ตลอด 2 ปีที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดโควิด รัฐบาลสั่งปิดและจำกัดการเข้าถึงสถานที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาด สถานศึกษาทุกรูปแบบตั้งแต่ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน และมหาวิทยาลัย เป็นสถานที่ลำดับแรก ๆ ที่ถูกสั่งปิดและกลับมาเปิดเป็นลำดับท้าย ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อควบคุมโรคคือ ภาวะการเรียนรู้ถดถอยครั้งใหญ่ (learning loss) ของเด็กและเยาวชนไทย ทั้งการสูญเสียความรู้ที่เคยร่ำเรียนมา เสียโอกาสพัฒนาทักษะใหม่ตามช่วงวัยที่เหมาะสม ประสิทธิภาพการเรียนรู้ลดลงเมื่อต้องเรียนออนไลน์ และเด็กบางกลุ่มอาจต้องหยุดเรียนกลางคัน พัฒนาการที่พวกเขาสูญเสียไปในช่วงเวลานี้ย่อมส่งผลต่อศักยภาพการเรียนรู้ ศักยภาพในการหารายได้ และศักยภาพที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพในระยะยาว
มาตรการปิดสถานศึกษาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดถูกประกาศใช้ครั้งแรกในเดือนมีนาคม ปี 2020 เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยในระยะแรกเป็นการสั่งปิดทุกพื้นที่ทั่วประเทศ[1] ก่อนจะกลับมาเปิดเป็นปกติในไตรมาส 4/2020 เมื่อการแพร่ระบาดชะลอตัว
ที่มา: องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) (2022)
รัฐบาลได้ออกคำสั่งปิดสถานศึกษาอีกครั้งเมื่อการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1/2021 โดยเป็นการสั่งปิดปิดสถานศึกษาในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด[2] ยาวนานตลอด ปี 2021 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2022 หากนับตั้งแต่ปี 2020 จนถึงปัจจุบัน สถานศึกษาทุกพื้นที่ถูกปิดทั้งหมด 16 สัปดาห์ และถูกปิดบางพื้นที่ 53 สัปดาห์[3]
การปิดภาคเรียนที่ยาวนานส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของนักเรียนโดยตรง แม้จะมีการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนเป็นการเรียนออนไลน์หรือทางไกล แต่ก็มีข้อจำกัดและอุปสรรคทางการเรียนรู้มากกว่าการเรียนปกติ พัฒนาการของเด็กและเยาวชนจึงล่าช้า ถดถอย และบกพร่องมากยิ่งขึ้น กว่าช่วงหยุดเรียนตามปกติ ซึ่งเห็นผลชัดใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านวิชาการความรู้ โดยเฉพาะทักษะอ่าน-เขียน และการคำนวณ 2) ด้านพัฒนาการ เช่น ทักษะทางร่างกายและความสามารถในการจดจำ 3) ด้านอารมณ์และสังคม ขาดโอกาสปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ขาดทักษะการสื่อสาร และมีความเครียดมากยิ่งขึ้น
“ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกชีวิตตกอยู่ในวิกฤตแห่งโรคระบาด…ฉันต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ บนอุปกรณ์สื่อสารที่ตนเองมี มันอาจจะดูทันสมัย สะดวกสบาย และง่ายต่อการเข้าถึง แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น การเรียนที่เป็นการสื่อสารทางเดียว ภาระงานที่มากมายกองเป็นภูเขาสูงที่ทำเท่าใดก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีวันจบ ตรงข้ามกับความรู้ที่ได้กลับมีเพียงน้อยนิด […] ทำให้ฉันและเด็ก ๆ อีกหลายคนรู้สึกท้อแท้ และไม่เข้าใจว่าพวกเราจะเสียเวลาเรียนไปเพื่ออะไร ในเมื่อการเรียนในตอนนี้ไม่สามารถตอบโจทย์ที่พวกฉัน หรือสังคมคาดหวังจากพวกฉันเลยแม้แต่น้อย…พวกฉันจะต้องเสียเวลา เสียสุขภาพจิตไปเพื่อสิ่งใด แต่สุดท้ายพวกฉันก็ต้องจำใจเรียนต่อไป…” – พรนัชชา แซ่ตั้ง อายุ 17 ปี
