กรุงเทพ เมืองร้างรัก: เมื่อเมืองไม่ดี… โอกาสพบรักดีๆ ของเยาวชนก็ไม่เกิด

กรุงเทพ เมืองร้างรัก: เมื่อเมืองไม่ดี… โอกาสพบรักดีๆ ของเยาวชนก็ไม่เกิด

ประเด็นสำคัญ

  • เยาวชนกรุงเทพมหานครอายุ 15-25 ปี 53.5% เป็นโสด มิได้คบหาแฟนในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เป็นสัดส่วนสูงกว่าเยาวชนต่างจังหวัดและค่าเฉลี่ยของประเทศ สัดส่วนนี้มีแนวโน้มมากขึ้นตามระดับรายได้ครัวเรือน ระดับการศึกษา และดัชนีมวลกายของเยาวชนที่เพิ่มขึ้น
      
  • เยาวชนโสดในกรุงเทพฯ รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากกว่า อีกทั้งยังมีความสุขในชีวิตน้อยกว่าเยาวชนที่มีแฟนแล้ว
      
  • กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่เอื้อต่อการมีความรัก เพราะขาดพื้นที่ชุมชนและพื้นที่สาธารณะให้พบรักและพัฒนาความสัมพันธ์ เยาวชนกรุงเทพฯ เคยรู้จักแฟนเป็นครั้งแรกในพื้นที่เหล่านี้เพียง 6.1% และ 4.1% ตามลำดับ
      
  • กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองที่ประชากรต้องเรียนและทำงานหนัก จนเยาวชนไม่มีเวลาเสี่ยงผจญกับความรัก โดยคนกรุงเทพฯ มีสมดุลการทำงาน-การใช้ชีวิต (work-life balance) แย่ที่สุดเป็นอันดับ 5 จากการสำรวจเมืองใหญ่ 100 แห่งทั่วโลก

เราทุกคนคู่ควรที่จะรักและถูกรัก แต่จะมีโอกาสได้พบและสมหวังในรักจริงหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสังคมนานัปการ หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญคือสภาพของ ‘เมือง’ ที่เราใช้ชีวิตว่าเอื้อให้เราตกหลุมรักใครสักคนได้มากแค่ไหน? หากเมืองนั้นของคุณคือ ‘กรุงเทพฯ’ ก็น่าเศร้าที่ต้องเล่าว่านครหลวงแห่งนี้ช่างไม่เอื้อให้ต้นรักเติบโตงอกงามเสียเลย กรุงเทพฯ เป็นเมืองของเทพองค์ไหนก็ไม่แน่ใจ – พระอินทร์ที่สั่งสร้าง พระวิษณุกรรมที่เนรมิตสร้าง หรือพระนารายณ์ที่อวตารมาสถิต – แต่คงไม่ใช่กามเทพแน่ๆ

ถ้าคุณไม่ได้กำลังใช้เวลาในค่ำคืนวันวาเลนไทน์กับคนรักที่ไหน (เพราะอาจจะไม่มี) คิด for คิดส์ โดยความร่วมมือระหว่าง 101 PUB กับ สสส. ชวนมาสำรวจหัวใจ-เช็กสถานะความโสดของเยาวชนอายุ 15-25 ปีในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ผ่านผลสำรวจเยาวชน 2,709 คนในพื้นที่นี้ และ 19,237 คนทั่วประเทศ[1]ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, เจณิตตา จันทวงษา, และ สรวิศ มา, … Continue reading พร้อมร่วมขบคิดว่าทำไมเยาวชนกรุงเทพฯ ถึงโสดกันเสียส่วนใหญ่? ทำไมมหานครแห่งนี้ไม่เอื้อให้พบรักดีๆ ได้เท่าใดนัก?

กรุงเทพฯ = ศาลาเยาวชนโสด-เหงา-เศร้า

53.5% ของเยาวชนกรุงเทพเป็นโสด

กรุงเทพฯ เปรียบเสมือน ‘ศาลาเยาวชนโสด’ ขนาดใหญ่ ผลสำรวจพบว่า เยาวชนในมหานครแห่งนี้ถึง 53.5% เป็นโสด มิได้คบหาแฟนหรือคนรักแม้แต่คนเดียวในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เป็นสัดส่วนสูงกว่าเยาวชนทั้งในและนอกเขตอำเภอเมืองในต่างจังหวัด (50.0% และ 46.8% ตามลำดับ) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ (48.1%)

สัดส่วนเยาวชนโสดในกรุงเทพฯ นี้มีแนวโน้มมากขึ้นตามระดับรายได้ครัวเรือน ระดับการศึกษา และดัชนีมวลกายของเยาวชนที่เพิ่มขึ้น โดยเยาวชนจากครัวเรือนที่รวยที่สุด 20% แรกเป็นโสดราว 58.6% สูงกว่าครัวเรือนที่จนที่สุด 20% แรกที่ 48.2% เยาวชนซึ่งกำลังเรียนหรือเรียนจบสูงสุดระดับปริญญาตรีเป็นโสด 58.0% สูงกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ 37.7% และเยาวชนที่มีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์อ้วนเป็นโสด 78.3% สูงกว่าเกณฑ์ผอมที่ 48.7%

