการของเยาวชนผู้เข้าร่วมเผยให้เห็นมุมมองต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

  • แม้เยาวชนส่วนหนึ่งจะจินตนาการถึงเรื่องราวการต่อสู้ระหว่างฮีโร่กับตัวร้าย (ที่มักสื่อนัยถึงผู้นำที่เยาวชนมองว่าขาดความชอบธรรม) ซึ่งหลังจากตัวร้ายถูกกำจัดออกไปด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม อนาคตของบ้านเมืองก็ดูจะสดใสขึ้นมาทันพลัน ทว่าวิธีดังกล่าวถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมและความยั่งยืนในการแก้ปัญหา เพราะสุดท้ายก็จะมีตัวร้าย (ผู้นำ) คนใหม่ขึ้นสู่อำนาจอยู่ดี เยาวชนส่วนมากจึงเห็นพ้องกับวิธีการที่ชอบธรรมและยั่งยืนมากกว่า
  • ความเท่าเทียมไม่ได้เป็นเพียงประเด็นสาธารณะที่เยาวชนให้ความสำคัญเท่านั้น แต่ยังเป็นหนทางในการเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏในจินตนาการของเยาวชนด้วย ดังปรากฏในเรื่องราวของผู้เข้าร่วมบางกลุ่มที่สะท้อนว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงต้องมีรากฐานมาจากความเท่าเทียม
  • ประชาธิปไตยคือหลักการและเงื่อนไขสำคัญในกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดในจินตนาการของเยาวชนหลายกลุ่ม เรื่องราวจากเยาวชนที่เข้าร่วมบางกลุ่มสะท้อนให้เห็นว่า อำนาจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องมีฐานมาจากการรับฟังเสียงของคนทุกคนอย่างแท้จริง
  • เรื่องราวจากจินตนาการของเยาวชนส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการเปลี่ยน “ความคิด” ของคนในสังคม ด้วยความเชื่อว่าถ้าสามารถเปลี่ยนความคิดของคนรอบตัวและคนในสังคมได้ การเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านก็จะเกิดขึ้น
  • ในจินตนาการของเยาวชนผู้เข้าร่วมในกิจกรรมเวิร์คชอป ผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนั้นปรากฏตัวในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอำนาจ (รัฐ) ครอบครัวและคนรอบข้าง คนในชุมชน หรือกระทั่ง “เทคโนโลยี” ที่ก้าวหน้า ทว่าผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในจินตนการของเยาวชนคือ “พวกเราทุกคน” ที่ต้องช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ เปลี่ยนความคิดของคนในสังคม สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงโดยคำนึงถึงความเท่าเทียม รวมถึงตรวจสอบและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงร่วมกับภาครัฐ

นอกเหนือจากการตอบคำถามวิจัยหลัก โครงการฯ ยังพัฒนา “ต้นแบบ” (prototype) กิจกรรมเวิร์คชอป 4 กิจกรรม นั่นคือ 1) เรื่องเล่าแห่งอนาคต 2) เมืองแห่งอนาคต 3) ความหวังที่ไม่มีอะไรกั้น: จินตนาการสู่ประเทศไทย พ.ศ. 2615 และ 4) ทาบจินตนาการสู่ความเป็นจริง โดยต้นแบบกิจกรรมทั้งสี่นี้มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้นำไปใช้สามารถผสมผสานกิจกรรมต่างๆ ได้ตามวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ โดยอาจใส่เรื่องราวของตัวละครที่กลุ่มเป้าหมายคุ้นเคย หรือใส่โจทย์เฉพาะกับบริบทเชิงความสนใจหรือพื้นที่ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของกิจกรรม

บทความที่เกี่ยวข้อง

Research Roundup 2022 : “จินตนาการใหม่-แผลเป็น-เปราะบาง” : อนาคตนโยบายเด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต

พบกับการนำเสนองานวิจัยและวงสนทนาความรู้ 4 วงใน 4 หัวข้อแห่งยุคสมัยว่าด้วยนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้

7 แนวโน้มเด็กและเยาวชนไทยในวิกฤตเหลื่อมล้ำ โรคระบาดและการเมือง

เปิดรายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัวปี 2022 ที่สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่ครอบครัวไทยต้องเผชิญ

คิด(ส์) เพื่อ ‘เด็กในวันข้างหน้า’ : ว่าด้วยเรื่องนโยบายสาธารณะด้านเด็กและครอบครัวแห่งอนาคต (2)

101 สนทนากับ นักปฏิบัติการและผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก ได้แก่ ณัฐวุฒิ บัวประทุม, เชษฐา มั่นคง และ พฤหัส พหลกุลบุตร เพื่อออกแบบนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัวแห่งอนาคต ให้ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความผันผวนในทุกมิติ

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2024 kidforkids.org | All rights reserved.