การเรียนการสอนในห้องเรียนที่หายไปและการหยุดเรียนเป็นระยะเวลานานทำให้พัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนหยุดชะงัก ล่าช้า และถดถอยลง องค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประเมินว่า เด็กและเยาวชนกว่า 1.6 พันล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะสูญเสียการเรียนรู้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกลุ่มรายได้ต่ำและปานกลาง[4]
หลายประเทศได้ประเมินการเรียนรู้ที่นักเรียนสูญเสียไปจากการไม่ได้ไปโรงเรียน พบว่ายิ่งระยะเวลาปิดโรงเรียนยาวนาน ความสูญเสียทางการเรียนรู้ของผู้เรียนก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย ประเทศเม็กซิโกที่ปิดโรงเรียนไปเป็นเวลา 48 สัปดาห์ นักเรียนมีการเรียนรู้ถดถอยลงมากถึง 1.7 ปีการศึกษา หรือกระทั่งประเทศที่ระบบการศึกษามีคุณภาพสูงอย่างประเทศนอร์เวย์ก็ยังเกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ไป 0.7 ปีการศึกษา เมื่อปิดโรงเรียนไปเพียง 7 สัปดาห์
ภาวะการเรียนรู้ที่สูญเสียจากการปิดโรงเรียนในต่างประเทศ
ประเทศ ระยะเวลาปิดโรงเรียน (สัปดาห์) ความสูญเสียทางการเรียนรู้โดยเฉลี่ย ( SD) เทียบจำนวนปีการศึกษาที่สูญหาย เม็กซิโก 48 -0.55 1.7 บราซิล 26 -0.32 1.0 นอร์เวย์ 7 -0.24 0.7 แอฟริกาใต้ 22 -0.22 0.6 สหรัฐอเมริกา 23 -0.14 0.4 รัสเซีย 8-20 -0.27 0.8 จีน 7 -0.22 0.6
หมายเหตุ: 0.33 SD เท่ากับ 1 ปีการศึกษา
ที่มา: World Bank (2021)
สำหรับประเทศไทย มีการประเมินภาวะถดถอยทางการเรียนรู้อันเนื่องจากการปิดโรงเรียนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดในเด็กบางกลุ่มแล้วเช่นกัน งานวิจัยโดยสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าการปิดโรงเรียน 1 เดือน ส่งผลให้เด็กปฐมวัยเกิดภาวะถดถอยอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกันที่สามารถไปโรงเรียนได้ปกติ โดยทักษะด้านวิชาการถดถอยลงราวร้อยละ 99 และทักษะด้านความจำใช้งาน (working memory) ถดถอยลงร้อยละ 98[5] อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบหลักฐานว่าเกิดภาวะถดถอยด้านพฤติกรรม (non-cognitive skills) เช่น ทักษะทางอารมณ์และทักษะการเข้าสังคม เป็นต้น
การประเมินภาวะถดถอยเชิงผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการของผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ซึ่งใช้วิธีให้ผู้เรียนประเมินความรู้ในวิชาพื้นฐานด้วยตนเองผ่านชุดคำถามแบบปลายปิด พบว่า ภาวะถดถอยทางความรู้เกิดขึ้นกับผู้เรียนทุกระดับชั้น ความรู้ใน 5 รายวิชาหลักถดถอยลงเฉลี่ยร้อยละ 35.3 และวิชาที่ถดถอยมากที่สุดในแทบทุกระดับชั้นคือ ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ และสังคมศึกษาตามลำดับ[6]
ที่มา: สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2022)
ช่วงวัยเรียนเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เด็กและเยาวชนจะได้พัฒนาความรู้และทักษะด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างฐานที่แข็งแรงในการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่หากการเรียนรู้ในช่วงเวลานี้ล่าช้าลงหรือถูกหยุดระหว่างทางจะทำให้พื้นฐานอ่อนแอ ศักยภาพในต่อยอดความรู้ ทักษะทำงาน และการหารายได้ตลอดชีวิตก็ยิ่งน้อยลง