แนวโน้มข้างต้นมีทิศทางสอดคล้องกับเยาวชนในต่างจังหวัด แต่ประเด็นที่แตกต่างกันระหว่างทั้งสองพื้นที่คือ เยาวชนกรุงเทพฯ กลุ่มชายหญิงกับกลุ่ม LGBTQ+ จะเป็นโสดในสัดส่วนเท่าๆ กัน แต่ในต่างจังหวัด กลุ่ม LGBTQ+ จะเป็นโสดมากกว่ากลุ่มชายหญิงอย่างมีนัยสำคัญ

แน่นอนว่า ‘ความโสดไม่จำเป็นต้องทำร้ายใคร’ แต่ผลสำรวจพบว่า เยาวชนโสดในกรุงเทพฯ กว่า 35.8% รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากถึงมากที่สุด เป็นสัดส่วนสูงกว่าเยาวชนที่มีแฟนแล้วที่ 26.7% ยิ่งไปกว่านั้น มีเยาวชนโสดเพียง 33.0% เท่านั้นที่มีความสุขในชีวิตมากถึงมากที่สุด เป็นสัดส่วนต่ำกว่าเยาวชนที่มีแฟนแล้วเล็กน้อยที่ 35.8% เรียกได้ว่านอกจากกรุงเทพฯ จะเป็น ‘ศาลาเยาวชนโสด’ แล้ว ยังเป็น ‘ศาลาเยาวชนเหงา-เศร้า’ อีกด้วย

เยาวชนกรุงเทพฯ ขาดพื้นที่-เวลาหารัก

เยาวชนแทบไม่มีโอกาสพบรักนอกสถานศึกษา-โลกออนไลน์

หนึ่งในสาเหตุที่เยาวชนกรุงเทพฯ จำนวนมาก (ต้อง) เป็นโสดคือ มหานครแห่งนี้ช่างไม่เอื้อต่อการพบรักเอาเสียเลย

จากผลสำรวจ เยาวชนกรุงเทพฯ ที่เคยมีแฟน เริ่มรู้จักกันเป็นครั้งแรกจากสถานศึกษา 58.9%, จากอินเทอร์เน็ต 33.5%, จากละแวกบ้านหรือชุมชนของตนเอง 6.1%, และจากพื้นที่สาธารณะเพียง 4.1% ในกลุ่มที่ทำงานเต็มเวลาแล้วก็มีแค่ 10.3% เท่านั้นที่เคยมีแฟนซึ่งเจอกันในที่ทำงาน หมายความว่าพวกเขาแทบไม่มีโอกาสพบรักนอกสถานศึกษาและโลกออนไลน์ เรื่องราวการพบรักกับเพื่อนสมัยเด็กที่เริ่มรู้จักกันแถวบ้านแบบในอนิเมะญี่ปุ่น หรือกับคนแปลกหน้าที่เจอในพิพิธภัณฑ์-หอศิลป์แล้วคุยเรื่องงานศิลปะกันถูกคอแบบในหนังยุโรป แทบจะเป็นได้เพียงจินตนาการสำหรับเยาวชนกรุงเทพฯ

ส่วนหนึ่งเพราะกรุงเทพฯ ขาดพื้นที่สาธารณะที่ใกล้และมีคุณภาพให้เยาวชนได้พบปะและพบรักกัน ทุกวันนี้ เยาวชนกรุงเทพฯ ถึง 33.5% ไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้อย่างห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หอแสดงดนตรี สวนสัตว์-สวนพฤกษศาสตร์ หรือสนามกีฬาเลย ด้วยอุปสรรคสำคัญที่สุดคือพื้นที่เหล่านั้นตั้งอยู่ไกลและเดินทางยากเกินไป (41%)[2]สรวิศ มา, “เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ให้เยาวชนไทยเข้าถึงจริง,” คิด for … Continue reading

นอกจากนี้ ผังเมือง การเน้นสร้างบ้านไกลใจกลางเมืองในรูปแบบที่ทำให้ผู้อาศัยต่างคนต่างอยู่[3]ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์, “บ้าน(เช่า)มั่นคงสำหรับทุกคน: … Continue reading รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ทั่วถึงและไร้คุณภาพ[4]ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์, “‘มอเตอร์ไซค์’ … Continue reading ก็ไม่เอื้อให้เยาวชนได้เจอและทำกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ลองนึกภาพตามว่า ถ้ามีรถเมล์ในระยะเดินจากหน้าบ้านคุณ เป็นรถที่เร็ว ตรงเวลา-คาดหมายได้ สภาพดี และค่าโดยสารถูก บางทีคุณอาจจะไปเรียนด้วยรถเมล์นั้น และตกหลุมรักใครสักคนที่นั่งรถเมล์เที่ยวเดียวกันเป็นประจำก็ได้

