ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ (aged society) เร็วที่สุดในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ในขณะเดียวกัน ครอบครัวไทยก็มีขนาดเล็กลงและมีรูปแบบหลากหลาย พลวัตของครอบครัวไทยส่งผลครอบครัวไทยมีความสามารถในการสนับสนุนสุขภาวะและพัฒนาการของเด็กและเยาวชนไทยได้น้อยลง และส่งผลให้เด็กไทยมีความเปราะบางมากขึ้น
ปี 2021 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรครั้งสำคัญของไทย โดยไทยได้เริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ คือมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่าร้อยละ 20 (15.2 ล้านคน) ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ[1] ถือเป็นประเทศกำลังพัฒนาแห่งแรกในโลกที่เข้าสู่ภาวะดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น สหประชาชาติยังคาดการณ์ว่าสัดส่วนประชากรสูงอายุมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นร้อยละ 30 (20 ล้านคน) จนกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super aged society) ภายในปี 2033 หรือราว
10 ปีข้างหน้าเท่านั้น[2]
ขณะเดียวกัน สัดส่วนของเด็กและอัตราการเกิดใหม่ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ในปี 2021 ไทยมีประชากรเด็กอายุไม่เกิน 14 ปีประมาณ 11.3 ล้านคน หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 15.8 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และมีเด็กเกิดใหม่เพียง 544,570 คน ถือเป็นจำนวนต่ำสุดในรอบ 50 ปี โดยลดลงจากปี 2011 ที่เคยมีเด็กเกิดใหม่ 818,901 คน ไปมากกว่าหนึ่งในสาม
ควรกล่าวด้วยว่า ปี 2021 ยังเป็นครั้งแรกที่จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าจำนวนผู้เสียชีวิต[3] ทั้งนี้ มีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้คนรุ่นปัจจุบันตัดสินใจมีลูกน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมในการสร้างครอบครัวที่ไม่ผูกติดกับการมีลูกอีกต่อไป ต้นทุนการดูแลและสนับสนุนลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพที่สูงขึ้น ตลอดจนการต้องทุ่มเวลาเพื่อสร้างความมั่นคงด้านการงานและฐานะของคนรุ่นปัจจุบัน จนทำให้การมีลูกกลายเป็นเป้าหมายในชีวิตที่สำคัญน้อยลง[4]
สัดส่วนประชากรตามช่วงอายุต่อประชากรไทยทั้งหมด ปี 2010 และ 2020
และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในปี 2030 และ 2040
ที่มา: UN World Population Prospects (2022)
จำนวนประชากรเด็กเกิดใหม่และจำนวนผู้เสียชีวิต ปี 2012-2021 (คน)
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2021)
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากขึ้นและอัตราการเกิดลดลง ทำให้โครงสร้างครอบครัวไทยและรูปแบบการอยู่อาศัยของครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยครัวเรือนมีขนาดเล็กลงอย่างต่อเนื่อง จากราว 5-6 คนในช่วง 3 ทศวรรษก่อน เหลือเพียง 2.4 คนในปี 2020[5] ขนาดครอบครัวที่เล็กลงนี้ส่งผลต่อแนวโน้มรูปแบบการอยู่อาศัยของครัวเรือนในอนาคต ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสมาชิกในครอบครัวไม่เกิน 3 คน ในขณะที่ครัวเรือนอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประชากรวัยแรงงานและผู้สูงอายุ
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คาดการณ์ว่า ประชากรวัยแรงงานที่อาศัยอยู่คนเดียวจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.1 ของประชากรวัยแรงงานทั้งหมดในปี 2020 เป็น ร้อยละ 13.6 หรือราว 4.9 ล้านคน ภายในปี 2030 เช่นเดียวกับสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่คนเดียวที่อาจเพิ่มจากร้อยละ 12 ในปี 2020 เป็นร้อยละ 15 ในระยะเวลาไม่ถึงสิบปี รวมถึงครัวเรือนข้ามรุ่นที่มีประชากรวัยพึ่งพิงอย่างเด็กและผู้สูงอายุอยู่อาศัยร่วมกัน ก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.9 ในปี 2020 ในขณะที่สัดส่วนครัวเรือนพ่อแม่ลูกมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 31 ในปี 2020 เหลือเพียงร้อยละ 21 ในปี 2030 จากการตัดสินใจมีลูกน้อยลงของวัยแรงงานในปัจจุบัน[6] (ดูแผนภูมิที่ 6.3)
