ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และเทคโนโลยีที่รวดเร็วส่งผลให้คนต่างรุ่นมีคุณค่า ทัศนคติ และความคิดขัดแย้งกันมากขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งคนต่างรุ่นในครอบครัวเดียวกัน ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัวจำนวนมาก และเป็นเหตุให้ครอบครัวไม่ใช่พื้นที่สบายใจที่สามารถสนับสนุนพัฒนาการและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนได้เท่าที่ควร
เด็กและเยาวชนจำนวนมากมีความคิดขัดแย้งกับผู้ใหญ่ในครอบครัวของตนเอง จากผลสำรวจของ คิด for คิดส์ ในเดือนพฤษภาคม 2022 เยาวชนอายุ 15-25 ปีร้อยละ 30.8 รายงานว่าคิดขัดแย้งกับครอบครัวค่อนข้างมากถึงมากที่สุดในเรื่องการศึกษาและการทำงาน ร้อยละ 29.6 ในเรื่องชีวิตประจำวัน ร้อยละ 25.5 ในเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ร้อยละ 24.1 ในเรื่องความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ร้อยละ 17.5 ในเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนและคนรัก และร้อยละ 16.2 ในเรื่องศาสนาและจริยธรรม
ในเรื่องการศึกษาและการทำงานซึ่งขัดแย้งมากที่สุด เยาวชนมักต้องการเรียนและทำงานในสาขาที่ตรงตามความชอบ หรือใช้เวลาค้นหาความฝันของตนเองอย่างอิสระ แต่ผู้ปกครองกลับบีบบังคับให้เรียนและทำงานในสาขาที่เชื่อว่าค่าตอบแทนสูง ตำแหน่งงานมั่นคง และสังคมให้คุณค่า ยิ่งไปกว่านั้น เยาวชนยังมักให้ความสำคัญกับงานอดิเรก การพักผ่อน และการรักษาสุขภาพจิต ไม่ทุ่มเทชีวิตทั้งหมดกับการศึกษาและการทำงาน อีกทั้งใช้วิธีการที่ประหยัดเวลา สะดวก และไม่ยึดติดกับแบบแผนที่ผู้ปกครองคาดหวัง[1]
ความขัดแย้งทางความคิดในเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง และเรื่องศาสนาและจริยธรรม มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นตามช่วงอายุของเยาวชนที่เพิ่มขึ้น โดยในเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง สัดส่วนของเยาวชนที่รายงานว่าคิดขัดแย้งกับครอบครัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.3 ในกลุ่มอายุ 15-18 ปี เป็นร้อยละ 44.9 ในกลุ่มอายุ 23-25 ปี หรือกว่าหนึ่งเท่าตัว ขณะที่ในเรื่องชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ตลอดจนความสัมพันธ์กับเพื่อนและคนรัก มีแนวโน้มขัดแย้งรุนแรงที่สุดในช่วงอายุ 19-22 ปี ก่อนจะลดลงในช่วงอายุ 23-25 ปี
เยาวชนในครัวเรือนข้ามรุ่นมีแนวโน้มคิดขัดแย้งกับผู้ใหญ่ในครอบครัวมากกว่าในครัวเรือนพ่อแม่ลูก ทั้งในเรื่องชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ความสัมพันธ์กับเพื่อนและคนรัก และการศึกษาและการทำงาน
สัดส่วนของเยาวชนที่รายงานว่าคิดขัดแย้งกับผู้ใหญ่ในครอบครัวค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
แยกตามประเด็นและกลุ่มอายุ
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ (2022)
สัดส่วนของเยาวชนที่รายงานว่าคิดขัดแย้งกับผู้ใหญ่ในครอบครัวค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
แยกตามประเด็นและโครงสร้างครอบครัว
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ (2022)
เยาวชนอายุ 15-25 ปีร้อยละ 23.2 รายงานว่าความขัดแย้งทางความคิดเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัว มากกว่าความยากจน (ร้อยละ 15.2) การไม่มีเวลาให้กัน (ร้อยละ 11.8) ความสนใจที่แตกต่างกัน (ร้อยละ 11.3) การไม่ได้อยู่ร่วมกัน (ร้อยละ 7.4) และความรุนแรงในครอบครัว (ร้อยละ 2.1) ตามผลสำรวจของ คิด for คิดส์