ช่วงวัย 7 ปีแรกนับเป็น ‘เวลาทอง’ หรือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดในการเสริมสร้างพัฒนาการ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Functions: EF) ที่ควบคุมกระบวนการคิด การรับรู้ การยับยั้งชั่งใจ และความจำ ทักษะเหล่านี้สามารถพัฒนาได้ดีเมื่อเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและได้รับประสบการณ์การเรียนรู้อย่างเต็มที่ เช่น มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำกิจกรรมที่กระตุ้นความคิด และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในห้องเรียน การไม่ได้ไปโรงเรียนเป็นเวลานานจึงส่งผลให้การพัฒนาทักษะ EF ของเด็กเล็กช้าลงหรือบกพร่อง กระทบกับความสามารถในการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
เช่นเดียวกับเด็กช่วงวัยอื่นก็มีแนวโน้มที่จะเรียนรู้ได้ช้าลงจนกระทั่งเติบโต จนส่งผลให้ความสามารถในการหารายได้ทั้งชีวิตต่ำลง ธนาคารโลกประเมินว่า ช่วงเวลาการเรียนรู้ที่สูญเสียไปจากการปิดโรงเรียน ทำให้เด็กทั่วโลกสูญเสียรายได้ทั้งชีวิตคิดเป็นมูลค่าราว 850,000 บาท[7] ในกรณีของประเทศไทยที่ใช้มาตรการปิดโรงเรียนอย่างเป็นวงกว้างและยาวนานกว่าหลายประเทศ มูลค่ารายได้ทั้งชีวิตที่เด็กและเยาวชนไทยต้องสูญเสียไปก็อาจสูงกว่าที่ธนาคารโลกประเมินไว้
ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบของวิกฤตโรคระบาดที่ทำให้รายได้ครัวเรือนลดลงยังบีบให้เด็กและเยาวชน ต้องหยุดเรียนกลางคัน (drop-out) ในปีการศึกษา 2021 มีเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวน 238,707 คน[8] ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษายังชี้ว่า ในภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2021 มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 1,244,591 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนสถานการณ์โควิดถึงร้อยละ 75[9] และเป็นประชากรเด็กกลุ่มใหญ่ที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในลำดับถัดไป โดยนักเรียนเหล่านี้อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่อคนต่อเดือนเฉลี่ยเพียง 1,332 บาทเท่านั้น
จำนวนนักเรียนยากจนพิเศษรายปี ปีการศึกษา 2018-2021 (คน)
ที่มา: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (2022)
การปิดโรงเรียนแม้เป็นเพียงเวลาสั้น ๆ ก็สร้างความสูญเสียทางการเรียนรู้มหาศาลให้กับเด็กและเยาวชนไทย หากเกิดโรคระบาดอีกครั้งในอนาคต รัฐบาลควรดำเนินมาตรการนี้อย่างจำกัดที่สุด เฉพาะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างและรุนแรงเท่านั้น หรืออาจให้อำนาจท้องถิ่นประเมินและพิจารณาปิดโรงเรียนในพื้นที่ด้วยตนเอง แทนการออกคำสั่งปิดทุกพื้นที่โดยรัฐบาล
สำหรับแนวทางฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอยของเด็กไทย ในขั้นแรกควรเร่งให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนมากที่สุด โดยเฉพาะการติดตามเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ตลอดจนให้การสนับสนุนด้านทุนทรัพย์แก่เด็กกลุ่มนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเป็นสาเหตุสำคัญที่เด็กส่วนใหญ่ต้องหยุดเรียนกลางคัน การสนับสนุนทางการเงินเพื่อตัดวงจรการหลุดออกจากระบบการศึกษาเช่นนี้ สามารถใช้แนวทางการให้ความช่วยเหลืออย่างมีเงื่อนไข ซึ่งสามารถได้รับเงินความช่วยเหลือที่ใหญ่พอสำหรับจุนเจือครอบครัว ถ้าหากเด็กหรือเยาวชนเปราะบางสามารถเข้าเรียนได้มากตามเกณฑ์ที่กำหนด
