การใช้ชีวิตท่ามกลางสามวิกฤตมีส่วนทำให้เด็กและเยาวชนเครียด กังวล ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า และมีความเสี่ยงทางสุขภาพจิตอื่น ๆ รุนแรงมากขึ้น ที่สำคัญ เด็กและเยาวชนที่เผชิญปัญหาจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการดูแลรักษาได้ ปัญหาสุขภาพจิตเหล่านี้ส่งผลเสียต่อสุขภาวะทางกาย จิตใจ การเรียนรู้ และอาจบั่นทอนความฝันและเป้าหมายของพวกเขาในระยะยาว
เด็กและเยาวชนที่เผชิญกับความเครียดและปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มจำนวนมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา จากข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตตนเองของกรมสุขภาพจิตในปี 2021 ผู้ตอบแบบประเมินร้อยละ 30.1 ระบุว่าเครียดสูง ร้อยละ 35.3 เสี่ยงตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 24.4 เสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย และร้อยละ 35 มีความเสี่ยงทางสุขภาพจิตอย่างน้อยหนึ่งด้าน ส่วนผลการประเมินจนถึงเดือนกรกฎาคม ปี 2022 ก็มีแนวโน้มที่น่ากังวล โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนร้อยละ 17.5 ที่กำลังเสี่ยงอยู่ในภาวะซึมเศร้า[1]
ผลการประเมินสุขภาพจิตตนเองของเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี ปี 2020-2022
หมายเหตุ: จำนวนผู้ตอบแบบประเมินปี 2020 29,028 คน ปี 2021 181,629 คน และปี 2022 37,063 คน
เด็กและเยาวชน เป็นกลุ่มที่เผชิญความเสี่ยงทางสุขภาพจิตทุกด้านมากกว่าผู้ใหญ่อย่างชัดเจน (ดูแผนภูมิที่ 4.2) โดยเฉพาะกลุ่มอายุไม่เกิน 20 ปี ซึ่งมีสัดส่วนผู้มีความเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า และเสี่ยงฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ใหญ่อายุ 40-49 ปีถึง 10-20 เท่า
ข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตคนไทย ปี 2021 จำแนกตามกลุ่มอายุ
ที่มา: กรมสุขภาพจิต (2021)
สาเหตุของความเครียดในเยาวชนส่วนใหญ่ได้แก่ การเรียน การทำงานในอนาคต และสถานะทางการเงินของครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในช่วงชีวิตของคนกลุ่มนี้ ทั้งนี้ผลจากมาตรการรับมือกับวิกฤตโควิด วิกฤตเศรษฐกิจและการสูญเสียรายได้ของครัวเรือนมีส่วนสำคัญที่ทำให้ความเครียดในประเด็นข้างต้นเพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา
จากผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ การศึกษาและการทำงาน และการเงิน เป็นสองปัจจัยให้เยาวชนอายุ 15-25 ปีเกิดความเครียดมากที่สุด สำหรับกลุ่มอายุ 15-18 ปี และ 19-22 ปี การศึกษาและการทำงานเป็นสาเหตุอันดับแรกที่ทำให้พวกเขาเกิดความเครียด (ร้อยละ 38.4 และร้อยละ 60.9 ตามลำดับ) ส่วนสาเหตุรองลงมา ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกับอันดับแรกในทั้งสองกลุ่มอายุคือ การเงิน (ร้อยละ 34.9 และร้อยละ 60.2 ตามลำดับ) ขณะที่กลุ่มอายุ 23-25 ปีเห็นว่าการเงินเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดมากที่สุด (ร้อยละ 67.1) ตามมาด้วยการศึกษาและการทำงาน (ร้อยละ 66.1) และเรื่องสังคมการเมือง (ร้อยละ 42.1)
ปัญหาที่เยาวชนรายงานว่าทำให้เกิดความเครียดมากถึงมากที่สุด แยกตามกลุ่มอายุ
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ (2022)