สัดส่วนครัวเรือนวัยแรงงาน จำแนกตามรูปแบบการอยู่อาศัยปี 2000 และ 2020 และแนวโน้มสัดส่วนปี 2030
ประเภทครัวเรือน | ปี 2000 | ปี 2020 | ปี 2030 |
ครัวเรือนคนเดียว | 3.1% | 8.1% | 13.6% |
ครัวเรือนพ่อแม่ลูก | 50% | 31% | 21% |
ครัวเรือนเลี้ยงเดี่ยว | 9.1% | 10.2% | 10.3% |
ครัวเรือนข้ามรุ่น | 2.4% | 4.9% | 8% |
ที่มา: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (2020)
เดิมทีสังคมไทยมีเด็กกำพร้า เด็กถูกทอดทิ้ง และต้องอยู่คนเดียวตามลำพังมากถึง 5,594 คน[7] และมีเด็กที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของพ่อแม่อีก 4,978 คน[8] วิกฤตโรคระบาดซึ่งพรากชีวิตผู้คนจำนวนมากไปนั้น ยังส่งผลให้จำนวนเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน กรมกิจการเด็กและเยาวชนพบว่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2021 ถึงเดือนมีนาคมปี 2022 มีเด็ก 448 คนที่ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า เนื่องจากผู้ปกครองเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด โดยร้อยละ 71.5 เป็นเด็กอายุ 6-18 ปี และอีกร้อยละ 28.1 เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี[9] ในจำนวนนี้ เด็ก 157 คน หรือเกือบ 1 ใน 3 ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งประสบปัญหาความยากจนมากกว่าพื้นที่อื่นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเด็กกำพร้าจากสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมาอาจสูงกว่าที่หน่วยงานรัฐบันทึกไว้ เนื่องจากมีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิดอาจสูงกว่าที่ทางการบันทึกไว้ นอกจากนี้ ยังมีเด็กที่ต้องกำพร้าจากกรณีอื่นที่เป็นผลกระทบทางอ้อมจากวิกฤตโรคระบาดและไม่ได้ถูกบันทึกไว้ เช่น กรณีที่สูญเสียพ่อแม่ผู้ปกครองจากการฆ่าตัวตายเพราะวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นต้น
ท่ามกลางโฉมหน้าครอบครัวไทยที่เปลี่ยนไป เด็กและเยาวชนคือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตที่พวกเขาจะต้องเผชิญต่อไปเมื่อเข้าสู่วัยแรงงาน
เด็กกำพร้าจากสถานการณ์โควิดหรือเด็กที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพังมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะไม่ได้รับการดูแลทั้งด้านร่างกายและพัฒนาการอย่างเหมาะสม มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นและหลุดออกจากระบบการศึกษา มากไปกว่านั้น การเผชิญกับการสูญเสียบุคคลสำคัญในครอบครัวย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็ก อาจเครียด วิตกกังวล จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้[10]
ในมิติความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครอบครัว เด็กในครัวเรือนข้ามรุ่นมีความเปราะบางมากกว่าเด็กในครัวเรือนรูปแบบอื่น เนื่องจากสมาชิกในครัวเรือนประกอบด้วยเด็กและผู้สูงอายุซึ่งอยู่ในวัยพึ่งพิงทั้งคู่ และรายได้ส่วนใหญ่ของครัวเรือนมาจากเงินโอนจากภายนอกครัวเรือน[11] ทำให้เด็กในครัวเรือนประเภทนี้เสี่ยงเผชิญปัญหาด้านพัฒนาการและการเรียนรู้มากกว่าด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและการเลี้ยงดู อีกทั้งมีแนวโน้มขัดแย้งทางความคิดกับคนในครอบครัวมากกว่าอีกด้วย[12]