ที่สำคัญคือ ควรปฏิรูปกระบวนการเรียนในห้องเรียนให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุดในจำนวนชั่วโมงเรียนปกติเพื่อชดเชยความรู้ที่หายไป แทนการเพิ่มชั่วโมงเรียนในวันหยุดหรือช่วงปิดภาคเรียน เนื่องจากเวลาเรียน 8 ชั่วโมงต่อวันของนักเรียนไทยในปัจจุบันไม่ได้สร้างผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่มีคุณภาพมากนัก การเพิ่มชั่วโมงเรียนภายใต้วิธีการเรียนการสอนแบบเดิมจะยิ่งสร้างความเครียดและกดดันให้กับเด็กมากขึ้น และเพิ่มการสูญเสียโอกาสในการช่วยครอบครัวหารายได้ของกลุ่มเด็กเปราะบาง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สร้างความเสี่ยงทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนย่ำแย่ลง
ทั้งนี้ การปรับกระบวนการเรียนสามารถทำได้หลากหลายวิธี ทั้งการทำห้องเรียนที่เน้นการถกเถียง แลกเปลี่ยน และทำกิจกรรม มากกว่าการถ่ายทอดเนื้อหาโดยผู้สอนเพียงอย่างเดียว รวมถึงลดทอนรายวิชาที่ไม่จำเป็นและแทนที่ด้วยวิชาที่เสริมทักษะจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกและสังคมปัจจุบัน เช่น ทักษะการจัดการอารมณ์และความเครียด การคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา และการสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ควรเริ่มต้นด้วยการสนับสนุนด้านองค์ความรู้กับครูผู้สอนก่อน
ท้ายที่สุด รัฐบาลควรรับรองสถานะแหล่งการเรียนรู้ทางเลือกและพิจารณานำระบบสะสม หน่วยกิตมาใช้ เพื่อกระจายช่องทางเสริมสร้างความรู้ออกจากสถานศึกษาในระบบ และเพื่อให้แหล่งเรียนรู้นอกระบบเหล่านี้เป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กที่ไม่ประสงค์เรียนในระบบ โดยอาจสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนและท้องถิ่น เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้ตอบรับความสนใจที่หลากหลาย และตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ
รายการอ้างอิง
[1] กระทรวงศึกษาธิการ, ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ , 17 มีนาคม 2020, https://moe360.blog/2020/03/17/ศธ-สั่งสถานศึกษาทั่วประ/.
[2] กระทรวงศึกษาธิการ, ประการศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ , 2 มกราคม 2021, https://moe360.blog/2021/01/02/closed-special-reason/.
[3] UNESCO, “Thailand,” Global monitoring of school closures caused by covid-19 , https://covid19.uis.unesco.org/global-monitoring-school-closures-covid19/country-dashboard/ (accessed July 10, 2022).
[4] UNICEF, The State of the Global Education Crisis , 2021, https://www.unicef.org/media/111621/file/ TheStateoftheGlobalEducationCrisis.pdf.pdf (accessed July 12, 2022).
[5] สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบออนไลน์และการขยายผลการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย สำหรับประเทศไทย (Thailand School Readiness Survey: Phase 4) , 2022.
[6] สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา, รายงานผลการศึกษาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานการณ์โควิด-19: สภาพการณ์ บทเรียน และแนวทางพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ , 2022, http://backoffice.onec.go.th/uploads/Book/1932-file.pdf (เข้าถึงเมื่อ 12 กรกฎาคม 2022).
[7] UNICEF, The State of the Global Education Crisis .
[8] “สถิติการศึกษาของประเทศไทย,” สำนักงานเลขาธิการการศึกษา , 2021.
[9] “สถิตินักเรียนยากจนพิเศษ ปีการศึกษา 2018-2021,” กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา , 2021.