ตรวจความ(ไม่)พร้อมเลี้ยงดูเด็กเล็กของครัวเรือนไทย ผ่านข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม

ประเด็นสำคัญ

  • อัตราการเกิดยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจนในปี 2024 มีเด็กเกิดใหม่เพียง 462,240 คน ในอีกด้านหนึ่ง จำนวนผู้เสียชีวิตก็ยังคงอยู่ในระดับสูงเกือบ 6 แสนคนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชากรของไทยหดตัวลง 4 ปีติดต่อกัน
  • ครัวเรือนรายได้น้อยที่มีเด็กเล็ก 84.9% กำลังมีหนี้มากกว่าสินทรัพย์ทางการเงิน และ 34.3% มีมูลหนี้รวมกันมากกว่าสินทรัพย์ที่มีโดยรวมถือได้ว่าเป็น ‘ผู้ล้มละลาย’
  • เด็กเล็กไทยเกือบครึ่ง ไม่ได้อยู่ในครอบครัวสมบูรณ์ ที่มีพ่อ-แม่-ลูกพร้อมหน้า เด็กเล็กที่ได้อยู่ในครัวเรือนกับพ่อและแม่มีเพียง 57.5% เท่านั้น อีก 42.5% ต้องอยู่ในครัวเรือนที่ไม่พร้อมหน้ากัน

“เราต้องเตรียมพร้อมให้เด็กๆ มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพื่อปรับตัวให้ทันกับโลกอยู่เสมอ”

“พ่อแม่ยุคใหม่ ต้องปรับตัวให้ทัน AI”

“ยังไงพ่อแม่ก็ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกอยู่เสมอ”

สังคมไทยมีความคาดหวังต่อการเลี้ยงดูเด็กสูงขึ้นเรื่อยๆ ลูกๆ ของคุณพ่อแม่ทั้งหลายจะต้องเกิดและเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ เพียบพร้อมไปด้วยทักษะสำคัญทั้ง hard skills, soft skills และ life skills เพื่อให้อยู่รอดได้ในโลกอนาคตที่ผันผวนเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

ภาครัฐเองก็คาดหวังและเรียกร้องให้คนไทยมีลูกเพิ่มขึ้น เพื่อ ‘ช่วยชาติ’ ในวันที่เด็กเกิดน้อย และการเข้าสู่สังคมสูงวัย

สังคมมีความคาดหวังสูงขึ้น…แต่ไม่มีใครให้ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น

ในยุคที่สังคมและรัฐเรียกร้องให้การเป็นพ่อแม่ต้องทุ่มเทลงทุนมากขึ้น สังคมกลับกำลังมีความช่วยเหลือเกื้อกูลกันน้อยลง ขณะที่รัฐเองก็กำลังพูดเรื่องนี้แต่ไม่ได้ทำอะไรเพื่อช่วยในการเลี้ยงดูเด็กเพิ่มเติม ความช่วยเหลือของรัฐก็ยังคงเหมือนเดิม เป็นต้นว่าการ ‘ลงทุน’ กับลูกยังสามารถลดหย่อนภาษีได้เพียงคนละ 30,000 บาทมาตั้งแต่ปี 2017 และสวัสดิการในการเลี้ยงดูเด็กทั้งตัวเงินและสิทธิ์การลา ก็ยังคงไม่ถูกยกระดับให้สอดคล้องต่อความคาดหวังดังกล่าว แต่ในเวลาเดียวกันนี้ รัฐกลับเพิ่มความช่วยเหลือทางภาษีสำหรับการ ‘ลงทุน’ ในตลาดเงินตลาดทุน (เพื่อพยุงไม่ให้ตัวเลขดัชนีหุ้นไทยลดลงมากจนเกินไป) จากที่เคยลดหย่อนได้สูงสุดรวมปีละ 500,000 บาท ก็ได้กลายเป็น 1,400,000 บาทในปี 2025