“ไม่เข้าใจว่าเราจะเรียนหนักขนาดนี้ไปเพื่ออะไร ทำไมเราต้องเรียนพิเศษหรืออ่านหนังสือเพิ่ม จนมันสะสมเป็นความเครียด ฉันเคยพูดถึงเรื่องนี้ให้ผู้ใหญ่ฟัง เขาตอบฉันมาว่า “แค่นี้จะไปเหนื่อยอะไร โตไปเดี๋ยวจะเหนื่อยกว่านี้อีก” มันทำให้ฉันยิ่งรู้สึกบั่นทอน ความจริง ฉันแค่อยากได้กำลังใจดี ๆ จากพวกเขาก็เท่านั้น […]
ฉันอยากให้ผู้ใหญ่เข้าใจว่าการที่เราพูดคำเหล่านั้นออกไป ไม่ได้ช่วยทำให้ดีขึ้น กลับกันมันอาจแย่ลง เด็กได้รับความกดดันเพิ่มขึ้น และสิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ การที่เด็กเหล่านั้นหมดความหวังที่จะอยู่ต่อบนโลกใบนี้”
– กุลจิรา สุขแก้ว อายุ 17 ปี
ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนไม่เพียงส่งผลกระทบในชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่อาจส่งผลต่อทั้งชีวิตของพวกเขา โดยในด้านสุขภาวะทางกาย อาจมีอาการอ่อนเพลีย ประสบปัญหาในการพักผ่อน เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดหรือเพิ่มอย่างรวดเร็ว ในด้านพฤติกรรม อาจมีอาการเหม่อลอย กระสับกระส่าย ก้าวร้าว และนำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตาย ปัญหาสุขภาพจิตยังอาจทำให้เด็กและเยาวชนซึ่งอยู่ในวัยเรียนรู้ มีประสิทธิภาพการเรียนรู้ลดลง และเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นด้วย[2]
ที่สำคัญ ปัญหาสุขภาพจิตส่งผลกระทบอย่างมากต่อตัวตนและการให้คุณค่าตนเองของเด็กและเยาวชน ทั้งยังอาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุความฝันและเป้าหมายในชีวิตของพวกเขา จากผลสำรวจของ คิด for คิดส์ เป้าหมายที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเยาวชนอายุ 15-25 ปีส่วนใหญ่คือการประสบความสำเร็จในด้านการศึกษาและการงาน (ร้อยละ 85) อย่างไรก็ดี เยาวชนร้อยละ 8.1 มองว่าปัญหาสุขภาพจิตจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวของพวกเขา รองจากภาระทางการเงิน (ร้อยละ 52.2) และการมีความสามารถไม่เพียงพอ (ร้อยละ 19.7)
เด็กและเยาวชนไทยจำนวนมากที่กำลังเผชิญกับความเครียดและความเสี่ยงทางสุขภาพจิตเหล่านี้ควรได้รับการรักษาดูแลอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันผลกระทบทั้งด้านสุขภาวะ การเรียนรู้ และการดำเนินชีวิตในระยะยาว ซึ่งในปี 2022 ก็พบว่า มีเด็กและเยาวชนที่ขอเข้ารับบริการโดยไม่มีผู้ปกครองเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.5 เท่า ในจำนวนนี้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้ามากถึงร้อยละ 70 รวมถึงมีความคิดอยากฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 2.7 เท่า[3] อย่างไรก็ตาม กำลังบุคลากรและทรัพยากรด้านจิตเวชของประเทศไทยยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กและเยาวชนที่เผชิญปัญหาเหล่านี้สามารถเข้าถึงบริการการรักษาได้อย่างครอบคลุม
ในปี 2021 กรมสุขภาพจิตรายงานว่า ประเทศไทยมีจิตแพทย์เฉพาะทางด้านเด็กและวัยรุ่นกระจายตัวอยู่ใน 55 จังหวัด มีศักยภาพดูแลเด็กและเยาวชนครอบคลุม 3,444 โรงเรียน[4] คิดเป็นร้อยละ 10.9 ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมดในประเทศเท่านั้น ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีโรงพยาบาลซึ่งมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำอยู่มากที่สุดคือ 53 แห่ง อีก 54 จังหวัดมีเพียงจังหวัดละ 1 แห่งโดยเฉลี่ย ในขณะที่เด็กและเยาวชนในอีก 22 จังหวัดยังไม่สามารถเข้ารับบริการจากจิตแพทย์เด็กในจังหวัดของตนได้[5] แม้กระทรวงสาธารณสุขมีแผนจะเพิ่มกำลังจิตแพทย์เด็กเป็น 63 จังหวัด ภายในปี 2025 แต่เป้าหมายนี้ก็อาจเล็กและล่าช้าจนไม่ทันต่อความต้องการเข้ารับบริการสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสองปีนี้