อีกส่วนหนึ่ง กรุงเทพฯ บีบให้เยาวชนต้องเรียนและทำงานอย่างหนักจนไม่มีเวลาว่างให้ ‘ใช้ชีวิต’ และเสี่ยงผจญกับความรัก ผลการศึกษาเมืองใหญ่ 100 แห่งทั่วโลกในปี 2022 พบว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีประชากรทำงานหนักเกินไปมากที่สุดเป็นอันดับ 7 ของโลก และมีสมดุลการทำงาน-การใช้ชีวิต (work-life balance) แย่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก[5]“Cities with the Best Work-Life Balance 2022,” Kisi, 2022, https://www.getkisi.com/work-life-balance-2022 (accessed February 14, 2023). อุปสรรคสำคัญที่สุดอันดับสองที่ทำให้เยาวชนกรุงเทพฯ ไม่ได้ไปแหล่งเรียนรู้ก็เพราะพวกเขาไม่มีเวลา[6]สรวิศ มา, “เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ให้เยาวชนไทยเข้าถึงจริง.”

เยาวชนกรุงเทพฯ ต้องดิ้นรนทนทุกข์แซงหน้าชาวโลกเช่นนี้ เนื่องจากกรุงเทพฯ และประเทศไทยขาดสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งประกันคุณภาพชีวิตของทุกคนได้ดีเพียงพอ ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่เอ่ยถึงไปแล้วอย่างเรื่องสร้างบ้านไกลใจกลางเมือง ไกลที่เรียน-ที่ทำงาน-ที่สาธารณะ และระบบคมนาคมขนส่งด้อยพัฒนา ก็ทำให้เยาวชนหมดเปลืองเวลา – และพลังชีวิตที่จะไปพบรัก – ไปกับการเดินทาง

เราเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้รักงอกงามกว่านี้ได้

แม้การไร้รักอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่เมืองก็ควร ‘เอื้อ’ ให้เยาวชนที่ต้องการหรือยินดีจะพบรัก ได้รับโอกาสนั้นอย่างดีที่สุด

อย่าลืมว่าไม่ว่าเราจะเห็นกรุงเทพฯ – ศาลาเยาวชนโสด-เหงา-เศร้าแห่งนี้ – เป็นเมืองของเทพองค์ไหน ถึงที่สุดแล้ว กรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองของ ‘ประชาชน’ ที่ประชาชนเท่านั้นจะเป็นผู้ส่งเสียงและมีส่วนร่วมผลักดันให้รัฐบาลทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นสร้างความเปลี่ยนแปลง

เราเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เอื้อต่อความรักของเยาวชนกว่านี้ได้

References

References
1 ฉัตร คำแสง, วรดร เลิศรัตน์, เจณิตตา จันทวงษา, และ สรวิศ มา, ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ 2022, 22 สิงหาคม 2022, https://kidforkids.org/youth-survey-2022/ (เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2023).
2 สรวิศ มา, “เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ให้เยาวชนไทยเข้าถึงจริง,” คิด for คิดส์ ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว, 27 กรกฎาคม 2022, https://kidforkids.org/learning-space-for-youth/ (เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2023).
3 ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์, “บ้าน(เช่า)มั่นคงสำหรับทุกคน: ทางแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในเขตเมือง,” 101 Public Policy Think Tank, 31 มีนาคม 2022, https://101pub.org/urban-adequate-housing-for-all/ (เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2023).
4 ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์, “‘มอเตอร์ไซค์’ เส้นเลือดเลี้ยงชีวิตกรุงเทพฯ ที่ถูกมองข้าม: 3 ข้อเสนอนโยบายเพื่อผู้ขับขี่,” 101 Public Policy Think Tank, 9 พฤษภาคม 2022, https://101pub.org/bangkok-motorcycle-policies/ (เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2023).
5 “Cities with the Best Work-Life Balance 2022,” Kisi, 2022, https://www.getkisi.com/work-life-balance-2022 (accessed February 14, 2023).
6 สรวิศ มา, “เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ให้เยาวชนไทยเข้าถึงจริง.”

วิจัย/เขียน

วรดร เลิศรัตน์

สร้างสรรค์ภาพ

วนา ภูษิตาศัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ 2022

ชุดข้อมูลผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ ซึ่งสำรวจความรับรู้ คุณค่า และทัศนคติของเยาวชนไทยอายุ 15-25 ปี จากกลุ่มตัวอย่าง 19,237 คนทั่วประเทศ

เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ให้เยาวชนไทยเข้าถึงจริง

คิด for คิดส์ ชวนสำรวจพฤติกรรมการไปแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนไทย ผ่านผลสำรวจเยาวชน (Youth Survey 2022) และนโยบายสำหรับแหล่งเรียนรู้ควรปรับทิศทางไปอย่างไร

เปิดสถิติเรียนพิเศษนักเรียนไทย: เมื่อโรงเรียนไม่อาจพาเด็กไปถึงฝั่ง

คิด for คิดส์สำรวจสถิติการเรียนพิเศษของนักเรียนไทย จำนวน 12,999 คน จากข้อมูลการสำรวจเยาวชนไทย 2022 ที่มุ่งสำรวจความรับรู้ คุณค่า และทัศนคติของเยาวชนไทย ซึ่งรวมไปถึงประเด็นด้านการศึกษาและการเรียนพิเศษ

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2024 kidforkids.org | All rights reserved.