เมื่อความคาดหวังไม่ได้มาพร้อมแรงสนับสนุนก็แปรเปลี่ยนเป็นแรงกดดันต่อพ่อแม่ที่ต้องคอยประเคนสิ่งต่างๆ ให้ลูก แต่ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยไม่ได้มีรายได้สูงนัก ทั้งพ่อและแม่ต่างต้องทำงานมากขึ้นกว่าคนยุคก่อน สวนทางกับคู่มือสอนเลี้ยงลูกที่ต่างบอกว่าเราต้องมี ‘เวลา’ ให้ลูกเพิ่มขึ้นถึงจะเลี้ยงดูได้ดี

ท่ามกลางความคาดหวังและภาระในการเลี้ยงดูลูกของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) โดยความร่วมมือของ สสส. และ 101 PUB ชวนสำรวจความ(ไม่)พร้อมดูแลเด็กเล็กของครัวเรือนไทย ท่ามกลางความท้าทายของโลกและความคาดหวังที่เด็กจะต้องโตมา ‘แบกสังคมไทย’ ผ่านข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2566 (SES 2023) ซึ่งเป็นข้อมูลใหม่ล่าสุด

เด็กไทยเกิดน้อย ประชากรหดตัว 4 ปีซ้อน

เมื่อปี 2021 เกิดความฮือฮาขึ้นในสังคมไทยเพราะเป็นปีแรกที่มีจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าผู้เสียชีวิต ซึ่งหมายความว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีประชากรลดลง ในเวลานั้นคนจำนวนมากประเมินว่าเป็นปัจจัยชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ขณะที่อัตราการเกิดก็ทยอยลดลงต่อเนื่อง

3 ปีผ่านไป แนวโน้มดังกล่าวก็ยังไม่เปลี่ยนไป เพราะอัตราการตายที่เคยคิดว่าจะลดลงเมื่อโควิด-19 จางหายก็กลับไม่ลดลง แต่อัตราการเกิดยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจนในปี 2024 มีเด็กเกิดใหม่เพียง 462,240 คน ในอีกด้านหนึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตก็ยังคงอยู่ในระดับสูงเกือบ 6 แสนคนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชากรของไทยหดตัวลง 4 ปีติดต่อกัน[1]สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง

การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ทำให้เด็กเล็กในวันนี้ (ที่กลายเป็นวัยแรงงานในวันหน้า) จะต้องช่วยกัน ‘แบก’ สังคมไทยมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อดูอัตราการพึ่งพิงของประชากรในปี 2025 วัยแรงงาน 100 คน จะต้องดูแลวัยเด็กประมาณ 22 คน และผู้สูงวัย 24 คน รวมต้องดูแลคนอื่น 46 คน แต่ในปี 2040 วัยแรงงานในอนาคต 100 คน จะดูแลเด็ก 21 คน และผู้สูงวัย 43 คน รวมต้องดูแลคนอื่นมากถึง 64 คน การดูแลดังกล่าวนี้อาจเป็นการดูแลคนในครอบครัวของตัวเอง ที่วัยแรงงานจะต้องหารายได้เพิ่มขึ้นเพื่อจุนเจือสมาชิก และต้องมีเวลามาให้การดูแลมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน วัยแรงงานก็จะต้องดูแล ‘สังคม’ ผ่านการถูกเก็บภาษีจากเงินได้ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้สวัสดิการกับผู้อื่นโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งขาดความพร้อมทางการเงินสำหรับการเกษียณอยู่มาก[2]สรัช สินธุประมา. ‘บ้านโอบอุ้ม’ … Continue reading

อัตราการพึ่งพิงต่อประชากรวัยแรงงาน 100 คน
ที่มา: คิด for คิดส์ คำนวณจาก UN World Population Prospects

เพื่อให้สังคมไทยอยู่รอดได้ในยุคที่เด็กเล็กต้องโตมา ‘แบก’ สังคม จึงไม่น่าแปลกใจที่ ดร.สมชัย จิตสุชน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จะกล่าวว่า “เด็กที่เกิดมาทุกคนต้องเป็นเหมือนมนุษย์มหัศจรรย์ เป็นซูเปอร์แมน ซูเปอร์วูแมน คนเดียวทำงานได้เท่ากับคนรุ่นก่อนสองคน” จึงจะช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาจากสังคมสูงวัยได้[3]หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. เด็กต้องเป็น “ซูเปอร์แมน” ทางรอดของสังคมสูงวัย … Continue reading