สัดส่วนของเยาวชนที่รายงานว่าความขัดแย้งทางความคิดเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น จากร้อยละ 19.5 ในกลุ่มอายุ 15-18 ปี เป็นร้อยละ 38.1 ในกลุ่มอายุ 23-25 ปี เพิ่มขึ้นตามระดับรายได้ครัวเรือนที่สูงขึ้น จากร้อยละ 20.0 ในครัวเรือนควินไทล์ที่ 1 เป็นร้อยละ 38.0 ในควินไทล์ที่ 5 อีกทั้งยังเพิ่มขึ้นตามระดับการศึกษาที่สูงขึ้น จากร้อยละ 20.2 ในกลุ่มที่กำลังหรือสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นร้อยละ 33.6 ในกลุ่มปริญญาตรีขึ้นไป
ในเกือบทุกกลุ่มอายุ กลุ่มควินไทล์รายได้ครัวเรือน และกลุ่มระดับการศึกษา ความขัดแย้งทางความคิดเป็นประเด็นที่มีเยาวชนรายงานว่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัวมากเป็นอันดับหนึ่ง มีเพียงในกลุ่มควินไทล์ที่ 1 และกลุ่มประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เท่านั้นที่ประเด็นดังกล่าวมีเยาวชนรายงานมากเป็นอันดับสอง รองจากความยากจน
สัดส่วนของเยาวชนที่รายงานว่าความขัดแย้งทางความคิดเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัว แยกตามช่วงอายุ ระดับรายได้ครัวเรือน ที่แบ่งเป็นควินไทล์ และระดับการศึกษา
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ (2022)
“ ‘เดี๋ยวนี้หัดเถียงแล้วเนอะ กูอาบน้ำร้อนมาก่อนมึง เชื่อกูนี่!!! กูแม่มึงนะแล้วกูก็ไม่ได้คลอดมึงมาให้มึงมายืนเถียงกูฉอด ๆ ๆ ด้วย ทำตามที่กูบอกมันถึงจะเจริญ เถียงกูแบบนี้นี่แหละมันถึงไม่เจริญกับเขาสักที’
‘แม่หวังดีกับวาฬหรือแม่อยากให้ตัวเองสบายกันแน่’ เด็กน้อยถามออกไปทั้งน้ำต
‘กูคลอดมึงมากูก็ต้องหวังให้มึงดูแลกูมั้ย […] ลูกเนรคุณ กูไม่น่าพลาดมีมึงเลย จะไปตายไหนก็ไป!!!’ […]
สิ่งที่ทุกคนเรียกกันว่าครอบครัว แต่สำหรับวาฬ พวกเราไม่ใช่ครอบครัว เพราะครอบครัวเค้าไม่ทำร้ายกันแบบนี้หรอกใช่มั้ยล่ะ […] ความรู้สึกของเขามันเละจนไม่รู้จะเละยังไงแล้ว จะเล่าให้ใครฟังก็ไม่ได้ เราไม่มีสิทธิมีเสียงเพราะเราแม่งเป็นลูกไงล่ะ เป็นเด็กที่เกิดขึ้นมาเพียงเพราะต้องการให้เราเป็นไม้ประดับบ้านหรือไม่ก็ปลูกเราเพื่อหวังพึ่งร่มเงาจากเราในอนาคต พร้อมกับยัดเยียดความคาดหวังเข้ามาทั้ง ๆ ที่เราไม่เต็มใจ เขาไม่เคยที่จะฟังเราฟังความรู้สึกความต้องการของเราหรอก”
– อทิตยา เทพบำรุง อายุ 17 ปี
ความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นในครอบครัวส่งผลให้เด็กและเยาวชนรู้สึกว่าครอบครัวไม่ใช่พื้นที่สบายใจสำหรับตน จากผลสำรวจของ คิด for คิดส์ กลุ่มเยาวชนที่รายงานว่าความขัดแย้งทางความคิดเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัวมากถึงร้อยละ 21.2 รู้สึกสนิทกับครอบครัวของตนน้อย และร้อยละ 73.1 ไม่ปรึกษาครอบครัวเป็นคนแรกเมื่อประสบปัญหาในชีวิต สัดส่วนดังกล่าวสูงกว่าในกลุ่มเยาวชนที่รายงานว่าไม่มีอุปสรรคใดในครอบครัวถึงร้อยละ 19.1 และร้อยละ 38.8 ตามลำดับ ในแง่นี้ ครอบครัวที่มีความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นจึงมีแนวโน้มสนับสนุนเด็กและเยาวชนได้จำกัดกว่า
ยิ่งไปกว่านั้น เยาวชนที่มีความขัดแย้งทางความคิดเป็นอุปสรรคสำคัญในครอบครัวยังต้องเผชิญความรุนแรงในครัวเรือนมากกว่า โดยร้อยละ 10.1 รู้สึกว่าบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย และร้อยละ 33.0 เคยถูกทำร้ายหรือลงโทษให้ร่างกายเจ็บปวด เป็นสัดส่วนมากกว่าเยาวชนที่ไม่มีอุปสรรคกว่าสองเท่าตัวและสี่เท่าตัวตามลำดับ เยาวชนเหล่านี้ยังเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่า โดยร้อยละ 77.0 รู้สึกเครียดบ่อย เป็นสัดส่วนมากกว่าเยาวชนที่ไม่มีอุปสรรคถึงร้อยละ 36.9 ในกรณีเลวร้ายที่สุด ความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นยังอาจส่งผลให้เด็กและเยาวชนออกจากครอบครัวเพิ่มมากขึ้น