ท้ายที่สุด เด็กในวันนี้คือผู้ต้องรับมือกับความท้าทายจากภาวะสังคมสูงวัยและอัตราการเกิดต่ำในระยะยาวและจำเป็นที่จะต้องเก่งขึ้นมากยิ่งกว่าคนรุ่นปัจจุบันเพราะต้องเป็นผู้รับภาระในการขับเคลื่อนประเทศท่ามกลางโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปราะบางอย่างยิ่ง รวมถึงมีภาระต้องดูแลเด็กและผู้สูงอายุมากกว่าเดิม ในปี 2021 อัตราการพึ่งพิงของสังคมไทยอยู่ที่ 43.5 คน ต่อวัยแรงงาน 100 คน และคาดการณ์ว่าภายในปี 2033 ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยระดับสุดยอด อัตราการพึ่งพิงจะเพิ่มขึ้นเป็น 56.7 คน ต่อวัยแรงงาน 100 คน[13]
อัตราการพึ่งพิงของผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) และเด็ก (0-14 ปี) ปี 2010 – 2020
และแนวโน้มในปี 2030 2035 และ 2040
ที่มา: UN World Population Prospects (2022)
เด็กกลุ่มเปราะบางควรได้รับการช่วยเหลือเป็นอันดับแรกแรก โดยเฉพาะเด็กกำพร้าจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งการเยียวยาสภาพร่างกายและจิตใจของเด็ก เพื่อไม่ให้การสูญเสียสร้างแผลเป็นไปตลอดชีวิตของพวกเขา รัฐบาลสามารถจัดการเฟ้นหาครอบครัวทดแทน จากเครือญาติของเด็กหรือครอบครัวอุปถัมภ์ที่แสดงความจำนงเลี้ยงดูเด็ก เพื่อให้เด็กกำพร้าเหล่านี้ได้รับการดูแลอย่างปลอดภัยและไม่ต้องใช้ชีวิตโดยลำพัง รวมถึงปรับปรุงระบบสวัสดิการในสถานสงเคราะห์ เพื่อให้เด็กที่ต้องอาศัยอยู่สามารถเข้าถึงสวัสดิการจำเป็นอย่างอาหาร การรักษาพยาบาล และการศึกษาอย่างเหมาะสมและเพียงพอ
สำหรับเด็กในครัวเรือนข้ามรุ่น รัฐบาลควรอุดหนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นแก่เด็กในครัวเรือนเหล่านี้เป็นการเฉพาะ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา การเรียนรู้ และการรักษาพยาบาล เพื่อบรรเทาข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ลงทุนปรับปรุงคุณภาพศูนย์เด็กเล็กในทุกพื้นที่ให้สามารถดูแลและเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กในครัวเรือนเหล่านี้ได้อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนมีมาตรการระยะยาวที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ในประเทศไทย เช่น การกระจายแหล่งงาน และการสนับสนุนการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในพื้นที่ชนบท ซึ่งจะลดปัญหาครัวเรือนข้ามรุ่นได้โดยตรง
รายการอ้างอิง
[1] United Nations, World Population Prospects 2022, 2022.
[2] เพิ่งอ้าง.
[3] “จำนวนการเกิดใหม่และจำนวนการเสียชีวิต ปี 2012-2021,” สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2021.
[4] มนสิการ กาญจนะจิตรา และคณะ,การส่งเสริมการมีบุตรผ่านการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ, 2016, https://www.knowledgefarm.in.th/birth-promotion/ (เข้าถึงเมื่อ 1 สิงหาคม 2022).
[5] “ขนาดครัวเรือนไทย ปี 1990-2020,” สำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย, 2020.
[6] สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, ครอบครัวไทยในอนาคต: พ.ศ.2583, พฤษภาคม 2022.
[7] “สถิติเด็กกำพร้า เด็กถูกทอดทิ้ง และต้องอยู่คนเดียวตามลำพัง,” กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2016.
[8] สำนักงานสถิติแห่งชาติและองค์การยูนิเซฟ, การสำรวจสถานการณ์เเด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2562 (รายงานผลฉบับสมบูรณ์), สิงหาคม 2563.
[9] “ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19,” กรมกิจการเด็กและเยาวชน, 27 กรกฎาคม 2021-17 มีนาคม 2022.
[10] “เปิดปม: เด็กกำพร้าเฉียบพลันจากโควิด-19,” ไทยพีบีเอส, 5 ตุลาคม 2021, https://news.thaipbs.or.th/content/308378 (เข้าถึงเมื่อ 6 สิงหาคม 2022).
[11] ภัททา เกิดเรือง, ความอยู่ดีมีสุขและปัจจัยทางเศรษฐกิจของครัวเรือนข้ามรุ่นในไทย, 2016.
[12] ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว, ผลสำรวจความเห็นและทัศนคติของเด็กและเยาวชน, พฤษภาคม 2022.
[13] United Nations, World Population Prospects 2022, 2022.