เด็กยุคหน้าต้องแบกสังคม ในวันที่ปัจจัยนอกการควบคุมไม่เป็นใจ

ลำพังการต้อง ‘แบก’ คนในสังคมเพิ่มขึ้นในยุคสังคมสูงวัยก็ยากเพียงพออยู่แล้ว แต่เด็กเล็กกำลังจะต้องเผชิญความท้าทายใหญ่ของโลกอีกหลายด้านที่กระทบต่อคุณภาพการเติบโตและโอกาสในการมีชีวิตที่ดีในอนาคตอย่างมาก

ความท้าทายแห่งอนาคตอันดับต้นๆ ของไทยคือภาวะโลกเดือด (global boiling) เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยความที่เศรษฐกิจและสังคมไทยพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและลมฟ้าอากาศสูงในหลายด้าน ทั้งการที่แรงงาน 1 ใน 3 ของไทยอยู่ในภาคการเกษตร การที่ภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลัก และการที่โรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากของไทยยังตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มต่ำ เสี่ยงกับการเกิดน้ำท่วมที่จะเกิดบ่อยครั้งขึ้น การศึกษาโดย Swiss Re Institute ประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อ GDP ของ 48 ประเทศซึ่งครอบคลุม 90% ของ GDP โลก พบว่า ไทยเป็นประเทศอันดับ 5 ที่ GDP จะได้รับผลกระทบมากที่สุด[4]เจณิตตา จันทวงษา. ไทยต้องสูญเสียอะไรบ้าง … Continue reading

ยิ่งโลกร้อนขึ้นเท่าไร ไทยก็ยิ่งมีโอกาสสูญเสีย GDP มากขึ้น ในกรณีดีที่สุดคืออุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส GDP ของไทยมีแนวโน้มลดลง 4.9% ขณะที่ในกรณีเลวร้ายที่สุด ซึ่งอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 3.2 องศาเซลเซียส GDP ของไทยอาจลดลงมากถึง 43.6% ตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจของไทยข้างต้นนี้ยังถือว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลก กลุ่มประเทศ OECD และอาเซียน

ผลกระทบดังกล่าวไม่เพียงแต่ทำให้ชีวิตโดยรวมของคนไทยจะยากขึ้น แต่ประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนเกือบ 8 ล้านคนที่เกิดและเติบโตอยู่ในครัวเรือนเกษตร ซึ่งต้องเผชิญกับรายได้ที่ผันผวนไม่แน่นอนในแต่ละปี-ตลอดปี ภาวะโลกเดือดจะยิ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเด็กและเยาวชนครัวเรือนเกษตร ทั้งทำให้ไม่สามารถกินดีอยู่ดี และขวางกั้นการเติมเต็มความฝันของพวกเขาในอนาคต[5]วรดร เลิศรัตน์. เด็กและเยาวชนครัวเรือนเกษตร: … Continue reading

นอกจากนี้สังคมไทยยังกำลัง ‘ตกขบวน’ เศรษฐกิจโลกที่เคยเป็นเครื่องจักรสำคัญในการยกระดับรายได้คนไทยในอดีต ภาคการผลิตของไทยกำลังมีปัญหาการผลิตสินค้าที่ถูกทดแทนโดยสินค้าแบบใหม่อย่างรวดเร็วจนไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อาทิ ยานยนต์สันดาปภายในและฮาร์ดดิสก์ที่ผลิตในไทยกำลังเป็นเทคโนโลยีเก่าที่ถูกทดแทน และไทยยังอาจได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าในโลกที่ ‘หันขวา’ มากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งอาจกระทบสินค้าสำคัญทั้งเครื่องจักร รถยนต์ ผลผลิตทางการเกษตร และอาหาร [6]ลัธกิตติ์ ลาภอุดมการณ์. ทำไมเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาลง?. KKP Research. 2024.