เปรียบเทียบเยาวชนที่รายงานว่าความขัดแย้งทางความคิดเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัว กับเยาวชนที่รายงานว่าไม่มีอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัว
ประเด็นเปรียบเทียบ | เยาวชนที่รายงานว่าความขัดแย้งทางความคิดเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัว | เยาวชนที่รายงานว่าไม่มีอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัว |
รู้สึกสนิทกับครอบครัวน้อย (%) | 21.2 | 2.1 |
เชื่อถือไว้ใจครอบครัวน้อย (%) | 19.2 | 4.6 |
ไม่ปรึกษาครอบครัวเมื่อมีปัญหา (%) | 73.1 | 34.3 |
รู้สึกว่าบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย (%) | 10.1 | 2.9 |
เคยถูกทำร้าย/ลงโทษทางร่างกาย (%) | 33.0 | 6.8 |
รู้สึกเครียดบ่อย (%) | 77.0 | 41.1 |
ที่มา: ผลสำรวจเยาวชนของ คิด for คิดส์ (2022)
ความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นที่ทวีความรุนแรงขึ้นในบริบทสามวิกฤตกำลังบั่นทอนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ส่งผลกระทบต่อความสามารถของครอบครัวในการสนับสนุนเด็กและเยาวชน
รวมถึงสวัสดิภาพและสุขภาวะทางจิตของพวกเขาอย่างมีนัยสำคัญ
ฉะนั้น รัฐบาลจึงควรเร่งเสริมสร้างความเข้าใจและทักษะการอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างรุ่น โดยให้เด็กและผู้ใหญ่มีโอกาสใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น เช่น กำหนดให้เยาวชนต้องเข้าร่วมกิจกรรมบริการสังคมและให้แรงงานมีสิทธิลาเกี่ยวกับบุตร ควบคู่กับปลูกฝังความอดกลั้นและวิธีการสื่อสารข้ามรุ่นที่เหมาะสมแก่เด็กและเยาวชนผ่านระบบการศึกษา ให้ความรู้และฝึกอบรมทักษะการดูแลลูกหลานผ่านกลไกบริการสุขภาพแม่และเด็กและชมรมผู้สูงอายุ ตลอดจนเปิดให้เยาวชนรวมกลุ่มเสนอโครงการเสริมสร้างความเข้าใจและทักษะดังกล่าว เพื่อขอรับงบประมาณไปดำเนินการกับเด็กและผู้ใหญ่ในชุมชนของตนได้
ขณะเดียวกัน รัฐบาลสามารถใช้บริการพื้นฐานเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจภายในครอบครัว เพื่อลดโอกาสที่ผู้ใหญ่จะใช้อำนาจบังคับกดดันลูกหลานและเพิ่มความเท่าเทียมในการพูดคุยจัดการความขัดแย้งในครอบครัว ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งบานปลายจนแตกหักกัน เช่น จัดบริการสุขภาพและการศึกษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและให้เยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไปเข้าใช้บริการได้เอง โอนเงินอุดหนุนและทรัพยากรอื่นให้เยาวชนโดยตรง ตลอดจนส่งเสริมให้เยาวชนทำงานเสริม เพื่อลดการพึ่งพิงทรัพยากรทางบ้าน
นอกจากจัดการสาเหตุแห่งความขัดแย้งแล้ว รัฐบาลยังควรพัฒนากลไกป้องกันและเยียวยาผลกระทบจากความรุนแรงในครัวเรือน โดยยกระดับระบบคุ้มครองเด็กให้เข้าถึงได้ง่าย มีทรัพยากรเพียงพอ และคุ้มครองเด็กได้อย่างทันท่วงทีและยั่งยืน พร้อมทั้งให้ความรู้แก่เด็ก เยาวชน ครู และผู้นำชุมชนเกี่ยวกับระบบคุ้มครองเด็กและวิธีการให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าแก่เด็กที่เผชิญความรุนแรง
รายการอ้างอิง
[1] สรุปความจากการวิเคราะห์เนื้อหาเรื่องเล่าชีวิตและความฝันของเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปีที่ส่งเข้าประกวดในโครงการเรื่องเล่าของ “เด็กสมัยนี้” ซึ่งจัดโดย คิด for คิดส์ (2022)