สถานการณ์สุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนไทยที่ย่ำแย่ลงท่ามกลางวิกฤตต่าง ๆ ในช่วงปีที่ผ่านมาเป็นประเด็นที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญและเร่งแก้ไข ในขั้นแรก ควรส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนที่เผชิญปัญหาสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิตที่จำเป็นได้รวดเร็วและง่ายที่สุด ทั้งการเพิ่มบริการสุขภาพจิตอย่างน้อยให้กระจายตัวครบทุกจังหวัด และควรตั้งเป้าให้เข้าถึงได้ใกล้ยิ่งขึ้น เช่น ระดับอำเภอ หรือระดับตำบล รวมถึงเร่งผลักดันให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมการรักษาโรคทางจิตเวช ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาให้น้อยที่สุด ตลอดจนเพิ่มทางเลือกการรักษาให้หลากหลายขึ้น เช่น บริการให้คำปรึกษาทางออนไลน์ ผ่านการร่วมมือกับหน่วยงานภาคประชาสังคมหรือเอกชน
ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้เพียงพอต่อความต้องการเข้ารับบริการของเด็กและเยาวชนที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งเพิ่มกำลังจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น พยาบาลจิตเวช รวมถึงวิชาชีพอื่น ๆ ที่สามารถทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและบำบัดเบื้องต้นได้ เช่น นักจิตวิทยา ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต และนักบำบัด เป็นต้น
ท้ายที่สุด การเข้ารับบริการสุขภาพจิตยังคงมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีและทำให้เกิดการตีตรา ทำให้ผู้มีอาการไม่กล้าไปปรึกษาหรือรักษา รัฐบาลควรรณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง ในแง่การเสริมสร้างเยาวชนให้รู้วิธีจัดการอารมณ์และความเครียด ตระหนักในคุณค่าของตนเอง และพร้อมขอความช่วยเหลือเมื่อไม่สามารถรับมือกับสภาวะทางจิตใจที่เปลี่ยนไปได้ ที่สำคัญกว่านั้น รัฐบาลต้องส่งเสริมความเข้าใจเรื่องวิธีการสื่อสารและการรับมือกับผู้ป่วยที่เหมาะสม ให้แก่สถาบันที่ใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะครอบครัว ชุมชนและครู เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน
รายการอ้างอิง
[1] “Mental Health Check-in,” กรมสุขภาพจิต, https://checkin.dmh.go.th/dashboards, 2022.
[2] สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), “ปัญหา ‘สุขภาพจิต’ วัยรุ่นไทย เมื่อความสัมพันธ์เป็นสาเหตุ,” จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2564, 2020, https://resourcecenter.thaihealth.or.th/files/212/thaihealth%20watch%202021.pdf (เข้าถึงเมื่อ 8 สิงหาคม 2022).
[3] “วัยรุ่นเข้าถึงบริการสุขภาพจิตมากขึ้น,” ไทยรัฐ, 3 มิถุนายน 2565, https://www.thairath.co.th/news/local/2409467.
[4] เพิ่งอ้าง.
[5] โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ, “ข้อมูลโรงพยาบาลและคลินิกที่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นในจังหวัดต่าง ๆ,”กรมสุขภาพจิต, กรกฎาคม 2564.