วิถีชีวิตในทางสังคมเองก็กำลังต้องเกิดการปรับตัว จากการที่สังคมเปิดกว้างมากขึ้น มีการเชื่อมต่อกันอย่างกว้างขวาง วิถีชีวิตแบบชุมชนดั้งเดิมที่ผู้คนที่อยู่อาศัยใกล้ชิดก็จะมีความสนิทสนมกัน ก็เปลี่ยนเป็นชุมชนที่มีลักษณะเป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อย ที่คนรวมตัวกันตามประเด็นที่สนใจและความชอบ ซึ่งอาจไม่ได้สนิทสนมและให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันเหมือนชุมชนแบบกายภาพสมัยก่อน หากเคยได้ยินประโยคยอดฮิตอย่าง “เลี้ยงเด็กหนึ่งคนต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน” ก็ไม่แน่ใจแล้วว่าในปัจจุบัน หมู่บ้านที่ว่านั้นประกอบไปด้วยใครบ้างและช่วยเลี้ยงกันอย่างไร

เด็กเล็กไทย 7 ใน 10 อยู่ในครัวเรือนรายได้น้อย

การเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนจนกว่าเขาจะสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้นั้น พ่อแม่ผู้ปกครองต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมหาศาลเป็นเวลาหลายปี แต่เด็กเล็ก (หรือเด็กปฐมวัย ช่วงอายุ 0-6 ปี) ส่วนใหญ่กลับไม่ได้อยู่ในครัวเรือนที่พร้อมสนับสนุนมากนัก จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2023 (SES 2023) ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดที่เพิ่งปล่อยออกมาเมื่อปลายปี 2024 พบว่า ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มีความพร้อมทางด้านการเงินมากพอที่จะเลี้ยงดูเด็กเล็ก

เด็กเล็กของไทยจำนวน 3 ใน 4 อยู่อาศัยในครัวเรือนที่มีรายได้อยู่ในกลุ่มครึ่งล่างของสังคม เมื่อนำครัวเรือนไทยมาเรียงลำดับตามรายได้ต่อคนต่อเดือนแล้วแบ่งกลุ่มออกมาเป็น 10 กลุ่มที่มีจำนวนเท่าๆ กัน จะเห็นว่าครัวเรือนของไทยมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ค่อนข้างสูง โดยมีครัวเรือนจำนวนมากที่มีรายได้ไม่สูงมากนัก ขณะที่มีเพียงบางกลุ่มมีรายได้สูง และหากพิจารณาการกระจายตัวของเด็กปฐมวัยด้วยแล้ว จะพบว่าเด็กเล็กเหล่านี้จำนวนมากต้องอยู่อาศัยในครัวเรือนรายได้น้อย โดยเด็กเล็ก 70.4% อยู่อาศัยในครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 8,333 บาท/คน/เดือน ซึ่งเข้าเกณฑ์ในการได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ที่สังคมมักเรียกติดปากว่า ‘บัตรคนจน’) เทียบกับประชากรทั่วไปที่มีเพียง 53.1% และเมื่อพิจารณาตามเส้นความยากจนของประเทศที่ใช้เกณฑ์รายได้ 3,043 บาท/คน/เดือนเป็นตัวตัด จะพบว่าประเทศไทยมีเด็กเล็กมากถึง 12.7% ที่อยู่ในครัวเรือนยากจน ในขณะที่ประชากรทั่วไปมีอัตราความยากจนเพียง 7.5% เท่านั้น

สำหรับครัวเรือนรายได้น้อยที่มีเด็กเล็ก มักจะมาพร้อมกับความไม่พร้อมทางด้านการเงินและความสะดวกสบายในอีกหลายเรื่อง เพราะ 84.9% ของครัวเรือนกลุ่มนี้กำลังมีหนี้มากกว่าสินทรัพย์ทางการเงินของพวกเขา หากเกิดความผิดพลาดขึ้นระหว่างการชำระหนี้ก็อาจทำให้ถูกยึดสินทรัพย์สำคัญอย่างบ้านหรือยานพาหนะ ซึ่งจะกระทบต่อความมั่นคงที่เด็กเล็กจะได้เติบโตขึ้นมา

สิ่งที่น่ากลัวไปยิ่งกว่านั้นคือ 34.3% ของครัวเรือนกลุ่มนี้รายงานว่า พวกเขามีมูลหนี้รวมกันมากกว่าสินทรัพย์ที่มีโดยรวมทั้งหมดเสียอีก ถ้าหากพูดกันในภาษาการเงิน กลุ่มดังกล่าวถือได้ว่าเป็น ‘ผู้ล้มละลาย’ ไปแล้ว[7] … Continue reading แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นการทั่วไปสำหรับกลุ่มรายได้น้อย และไม่ได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสำหรับครัวเรือนที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนและมีเด็กเล็ก

เด็กเล็กเกือบครึ่ง ไม่ได้อยู่ใน ‘ครอบครัวสมบูรณ์’

ถึงแม้ว่าครัวเรือนที่มีเด็กเล็กอาจมีรายได้ไม่สูงมากนัก แต่หากยังสามารถให้ ‘เวลา’ ในการเลี้ยงดูอย่างเพียงพอได้ ก็คงสามารถช่วยทดแทนความไม่พร้อมทางการเงินได้บ้าง อย่างไรก็ตามปัญหาของสังคมไทยคือความไม่พร้อมทางการเงินมักมาคู่กับความไม่พร้อมหน้าของครอบครัวด้วย จากภาพที่เราเคยนึกถึงเวลาพูดถึงครัวเรือนเด็กเล็ก ที่จะต้องประกอบไปด้วย พ่อ-แม่-ลูก ก็มักจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลง กล่าวได้ว่าครัวเรือนไทย ‘ยิ่งจนก็ยิ่งไม่สมบูรณ์’

การสำรวจครัวเรือนแสดงให้เห็นว่าเด็กเล็กไทยเกือบครึ่ง ไม่ได้อยู่ในครอบครัวสมบูรณ์ ที่มีพ่อ-แม่-ลูกพร้อมหน้า SES 2023 แสดงให้เห็นว่าเด็กเล็กที่ได้อยู่ในครัวเรือนกับพ่อและแม่มีเพียง 57.5% เท่านั้น แปลว่าเด็กเล็กอีก 42.5% ต้องอยู่ในครัวเรือนที่ไม่พร้อมหน้ากัน

ตัวเลขข้างต้นเป็นเพียงค่าเฉลี่ยเท่านั้น แต่เมื่อดูการอยู่อาศัยแยกตามกลุ่มครัวเรือน จะพบว่ากลุ่มครัวเรือนร่ำรวยมีโอกาสได้อยู่พร้อมหน้ากันมากถึง 88.4% ในขณะที่กลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยสุด 3 กลุ่มล่าง จะมีเด็กเล็กที่ได้อยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่มีเพียงราว 50% เท่านั้น โดยกลุ่มที่ 2 ที่จนเกือบมากที่สุดมีเด็กเล็กที่ได้อยู่กับพ่อและแม่ไม่ถึงครึ่ง นอกจากนี้เด็กเล็กยากจนจำนวนมากต้องอยู่อาศัยกับญาติตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งเป็นปกติของครัวเรือนไทยที่มีภาพจำของปู่ย่าตายายที่ช่วยเลี้ยงดูเด็ก ขณะที่การลงทุนกับเด็กนั้นยิ่งลงทุนเร็วยิ่งคุ้มค่า การไม่มีเวลาครอบครัวให้เด็กเล็กในช่วงนี้ก็ยิ่งไม่สอดคล้องกับข้อแนะนำในการเลี้ยงดู

ผู้อยู่อาศัยกับเด็ก 0-6 ปีตามกลุ่มครัวเรือน
ที่มา: คิด for คิดส์ คำนวณจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2566

ครอบครัวที่ไม่ได้ ‘สมบูรณ์’ ดังที่วาดฝันไว้ มาพร้อมกับความเปราะบางทับซ้อนในการอยู่อาศัยและการเลี้ยงดูเด็กเล็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ ในครัวเรือนแหว่งกลางที่มีจำนวนมากของไทย จากการศึกษาโดยสร้อยมาศ รุ่งมณีและคณะ พบหลายกรณีที่ผู้ดูแลเป็นคนรุ่นปู่ ย่า ตายาย มีอายุมาก มีโรคประจำตัว และมีรายได้ไม่เพียงพอ ทำให้ขาดการเตรียมพร้อมและการดูแลในชีวิตประจำวัน เช่น ไม่มีคนไปส่งเด็กไปโรงเรียนเพราะร่างกายไม่พร้อม หรือกรณีที่พ่อแม่ทำงานรับจ้างทำให้ต้องเข้า-ออกงานตามเวลา สภาพที่อยู่อาศัยทำให้เด็กไปโรงเรียนไม่ได้เพราะน้ำท่วมบ้านในช่วงฝนตก[8]สร้อยมาศ รุ่งมณี, วาสนา ละอองปลิว, บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล. … Continue reading

SES 2023 ยังแสดงให้เห็นว่าครัวเรือนที่มีเด็กเล็กและยากจนยังมีความไม่พร้อมในการเลี้ยงดูอีก อาทิ 62.5% ของกลุ่มนี้ไม่มีรถยนต์ จึงไม่แปลกใจนักที่เราจะเห็นคนอุ้มเด็กเล็กขึ้นรถจักรยานยนต์ที่มีความอันตราย หรือต้องหอบลูกขึ้นรถขนส่งสาธารณะที่ไม่ได้ครอบคลุมการเดินทางได้โดยทั่วไป ทำให้เกิดความยากลำบากในการพาเด็กเล็กไปรับบริการสาธารณะ เช่น การไปตรวจสุขภาพ การไปเรียนตามศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือการไปเล่นและเรียนรู้ตามพื้นที่สาธารณะ นอกจากนี้ในกลุ่มครัวเรือนนี้ยังมีอีก 4.2% ที่ไม่มีใครในครัวเรือนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเลย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ายังมีกลุ่มที่จะตกหล่นจากแหล่งข้อมูลเป็นจำนวนมาก ทั้งความรู้ในการเลี้ยงดูเด็กเล็ก ตลอดจนสิทธิ์ในการรับสวัสดิการของภาครัฐที่ให้ข้อมูลมากในเว็บไซต์ราชการ

แก้ปัญหา ‘เด็กเกิดน้อย’ ไม่ได้ ถ้าคนยังต้องคิดว่า ‘มีลูกหนึ่งคนจนไปสิบปี’

“มีลูกหนึ่งคนจนไปสิบปี” เป็นประโยคที่คนรู้จักเป็นการทั่วไป บางคนอาจเห็นด้วย แต่บางคนอาจแย้งว่าในปัจจุบันมีลูกหนึ่งคนอาจต้องจนไปเกินสิบปีแล้ว แนวคิดฝังหัวคนไทยเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าการมีลูกทำให้ครอบครัวจำเป็นต้องเสียสละและเป็นภาระของประชาชนอย่างมาก ทั้งที่จริงแล้วทั้งสังคมก็พูดว่าการมีลูกกำลังมีประโยชน์ต่อสาธารณะในภาพรวมอย่างมาก สังคมโดยรวมจึงควรมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กเล็ก ไม่ใช่เพียงการชี้นิ้วบอกพ่อแม่ว่าจะต้อง ‘ลงทุน’ อะไรให้กับลูกบ้าง

ยิ่งในทุกวันนี้ ความคาดหวังของคนไทยที่เคยรู้สึกว่าจะต้องมีลูกเพื่อให้ชีวิตมีความสมบูรณ์เริ่มถูกท้าทาย และเริ่มโดนแทนที่ด้วยการ “เอาตัวเองให้รอด” “ขอให้รางวัลตัวเองก่อน” และ “มีลูกเมื่อพร้อม” ก็ยิ่งทำให้ความต้องการมีลูกลดลง[9]เจณิตตา จันทวงษา. สังคมแบบไหนที่คนไทยอยากมีลูก?. … Continue reading

ยิ่งระบบสนับสนุนการเลี้ยงเด็กของไทยที่ยังเว้าแหว่งอยู่เช่นนี้ จากการไม่สนับสนุนทางการเงิน สิทธิ์ในการเลี้ยงลูก หรือพื้นที่เลี้ยงเด็กในหรือใกล้ที่ทำงาน ความหวังที่จะให้คนไทยมีลูกเพื่อชาติ ก็คงเป็นฝันที่เลือนรางมากขึ้นทุกวัน

References

References
1 สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง
2 สรัช สินธุประมา. ‘บ้านโอบอุ้ม’ ทางเลือกใหม่ที่พักอาศัยให้คนไทยสูงวัยในชุมชน. 2023.
3 หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. เด็กต้องเป็น “ซูเปอร์แมน” ทางรอดของสังคมสูงวัย ก่อนรัฐบาลดัน “มีลูก” เป็นวาระแห่งชาติ. 20 ธันวาคม 2023.
4 เจณิตตา จันทวงษา. ไทยต้องสูญเสียอะไรบ้าง หากการแก้ปัญหาโลกรวนยังไปไม่ถึงไหน?. 2022.
5 วรดร เลิศรัตน์. เด็กและเยาวชนครัวเรือนเกษตร: ชีวิตไม่แน่นอนภายใต้ธรรมชาติ-ตลาดผันผวน ใน เด็กและครอบครัวไทยที่ไม่ถูกมองเห็น: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว 2024. ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว คิด for คิดส์. 2024.
6 ลัธกิตติ์ ลาภอุดมการณ์. ทำไมเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาลง?. KKP Research. 2024.
7 ผู้เขียนตระหนักดีว่าผู้ตอบแบบสำรวจอาจให้ข้อมูลรายได้รวมถึงสินทรัพย์ที่อาจต่ำกว่าจริง แต่การสำรวจดังกล่าวก็ไม่ได้กระทบกับสิทธิ์ในการได้รับสวัสดิการและความช่วยเหลือ จึงอาจมีปัญหาดังกล่าวน้อยกว่าข้อมูลทางการชุดอื่นๆ
8 สร้อยมาศ รุ่งมณี, วาสนา ละอองปลิว, บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล. พลวัตครอบครัวในสังคมไทย ในสถานการณ์โควิด-19: การปรับตัวของครัวเรือนเปราะบางและข้อเสนอเชิงนโยบายด้านเด็กและครอบครัว. 2022.
9 เจณิตตา จันทวงษา. สังคมแบบไหนที่คนไทยอยากมีลูก?. ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว คิด for คิดส์.

อินโฟกราฟฟิก

วิจัย/เขียน

ฉัตร คำแสง

บทความที่เกี่ยวข้อง

เด็กและครอบครัวไทยที่ไม่ถูกมองเห็น: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2024

คิด for คิดส์ ชวนอ่าน “เด็กและครอบครัวไทยที่ไม่ถูกมองเห็น: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2024” พร้อม “สถิติสำคัญด้านเด็กและครอบครัว”

เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง

เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023

คิด for คิดส์ ชวนอ่าน “เด็กและครอบครัวไทยในสองทางแพร่ง: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2023” พร้อม “สถิติสำคัญด้านเด็กและครอบครัว”

เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022

ชวนอ่าน “เด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022” พร้อม “สถิติสำคัญด้านเด็กและครอบครัว” และ “สามความฝันของเยาวชนไทย”

ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์)

ศูนย์วิจัยและสื่อสารความรู้เพื่อตอบโจทย์อนาคต มุ่งวิเคราะห์ ออกแบบ เผยแพร่ความรู้ และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว และการเรียนรู้ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนทางวิชาการให้กับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่าย

Copyright © 2025 kidforkids.org | All rights reserved.